‘สยามพาราควอต’ ประเทศอาบสารพิษ

พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) คืออะไร? เชื่อว่าหลายคนคงตอบไม่ได้ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตรกรรม แต่หารู้ไม่ว่าผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้มีมากมายมหาศาล หากไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ด้วยข้อมูลและการรับรู้ของผู้คนยังอยู่ในวงจำกัด เครือข่ายวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงจัดเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน และประชาชน เรื่อง ‘ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส’ เพื่อให้ความกระจ่างแก่สังคมไทย

หลังเสร็จสิ้นงานเสวนา WAY เก็บประเด็นที่น่าสนใจจาก รองศาสตราจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร มาให้ความรู้เพิ่มเติมว่าสารเคมีอันตรายเหล่านี้มีพิษร้ายแรงเพียงใด

มีอะไรอยู่ใน ‘พาราควอต’

พาราควอต เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ฆ่าหญ้า ซึ่งสารเคมีก็มีด้านบวกและด้านลบ พาราควอตเป็นสารเคมีที่ใช้ได้ดีในแง่ของการฆ่าหญ้า แต่ในแง่ด้านลบเองกลับมีพิษภัยที่แทรกมา แต่ไม่ได้รับการเผยแพร่ในบ้านเรา นั่นคือสิ่งที่เรากำลังเจอกับพาราควอต โดยที่เราไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้คืออะไร เพราะมองแต่ด้านบวกโดยไม่รู้ด้านลบเลย

ทำไมเราจึงต้องสนใจปัญหาพาราควอตในช่วงนี้

เนื่องจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะออกมาวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เครือข่ายวิชาการทั้งด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อมได้คุยกัน เราอยากแสดงข้อมูลทั้งหมด ข้อเท็จจริงที่อาจารย์หลายท่านได้พูด และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการวัตถุอันตรายที่ตั้งขึ้นในยุค คสช. แต่เป็นข้อมูลที่ไม่เคยเผยแพร่ให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เลยอยากให้รู้ข้อเท็จจริง และใช้ในการประกอบการพิจารณาว่า ไม่ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะแบนหรือไม่แบนพาราควอต แต่เมื่อประชาชนรับรู้ความจริงแล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร อันนี้คือประเด็นสำคัญ

อาจารย์ได้อะไรจากการศึกษาพาราควอต

เรื่องของพาราควอตเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรา โดยศึกษาบริบทของการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร นำไปสู่ผลกระทบอะไรบ้าง

เราพบว่าสารเคมีที่นำมาใช้ในหลายจังหวัด เชื่อมโยงกับหลายบริบท ไม่ใช่แค่ด้านสารเคมีโดยตรงที่มีพิษภัย แต่เริ่มตั้งแต่การนำสารเคมีเข้ามาในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่ของเกษตรกร ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างไร เมื่อเราไปลงพื้นที่ เราเจอเกษตรกรสองกลุ่ม คือเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเขาอาจจะกำจัดวัชพืชเอง ฆ่าหญ้าฆ่าแมลงเอง กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ ใช้มือปืนรับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้า

ในหลายพื้นที่อย่างเช่นจังหวัดน่าน หนองบัวลำภู เราพบว่าชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่ม เขาไม่กล้าใช้น้ำจากพื้นที่ เราถามว่าแล้วรู้ไหมว่ามันมีสารเคมีอยู่ เขาบอกว่ารู้ น่าจะไหลมาตามน้ำ แล้วพอถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าไหลมาตามน้ำ เกษตรกรบอกว่า ก็ที่นี่พ่นยากันเต็มไปหมด

การแก้ที่สารเคมี เป็นการแก้ที่ปลายทาง แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาทั้งระบบได้ ทำอย่างไรให้เกษตรกร หรือมือปืนพ่นยามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เสี่ยงอยู่อย่างนี้ ในทางตรงกันข้ามเราก็เจอเหมือนกันว่า ผลกระทบไม่ได้ตกอยู่ที่เกษตรกรอย่างเดียว เพราะสารเคมีตกค้างอยู่ในพืชผัก ในน้ำ นั่นหมายความว่า พืชผักที่ขายกันตามท้องตลาด คนกินก็ต้องได้รับเหมือนกัน เพราะยาฆ่าหญ้าจะซึมเข้าจากทางราก พอสะสมมากเข้าๆ คำถามคือใครกินล่ะ?

ผลกระทบของพาราควอตต่อคนคืออะไร

ถ้าเราไปสัมผัสสารเคมีโดยตรง ผิวหนังจะไหม้ เป็นแผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ แล้วถ้าพาราควอตเข้มข้นมากๆ โอกาสที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดมีสูง มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิต หมอท่านหนึ่งบอกว่า การที่ได้รับสาร พาราควอตเข้าทางผิวหนัง และเข้าสู่กระแสเลือด ไม่ต่างอะไรกับการกินเข้าไป และไม่เคยเห็นใครรอด นอกจากนี้พาราควอตยังสามารถนำไปสู่โรคพาร์กินสันได้ ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ ไม่จำเป็นต้องสัมผัส แค่รับประทานผ่านอาหาร พืชผักต่างๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นพาร์กินสันได้เหมือนกัน

นอกจากนี้งานวิจัยของอาจารย์พรพิมล (ศาสตราจารย์พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่ตั้งโจทย์วิจัยว่า แม่ที่ได้รับสารพาราควอตจะตกค้างไปสู่ลูกหรือไม่ ผลที่ออกมาคือ แม่ที่มีสารพาราควอตอยู่ในตัวจะถ่ายทอดไปสู่รก แล้วลงไปสู่อุจจาระของเด็ก แสดงว่าในตัวเด็กก็มีพาราควอตด้วย สิ่งที่น่าตกใจคือ พาราควอตจากแม่ไปสู่ลูกไม่ได้เกิดเฉพาะเกษตรกร คนท้องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีก็มีพาราควอตในลักษณะนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะพาราควอตอยู่ในพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่ผู้บริโภคกินเข้าไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการยอมให้เข้าใจผิดไม่ได้ เราต้องการให้ประชาชนทุกคนรับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกรกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคน สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดกัน คือเข้าใจว่ายาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเคมีอะไรก็ตามที่เกษตรกรใช้ สามารถล้างออกได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันยังอยู่ในผัก อยู่ในน้ำ ตรงนี้คือปัญหาของทุกคน ไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกร แล้วถ้าจะแก้ปัญหา ทุกคนต้องช่วยกัน

สารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้กันมีรูปแบบอย่างไรบ้าง

มีหลายรูปแบบเลย ตัวพาราควอตเองเป็นชื่อสารเคมีชนิดหนึ่ง แต่มีอยู่หลายยี่ห้อ หรือแม้กระทั่งเกษตรกรผสมเอง นั่นหมายความว่าเรากำลังเอาสารเคมีที่เรารู้ไม่ครบทุกด้านมาใช้ในประเทศเรา โดยที่มองแต่ด้านบวก

ในแง่การนำเข้ามาในประเทศ พาราควอตจะเข้ามาในสองรูปแบบคือ แบบเข้มข้น กับที่มีผสมสารเคมีอยู่แล้ว กรณีของพาราควอตที่ขายโดยทั่วไปคือผสมเข้ามาแล้ว ซึ่งเส้นทางการนำเข้ามาสู่เมืองไทย มันเข้ามาในหลายรูปร่างหน้าตา แต่หน้าตาที่เกษตรกรเอาไปใช้เยอะก็คือ สารเคมีที่ผสมมาพร้อมใช้งาน

ถ้าแบนพาราควอตจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรไหม วิธีแก้ปัญหาควรตั้งอยู่บนแนวคิดอะไร

ต้องเข้าใจว่า พาราควอตเป็นสารเคมีที่ปนมากับอาหาร คนที่ได้รับไม่เฉพาะแค่เกษตรกร แต่รวมถึงผู้บริโภคด้วย ถ้าอยากจะแก้ปัญหานี้ แบนไม่แบนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เราอยากให้แก้ปัญหาทั้งวงจร แก้ทั้งระบบมากกว่า รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ผู้คน ให้ผู้บริโภคตื่นรู้ เกษตรกรตื่นรู้ ว่าสารเคมีมันอยู่ใกล้ตัวเรามากขนาดไหน เพราะต่อให้แบนไปแล้ว ประชาชนยังถูกปิดหูปิดตาอยู่อย่างนี้ หรือไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้ เดี๋ยวก็จะมีพาราควอตตัวที่สอง ที่สาม ในชื่อการค้าอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่จบไม่สิ้น

การผลักดันเชิงนโยบายและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องมีวิธีการอย่างไร จึงจะไม่มีพาราควอตตัวที่ 2 3 4 เข้ามา

ถ้าเราย้อนกลับไปตั้งแต่แรก ปัญหาคือความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ดีกินได้ แม้กระทั่งมือปืนพ่นยา เช่น ทุกคนอยากกินผักปลอดภัยไม่มีสารเคมี ทำอย่างไรให้ผักเหล่านี้ขายได้ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผักที่ไม่ใช้สารเคมีแพงกว่าผักที่มีสารเคมี ต้องทำอย่างไรเราถึงจะได้กินอาหารที่ปลอดภัยและไม่ต้องไปจ่ายเงินสำหรับรักษาสุขภาพ

หน่วยงานที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน ทำอย่างไรจึงจะจูงใจให้เกษตรกรไม่ใช้สารเคมี ทำอย่างไรจึงจะควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหาร ในสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นในกรณีเวียดนาม ทำไมประเทศของเขาถึงทำได้ ทำไมประเทศเราทำไม่ได้ หรือในแง่ของการตรวจสอบผักและอาหาร ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและราคาถูก

จะเห็นว่าบริบททั้งหมดต้องมองให้ครบวงจร ไม่ใช่ถามแค่ว่าจะใช้สารอะไรมาทดแทน หมายความว่าทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามา โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคนดำเนินงานหลักและอยู่ในทุกบริบทของปัญหา ต้องมองบริบททั้งหมดแล้วแก้ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง