รพ.สต.สบบง ขยายเครือข่าย อสม.นักวิทย์ชุมชน เฝ้าระวังสินค้าชายแดนที่ไม่ปลอดภัย

วันที่ 7 มิ.ย.2560 นายสงกรานต์ สมนาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา เผยว่า รพ.สต.สบบง ได้อบรมให้ความรู้ด้านอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย การตรวจสอบข้อมูล และการทดสอบด้วยชุดทดสอบ ให้แก่ อสม.จำนวน 36 คน ครอบคลุม 13 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นการขยายผลสร้าง อสม.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เพื่อร่วมเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย

รพ.สต.สบบง เป็นหน่วยงานนำร่องด้านคุ้มครองผู้บริโภคของจังหวัดพะเยา ที่เฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย โดยร่วมเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันกับศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพะเยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา และปี 2559 พบปัญหายาประดงไม่ปลอดภัยจากสารเสตียรอยด์

ผอ.รพ.สต.สบบง คาดว่า อสม.นักวิทย์ชุมชนที่ขยายผลนี้ จะช่วยให้การเฝ้าระวังป้องกันอาหาร ยาและสมุนไพรที่น่าสงสัยความปลอดภัยจากบริเวณชายแดนไทย-ลาว และรถเร่ขาย ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

รายงานโดย รพ สต
สบบง พะเยา และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
เขต 1/1 เชียงราย

เชียงใหม่ พัฒนา อสม นักวิทย์ เป็น “คนล๊วก” คุ้มครองผู้บริโภคปกป้องชุมชนจากสินค้าไม่ปลอดภัย

วันที่ 8 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ มีการจัดประชุมขับเคลื่อนเครือข่าย อสม นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมี เภสัชกร
อิสรา นานาวิชิต หัวหน้ากลุ่มงานของผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน และ เภสัชกร พิสณฑ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกรชำนาญการ สสจ เชียงใหม่ กล่าวรายงาน โดย มีการอบรมในวันที่ 8 และ 9 มิถุนายน รวมประมาณ 300 คน เภสัชกร อิสรา ได้กล่าวถึงนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่จะสร้าง Smart Citizen. Smart Community และ Smart Government คือ พลเมือง ชุมชน และ รัฐบาล ที่เข้มแข็ง ในภาษาเหนือเรียกได้ว่า สร้าง “คนล๊วก” ที่มีความรู้มาคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน ใช้มาตรการสังคมปกป้องชุมชน และ มีข้อมูลจากรัฐ เช่น หน้าต่างเตือนภัย สนับสนุนข้อมูลให้ อสม และ เจ้าหน้าที่ รพสต ใช้สื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย

ในการอบรมนี้ได้มีการอภิปรายประสบการณ์การทำงานแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชนโดย เภสัชกรหญิงอรพินท์ พุ่มภัทรชาต เภสัชกรชำนาญการโรงพยาบาลสันกำแพง ที่ได้กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรในการแก้ไขปัญหาการกระจายของยาสมุนไพรผสมสารสเตียรอยด์โดยได้ติดตามถึงแหล่งผลิตในจังหวัดที่ส่งมา ยาเหล่านี้มักจะมีทะเบียนปลอมแต่มีรูปลักษณ์ของกล่องบรรจุที่สวยงามเมื่อนำมาตรวจก็จะพบสารสเตียรอยด์ จึงได้ร่วมกับชุมชนเฝ้าระวังและติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติป่าซางนำเสนอโดยนายสันติพงษ์ กันทะวารี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และ อสม นักวิทย์ นางนภาพร กุลอ่อน ประธานชมรม อสม อำเภอป่าซาง ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา มาโดยตลอดโดยพบว่ายิ่งทำคนขายยิ่งมีการพัฒนา จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันให้ข้อมูลแก่ชุมชน หากตรวจพบสารสเตียรอยด์ก็จะบอกกับประชาชนในหมู่บ้าน ทั้งนี้ที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติป่าซางได้มีจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจโดย อสม นักวิทย์ชุมชนสามารถตรวจได้ ถ้าเจอก็จะส่งยืนยันที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไปก่อนที่จะประกาศให้ชุมชนรับทราบและมีการนำลงข้อมูลในหน้าต่าง เตือนภัย

การอบรมนี้จัดโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เขต 1 เชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกัน ขับเคลื่อนเครือข่าย อสม นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ อสม สามารถ ใช้ชุดทดสอบสารสเตียรอยด์ในยาและทดสอบสารปนเปื้อนในเครื่องสำอางรวมถึงการใช้ข้อมูลในหน้าต่างเตือนภัยโดย การอบรม อสม ในพื้นที่ทีเชียงใหม่ในวันนี้ ต่อจากการอบรม อสม นักวิทย์ชุมชน ที่จังหวัด ลำพูน แม่ฮ่องสอน และลำปาง

เอาจริง! เครือข่าย อสม นักวิทย์ฯพิษณุโลกให้รถเร่ขายยาต้องขออนุญาต เฝ้าระวังสารปนเปื้อนอาหารในตลาด ปลอดภัยให้ธงเขียว

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดอบรมโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพิษณุโลก โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เขต 2 พิษณุโลก ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณโรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก

ในการอบรมนี้ มีการกล่าวรายงานโดย นายณัฐพัชร์ รัตนเดชานาคินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 2 พิษณุโลก และ กล่าวเปิดโดย นายแพทย์ไกรสุข เพชระบูรณิน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

นายแพทย์ไกรสุข ได้กล่าวย้ำให้เห็นความสำคัญของบทบาทของ อสม ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค ทักษะการใช้ชุดทดสอบที่จะมีการอบรมจะทำให้ อสมมีศักยภาพในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน ในการอบรมนี้ มีผู้เข้าอบรม 299 คน ประกอบด้วย จนท รพสต แห่งละ 1คน และ อสม แห่งละ 2 คน จาก 9 อำเภอ มีทีมวิทยากรและผู้จัดการอบรมอีกรวม 30 คน

ในการนำเสนอผลการดำเนินงานในชุมชน นางสาวอรทัย ชมสวน เจ้าพนักงานสาธารณสุข สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติบ้านนากลาง และ อสม สุพรรษา ธนูสาร ได้นำเสนอการทำงานของเครือข่ายอาสาสมัครในวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนที่มีความเข้มแข็ง

หลังจากที่ได้ผ่านการอบรมแล้วได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่โดยใช้”มาตรการทางสังคม” ปกป้องชุมชนจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการเฝ้าระวังรถที่มาเร่ขายยาในหมู่บ้านจะต้องมาขอนุญาตจากผู้ใหญ่บ้าน อสม มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารในตลาดโดยการตรวจด้วยชุดทดสอบ หากตรวจแล้วไม่พบสารปนเปื้อนสามครั้งจะมีการมอบ”ธงเขียว”ให้กับร้านจำหน่ายอาหาร

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยเพื่อแจ้งอันตรายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ในปีนี้ได้ขยายงานต่อไปในโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพอีกสองตำบล ผลงานที่ดำเนินการได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานดีเด่นด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับเขต

การอบรมนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เขต 2 พิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกัน ขับเคลื่อนเครือข่าย อสม นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ อสม สามารถ ใช้ชุดทดสอบสารสเตียรอยด์ในยาและทดสอบสารปนเปื้อนในเครื่องสำอางรวมถึงการใช้ข้อมูลในหน้าต่างเตือนภัยโดย การอบรม อสม เต็มพื้นที่ที่พิษณุโลกในวันนี้ ต่อจากการอบรม อสม นักวิทย์ชุมชน เต็มพื้นที่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

พาดหัวข่าวต้อง”ฟู”เนื้อหาต้อง”ฟิต” กำเนิดเครือข่ายนักเตือนภัยสุขภาพ

วันที่ 6 มิถุนายน พศ 2560 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมืองศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) จัดอบรมนักสื่อสารสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยมีผู้เข้าอบรม 80 คนจาก 28 จังหวัดเพื่อสร้างเครือข่ายนักคุ้มครองผู้บริโภคเตือนภัยสุขภาพ ในแต่ละภูมิภาค

เครือข่ายต่างๆประกอบด้วยเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (นคบส) เครือข่ายนักจัดการเพื่อผู้บริโภค (นจพบ) เครือข่ายไร้แร่ใยหินภาคเหนือ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เครือข่ายคณาจารย์เภสัชศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภค และทีมงาน คคส. โดย ถือได้ว่าเป็นการ
กำเนิดเครือข่ายนักคุ้มครองผู้บริโภคเตือนภัยสุขภาพ (นคส) ที่กระจายใน ภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ

การอบรมนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการเขียนข่าว อาจารย์นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ อดีตกองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์เนชั่น และอาจารย์ พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่ ผู้เข้ารับการอบรม

วิทยากรได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการเขียนข่าวที่ต้องทำให้เกิดความสนใจ ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายยึดหลัก 5W1H หัวข่าวต้องน่าสนใจ (ฟู) และ เนื้อหาต้องกระชับ (ฟิต) การเขียนข่าวต้องไม่จำเจซ้ำซาก (cliche) น่าเบื่อเนื้อหาต้องทันสมัย ทันเวลา ทันเหตุการณ์ ไม่เยิ่นเย้อ ใช้ภาษาได้ถูกต้อง มีความใหม่ฉีกแนว ไม่ธรรมดาทำให้ผู้อ่านสนใจและอยากอ่าน

ทั้งนี้ได้มีการให้ผู้เข้าอบรมฝึกปฏิบัติการเขียนข่าวที่ได้ให้เตรียมมา และทดลองส่งเข้าระบบรับข่าวของฐานข้อมูลเว็บไซต์ คคส (www.thaihealthconsumer.org)
โดยเนื้อข่าวที่ส่งมา สามารถเลือกประเภท ได้แก่ ข่าวแจ้งเตือนภัย ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวกิจกรรม และสาระน่ารู้ รวมทั้งการใส่รูปภาพประกอบการเขียนข่าว การเขียนข่าวแต่ละย่อหน้าไม่ควรเกินห้าบรรทัด

ในการอบรมครั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ ทักษะการปฏิบัติ และเห็นความสำคัญที่จะนำเหตุการณ์หรือกรณีที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่มาเป็นเนื้อหาในการเขียนข่าวสื่อสาร

สำหรับข่าวที่ผู้เข้ารับการอบรมได้เขียนขึ้น ได้ส่งให้วิทยากรได้ทบทวนตรวจทานให้เหมาะสมถูกต้อง ก่อนที่จะพิจารณานำลงในเว็บไซต์ คคส ต่อไป

 

ไฟล์การนำเสนอ Download

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อบรม อสม นักวิทย์ชุมชนคุ้มครองผู้บริโภค ใช้ Kahoot ในสมาร์ทโฟนประเมินความรู้ หนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มประสิทธิภาพงาน

การอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนที่กำลังดำเนินการอยู่ ในเดือน พค และ มิย 2560 นี้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผ่านทางศูนย์วิทยาศาสตร์การ เขตต่างๆทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขสุขจังหวัดกว่า 20 จังหวัดร่วมกับ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. ในการนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์หลายเขตเช่น ศูนย์วิทย์ เขต1 เชียงใหม่ และศูนย์วิทย์ เขต 1/1 เชียงราย และ ศูนย์วิทย์ฯเขต 9 นครราชสีมา ได้นำโปรแกรม Kahoot มาใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ ทั้งก่อนและหลังการอบรม โดยมีข้อคำถาม 15 ข้อเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ เรื่องหน้าต่างเตือนภัย การใช้ชุดทดสอบสารสเตียรอยด์ การใช้ชุดทดสอบปรอท ไฮโดรควิโนน และกรดวิตามินเอที่ผสมมาในเครื่องสำอางอย่างไม่ถูกต้อง พิษภัยของสารสเตียรอยด์ที่ปนมาในยาสมุนไพร สารปรอท ไฮโรควิโนนและกรดวิตามินเอที่ปนเปื้อน มาในเครื่องสำอาง บทบาทของ อสม ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคโดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีจากวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ทำให้การประเมินผลการเรียนรู้ก่อนและหลังการอบรมทั้งรายบุคคลและในภาพรวม ทำได้รวดเร็ว ผู้จัดกระชุม สามารถให้ อสม ตอบคำถามไปพร้อมกัน และสามารถเฉลยคำตอบและให้ความรู้ได้ตามข้อคำถาม นำไปสู่ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ในการปฏิบัติ ทำให้ อสม สามารถปรับปรุงตนเองในการทดสอบหลังการอบรม

การอบรมโดยทั่วไปมักจะขาดการประเมินผลการอบรม เพื่อทราบว่า ผู้เรียนได้รับความรู้ก่อนและหลังการอบรมมากน้อยเพียงใด หลักการที่เรียกว่า OLE หรือ Objective (วัตถุประสงค์) Learning (การเรียนรู้) และ Evaluation (การประเมินผล) จึงไม่ครบถ้วน โปรแกรม Kahoot ออกแบบให้สามารถตอบคำถามเพื่อการประเมินผลภายหลังการอบรม

การใช้โปรแกรม Kahoot สามารถให้ อสม ตอบคำถามผ่านในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และเปิดเข้าสู่โปรแกรมออนไลน์โดยมีการให้รหัสไปเพื่อให้ทุกคนเข้าไปในโปรแกรมซึ่งสามารถทำได้ในเวลาไม่นานนัก

การดำเนินการในหลายจังหวัดพบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนสามารถดำเนินการได้ถึง 8 ใน 10 คน ส่วนคนที่ใช้โปรแกรมไม่ได้ หรือไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ก็สามารถให้ทำแบบทดสอบในกระดาษได้ อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับ Wifi (ไวฟาย) ที่หลายพื้นที่ยังไม่มีคลื่นที่แรงพอสำหรับผู้เข้าประชุม โดยเฉพาะในการประชุมที่มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก หรือในพื้นที่ปิด

ดังนั้นหากผู้จัดอบรมจะเตรียมการใช้วิธีประเมินผลจากสมาร์ทโฟนโดยให้เข้าสู่ระบบออนไลน์จำเป็นต้องสำรวจห้องประชุมและเตรียมการให้พร้อมเกี่ยวกับ Wifi (ไวฟาย) ที่จะรองรับการดำเนินการออนไลน์ ก่อนที่จะใช้โปรแกรม Kahoot ในการอบรม ผู้ที่สนใจการใช้โปรแกรม Kahoot สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจาก อินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในการอบรมที่ใช้โปรแกรม Kahoot ได้นั้นต้องขอขอบคุณศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขตต่างๆที่ริเริ่มมีการพัฒนาการประเมินผลโดยการนำโปรแกรมนี้มาใช้ ถือได้ว่า การดำเนินการนี้เป็นการตอบสนองนโยบายที่ให้นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการดำเนินงาน หรือนโยบายไทยแลนด์ 4.0

รายงานโดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค อย เขต 6 รุกงานเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

วันที่ 30-31พค.2560 กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในภูมิภาคและท้องถิ่น (เขต6) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพที่ 6 จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการประสานเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เขตสุขภาพที่6โดยมี นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย โดย ภญ.ดร.ณธิป วิมุตติโกศล มีผู้เข้าร่วมประชุม รวม 90 คน ประกอบด้วย เภสัชกรจาก สสจ. ,รพศ. ,รพท., รพช.และ เทศบาลเมืองพัทยา ได้รับเกียรติจากนายแพทย์อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่6 และ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ภก วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร รองอธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รศ ดร ภก วิทยา กุลสมบูรณ์ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภญ ดร สุภาพร ปิติพร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ ภญ วิมล สุวรรณเกษาวงษ์
ผู้เชี่ยวชาญ พิเศษด้านมาตรฐานยา อย ทั้งนี้เครือข่ายเภสัชกรในเขต6 และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีแผนการดำเนินงานร่วมกัน ในการประสานเครือข่ายเพื่อดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ แนวทางการพัฒนางานการเฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อไป

ปิดท้ายอย่างสวยงาม “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ” ด้วยทีม อสม. นักวิทย์ฯ เมืองคอน

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การสนับสนุนของ คคส. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด” ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องบงกชรัตน์ 1-2 โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้เกิดเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับตำบลครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป้าหมายเน้นสร้างทีมบุคลากรที่สำคัญ ได้แก่ แกนนำ อสม.นักวิทย์ฯ ประจำตำบลๆ ละ 2 คน  และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในศูนย์เฝ้าระวังฯ ที่จัดตั้งขึ้น ณ รพ.สต. โดยในเบื้องต้นนำร่อง จำนวน 100 แห่ง กระจายในทุกอำเภอ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทั้ง 23 อำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นจุดเชื่อมประสานของเครือข่าย

การจัดอบรมได้รับเกียรติจากนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธาน ทำให้เจ้าหน้าที่ทีมพี่เลี้ยงทั้ง รพ.สต. สสอ. และ อสม. ได้รับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนครศรีธรรมราชสู่ต้นแบบงานด้านสาธารณสุข (PP & P Excellence) การอบรมเน้นการทำความเข้าใจการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง
รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเตือนภัยระดับตำบล โดยเริ่มต้นจากสมัครเข้าใช้งานในหน้าต่างเตือนภัย (www.tumdee.org/alert) และมีทีมงานซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่งาน คบส. ของ รพ.สต. และแกนนำ อสม.นักวิทย์ฯ ซึ่งได้รับการฝึกฝนในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาสมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ผ่านหน้าต่างเตือนภัยและการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น เพื่อนำความรู้ไปใช้งานในชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นผลว่าชุมชนมีเครื่องสำอางหรือยาที่ปนเปื้อนสารอันตราย ก็เกิดความตระหนักของการจัดตั้งศูนย์แจ้งเตือนภัย และวางแผนต่อยอดแก้ไขปัญหาพัฒนาสู่ต้นแบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกตัวอย่าง เช่น  รพ.สต.โมคลาน อ.ท่าศาลา มีการสำรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพ และพบว่ามีปัญหาพบการการใช้ยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ แกนนำ อสม. ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ จึงได้จัดทำโครงการจิตอาสาโมคลาน เพื่อให้ค้นหาสาเหตุ ที่มา และให้ความรู้แก่คนในชุมชน ให้ตระหนักถึงพิษภัยของผลิตภัณฑ์ที่อันตรายผสมยาสเตียรอยด์ ไม่หลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีการรวมกลุ่มสื่อสารงานกันในกลุ่มไลน์ อสม.นักวิทย์ เมืองคอน และมีเครือข่ายศูนย์แจ้งเตือนภัย 201 แห่ง เป็นระดับตำบล 133 แห่ง และเป็นระดับอำเภอและจังหวัดรวม 68 แห่ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้จัดอบรมขับเคลื่อนเครือข่ายฯ ครบทั้ง 4 จังหวัดแล้ว ซึ่งกิจกรรมต่อไปจะต้องติดตาม ประเมินผลการขยายเครือข่าย อสม.นักวิทย์ฯ ในระดับหมู่บ้าน และการจัดตั้งทีมงาน อสม.นักวิทย์ฯ ในศูนย์แจ้งเตือนภัย ณ รพ.สต. เพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กระตุ้นให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบได้สมัครเข้าเป็นเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังฯ มุ่งหวังให้ครบร้อยละ 100 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

ลำปาง เสริมพลัง อสม นักวิทย์ชุมชนคุ้มครองผู้บริโภค อบรมสามรุ่นสามวัน ทั้งจังหวัด ๓๕๒ คน

 

ที่ลำปาง โรงแรมเอเชีย ลำปาง โฮเต็ล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางและ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดประชุมขับเคลื่อนงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน สามรุ่นในวันที่ ๓๑ พค ๑ มิย ๒ มิย รวม ๓๕๒ คน

โดยมี ภก ไพรัตน์ หริณวรรณ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บรืโภคและเภสัชสาธารณสุข กล่าวรายงาน และ มีการกล่าวเปิดการประชุมโดย นายแพทย์วรินทร์เทพย์ เชื้อสำราญ รองนายแพทย์ใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้กล่าวย้ำ ถึงความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขนักวิทยาศาสตร์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยกล่าวว่า
” ปัจจุบันงานด้านสาธารณสุขครอบคลุมสี่ด้าน คือ รักษาโรค ส่งเสริมและป้องกัน ฟื้นฟูสุขภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคคือการปกป้องให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารต้องห้าม หรือ ผลิตไม่ได้
ตามกฏหมายหมดไป หรือมีน้อยที่สุดปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมายทั้งที่จดทะเบียน และไม่ได้จดทะเบียน มีการขายด้วยวิธีการต่างๆ ใช้การส่งเสริมการขายทั้งขายตรง ขายทางโทรศัพท์ และ ขายออนไลน์ กระจายทั่วไป เกิดปัญหา การกระจายของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่มากมาย การควบคุมโดยอาศัยภาครัฐไม่สามารถทำได้ทั่วถึง จึงต้องทำให้ประชาชนผู้บริโภค รู้จักเลือกใช้ ผลิตภัณฑ์โดยดูข้อมูลในเบื้องต้นจากเอกสารและฉลากที่มากับสินค้า ไม่หลงตามโฆษณา การประชุมอบรมในวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ อาสาสมัครสาธารณสุขนักวิทย์ชุมชนระมัดระวังตนเอง ครอบครัว คนรอบข้างและ ถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เกิดการป้องกันภัยในชุมชน จึงขอให้ อสม นักวิทย์ชุมชนร่วมกันในการปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย”

ในการอบรมทั้งสามวันมีการใข้โปรแกม Kahoot ประเมินผลการเรียนรู้ก่อนและหลังการอบรมในฐานความรู้สี่ฐาน ประกอบด้วย การใช้หน้าต่างเตือนภัย การทดสอบสเตียรอยด์ในยาและสมุนไพร การทดสอบสารปลอมปนในเครื่องสำอาง การอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ยา อาหารและเครื่องสำอาง ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ มีความสุขสนุกสนาน และเชื่อมั่นว่าสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้
ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

รายงานโดย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บรืโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง

ประชุมจัดระบบเฝ้าระวังการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตาม ร่าง พรบ ควบคุมการตลาดอาหารฯ

วันที่ ๑ มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ท กรมอนามัย ร่วมกับ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และศูนย์นมแม่ฯจัดประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแผนพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และควบคุมการตลาดนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก

การประชุมฯ กล่าวเปิดโดย นพ ธงชัย เลิศรัตนพงษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย
ดังนี้ “การประชุมครั้งนี้ เป็นการเตรียมการตามเนื้อหาสาระ ร่าง พระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พศ ๒๕๖๐ โดย ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย สสจ ทั้งฝ่ายส่งเสริมสุขภาพและกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และ
โรงพยาบาลศูนย์และทั่วไปโดย ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ รวม ๒๕๐ คนวัตถุประสงค์ เป็นการออกแบบระบบและการเฝ้าระวัง เพื่อทำให้กฎหมายที่ประเทศไทยพยายามจนเกิดผลบรรลุผล ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุด คือ เพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็ก

นพ ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล
อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยาย เรื่อง ความคาดหวัง โดยกล่าวว่า มีสี่ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
(๑) นโยบายของรัฐ ที่ครอบคลุมการลาคลอด สวัสดิการ และ กฎหมายนมแม่

(๒) ระบบสุขภาพและบุคลากร
หมอเด็ก หมอสูติ พยาบาลที่ดูแลการคลอดการส่งเสริม

(๓) การสื่อสาร
มีความสำคัญมาก รวมถึงภาคประชาสังคมและประชาชนที่สนับสนุน

(๔) องค์การระหว่างประเทศ
มีการอ้างเรื่องการกีดกันการค้า
อุตสาหกรรมนมผง

อุตสาหกรรมนมผงขยายตัวพัฒนามาเกือบร้อยปี การขยายตัวของอุตสาหกรรมทำให้การขายนมผงเฟื่องฟู มีการศึกษาพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมผงนมขวดมีอัตราตายสูงกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงหกเท่า

มีการขายนมจากแม่กัมพูชาไปอเมริกา เพื่อให้เด็กอเมริกากิน

มีการใส่สาร เช่น MFGM ที่บอกว่าให้ผลดีต่อเด็ก

ครอบครัวฐานะปานกลาง มีค่าใช้จ่ายในการให้นมผงสูงกว่านมแม่ 15 เท่า

ตลาดนมแม่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยภาคธุรกิจ ทำการตลาดขึ้นมาให้ขายของได้ มีการทำสูตรนมผงว่าเป็นอาหารดีของทารก

องค์การอนามัยโลกสนับสนุนการเกิดกฎหมายควบคุมการตลาดนมผง ทั้งนี้ อเมริกาใต้ อินเดีย อาฟริกา ตื่นตัวมาก่อน ในเอเชีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ดำเนินการก่อนไทย ไทยมีอัตราเลี้งลูกด้วยนมแม่ต่ำสุดในอาเซียน. การมีเพียงโคดนมแม่ไม่เกิดผล จึงต้องมีกฎหมายนี้ ในประเทศไทย มีการละเมิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆมาก การมีกฎหมายจึงมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย

นอกจากนี้ได้มีการอภิปรายแนวทางการดำเนินการตามกฎหมาย และ
หาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและกำกับดูแลการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กต่อไป

รายงานโดย
รายงานโดย ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ป่าซาง จังหวัดลำพูน มุ่งมั่นติวเข้มต่อยอดนักวิทย์ชุมชน

วันที่ 30 พ.ค.60 ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ (สอน.) ป่าซาง โดยการนำของผู้อำนวยการ สอน. คุณจันทร์ศรี มูลวงศ์ ร่วมกับ ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคตำบลป่าซาง เพื่อเป็นการสานต่อโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจังหวัดลำพูน โดยการจัดอบรมความรู้เรื่องการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพและอาหารปลอดภัย รวมทั้งการฝึกปฏิบัติใช้ชุดทดสอบหาสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้แก่ อสม. 70 คน ทุกหมู่บ้านในเขตตำบลป่าซาง โดยมุ่งหวังที่จะขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน มากยิ่งขึ้น มีเทศบาลตำบลป่าซางเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดอบรม วิทยากรจาก สอน.ป่าซาง โรงพยาบาลป่าซาง และนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบปัญหาการบริโภคที่ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอ เช่น การใช้เครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ ยาลูกกลอนแก้ปวดพบสารสเตียรอยด์ อาหารเสริมลดความอ้วน ซึ่ง สอน.มีโครงการ R2R เพื่อจะนำยาสมุนไพรมาใช้ทดแทน

รายงานโดย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน