เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคและภาคีต่างๆ เปิดเผยรายงานผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2562 พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 41 เปอร์เซ็นต์ โดยมีข้อสังเกตด้วยว่าผักในห้างค้าปลีกมีการปนเปื้อนมากกว่าผักในตลาดสด และยังพบสารเคมีที่ห้ามใช้ในประเทศไทยตกค้างถึง 12 ชนิด บางชนิดมีอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้บริโภคหรือพัฒนาการสมองของเด็ก
ผลตรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภัยสุขภาพที่ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับจากกระบวนการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ว่า ทุกๆ ปีเครือข่ายจะทำการเก็บตัวอย่างผักผลไม้จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปีนี้สุ่มตรวจ 24 ชนิด ประกอบด้วย ผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 286 ตัวอย่าง จากสองแหล่งใหญ่คือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่ Big C, Makro, Tops Supermarket, The Mall Group, Tesco Lotus และตลาดสดทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา
หลังจากเก็บตัวอย่างแล้วได้นำไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในประเทศสหราชอาณาจักร จากนั้นจึงนำผลตรวจมาเทียบกับค่ามาตรฐานของประเทศไทยหรือค่า MRL (Maximum Residue Limit) ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานของปริมาณสารพิษตกค้างในอาหารตามประกาศของสำนักงานอาหารและยา (อย.)
“ผลการตรวจพบว่า ผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ โดยผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ผักกวางตุ้ง คะน้า กะเพรา พริก กะหล่ำดอก ผักชี โดยพบจำนวน 10, 9, 8, 7, 7, 7 จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง ตามลำดับ ส่วนผลไม้ที่พบการตกค้างมากที่สุด ได้แก่ ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น โดยพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเป็นจำนวน 12, 11, 7, 7 จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง ตามลำดับ”
ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลไม้ที่ปลูกในประเทศกับผลไม้นำเข้า พบว่า ผลไม้นำเข้ามีสารตกค้าง 33.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลไม้ในประเทศมีสารตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 48.7 เปอร์เซ็นต์
อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ ทุกๆ ปีจะพบว่าผักผลไม้ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าตลาดสด โดยพบมากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ (52 ตัวอย่าง จาก 118 ตัวอย่าง) ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าซื้ออาหารแพงหรือซื้ออาหารในห้างจะสะอาดกว่าซื้อตามตลาดสด โดยห้างที่พบการตกค้างมากที่สุดคือ Big C ที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานในทุกๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ตามมาด้วย Tesco Lotus, Makro, The Mall Group, และ Tops Supermarket ในขณะที่ในตลาดสดพบสารตกค้างอยู่ที่ 39 เปอร์เซ็นต์ (66 ตัวอย่าง จาก 168 ตัวอย่าง)
ข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือ ถ้าเทียบผลตรวจปีล่าสุดกับผลตรวจเมื่อปี 2560 จะพบว่าภาพรวมของสารพิษตกค้างที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน MRL นั้นน้อยลงจากปี 2560 ซึ่งมีค่า MRL อยู่ที่ 46 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปีล่าสุดอยู่ที่ 41.3 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปรกชลย้ำว่า ตัวเลขดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับที่แย่มากอยู่ดี เพราะในต่างประเทศจะตรวจพบสารตกค้างเพียงประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลผ่านฉลากรับรองมาตรฐานประเภทต่างๆ จะพบว่าผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองคุณภาพ GAP (การรับรองกระบวนการปลูก) GMP (การรับรองโรงตัดแต่งและคัดบรรจุ) และ Organic Thailand (การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) ยังมีสารตกค้างถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศไม่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานเลย
เมื่อจัดข้อมูลตามชนิดของสารพิษ Thai-PAN พบด้วยว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุดคือ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกามาเกือบ 30 ปีแล้ว เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบสารตกค้างในผักและผลไม้ไทยถึง 57 ตัวอย่าง เช่น มะเขือเทศ แตงขวา และผักชี รองลงมาคือ ไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็ก
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการพบสารชนิดที่ทางการออกกฎหมายห้ามใช้ไปแล้ว อย่างเช่น Methamidophos หรือสารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เช่น Methomyl ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถจำหน่ายได้ และสารที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด เช่น Boscalid, Ethirimol, Fenhexamid, Fluxapyroxad ซึ่งสารทั้ง 3 กลุ่มนี้ล้วนผิดกฎหมายและเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย. ที่ปล่อยให้มีข้อผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้น และยังพบได้ทั้งในตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ตลาดริมทางรถไฟหาดใหญ่ สงขลา จนไปถึงสยามพารากอน กรุงเทพฯ
“วันนี้ถ้าเราถาม อย. ว่า ผักผลไม้ที่ปนเปื้อนเมโทมิลกับคาร์ไบฟูรานถือว่าผิดกฎหมายไหม เขาก็ยังตอบว่าไม่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนก็ตาม เพราะว่าตัวกฎหมายจะยึดตามวัตถุตารางที่ยกเลิกการใช้ แต่ยังให้เกิดการตกค้างได้ในปริมาณที่ไม่เกินกำหนด ซึ่งเป็นความลักลั่นระหว่างการควบคุมไม่ให้ใช้ กับการอนุญาตให้ตกค้าง” ปรกชลกล่าวถึงช่องว่างทางกฎหมาย
หากถามว่า มีวิธีการใดที่ผู้บริโภคทั่วไปจะตรวจสอบสารตกค้างในอาหารได้ด้วยตัวเอง กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ตอบว่า ปัจจุบันแม้จะมีชุดทดสอบอาหาร (test kit) แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยละเอียด แม้กระทั่งห้องแล็บในประเทศไทยก็ยังไม่สามารถตรวจสอบให้ครอบคลุมสารเคมีที่มีอยู่นับร้อยชนิดได้
หลังจากนั้นกรรณิการ์พูดถึงปัญหาของการตรวจสารตกค้างโดยหน่วยราชการหรือผู้ประกอบการห้างค้าปลีกว่า “เขาก็บอกว่าเขาตรวจ แต่เขาก็มักจะไม่เปิดเผยผลตรวจ คือเก็บไว้รู้คนเดียว เก็บไว้รายงานเป็นตัวเลขกลมๆ ทำให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงข้อมูลที่แท้จริง”
ทางด้านปรกชลกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา Thai-PAN ได้พยายามติดต่อหารือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและได้ทำข้อตกลงร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อลดการใช้สารเคมี ซึ่งขณะนี้ Thai-PAN กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับห้างเหล่านั้นหรือไม่ นอกจากนี้จะเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางยุติการใช้สารพิษอันตรายโดยเร็วที่สุด
แก้วตา ธัมอิน เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก แนะนำถึงทางเลือกที่ประชาชนเลือกได้ท่ามกลางผักและพลไม้ที่ปนเปื้อนสารตกค้าง เธอชี้ว่า “สถานการณ์เรื่องอาหารหรือความตื่นตัวของผู้บริโภค ทำให้เกิดตลาดเขียวหรือผู้ผลิตอาหารปลอดสารเคมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่สามารถสั่งซื้อได้โดยตรง
“สำหรับผู้บริโภคที่ยังจำเป็นต้องพึ่งตลาดสดและห้างค้าปลีก เราจะต้องช่วยกันส่งเสียง ต้องช่วยกันบอกผู้ค้าปลีก บอกเจ้าของตลาด บอกแม่ค้าที่แผง เขาจะได้รู้ว่าเราใส่ใจ และรู้ว่าเรากำลังมองเขาอยู่ การเปลี่ยนแปลงจะต้องเปลี่ยนแปลงกันทุกฝ่าย ไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐหรือรอผู้ผลิต ทุกฝ่ายต้องทำไปพร้อมๆ กัน”