หน้าหลัก
    ข่าวประชาสัมพันธ์
    การประชุมสัมมนา
    นโยบายและกฎหมายที่ควรรู้
    วิชาการ
    FAQ
    เอกสารเผยแพร
   Social Network
   Link ที่น่าสนใจ
 
   
ความเป็นมาของโครงการรณรงค์เลิกใช้แร่ใยหิน
 
ชื่อเครือข่าย/องค์กรผู้รับผิดชอบ

1.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-8445
2.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)
เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 โทรศัพท์ 0-2248-3734-7
3.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารบี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทรศัพท์ 02-1413405      
4.แพทยสภาสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา
อาคาร 6 ชั้น 7 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 02-5901880-1,3
5.สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
สำนักงานศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
679 ถนนรามอินทรา แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230 02-5174270-9 ต่อ 1658, 1659
6.กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.)
7.มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม(มภส.)
8.มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา (พทพ.)
9.มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา(มสพ.)
695 ถนนจรัญสนิทวงศ์ 12 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่   กรุงเทพ 10600 โทรศัพท์ 02-4123507-8  

 
ความเป็นมาและความสำคัญ

การใช้แร่ใยหินเริ่มต้นเมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ทั่วโลกขนานนามแอสเบสตอสว่าเป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่ทนทาน ทนความร้อน ทนไฟ ทำให้มีการนำแร่ใยหินไปสู่สินค้าต่างๆโดยเฉพาะด้านวัสดุก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน การใช้แร่ใยหินได้ขยายตัวอย่างมากระหว่าง ค.ศ.1960 -1970   ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการใช้สูงสุดกว่า 4 กิโลกรัมต่อประชากรหนึ่งคนต่อปี (kg/capita) ในปี 1950   ในขณะที่อังกฤษเคยใช้สูงสุด กว่า 3 kg/capita ปี ค.ศ.1960  ออสเตรเลีย เคยใช้สูงสุด (ประมาณ 5 kg/capita) ปี 1970  ทั้งนี้เยอรมันนี (ประมาณ 4 kg/capita) และญี่ปุ่น (3 kg/capita) เคยใช้สูงสุดในปี 1980 การใช้ได้ชะลอตัวลง เมื่อเริ่มมีการพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด หรือ เมโสเทลิโอมาที่ซี่งสัมพันธ์โดยตรงอย่างเจาะจงกับแร่ใยหิน ตั้งแต่ ค.ศ.1970-1980 เป็นต้นมา และเริ่มมีการพบในที่ประเทศต่างๆทั่วโลก นำมาสู่มาตรการการยกเลิกการใช้แร่ใยหินที่มีการดำเนินการในประเทศต่างๆ อย่างเป็นสากล

 

สังคมไทยมีความรับรู้เรื่องแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส (Asbestos) อย่างจำกัด   มีผู้คนจำนวนไม่มากนักที่รู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหินทั้งที่โอกาสรับสัมผัสมีอยู่มากโดย เฉพาะผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมแร่ใยหิน แรงงานทั้งก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง โดยความเป็นจริงแล้ว แร่ใยหินมีอันตราย ต่อสุขภาพทั้งกับผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยอนุญาตให้มีการใช้แร่ใยหินชนิดต่างๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีการอนุญาตให้ใช้แร่ใยหินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ แร่ใยหินชนิด ไครโซไทล์ (Chrysotile) หรือ แอสเบสตอสสีขาว  อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพื่อขจัดอันตรายของผู้ใช้แรงงานและผู้ใช ้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ

 

แร่ใยหิน เป็นวัสดุที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานและ ทนความร้อน เช่น ในกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค  ท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น และ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินเป็นจำนวนมาก จึงมีภาครัฐและภาคเอกชนบางส่วนกังวลว่าถ้ามีการรณรงค์ให้ประชาชน ตื่นตัวและมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
               ปี พ.ศ. 2549 ในการประชุมนานาชาติในประเทศไทย  มีการจัดทำคำประกาศกรุงเทพเพื่อการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสและขจัดโรคจากแอสเบสตอส มีการทบทวนมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับอันตรายและการจัดการแร่ใยหินทั่วโลก และมีมติที่สำคัญ คือ ให้มีการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสในทุกประเทศทั่วโลก
ในปี พ.ศ.2551 นพ. สุทธิพัฒน์ วงศ์วิทย์วิโชติ และ ดร. พญ. ฉันทนา ผดุงทศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์  ได้รายงานการเสียชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด หรือ เมโสเทลิโอมา ในประเทศไทยเป็นรายแรก โดยกล่าวว่าเป็นสัญญาณเตือนอันตรายที่จะตาม มาจากปรากฏการณ์การใช้แร่ใยหินทั่วโลก โดยเปรียบเทียบว่า  คลื่นลูกแรก คือ การใช้แร่ใยหินจำนวนมากจนถึงการมีมาตรการการยกเลิกการใช้  คลื่นลูกที่สอง คือ การพบผู้ป่วยภายหลังการใช้ ซึ่งจะมีระยะเวลาประมาณกว่า 20 ปีต่อมา

 

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการนำเสนอ ทางวิชาการในเรื่องอันตรายจากแร่ใยหิน แต่ภาครัฐยังไม่มี นโยบายและมาตรการในระดับประเทศที่เด่นชัด  องค์กรภาครัฐที่เริ่มมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  โดยได้ให้มีการกำหนดคำเตือนในสินค้า ที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ  มาตรการดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ
เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการใดๆทั้งสิ้นจากภาครัฐที่เป็นมาตรการ เชิงนโยบายที่นำไปสู่หลักประกันสูงสุดของ ประชาชนที่จะไม่ได้รับอันตรายจากแร่ใยหิน  ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งควรมีการรณรงค์ให้ประชาชน ทราบถึงอันตรายของแร่ใยหินและนำไปสู่การมีส่วนร่วมใน การกำหนดนโยบายของประเทศอย่างมีความรู้เท่าทัน การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย จากแร่ใยหินในประเทศไทยถือว่าสำคัญมาก  หากรัฐบาลต้องการดำเนินการให้สังคมไทยเข้มแข็งโดยแท้จริงแล้ว   ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคไทยทั้งมวล ปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากแร่ใยหิน การรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภคและ พิจารณาปัญหานี้โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบจึงเป็นเรื่องพึงกระทำโดยเร่งด่วน

 
ระดับการมีผลกระทบต่อสุขภาพ

แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ที่ยังมีการอนุญาตให้ใช้อยู่ในประเทศไทย เมื่อกระจายเป็นอนุภาคเข้าสู่ปอด จะเป็นสาเหตุของ โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหิน และ โรคมะเร็งปอด   เป็นโรคร้ายแรง รักษาไม่หาย และ เกิดตอนอายุมาก เพราะการเกิดโรคหลังได้รับแร่ใยหินประมาณ 20 - 30 ปี ซึ่งจะทำให้ชีวิตสูงวัยพบความทุกข์ทรมานสาหัสก่อนตายในประเทศไทย เริ่มมีการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากถึงกว่าพันรายต่อปีในอนาคตอันใกล้ หากจำนวนการใช้แร่ใยหินมีปริมาณมากอย่างปัจจุบัน
องค์การอนามัยโลกและองค์กรระหว่างประเทศต่างสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ประเทศต่างๆมีมาตรการการยกเลิกการใช้ประมาณ 50 ประเทศในโลก รวมทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน  ในสหรัฐอเมริกา แคนาดามีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด การศึกษาในต่างประเทศชี้ชัดว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับปอด  การศึกษาในญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกาพบตรงกันว่า การป่วยและการตายจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหิน หรือ แอสเบสโตซิส  และ โรคมะเร็งปอด   โรคเหล่านี้สัมพันธ์กับปริมาณการใช้แร่ใยหินการยกเลิกการใช้เป็นทางเดียวที่จะลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต สินค้าหลักที่มีการใช้แร่ใยหิน เช่น กระเบื้อง ฝ้า ท่อน้ำ  เบรค คลัทช์ ปัจจุบัน มีสินค้าที่ไม่ใช้แร่ใยหิน และ สามารถใช้ทดแทนได้หมดแล้ว และ ราคาไม่แตกต่างกันมากจนซื้อหาไม่ได้ มาตรการอื่น เช่น การให้การศึกษา การติดคำเตือน ไม่สามารถลดจำนวนการใช้ได้ เนื่องจากอธิบายยาก และ การที่การเกิดโรคต้องใช้เวลายาวนานทำให้ผู้ใช้ไม่ระวังตัว นอกจากนี้ยังยากที่จะป้องกันตนเองเวลาใช้สินค้า เช่น การตอก เลื่อย การตัด เป็นต้น

 
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในระดับชาติ

1. มาตรการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายสินค้า ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้
        1.1 ยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหิน ภายใน 3 เดือน
        1.2 ยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วน ประกอบของแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี
2. มาตรการยกเลิกภาษีของวัตถุดิบทดแทนแร่ใยหิน ทั้งนี้วัตถุดิบที่นำมาทดแทนจะต้องไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
3. มาตรการที่จะทำให้ผู้บริโภครับรู้ประกาศ และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ตลอดจนตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากแร่ใยหิน โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อมวลชนทุกประเภท รวมไปถึงหอกระจายข่าวติดต่อกันอย่างน้อย 30 วัน ครอบคลุมทุกพื้นที่
4. มาตรการรื้อถอนวัสดุที่มีส่วนประกอบของใยหิน โดยจัดดำเนินการโดยมาตรฐานสากลและให้มีการจัดทำเป็นประกาศหรือข้อบังคับของกระทรวงอุตสาหกรรม
5. ห้ามการนำเข้าหรือส่งออกขยะที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน
6. การออกกฎหมาย หรือ ประกาศข้อบังคับ ต้องรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้แทนผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61
7. มาตรการกองทุนชดเชยความเสียหายและสวัสดิการแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน
8. มาตรการควบคุมการนำเข้าหรือการจำหน่ายสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลักประเทศผู้ผลิตต้องมีการใช้สินค้านั้นด้วย (Certificate of free Sale)
9. มาตรการกำหนดค่ามาตรฐานการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหิน 0.1 เส้นใยต่อ ลบ.ซม. เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐาน Occupational Exposure Limits (OELs)
10. ให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 27 พ.ศ. 2552
11. ควรมีกฎหมายคุ้มครองหน่วยราชการและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสังคมในกรณีที่ถูกฟ้องร้อง
12. จากการที่ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศคณะกรรมการ ว่าด้วยฉลาก (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2552 เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ ของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ภาคประชาชน ควรดำเนินการใช้สิทธิร้องสอด เพื่อช่วย สคบ. ที่ดำเนินการออกประกาศดังกล่าว เพื่อปกป้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากอันตราย จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นองค์กรกลางในการดำเนินการ
13. ควรมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการจัดจ้าง ที่กำหนดสาระสำคัญไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ

 
Download เอกสารแบบ pdf
 

email : webmaster@noasbestos.org
Copyright © 2010 Health Consumer Protection Project
แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ อาคารโอสถศาลาชั้น 4 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-8445,Fax 02-251-3531