ยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ เรื่องที่ไม่ต้องรอการปฏิรูป
 
รศ. ภก. ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์

 

หลังจากที่องค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดการความรู้กันมาพอสมควร ขณะนี้ข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินมีความชัดเจน ในเรื่องของโรคมะเร็งปอดและปอดอักเสบ รวมภึง การยกเลิกในประเทศต่างๆกว่าห้าสิบประเทศทั่วโลก แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ยังไม่ได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจน ในการจัดการดังกล่าวน่าจะมีคำถามอย่างน้อยสามประการ

คำถามแรก คือ หน่วยงานใดเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง

แม้ว่า  สคบ ได้ ออกประกาศ ให้ระบุ คำเตือน อันตรายจากโรคปอดและมะเร็งปอด แต่ องค์กรผู้บริโภค สงสัยว่า ทำไม สคบ ไม่ทำอะไรมากกว่านี้  ความจริงแล้วมีหน่วยงานรัฐ ที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง ที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ คือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพ

พรบ วัตถุอันตราย พ.ศ. ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะหนึ่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ ดังนั้นความรับผิดชอบโดยตรงจึงอยู่ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม

ในคณะกรรมการดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวกับ กระทรวงสาธารณสุข คือ อธิบดีกรมการแพทย์ และ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  นอกจากนี้แล้ว เป็นผู้แทนกระทรวงต่างๆ รวมถึง ผู้ทรงคุณวุฒิ  ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ  อย่างน้อยสองคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำเนินงานใน องค์การสาธารณประโยชน์เพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัย หรือสิ่งแวดล้อม

 คำถามที่สอง คือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นใครบ้างและ  ท่านมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแร่ใยหิน

 คำถามที่สามคือ หากต้องตัดสินใจแล้ว คณะกรรมการดังกล่าวต้องทำอย่างไร

 ใน พรบ วัตถุอันตราย  มาตรา 18 แบ่งวัตถุอันตรายออกตามความจำเป็นแก่การควบคุม แยกเป็น 4 ชนิด ปัจจุบัน แร่ใยหินไครโซไทล์ เป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต การที่จะดำเนินการยกเลิกจึงต้องจัดให้แร่ใยหินไครโซไทล์ เป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 4  ซึ่งได้แก่วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง     

 การที่จะให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์  คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีอำนาจและหน้าที่ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการ ออกประกาศตาม มาตรา 18 วรรคสอง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยความเห็นของคณะกรรมการมี อำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุชื่อหรือคุณสมบัติของวัตถุอันตราย ชนิดของวัตถุอันตราย กำหนดเวลาการใช้บังคับและหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าว

 ที่จริงแล้ว การยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์เป็น เรื่องที่ไม่ต้องรอการปฏิรูป หากผู้รับผิดชอบ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดให้แร่ใยหินไครโซไทล์ เป็น วัตถุอันตรายชนิดที่ 4  ทันที แต่หากผู้รับผิดชอบยังนิ่งดูดาย   โครงการองค์การอิสระผู้บริโภคจำลอง ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค น่าจะทดลองทำหนังสือขอความเห็นอิสระจากรรมการทุกท่าน ซึ่งจะถือเป็นแบบฝึกหัดบทเรียนบทหนึ่ง ในขณะที่รอ พรบ องค์การอิสระผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ 2550

 

คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน* อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผู้แทนกระทรวงกลาโหมและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน* ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมาย และอย่างน้อยสองคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำเนินงานในองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัย หรือสิ่งแวดล้อม

 มาตรา 18 วัตถุอันตรายแบ่งออกตามความจำเป็นแก่การควบคุม ดังนี้(1) วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้แก่วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด(2) วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้แก่วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดด้วย(3) วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต(4) วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง    

 
 
 
     

email : consumer_sss@yahoo.com
Copyright © 2010 Health Consumer Protection Project
แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
ชั้น 2 ตึกนวัตกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
หมายเลขโทรศัพท์ 02-218-8445,Fax 02-251-3531