14 กุมภาพันธ์ 2562 คือวันประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาทบทวนว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมี ‘พาราควอต’ หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอให้ต้องยกเลิกพาราควอตภายใน 1 ปี การประชุมนัดนี้จึงเปรียบเหมือนการพิสูจน์หัวใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือเลือกที่จะยืนข้างผลประโยชน์กลุ่มทุน
ข้อเท็จจริงวันนี้
|
เหตุผลที่ต้องแบน
ที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า พิษของพาราควอตมีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายหน่วยงานจึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกพาราควอต ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม 700 องค์กร
ทว่า การแบนสารเคมีอันตรายจะสำเร็จหรือไม่นั้นจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจากหน่วยงานรัฐทั้ง 19 คน ได้แก่ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาสมอ. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม เลขาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมขนส่งทางบก อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาอย. อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวในการแถลงข่าว ‘จับตา คกก.วัตถุอันตรายตัดสินชะตาไทย จะก้าวพ้นการเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ยังใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพลเมืองหรือไม่’ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า สิ่งที่น่าจับตาคือการลงมติจากหน่วยงานของรัฐในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นไปในทิศทางใด เพราะเป็นการลงมติโดยมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าต้องยกเลิกภายใน 1 ปี
“ประเทศไทยนำเข้าพาราควอตกว่า 40 ล้านกิโลกรัม ซึ่งอันตรายจากสารพาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูง และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาคการเกษตร โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการใช้สารพาราควอต ด้วยเหตุผลว่าสารพาราควอตมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ชีวิตของประชาชน และกระทบถึงสิ่งแวดล้อม”
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า คณะกรรมการชุดปัจจุบันบางรายมีข้อครหามาโดยตลอดว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความชัดเจนจึงขอให้คณะกรรมการที่มีผลประโยชน์ถอนตัวจากการลงคะแนนเสียง
“องค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ควรยืนอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน หันมาใส่ใจสุขภาพชีวิตของคนไทย โดยการยกเลิกใช้สารพาราควอต หรือยุติการใช้จนกว่าจะสามารถหาหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ได้ว่า สารตัวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์”
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อหารือเกี่ยวกับการแบนพาราควอต โดยเสนอให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงนี้ภายในไม่เกิน 3 ปี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเสนอให้มีการแบนภายใน 3 ปี เท่ากับยื้อการแบนออกไปอีก 2 ปี
ข้อเรียกร้องต่อ คกก.วัตถุอันตราย
|
ข้อเสนอจากกรรมการสิทธิฯ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อ กสม. ให้ตรวจสอบการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พาราควอต (paraquat) ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กสม. มีความเห็นว่า การใช้พาราควอตนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัยและได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงจากอันตรายของพาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นด้วย เช่น ไกลโฟเสต (สารกำจัดวัชพืช) และคลอร์ไพรีฟอส (สารเคมีกำจัดแมลง) โดย กสม. มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้
- คณะกรรมการวัตถุอันตรายควรกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในระยะยาว โดยการจัดทำมาตรการและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการควบคุมการใช้หรือการเลิกใช้สารเคมีทุกชนิดในภาคการเกษตรที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทางเลือกด้านสารชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง
- คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร โดยพิจารณาประกอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. … ที่จัดทำโดยคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มมติเกษตรและอาหารปลอดภัย ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณสุขและองค์กรภาคประชาสังคม
อ้างอิง:
- https://greennews.agency/
- https://www.facebook.com/biothai.net/