6 ข้อสงสัยชวนให้เข้าใจผิด COVID-19

เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศว่า COVID-19 เข้าสู่ภาวะ ‘ระบาดใหญ่’ ทั่วโลก หรือ Pandemic คำถามเรื่องการใช้ชีวิตต่างๆ นานาและรายละเอียดยิบย่อยไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

6 ข้อต่อไปนี้ คือคำถามที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสถานการณ์โรคระบาดพบบ่อยมากถึงมากที่สุด

 

1. ถ้าต้องเดินทางโดยเครื่องบินจะมีความเสี่ยงแค่ไหน ควรยกเลิกไฟลท์ไปเลยหรือเปล่า

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) มีคำแนะนำสำหรับเรื่องนี้ว่า แน่นอน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดระดับ 3 ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น จีน อิตาลี เกาหลีใต้ และอิหร่าน

นพ.ยูดีน แฮร์รี (Eudene Harry) แพทย์ฉุกเฉินผู้เชี่ยวชาญและแพทย์อำนวยการของศูนย์การแพทย์ Oasis Wellness & Rejuvenation Center เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้เครื่องบินโดยสารอาจจะดูน่ากลัวและอันตรายสำหรับโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วภายในยานพาหนะอย่างเครื่องบินกลับเป็นพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และยังมีแผ่นกรองอากาศคุณภาพดีอยู่ด้วย (HEPA) ฉะนั้นความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อในเครื่องบินจึงยังไม่มากพอที่จะต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางทางอากาศทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญมีเพียงข้อแนะนำว่า ถ้าต้องเดินทางไปยังที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดต่ำ ให้รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยเท่านั้น

 

2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกัน COVID-19 ได้ไหม

นพ.ยูดีน แฮร์รี ยืนยันว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ แต่ก็ไม่ห้ามถ้าอยากฉีดวัคซีนชนิดนี้ เพราะถึงแม้ว่ามันจะไม่สามารถป้องกันไวรัสได้โดยตรง แต่ก็ช่วยบรรเทาเชื้อไข้หวัดใหญ่ และสามารถบรรเทาการติดเชื้อจากโรคอื่นๆ รวมถึงไวรัสโคโรนาได้ด้วย

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดน้อยลง บุคลากรทางการแพทย์ก็จะมีเวลาช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยประเภทอื่นๆ อย่างผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้เต็มที่

 

3. ควรหยุดแผนการที่จะมีลูกระหว่างไวรัสระบาดไหม

จากกรณีที่มีทารกรายหนึ่งที่โรงพยาบาลเด็กอู่ฮั่น ลืมตาดูโลกได้ 36 ชั่วโมง แล้วผลตรวจเชื้อ COVID-19 ออกมาเป็นบวก จนกลายเป็นประเด็นวิตกกังวลว่า คุณแม่ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีความเสี่ยงแพร่เชื้อให้ลูกหรือไม่

ขณะนี้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า มีการแพร่เชื้อทางตรงจากแม่สู่ลูก (vertical transmision) ไม่ว่าจะในครรภ์หรือผ่านการให้นม เนื่องจากจำนวนเคสตัวอย่างในการศึกษายังมีน้อยเกินไป

กุมารแพทย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้เคยทดลองตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาจากตัวอย่างที่เก็บจากคอและเลือดที่สายรกจากทารกหลังผ่าคลอด 10 รายในอู่ฮั่น ผลออกมาเป็นลบทั้งสิ้น และเมื่อตรวจน้ำนมแม่ก็ไม่พบเชื้อ

นอกจากนี้ ยังมีทีมแพทย์อื่นที่ศึกษาแบบเดียวกันกับทารกที่เกิดจากมารดา 20 คน ซึ่งติดเชื้อ COVID-19 เป็นเวลา 36 ชั่วโมงหลังจากลืมตาดูโลก ผลตรวจออกมาก็ไม่พบเชื้อดังกล่าวในทารก

จนถึงขณะนี้ พบว่ามีเด็กแรกเกิดติดเชื้อไวรัสนี้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น และยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้หรือไม่

“ดูเหมือนว่าไวรัสจะไม่ถูกส่งผ่านน้ำคร่ำ เลือดจากสายสะดือ หรือน้ำนมแม่” Wei Zhang ผู้ร่วมวิจัยด้านเวชศาสตร์ป้องกันของโรงเรียนแพทย์ Northwestern University Feinberg กล่าว

อย่างไรก็ตาม พญ.คริสติน ดีน (Kristin Dean) จากศูนย์ Doctor on Demand ในอเมริกา กล่าวถึงข้อกังวลนี้ว่า COVID-19 ก็เหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ ที่ผู้หญิงมีครรภ์อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อไวรัส ดังนั้นคำแนะนำจึงเป็นเช่นเดียวกับกรณีของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คือ ไม่แนะนำให้ผู้หญิงวางแผนที่จะมีบุตรในช่วงที่กำลังระบาด ส่วนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ก็ควรจะระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เช่น ไม่เข้าใกล้ผู้ที่มีอาการป่วย และล้างมือบ่อยๆ

 

4. ผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ชาย?

ผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของจีน ชี้ว่าแม้อัตราการติดเชื้อ COVID-19 ระหว่างชายและหญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นทิ้งห่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนคนไข้ชายที่เสียชีวิต 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนไข้หญิงเสียชีวิต 1.7 เปอร์เซ็นต์

การระบาดของเชื้อไวรัสซึ่งเป็นต้นทางของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) โดยวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine รายงานเมื่อปี 2003 ว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคซาร์สของผู้ชายในฮ่องกงสูงกว่าผู้หญิงถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหนึ่งของคำตอบในเรื่องนี้คือ ผู้ชายมักจะมีวิถีชีวิต พฤติกรรม และการดูแลสุขภาพแย่กว่าผู้หญิง

สิ่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศจีนที่มีผู้ชายสูบบุหรี่ถึง 52 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีอัตราการสูบเพียง 3 เปอร์เซ็นต์

 

5. ถ้าเคยป่วยแล้วครั้งหนึ่ง จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสชนิดนี้ และไม่กลับมาเป็นอีกจริงไหม

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เชื่อว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อ COVID-19 เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่เหมือนกับอาการป่วยในไข้หวัดทั่วๆ ไป

เหตุเพราะไวรัสชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะพัฒนาไปสู่ไวรัสในเวอร์ชั่นที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนอง ดังนั้นถ้าเคยได้รับเชื้อโคโรโนามาแล้วครั้งหนึ่ง ก็เป็นไปได้ที่จะป่วยซ้ำอีก

 

6. การแพทย์ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา COVID-19 ใช่หรือไม่

ในขณะนี้ยังไม่มียารักษาและยังไม่มีวัคซีนใดๆ ป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ซึ่งการรักษาในตอนนี้เป็นเพียงการแก้ไขไปตามอาการเท่านั้น เช่น การให้ยาลดไข้สำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูง

ผู้เชี่ยวชาญเตือนด้วยว่า ในเมื่อขณะนี้ยังไม่มีหนทางการรักษา ประชาชนจึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อของผู้ที่อ้างว่ารักษาได้ รวมถึงอย่าตกเป็นเหยื่อของการขายอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์รักษาโรคที่อินฟลูเอนเซอร์และกูรูต่างๆ พากันโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

“ขณะนี้แพทย์ยังไม่มีการรักษาใดๆ ได้ ฉะนั้นสมุนไพรและสิ่งอื่นๆ ที่โฆษณาอยู่ในอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สามารถรักษาได้เช่นกัน” นพ.ยูดีน แฮร์รี ยืนยัน

ที่มา:https://www.huffpost.com/

https://www.healthline.com/

https://www.bbc.com/