ดูซีรีส์ยันเช้า แถมฟรีโรค Computer Vision Syndrome

อาการติดซีรีส์ อินจนไม่หลับไม่นอน ดูตั้งแต่ค่ำยันเช้า นอนเมื่อไหร่ก็ได้แต่ซีรีส์ต้องจบ เป็นส่วนหนึ่งในพฤติกรรมของคนจำนวนมากในยุคนี้

“ก็แหม…พอดูจบหนึ่งตอน มันก็อดไม่ได้ที่ต้องลุ้นตอนต่อไปนี่หน่า”

ไม่ว่าซีรีส์สัญชาติใดก็ตาม ไทย จีน เกาหลี ฝรั่ง รวมถึงละคร ภาพยนตร์ หรือรายการเกมโชว์ ทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงคลิกเดียว ผ่านอวัยวะชิ้นที่ 33 อย่างมือถือ แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความบันเทิงได้อย่างยอดเยี่ยม หากคุณใช้งานมันอย่างพอเหมาะพอควร

เพราะดวงตาไม่ได้เป็นแค่หน้าต่างของหัวใจ

ความอึดอัดเริ่มต้นทำงานขึ้นทันที เพียงแค่ลองหลับตาจินตนาการว่ากำลังอยู่ในโลกมืดๆ มองไม่เห็นสิ่งใด การดำเนินชีวิตในแต่ละวันคงเป็นเรื่องแสนลำบาก

ทุกคนย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า ‘ดวงตา’ เป็นอวัยวะที่สำคัญมากแค่ไหน แต่ทำไมหลายคนถึงยอมแพ้ ปล่อยให้เทคโนโลยีเข้าครอบงำ

หลักฐานสำคัญที่ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนและดูแลดวงตา คือ สัดส่วนโรคเกี่ยวกับดวงตาที่มาจากการใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอมากเกินไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงจากจำนวนผู้ป่วยโรคตาจากความผิดปกติของสายตาและการเพ่งมอง ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เฉพาะในปี 2560 มีมากถึง 3,844 ราย

ถึงแม้โรคนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตาอย่างเฉียบพลัน แต่ถ้ายังปล่อยปละละเลย สะสมเป็นเวลานานเข้า อาจทำให้เกิดความไม่สบายตาและส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาตามมาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้นในเด็ก หรือผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดหลัง และเมื่อยคอ

รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ จักษุแพทย์และประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงลักษณะกายภาพในการใช้ดวงตาของมนุษย์ตั้งแต่อดีต กิจกรรมที่ต้องใช้งานดวงตาหนักๆ นานๆ พบว่ามีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ‘การอ่านหนังสือ’

โดยธรรมชาติการอ่านหนังสือจะใช้สายตาในลักษณะของการไล่อ่านจากซ้ายไปขวาอย่างเป็นระบบและเนิบช้า เพราะไม่มีอะไรเคลื่อนไหวและคอยพุ่งขึ้นพุ่งลง นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ไม่เรียกร้องให้ต้องใช้สายตาหนักเกินไป ต่างจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่เรามักรูดขึ้นรูดลงอยู่ตลอด แถมยังมีลำแสงทิ่มเข้ามาที่ดวงตาตรงๆ

อาจสรุปได้ว่า กิจกรรมการอ่านหนังสือจะใช้สายตาน้อยกว่าและเบากว่า ไม่เข้มข้นและรุนแรงเหมือนกับการเพ่งสายตาดูจอสี่เหลี่ยม อีกทั้งสัดส่วนของการขยับกล้ามเนื้อตาขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา หรือการซูมเข้า-ซูมออก ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้อุปกรณ์ไฮเทค

ยิ่งไปกว่านั้นหากใครที่ชอบนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือหรือใช้คอมพิวเตอร์ทำงานในห้องแอร์เย็นๆ หรือสถานที่ที่มีลมเป่าเข้าหน้าแรงๆ จะยิ่งส่งผลให้ตาแห้ง และอาการที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความรู้สึกปวดตา แสบตา คันตา

ยิ่งถ้าบางคนที่ชอบเล่นมือถือในระยะใกล้ ชอบนั่งชิดติดขอบจอคอมพิวเตอร์ พฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้งานดวงตาที่หนักหน่วงขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อเวลามนุษย์มองวัตถุในระยะใกล้ กล้ามเนื้อตาจะต้องทำงานหนัก ยิ่งวัตถุอยู่ใกล้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องเพ่งสายตาเยอะขึ้นเท่านั้น ตามกฎธรรมชาติของร่างกายที่มีคำอธิบายทางการแพทย์ว่า หากเรามองวัตถุในระยะใกล้ กล้ามเนื้อตาจะกดเข้าหากัน ขณะเดียวกันรูม่านตาก็จะหดตัว กล้ามเนื้อภายในจะบีบให้เลนส์เปราะ ส่งผลให้ดวงตาต้องเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา

คล้ายกับคนยกถังน้ำหนักๆ สักครึ่งชั่วโมง ถามว่าเราเมื่อยแขนไหม? – ก็เมื่อยสิ

ดวงตาก็เช่นกัน เพราะข้างในดวงตาประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อหลัก 3 มัด ที่ช่วยในการมองเห็น กล้ามเนื้อแต่ละมัดมีลักษณะเล็กๆ บางๆ ถ้าคุณใช้งานดวงตานานเกินไป เพ่งจอคอมฯ จ้องจอมือถือทั้งวัน ก็ไม่ต่างอะไรกับคนยืนแบกถังน้ำจนเมื่อยแขน แขนสั่น แขนล้า

เพียงแต่อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว สามารถทุเลาลงได้หากใช้ครีมแก้ปวดต่างๆ ทาเพื่อลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการปวด แต่กลับกันเราไม่สามารถควักดวงตาของเราออกมาทาครีมแก้ปวดได้ ทางเดียวที่เราจะทำได้ คือ การพักสายตา ปล่อยให้ดวงตารีแลกซ์ ผ่อนคลาย เหมือนกับการเหยียดแขนขา เพื่อไล่อาการปวดเมื่อยให้ออกไปนั่นเอง

‘Computer Vision Syndrome’ โรคจากจอสี่เหลี่ยม

หลายคนสงสัยว่า หลังจากใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำอย่างไรจึงจะบรรเทาอาการปวดตา วิธีง่ายๆ ก็คือ

  • ถ้ารู้สึกปวดตา ให้ประคบร้อน เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • ถ้ารู้สึกคันตา ให้ประคบเย็น เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว
  • หยุดพัก หากิจกรรมอย่างอื่นทำ เพื่อเป็นการพักสายตา

ถ้าวันไหนมีงานด่วนขึ้นมาจริงๆ เช่น ต้องส่งต้นฉบับให้ทันตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ต้องใช้สายตาอย่างหนักโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้บ่อยครั้ง อาจสะสมให้เกิดโรคสายตาของคนทำงานยุคใหม่ หรือในวงการแพทย์เรียกว่า ‘Computer Vision Syndrome’ ได้

ผลกระทบของโรคนี้ แม้ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเป็นต้อลม ต้อหิน หรือต้อกระจก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการตาเกร็ง ตาล้า แสบตา ตาแห้ง บางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้ายทอย ปวดไมเกรน เนื่องจากเส้นประสาทจำนวนมากบริเวณรอบดวงตาจะเชื่อมต่อถึงกันและกันทั่วทั้งศีรษะ

หรือในบางรายหากใช้สายตาหนักมากเกินไป อาจพบว่า ตามีอาการเป็นตะคริว เพราะกล้ามเนื้อดวงตาหดเกร็งเป็นเวลานานๆ ไม่สามารถคลี่คลายได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการตาพร่า ตามัว มองภาพไม่ชัด และส่งผลให้มองในระยะไกลไม่เห็นในที่สุด

 

แล้วทางออกของเรื่องนี้คืออะไร

แม้ไม่ได้มีหลักฐานงานวิจัยบอกอย่างจริงจังว่า คนเราไม่ควรเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานเท่าไร หรือไม่ควรเล่นคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกันนานแค่ไหน

แต่ถ้ายึดตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ควรใช้สายตานานติดต่อกันไม่เกิน 30-40 นาที จากนั้นต้องพักสายตาโดยการหลับตา มองไปที่ไกลๆ ลุกขึ้นเดินไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้มีเวลาคลายตัวลงบ้าง

บางคนอาจเลือกใช้วิธีแก้แบบทางลัด โดยไปซื้อแว่นตาที่ช่วยตัดแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์มาใส่ แต่นั่นก็อาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ทางที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน คือ ควบคุมเวลาการใช้สายตาของตัวเองให้ได้ รวมถึงปรับลดแสงจ้าที่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้หรี่ลง เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยบรรเทาและถนอมสายตาได้ในระดับหนึ่งแล้ว

ข้อแนะนำสุดท้าย สำหรับผู้ที่รักการอ่านหนังสือและเล่นมือถือ ควรใช้งานดวงตาในสภาพแวดล้อมที่มีแสงพอเหมาะ อย่าให้มืดเกินไปหรือสว่างเกินไป เพราะขณะที่บรรยากาศโดยรอบมืด ม่านตาจะขยาย และถ้าเราอ่านหรือจ้องมือถือในระยะใกล้ๆ ม่านตาจะหดตัว ดังนั้น การที่ม่านตาเดี๋ยวก็หด เดี๋ยวก็ขยาย กล้ามเนื้อตาจะต้องทำงานอย่างหนัก

ยิ่งบางคนที่ชอบนอนตะแคงดูซีรีส์หรือไถหน้าจอเฟซบุ๊คด้วยมือเดียว ซึ่งเป็นท่าที่ไม่เหมาะสมในการใช้ดวงตา จะยิ่งส่งผลให้ดวงตาทำงานหนักเพียงข้างเดียว เมื่อลุกขึ้นยืน หรือขยับตัวเร็วๆ อาจทำให้เกิดอาการตามืดชั่วคราวได้ เพราะจอตาสองข้างปรับแสงไม่เท่ากัน

ดวงตาอาจไม่ได้เป็นเพียงหน้าต่างของหัวใจอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ดวงตายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยมนุษย์ขับเคลื่อนและดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ควรหมั่นถนอมดวงตาของเราไว้ เพื่อจะได้สนุกกับการดูซีรีส์ไปนานๆ

ข้อมูล:

โรคตาติดจอ