อิน-จัน แฝดสยามคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ตามประกาศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) เรื่อง การตรวจพิสูจน์อาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่พบว่าใส่สารที่ปัจจุบันได้ถูกเพิกถอนทะเบียนไปจากประเทศไทย คือ ไซบูทรามีน โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายเจือปนอยู่ด้วย พร้อมทั้ง ระบุว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีกำลังดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด นั้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรแก่การชื่นชม

หน่วยงานที่พิสูจน์การเจือปน หรือ การใส่สารอันตรายของผู้ประกอบการ คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วย

ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการดำเนินคดี ในขั้นของการกล่าวหา ต้นเรื่องจะไปจาก เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นกำลังสำคัญ ที่เชื่อมโยงงานกับ อย ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

หาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง ศูนย์วิทย์ ฯ ทั่วประเทศ สำนักงานอาหารและยา (อย) และ เภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นเสาหลัก คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะทำให้ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ลดน้อยถอยลงไปอย่างเห็นผล

กรณี ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เสริมอาหารผสมยาแผนปัจจุบัน ไซบรูทามีน และมีผู้เสียขีวิต จากการกินอาหารเสริมชนิดนั้น ก็ไม่ต่างกับการทำร้ายร่างกายและชีวิตของผู้บริโภค เพราะผู้ขาย ย่อมต้องทราบดีว่า
สารดังกล่าวเป็นอันตราย เนื่องจากต้องลักลอบซื้อสารดังกล่าวซึ่งการซื้อขายเป็นการละเมิดกฎหมาย มีโทษอาญา ทั้งปรับและจำคุก

หากกล่าวว่าไม่รู้และสามารถสืบย้อนไปจนต้นทางได้ ก็จะพบ ผู้ขายสารดังกล่าวที่เป็นต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่ง ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นทางการขายอาหารเสริมลดความอ้วนที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เครื่องมือที่จะทำให้ การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ อันหนึ่งก็คือ การประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทย์ หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั่วประเทศที่หากทำได้รวดเร็ว จะสามารถทำให้ อย นำมาประกาศดำเนินการต่อ โดยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งหมดที่กล่าวถึง

ในหน้าต่างเตือนภัย ซึ่งเป็น เว็บไซต์ของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากได้เข้าไปดู จะพบ อาหารเสริม จำนวนมากที่ผสมไซบรูทามีน มีรูป ยี่ห้อ และ รายละเอียดของผลิตภัณฑ์อยู่ทั้งหมด

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะเป็น “แฝดสยาม ประดุจ อิน-จัน ” ทำหน้าที่เขิงรุก นำข้อมูลจากหน้าต่างเตือนภัยดังกล่าวมาจัดการดำเนินการเข่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดย อย เร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการ ประกาศแจ้งเตือนภัย และ ดำเนินคดี เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดผลโดยเร็ว ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารไซบรูทามีนทั้งหมด จะต้องถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับ ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึง

หากทำได้ โดยเริ่มจาก ไซบรูทามีน ที่เอามาใช้ลดความอ้วนโดยผู้ประกอบการไม่คำนึงถึงอันตรายต่อชีวิตของผู้บริโภค ก็จะสามารถดำเนินการได้กับ อาหารเสริมที่อ้างว่าปลุกนกเขาให้ขัน ทีมีการผสมยาอันตราย สมุนไพรแก้ปวดผสมเสตียรอยด์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ ผสมสารอันตราย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ

ถือได้ว่า ทั้ง อย และ กรมวิทย์ฯ เป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐที่ร่วมมือกันทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ โดยมี เภสัชกรสาธารณสุขจังหวัด หรือ เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคเป็น หน้าด่านปราการสำคัญ ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และ บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิด อย่างเต็มกำลัง

วิทยา กุลสมบูรณ์
มูลนิธิเภสัชชนบท
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑