การปฏิบัติการของเภสัชกรชุมชน :ปัญหา อุปสรรคและโอกาส

เอกสารการประชุมวิชาการวันเภสัชกรโลก

From Research to Pharmaceutical Care: Rule and Regulations Update

วันพธ ที่ 27 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุม 1002 ชั้น 10 อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา

การปฏิบัติการของเภสัชกรชุมชน : ปัญหา อุปสรรคและโอกาส (download)

โดย

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร วิทยา กุลสมบูรณ์

ภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรรมการสภาเภสัชกรรม และ

ประธานอนุกรรมการจรรยาบรรณ สภาเภสัชกรรม

คคส เตือน อย่าเสี่ยงเสียชีวิตจากยาออนไลน์ รัฐต้องเร่งมาตรการป้องภัย

การเสียชีวิตจากการซื้อยาทางเฟซบุ๊กสำหรับประเทศไทยกลายเป็นเรื่องปกติเข้าทุกวัน คล้ายการข้ามถนนโดยไม่ข้ามทางม้าลาย การขับรถย้อนศร ที่ปัจจุบันไม่เพียงมอเตอร์ไซค์ที่ย้อนศร แม้แต่รถกะบะก็ย้อนศร ในถนนเลนกลาง จนปะทะกับรถเก๋งและมีเด็กเล็กเสียชีวิต ร้านขายยาที่ใช้เภสัชกรแขวนป้าย การขายยาออนไลน์ที่ทำได้ง่ายและ รัฐไม่มีความสามารถที่จะจัดการ ปรากฏการณ์เช่นนี้พบมากขึ้น. ในอดีตเคยมีการขายยาออนไลน์จากประเทศไทย ส่งไปขายให้ผู้ป่วยที่สหรัฐ และเกิดการเสียชีวิต พบว่า เอฟบีไอ ของสหรัฐตามมาจัดการ พบว่ามีแหล่งขายในภาคเหนือ. กรณีล่าสุดนี้ ที่เกิดการเสียชีวิต จึงควรมีการสอบสวนย้อนกลับเพื่อการดำเนินการ เพราะการซื้อขายย่อมมีหลักฐานที่อยู่และการโอนเงิน

การปล่อยปะละเลยการบังคับใช้กฎหมายจะทำให้ปัญหาพอกพูน คนทำผิดรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจ และทำต่อไปเรื่อยๆ จนทุกคนรู้สึกจำนนต่อปัญหา ดังกรณี การขายยาแก้ไอที่นำไปสู่การเสพติดในภาคใต้ และประชาชนต้องลุกขึ้นมาทวงถามเรียกร้องให้รัฐเข้ามาดำเนินการรับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดกับเยาวชน นำสู่การจัดการกับบริษัทผู้ผลิตยา ที่เป็นต้นตอการส่งยาขายอย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ มาตรการเพียงการให้การศึกษาผู้บริโภคคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพัฒนามาตรการด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีที่จะดำเนินการกับผู้ละเมิดกฎหมาย และ มาตรการบังคับใข้กฎหมายที่จริงจังต่อเนื่อง มากกว่าที่เป็นอยู่. ตัวอย่างที่เกิดขึ้นนี้ คือ ผลข้างเคียงของการใช้เทคโนโลยี
ของมิจฉาขีพที่นำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องสร้างมาตรการป้องปรามก่อนที่จะทำให้เกิดการขยายตัวต่อไปจากภัยเทคโนโลยีออนไลน์

อ้างอิง ข่าว เสียชีวิตจากการสั่งซื้อยาผิวขาวและเพิ่มขนาดหน้าอกจากทางเฟซบุ๊ก จาก ข่าวสด

สลดสาวกินยาผิวขาว-เสริมอึ๋มช็อกตายก่อนวันเกิด ญาติร่ำไห้-เพื่อนต้องหอบเค้กวางหน้าโลง

กศย.: ปฐมบท องค์ความรู้ระบบยา

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มีคุณูปการต่อสังคมไทย และพึงควรบันทึกไว้ให้เกิดการเรียนรู้ต่อไป

​หลังจากจบการศึกษาเภสัชศาสตร์บัณฑิตแล้ว การไปทำงานที่โรงพยาบาลอำเภอในต่างจังหวัด สภาพแวดล้อมย่อมเป็นเรื่องราวของปัญหาการทำงานที่อยู่รายล้อมเฉพาะหน้ารายวัน แม้แต่การแก้ปัญหาเชิงระบบก็เป็นระบบงานที่เกี่ยวกับองค์กร ตลอดจนปัญหาสุขภาพในชนบท ส่วนที่จะขาดไปคือ ความเชื่อมโยงกับระบบโดยรวม ทั้งระบบสังคม ระบบสุขภาพ และระบบยา

กศย.ได้ทำหน้าที่ “เติมเต็ม” ส่วนขาดสำหรับเภสัชกรชนบทที่ห่างไกล ข้อมูลข่าวสารในระดับประเทศ และความเคลื่อนไหวในวงวิชาการในส่วนกลาง กศย.ได้เติมเต็มเรื่องราวต่อไปนี้

(1) การค้ายาระดับสากล บรรษัทยาข้ามชาติ หรือ TNC (TRANS NATIONAL COMPANY) มีบทบาทต่อการบริโภคยาของคนไทย มีผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ และต้นทุนสุขภาพ กศย.ได้นำเอาเรื่องราวที่ซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจได้ว่าคนไทยเสียเปรียบอย่างไร ต่อการนำเอาระบบสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยามาดำเนินการ โดยมิได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสมหรือไม่กับเวลาที่ให้มีการใช้สิทธิบัตรยา มีกลไกและภูมิคุ้มกันตนเองดีพอหรือไม่ เรื่องราวเหล่านี้ กศย.ได้เปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงให้เกิดการวิเคราะห์ วิจัย และวิจารณ์ เพื่อเกิดภูมิรู้ในการสร้างทางเลือกเชิงนโยบาย เกิดสติปัญญาในการตั้งหลักดำเนินการบนฐานวิชาการ และเกิดปิติในการเข้าร่วม มีบทบาททำสิ่งที่ถูกที่ควร

(2) สมุนไพร กศย.เป็นกลุ่มสุขภาพกลุ่มแรกๆที่ตระหนักถึงทรัพยากรสมุนไพร นำเอาข้อมูลวิชาการมาชี้ชวน และทำให้สังคมตื่นตัว แน่นอนว่าเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว การสร้างแนวความคิดเรื่องการใช้สมุนไพร ขณะนั้นยังคงเป็นกระแสเล็กกระแสน้อย และหาใช่บรรยากาศ “กระแสหลัก” เช่นในปัจจุบัน  ในช่วงนั้น การมีฐานทางวิชาการที่มั่นคง โดยเฉพาะ จากผศ.ภญ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล อาจารย์เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ที่ท่านได้เป็นแกนนำรวบรวมคณาจารย์ นักวิชาการเพื่อประมวลองค์ความรู้ด้านเภสัชพฤษศาสตร์ มานำเสนออย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้มีแหล่งที่พึ่งสำหรับผู้สนใจ โดยเฉพาะเภสัชกรที่อยู่ในชนบท

(3) ยาชุด ยาซอง ยาไม่เหมาะสม ประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกไว้แล้วว่า กศย. คือกลุ่มที่ได้ดำเนินการให้มีการยกเลิก คาเฟอีน และ ฟินาเซติน จากยาสูตรรวม เอ.พี.ซี ที่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ใช้แก้ปวด และมีพฤติกรมใช้ประจำจนทำให้เกิดโรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร และเป็นโรคที่เกิดตามฤดูกาลปลูกข้าวในช่วงปักดำต้นกล้า และช่วงเกี่ยวข้าว เนื่องจากชาวนาต้องใช้แรงงานอย่างมากในช่วงเวลานั้น เภสัชกรชนบทได้นำข้อมูลจากพื้นที่เชื่อมโยงกับ กศย.และนำไปสู่นโยบายของรัฐ ในการให้ เอ.พี.ซี. เหลือแค่ “แอสไพริน” อย่างเดียว คำว่า “ยาชุด” เกิดจากการนิยามและประกาศให้สาธารณะทราบ โดย กศย. และ ต่อมามีการบรรจุคำนี้ในกฎหมาย และ ยังนำไปสู่การขับเคลื่อนรณรงค์แก้ปัญหาเสตียรอยด์ที่ยังคงหมักหมม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน แม้จนในปัจจุบัน ดังนั้นกศย.คือกลุ่มสุขภาพที่เปิดประเด็น “ยาชุด” ทำให้สังคมตระหนัก ตื่นตัว และเภสัชกรชนบทมีส่วนผลักดันแก้ไข รวมไปถึง ยาไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะในเด็ก ยาปฏิชีวนะทั่วไป ตลอดจน ยาไดพัยโรน ยาฟีนิวบิวทาโซล และยาแก้ปวดอันตรายอีกหลายรายการ

(4) การพึ่งตนเองในการผลิตยาในระดับประเทศ กศย. สนับสนุนให้ องค์การเภสัชกรรม เป็นองค์กรหลักสำคัญของประเทศ และ ยังมีการจูงใจ ส่งเสริมการผลิตยาในระดับโรงพยาบาลทุกระดับ  พัฒนาจิตสำนึก “การพึ่งตนเอง” ให้เป็นจิตวิญญาณที่สำคัญที่จะทำให้เภสัชกรตระหนัก ต่อบทบาทหน้าที่นี้  กศย. ยังได้เสนอให้มีการผลิตสารเคมีตั้งต้นและให้ประเทศไทยเตรียมผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง

(5) การใช้ยาที่เหมาะสม ผลกระทบ ทั้งในชุมชนจากยาไม่เหมาะสม และ ทั้งการใช้ยาในโรงพยาบาลที่มักจะเป็นไปตามกระแสการส่งเสริมการขายอย่างไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทำให้มีการผลักดันให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม โดยประสานกับกลุ่มนักวิชาการที่สวีเดน ในนาม INRUD หรือ International Network of Rational Use of Drugs หรือ เครือข่ายนานาชาติเพื่อการใช้ยาที่เหมาะสม ปัจจุบันกระแสการใช้ยาที่เหมาะสมกลายมาเป็น “กระแสหลัก” อีกกระแสหนึ่งในวงการสุขภาพของประเทศไทย ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับการใช้ยาที่เหมาะสมในชุมชน กศย. ได้ส่งเสริมกิจกรรมการจัดหายาจำเป็นในชนบท โดยอาศัยอำเภอด่านขุนทดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ มีการประสานและสนับสนุนให้เกิด “กองทุนยา” ตลอดจนร่วมกับโรงพยาบาลสูงเนินเปิด “ห้องยาชุมชน”เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมในชุมชน

ทั้ง 5 เรื่องที่ได้กล่าวมานี้ เป็นปฐมบทในระยะตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ.2520-2530   ในปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านี้ได้กลายเป็นนโยบายกระแสหลักอย่างเข้มข้น ทั้งสิทธิบัตรยา สมุนไพร การผลิตยา และการใช้ยาที่เหมาะสม

พลวัตรของเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย แต่มีประวัติศาสตร์ มีต้นเรื่อง มีปฐมภูมิของเรื่อง และพัฒนาไปตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ผลเกิดจากเหตุ มีสาระที่มีหลักวิชาการ โดยเฉพาะในฝ่ายที่มุ่งมั่นจะทำประโยชน์เพื่อสังคมและพิทักษ์ประโยชน์ของประชาชน

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) จึงเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนสติปัญญาของสังคมไทย เปิดเผยเรื่องราวอันซับซ้อน และต่อสู้กับมายาคติในระบบยาให้ผู้คน โดยเฉพาะเภสัชกร เกิด “สัมมาทิฐิ” ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะระบบยา และระบบสุขภาพได้อย่างถูกต้อง แม้จะไปทำงานอยู่พื้นที่ภูมิภาคต่างจังหวัด เป็น “เภสัชกรชนบท” ก็สามารถติดตามสถานการณ์ เท่าทัน และ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความถูกต้องของระบบยาในสังคมไทย

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์

ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท

คคส. วคบท.จัดประชุมวิชาการฯ 2560 เสนอผลวิจัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ

แผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดย ศูนย์วิชาการคุ้มรองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม จัดประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ปี 2560  เมื่อวันที่ 1 ก.ย.60 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ และเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการเภสัชกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยให้ได้รับทราบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อรับหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (นคบส.) รุ่น 1-4 ซึ่งเป็นเภสัชกรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค จากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 95 คน

 

รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์
ผศ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ

ในการประชุมนี้มีการบรรยาย เรื่อง CONSUMOPROTECTOLOGY โดย  รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ และ ก้าวต่อไป…ทิศทาง และ แนวทางการจัดการความรู้ โดย ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ จากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ 7 เรื่อง คือ

  1. การพัฒนาความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จังหวัดขอนแก่น ,ภญ.ชัญญรัชต์ นกศักดา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
  2. การจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายและผิดกฎหมายอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ , ภญ.อรพินท์ พุ่มภัทรชาติ โรงพยาบาลสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
  3. การจัดการปัญหาร้านชำจำหน่ายยาไม่เหมาะสมในอำเภอตรอน จ.อุตรดิตถ์ , ภญ.จิรวรรณ แสงรัศมี โรงพยาบาลตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
  4. การจัดการปัญหาอุปกรณ์บำบัดด้วยไฟฟ้าสถิตย์ในหน่วยงานราชการ ,ภก.เลิศเชาว์ สุทธาพานิช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  5. การจัดการแก้ไขปัญหายาจำเป็นขาดแคลน กลุ่มยากำพร้า-ยาต้านพิษ , ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  6. การยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหาร “ผลิตภัณฑ์แคบหมู” จ.เชียงใหม่ , ภญ.นฤมล ขันตีกุล  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
  7. ความสวยที่มาพร้อมกับ…อันตราย!!! , ภญ.วิไลวรรณ สาครินทร์  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา
ภญ.ชัญญรัชต์ นกศักดา
ภญ.อรพินท์ พุ่มภัทรชาติ

 

 

 

 

 

 

ภญ.จิรวรรณ แสงรัศมี

 

 

ภก.เลิศเชาว์ สุทธาพานิช

 

 

 

 

 

 

 

 

จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการประชุมเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลวิชาการด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ การนำเสนองานทางวิชาการและข้อเสนอจากการประชุมในการประชุมครั้งนี้ จะได้มีการนำมาพัฒนางานของ วคบท.และงานวิชาชีพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

 

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์
ภญ.นฤมล ขันตีกุล
ภญ.วิไลวรรณ สาครินทร์

รายงานโดย ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)

ฝุ่นใยหินใกล้กระทรวงสาธารณสุข การรื้อถอนที่มีภัยต่อสาธารณะ

เมื่อเข้ากระทรวงสาธารณสุข จากถนนติวานนท์เข้าทางโรงพยาบาลศรีธัญญา ผ่านปั๊มน้ำมันยี่ห้อหนึ่ง ทางด้านขวาจะเห็นภาพทึ่ปรากฎดังรูป ที่ชั้นล่างด้านหลังตึกหลายชั้นริมรั้วที่มีคูน้ำกั้นก่อนถึงถนน มีกระเบื้องที่มุงหลังคาจำนวนมากที่แตกเป็นรูใหญ่เล็ก กระจายตัวอยู่ ไม่ใช่รอยแตกตามระยะเวลา แต่น่าจะเป็นร่องรอยการเริ่มต้น ของการรื้อถอน หรือ การทำให้แตกเพื่อรอรื้อถอน แบบไม่ทราบอันตรายของฝุ่นใยหิน ที่จะมีผลทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งรังไข่

ตึกบริเวณทางเข้ากระทรวงสาธารณสุข กำลังรื้อถอนอาคาร

การดำเนินการดังกล่าวอยู่ใกล้กระทรวงสาธารณสุข เห็นได้ชัดเจน และละอองฝุ่นใยหินจะกระจายไปมากน้อยเพียงใดก็ไม่สามารถทราบได้ เพราะเป็นระบบที่เปิดโล่ง ไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันแต่ประการใด

กระเบื้องที่มุงหลังคาจำนวนมากที่แตกเป็นรูใหญ่เล็ก

การดำเนินการที่ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเช่นนี้จะทำให้เกิดการกระจายของฝุ่นใยหินทั่วไปในกลุ่มประชากร รวมทั้งช่างที่ทำงานอยู่โดยไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากแร่ใยหิน

 

มาตรการเพื่อสังคมไทยไร้แร่ใยหินจำเป็นที่จะต้องเร่งให้สังคมรับทราบภัยดังกล่าว และกำหนดมาตรการรื้อถอนตามหลักวิชาการที่ได้มีการดำเนินการบ้างแล้วในท้องถิ่นหลายจังหวัด เช่น จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นผู้ป่วยจากมะเร็งที่มาจากแร่ใยหินซึ่งกำลังเริ่มพบในกลุ่มประชากรไทย และจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องต่อไป

ขั้นตอนการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหิน

รายงานโดย ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วันที่  ๑๙ สค ๒๕๖๐

ขนตาแอลอีดี กับ Hills Criteria


การนิยามคำว่า “สินค้าไม่ปลอดภัย” สำหรับราชการมักจะมีความจำกัด เนื่องด้วยหน่วยงานราชการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมิได้ใช้องค์ความรู้ด้าน “ความสัมพันธ์ของอันตรายเชิงสาเหตุ”  (Causal Relationship) ความรู้ดังกล่าวเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่มีในวิชาระบาดวิทยา (Epidemiology) ซึ่งหลักการนี้นำเสนอโดย Austin Bradford Hill ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคจำนวนมาก เช่น มะเร็งปอด ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า Hills criteria of causation

หลักสำคัญประการแรก ที่ใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาว่า ปัจจัยใดสัมพันธ์และอาจเป็นเหตุแห่งอาการ หรือความเจ็บป่วย หรือโรค หรือความไม่ปลอดภัย หรืออันตราย ประกอบด้วย ความเป็นไปได้ทางชีววิทยา (Biological plausibility) หรือความสามารถที่จะอธิบายได้ทางหลักวิทยาศาสตร์ในระดับหนึ่ง เช่น มีเหตุผลที่จะอธิบายได้ว่า แสงแอลอีดี มีผลต่อดวงตา เพราะแสงที่มีความสว่างมาใกล้ชิดดวงตา มีการเปิดและปิด กระพริบ และติดอยู่ขอบตาที่ใกล้บริเวณดวงตา ซึ่งปกติวิสัยแล้วคนทั่วไปไม่ทำกัน

หลักประการที่สอง คือ Time Consequence หรือ Temporal Relationship ข้อนี้อธิบายว่า ผลที่เกิดขึ้นต้องเกิดหลังเหตุ หากผู้ที่ได้รับอันตรายใดๆ มีเหตุมาก่อนหน้า เช่น เป็นโรค หรืออาการมาก่อนแล้ว และมารับปัจจัยภายหลัง ย่อมไม่มาจากเหตุหรือปัจจัยที่มาสัมผัส หากคนใช้ ขนตาแอลอีดี มีโรคตาบางอย่างที่ผิดปกติมาก่อน ย่อมไม่เกิดจากขนตาแอลอีดี เป็นต้น

หลักประการที่สาม คือ Consistency หมายความว่าถ้าเกิดความผิดปกติกับคนใดคนหนึ่ง ย่อมจะเกิดได้กับคนอื่นๆเช่นกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นกับคนเพียงคนเดียว หรือคนจำนวนน้อยมาก ก็อาจจะทำให้ข้อสนับสนุนที่จะตีกลับว่าความผิดปกติเกิดจากปัจจัยดังกล่าวลดลง แต่กรณีนี้ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก่ออันตรายโดยไม่เกิดกับทุกคน จึงมีการพิจารณาเรื่องจำนวนบุคคลที่เกิดอันตรายต่อจำนวนประชากรที่รับสัมผัส หรือที่เรียกว่า “ความชุก” (prevalence) ของการเกิดโรคในกลุ่มรับสัมผัส (Population of Risk) เป็นต้น

หลักประการที่สี คือ Strength of Association หรือ ความแข็งแรงของความสัมพันธ์ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประการที่มักจะเกียวข้องกัน รูปแบบวิธีการศึกษา เช่น ออกแบบการศึกษาวิจัยเป็นแบบใด ศึกษาจากเหตุไปหาผลที่เกิด หรือ ศึกษาจากผลย้อนกลับไปหาเหตุ หรือ ศึกษาแบบคู่ขนาน แบบตัดขวาง หรือแบบทดลอง เป็นต้น การวิเคราะห์ผลความสัมพันธ์เชิงสถิติ การจัดการที่เกี่ยวกับการลดอคติ การศึกษาความเป็นไปได้ทางสถิติที่เกิดอาการผิดปกติ หรืออันตราย เป็นต้น รวมไปถึงขนาดของปัจจัยเสี่ยง เช่น ความแรงของแสงที่จะมีผล และระยะเวลาที่ให้สัมผัส ก็สามารถนับรวมอยู่ในข้อนี้ได้ หลักเกณฑ์ข้อนี้มักจะใช้กับสาเหตุและผลที่อาจเป็นข้อกังขา จึงจำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อตอบคำถาม และให้ได้ข้อสรุป เช่น ยาพีพีเอมีผลต่อเส้นเลือดแตกในสมองจริงหรือไม่ คลื่นโทรศัพท์มือถือมีผลต่อ ความผิดปกติของสมองเด็กหรือไม่ เป็นต้น

หลักเกณฑ์ข้อสุดท้าย เป็นหลักเกณฑ์ที่ง่ายที่สุดคือ Specificity ที่ว่าง่ายคือพิสูจน์ได้ เมื่อให้เหตุปัจจัยไปสัมผัสแล้วเกิดอันตราย (Challenge) หรือเอาเหตุปัจจัยออกอันตรายก็ลดลง (De-challenge) หรือเมื่อให้เหตุปัจจัยไปอีกก็เกิดขึ้นอีก (Re-challenge) หลักเกณฑ์ข้อนี้เห็นชัดเจน คนธรรมดาก็รู้ได้ แต่ในหลายกรณีทำไม่ได้ เช่น ให้เหตุปัจจัยแล้วทำให้ตาย ให้เหตุปัจจัยแล้วทำให้พิการ หรือเกิดอาการที่ไม่สามารถจะกลับคืนสภาพเดิมได้อีก บรรดาการทดลองที่กระทำโดยรับรู้ว่าปัจจัยนำเข้ามีอันตรายก็ไม่สามารถกระทำได้ ถือว่าละเมิดหลักจริยธรรม

ในบรรดา 5 หลักเกณฑ์ หากจะนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับการพิจารณาว่า แอลอีดี ที่มาติดอยู่บนขนตา และทำเป็นสินค้าขายให้แก่ประชาชนทั่วไป มีโอกาสเกิดอันตรายและจัดเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยได้หรือไม่ อาจพิจารณาได้จาก 5 องค์ประกอบไปพร้อมกันตามความเหมาะสม

(1) มีความเป็นได้ว่าแสงจากแอลอีดีเมื่อกระทบต่อตา ย่อมจะเกิดผลกระทบได้ไม่มากก็น้อย เพราะไม่ใช่ภาวะปกติ หรือภาวะที่พึงควรสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่จะใช้ขนตาชนิดดังกล่าว

(2) หากจะพิสูจน์ว่าเกิดผิดปกติหลังจากใช้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ถ้าพิจารณาจากความผิดปกติ เช่น การมองเห็นชั่วคราว ความรู้สึกระคายเคือง อาจจะทราบได้ทันที แต่หากพิจารณา เรื่อง ตาต้อ และอื่นๆที่ต้องการเวลาระยะยาว ก็จะลำบาก และอาจต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ 4 ซึ่งยากที่จะมีใครศึกษาหรือรับผิดชอบ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

(3) กรณีความสม่ำเสมอก็อาจจะติดตามดูได้หากมีใช้กับหลายคน แต่จากหลักเกณฑ์ข้อ 1 ก็น่าจะคาดเดาถึงผลที่จะเกิดได้ว่าคงไม่แตกต่างกัน เพราะตาของมนุษย์มีลักษณะแบบเดียวกัน

ข้อที่ (4) และ ข้อที่ (5) ควรจะพิจารณาไปพร้อมกันว่าจำเป็นที่จะต้องมีการทดลองสินค้านี้กับคนที่จะใช้หรือไม่ว่าปลอดภัยหรือไม่ ละเมิดหลักจริยธรรมหรือไม่ การที่จะยืนยันว่าสินค้านี้ไม่อันตรายในระยะยาว ทำได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่หาคนจ่ายไม่ได้ ขณะเดียวกันการที่จะระบุว่าจะใช้สินค้านี้ใช้ได้ในขนาดแสงเท่าใด ระยะเวลาเท่าใด หากจำเป็นต้องทำการศึกษา เราไม่สามารถทำได้เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีผลเสียต่อดวงตา จะไม่มีใครยอมเป็นผู้ถูกทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการศึกษาตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 5

มีเหตุผลสนับสนุนที่อาจมีการยกมาอ้างว่าคล้าย “บุหรี่ไฟฟ้า” กล่าวคือ เมื่อประกาศเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยก็จะยังแอบขายได้โดยขายทางออนไลน์ และจะทำให้ตามไล่จับได้ยากขึ้น ข้อโต้แย้งนี้คงพิจารณาได้ไม่ยากว่าเหมาะสมที่จะให้เป็นสินค้าไม่ปลอดภัยหรือไม่ เพราะการยอมให้เกิดจุดกระจายสินค้าโดยให้เป็นสินค้าทั่วไปก็ดี เป็นสินค้าที่ติดคำเตือนก็ดี ย่อมถือได้ว่า รัฐ หรือ หน่วยราชการได้รับรอง ความปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว สุดแท้แต่ว่าผู้บริโภคจะมีสติหรือใช้ความรู้ปกป้องตนเองได้หรือไม่ กล่าวคือ เป็นความผิดของผู้บริโภคเองหากใช้ไม่ถูกต้อง

          สามัญชนโดยทั่วไปเมื่อได้อ่านสาระที่นำเสนอมาจนถึงตอนนี้แล้ว ท่านคงพิจารณาได้ไม่ยากว่า สังคมไทย ควรจะเพิ่มสินค้าไม่ปลอดภัยอีกรายการหนึ่ง โดยการ ยอมรับของหน่วยงานรัฐ อย่างเปิดเผย ตามหลักการค้าเสรี ใครใค่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย เป็นตายไม่เป็นไร หรือ ควรที่จะพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะวัยรุ่น นักเรียน ที่ยังแบบมือขอเงินพ่อแม่มาซื้อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และไม่ได้รับประโยชน์จากสินค้าเหล่านี้

 

บทความโดย ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพประกอบจาก http://soomipark.com/main/?portfolio=led-eyelash

สสจ.ขอนแก่น แจ้งผลวิเคราะห์ “ไอดอลเบอรรี่พลัส” พบผสมยาลดอ้วน “ซิบูทรามีน” ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาหาร และไม่ได้มีผู้ผลิตตามที่อ้าง

เมื่อวันที่ 18 ส.ค 60  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.ขอนแก่น) ออกประกาศฯ เรื่องประกาศผลการตรวจวิเคราะห์อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการบริโภค ว่าตรวจวิเคราะห์ “ไอดอลเบอรรี่พลัส” พบผสมยาลดอ้วน “ซิบูทรามีน” ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาหาร และไม่ได้มีผู้ผลิตตามที่อ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ “ไอดอลเบอรี่พลัส” (Idol Berry Plus) เลขสารบบอาหาร 10-30-09980-1-0766 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย PK Nature Product Co,Ltd (Thailand) Lamchabang Rd. Bangkapi Bangkok 10240 ผลิต 310816 หมดอายุ 151218 ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น ผลตรวจวิเคราะห์พบยาแผนปัจจุบัน “ซิบูทรามีน (Sibutramine)” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ถอนผลิตภัณฑ์ยา Sibutramine ออกจากตลาดโดยความสมัครใจของผู้ผลิต หลังพบความเสี่ยงต่อผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ “ไอดอลเบอรี่พลัส” (Idol Berry Plus) ไม่พบการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และจากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้วไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์ของบริษัท PK Nature Product Co,Ltd (Thailand) แต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ 495/2555 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2555 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นจึงขอประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนทราบและระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ประกาศ สสจ.ขอนแก่น เรื่องประกาศผลการตรวจวิเคราะห์อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการบริโภค

สสจ.อุทัยธานี และภาคีร่วมจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

วันที่ 1 สิงหาคม 2560 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี (สสจ.อุทัยธานี) จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจังหวัดอุทัยธานี เพื่อสรุปประเด็นปัญหาเรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและหาแนวทางร่วมจากคณะกรรมการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจังหวัดอุทัยธานีในการแก้ปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบให้เกิดประสิทธิภาภา

 

ทั้งนี้ สสจ.อุทัยธานี มีการดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยการตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ด้วยชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 97 ตู้ ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 73 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 75.26 ปีงบประมาณ 2560 ได้แบ่งการตรวจออกเป็น 2 รอบ ซึ่งรอบที่ 1 ตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ด้วยชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 225 ตู้ ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 80 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 35.56 และรอบที่ 2 ตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจากจำนวนตู้น้ำที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 80 ตู้จากรอบที่ 1 ปิดกิจการ 3 ตู้ ตรวจด้วยชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 77 ตู้ ไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 41 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 53.25 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานีเล็งเห็นถึงปัญหาคุณภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จึงร่วมกับสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุทัยธานีกำหนดให้การพัฒนาคุณภาพตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นประเด็นที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน

ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจังหวัดอุทัยธานี ดังกล่าวท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีมอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธานการประชุม โดยมีผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์, ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์, ประธานเครือข่ายกองทุมชุมชน ฯ, เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนชุมชน ฯ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าร่วมประชุม โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยขอความร่วมมือจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้ออกเทศบัญญัติเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้เป็นกินการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และในปีงบประมาณปี 2561 จะมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ และผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เจ้าหน้าที่สสจ.อุทัยธานีออกตรวจเฝ้าระวังพร้อมให้คำแนะนำในการดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญแก่ผู้ประกอบการ หากพบยังมีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านมาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

รายงานโดย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี

ลพบุรีสุขภาพดี..เริ่มที่ร้านชำ ‘60

มอบป้ายร้านชำมาตรฐาน

“ชาวบ้านในหมู่บ้านทุกวันนี้ จะซื้อหาข้าวของอะไรก็ต้องที่ร้านชำ คนจะสุขภาพดีหรือไม่ดี ก็ต้องเริ่มที่ร้านชำ”

ภายใต้แนวคิดดังกล่าวสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี โดยกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพจังหวัดลพบุรี ในการยกระดับร้านชำในจังหวัดลพบุรีให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยโดยได้มีกิจกรรม “ลพบุรีสุขภาพดี เริ่มที่ร้านชำ”ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาร้านชำในจังหวัดลพบุรี ให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและเกิดการจัดการชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองในด้านสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “รู้ ตระหนัก รัก แบ่งปัน”

ตัวอย่างป้ายร้านชำมาตรฐาน

ผลการดำเนินงานในปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นปีแรกได้ร้านชำมาตรฐานจำนวน ๒๐๐ ร้าน ครอบคลุม ๑ ตำบล ๑ ร้านชำ เพื่อจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยในชุมชนอย่างยั่งยืน อาทิ ปัญหาการขายยาชุดและยาอันตราย

การดำเนินงานครั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระครูวิมลสมณวัตรหรือหลวงพ่อเพี้ยนอัคคธัมโม พระอาจารย์เกจิชื่อดังเจริญพุทธาภิเษก ป้ายร้านชำมาตรฐานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ร้านชำที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และได้รับเกียรติจากนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้แทนมอบป้ายร้านชำมาตรฐานให้แก่ร้านชำที่ผ่านการประเมิน

ในเวทีประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการร้านชำโดยมีร้านชำเข้าร่วมโครงการอย่างท่วมท้น และในปี ๒๕๖๑ จะขยายสู่ ๑ หมู่บ้าน ๑ ร้านชำมาตรฐาน และกำหนดเป้าหมายร้านชำมาตรฐานครบทุกแห่งในจังหวัดลพบุรีภายในปี ๒๕๖๔ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ประชาชนในชุมชนได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพและสินค้าอื่นๆต่อไป

กระบวนการดำเนินงานร้านชำมาตรฐานของจังหวัดลพบุรี

รายงานโดย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี

การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคเพื่อการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยในลุ่มน้ำโขง


(26 ก.ค.60) รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ รับเชิญเป็นวิทยากรเรื่อง Engaging consumers for safe food consumption: Thailand’s experience ในการประชุม Regional Training Program on Raising Public Awareness for Safe Food Consumption ระหว่างวันที่ 24-28 ก.ค.60 ณ จังหวัดขอนแก่น จัดโดย MEKONG INSTITUTE

การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อแนะนำกลยุทธ์การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย การเสริมสร้างขีดความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนาและใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ และกลยุทธ์การสื่อสารความปลอดภัยด้านอาหาร ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จากกัมพูชา สปป.ลาว พม่าและเวียดนาม จำนวน 27 คน