เป็ดยาง แดนสวรรค์ของแบคทีเรีย

เป็ดยางสีเหลือง – ของเล่นสุดฮิตในอ่างอาบน้ำที่เด็กๆ เอาใส่ปากบ้าง ไม่ก็บีบน้ำพ่นใส่หน้าพี่สาวน้องชายบ้าง แต่คุณคงอยากขว้างทิ้งเมื่อรู้ว่าภายใต้ความน่ารักเหล่านั้นคือสวรรค์ของเชื้อโรคมหาศาล

นักวิจัยชาวสวิตเซอร์แลนด์และอเมริกาพบว่า มีจุลินทรีย์แหวกว่ายอยู่ภายในเป็ดยางเหล่านั้น บางครั้งพอบีบก็จะเห็นของเหลวสีคล้ำ…พุ่งออกมา จากการทดสอบพบว่า เป็ดยาง 4 ใน 5 ตัวมี ‘แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้’ ปะปนอยู่ด้วย

บรรดาแบคทีเรียที่พบมีสายพันธุ์ลีเจียนเนลลา (Legionella) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ และ ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas Aeruginosa) ที่มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาลอยู่ด้วย สำหรับการติดเชื้อในโรงพยาบาลนั้น แม้ผู้ป่วยไม่เคยมีเชื้อมาก่อน ก็จะปรากฏอาการขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือออกจากโรงพยาบาลแล้ว

การวิจัยครั้งนี้เป็นผลงานของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางน้ำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริค (ETH Zurich) และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารด้านจุลินทรีย์และไบโอฟิล์ม N.P.J. Biofilms and Microbiomes โดยทีมนักวิจัยกล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในการทดสอบที่เจาะลึกที่สุด

หลังผ่านการทดสอบนาน 11 สัปดาห์ นักวิจัยได้ผ่าดูด้านในของเป็ดยางและพบว่า มีแบคทีเรียและเชื้อราเติบโตอยู่บนพื้นผิวชั้นในถึง 75 ล้านเซลล์ต่อตารางเซนติเมตร!

“นอกจากนี้ น้ำอาบที่สกปรกก็ยังเป็นโอเอซิสที่ทำให้แบคทีเรียขยายตัวได้รวดเร็วในของเล่นระหว่างอาบน้ำได้” ทีมนักวิจัยบันทึกไว้ แม้ว่าแบคทีเรียจำนวนหนึ่งจะสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ แต่พวกมันก็ยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อในตา หู และลำไส้ได้ด้วย

“หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือวัสดุที่ใช้ในการผลิต เพราะพลาสติกโพลีเมอร์ทำปฏิกิริยากับน้ำประปาและปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นอาหารของแบคทีเรียและเชื้อรา” ลิซา นอย (Lisa Neu) นักจุลชีววิทยาและหัวหน้าทีมผู้เขียนงานวิจัย กล่าว

การวิจัยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับของใช้ในครัวเรือน โดยได้รับเงินทุนมาจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยได้กล่าวว่า การใช้โพลีเมอร์คุณภาพสูงอาจช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้

บรรดาของเหลวในร่างกาย เช่น ปัสสาวะ เหงื่อ รวมถึงสารปนเปื้อน แม้กระทั่งสบู่ ก็ยังสามารถเพิ่มไนโตรเจนและฟอสฟอรัสซึ่งเป็นอาหารให้แบคทีเรียได้

สำหรับเป็ดยางได้กลายเป็นของเล่นยามอาบน้ำของเด็กๆ มาหลายปี ในเว็บไซต์ Amazon.com แสดงให้เห็นว่า ‘ของเล่นเด็กยามอาบน้ำ’ ติด 1 ใน 10 สินค้าขายดีเสมอ

ทั้งนี้ เป็ดยางไม่ใช่ของใช้ในบ้านชิ้นเดียวที่ถูกพบว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แบคทีเรีย จากผลการศึกษาในเยอรมนีเมื่อปี 2017 พบว่า ฟองน้ำในครัวก็เป็นเหมือนเตียงนุ่มๆ ของเชื้อโรค แบคทีเรียมากกว่า 350 สายพันธุ์ถูกพบในฟองน้ำล้างจานสกปรก 14 ชิ้นที่มาจากครัวเรือน

“นั่นเป็นความหนาแน่นของแบคทีเรียที่คุณสามารถพบได้ในอุปกรณ์ทั่วไปของมนุษย์” มาร์คุส อีแกร์ต (Markus Egert) นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฟวร์ตวานเกน (Furtwangen University) ประเทศเยอรมนีกล่าว “อาจไม่มีที่อื่นบนโลกที่มีแบคทีเรียหนาแน่นขนาดนี้”

ผลการศึกษายังพบว่า การทำความสะอาดฟองน้ำอาจทำให้แย่ลงไปอีก เพราะแบคทีเรียก่อโรคมีโอกาสที่จะอยู่รอดและเพิ่มปริมาณเชื้อโรคมากขึ้น-แม้จะเอาใส่ไมโครเวฟก็ตาม

ของใกล้ตัวอีกชิ้นที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่งานวิจัยต่างๆ ระบุจำนวนเชื้อโรคบนโทรศัพท์มือถือแตกต่างกันไป ชาร์ลส เกอร์บา (Charles Gerba) นักจุลชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา (Arizona State University) ค้นพบในปี 2012 ว่า โทรศัพท์มือถือทั่วไปมีปริมาณแบคทีเรียสูงกว่าฝารองนั่งชักโครกถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เกอร์บากล่าวว่า ยังมีของหลายอย่างในบ้านที่สกปรกยิ่งกว่าฝารองนั่งชักโครก เช่น เขียง เป็นแหล่งรวมแบคทีเรียมากกว่าฝารองนั่งถึง 200 เท่า

อ้างอิงข้อมูลจาก:

โรคหัวใจสลาย: เมื่ออกหักไม่ยักตายไม่ใช่เรื่องจริง

สังเกตไหม ฉากใน MV เพลงอกหักส่วนใหญ่ (หรือจะในชีวิตจริงก็ได้) เมื่ออีกฝ่ายขอยุติความสัมพันธ์ คนที่ถูกเท นอกจากจะเสียใจร้องไห้ราวกับโลกกำลังแตกสลาย พวกเขามักกำมือไว้ที่หน้าอกพร้อมกับใบหน้าแสนเจ็บปวด ราวกับกำลังปิดบาดแผลจากคำพูดของคนบอกเลิกที่เหมือนแทงทะลุไปถึงหัวใจพวกเขาจริงๆ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พวกเขาจะรู้สึกไม่อยากทำอะไร และไม่ว่าใครพูดอะไรก็จะไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น นอกจากอยากนอนเหี่ยวเฉาอยู่ในห้องคนเดียว ปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งกับความเศร้าให้ถึงที่สุด

โรนัลด์ เอ. อเล็กซานเดอร์ (Ronald A. Alexander) นักจิตบำบัดผู้เขียนหนังสือเรื่อง Wise Mind, Open Mind: Finding Purpose and Meaning in Times of Crisis, Loss, and Change. อธิบายกับสำนักข่าว HuffPost อย่างเข้าอกเข้าใจหัวอกคนถูกทิ้งว่า อาการเหล่านี้ไม่แปลก และไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกอย่างนั้น เพราะไม่ว่าใครที่หัวใจสลายต่างก็มีอาการเช่นนั้น

“เวลาที่คุณหัวใจสลาย มันยากมากที่จะปิดกั้นความคิดตัวเอง ชัตดาวน์และพักผ่อน ความรู้สึกหดหู่ โศกเศร้าหรือร้องไห้ถือเป็นเรื่องปกติของอาการอกหักและนั่นยังส่งผลไปถึงอาการทางร่างกายอีกด้วย” อเล็กซานเดอร์กล่าว

อกหักตายได้ไหม

แม้อกหักจะเป็นคำที่บัญญัติให้เป็นคำศัพท์ทางอารมณ์ แต่ความจริงคือ ‘อกหัก’ สัมพันธ์และก่อให้เกิดอาการทางร่างกายเช่นกัน

“มันน่าเสียดายที่อาการทางร่างกายจากการอกหักมักถูกมองข้าม” อเล็กซานเดอร์กล่าว

ระยะแรกของอาการทางร่างกายคือ อาการนอนไม่หลับ เพราะความเครียดจากอาการอกหักนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวภาพ (biological process) ที่ช่วยให้คุณรู้สึกง่วงเมื่อหมดวัน

ต่อมาคือ ความเครียดที่รุนแรง โดยอเล็กซานเดอร์อธิบายว่า ความเครียดและการเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นจังหวะหัวใจนั้นสัมพันธ์กับอาการอกหักเป็นอย่างดี

สอดคล้องกับงานของ นิกกี สแตมป์ (Nikki Stamp) ศัลยแพทย์หัวใจจากประเทศออสเตรเลียผู้เขียนหนังสือ Can you Die of a Broken Heart? ที่อธิบายกับสำนักข่าว ABC News ออสเตรเลีย ว่า อาการอกหักส่งผลให้เกิดการเพิ่มของอัตราจังหวะการเต้นหัวใจ รวมถึงความดัน ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เลือดมีความเข้มข้นและไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน (immune system)

อย่างไรก็ตาม อกหักอาจไม่ถึงตายหากสามารถทำใจให้เข้มแข็งและปล่อยผ่านความเศร้าให้หลุดออกจากตัวเองได้

โรคหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)

ส่วนคนที่เสียใจอย่างหนักจนไม่อาจทำใจให้เข้มแข็ง พวกเขาบางคนอาจเข้าข่าย Broken heart syndrome หรือที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 1990 ว่า Takotsubo cardiomyopathy  (ปัจจุบันในไทยยังไม่มีการบัญญัติชื่อโรคดังกล่าวที่แน่นอน) อาการของโรคนี้คือ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หน้ามืด แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว

สาเหตุของ Broken heart syndrome ไม่จำเป็นต้องมาจากการสูญเสียคนรักอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุการณ์ความเครียดทางกายและอารมณ์อย่างรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการได้รับฟังข่าวร้าย การทะเลาะกันอย่างรุนแรง ความเครียดที่มีมาเป็นเวลานานหรือความผิดหวังอย่างรุนแรงซึ่งไม่อาจทำใจได้

ยิ่งไปกว่านั้น โรคดังกล่าวไม่ใช่เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ และไม่ใช่ทุกคนเป็นแล้วต้องจบที่การเสียชีวิต เฉพาะบางคนที่โศกเศร้าเสียใจอย่างหนักและไม่อาจทำใจได้เท่านั้น ซึ่งอาจนำมาสู่อาการคล้ายกับโรคหัวใจขาดเลือดกะทันหัน โดยสแตมป์อธิบายว่า

สิ่งที่เรารู้คือ เมื่อคนบางคนมีความเครียดจากการสูญเสียคนที่รักหรือเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลให้เกิดความเครียดในชีวิตก่อให้เกิดปฏิกิริยาทั้งต่อร่างกายและจิตใจที่อาจทำให้เกิดโรคได้ และบางครั้งอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ด้าน ฮาร์โมนี เรย์โนลด์ส (Harmony Reynolds) แพทย์โรคหัวใจ จากศูนย์แพทย์แลงโกน แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (New York University Langone Medical Center) อธิบายกับสำนักข่าว HuffPost ว่า จากประสบการณ์การทำงานของเขานั้นเคยตรวจพบผู้ที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการลักษณะเหมือนโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่วินิจฉัยออกมาว่าเป็น Broken heart syndrome แค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

น่าสนใจขึ้นไปอีก จากการศึกษาโรคดังกล่าวมากว่า 20 ปี เรย์โนลด์สพบว่า ผู้ที่สุ่มเสี่ยงเป็น Broken heart syndrome ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่หมดลงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนความเครียด (stress hormone) ได้น้อย

“กลุ่มอาการโรคดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อยกับผู้ป่วย 6,000 รายเป็นประจำทุกปีในสหรัฐอเมริกา และมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือน”

ขอย้ำกันอีกครั้ง อาการของ Broken heart syndrome ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายทุกคน และทุกคนที่เป็นก็ไม่จำเป็นต้องเสียชีวิต

จัดการกับอาการหัวใจสลายอย่างไร

น่าเสียดายที่โรคดังกล่าวไม่ใช่จะรักษากันง่ายๆ และไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะทาง โดยข้อมูลจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าการรักษามักเป็นแบบประคับประคองไปเรื่อยๆ แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-8 สัปดาห์

สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองเข้าข่าย Broken heart syndrome จินีน โรมาเนลลี (Jeanine Romanelli) แพทย์โรคหัวใจจากศูนย์แพทย์แลงเคเนา (Lankenau Medical Center) รัฐเพนซิลเวเนีย เสนอแนวทางแสนพื้นฐานในการรักษาใจตัวเองว่า

“การจัดการกับอาการดังกล่าวด้วยการทำกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเหล้าหรือกินอาหารเยอะๆ มีแต่ยิ่งทำให้หัวใจสุ่มเสี่ยงมากกว่าเดิม ดังนั้นควรที่จะหันมาทำกิจกรรมที่ช่วยจัดการกับความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ โยคะ หลบหนีออกจากโลกโซเชียลมีเดีย พบปะเพื่อนฝูงหรืออ่านหนังสือก็ช่วยได้”

สอดคล้องกับอเล็กซานเดอร์ที่แนะนำว่า ให้โทรหาเพื่อนสนิท รับฟังคำปรึกษาหรือออกไปเดินเล่น

ลองมองดูแม่น้ำที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะตระหนักได้เองว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรเหมือนเดิมได้ตลอดไป เช่นเดียวกับอาการหัวใจสลาย คุณอาจรู้สึกเศร้าโศกแต่จำไว้ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป


ที่มา:
abc.net.au
huffingtonpost.com.au
mahidol.ac.th

ดูคอนเสิร์ตบ่อย ชีวิตยิ่งยืนยาว

ถ้าเคยรู้สึกฟินสุดๆ ตอนดูคอนเสิร์ต ก็อาจได้ฟินต่อไปอีกนานหลายปี เพราะมีงานวิจัยออกมาแล้วว่า การดูคอนเสิร์ตบ่อยๆ ทำให้อายุยืนยาวขึ้นได้

ผลการวิจัยใหม่ที่ โอทู (O2) ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ไร้สายของอังกฤษ และมีสถานที่จัดคอนเสิร์ตหลายแห่งทั่วประเทศ (The O2 Arena, O2 Academy) จับมือกับ แพทริค เฟแกน (Patrick Fagan) รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ กรุงลอนดอน (Goldsmiths, University of London) ได้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการไปดูคอนเสิร์ตเป็นประจำกับอายุที่ยืนยาวขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงจากการทดสอบทางจิตวิทยาและจังหวะการเต้นของหัวใจภายในขอบเขตของกิจกรรมเพื่อสุขภาพหลายอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่มีผลออกมาในทิศทางเดียวกัน ว่ามีความสัมพันธ์กับ ‘ความยืนยาว’ ของอายุ

แค่ไปดูคอนเสิร์ต 20 นาทีก็ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ถึง 21 เปอร์เซ็นต์ และการไปคอนเสิร์ตอย่างน้อยสองสัปดาห์ต่อครั้งจะช่วยให้มีอัตราความสุข ความพอใจ ความมีประสิทธิภาพ และความเชื่อมั่นในตัวเองอยู่ในระดับสูงสุด มีอายุยืนขึ้นไปอีกเก้าปี

นอกจากนี้ ระหว่างการดูคอนเสิร์ตยังทำให้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้นอีก 25 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มความรู้สึกใกล้ชิดกับคนอื่นๆ 25 เปอร์เซ็นต์ และจิตใจได้รับการกระตุ้น (mental stimulation) มากขึ้นถึง 75 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับการฝึกโยคะและการพาสุนัขออกไปเดินเล่น การฝึกโยคะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการเดินเล่นกับสุนัขอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์

“ผลการวิจัยของเราได้แสดงให้เห็นถึงผลจากการดูดนตรีสดต่อความรู้สึกด้านสุขภาพ ความสุข และความเป็นอยู่ที่ดี โดยกุญแจสำคัญอยู่ที่ความถี่ในการเข้าร่วม” เฟแกนบอก

รายงานผลการวิจัยยังระบุว่า “2 ใน 3 หรือ 67 เปอร์เซ็นต์ของชาวอังกฤษที่ร่วมการสำรวจครั้งนี้บอกว่า ประสบการณ์ชมดนตรีสดทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขมากกว่าฟังเพลงอยู่ที่บ้าน แสดงให้เห็นว่า การแบ่งปันประสบการณ์เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้สุขภาพดีขึ้น”

นีนา บิบบี (Nina Bibby) ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของ โอทู กล่าวว่า “เราทั้งหมดต่างรู้ว่า เวลาได้เห็นวงดนตรีหรือศิลปินที่เราชื่นชมกำลังแสดงสดทำให้รู้สึกดีแค่ไหน แต่เมื่อก่อนเป็นเพียงความรู้สึกลอยๆ ตอนนี้เรามีข้อพิสูจน์แล้ว แม้หลายคนจะไม่สามารถมีประสบการณ์แบบนี้ได้บ่อยๆ แต่ลูกค้าของ โอทู ต่างก็ได้เข้าชมคอนเสิร์ตสดๆ ถึงกว่า 5,000 รายการ ใน 350 แห่งทั่วประเทศทุกปี”

ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานที่คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี (Missouri State University) ได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร The Journal of Positive Psychology ระบุว่า ดนตรีที่สนุกสนานมันส์ๆ มีผลด้านบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพที่ดี

“ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้เรา (เฟแกนและโอทู) ได้ร่วมกำหนดตารางคอนเสิร์ตเป็นรายสองสัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นแนวทางให้ชีวิตของหลายๆ คนยืนยาวออกไปได้อีกเกือบสิบปี” เฟแกนอธิบาย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้นำโดย โอทู บริษัทที่เป็นเจ้าของ O2 Arena สถานที่จัดคอนเสิร์ตทั่วสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่ปี 2007 โอทู มีผู้เข้าชมมาแล้วกว่า 60 ล้านคน และขายบัตรได้ 20 ล้านใบ มีสถานที่สำหรับจัดงานใหญ่ๆ 19 แห่งใน 13 เมืองทั่วสหราชอาณาจักร

ในแต่ละปีลูกค้าของ โอทู สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้มากกว่า 5,000 การแสดงในสถานที่จัดงาน 350 แห่งทั่วประเทศ ผ่านการซื้อบัตรล่วงหน้า ในช่วงหกปีที่ผ่านมา โอทู ได้รับการยกย่องให้เป็นสถานที่จัดงานด้านบันเทิงที่ดีที่สุดในโลก

แม้จะเปิดใช้งานเพียงปีละ 200 วันหรือประมาณเจ็ดเดือน แต่ในปี 2007 สถานที่จัดงานของ โอทู ก็ขายบัตรได้มากกว่า 1.2 ล้านใบ ทำให้ติดอันดับสามของสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก รวมถึงการแสดงสำหรับครอบครัว ตามหลังก็เพียงแค่ Manchester Arena กับจำนวนยอดขายบัตรในปีเดียวกัน 1.25 ล้านใบ และ Madison Square Garden ในนิวยอร์ค ที่ขายบัตรไปได้ 1.23 ล้านใบ

นอกจากนี้ ในปี 2015 O2 Arena ยังเป็นสถานที่จัดแสดงดนตรีที่มีคิวแน่นที่สุดในโลก จากยอดการขายบัตรได้ทั้งหมดเกือบสองล้านใบ

และหลังจากที่ดนตรีได้รับการพิสูจน์ว่า มีผลอย่างน่าอัศจรรย์ต่อความสุขและการมีชีวิตอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า ฤดูแห่งเทศกาลดนตรีก็กำลังใกล้เข้ามา…


อ้างอิงข้อมูลจาก:
news.o2.co.uk
independent.co.uk

‘จุลินทรีย์ในมนุษย์’ คีย์เวิร์ดสำคัญของทุกความป่วยไข้

จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ไม่ใช่แค่ทำให้เราถ่ายท้องดีขึ้น แต่คือตัวการบอกว่าสุขภาพร่างกายเราเป็นแบบไหน โรคอ้วน, การตอบรับวัคซีน HIV ในผู้หญิง, ภูมิคุ้มกันเด็ก, ภาวะออทิสซึม และความกังวล

และล่าสุดคือ จุลินทรีย์อาจถูกใช้เพื่อสร้างพัฒนาการการรักษาความป่วยไข้ทางจิตใจสมัยใหม่

“ในร่างกายมนุษย์ มีเซลล์จำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านล้านเซลล์ หากความเป็นจริงแล้วเซลล์มนุษย์เป็นเพียง 1 ใน 10 ส่วนของจำนวนเซลล์ทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย อีก 9 ส่วนที่เหลือคือจำนวนเซลล์ของจุลินทรีย์ที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย” ซึ่งจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายนี้ รวมเรียกว่า ไมโครไบโอต้า (microbiota)

คือคำอธิบายของ ดร.ผกากรอง วนไพศาล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในบทความเรื่อง ไมโครไบโอต้า จุลินทรีย์ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด

คล้ายกันกับคำอธิบายของ จอห์น ไครอัน (John Cryan) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา (neuropharmacologist) และผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอม (microbiome) หรือการศึกษายีนของจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ มหาวิทยาลัยคอลเลจ คอร์ค (University College Cork) กล่าวไว้ว่า

เรามักคิดว่ามนุษย์ดำรงอยู่ได้ก็เพราะเซลล์มนุษย์ (human cell) และยีน แต่จริงๆ แล้วไมโครไบโอต้าต่างหาก สำคัญที่สุด

“พัฒนาการของมนุษย์และระบบการทำงานในร่างกายทุกระบบล้วนถูกพัฒนา หรือร่วมกันพัฒนากับไมโครไบโอต้าทั้งสิ้น” ไครอันกล่าว

ไมโครไบโอต้า จุลินทรีย์ทุกชนิดในร่างกาย คืออะไร สำคัญอย่างไร?

ผู้เขียนอาจเป็นคนเดียวที่คิดว่า ชีวิตมนุษย์กับจุลินทรีย์มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับ โยเกิร์ต กิมจิ ซาวเคราท์ (sauerkraut) หรือกะหล่ำปลีเปรี้ยว แกงส้ม เมนูที่นึกขึ้นได้เมื่ออยากถ่ายท้อง ซึ่งไม่ผิดนะคะ แต่ถูกต้องแค่ส่วนหนึ่ง

บทความเรื่อง The Human Microbiome: why our microbes could be key to our health (การศึกษาไมโครไบโอต้า: ทำไมจุลินทรีย์จึงดีต่อสุขภาพของเรา) อธิบายว่า จุลินทรีย์ทุกชนิดในร่างกายมนุษย์ ทั้งจุลินทรีย์ แบคทีเรีย อาร์เคีย* และไวรัส รวมเรียกว่า ไมโครไบโอต้า

จุลินทรีย์เหล่านี้พบได้ในร่างกายมนุษย์ทั้งในและนอกร่างกาย ตั้งแต่ช่องท้อง ช่องหู ช่องคลอด ระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และอื่นๆ เมื่อรวมกันแล้วจุลินทรีย์มีจำนวนเซลล์มากกว่าเซลล์มนุษย์เสียอีก (แต่เดิมพบว่าสัดส่วนระหว่างจุลินทรีย์กับเซลล์มนุษย์ คือ 1:10 แต่งานวิจัยใหม่ ‘คาดว่า’ อยู่ที่ 3.1:1 ตัวเลขนี้นับเฉพาะจุลินทรีย์ ไม่รวมไวรัส และวิริออน (virion ไวรัสมีส่วนประกอบครบสมบูรณ์)

ความสำคัญของมันคือ มันเป็นเหตุเป็นผล เป็นพัฒนาการของร่างกายแทบทุกจังหวะของมนุษย์ ไล่ตั้งแต่…

1. อยู่ในท้องแม่

ดร.ผกากรอง ชี้ว่า “ไมโครไบโอต้าตั้งต้นที่อาศัยในร่างกายเรานั้นได้ส่งผ่านจากแม่มาสู่ทารก โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบทางเดินทางอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งผิวหนังของทารกได้รับจากแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด”

ขณะที่ไครอันชี้ว่า เด็กที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ จะได้ไมโครไบโอต้าตั้งต้นผ่านทางอวัยวะเพศของแม่ เรื่องนี้จริงจังขนาดที่ว่า มีงานวิจัยสองชิ้นออกมาตีโต้กัน ฝ่ายหนึ่งชี้ว่ามีทางเลือกสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด ใช้แบคทีเรียจากช่องคลอดคุณแม่ป้ายไปที่ผิวหนัง เปลือกตา แตะที่ปากเพื่อให้แบคทีเรียนั้นเข้าสู่ร่างกายของลูกได้ วิธีนี้เรียกว่า ‘vaginal seeding’ ขณะที่คุณหมออีกกลุ่มหนึ่งชี้ว่า มีหลักฐานน้อยมากยืนยันว่า vaginal seeding จะได้ผล และเตือนว่ามันอาจจะอันตรายต่อเด็กมากขึ้นไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่อ้างในงานวิจัยทั่วไประบุคล้ายกันว่า ‘ภูมิคุ้มกัน’ ของลูก ก็คือแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากแม่

2. เงื่อนไขสู่ภาวะออทิสซึม ความกังวล โรคอ้วน โรคเบาหวาน การตอบรับวัคซีน HIV ในผู้หญิง

งานวิจัยสมัยใหม่จำนวนหนึ่งชี้ว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ มีผลต่อโรคภัย ปัจจัยที่จะพัฒนาตัวโรค หรือการตอบสนองของร่างกายต่อยา เช่นการตอบสนองของผู้ป่วยมะเร็งต่อยาที่ใช้รักษา

ปัจจุบันยังเป็นที่ศึกษาและนับเป็นหัวข้อวิจัยที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เงื่อนไขและการตอบสนองของจุลินทรีย์ในลำไส้ มีผลต่อการพัฒนาโรค เช่น จากโรคเบาหวานสู่ภาวะออทิสซึม จากความกังวลใจสู่การเป็นโรคอ้วน หรือไม่

  • เฉพาะเรื่องความอ้วน ความสัมพันธ์ก็คือ จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในท้องมีผลต่อการผลิตแก๊ส ประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ
  • เฉพาะเรื่องอารมณ์ คำอธิบายคือ จริงๆ แล้วอารมณ์เกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง แต่ส่วนที่เกี่ยวพันกับจุลินทรีย์ในลำไส้คือ ประสาทเวกัส (vegus nerve) หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เปรียบได้ว่าคือทางเชื่อมจากสมองสู่ร่างกาย รับความรู้สึกจากลำคอ กล่องเสียง ช่องอก และช่องท้อง รวมถึงลำไส้ด้วย

ข้อเท็จจริงเรื่องจุลินทรีย์และอารมณ์นำไปสู่การพัฒนาการรักษาทางจิตวิทยาแนวใหม่ อย่างที่ไครอัน อธิบายว่า “psychobiotic (จิตวิทยาว่าด้วยความรู้ด้านจุลินทรีย์) คือแนวคิดที่กำลังศึกษาอยู่ เป้าหมายคือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับสมอง”

นอกจากนี้ยังมี งานวิจัยกับผู้หญิงแอฟริกาใต้ เรื่อง ประเภทแบคทีเรียในอวัยวะเพศหญิง ลดการตอบรับหรือตอบสนองต่อวัคซีน HIV ด้วย

แล้วเราจะดูแลจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายเราได้อย่างไร

ก่อนจะว่าด้วยเรื่องของการทะนุถนอมแบคทีเรียในร่างกาย ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก่อนว่า ไมโครไบโอต้าที่กล่าวไปทั้งหมดมีทั้งชนิดรวมพลังกันแล้วรอด และชนิดรวมหมู่อาจทำให้คนเกือบตาย เพียงแต่วงการแพทย์ปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของเจ้าจุลินทรีย์และแบคทีเรียนี้ในฐานะต้นเหตุของปัญหา และข้อดีในฐานการพัฒนาตัวยา

แต่สำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ไครอันยืนยันว่ามันก็คือการรักษาสมดุลอาจมีเสริมและพูดถึงเรื่อง ‘พรีไบโอติก’ (prebiotic) และโพรไบโอติก (probiotic) กล่าวพรีไบโอติกคือสารอาหารที่ลำไส้ (เซลล์มนุษย์) ย่อยไม่ได้ แต่จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียในท้อง เช่น แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส หรือจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bifidobacterium ด้วยการกระตุ้นการทำงานและการเจริญของจุลินทรีย์โพรไบโอติก

หรือกล่าวได้ว่า การกินโยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ ที่มีแบคทีเรียประเภทนี้เป็นตัวเลือกที่คิดได้เร็วๆ และใกล้ตัว

ทิม สเปคเตอร์ (Tim Spector) ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ (genetic epidemiology) แห่งราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน (King’s College London) และผู้เขียน The Diet Myth: The real science behind what we eat  ให้คำแนะนำว่า

“แต่มันก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าคุณต้องกินแต่โยเกิร์ต หรืออาหารจากกระบวนการหมักหรือดองเท่านั้นจึงจะดี แต่เป็นเรื่องจริงที่ว่าการปล่อยให้ท้องได้รับแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์พวกนี้บ้างเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ธรรมชาติของท้องไส้หรือการตอบสนองต่อจุลินทรีย์ในท้องแต่ละคน

“อย่างไรก็ขอให้นึกถึงอาหารที่มีไฟเบอร์ และคำนึงถึงอาหารที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารแต่ละวัน”


*อาร์เคีย คือโพรคาริโอต (prokaryote-เซลล์ไม่มีนิวเคลียส) ที่มีรูปร่างและขนาดคล้ายแบคทีเรีย ในระยะแรก นักวิทยาศาสตร์จัดให้อยู่ในกลุ่มแบคทีเรีย โดยเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ว่า ‘อาร์เคียแบคทีเรีย’ (archaea) แต่เมื่อศึกษาสมบัติต่างๆ ของเซลล์เพิ่มขึ้นพบว่าอาร์เคียมีสมบัติบางประการแตกต่างจากแบคทีเรียและมีความคล้ายกับยูคาริโอต จึงตั้งเป็นกลุ่มใหม่เรียกว่า อาร์เคีย
ที่มา:
pharmacy.mahidol.ac.th
theguardian.com
theguardian.com 2
bbc.com
biology.ipst.ac.th
www.sciencedaily.com

 

คณะผู้ประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพลงพื้นที่ประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง 5 องค์กรภาคเหนือ

คณะผู้ประเมินฯลงพื้นทีประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพภาคเหนือ

แผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ “หลักเกณฑ์การพิจารณาองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาองค์กรและเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมีองค์กรผู้บริโภคให้ความสนใจสมัครเพื่อขอรับรองเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูงจำนวนมาก

ในระหว่างวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2561 คณะผู้ประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จึงเดินทางลงพื้นที่เพื่อประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 องค์กรที่ขอรับการประเมินเพื่อรับรองเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง คือ 1) สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา จ.เชียงราย 2) มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา 3) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จ.ลำปาง 4) มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และ 5) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จังหวัดลำพูน ซึ่งคณะผู้ประเมินจะดำเนินการสรุปผลการประเมินและประกาศผลภายในเดือนพฤษภาคม 2561

สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จ.ลำปาง
มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จังหวัดลำพูน

 

แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางออนไลน์

เสวนา เรื่อง แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล ในการประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561

การแจ้งเตือนภัยในปัจจุบัน จำเป็นต้องเท่าทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะในยุคที่มีการใช้สื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง หน่วยราชการอย่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.),ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ,สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองปู้บริโภค (สคบ.) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  มีทั้งข้อมูลและความน่าเชื่อถือ การประกาศแจ้งเตือนภัยและจัดการสินค้าไม่ปลอดภัยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างทันท่วงที เมื่อพบผลว่าสินค้าไม่ปลอดภ้ยและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในวงกว้าง อย. มีเว็บไซต์ และ แอพพลิเคชั้นจำนวนมาก ขณะที่ บก.ปคบ. แม้สื่อออนไลน์ของหน่วยงานอาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่วิทยากร ได้จัดทำเฟสบุคเผยแพร่ข่าวสารเพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เช่นเดียวกับ สคบ. ที่ได้ดำเนินการสื่อสารออนไลน์ในเว็บไซต์ สคบ. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับ คคส. พัฒนา หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง และ มีการใช้งานในระดับจังหวัด สสจ. ต่างๆ และ ชุมชน โดย รพ.สต. และ อสม.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน  ซึ่งถือได้ว่า การที่ชุมชนตื่นตัวป้องกันภัย โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น ติดป้ายห้ามรถเร่ ขายยา สินค้าไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง การให้ อสม.นักวิทย์ฯ ส่งไลน์สื่อสารกันเมื่อมีการเข้ามาขายสินค้าไม่ปลอดภัย. การเฝ้าระวังตรวจสอบสินค้าด้วยชุดทดสอบ การใช้ฐานข้อมูลหน้าต่างเตือนภัย ทั้งการใส่ข้อมูลและเปิดดูข้อมูล การแจ้งเตือนภัยในชุมชนในรูปแบบต่างๆ และการเรียกเก็บสินค้าเมื่อพบว่าไม่ปลอดภัยชัดเจนจากการตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. การดำเนินการในมิติต่างๆเหล่านี้ ถือเป็น การปูพื้นฐานสาระใน ร่างพ.ร.บ.การแจ้งเตือนภัยและจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัย สอดคล้องกับ มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ และ สคบ. กำลังมีการดำเนินนำเสนอ ร่างกฎหมายนี้ สู่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป

ที่มา: การเสวนา เรื่อง แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัว ในการประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 วันที่  14 มีนาคม 2561
1.แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล, ภก.วิษณุ โรจน์เรืองไร นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ fda

2. แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล, นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ
3.  แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล, ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ มวคบท

 

องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคคุณภาพ

คคส. ได้ประสานให้ 4 หน่วยงาน ร่วมมือพัฒนา ‘องค์กรผู้บริโภค’

โดย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต คคส. ได้จัดให้มี พิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กร ผู้บริโภคคุณภาพ ระหว่าง 4 องค์กร ได้แก่ สสส. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับ โดยความร่วมมือของทุกองค์กร ทั้งนี้ คคส. ได้รับมอบภารกิจจาก สสส. ในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรององค์กรคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558  โดยในปี 2561 มีองค์กรผู้บริโภคที่สมัครลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมในกระบวนการรับรองคุณภาพแล้วกว่า 300 องค์กร เพื่อให้องค์กรผู้บริโภค มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่มีการร้องเรียนต่างๆ เพราะภาครัฐจะมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและการกระจายจุดบริการรับ-แก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน ซึ่งส่งผลให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังได้อย่างกว้างขวาง และจะเป็นการองรับ ร่างพ.ร.บ.สภาผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ… ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำลังมีการดำเนินนำเสนอ ร่างกฎหมายนี้ สู่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ ส่งไปยัง คณะรัฐมนตรีต่อไป

อาหารโรงเรียนเปลี่ยนอนาคตประเทศ

เพื่อสร้างพื้นที่ถอดสรุปบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้ในการจัดการอาคาร และขับเคลื่อนเพื่อความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้มีการนำประสบการณ์ที่ดีและประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้ และขยายผลการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดระบบอาหารแก่ชุมชน เครือข่ายสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร BIOTHAI และ สสส. จึงได้ร่วมกันจัดงาน ‘สมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2561’ ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2561 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือประเด็นในเรื่องการจัดการอาหารโรงเรียนและชุมชน ในหัวข้อ ‘ปรับอาหารโรงเรียน ขยายตลาดทางเลือก เปลี่ยนประเทศไทย?’ โดยมีเครื่องหมายคำถามเสมือนการย้อนกลับมายังพวกเราในฐานะคนไทย ในฐานะพ่อแม่ และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนว่าจะเป็นไปได้ไหม? จะเปลี่ยนประเทศไทยได้ไหม? จากการขยายตลาดทางเลือกและการปรับอาหารโรงเรียน

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ภายในงานจึงมีการจัดวงเสวนาแยกย่อยหลายวง สองในวงเสวนาที่น่าจะตอบคำถามต่อประเด็นของความเป็นไปได้อยู่ที่ หนึ่ง-วงเสวนาว่าด้วยบทเรียนและแนวทางจัดการความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียน เพื่อสรุปบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา สอง-นำเสนอนโยบายการจัดการอาหารโรงเรียน เพื่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน แต่ยังรวมถึงการสร้างสุขภาพโภชนาการให้แก่อนาคตของชุมชน ที่จะกลายไปเป็นอนาคตของประเทศอย่างเด็กและเยาวชนอีกด้วย

งานเชิงประเด็นนโยบายสู่การจัดการ

เพลินพิศ หาญเจริญวนะภูษิต จากสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในโครงการประมวลองค์ความรู้จากการดำเนินงานตามรอยพระยุคลบาท พัฒนาอาหาร โภชนาการและสุขภาพเด็กในโรงเรียน นำเสนอวิดีทัศน์ที่บอกเล่าเรื่องราวของการดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เอาไว้ว่า ด้วยความที่ทรงมองเห็นความสำคัญของสุขภาพของเด็กยากจนในโรงเรียนต่างๆ พระองค์จึงนำพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาใช้ในการทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพโภชนาการในโรงเรียนยากจนต่างๆ จากโครงการอาหารกลางวันที่เป็นโครงการเริ่มแรกได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม ครอบคลุมไปถึงเรื่องสุขภาพ โภชนาการ และสุขภาพอนามัยอย่างครบวงจร

“การพัฒนาสุขภาพอนามัยอย่างครบวงจรประกอบไปด้วยแปดองค์ประกอบ หนึ่ง-เกษตรในโรงเรียน สอง-สหกรณ์นักเรียน สาม-การจัดการบริหารอาหารของโรงเรียนผ่านร้านสหกรณ์นักเรียนนำมาประกอบอาหารกลางวัน สี่-การติดตามภาวะโภชนาการ ห้า-การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน หก-การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนพัฒนาทักษะการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ถูกลักษณะอนามัย เจ็ด-การจัดบริการสุขภาพ แปด-การจัดการเรียนรู้ เกษตร อาหาร และสุขภาพเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องเกษตรยั่งยืน โภชนาการและสุขภาพอนามัย โดยมีหัวใจสำคัญของพระองค์คือให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตัวเอง”

เพลินพิศบอกเล่าต่อจากการลงไปทำงานในพื้นที่ภายใต้โครงการ ‘เด็กไทยแก้มใส’ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ของโรงเรียนภายใต้แปดองค์ประกอบของการพัฒนาสุขภาพอนามัยที่แม้บางโรงเรียนจะยังไม่ได้พัฒนาครบทั้งแปดองค์ประกอบ แต่การดำเนินรอยตามพระยุคลบาทย่อมหมายถึงการดำเนินรอยตามพระราชดำริที่ต้องการให้การพัฒนาขึ้นอยู่กับสภาพตามบริบทของโรงเรียนนั้นๆ ด้วย ทำให้ระดับความสำเร็จของแต่ละโรงเรียนจะแตกต่างกันไปขึ้นกับต้นทุนของโรงเรียน

“ทีนี้เราก็เลยมาดูว่าสิ่งที่สำคัญของโครงการของพระองค์ท่าน คือการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งเป็นตัวหลักนะคะ เพราะเมื่อทานอิ่มแล้วก็ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย อาหารที่จะทานจะต้องถูกสุขลักษณะอนามัย” เพลินพิศกล่าว ก่อนจะเสริมว่า ปัจจัยความสำเร็จของโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการตามพระราชดำริหรือโครงการเด็กไทยแก้มใสอยู่ที่โรงเรียนนั้นๆ ศรัทธาในแนวทางของพระองค์ท่านอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รวมถึงมีความเข้าใจในแนวทางพระราชดำริของพระองค์ท่าน

“ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โครงการของพระองค์ท่านเน้นเด็กให้เป็นผู้ปฏิบัติงานเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยผู้บริหารของโรงเรียนและบุคลากรต้องมีความเข้าใจในงานที่จะทำ ส่วนสำคัญอีกอันหนึ่งคือชุมชนและภาคีเครือข่าย”

แม้ไม่ได้เป็นครู แต่ในฐานะนักละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน ศศิธร คำฤทธิ์ จากโครงการ ‘เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก’ ก็มองเห็นถึงความสำคัญของโภชนาการอาหารที่ถูกสุขอนามัยเช่นเดียวกัน หลังจากเมื่อสี่ปีก่อนได้รับการติดต่อจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลกให้ทำการสื่อสารด้วยละครไปยังเด็กให้ปรับเปลี่ยนความคิดมากินผัก

“เราใช้กระบวนการละครในช่วงเริ่มต้นเพื่ออยากจะดูว่าจริงๆ แล้วเด็กๆ เขากินอะไร เป็นปัญหาไหม ถ้าเราไปพูดคุยกับเด็กและครู เราจะไม่ได้คำตอบที่เป็นจริงสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเราใช้กระบวนการละคร เราจะได้รับรู้ความรู้สึกของเด็กจริงๆ ว่าเด็กชอบกินอะไร และไม่ชอบกินอะไร”

ในระยะเริ่มต้นของโครงการที่ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่เชียงใหม่ ศศิธรบอกเล่าว่า ก่อนจะลงไปทำงาน ได้มีการศึกษาจนพบว่าการดำเนินงานเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียนแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ หนึ่ง-การจ้างเหมา โรงเรียนจะใช้วิธีเหมาให้ผู้ผลิตเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิต ด้วยวิธีการนี้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบได้ เนื่องจากเป็นการจ้างเหมาทั้งหมด สอง-คุณครูจะเป็นคนปลูกผักนำมาประกอบอาหาร ซึ่งกลุ่มนี้จะทำในศูนย์เด็กเล็กที่มีจำนวนเด็กไม่มากนัก และกลุ่มที่สาม ซึ่งจะเป็นกลุ่มพ่อครัว/แม่ครัวที่จะรับซื้อวัตถุดิบจากทั้งชุมชนและตัวโรงเรียนเองนำมาประกอบอาหาร ศศิธรจึงตัดสินใจว่าจะทำงานกับกลุ่มที่สามเป็นหลัก เพราะเป็นผู้กำหนดทั้งในส่วนของเมนูและวัตถุดิบโดยตรง

โครงการ ‘เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก’ จึงได้เกิดขึ้น

เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนลิ้นเด็กในวัย ป.4-ป.6 ให้รู้จักการกินผักมากขึ้น ศศิธรนำพาเด็กไปยังแปลงปลูกผักอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่ที่ทำการเกษตรเรื่องนี้ เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ว่านอกจากผักกาดขาว คะน้า แล้วยังมีผักอินทรีย์อื่นๆ อีก ก่อนจะนำมาสู่การสอนให้เด็กรู้จักปลูกผักในที่สุด และเมื่อเด็กรู้จักการปลูกผักเอง เด็กก็จะกินผักที่พวกเขาปลูกเองเช่นกัน

ทว่าการปลูกฝังให้เด็กกลายเป็นเชฟน้อย ในมุมของศศิธรแล้ว ลำพังแค่เด็กยังไม่พอ เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียน และครู ซึ่งเป็นผู้กำหนดเรื่องอาหารในโรงเรียนแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ศศิธรจึงเกณฑ์ครูและแม่ครัวในโรงเรียนมาพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันกับเด็กๆ จนเกิดความเข้าใจร่วมกันในที่สุด

“เราขยายแนวคิดเรื่องการกินผักปลอดสารพิษตามฤดูกาลโดยใช้ละครเร่ชั้นประถมฯ เร่ไปตามโรงเรียนอนุบาล ไปตามชุมชน แล้วตอนนี้ปรากฏการณ์ที่เห็นก่อนช่วงที่เราจะทำโครงการ พื้นที่ในการปลูกกินเองในโรงเรียนมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์นะคะ การจองแปลงปลูกไม่เคยมีเกิดขึ้นเลย อีก 90 เปอร์เซ็นต์คือผักที่ซื้อมาจากตลาดทั่วๆ ไป หรือตลาดกลางของจังหวัดเชียงใหม่ พอมาปัจจุบันนี้พื้นที่ในการปลูกมากขึ้น กระจายไปตามแปลงปลูกต่างๆ รวมถึงของพ่อแม่ด้วย แม้จะยังไม่ได้ทุกวัน บางโรงเรียนอาจจะได้แค่วันพฤหัส บางโรงเรียนได้แค่พุธกับศุกร์ แต่หลังจากเราไปทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ เราก็ได้มีการติดต่อเพื่อซื้อผักเพิ่มมากขึ้น”

ถอดบทเรียนจากสงขลาสู่กรุงเทพฯ: บทเรียนการจัดการจากสองโรงเรียน

โรงเรียนจองถนน

หัตถยา เพชรย้อย ผอ.โรงเรียนเทศบาลจองถนน จังหวัดพัทลุง บอกเล่าบทเรียนและแนวทางการจัดการความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนของตนที่ตั้งอยู่ติดทะเลสาบสงขลา ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ราบแอ่งรับน้ำในหน้าฤดูมรสุมเมื่อน้ำทะเลหนุนเอาไว้ว่า “ตอนแรกที่เราไปทำงานด้านความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน เราไปทำความรู้จักกับชุมชน รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านในชุมชม การบริโภคอาหารของคนที่นั่น เนื่องจากผู้ปกครองของเด็กๆ ทำอาชีพประมง ดังนั้น สิ่งที่เขาจะหาได้ง่ายที่สุดก็คือปลา สมมุติว่ามีแกงในงานต่างๆ ก็จะต้องมีปลาท้องถิ่นที่ดังที่สุด คือปลาหัวโม่ง บางท่านอาจจะเคยได้ยินก็คือคล้ายๆ กับปลากลดน่ะค่ะ ที่นั่นแกงจะไม่ใส่ผัก แกงปลาอย่างเดียว อาหารของคนในชุมชนจะเป็นอาหารที่ไม่มีผัก”

เมื่อลักษณะอาชีพของผู้ปกครองนักเรียนส่งผลมาสู่โภชนาการที่ไม่ครบถ้วน เนื่องจากพืชผักเป็นสิ่งที่หาได้ยากในพื้นที่เทศบาลจองถนน ดังนั้นหัตถยาจึงไม่เคยโทษผู้ปกครองและชุมชน อีกทั้งปัจจัยของการเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงทะเลหนุน จึงส่งผลให้พื้นที่โดยรอบทั้งชุมชนและโรงเรียนประสบสภาวะน้ำท่วม

“แต่ว่าการศึกษาคือชีวิตใช่ไหมคะ นี่เป็นสิ่งที่ ผอ. พูดกับคุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง ว่าการศึกษาคือชีวิต เราต้องอยู่กับธรรมชาติแบบนี้ให้ได้ ไม่ใช่เราไปเอากระสอบทรายมากั้นโรงเรียนเราไม่ให้น้ำท่วม แต่ที่บ้านเด็กน้ำท่วม เด็กก็มาไม่ได้ แต่เราจะทำยังไงเพื่อให้เด็กๆ อยู่ให้ได้”

ทั้งการปรับตัวให้อยู่กับสภาพธรรมชาติและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพวิถีชีวิตในชุมชน หัตถยาบอกเล่าว่าวิธีในการอยู่กับน้ำท่วมคือการเปิดเรียนก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง เมื่อน้ำท่วมก็จะให้เด็กได้หยุดอยู่บ้านกัน พอน้ำลดแล้วจึงกลับมาเรียน ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การบริหารเวลาที่สมดุลกับโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เด็กเข้าสอบชั้นมัธยมต้นได้เหมือนกัน

ในขณะที่ด้านโภชนาการอาหาร หัตถยาส่งเสริมให้มีการทำเกษตรในโรงเรียนภายใต้โครงการเด็กไทยแก้มใสด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในระยะเบื้องต้น เด็กนักเรียนจะไม่รับประทานผักเลย เพราะคุ้นชินกับวิถีที่ไม่ได้กินผักมาแต่ต้น วิธีแก้ปัญหาของ ผอ.เทศบาลจองถนนจึงกระตุ้นให้เด็กทำการปลูกพืชผัก ให้รู้จักคุณค่าของสิ่งที่จะกินเข้าไป โดยมีการปรับตัวในการปลูกในกระถางบ้าง ในรองเท้าบูทบ้าง เนื่องจากสภาพน้ำท่วม นอกจากนี้แล้ว ยังมีการประกาศในช่วงเข้าแถวเคารพธงชาติว่าเมนูในวันนี้จะนำผักจากชั้นเรียน และกลุ่มของนักเรียนไหนบ้างมาประกอบอาหารเพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ

ทำให้เด็กมีความรู้สึกที่จะอยากกิน เด็กก็จะเริ่มกินไปทีละนิด ทีละนิด จนเด็กยอมกินผักในที่สุด

กระนั้นปัญหายังคงมี นั่นคือแม้ว่าเด็กจะกินผักได้ที่โรงเรียน แต่เมื่อกลับไปชุมชนแล้ว เด็กจะไม่กินผักเลย วิธีแก้ปัญหาของหัตถยาคือ ลงไปชุมชน เรียกพ่อแม่ผู้ปกครองมาคุย แล้วแจกจ่ายพืชผักให้นำกลับไปปลูกที่บ้านแต่ละครอบครัว เพื่อสร้างลักษณะนิสัยการกินผักร่วมกันตั้งแต่พ่อแม่จนถึงเด็ก กระทั่งเด็กในโรงเรียนเทศบาลจองถนนกลายเป็นเด็กที่กินเก่งที่สุด

“จนตอนนี้ทำอาหารอะไรที่เป็นผัก เด็กกินได้หมดทุกอย่างแล้ว”

โรงเรียนปัญโญทัย

แม้บริบทของพื้นที่จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างโรงเรียนติดชายทะเลที่มีน้ำท่วมอยู่เนืองๆ กับโรงเรียนในกรุงเทพฯ มหานครที่หนีไม่พ้นปัญหาคลาสสิกในเรื่องรถติดชั่วนาตาปี แต่ นพ.พร พันธุ์โอสถ ผอ.โรงเรียนปัญโญทัย ก็กล่าวว่า ปัญหาของทั้งสองโรงเรียนที่มีเหมือนกันคือ ปัญหาในเรื่องโภชนาการอาหาร ปัญหาในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น

“เวลาเราพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อันดับแรกเราอาจจะนึกถึงเรื่องปริมาณ อันดับต่อไปคือคุณภาพของโภชนาการ แต่กับปัญโญทัยตั้งคำถามจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ว่าอาหารที่เรามีให้กับเด็กมันปลอดภัยจริงหรือเปล่า”

นพ.พรไม่ปฏิเสธว่าในระยะแรกก่อนการเริ่มต้นโครงการความมั่นคงทางอาหาร โรงเรียนปัญโญทัยเองก็ไม่ต่างจากอีกหลายโรงเรียนที่ใช้วัตถุดิบที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ ที่ทำให้เกิดคำถามว่า กับสารเคมีที่มีศักยภาพในการกำจัดแมลงและฆ่าหญ้าเหล่านั้นมาเข้าสู่ร่างกายของเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

มันเปรียบเสมือนกับว่าเราได้ให้ยาพิษแก่พวกเขาวันละน้อยวันละน้อยหรือเปล่า ซึ่งก็มีแนวคิดที่บอกว่าเราก็อยู่กับยาฆ่าแมลงเหล่านี้มาตั้งนานแล้ว ไม่เป็นอะไรหรอก โอเค สมมุติว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าถามกลับว่าไม่ใช่ยาฆ่าแมลงก็ได้ แต่เรารู้ละว่าเป็นยาพิษ แล้วเราใส่ลงไปในอาหารทีละนิด ทุกวันๆ เราจะกินหรือเปล่า

จากจุดเริ่มต้นของคำถามเมื่อ 20 ปีก่อนที่โรงเรียนปัญโญทัยยังเป็นโรงเรียนเล็กๆ และไม่สามารถจ้างแม่ครัวมาทำอาหารเองได้ รวมถึงกำหนดเมนูที่รวมไปถึงวัตถุดิบต่างๆ ที่จะนำมาประกอบอาหาร แนวคิดในเรื่องอาหารปลอดสารเคมีในห้วงเวลานั้นนับได้ว่ายังเป็นเพียงระยะตั้งไข่เท่านั้น วิธีการแก้ปัญหาของ นพ.พร ก็คือการหาแหล่งผลิตผักที่ปลอดสารพิษ ซึ่งหาได้ยาก และส่วนมากก็มีแต่ผักพื้นบ้าน ทำให้เมนูอาหารไม่หลากหลาย และทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย อีกทั้งต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้กินเนื้อมากกว่า ซึ่ง นพ.พรก็ชี้แจงให้เข้าใจถึงการนำผักอินทรีย์มาใช้ประกอบอาหาร ทั้งการที่ยังเป็นวัตถุดิบที่หายาก และการที่มื้อกลางวันให้เด็กได้กินอาหารที่มีแต่ผักบ้าง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงยินยอมโอนอ่อนตาม กระทั่งยอมให้ใช้พื้นที่ในบ้านตัวเองเป็นพื้นที่รับผักจากเกษตรกรที่จะต้องมาส่งให้กับโรงเรียนตั้งแต่ตีสี่ ซึ่งไม่มีใครอยู่รอรับในช่วงเวลานั้น

จากจุดเริ่มต้นกระทั่งถึงปัจจุบันที่ความคิดในเรื่องผักอินทรีย์ได้กระจายไปมากขึ้นกว่า 20 ปีก่อน นพ.พร ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีกินผักให้เด็กแค่หนึ่งมื้อในโรงเรียน แต่ยังรับซื้อผักจากเกษตรกรเพื่อขยายตลาดต่อไปยังครอบครัวของเด็กนักเรียนให้ได้กินผักทั้งสามมื้อ ตลอดทั้งปี ครอบครัวของเด็กนักเรียนได้ประโยชน์ เกษตรกรเองก็เช่นกัน

ถ้าเรามองว่าเด็กคืออนาคตของชาติ การที่เราลงทุนในเรื่องโภชนาการอาหารที่ดีต่อเด็กก็เท่ากับเราลงทุนให้กับอนาคตของประเทศและสังคมให้เป็นสังคมที่ดี ประเทศที่ดี

นโยบายการจัดการอาหารเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร

หนึ่งในเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และเป็นผู้พยายามผลักดันให้เกิดการตระหนักในพิษภัยจากสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าจะมีมติให้มีการยกเลิกหรือใช้งานต่อไปของคณะกรรมการวัตถุอันตราย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี จึงนำเสนอการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดการอาหารในศูนย์เด็กเล็กและในโรงเรียนเพื่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก โดยเริ่มต้นจากการกล่าวถึงประสบการณ์ทำงานที่เชื่อมโยงกับชุมชน ขณะที่อีกด้านพยายามขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย

“เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการที่เราจะอธิบายต่อฝ่ายนโยบายว่าสิ่งที่เราเสนอมันมีความสำคัญ มันทำได้ มันมีเหตุและผล และประชาชนจะสนับสนุนได้อย่างไร อันนี้ต้องไปด้วยกัน”

การพยายามนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสนใจเป็นสิ่งที่วิฑูรย์มองว่าสำคัญยิ่งกว่าการพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายนโยบายยอมรับและสนใจ เพราะหากประชาชนสนใจแล้ว ฝ่ายนโยบายย่อมให้ความสนใจในที่สุด

ด้วยเหตุนั้น งานที่จัดภายใต้ธีมของความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นการพยายามเรียบเรียงประเด็นสองสามเรื่อง ตั้งแต่เศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น การจัดการอาหารในโรงเรียน การสร้างตลาดทางเลือก เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการค้นพบสารตกค้างในอาหารเกินค่ามาตรฐานสูงมาก จนนำไปสู่การผลักดันให้มีการยกเลิกสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง Chlorpyrifos ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งในวันที่ 20 มีนาคม ที่จะถึงนี้จะมีมติออกมา ซึ่งจะทำให้มีการจัดการที่ต้นทางโดยไม่ต้องมาเหนื่อยกับการจัดการที่ปลายทางในส่วนของเกษตรกร

พาราควอต จากท่าเรือสู่ครรภ์มารดา

นอกจาก Chlorpyrifos สารตั้งต้นทางเคมีอย่าง พาราควอต ที่มีอันตรายสูงมาก ก็จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณายกเลิกเช่นเดียวกัน แต่วิฑูรย์มองว่าลำพังแค่การยกเลิกยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีมาตรการในการขยายอาหารปลอดภัยออกไป ซึ่งการจัดการอาหารในโรงเรียน และสร้างตลาดทางเลือกเป็นมาตรการที่ว่านั้น

นอกจากนี้จากผลการวิจัยยังพบว่า ผลกระทบจากพาราควอตกับการพัฒนาทางสมองของเด็กที่เติบโตมาในบ้านเด็กกำพร้าที่มีระดับการพัฒนาทางสมองไม่ต่างจากผู้ป่วยโรคพาร์คินสันแทบไม่แตกต่างกันแต่อย่างใดเลย

“เรื่องที่ไม่มีการพูดถึงคือ ผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชมีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็ก ถ้าดูการศึกษาจากไทยแพนเมื่อปี 2559 จาก 300 ตัวอย่างโดยใช้ห้องแล็บที่มีมาตรฐานจะพบว่าสารเคมีอย่าง Carbendazim ตกค้างอยู่ในตัวอย่างถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ในอเมริกาได้ยกเลิกไปแล้ว ขณะที่ Chlorpyrifos ทั่วโลกได้ทำการยกเลิกไปแล้ว ไม่ให้มีการใช้ในผักและผลไม้ พบสัดส่วนอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งสองตัวนี้เรากลับพบอยู่ในอันดับหนึ่งและอันดับสอง และ Chlorpyrifos คือเหตุผลที่หลายประเทศแบนเพราะว่ามันมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กนั่นเองนะครับ”

นอกจากสารเคมีทั้งสองตัวแล้ว พาราควอต (Paraquat) ก็เป็นสารเคมีที่พบว่าปนเปื้อนในผักและผลไม้ทั่วไป แต่ไม่เพียงแค่นั้น พาราควอตยังส่งผลกระทบต่อแม่และลูกในครรภ์โดยมีการพบ 17-20 เปอร์เซ็นต์ในเซรั่มจากแม่และในสะดือทารก ขณะที่อีก 54.7 เปอร์เซ็นต์พบในขี้เทาของทารกแรกเกิด

การค้นพบนี้สำคัญและเป็นเรื่องที่ซีเรียสอย่างไร?

เพราะพาราควอตเป็นสารเคมีอันตรายระดับถึงชีวิตหากได้รับการสะสมเข้าไปในร่างกายมากพอ โดยตัวเลขจากการวิเคราะห์ของไทยแพน คณะสาธารณสุขศาสตร์ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีระบุว่า จำนวนผุ้ป่วย 8.2 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจากการฉีดยากำจัดศัตรูพืชที่มีพาราควอตเจือปน ดังนั้น วิฑูรย์จึงมองถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่นำไปสู่กุญแจเกษตรยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารขึ้น

“เหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนในเรื่องอาหารของโรงเรียนเพื่อนำไปสู่อาหารที่ปลอดภัยมากขึ้นถูกรองรับด้วยนโยบายระดับชาติสองนโยบายสำคัญ ซึ่งต้องการการปฏิบัติ ณ ปัจจุบันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นภาพใหญ่ร่วมกันในข้อเสนอของเรา ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งในแผน 12 ชัดเจนนะครับ ส่งเสริมการผลิต และบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยส่งเสริมมาตรการให้แรงจูงใจทางภาษี การให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ปลูกพืชผักผลไม้เกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่สามพูดถึงการเพิ่มพื้นที่เกษตรให้ได้ห้าล้านไร่ และพูดถึงมาตรการการเงินการคลังให้ไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 นะครับ อันนี้ชัดเจนเลย ต้องใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเพื่อไปหนุนเสริมสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งอันนี้คือตัวอย่างในส่วนของนโยบาย”

ประเด็นสุดท้าย วิฑูรย์กล่าวถึงงบประมาณจำนวน 7,000 ล้านบาท* ในการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศที่หากมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นการซื้อพืชผักผลไม้ที่เป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็จะกลายเป็นส่วนที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมองของอนาคตชาติอย่างสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับการลดการใช้สารเคมี การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรที่ในท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนของภาครัฐนี้จะได้กลับคืนมาในระดับเดียวกันอยู่แล้ว กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ รัฐแทบไม่ได้เสียอะไรจากการลงทุนในเรื่องเกษตรอินทรีย์

เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2.4 เท่า: เปลี่ยนอาหารกลางวันเด็ก เป็นผลิตผลอินทรีย์

สภาพปัญหา

  • มีเด็กอนุบาล-ป.6 มีปัญหาทุพโภชนาการทั้งสิ้น 5,800,549 คน
  • เด็กบริโภคผักและผลไม้ไม่พอเพียง
  • พบสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เกินมาตรฐาน 51 เปอร์เซ็นต์
  • เมื่อปี 2556 มติ ครม. ให้เพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กจาก 13 บาทเป็น 20 บาท

ข้อเสนอ

เพิ่มงบประมาณต่อหัวจาก 20 บาทเป็น 26 บาท เพื่อจัดซื้ออาหารอินทรีย์ซึ่งแพงกว่าราคาพืชผักผลไม้ทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ จึงจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 6 บาท คูณจำนวนมื้ออาหาร 200 มื้อจากเด็ก 5.8 ล้านคน = 6,960,000,000 บาท

ความเชื่อมโยงกับนโยบายอื่น

  • แก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กในการดูแลของ สธ. และ อปท.
  • สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเรื่องการขจัดความหิวโหย
  • ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตร 5 ล้านไร่ของแผน 12 จากการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์

ผลประโยชน์ด้านอื่นๆ

  • เด็กได้รับผักผลไม้อย่างพอเพียงและปลอดภัยส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ดีของสมองและร่างกายจำนวน 5.8 ล้านคน
  • เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในผักและผลไม้

ลดการใช้ในผักและผลไม้ 20,000 บาท/ไร่ = 6,960,000,000 บาท
ลดการใช้ในนาข้าว 1,500 บาท/ไร่ 72,500,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 7,032,500,000 ล้านบาท

ทว่าประเด็นสำคัญที่วิฑูรย์ต้องการเน้นก็คือ ทุกๆ หนึ่งล้านบาทที่เรานำสารเคมีเข้ามา เราจะต้องจ่ายไปสองล้านบาทในเรื่องของการรักษาพยาบาล รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“นั่นหมายความว่าการลงทุนเรื่องนี้คุ้มค่ามากๆ โดยไม่ต้องไปพูดเรื่องอนาคตของเด็กในการได้รับประทานอาหารอย่างปลอดภัย และมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน”


*เป็นตัวเลขจากเมื่อปี 2555 โดยคิดจากอัตราเฉลี่ยค่าอาหารเด็กไทยอยู่ที่ 13 บาท โดยผู้ที่กล่าวคือ สง่า ดามาพงศ์  อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 6
“อยากวอนรัฐบาลให้ความสนใจในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม มีคุณค่าของสารอาหารในเด็กเล็กก่อน โดยควรเพิ่มค่าอาหารกลางวันจากปัจจุบันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศอยู่ราว 7,000 ล้านบาท ตกคนละ 13 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ควรเพิ่มเป็น 15-20 บาทต่อคน แต่การเพิ่มงบประมาณดังกล่าวค่อนข้างยากและล่าช้า ผมได้เข้าไปศึกษาและพูดคุยกับทางชุมชน โดยนำร่องใน 9 จังหวัด คือ สมุทรปราการ นนทบุรี เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ และลำปาง ในการเพิ่มงบอาหารกลางวันให้กับเด็กกันเองภายในชุมชน ซึ่งจะมีการประเมินการทำงานและจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในสิ้นปีนี้”
ดูเนื้อข่าวเพิ่มเติม ‘เด็กไทยยังขาดสารอาหาร! อ้อนรัฐบาลเทงบอาหารกลางวันเพิ่ม’ โดย wannapa เผยแพร่ในส่วน ทันกระแสสุขภาพ เว็บไซต์ สสส. วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 https://goo.gl/4yLkC2

 


ปฐกถา บทบาทและความสำคัญของผู้มีความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพต่อสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรวิทยา กุลสมบูรณ์

ประธานมูลนิธิเภสัชชนบท และ กรรมการอำนวยการ

วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม

ในพิธีมอบหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2561

ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์

ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา

ท่านนายกสภาเภสัชกรรม

กรรมการอำนวยการ กรรมการบริหาร และ

สมาชิก วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ สภาเภสัชกรรม

ท่านแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

 

วันนี้เป็นวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2561 เป็นวันที่จะอยู่ในความทรงจำของทุกท่านที่มาร่วมในพิธีอันทรงเกียรติ โดยเฉพาะสมาชิกวิทยาลัยฯ ที่จะได้รับหนังสืออมุมัติ ในวันนี้

ในวาระสาคัญนี้ มีความสาคัญที่เป็นมงคล คือ สิ่งที่นาไปสู่ความดี อย่างน้อย 3 ประการ หรือ อาจเรียกได้ว่า เป็น “ไตรมงคล” ประกอบด้วย (1) คณะมงคล (2) ปูชนียมงคล (3) บุคคลมงคล

 มงคลประการแรก ที่เรียกว่า คณะมงคล ก็คือ การที่ วิทยาลัยฯ ได้มีคณะกรรมการอานวยการ วิทยาลัยเป็นคณะแรกที่ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับกิจการของ วคบท. ถือได้ว่าเป็นการสถาปนาเจดีย์ที่สมบูรณ์ อันประกอบด้วยฐานเจดีย์ คือ สมาชิก วคบท. กลางเจดีย์ คือ กรรมการบริหาร และ ยอดเจดีย์ คือ กรรมการอานวยการ คุณูปการนี้ต้องชื่นชมสภาเภสัชกรรม โดยเฉพาะ ท่านนายกสภาเภสัชกรรม ที่ท่านได้อุปถัมภ์เกื้อหนุนให้ภารกิจตามข้อบังคับของวิทยาลัยในการต่อยอดเจดีย์เสร็จสมบูรณ์

 มงคลประการที่สอง คือ ปูชนียมงคล ข้อบังคับของวิทยาลัยได้นำมาสู่ การดำเนินการเสนอชื่อสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่ทรงไว้ซึ่งองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและมีคุณปการต่อวิทยาลัย สมาชิกกิตติมศักดิ์ทั้งสองท่าน ทั้งอาจารย์สำลี ใจดี และ อาจารย์จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นปูชนียบุคคลของ วคบท. โดยแท้ ภูมิประวัติ และ เกียรติประวัติ ในการทำงานของท่านทั้งสองทั้งด้านการปกป้อง คุ้มครอง “เภสัชสิทธิ” และ การกำจัด ป้องกัน “เภสัชภัย” เป็นที่ประจักษ์ การที่ท่านทั้งสองได้ตอบรับการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ วคบท. จึงเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งของวิทยาลัยฯ

 มงคลประการที่สาม คือ บุคคลมงคล ที่ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์แห่งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา สภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มอบรางวัล อาจารย์แบบอย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ท่าน หนึ่งในนั้นคือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ  ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ โดย สภาคณาจารย์ได้ให้รางวัล แก่ อาจารย์วรรณา เป็นอาจารย์แบบอย่าง ในสาขารับใช้สังคม มีการคัดเลือกจากอาจารย์ จำนวนกว่าร้อยคนได้มา 2 คน จาก 2 สาขา ใน 4 สาขา ท่านนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปรารภว่า ผลงานของอาจารย์ เป็นการยืนยันถึงเกียรติภูมิจุฬาฯในการรับใช้สังคม

“ไตรมงคล” ที่ได้กล่าวถึงนี้จึงเป็น “วัตถุมงคล” ที่เป็น อิทธิปัจจัย หรือ ปัจจัยที่จะนามาสู่ความสาเร็จของ วคบท. ในการสืบสานภารกิจการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพของสังคมไทย

หัวข้อการบรรยายในวันนี้ ได้ระบุถึงบทบาทของผู้สาเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ “ต่อสังคม” คำว่า “ต่อสังคม” ที่ต่อท้ายมีความหมายอย่างมาก  ทุกวันนี้ องค์กรทั้งหลายต่างแสดงตนที่จะมีบทบาทต่อสังคม เช่น ภาคธุรกิจก็ประกาศว่าจะมี “ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporated Social Responsibility (CSR)”  ภาควิชาการ ในส่วนของมหาวิทยาลัย ประกาศว่าจะดำเนินการ “พันธกิจเพื่อสังคม หรือ University Social Engagement (USE)” จึงถือได้ว่าความพยายามในการทำงานเพื่อสังคม เป็นกระแสที่ฝ่ายต่างๆให้ความสำคัญ ทั้งนี้หากกล่าวถึงบทบาทต่อขอบเขตปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ทุกด้านแล้ว ในกำหนดเวลาที่มีอยู่ในวันนี้ คงไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด

แม้แต่ที่กำลังจะพูดถึงบทบาทของเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค ต่อ “เภสัชสิทธิ” และ “เภสัชภัย” เพียงบทบาทต่อสองภารกิจสาคัญดังกล่าวนี้ ก็ยากที่จะครอบคลุมภายในเวลาได้อย่างครบถ้วน

“อาจารย์ ดร.ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์” ก็ดี “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงษ์” ก็ดี เป็นตัวอย่างของบุคคลสาคัญที่ได้อุทิศตน ปกป้องคุ้มครอง “เภสัชสิทธิ” คือ สิทธิในการเข้าถึงยาของกลุ่มบุคคลที่เสียเปรียบ ขาดโอกาส จากความเหลื่อมล้าในสังคม แน่นอนว่า ไม่เพียง เภสัชกร และ แพทย์ สองท่านนี้เท่านั้น แม้แต่บุคคลธรรมดาอย่าง “คุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาญจบุรี เจ้าของรถเมล์บุญผ่อง ซึ่งอดีต ท่านเคยเป็นเจ้าของร้านบุญผ่องแอนบราเดอร์ ที่กาญจนบุรี ที่ได้เสี่ยงชีวิต โดยไม่กลัวภัยที่จะนาไปสู่ความตาย เพราะความมีมนุษยธรรมในหัวใจ ทำให้เชลยศึกสัมพันธมิตร ที่เป็นแรงงานสร้างสะพานมรณะข้ามแม่น้าแควได้รับยารักษาโรคต่างๆ จนรอดชีวิตและต่อมายังได้กลับมาตอบแทนบุญคุณของคุณบุญผ่อง จนบัดนี้ยังมีทุนให้นักเรียนแพทย์ไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย บุคคลเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่เห็นแก่ชีวิตของเพื่อนมนุษย์มากกว่าชีวิตของตนเอง ไม่กลัวความตาย ในห้องประชุมอันทรงเกียรตินี้ ผมคงไม่อาจที่จะไม่กล่าวถึงท่านอาจารย์มงคล ณ สงขลา คุณหมอชนบทขี่ม้าแกลบ ผู้นำการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุการประกาศบังคับในสิทธิ (Compulsory Licensing หรือ CL) ทำให้ประชาชนไทยเข้าถึงยา ได้รับ “เภสัชสิทธิ” ตามภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องปกป้องสิทธิในการเข้าถึงยาที่จาเป็นที่จะยังชีวิตของประชาชน

ผมมีความเห็นว่า บทบาทในการพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง เภสัชสิทธิ ของประชาชน เป็น ภารกิจหน้าที่ของเภสัชกรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง

กล่าวสำหรับ “เภสัชภัย” เป็นภัยเชิงประจักษ์ จากมนุษย์เห็นแก่ตัว ที่ได้สร้างขึ้น และ ปัจจุบันมีพัฒนาการที่หลากหลายกว้างขวาง ทันสมัยมากขึ้นเป็นลำดับ

จาก ยุค 1.0 ที่ เภสัชภัย ปรากฎ เป็นยาชุด ยาซอง ยาฟินิลบิวตาโซน ยาไดพัยโรน ยาเตตร้า ยาคลอแรม กระจายตามหมู่บ้าน ส่งเสริมการขายด้วยการฉายหนังขายยา

มาเป็นยุค 2.0 ที่เริ่มกระจายขายทั่วไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในร้านชา เริ่มมีรถมาส่งยา และมีรถเร่มาขายยาในหมู่บ้าน พัฒนารูปแบบยาผสมเสตียรอยด์แก้ปวด

ในยุค 3.0 ที่อาศัยสื่อ On air ทั้งวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ส่งเสริมการขายยา ยาแก้ปวด สมุนไพร อาหารเสริมและสารพัดยา On air กันอย่างกว้างขวาง

ปัจจุบัน ถึงยุค 4.0 ที่ “เภสัชภัย” กระจายอย่างเข้มข้น ในรูปแบบ On line ทั้งการพัฒนาในรูปแบบยาผิดกฎหมายนานาชนิด เช่น การนายาเสตียรอยด์ใส่ใน อาหารเสริม ยาสมุนไพร เพื่อแก้ปวด เอายา Sibutramine ใส่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อลดความอ้วน เอายา Sildenafil ใส่ผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อกระตุ้นทางเพศ ไม่นับรวม อาหาร น้ำผลไม้ ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง ชนิดต่างๆ ที่มีโทษแอบแฝง ขายตรง และอาศัยการโฆษณา On line และ On air ปลุกระดม หลอกลวงในรูปแบบต่างๆ

มีข้อสังเกตว่า การเสียชีวิต การป่วย และ การพิการ จากสาเหตุของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังเป็น Unseen hazard หรือ ภัยบดบัง ภัยที่มองไม่เห็น มีอุบัติการณ์ที่ออกตามสื่อเกี่ยวกับการเสียชีวิตเป็นครั้งคราว มีข่าวสารจับกุมทยอยออกมา จากผลปฏิบัติการของกลุ่มเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค แต่ปัญหาเภสัชภัยที่เผชิญอยู่อาจยังไม่ถูกกำจัดและป้องกันได้ตามคาดหวังทั้งหมด จนเกิดความกังวลว่าอาจจะกลายไปเป็นความผิดปกติแบบใหม่ หรือ New normal ที่ สังคมต้องพบเจอบ่อยๆ จนเคยชินและรู้สึกว่าเป็นธรรมดา และแก้ปัญหาไม่ได้

ภายใต้ความกังวลเหล่านี้ อาจสังเกตได้ว่ามีปรากฏการณ์ที่บ่งชึ้ถึงความก้าวหน้าในการต่อสู้กับปัญหาหลายประการ ได้แก่

(1) ความยอมรับ จะเห็นได้ว่ามีการยอมรับบทบาทด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในวิชาชีพเภสัชกรรมเพิ่มมากขึ้น คำว่า “การคุ้มครองผู้บริโภค” ปรากฏในนิยามวิชาชีพเภสัชกรรม ตามที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม ในปัจจุบัน พัฒนาการของ วคบท. ในขณะนี้ ได้เติบโต สมบูรณ์ ตามข้อบังคับ ของ วคบท. ที่ได้กำหนดไว้ กล่าวคือ มี กรรมการอำนวยการ กรรมการบริหาร สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาชิก วคบท. ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรม ได้เห็นชอบ ประกาศเงื่อนไขและข้อจากัดในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสาขาต่างๆ รวมทั้งสาขาการคุ้มครองผู้บริโภค วคบท. มีจำนวนสมาชิก และ ผู้ที่ได้รับหนังสืออนุมัติ ในจำนวนเพิ่มมากขึ้น และคงจะถึงหนึ่งร้อยคนในปีต่อไป

ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ วคบท. ในปีนี้ ได้มีข้อเสนอให้พิจารณาว่า จำนวนสมาชิกที่ได้รับหนังสืออนุมัติแต่ละปีประมาณ 20 คน จะสามารถเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นได้หรือไม่ เพื่อรองรับปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคที่ขยายตัว เช่น การลดเงื่อนไขของผู้สมัครที่ต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปี โดยให้ลดเวลาลง เพื่อจะได้มีผู้สมัครเข้าเรียนที่มีอายุน้อย และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

(2) ภาวะคุกคาม มีความพยายามในการฟ้องร้องผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ ตลอดจนมีการคุกคามข่มขู่ผู้ปฏิบัติงานในลักษณะต่างๆ เพื่อให้เกิดความหวั่นไหวในการทางาน ถือเป็นความท้าทายของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย หากมีการปฏิบัติที่รอบคอบ ถูกต้อง แล้วจะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความสาเร็จ ขอชมเชยและให้กำลังใจแก่เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคที่ตั้งใจปฏิบัติงานในภาวะคุกคาม ซึ่ง เชื่อมั่นได้ว่า วคบท. จะเป็นองค์กรที่หนุนเสริมความถูกต้องทางวิชาการในการสนับสนุนส่งเสริมการปฏิบัติงานของเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่

(3) การขยายภารกิจ เพื่อให้ การกำจัด และป้องกัน “เภสัชภัย” กว้างขวางขึ้น เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคได้มีบทบาทภารกิจการทางานที่กว้างขวางในภัยต่างๆจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่เพียง

ปัญหาหรือภัยจากยาเท่านั้น แต่ขอบเขตยังกว้างขวางไปสู่ กลุ่มผู้บริโภคอาหาร เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน เด็กเล็ก หรือ แม้แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาหารปนเปื้อนจากสารพิษ เช่น กรณีน้ำมันทอดซ้า อาหารที่ได้จากวัตถุดิบที่ปนเปื้อนสารเคมีที่มีพิษทางการเกษตร สารพิษแร่ใยหินในวัสดุก่อสร้างที่มีผลต่อผู้ใช้แรงงาน สารบีพีเอที่อยู่ในขวดนม เครื่องสำอางอันตราย วัตถุมีพิษที่ขาดการควบคุมที่เหมาะสม ตลอดจนถึงการดำเนินการแก้ปัญหาการโฆษณาทั้งจาก ทีวี วิทยุ ที่เรียกว่า ออนแอร์ และทางอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่าออนไลน์ และการขายตรง เป็นต้น

ปัญหาที่รุนแรงและการขยายตัวที่มีมากขึ้น อาจมีเกินกว่าปรากฏการก้าวหน้าที่ได้กล่าวถึง ได้แก่ การยอมรับบทบาทเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค ความพยายามที่แข็งขันในการต่อสู้กับภาวะคุกคาม และ การขยายบทบาทภารกิจที่กว้างขวางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาความเชี่ยวชาญของเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค ในการสร้างองค์ความรู้สำคัญที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติงานที่นำไปสู่ความสาเร็จ ทำให้บทบาทและความสำคัญของผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพมีผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เพิ่มมากยิ่งขึ้น

การที่จะทำให้ องค์ความรู้ด้านวิชาชีพ ของ วคบท. ในห้าวิชา หรือ “ปัญจวิทยา” ประกอบด้วย ระบาดวิทยา ความเสี่ยงวิทยา ชุมชนวิทยา นโยบายวิทยา และนิติวิทยา มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกทั้งมวลที่จะสร้างปัญญารวมหมู่ หรือ ปัญญากลุ่ม (Collective wisdom) ประสานกับการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ (Learning through action) เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมา สร้างเป็นหลักปฏิบัติที่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ทำให้เกิดความยั่งยืนทางวิชาการต่อไป

ในฐานะสมาชิก วคบท.ท่านหนึ่ง ขอถือโอกาสนี้ ให้กำลังใจพวกเราที่เป็นสมาชิกด้วยกัน รวมทั้ง ถือโอกาสขอพร จากผู้อาวุโส ท่านสมาชิกกิตติมศักดิ์ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีเกียรติ ที่เป็นกัลยาณมิตร ณ ที่นี้ อำนวยพรให้พวกเราสามารถนา “ปัญจวิทยา” ให้เป็น “ปัญจพล” ที่ เป็นพลังต่อสู้กับปัญหา นาพาไปสู่ “อิทธิ-พละ” หรือ อิทธิพล ที่จะเป็น พลังที่จะนาสู่ความสาเร็จ เอาชนะ บรรดา “อิทธิ-พาล” ทั้งหลายที่เอาเปรียบ ก่อ “เภสัชภัย” และแสวงประโยชน์จากชีวิตของเพื่อนมนุษย์

ท้ายสุดนี้ ขอให้ สมาชิก วคบท. ทุกท่าน ร่วมกันขับเคลื่อน ให้ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทยก้าวสู่องค์กรที่รับใช้สังคมรับใช้ประชาชนอย่างเต็มภาคภูมิโดยแท้จริง

เภสัชกรที่ได้รับหนังสืออนุมัติผู้ความรู้ความชำนาญฯ สมาชิกกิตติมศักดิ์ คณาจารย์ และ กรรมการอำนวยการ

ดาว์นโหลดเอกสาร

ปฐกถา บทบาทควาสำคัญของผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพต่อสังคมไทย

 

 

ผู้จัดการ คคส.รับรางวัล “อาจารย์แบบอย่างของสภาคณาจารย์ สาขารับใช้สังคม”

ผศ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ
ผู้จัดการแผนงานฯ

ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ เข้ารับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ “อาจารย์แบบอย่างของสภาคณาจารย์ สาขารับใช้สังคม” ประจำปี 2560 ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ที่อุทิศตนเพื่อส่วนร่วมเป็นแบบอย่างทางด้านการสอนให้กับนิสิตทั้งในด้านจริยธรรมและคุณธรรม ในวันที่ 16 มกราคม 2561 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

 

ภาพถ่ายโดย รศ.ดร.ธงชัย สุขเศวต