จากกลุ่มพืชชั้นต่ำในทะเลสู่ ‘สาหร่ายทะเลทอดกรอบ’ อาหารว่างยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ทั้งแบบทอดกรอบ อบกรอบ หลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อเลือกรับประทาน แต่ผู้บริโภคคงไม่อาจตามใจปากได้อีกต่อไป เพราะในความอร่อยและคุณประโยชน์สารพัดของสาหร่าย ยังมีโซเดียมและโลหะหนักแฝงอยู่ในนั้น
ผลตรวจโลหะหนักในสาหร่าย 12 ยี่ห้อดัง
เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อ ภายใต้การทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการทดสอบสารปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบจำนวน 13 ตัวอย่าง (12 ยี่ห้อ) โดยนำมาเทียบวัดกับค่ามาตรฐานของประเทศ จำนวน 2 มาตรฐานคือ มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กำหนดให้ตรวจพบการปนเปื้อนของตะกั่วได้สูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนข้อกำหนดปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียมตามประกาศของ อย. กำหนดให้ได้สูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ประกาศวันที่ 1 สิงหาคม 2561) ขณะที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียม ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
ผลการทดสอบสารปนเปื้อนโลหะหนักในสาหร่ายทะเลทอดกรอบ พบว่า มีการปนเปื้อนของตะกั่วในผลิตภัณฑ์ 11 ตัวอย่าง และอีก 2 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว แต่ทั้ง 13 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ ถือว่าผ่านมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
สำหรับผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม พบว่ามีการปนเปื้อนทั้งหมด 13 ตัวอย่าง โดยมี 1 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านทั้งเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ ผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลปรุงรส อากิโนริ ชนิดแผ่น ตรากินจัง ซึ่งปริมาณแคดเมียมที่พบคือ 2.34 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า หลังตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีแคดเมียมสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทางคณะทำงานจึงได้ทำจดหมายแจ้งไปยัง อย. เพื่อให้ดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อไป
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ทำการทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยพบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว แคดเมียม และอะฟลาท็อกซิน ในผลิตภัณฑ์สาหร่ายจำนวน 21 ตัวอย่าง จาก 18 ยี่ห้อ และในครั้งนี้ที่ได้ทำการทดสอบอีกครั้งหลังจากผ่านมา 9 ปี เพื่อกลับไปทบทวนและเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงทำให้เกิดการยกระดับสินค้าให้ดียิ่งขึ้น
อร่อยเพราะโซเดียมสูง
ในสาหร่ายทะเลทอดกรอบนอกจะมีตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนแล้ว ยังพบว่ามีโซเดียมในปริมาณมาก ซึ่งในผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่นำมาทดสอบพบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ สาหร่ายทะเลปรุงรสเผ็ด ตราหมีแพนด้า ที่มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 9,230 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำปริมาณการบริโภคโซเดียมสูงสุดต่อ 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา ขณะที่ข้อมูลบนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์สาหร่าย ส่วนใหญ่ระบุข้อมูลปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ 2,400 มิลลิกรัม หากรับประทานในปริมาณที่มากโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากโซเดียมก็มีมากเช่นกัน
ต้องเข้าใจด้วยว่า โซเดียมมิได้มีแค่ความเค็มเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ในรูปของผงปรุงรส ทำให้รสชาติของอาหารหรือขนมชนิดนั้นมีความอร่อยยิ่งขึ้น กลมกล่อมยิ่งขึ้น
การบริโภคสาหร่ายทะเลทอดกรอบจึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะพอควร เพื่อควบคุมไม่ให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมต่อวันมากเกินไป อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของโลหะหนัก ซึ่งสามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เด็กๆ ต้องระวัง
ร่างกายของเราสามารถรับเอาโลหะหนักเข้าร่างกายได้ทุกขณะ ผ่านอาหาร น้ำ หรือแม้แต่สารเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆ หากสะสมในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘ภาวะพิษจากโลหะหนัก’ (Heavy Metal Poisoning) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
หากได้รับโลหะหนักในปริมาณที่มากในครั้งเดียว จะก่อให้เกิดอาการมึนงง ตัวชา อาเจียน หมดสติถึงขั้นโคม่า ส่วนกรณีที่ได้รับโลหะหนักในปริมาณน้อย แต่สะสมเป็นระยะเวลานาน จะค่อยๆ เกิดอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และท้องผูก
มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำว่า หากบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียมและตะกั่วเข้าไป จะทำให้มีอาการปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน ซึม ไม่รู้สึกตัว ชัก มือและเท้าเป็นอัมพาต ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้
“สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดก็คือ การบริโภคของเด็ก เนื่องจากลำไส้ของเด็กจะสามารถดูดซึมตะกั่วได้มากกว่า และสิ่งที่จะแนะนำในการบริโภคคือ ให้บริโภคแต่น้อย ไม่ควรบริโภคทุกวัน ควรหันไปบริโภคพวกผักและผลไม้จะดีกว่า”
หนึ่งประเทศ หลายมาตรฐาน
ภายหลังการทดสอบสาหร่ายทะเลทอดกรอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่ง คือการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนที่มีความแตกต่างลักลั่นกัน ระหว่างมาตรฐาน อย. กับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
“เราอยากเห็น อย. เป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานภายในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่เดิมเราคิดว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจะย่อหย่อนกว่า กลายเป็นว่ามาตรฐานชุมชนสูงกว่ามาตรฐาน อย. ฉะนั้น เราอยากให้มีการปรับปรุงตรงจุดนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค” สารีกล่าว
อย. แจงสาหร่ายปนเปื้อนตามธรรมชาติ
ทางด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. ชี้แจงถึงผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่มีการปนเปื้อนแคดเมียมเกินมาตรฐาน 1 ยี่ห้อ ว่า สาหร่ายถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ จึงมีโอกาสพบการปนเปื้อนของโลหะหนักจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจและหลีกเลี่ยงได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ อย. จึงออกประกาศกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียมในผลิตภัณฑ์สาหร่ายพร้อมบริโภคได้สูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม จากเดิมให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (codex) และหากตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีโลหะหนักเกินมาตรฐาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากตรวจพบในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องฉลากโภชนาการ โดยปรับลดปริมาณโซเดียมจากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
ประโยชน์มากมาย สารพิษมากมี‘สาหร่ายทะเล’ เป็นพืชทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มพืชชั้นต่ำ ไม่มีท่อลำเลียงอาหาร ใช้วิธีการดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์ต่างๆ โดยตรง ในประเทศไทยมีสาหร่ายทะเลอยู่ประมาณ 350 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 100 ชนิด สาหร่ายสีแดง 180 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 70 ชนิด ซึ่งผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบในปัจจุบันมีทั้งที่ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ในสาหร่ายทะเลอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมายต่อร่างกาย เช่น ไอโอดีน มีส่วนช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคคอหอยพอก ป้องกันท้องผูก และมีแมกนีเซียมที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมที่ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์และความสมดุลของน้ำในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ไม่เสมอไปที่สาหร่ายจะมีแต่คุณประโยชน์มากมายสารพัด ผู้บริโภคต้องตระหนักและพึงระวังสารปนเปื้อนในสาหร่าย เนื่องจากเป็นพืชที่มาจากทะเล หากน้ำทะเลบริเวณนั้นไม่สะอาด เช่น อาจอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม ก็มีโอกาสที่สาหร่ายทะเลนั้นจะปนเปื้อนโลหะหนัก อย่างแคดเมียมหรือตะกั่ว ท้ายที่สุดสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากบริโภคในปริมาณที่เกินพอดี |
ข้อมูลอ้างอิง:
honestdocs.co
kjcinterfood.co.th