อยู่อย่างไรให้รอดจาก PM 2.5 เมื่อการพัฒนาสวนทางกับความยั่งยืน

ความจริงที่ว่า เราใช้เวลานานมากกว่าเราจะยอมรับและเรียกปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า ‘มลพิษทางอากาศ’ และกว่าที่เราจะยอมรับถึงสภาพปัญหาที่หลายคนเคยเรียกว่า หมอกจางๆ หรือควัน เจ้าฝุ่นจิ๋ว และอีกหลายชื่อเรียกน่ารักๆ มากมาย ปัญหานี้ก็ได้คืบคลานมาใกล้ตัวจนเราต้องหาซื้อหน้ากากกันฝุ่นกันจ้าละหวั่น

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของคนกรุงเทพฯ วันนี้ เรากำลังเผชิญกับมลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน และการเดินทางเข้าออกรอบปริมณฑลไปมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน จึงเกิดความแออัดของผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแหล่งมลพิษมากมาย ปัญหากรุงเทพฯ ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยเฉพาะช่องว่างทางนโยบายที่ต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

หรือก็คือ เราจะอยู่อย่างไรให้รอดในวันนี้ โดยไม่ทำให้ให้เกิดผลกระทบไปสู่คนรุ่นต่อไป

pm 2.5
รศ.จำนง สรพิพัฒน์

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน

ในงานเสวนาเรื่อง ‘PM 2.5 ผลร้ายการพัฒนา สวนทางความยั่งยืน’ ที่จัดขึ้นที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) รศ.จำนง สรพิพัฒน์ กรรมการบริหารสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย กล่าวที่มาที่ไปของฝุ่น PM 2.5 ว่าเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ พูดง่ายๆ ก็คือ เขม่า ซึ่งหลักๆ เกิดจากไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล สองคือ เกิดจากการเผาในที่โล่งเเจ้ง การเผาเศษวัชพืช ขยะเปิด แต่ในความเป็นจริง กรณีการเผาขยะจะก่อมลพิษเพียงขนาด PM 10 ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่ามาก

ส่วนที่สามก็คือ เกิดจากอุตสาหกรรม ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษคือ 60 เปอร์เซ็นต์ของ PM 2.5 เกิดจากการสันดาบที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล อีกประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผาวัสดุชีวมวล ซึ่งเป็นขยะหรือไร่ก็ได้ อีกส่วนคือจากโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

“นับเฉพาะกรุงเทพฯ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลตัวเลขจะสูงกว่านี้ สอดคล้องกับข้อมูลทั่วโลกที่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ไม่ได้เกิดจากการจุดธูปไหว้เจ้าอยางที่ใครว่านะครับ เมื่อต้นตอของปัญหามาจากจุดนี้ก็ต้องเน้นประเด็นไปที่จุดนี้”

เราจะอยู่อย่างไรให้รอดกับปัญหาในวันนี้

โดยหลักการพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ การจัดการมลพิษในเขตเมืองหลักๆ มีอยู่สามวิธีการ คือ

  1. ลดความเข้มข้นของมลพิษจากไอเสียรถยนต์ที่ออกมาจากท่อไอเสียให้ต่ำลง
  2. ลดสภาพการจราจรติดขัดในเมืองให้เหลือน้อยที่สุด

“ทำไมข้อสองถึงต้องทำ ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เรามักมองข้ามไป เพราะว่าโดยปกติ การสันดาปของเครื่องยนต์เขาจะออกแบบให้มีจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่ค่าเดียว เวลารถที่วิ่งช้ามาก โดยเฉพาะจังหวะที่เข้าเกียร์ว่าง ซึ่งเป็นช่วงที่ความเร็วรอบต่ำมาก ช่วงนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพการเผาไหม้แย่ที่สุด ดังนั้นพลังงานจึงถูกเปลี่ยนเป็นความร้อนแล้วก็ถูกปลดปล่อยเป็นควันพิษ ยิ่งรถติดนานเท่าไร ความเข้มข้นของไอเสียที่เป็นสารมลพิษจะยิ่งเยอะเท่านั้น

“เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาการติดขัดของการจราจรถือเป็นกลไกที่สำคัญอันหนึ่ง และภาครัฐยังไม่ได้เชื่อมโยงปัญหา PM 2.5 กับปัญหารถติด ซึ่งจริงๆ มันเชื่อมโยงกันโดยตรง”

  1. ลดปริมาณรถบนท้องถนน

“ผมว่าภาครัฐมาถูกทางแล้ว แต่สามารถทำให้ดีกว่านั้นได้อีก ซึ่งมาตรการระยะสั้นอันดับแรกคือการตรวจและปรับสภาพรถให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และต้องทำงานแบบเชิงรุกมุ่งไปที่ต้นตอของปัญหาโดยตรง อย่างที่มุ่งไปที่รถเมล์ ขสมก. ซึ่งสามารถแก้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ใน กทม. ประมาณ 2.5 ล้านคันต่อวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องไปทำงานเชิงรุกโดยการตรวจสภาพรถต่างๆ ในจุดที่เป็นสถานที่ประกอบการหรือจุดที่มีการรวมรถเยอะๆ เช่น ท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเรือกรุงเทพฯ ที่ในหนึ่งปี มีรถเข้าออกกว่า 1.8 ล้านเที่ยวต่อปี

“บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่จะมีระบบรถขนส่งเยอะแยะไปหมด บริษัทเหล่านี้หัวใจของเขาคือระบบโลจิสติกส์และยังมีจุดจอดรับถ่ายสินค้าจากชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ เราจึงควรมุ่งเป้าส่งหน่วยเข้าไปตรวจสอบสภาพและขอความร่วมมือไม่ใช่แค่ที่ ขสมก. เรายังสามารถดำเนินงานในเชิงบวก อย่างเช่นจัดหน่วยอาสาสมัครเครื่องยนต์ อาศัยโรงเรียนอาชีวศึกษา ศูนย์รถยนต์ต่างๆ ไปตรวจสอบและปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ได้มาตรฐาน”

นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญหนึ่งเกิดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ฝุ่นจากการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นเพียง PM 10 ซึ่งขนาดจะใหญ่กว่า PM 2.5 การที่รัฐบาลฉีดน้ำตามจุดต่างๆ หรือล้างถนน จะช่วยดัก PM 10 เท่านั้น แต่ปัญหาที่พ่วงตามกันมาคือ การก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินส่งผลให้การจราจรติดขัดมากกว่าเดิมหลายเท่า

“สมัยก่อนที่เราสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก เราทำเหมือนกับที่มาตรฐานทั่วโลกเขาทำ นั่นคือสร้างกลางคืน แต่กลางวันปิด เพื่อให้พื้นที่กับการจราจร แต่ในปัจจุบันขณะนี้ผมแปลกใจมากว่า วิธีการเหล่านั้นไม่มี หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยในชั่วโมงเร่งด่วน ก็ควรคืนพื้นที่การจราจรกลับไปให้รถยนต์ ให้วิกฤตินี้ผ่านช่วงสองเดือนนี้ไปให้ได้ ก็จะช่วยได้มาก”

รศ.จำนงยังกล่าวต่อว่า มาตรการระยะยาว ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่ยอมรับและใช้ต้นทุนถูกที่สุด คือการใช้นโยบายจราจรและผังเมือง สร้างเมืองที่ยั่งยืน

“แนวคิดของการจราจรและเมืองที่ยั่งยืนคือการให้ความสำคัญของขนส่งสาธารณะ สิทธิของคนต้องอยู่เหนือสิทธิของรถยนต์ นั่นหมายความว่า รถเมล์ต้องมีสิทธิก่อนรถเก๋ง แต่ทุกวันนี้เราให้สิทธิของรถยนต์อยู่เหนือสิทธิของคน และควรทำร่วมกับการเดินทางโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ การขี่จักรยาน การเดิน การใช้รถไฟฟ้า”

pm 2.5
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อยู่อย่างไรในวันนี้ ไม่ให้ปัญหาตกทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืนว่า

“มันไม่ได้หมายความว่า เฉพาะช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสามปีแล้วปัญหามลพิษจะจบ ต่อให้สร้างรถไฟฟ้าเสร็จรถก็ยังวิ่ง ยังติดเหมือนเดิม สุขุมวิทไม่ได้มีรถหนาแน่นน้อยลง ในตอนนี้ทุกคนพยายามคนละนิดคนละหน่อย แจกหน้ากาก ยิงน้ำขึ้นฟ้า ฉีดน้ำแก้ฝุ่นพิษใกล้เครื่องวัด ซึ่งปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้เลย

“เราใช้เวลานานมากนะในช่วง 1-2 ปีกว่าเราจะยอมรับและเรียกมันว่ามลพิษทางอากาศ ตอนแรกเราเรียกมันน่ารักๆ หมอกจางๆ หรือควัน ฝุ่นจิ๋ว ยังไม่ยอมรับสักทีว่ามันเป็นมลพิษ”

ปัญหามลพิษทางอากาศมีความไม่เท่าเทียมกัน คนยากคนจนในเมือง คนขายของริมถนน คนนั่งสองแถว คนเดินถนน จะได้รับฝุ่นควันมากกว่า

“มอเตอร์ไซค์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง มอเตอร์ไซค์ 3.5 ล้านคันในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง ใช่ครับ ปล่อยมลพิษ และอีกส่วนหนึ่งเขาปะทะกับมลพิษโดยตรงด้วย เวลาเราบอกจะพิทักษ์เมือง เราต้องดูว่าเมืองของใครด้วย คนจนจำนวนมากที่อยู่ในเมือง คนซึ่งต้องเดินทางเข้ามาหากินในเมือง เขาประสบปัญหาเหล่านี้มากกว่าบางคนซึ่งอยู่ในห้องแอร์แล้วแชร์ข่าวตลอดเวลา เราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้”

ในหลายประเทศ ข้อคำนึงในการก่อสร้างอาคารคือ ส่งผลกระทบชุมชนอย่างไร หากกระทบเรื่องควัน กระทบเรื่องฝุ่น ต้องดูสภาพของผู้คนบริเวณนั้น บางส่วนไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ยังเป็นบ้านเปิด ดูว่าคนเหล่านี้เผชิญสภาพปัญหาอย่างไร

“ทุกข์อันนี้ถ้ามันเป็นทุกข์ของทุกคนในเมือง เราจะมีกลไกอะไรช่วยปกป้องพวกเรา เราจะร่วมมือกันอย่างไรในชุมชนแต่ละชุมชนเมื่อมีการก่อสร้างใหญ่ เราได้มีส่วนเห็นแผนในการป้องกันฝุ่นมากน้อยแค่ไหน เราได้เห็นการคำนวณเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ความยั่งยืนที่ว่าคือ เราจะอยู่อย่างไรในวันนี้ โดยไม่ทำให้ให้เกิดผลกระทบสู่คนรุ่นต่อไป”