ปาฐกถาเรื่อง
บทบาทและความสำคัญของผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพต่อสังคม
โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
ในพิธีมอบครุยกิตติมศักดิ์
มอบหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
สาขาคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ
และพิธีมอบประกาศนียบัตรศูนย์เรียนรู้เภสัชกรรมปฐมภูมิ
ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ
วันนี้เป็นวันที่ 25 มกราคม ประวัติศาสตร์เคยจารึกว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำ ยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา และกองทัพไทยได้ถือเอาวันนี้เป็นวันกองทัพไทย และเป็นวันที่จอมพล ป. พิบูลสงครามใช้เป็นฤกษ์ในการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2485 แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบพบว่า ได้คำนวณปฏิทินจันทรคติเทียบกับสุริยคติผิดไป วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำศึกชนะพระมหาอุปราชาที่ถูกต้อง คือวันที่ 18 มกราคม มิใช่ 25 มกราคม วันกองทัพไทยจึงเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 18 มกราคม
หัวข้อปาฐกถาวันนี้ยาวมาก แต่คำสำคัญมี 3 คำ คือ (1) วิชาชีพเภสัชกรรม (2) การคุ้มครองผู้บริโภค ด้านยาและสุขภาพ และ (3) สังคม
หลักการแห่งวิชาชีพ
วิชาชีพเภสัชกรรมมีกำเนิดมายาวนาน ทางตะวันออกของเราก็มีมาตั้งแต่ก่อนท่านชีวกโกมารภัจจ์ในสมัยพุทธกาล ในจีนก็ย้อนไปตั้งแต่สมัยเสินหนง ซึ่งเป็นบุคคลในตำนาน และทางตะวันตกก็สืบย้อนขึ้นไปถึงสมัยของฮิปโปเครติส ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการแพทย์ (Father of Medicine)
ฮิปโปเครติสได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งการแพทย์ และเป็นผู้วางรากฐานของวิชาชีพด้านการแพทย์ กล่าวคือ ได้แยกความแตกต่างระหว่าง อาชีพ (Occupation) กับ วิชาชีพ (Profession) ไว้อย่างชัดเจนว่า วิชาชีพคืออาชีพที่ต้องมี “อาชีวปฏิญาณ” คือ ต้องปฏิญาณ หรือ สาบาน (Profess) ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะต้องประกอบอาชีพบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม และความรู้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ดังคำปฏิญาณของฮิปโปเครตีส (Hippocratic Oath) ซึ่งขอนำมากล่าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อทุกท่าน ดังนี้
ปฏิญาณของฮิปโปเครติส
ข้าขอสาบานต่อเทพอพอลโล ในฐานะแพทย์และเทพเอสคิวลาปิอุส ศัลยแพทย์ รวมทั้งไฮเยียและพานาเซีย และขออัญเชิญเทพ และเทพีทั้งปวงมาเป็นสักขีพยาน ว่า ข้าจะยึดมั่นและรักษาคำสัตย์สาบานนี้จนถึงที่สุดแห่งพลังและดุลพินิจของข้า
ข้าจักเทิดทูนครูผู้สอนศิลปศาสตร์ให้แก่ข้า เสมอบิดามารดาของข้า ข้าจะให้สิ่งจำเป็นแก่ท่าน และจะถือบุตรของท่านเป็นภราดาแห่งข้า. ข้าจะสอนศิลปศาสตร์แก่พวกเขาโดยไม่รับสินจ้างรางวัลหรือข้อสัญญา และข้าจะเปิดเผยทุกสิ่งที่ข้าได้ครอบครอง คำสอนและทุกสิ่งที่ข้าได้เรียนรู้ แก่บุตรแห่งครูข้า เช่น ที่ข้าให้แก่บุตรของข้าเอง และเช่นเดียวกัน แก่นักเรียนทุกคนของข้า ผู้จักผูกมัดตนเองกับคำสัตย์สาบานแห่งวิชาชีพ โดยไม่ผูกมัดกับสิ่งอื่นใดอีก
ในการเยียวยาผู้ป่วย ข้าจะปรุงและสั่งอาหารที่ดีที่สุดแก่พวกเขา ตามดุลพินิจและแนวทางของข้า และข้าจะดูแลพวกเขามิให้ทุกข์ร้อนจากความเจ็บปวดหรือเสียหาย
จักไม่มีใครวิงวอนร้องขอให้ข้าให้ยาพิษแก่ผู้ใดได้ รวมทั้งข้าจักไม่ขอให้ผู้ใดกระทำเช่นนั้น. ยิ่งกว่านั้น ข้าจักไม่ให้ยาใดๆ แก่หญิงตั้งครรภ์เพื่อทำลายทารกในครรภ์
นอกจากนั้น ข้าจักปฏิบัติตนและใช้ความรู้ของข้าตามครรลองคลองธรรม
ข้าจักไม่ทำผ่าตัดนิ่ว แต่จะให้ทั้งหมดนั้นเป็นงานของศัลยแพทย์
เคหสถานใดที่ข้าเข้าไปสู่ ข้าจักไปเยี่ยมเยือนเพื่อความสะดวกสบายและประโยชน์ของคนไข้ และข้าจะละเว้นจากการทำอันตรายและความผิดทั้งปวง จากความผิดพลาด และ(โดยเฉพาะ) จากการกระทำเชิงชู้สาวกับผู้ใดก็ตามที่ข้ามีหน้าที่ต้องดูแลรักษา ไม่ว่ากับนายหรือบ่าว เป็นทาสหรือเป็นไท
สิ่งใดก็ตามที่ข้าเห็นหรือได้ยิน จากการประกอบวิชาชีพ (แม้ในกรณีที่มิได้รับการเชื้อเชิญ) สิ่งใดก็ตามที่ข้าได้รับรู้ หากไม่สมควรจะกล่าวซ้ำ ข้าจะรักษาไว้ประดุจสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นความลับ ไว้กับตัวข้าเองเท่านั้น
หากข้าปฏิบัติตามคำสัตย์สาบานโดยซื่อสัตย์สุจริต ขอให้ข้าประสบความเจริญและความมั่งคั่งในโชคชะตาและวิชาชีพของข้า และสืบทอดไปจนถึงทายาท หากข้าผิดคำสาบาน ขอให้ข้าประสบชะตากรรมในทางตรงข้าม
สำหรับวิชาชีพเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย พัฒนามาพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ เพราะการแพทย์แผนไทยมีรากฐานมาจากการแพทย์ในพุทธอาราม ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
กำเนิดการศึกษาเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเภสัชกรรมแผนปัจจุบัน ในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 จากพระดำริของจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทำให้เกิด “ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457” ลงนามโดยเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดี ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และพัฒนามาโดยลำดับ จนเกิดสภาเภสัชกรรม เมื่อ พ.ศ. 2537
การคุ้มครองผู้บริโภค
ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยาในประเทศไทย เริ่มปรากฏในกฎหมายอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2452 มีบทลงโทษเรื่องการปลอมปนอาหารและยา ก่อนเริ่มระบบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ เมื่อ 4 ปี ต่อมา ดังกล่าวแล้ว
องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยาที่มีบทบาทสำคัญของโลก คือ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 จากกรณีที่เด็กจำนวนมากไตวายเสียชีวิตจากการกินยาซัลฟาน้ำ ซึ่งใช้ Diethylene glycol ซึ่งเป็นพิษร้ายแรงต่อไตเป็นตัวทำละลาย ก่อนหน้านั้นมีความพยายามเป็นเวลายาวนานในการผลักดันให้มีหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนยาก่อนจำหน่ายแก่ประชาชน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะสหรัฐก่อตั้งประเทศขึ้นตามคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งเชิดชูหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ สิทธิใน “ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข” หลักการดังกล่าวถือว่า ผู้ประกอบการมีเสรีภาพในการผลิตยาออกจำหน่ายแก่ประชาชน และประชาชนก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซง แต่กรณียาซัลฟาน้ำแสดงหลักฐานชัดเจนว่า เรื่องยานั้นเป็นเทคโนโลยีที่ยุ่งยากซับซ้อน ประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการที่จะคุ้มครองตนเอง จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรของรัฐเข้าไปตรวจสอบ รัฐสภาจึงยอมให้มีรัฐบัญญัติจัดตั้งสำนักงานอาหารและยาขึ้น ซึ่งแต่แรกเน้นการดูแลเรื่องความปลอดภัย (Safety) ของยาเป็นหลัก ต่อมาได้ขยายให้มีการพิสูจน์เรื่องประสิทธิผล (Efficacy) เสียก่อนด้วย และขยายการควบคุม หรือ กำกับดูแล ออกไปยังผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ซึ่งถือกำเนิดตามการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็จัดตั้งขึ้นตามหลักการ และแนวคิดเดียวกันกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ แต่มีข้อแตกต่างสำคัญคือแยกงานด้านการตรวจวิเคราะห์ออกต่างหาก อยู่ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย คือ วิชาชีพเภสัชศาสตร์
บทบาทต่อสังคม
ในการแสดงบทบาทต่อสังคม พื้นฐานสำคัญ คือ จะต้องรู้จักสังคมให้เพียงพอ
การที่ประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศของเอเชียที่รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เพราะพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองประเทศในเวลานั้นมีสายพระเนตรกว้างขวาง ยาวไกล และทรงปกครองประเทศด้วยทศพิธราชธรรม
พระมหากษัตริย์ที่ทรงริเริ่มสร้างความทันสมัย (Modernization) ให้แก่ประเทศ พระองค์แรก คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โชคดีของประเทศไทยที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ในสมณเพศยาวนานถึง 27 พรรษา ก่อนจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีเวลาศึกษาหาความรู้ และทรงคบหากับสังฆราชบาทหลวง และมิชชันนารีตะวันตก ทำให้ทรงทราบเหตุการณ์ของโลก และภัยคุกคามของเจ้าอาณานิคมต่างๆ อย่างดี
ภัยคุกคามของตะวันตกนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แล้ว เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้รับสั่งให้หาท่านพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็กเข้าไปเฝ้า เมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2393 รับสั่งว่า
การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เอ็งที่จะ รับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวณข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขา ที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว
เมื่อ ร.4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงติตตามเหตุการณ์ของโลกในเวลานั้น ซึ่งพม่า ญวณ และจีน
ต่างเสียทีแก่ชาติตะวันตกแล้ว จึงทรงเป็นฝ่ายริเริ่มมีพระราชหัตถเลขาไปเชิญเซอร์จอห์น เบาวริง ซึ่งเวลานั้นเป็นทูตอังกฤษอยู่ ณ เมืองมาเก๊า ให้เขามาเจรจาการค้ากับไทย จนในที่สุดเกิดสนธิสัญญาเบาวริง เมื่อ พ.ศ. 2398
แต่ก่อน มักสอนกันในโรงเรียนว่า สนธิสัญญาเบาวริงเกิดจากเราถูกบังคับให้ทำสัญญา เพราะทำให้เราเก็บภาษีได้เพียงร้อยชักสาม และเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งเป็นคำสอนที่ผิด เพราะแท้จริงแล้วเป็นความริเริ่มของฝ่ายไทย โดย ร.4 ทรงมีจดหมายขึ้นต้นว่า “My Dear Friend” เชิญทูตอังกฤษมาเจรจาทำสัญญาการค้า การเก็บภาษีร้อยชักสามก็มีผลเป็นการทำลายการผูกขาด และทำให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรรม จากการปลูกข้าวเพื่อกิน เป็นเพื่อค้าขายด้วย ทำให้เรือที่เข้ามาค้าขายเพิ่มจากปีละ 3 – 4 ลำ เป็นนับร้อยลำ เป็นการเริ่มต้นยุค ประเทศไทย 1.0 การที่เราต้องเสียเอกราชทางศาลก็เพราะระบบกฎหมาย และการตุลาการของเราเวลานั้นยัง ล้าหลังมาก
ทั้งนี้ นอกจากทรงคบหากับสังฆราชบาทหลวงมิชชันนารี และอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแล้ว ระหว่างทรงสมณเพศ ยังเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เสด็จไปเมืองเก่าสุโขทัย และทรงพบพระแท่นมนังคศิลาบาท และศิลาจารึก ต่อมาเมื่อ ร. 5 ครั้งบรรพชาเป็นสามเณร ก็ทรงพาเสด็จไปตามหัวเมือง เช่น ไปไหว้พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก เป็นต้น
สมเด็จฯ พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ผู้เป็นที่เคารพบูชาของชาวสาธารณสุข เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ก็ “ทรงสนพระทัยอยากทราบความเป็นไปของบ้านเมือง โดยปลอมพระองค์เป็นสามัญชนตามบิณฑบาตสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธในขณะที่เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธทรงผนวชอยู่” (ชุมนุมพระนิพนธ์ และบทความเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์, 2508, น. 120)
นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จเข้าไปเยี่ยมนักโทษถึงในเรือนจำด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงแสดงปาฐกถา เรื่องลักษณะการปกครองของสยามแต่โบราณ ที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อ พ.ศ. 2470 สรุปลักษณะเด่นของคนไทยที่ทำให้ชนชาติไทยสามารถดำรงรักษาเอกราชของชาติมาได้ว่า มี 3 ประการ คือ (1) รักอิสระเสรี (2) ไม่ชอบความรุนแรง และ (3) เก่งในการประสานประโยชน์
คนไทยปัจจุบันโดยมากเป็นชาวพุทธ แต่คนจำนวนไม่น้อยมักตำหนิว่าชาวพุทธไทยส่วนมากเป็นพุทธตามสำมะโนครัว ไม่มีมีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งแท้จริงแล้วคนไทยโดยมากมีความเป็นพุทธโดยรากฐาน เพราะมีความเชื่อในหลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา 3 เรื่อง คือ (1) เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม (2) เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และ (3) เชื่อในพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา
ความรู้ ความเข้าใจในคนไทยและสังคมไทย เป็นรากฐานสำคัญของบุคลากรในวิชาชีพในการทำงานกับ คนไทยและสังคมไทย จำเป็นที่ทุกวิชาชีพรวมทั้งวิชาชีพเภสัชศาสตร์จะต้องให้ความเอาใจใส่เรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในคนไทยและสังคมไทย จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
อุดมการณ์ และแนวทาง
เบื้องแรก บุคลากรในวิชาชีพเภสัชศาสตร์ เป็นผู้มีความรู้ จะต้องยึดถือตามคติพจน์ของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่ทรงบันทึกไว้ที่แผ่นแรกของสมุดบันทึกปฏิบัติการวิชา Bacteriology ของพระองค์ท่าน ที่ว่า
“ความสำเร็จที่แท้จริง มิใช่เพียงแค่เรียนรู้ แต่อยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ”
“True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mandkind.”
หลักการข้อต่อไปในการทำงาน จะต้องมุ่ง เพื่อ “ประโยชน์สุขของประชาชน” โดยต้องยึดถือตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนาถบพิตร ที่ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
และพระราชหัตถเลขาของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่ว่า
ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์
สุดท้าย เครื่องมือในการทำงานจะต้องประกอบด้วย (1) ความรู้ (2) ความสุจริต (3) ปัญญา และ (4) สติ ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชนิพนธ์อย่างปฏิภาณกวีพระราชทานในสมุดของกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระอนุชาของพระองค์ท่าน
ความรู้ คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริต คือเกราะบัง ศาสตร์พร้อง
ปัญญา ประดุจดัง อาวุธ
กุมสติ ต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม
เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้