มูลนิธิเภสัชชนบทชี้ เภสัชนานาชาติในเอเชีย มุ่งแยกการสั่งใช้ยาโดยแพทย์กับการจ่ายยาโดยเภสัชกร

มูลนิธิเภสัชชนบท ชี้ เภสัชนานาชาติในเอเชีย มุ่งแยกการสั่งใช้ยาโดยแพทย์กับการจ่ายยาโดยเภสัชกร (Separation of Dispensing and Prescribing Practices, SDP) เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

แถลงการณ์จากการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น “ความท้าทายต่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยของประเทศในภาคพื้นเอเชีย : การแยกใบสั่งยาและการจ่ายยา” ซึ่งจัดโดย สมาพันธ์สมาคมเภสัชกรรมแห่งเอเชียร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมแห่งมาเลเซีย เมื่อ 12-13 พค 2560

การแพทย์แผนปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงวิธีในการรักษาโรค การติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา เป็นขั้นตอนที่ได้บูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งการมาตรฐานการปฏิบัติทางคลินิก เพื่อที่จะทำให้เกิดคุณภาพที่ดีต่อการให้บริบาลทางการแพทย์ และการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา  ทั้งยังช่วยในการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการใช้ยาอีกด้วย

การอนุมัติทะเบียนตำรับยาดำเนินการพิจารณาบนข้อมูลที่ได้มาในการศึกษาวิจัยยา และเมื่ออนุมัติทะเบียนตำรับยาไปแล้ว ยาดังกล่าวจะสามารถวางขายได้ในท้องตลาดซึ่งมีบริบทและสภาวะแวดล้อมในการใช้ยาแตกต่างจากสภาวะแวดล้อมตอนที่ทำการศึกษาวิจัยยา (ตอนที่ทำการศึกษาวิจัยยาจะมีการควบคุมคุณสมบัติของอาสาสมัคร สภาวะโรค และปัจจัยแวะล้อมอื่น ๆ อย่างเข้มงวด) ในจุดนี้เองเป็นจุดสำคัญที่จำเป็นต้องมีการติดตามความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาที่วางขายในท้องตลาดด้วยเช่นกัน

เภสัชกรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่รับผิดชอบต่อการติดตามความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย และหน้าที่นี้เองทำให้เภสัชกรต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพเพื่อให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย โดยมีการบริหารจัดการยาที่ใช้ในการรักษาอย่างเหมาะสม

โดยทั่วไปแล้ว บทบาทของเภสัชกรได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์จากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยได้ปรับเปลี่ยนจากการทำหน้าที่เป็น เพียงผู้ส่งมอบยา ไปเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ทำหน้าที่เพื่อให้การบริบาลผู้ป่วยโดยตรง

การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นี้เองทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริบาลและการรักษาที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเภสัชกรรมนี้ได้มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ดังจะเห็นได้ว่า ทำให้เกิดบทบาทของ เภสัชกรชุมชนขึ้นมา

นอกจากนี้การบริบาลทางเภสัชกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ยังทำให้เห็นว่าการให้คำปรึกษาด้านยาโดยเภสัชกรได้มีการพัฒนาจากการให้คำแนะนำสั้น ๆ ในขั้นตอนการจ่ายหรือซื้อยา ไปสู่การให้คำปรึกษาในเชิงลึกและพิจารณาประโยชน์และความจำเป็นจากการใช้ยาของผู้ใช้รายบุคคล ซึ่งการให้คำปรึกษาด้านยาของเภสัชกรชุมชนในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในประเทศบนภาคพื้นเอเชียส่วนใหญ่ พบว่าลักษณะการจ่ายยาในระดับชุมชนยังคงมีลักษณะการทำงานแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม คือ ผู้สั่งใช้ยาจะทำหน้าที่เบ็ดเสร็จทั้งการสั่งใช้ยาและดำเนินการจ่ายยาแทนเภสัชกร

ดังนั้นประเด็นในการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา จึงเป็นประเด็นที่สำคัญมากในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เพื่อการรักษาสิทธิให้แก่เภสัชกร  แต่เป็นไปเพื่อการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการใช้ยาอย่างมีคุณภาพอีกด้วย

เพื่อให้การพิจารณาในประเด็นการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ให้มีความครอบคลุมและมีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน สมาพันธ์สมาคมเภสัชกรรมแห่งเอเชีย และ สมาคมเภสัชกรรมแห่งมาเลเซีย จึงได้จัดประชุมเภสัชกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเซีย ขึ้น โดยมีผู้เข้าประชุมจำนวน 35 คน จาก 14 ประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

 

 

การประชุมดังกล่าว ได้ผลสรุปที่สำคัญดังนี้

ที่ประชุม เห็นว่า :

ความปลอดภัยจากการใช้ยาเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในปัจจุบัน แม้ว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยจากใช้ยาดังกล่าว  แต่การแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาในระดับชุมชน

เมื่อศึกษาในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียพบว่าไม่ได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา แพทย์ในคลินิกสามารถสั่งและจ่ายยาให้แก่คนไข้ของตนเองได้  การออกใบสั่งยาไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย และกิจกรรมการจ่ายยามักจะดำเนินการโดยลูกจ้างหรือพนักงานที่ไม่ได้ผ่านการอบรมอย่างเพียงพอ การดำเนินการในลักษณะนี้ พบหลักฐานจากประเทศมาเลเซียว่า ผู้ป่วยที่ใช้บริการคลินิก มีการได้รับยาเกินจำเป็น มากกว่าที่ผู้ป่วยไปรับบริการกับเภสัชกรชุมชน

การไม่แบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ทำให้เภสัชกรผู้ซึ่งผ่านการอบรมด้านนยามาอย่างมากมาย ไม่สามารถช่วยกลั่นกรอง ทบทวน สอบทานการใช้ยาของคนไข้ได้

การไม่แบ่งแยกหน้าที่นี้ เป็นการจำกัดโอกาสในการป้องกันปัญหาการสั่งใช้ยาที่ผิดพลาด ซึ่งโดยทั่วไปปัญหาการสั่งใช้ยาที่ผิดพลาดจะตรวจพบได้โดยเภสัชกรในขั้นตอนการจ่ายยาและได้รับการแก้ไขเพื่อให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ดังนั้นการสร้างกลไกเพื่อการตรวจสอบซึ่งกันและกันโดยเภสัชกรนี้จะช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการสั่งใช้ยาได้

นอกจากนี้ การจ่ายยาโดยเภสัชกรยังเป็นขั้นตอนที่ผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลและมีการใช้ยาอย่างปลอดภัยและเพียงพอ  หากไม่มีการตรวจรักษาและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์แล้ว

ผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับทราบสิทธิและแผนการรักษา ตลอดจนไม่ทราบว่าควรเลือกใช้ยาใดในปริมาณเท่าใดแต่หากแพทย์ดำเนินการจ่ายยาเองแล้ว ก็จะไม่มีขั้นตอนการตรวจสอบการสั่งใช้ยาด้วยเช่นกัน

ความปลอดภัยจากการใช้ยาของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เภสัชกรเป็นบุคคลหลักที่มีบทบาทที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้ยาอย่างปลอดภัย

 

ที่ประชุม ยอมรับว่า :

ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา นานาชาติ และภูมิภาคต่าง ๆมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำให้เกิดการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีมีการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าวมากว่า 15 ปี หรือในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็ได้แบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนานแล้ว แต่หลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ไม่ได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าว และคงยังอีกนานกว่าจะมีการแบ่งแยกหน้าที่ได้

การสร้าง The ‘Drug Profile Book’ ของประเทศญี่ปุ่นเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการริเริ่มเพื่อให้เกิดนโยบายดังกล่าวผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลง

การแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา เป็นประโยชน์สาธารณะ ประสบการณ์ของไต้หวันและเกาหลีพบว่าภายหลังการดำเนินนโยบายการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ประชาชนมีการใช้ยาได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

 

ที่ประชุม ให้คำแนะนำดังนี้ :

♦ ควรจัดให้มีการรณรงค์ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานด้านนโยบายระดับประเทศให้เห็นประโยชน์จากการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยาจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และ ไต้หวัน

♦ ดำเนินนโยบายในทันทีที่ทำได้เพื่อพัฒนาโปรแกรมการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยจากาการใช้ยาของประชาชนในประเทศ และฝึกอบรมเภสัชกรให้มีความพร้อมรองรับนโยบายดังกล่าว เช่น การประเมินอาการไม่พึงประสงค์ (ADR) การให้คำปรึกษาเป็นต้น

♦ สร้างความร่วมมือระหว่างเภสัชกรชุมชนและสถาบันการแพทย์ เพื่อให้สถาบันการแพทย์เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการหรือร่วมดำเนินการอื่น ๆ ที่ เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างปลอดภัย เช่น การส่งต่อ การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือการร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยา เป็นต้น

 

 

ที่มา:  แถลงการณ์จากการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น “ความท้าทายต่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยของประเทศในภาคพื้นเอเชีย : การแยกใบสั่งยาและการจ่ายยา”

แปลโดย  ภก.กฤษดา ลิมปนานนท์  มูลนิธิเภสัชชนบท โทร 0946479111