การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร เขตสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์)

  

แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับกลุ่มโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร เขตสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) วันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมโคราชโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร เจ้าหน้าที่บุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อปท. และประชาชนให้มีความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพกลุ่มก่อสร้างและรื้อถอนอาคารซึ่งมี ผู้ประกอบอาชีพรื้อถอนอาคาร ผู้ประกอบการ เจ้าโครงการบ้านจัดสรร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ องค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลอำเภอ และอาสาสมัครสาธารณสุข/ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เข้าร่วมประชุม รวมทั้งสิ้น 180 คน ในช่วงเช้ามีการบรรยาย เรื่องนโยบายการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร โดยวิทยากรจากงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เรื่อง โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคารโดยกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เรื่อง ความปลอดภัยและการจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร โดย รศ.ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเรื่อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการควบคุมการก่อสร้างและถื้อถอนอย่างปลอดภัยโดยฝ่ายควบคุมอาคาร เทศบาลนครนครราชสีมา และในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนในหัวข้อการจัดการความเสี่ยงจากการทำงานแบบมีส่วนร่วม การประชุมครั้งนี้ผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างและรื้อถอนอาคารมีความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพกลุ่มก่อสร้างและรื้อถอนอาคารอีกด้วย

ประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้ระบบประเมินองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เวอร์ชั่น 2017

 

แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการใช้ระบบประเมินองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เวอร์ชั่น 2017 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ณ ศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแนะนำระบบประเมินองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ซึ่ง คคส.ได้ปรับปรุงระบบ ให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่สนใจพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณภาพ ซึ่งผู้ร่วมอบรมประกอบด้วยผู้แทนองค์กรผู้บริโภคเข้าจำนวน 19 คน จาก 19 องค์กร

ทั้งนี้ รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ชี้แจงวัตถุประสงค์การอบรม จากนั้นเป็นการแนะนำระบบประเมินองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เวอร์ชั่น 2017 สำหรับองค์กรผู้บริโภค (User) และทดลองใช้ระบบ และให้ผู้เข้าอบรมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบ ต่อไป  ซึ่งผู้เข้าอบรมและ คคส.ร่วมกำหนดการทำงานโดยให้เริ่มดำเนินการเข้าใช้ระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป

อบรมระบบองค์กรคุณภาพ
อบรมระบบองค์กรคุณภาพ

ถอดบทเรียนความสำเร็จโครงการรณรงค์แก้ไขปัญหาการใช้วัสดุที่ปนเปื้อนแร่ใยหินจังหวัดลำพูน “หละปูนฮ่วมใจ๋ ไร้แร่ใยหิน”

แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน จัดทำโครงการรณรงค์แก้ไขปัญหาการใช้วัสดุที่ปนเปื้อนแร่ใยหินจังหวัดลำพูน  “หละปูนฮ่วมใจ๋  ไร้แร่ใยหิน” ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว คคส.จึงลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและถอดบทเรียนความสำเร็จตามโครงการฯดังกล่าว เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้นแบบในการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคในท้องถิ่นของตนและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถขยายผลไปยัง อปท.ในพื้นที่อื่นๆได้ โดยเลือก อปท.ที่จะถอดบทเรียน 6 แห่ง ได้แก่

-วันที่ 20 มิ.ย.60 (1) เทศบาลเมืองลำพูน  มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน  8 คน (2) เทศบาลตำบลริมปิงมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน  8 คน

-วันที่ 21 มิ.ย.60 (3) เทศบาลตำบลบ้านกลาง มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 6 คน (4) เทศบาลตำบลเหมืองง่า มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน  8 คน

-วันที่ 22 มิ.ย. 60 (5) เทศบาลตำบลป่าสัก มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน  8 คน และ(6) เทศบาลตำบลอุโมงค์ มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน  8 คน

 

รายงานโดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จับใหญ่น้ำผึ้งปลอม ผสมน้ำเชื่อมและแบะแซ ขายมานานปี

 

สืบเนื่องจากข่าวการบุกจับแหล่งผลิตน้ำผึ้งปลอม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
วันนี้ (19 มิ.ย.2560) เวลาประมาณ 10.00 น. นายมนัส อ่ำทอง รอง ผวจ.ลำพูน พ.อ.พงค์มิตร ปินปันคง เสธฯ กองกำลังรักษาความเรียบร้อย จ.ลำพูน นายจิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ รอง นพ.สสจ.ลำพูน นายประทีป การมิตรี นายอำเภอป่าซาง และผู้กำกับการตำรวจภูธรป่าซาง นำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ จากศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำพูน หน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ พาณิชย์ และหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน อำเภอป่าซาง และ รพ.สต.บ้านเรือน เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตน้ำผึ้งปลอม ซึ่งมีนางวิลัย เชื้อจินดา เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ที่บ้านเรือน หมู่ 3 ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตรวจพบอุปกรณ์การผลิต เตาแกส น้ำตาลทราย แบะแซ ถังน้ำผึ้ง ขวดที่บรรจุน้ำเชื่อม และขวดที่บรรจุน้ำผึ้งผสมน้ำเชื่อม นางวิลัยฯ และสามี ให้การรับสารภาพว่า ทำการผลิตน้ำผึ้งผสมน้ำเชื่อมขายมานานหลายปีแล้ว โดยนำน้ำตาลทรายเคี่ยวกับแบะแซ แล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้งที่ซื้อมาจากฟาร์มผึ้ง ในสัดส่วน 1:1 ไม่มีการผสมสารกันบูดหรือสารแต่งกลิ่นใดๆ อย่างที่เป็นข่าว น้ำผึ้งผสมน้ำเชื่อมดังกล่าว บรรจุขวด 700 ซีซี ขายในราคา 60 บาท โดยขายส่งให้กับพ่อค้าที่อยู่ในตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ เพียงเจ้าเดียว ไม่ทราบว่าสินค้าของตนจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใดบ้าง พนักงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงทำการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดของกลางวัสดุอุปกรณ์ น้ำตาลทราย น้ำผึ้งทั้งหมด เพื่อประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งนางวิลัยฯ และสามี จะไปให้การกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรป่าซาง จ.ลำพูน ต่อไป
กรณีการผลิตน้ำผึ้งผสมน้ำเชื่อมเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำผึ้งแท้ในครั้งนี้ เข้าข่ายการกระทำผิดตาม พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐานผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่มีฉลากและเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) มีโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และยังเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25(2) มีโทษตามมาตรา 59 จำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับ 5 พันบาท ถึง 1 แสนบาท
รายงานโดย. กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

“ฉวาง” ต่อยอด อสม นักวิทย์ รุกสร้างชุมชนคุ้มครองผู้บริโภค ใช้งบ กองทุนสุขภาพตำบล สปสช

วันที่ 13 มิถุนายน 2560 รพ.สต บ้านมะปรางงาม ต.ละอาย อ. ฉวาง จ นครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคีเครือข่าย องค์การบริหารส่วนตำบลละอาย อสม.บ้านมะปรางงาม
ได้จัด”โครงการชุมชนก้าวไกลไปกับงานคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลละอาย ที่มาจาก สปสช และ อบต ละอาย มีผู้เข้ารับการอบรม 139 คน เป็น อสม นักวิทย์ชุมชน 2 คน โดยมี เภสัชกร จาก โรงพยายาลยุพราช (รพร) ฉวาง มาให้ความรู้ และ ตรวจสอบเครื่องสำอางตัวอย่าง โดยใช้ชุดทดสอบ 4 ชนิด
1.ทดสอบปรอท
2.ทดสอบไฮโดรควิโนน
3.ทดสอบสารเสตียรอยด์
4.ทดสอบกรดเรทิโนอิก

เพื่อตรวจสอบสารเคมีอันตรายในเครื่องสำอาง ซึ่ง ปัจจุบัน มีเครื่องสำอางที่อันตราย เพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ทั้งแบบชั่งกิโล มาแบ่งใสกระปุกขาย สร้างแบรนด์ของตัวเอง โฆษณาเกินจริง 7 วันหน้าขาว ซึ่งหากประชาชนหลงเชื่อ โดยไม่ถ่ายทอดความรู้ข้อเท็จจริง ผลตามมาคือหน้าพัง ไตวาย กลายเป็นปัญหาของระบบสุขภาพต่อไป

ในฐานะ จนท สาธารณสุข จึงต้องช่วยกันหยุดตั้งแต่ต้นเหตุ เท่าที่ขีดความสามารถจะทำได้ ซึ่งการดำเนินการนี้ต่อเนื่องจากการอบรม ที่จัดโดยศูนย์วิทย์ฯ สุราษฎร์สสจ นครศรีธรรมราช และ คคส จุฬาฯ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 60 ณ รร.ทวิลโลตัส นครศรีธรรมราช

ในการอบรมนี้ มี คณะทำงาน แระกอบด้วย
ผอ รพ สต . นายเทพประสิทธิ์ อนุพงศ์
วิทยากร.นายสุรชัย เดชพิชัย เภสัชกร ชำนาญการ
ผู้เขียนโครงการ น.ส.ปนัดดา สุวรรณะ นักวิชาการสาธารณสุข
ผู้จัดโครงการ น.ส.นิภาพร จิตรจำ อสม.นักวิทย์ชุมชน

รายงานโดย
รพ.สต บ้านมะปรางงาม ต.ละอาย
อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ร้อยแก่นสารสินธ์” รุกผนึกกำลังเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐและภาคประชาชน เขตสุขภาพที่ 7 ต้านภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง

อย.จับมือ กสทช. สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น และสมาคมสื่อมวลชน ประกาศนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมาย หลอกลวงผู้บริโภคเชิงรุก ในปี 2560 ณ โรงแรมกรีน จ.ขอนแก่น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยสร้างความร่วมมือในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการเผยแพร่ข้อความผิดกฏหมาย โอ้อวดเกินจริงทางสื่อวิทยุกระจายเสียง และนำไปปฏิบัติพร้อมกันทั้งเขต

เครือข่ายร้อยแก่นสารสินธุ์ต้านภัยโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมาย
ภก. วิรัตน์ ศรีชาติ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประธานเครือข่ายร้อยแก่นสารสินธุ์ต้านภัยโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมาย

สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด

ภก. วิรัตน์ ศรีชาติ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมทั้ง นายประเวศ จันทร์ฉาย รักษาการผู้บริการกสทช. เขต 6 (ขก) ประธานการสัมมนาเครือข่ายเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเขตสุขภาพที่ 7 ร้อยแก่นสารสินธุ์ปี 2560 กล่าวว่า “หน่วยงานภาครัฐในแต่ละจังหวัดได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ ขอความร่วมมือจนถึงการดำเนินคดีกับสื่อวิทยุแต่ปัญหาการโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” แต่ทว่าปัญหายังไม่หมดไป

ดังนั้นในปี 2560 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่ถูก ต้องตามกฎหมาย สสจ.ในเขตสุขภาพที่ 7 ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กสทช.ภาค 2 ขอนแก่น, เครือข่ายเภสัชกรโรงพยาบาล, สมาคมผู้บริโภคและแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 4 จังหวัดจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเขตสุขภาพที่ 7 ร้อยแก่นสารสินธุ์ขึ้น

โคงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ในการจัดการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในเขตสุขภาพที่ 7 ที่เป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายร่วมกันในภาพเขตกิจกรรม

ทั้งนี้ เครือข่ายเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งภาครัฐและเอกชนได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานหาแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโฆษณาในแต่ละพื้นที่ร่วมกันและเกิดเป็นแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหา โฆษณาที่เป็นในทิศทางเดียวกันทั้ง เขต 7

ท้ายสุด ภก. วิรัตน์ ศรีชาติ ฝากไว้ว่า ” ทุกภาคส่วนต้องหาวิธีการให้ผู้บริโภคเปลี่ยนความคิดตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ โดยในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะนำ รูปแบบการดำเนินงานของเครือข่ายต้านภัยโฆษณาผิดกฏหมายร้อยแก่นสารสินธุ์ เผยแพร่ทุกจังหวัด ทั้ง 12 เขตจะได้ทำเหมือนกัน เพื่อพัฒนาและ ควบคุมผลิตภัณฑ์ต่างๆให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด ”

รายงานโดย
ภญ.ชัญญรัชต์ นกศักดา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น

นางอาภรณ์ อะทาโส สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด

สงขลา รวมพลังเภสัชกรร้านยา ส่งเสริมประชาชนใช้ยาสมเหตุผล ลดการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

วันที่ 11 มิถุนายน 2560 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ชมรมเภสัชกรชุมชน จังหวัดสงขลา และชมรมร้านยาจังหวัดสงขลา แถลงข่าว โครงการใช้ยาสมเหตุผลในร้านยา (RDU Pharmacy) ณ โรงแรมศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็น เภสัชกรที่ปฏิบัติงานในร้านยา 120 คน เป้าหมายของความร่วมมือ เพื่อให้ประชาชนรับทราบและตระหนักในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อรณรงค์เพื่อให้ความรู้ร้านยา และ เชิญชวนร้านยาในจังหวัดสงขลา เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใข้ยาที่เหมาะสม มีการสนับสนุนอุปกรณ์จำเป็น เช่น ชุดส่องดูคอ การใช้ฉลากเสริม เพื่อให้ร้านยาได้ใช้ในการให้ข้อมูลประชาชน และจ่ายยาปฏิชีวนะ (antibiotic) อย่างสมเหตุผล โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทำบันทึกความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานดังกล่าว ที่จะร่วมมือกัน ส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม (Rational Drug Use) ในร้านยา


ทั้งนี้ ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย
1.นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงณัฐาศิริ ฐานะวุฑฒ์
ประธานโครงการร้านยาส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
3.เภสัชกรสมพงษ์ อภิรมย์รักษ์ ประธานชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา
4.คุณปรีชา สิงห์กัญญา ประธานชมรมร้านขายยาจังหวัดสงขลา

รายงานโดย
ภญ. วิไลวรรณ สาครินทร์
หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา

เภสัชกร รพ ขุขันธ์ ชี้ อสม แนะนำประชาชน ใช้หน้าต่างเตือนภัย ตรวจสอบ ยา-อาหารเสริม ทึ่มีเสตียรอยด์ ได้ผลคุ้มค่า เลิกกินถึง 7 ใน 10 คน

เภสัชกรเด่นชัย ดอกพอง กลุ่มงานเภสัชกรรมชุมชน รพ ขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า วิธีการให้ อสม.ไปสอบถามการใช้ผลิตภัณฑ์ของประชาชนและนำผลิตภัณฑ์ตรวจสอบกับระบบ หน้าต่างเตือนภัย ( Single window ) เป็นวิธีให้ความรู้แก่ประชาชนที่ใช้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่นั้นไม่ปลอดภัย จากการตรวจสอบจากระบบ Single window ทำให้ประชาชนปลอดภัยจากการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ ถึง ร้อยละ 70.73 ( 29 จาก 41คน) เป็นวิธีการที่คุ้มค่า ค่าใช้จ่ายต่ำ ได้ผลลัพธ์ที่ดี ใช้เครื่องมือง่ายๆ และอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน สำหรับประชาชน ร้อยละ 29.27 ยังเลิกไม่ได้เนื่องจากติดยา ทนอาการปวดไม่ได้ ต้องหาสาเหตุเชิงลึกเพื่อช่วยหาวิธีการอื่นๆเพิ่มเติม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรทำให้ระบบแจ้งเตือนภัยเป็นระบบเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ปัจจุบันประชาชนมีเครื่องมือเข้าถึงอินเตอร์เนตมากขึ้น ภาครัฐควรสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ และเข้าถึงเวบไซต์ www.tumdee.org/alert เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ข้อมูลมาดูแลตนเองและชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพึ่งตนเอง และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในสังคมไทย

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ ได้แก่ ยากษัยเส้นตราหมอโอภาส (มีไพรอกซิแคม) รองลงมา คือ ยากษัย ตราเทพธิดา (มีเดกซ่าเมทาโซน) ส่วนปัจจัยตัดสินใจเลิกใช้ยาน้ำแผนโบราณไม่ปลอดภัย ได้แก่ การได้รับความรู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ปลอดภัย และไม่ติดยา

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี ได้มาอบรม อสม.นักวิทย์ชุมชน ที่ อำเภอขุขันธ์ หลังจากนั้น เภสัชกรโรงพยาบาลขุขันธ์ ได้ขยายผลโดยลงพื้นที่จัดอบรมในระดับตำบล ให้ อสม.ตำบลโคกเพชร ครับ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม รพ.สต.โคกเพชร

รายละเอียดและผลการวิจัย ติดต่อได้ที่ เภสัชกรเด่นชัย ดอกพอง กลุ่มงานเภสัชกรรมชุมชน รพ ขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เบอร์โทรศัพท์ ๐๒ ๒๑๘๘๔๔๕, ๐๘๙ ๔๒๗๑๗๕๓ E-mail: ddenchai@gmail.com

การวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนโดย แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท)

จาก 2 เพิ่มอีก 18 อสม.นักวิทย์ชุมชน ดอกคำใต้ สร้างเครือข่ายสำรวจ ตรวจ ยาอาหารในชุมชน

ทีม อสม.รพ.สต.ขุนลาน อ.ดอกคำใต้เข้มแข็ง ช่วยสอน อสม.ในพื้นที่ ตรวจสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นำความรู้มาต่อยอดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน

วันที่ 9 มิถุนายน 2560 ทีม อสม 2 คน ที่ได้รับการไปฝึกอบรม อสม นักวิทย์ชุมชน เพื่อขับเคลื่อนการ คุ้มครองผู้บริโภค ในการอบรมของสสจ ศูนย์วิทย์ และ คคส ที่จังหวัดพะเยา ที่โรงแรม เกทเวย์ เมื่อวันที่ 5 พค 2560 ได้มาขยายการอบรม อสม ต่ออีกหมู่บ้านละ 2 คน จนได้ทีม 18 คน แล้วไปสำรวจครัวเรือน ได้พบยาที่น่าสงสัย นำมาตรวจเพื่อให้ อสม.ทั้งหมดรับทราบปัญหาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ต่อไป

ถือได้ว่าเป็นการขยายผลต่อเนื่องอย่างรวดเร็วซึ่งจะทำให้ชุมชนได้รับการปกป้องจากผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายอย่างยั่งยืน

รายงานโดย ภญ รุจิรา ปัญญา กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ ดอกคำใต้ จ พะเยา

เภสัชกร รพ สันทราย เตือนภัยน้ำผึ้งปลอม ดำเนินการจับผู้ผลิตเถื่อน

จากข่าวน้ำผึ้งปลอมในหน้า นสพ ภก.วีระรัตน์ อภิรัตนเสวี รพ.สันทราย
อ สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และ
ภก. พิสนฑ์ ศรีบัณฑิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเล่าเรื่อง น้ำผึ้งปลอม ที่ อ. สันทราย
ตามลำดับขั้นตอนดังนี้

1) รับแจ้งเตือนภัย
วันจันทร์ที่ 22 พค. 60 เภสัชกร รพ สันทราย ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ สสอ.สันทราย ให้เข้าร่วมตรวจสอบโรงงานน้ำผึ้งปลอมตั้งอยู่เลขที่ 119 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองแหย่งอำเภอสันทรายร่วมกับจนท.ตำรวจจาก สภ.สันทราย โดยประชาชนในพื้นที่แจ้งเบาะแสให้ตำรวจว่ามีการลักลอบผลิตน้ำผึ้งในชุมชน

2) ตรวจสถานทึ่หาข้อเท็จจริง
ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 60 ได้เข้าตรวจสถานที่ดังกล่าว ร่วมกับตำรวจ ทหาร ผลการตรวจสอบเป็นดังนี้

1. ลักษณะสถานที่ผลิตเป็นห้องแถวให้เช่า 2 คูหาขนาดประมาณ 4 * 10 เมตรจำนวน 2 คูหาซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัย แบบกึ่งชั่วคราว มีอุปกรณ์การผลิต และเต็นท์พักอาศัย อยู่ในห้องเช่า 4 หลัง เครื่อง ของใช้มีไม่มากพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายได้ทันที
2. มีการผลิตน้ำผึ้งปลอมโดยมีคนงานผู้ผลิต 7 คน ทั้งหมดเป็นคนมาจากภาคอีสาน (จังหวัดอุดรธานี)
3. สภาพโรงงานไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สะอาด (ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามเกณฑ์ GMP ในทุกทุกหมวด)
4. พบวัตถุดิบที่บ่งชี้ว่า มีเจตนาผลิตน้ำผึ้งปลอม โดยทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ อาทิเช่นพบน้ำตาลทรายเป็นกระสอบ พบแบะแซเป็นถัง พบรังผึ้งแห้งเพื่อลวงให้เข้าใจว่ามาจากรวงผึ้ง และ พบตัวผึ้งที่ผ่านการนึ่งให้สุก เพื่อเอาไว้ใส่ในขวดน้ำผึ้งปลอม พบขวดวัตถุแต่งกลิ่นน้ำผึ้งสังเคราะห์ เตาอั้งโล่ ปี๊ป ที่ใช้ต้มเคี่ยว ไม้พายที่ทำจาก ลำไม้ไผ่เป็นต้น
โดยเมื่อ ผลิตเป็นน้ำผึ้งเสร็จแล้ว จะบรรจุในขวดสุราที่นำมากลับมาใช้ใหม่ขนาด 750 cc และไม่มีฉลากของผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง ทำแพคเกจดูเหมือนกับเป็นน้ำผึ้งป่าที่ชาวบ้านไปตีผึ้งเอง

3) ดำเนินการจับกุม
เวลา 09.00น วันที่ 24 พ.ค.60
ชป.รส.พัน.พัฒนา 3 อ.สันทราย ร่วมกับ สภ.สันทราย ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขจังหวัด ตรวจค้นแหล่งผลิตน้ำผึงปลอม ม.8 ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย เชียงใหม่. ได้ตรวจยึดเพื่อตรวจสอบต่อไป

โดย พนักงานสอบสวนสภ. สันทรายแจ้งข้อหา กระทำผิดมาตรา 6 ( 10 ) ตาม พรบ.อาหาร ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเรื่อง อาหารไม่แสดงฉลาก โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และตำรวจกำลังอยู่ระหว่างแจ้งข้อหาเพิ่มเรื่องสินค้าปลอม

4) แจ้งเตือนภัย
จึงขอแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกท่านเฝ้าระวังการทำน้ำผึ้งปลอมลักษณะนี้ ในเขตพื้นที่ของท่าน เพราะดูแล้วมีความชำนาญในการปลอม และสามารถการโยกย้ายถิ่นฐานหรือแหล่งผลิตได้อย่างรวดเร็ว

5) ให้ข้อแนะนำ
ฝากช่วยแนะนำชาวบ้านในการเลือกซื้อน้ำผึ้งที่เร่ขาย ที่อ้างว่าเป็นน้ำผึ้งป่าแท้ อาจเป็นน้ำผึ้งปลอมได้ หากสงสัยหรือไม่มั่นใจในแหล่งผลิตหรือผู้ขาย ไม่ควรซื้อมารับประทาน และมีเบาะแสในพื้นที่ว่ามีการเช่าบ้าน แล้วเร่ขายน้ำผึ้งป่าลักษณะนี้ ขอให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขให้ตรวจสอบต่อไป