โฆษณาอาหารขยะทั้งหลายจงหายไปจากลอนดอน

จากคำพูดของเชฟคนดัง เจมี โอลิเวอร์ ที่กล่าวไว้ว่า ตอนนี้ลอนดอนมีเด็กอ้วนและน้ำหนักเกินมาตรฐานมากที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ทั่วโลก และใช่ ข้อเท็จจริงคือ ลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองที่มีเด็กเป็นโรคอ้วนและน้ำหนักเกินมาตรฐานที่สุดในยุโรป โดยเด็กในช่วงอายุ 10-11 ปีจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ในข่ายโรคอ้วน

เพื่อสู้รบปรบมือกับความอ้วน นายกเทศมนตรีลอนดอน ซาดิก ข่าน (Sadiq Khan) บอกว่าต้องการตอบโต้สิ่งที่เหมือนเป็น ‘ระเบิดเวลาโรคอ้วน’ ของเด็กๆ นั่นหมายถึงอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง (High Fat Sugar Salt: HFSS) ด้วยกลยุทธ์ใหม่ ‘โครงการแบนโฆษณาอาหารขยะ’ แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์อาหารของนายกเทศมนตรีลอนดอน ซึ่งเขาบอกว่ามันจะ “ช่วยลดอิทธิพลและพลัง (การโฆษณา) ที่จะผลักให้เด็กๆ และครอบครัวเลือกสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ”

ถ้าโครงการนี้ผ่านฉลุย บรรดาโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายจะถูกนับเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และถูกแบนจากโฆษณาในระบบขนส่งทั้งหมดในลอนดอน (Transport for London: TfL) ทั้งรถไฟใต้ดิน/บนดิน รถบัส กระทั่งป้ายรถประจำทาง

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเสนอให้แบนโฆษณาอาหารขยะจากอุโมงค์รถใต้ดินและรถบัสทั้งหมด”

โฆษกของสำนักนายกเทศมนตรีบอกว่าถ้าการแบนเริ่มต้น “ทุกคนจะได้รับผลของการแบนเท่าๆ กัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเครือฟาสต์ฟู้ดใหญ่ที่สุดหรือแบรนด์เล็กๆ ก็ตาม” โดยผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจประเมินด้านโภชนาการตามขั้นตอนของ Food Standards Agency

ข่านยังบอกอีกว่า “ผมตั้งใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ด้วยอำนาจทั้งหมดที่มีและช่วยชาวลอนดอนให้ได้เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพของพวกเขาและครอบครัว”

อย่างไรก็ตาม โฆษกสมาคมการโฆษณา บอกว่าอังกฤษแบนการโฆษณาอาหารที่เข้าข่าย HFSS ในสื่อต่างๆ ที่เด็กอายุต่ำ 16 ปีจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงมีคำแนะนำว่า ภายในรัศมี 100 เมตรจากโรงเรียน ไม่ควรจะมีโฆษณาอาหารขยะอยู่แล้ว เขาจึงบอกว่า “จากประสบการณ์ของนานาชาติและงานวิจัยอิสระยืนยันว่าการแบนโฆษณาส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนน้อยมาก”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.co.uk

อิน-จัน แฝดสยามคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ตามประกาศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) เรื่อง การตรวจพิสูจน์อาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่พบว่าใส่สารที่ปัจจุบันได้ถูกเพิกถอนทะเบียนไปจากประเทศไทย คือ ไซบูทรามีน โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายเจือปนอยู่ด้วย พร้อมทั้ง ระบุว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีกำลังดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด นั้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรแก่การชื่นชม

หน่วยงานที่พิสูจน์การเจือปน หรือ การใส่สารอันตรายของผู้ประกอบการ คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วย

ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการดำเนินคดี ในขั้นของการกล่าวหา ต้นเรื่องจะไปจาก เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นกำลังสำคัญ ที่เชื่อมโยงงานกับ อย ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ

หาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง ศูนย์วิทย์ ฯ ทั่วประเทศ สำนักงานอาหารและยา (อย) และ เภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นเสาหลัก คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะทำให้ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ลดน้อยถอยลงไปอย่างเห็นผล

กรณี ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เสริมอาหารผสมยาแผนปัจจุบัน ไซบรูทามีน และมีผู้เสียขีวิต จากการกินอาหารเสริมชนิดนั้น ก็ไม่ต่างกับการทำร้ายร่างกายและชีวิตของผู้บริโภค เพราะผู้ขาย ย่อมต้องทราบดีว่า
สารดังกล่าวเป็นอันตราย เนื่องจากต้องลักลอบซื้อสารดังกล่าวซึ่งการซื้อขายเป็นการละเมิดกฎหมาย มีโทษอาญา ทั้งปรับและจำคุก

หากกล่าวว่าไม่รู้และสามารถสืบย้อนไปจนต้นทางได้ ก็จะพบ ผู้ขายสารดังกล่าวที่เป็นต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่ง ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นทางการขายอาหารเสริมลดความอ้วนที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เครื่องมือที่จะทำให้ การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ อันหนึ่งก็คือ การประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทย์ หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั่วประเทศที่หากทำได้รวดเร็ว จะสามารถทำให้ อย นำมาประกาศดำเนินการต่อ โดยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งหมดที่กล่าวถึง

ในหน้าต่างเตือนภัย ซึ่งเป็น เว็บไซต์ของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากได้เข้าไปดู จะพบ อาหารเสริม จำนวนมากที่ผสมไซบรูทามีน มีรูป ยี่ห้อ และ รายละเอียดของผลิตภัณฑ์อยู่ทั้งหมด

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะเป็น “แฝดสยาม ประดุจ อิน-จัน ” ทำหน้าที่เขิงรุก นำข้อมูลจากหน้าต่างเตือนภัยดังกล่าวมาจัดการดำเนินการเข่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดย อย เร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการ ประกาศแจ้งเตือนภัย และ ดำเนินคดี เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดผลโดยเร็ว ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารไซบรูทามีนทั้งหมด จะต้องถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับ ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึง

หากทำได้ โดยเริ่มจาก ไซบรูทามีน ที่เอามาใช้ลดความอ้วนโดยผู้ประกอบการไม่คำนึงถึงอันตรายต่อชีวิตของผู้บริโภค ก็จะสามารถดำเนินการได้กับ อาหารเสริมที่อ้างว่าปลุกนกเขาให้ขัน ทีมีการผสมยาอันตราย สมุนไพรแก้ปวดผสมเสตียรอยด์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ ผสมสารอันตราย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ

ถือได้ว่า ทั้ง อย และ กรมวิทย์ฯ เป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐที่ร่วมมือกันทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ โดยมี เภสัชกรสาธารณสุขจังหวัด หรือ เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคเป็น หน้าด่านปราการสำคัญ ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และ บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิด อย่างเต็มกำลัง

วิทยา กุลสมบูรณ์
มูลนิธิเภสัชชนบท
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑

การตั้งข้อหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง เพื่อให้การลงโทษมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ (No Deterrent Effect)

การโฆษณาอาหารเสริม เครื่องสำอาง ที่โอ้อวดเกินจริง อย่างกว้างขวาง จนทำให้เกิดภัยต่อประชาชนทั้งอันตรายต่อสุขภาพและการหลอกลวง ส่วนหนึ่งมาจากการพิจารณาตั้งข้อหากล่าวโทษที่ไม่สมกับการก่อเหตุ

การจงใจโฆษณาที่ปรากฎอยู่ ไม่ใช่ประมาทเลินเล่อ แต่เป็นการจงใจกระทำความผิด เพื่อผลประโยชน์การ
กล่าวหาเพียงการไม่มาขออนุญาตจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

การตั้งข้อหาการโฆษณา โอ้อวดเกินจริง ในทางกฎหมาย ตาม พรบ อาหาร ๒๕๒๒ จำเป็นต้อง ใช้ฐานคดี ตามมาตรา ๔๐ ที่ห้ามการโฆษณา เป็นเท็จ หลอกลวง

ปัจจุบัน ผู้บังคับใช้กฎหมาย มักเลือก ที่จะใช้ มาตรา ๔๑ ซึ่งระบุเพียง การไม่ขออนุญาตโฆษณา บทลงโทษ ของ มาตรา ๔๑ (ตามมาตรา ๗๑) มีเพียงการปรับ ไม่เกิน ห้าพันบาท ซึ่งน้อยมาก จึง ไม่มี ) ผลต่อพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ (No Deterrent Effect)

 

แต่หาก การลงโทษ มาใช้ มาตรา ๔๐ บทลงโทษ ซึ่งอยู่ในมาตรา ๗๐ จะเป็น โทษจำคุก สามปี และ ปรับสามหมื่นบาท ดังนั้น เมื่อมีหลักฐานว่า โฆษณาโอ้อวดเกินจริงที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องดำเนินการ ตามมาตรา ๔๐ ที่ห้ามการโฆษณา เป็นเท็จ หลอกลวง ซึ่งบทลงโทษสมแก่เหตุมากกว่า

อย่างไรก็ตาม กรอบการพิจารณา การโอ้อวด เกินจริง จำเป็นต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เช่น โฆษณาว่ากินแล้วอกฟู รูฟิต ทำได้หรือไม่ เป็นต้น

การกำหนดกรอบต้องลดทอนการใข้ดุลยพินิจให้มากที่สุด ทำให้ประชาชน ผู้บริโภครับทราบ เพื่อเป็นกลไกกำกับตรวจสอบร่วมกับรัฐ และ ให้ผู้ประกอบการยอมรับเป็นบรรทัดฐาน ทั้งนี้ ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อความที่แสดงการโอ้อวด เกินจริง ให้เป็นปัจจุบัน และนำมาประกาศเป็นเกณฑ์พิจารณา

วิทยา กุลสมบูรณ์
มูลนิธิเภสัชชนบท
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ขอบคุณข่าวและภาพ จาก กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา

4 สารต้องห้ามในเครื่องสำอาง

ภาพประกอบ: antizeptic


เครื่องสำอางปลอมปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง สารเคมีที่นำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเครื่องสำอางเป็นสารต้องห้ามในหลายประเทศ แต่ก็ยังมีเครื่องสำอางจำนวนไม่น้อยที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุม สำหรับประเทศไทย อาจไม่มี อย. หรือใช้ อย. ปลอม นั่นเท่ากับว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นไม่มีใครรับรองความปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้นั่นเอง

และถ้าไม่อยากให้ความขาว ไร้สิว ไร้ริ้วรอย แทนที่ด้วยรอยด่างไหม้ ห้ามใส่สารเหล่านี้ลงในเครื่องสำอาง!

ปรอท (Mercury)
ผิวขาว ไร้สิว ไร้ริ้วรอย

ความเข้มข้นของสารเคมีที่ทำให้หน้าขาวทันใจ ต้องมีส่วนประกอบของสารปรอทไม่เกิน 1 ในล้านส่วน (1 ppm) แต่ความเข้มข้นระดับนี้จะไม่มีผลทำให้สีผิวจางลง เครื่องสำอางบางชนิดจึงพยายามใช้สารปรอทในปริมาณมากกว่าที่กำหนด

กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เพราะมีผลต่อการทำงานของตับ ไต เกิดโรคโลหิตจาง เฉพาะผิวหน้าที่ได้รับปรอทมากๆ จะทำให้ผิวหนังอ่อนแอ แพ้ง่าย ไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลต

อ้างอิงข้อมูลจาก: mahidol.ac.th

ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
ใช้กำจัดสิว ฝ้า รอยกระให้ขาวขึ้น

ไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาอันตรายที่มีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ ถูกเพิกถอนจากการใช้เป็น ‘ยา’ ในบางประเทศแถบยุโรป แต่ประเทศไทยยังพบไฮโดรควิโนนในรูปแบบครีมและเจล ใช้สำหรับลดริ้วรอย ฝ้า และขี้แมลงวัน

อย่างไรก็ตาม ไฮโดรควิโนนยังถูกใช้เป็นยาเพื่อรักษาผิวหน้าจริง แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

อ้างอิงข้อมูลจาก: haamor.com


สเตียรอยด์ (Steroid)

ทำให้หน้าขาวใส

ปกติแล้วสเตียรอยด์ถูกผลิตออกมาเองตามธรรมชาติจากต่อมหมวกไต ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญในร่างกายอีกหลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน วงการแพทย์นำสเตียรอยด์มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย และกลุ่มยาเสริมความงาม เป็นทั้งยาฉีด กิน หรือยาทาภายนอก

แม้สเตียรอยด์จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ออกฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรง เฉพาะผลข้างเคียงในเครื่องสำอาง ทำให้ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวหน้าบาง ทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ชั้นผิวหนังแท้ได้ง่ายขึ้น เห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก: pobpad.com


กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)

รักษาสิว รอยด่างดำบนผิวหนัง ช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่

กรดเรติโนอิก (All-Trans-Retinoic acid) ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดเอ็ม 3 (Acute promyelocytic leukemia) และมีการนำมาผลิตในรูปแบบยาใช้ภายนอกทารักษาสิว ช่วยให้ผิวหนังผลัดเซลล์ใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก: haamor.com/th


ที่มา https://waymagazine.org/4_forbidden_chemical/

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ผลิตภัณฑ์กระชับช่องคลอด อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ใช้แล้วอาจก่อให้เกิดมะเร็ง

ภาพจาก http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/342


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริงว่าใช้ทากระชับช่องคลอด เพราะนอกจากจะไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง ยังอาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีบาดแผลที่ปากมดลูก ทำให้มีโอกาสที่เซลล์จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งในอนาคต

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กระชับช่องคลอดหรือยากวาด ช่องคลอด ซึ่งจำหน่ายกันมากในสื่อออนไลน์ มักจะมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น  ทำให้ฟิต หรือกระชับ จำหน่ายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือยาแผนโบราณ อาจแจ้งส่วนประกอบเป็นสมุนไพรซึ่งเป็นเท็จ เพื่อให้เข้าใจว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งรูปแบบที่พบได้แก่ ชนิดผง เม็ด ใช้เหน็บหรือกวาดช่องคลอด เจลและครีม ใช้ทาบริเวณช่องคลอด

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยากวาดช่องคลอดมาตรวจ  มีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาล แจ้งส่วนประกอบสำคัญคือ ว่านชักมดลูก ขมิ้นอ้อย ต้นธูปดำ รางจืด เปลือกทับทิม และตัวยาอื่นๆ โดยมีขายทางอินเตอร์เน็ต ผลการตรวจวิเคราะห์พบสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 3 ชนิด ได้แก่ โยฮิมบี (Yohimbine) , วินคามีน (Vincamine) และ อะรีโคลีน (Arecoline) แต่ไม่พบสารสำคัญตามที่แจ้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังพบว่าตัวอย่างที่ได้รับมีความเป็นกรดสูงมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง

สำหรับ โยฮิมบี (Yohimbine) เป็นสารสกัดจากเปลือกไม้โยฮิมบี เป็นพืชพื้นเมืองที่มีถิ่นฐานในประเทศไนจีเรีย และแคมเมอรูน กล่าวอ้างว่าใช้เพื่อเพิ่มอารมณ์ทางเพศ จัดอยู่ในผลิตภัณฑ์อันตราย องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาและในสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรจุโยฮิมบีอยู่ในบัญชีรายชื่อส่วนประกอบที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากไม่สามารถลงความเห็น ได้ว่า โยฮิมบี มีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร รวมถึงมีอาการ อันไม่พึงประสงค์ เช่น เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย ความดันโลหิตสูง หากได้รับในปริมาณมากและระยะเวลานาน อาจทำให้หัวใจวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้ วินคามีน (Vincamine) เป็นสารอัลคาลอยด์จากพืช ชื่อ Vinca minor L มีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว อาจเพิ่มความรู้สึกทางเพศเมื่อใช้ทาภายนอกในเพศหญิง มีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตต่ำ และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับและโรคหัวใจ อะรีโคลีน (Arecoline) เป็น   สารอัลคาลอยด์จากต้นหมาก สามารถกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ร่างกายตื่นตัว มีโครงสร้างคล้ายกับสารนิโครตินถ้าใช้ในปริมาณสูงมากๆ จะขับประจำเดือนและอาจทำให้แท้งบุตรได้ ผลข้างเคียง คือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ตาพร่า เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

“อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของช่องคลอดนั้น มีความยืดหยุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว ปัญหาการไม่ฟิต ไม่กระชับในผู้หญิง ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แม่หลังคลอด หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้ เมื่อไอ จาม มดลูกหย่อนเมื่อเข้าวัยชรา สามารถบริหารกล้ามเนื้อบริเวณนั้นให้ฟิตกระชับได้ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้บริเวณช่องคลอด เพราะไม่ได้สรรพคุณ ตามที่กล่าวอ้างจริง อาจทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคือง เกิดเป็นแผลพุพอง แสบคัน และอาจเกิดแผลที่ปากมดลูก ซึ่งมีโอกาสที่เซลล์จะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต” นายแพทย์สุขุม กล่าว

ข่าวต้นฉบับ http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/342

‘อยู่’ หรือ ‘หย่า’ ถ้าผ่าตัดลดน้ำหนัก

ขณะที่ตัวเลขบนตาชั่งลดลงไป การผ่าตัดลดน้ำหนักอาจทำให้คนข้างกายของคุณตัดสินใจอยู่หรือไปได้ด้วย

นักวิจัยจากสวีเดนพบว่า ภายใต้เงื่อนไขของการแต่งงานหรือมีคู่รัก การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน (bariatric surgery) อาจทำให้เกิดการแยกทางหรือหย่าร้างได้มาก ในทางกลับกัน ถ้ายังเป็นคนโสด การผ่าตัดจะเปิดโอกาสให้ได้เริ่มความสัมพันธ์ใหม่หรือแต่งงานได้

ทั้งนี้ การผ่าตัดโรคอ้วนคือทางเลือกสุดท้ายของการลดน้ำหนัก เมื่อสุขภาพอยู่ในภาวะเสี่ยงเกินกว่าจะอดอาหารและออกกำลังกาย การผ่าตัดนี้มีเป้าหมายหลักคือ ‘ลดการกินอาหาร’ โดยแต่ละคนจะใช้เวลาฟื้นฟูหลังผ่าตัดต่างกันไป อาจนานหลายเดือนกว่าจะกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหลังการผ่าตัด

เพอร์-อาร์เน สเวนส์สัน (Per-Arne Svensson) นักวิจัยจากสถาบันซาห์ลเกรนสกา (Sahlgrenska Academy) มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก (University of Gothenburg) ประเทศสวีเดน กล่าวว่า ทีมของเขาได้ดูข้อมูลจากกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาสองกลุ่มใหญ่ที่เลือกและไม่เลือกการผ่าตัด โดยมีผู้หญิงเข้าร่วม 70-75 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งการศึกษาออกเป็นสองครั้ง

ครั้งแรก ทีมวิจัยได้เฝ้าดูและเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้าผ่าตัด 1,958 คน และผู้ป่วยที่ไม่เข้าผ่าตัด 1,912 คน เป็นเวลาสี่ปีและพบว่า คนโสดที่เข้าผ่าตัด ได้แต่งงานหรือเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ เกือบ 21 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับคนโสดที่ไม่ผ่าตัด 11 เปอร์เซ็นต์ หกปีต่อมา คนที่ผ่าตัดมีอัตราการแต่งงานหรือการเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่เกือบ 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ผ่าตัดมี 19 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน เมื่อสี่ปีผ่านไป คนที่แต่งงานแล้วและเข้าผ่าตัดมีอัตราหย่าร้างหรือแยกทาง 9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ควบคุมน้ำหนักเองโดยไม่ผ่าตัด มี 6 เปอร์เซ็นต์ หกปีต่อมา คนที่ผ่าตัดมีอัตราการหย่าร้างหรือแยกทางราว 17 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกกลุ่มมี 12 เปอร์เซ็นต์

การศึกษาครั้งที่สอง เปรียบเทียบผู้ป่วยที่เข้าผ่าตัด 29,234 คน พบว่ากลุ่มคนโสดที่เข้าผ่าตัด มีโอกาสแต่งงาน 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่แต่งงานแล้วและเข้าผ่าตัดมีโอกาสหย่าร้าง 41 เปอร์เซ็นต์

“ภายในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัด การเปลี่ยนแปลงสถานะความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติที่มาพร้อมกับน้ำหนักที่ลดลงอย่างมหาศาล” ทีมผู้เขียนงานวิจัยได้รายงานลงในวารสารด้านการศัลยกรรมจากสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA Surgery)

“ในการทดสอบด้านความสัมพันธ์อีกครั้ง ผู้ป่วยรับรู้ว่าพวกเขาสามารถออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุข และมีโอกาสเลือกที่จะเริ่มความสัมพันธ์ดีๆ ได้ใหม่หรือไม่ก็ได้” ซาเมอร์ มัททาร์ (Samer Mattar) ประธานสมาคมการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนและการแพทย์แห่งอเมริกา (American Society for Metabolic & Bariatric Surgery and Medical: ASMBS) กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดกับการศึกษาครั้งนี้

ในการทดลองเก็บข้อมูลทั้งสองครั้ง ผู้เข้าร่วมอาศัยอยู่ในสวีเดนทุกคน ทำให้ทีมผู้เขียนงานวิจัยระบุว่า “ไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้จะสามารถสรุปในประเทศและวัฒนธรรมอื่นๆ ได้หรือไม่” และยังไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า การผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นสาเหตุหลักของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป โดยมีข้อเสนอแนะว่า การผ่าตัดอาจมีส่วนเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ที่ขุ่นมัวอยู่แล้ว หรือเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยทิ้งความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นได้ง่ายขึ้น

นักวิจัยยังได้บันทึกว่า โดยภาพรวมหลังจากการผ่าตัดแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยและคู่ของตนยังมีความสัมพันธ์เหมือนเดิมหรือดีขึ้น แต่ก็มีบางขณะที่คู่ของพวกเขาเกิดรู้สึกอิจฉาหรือรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป

“การผ่าตัดโรคอ้วนได้ทำให้ข้อดีข้อเสียของความสัมพันธ์ขยายตัวและชัดเจนขึ้น” มัททาร์กล่าว “ผู้ป่วยควรรับรู้ว่า การผ่าตัดจะพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพวกเขา รวมถึงความสามารถในการเป็นอิสระและความมั่นใจในการตัดสินใจส่วนบุคคล”

การผ่าตัดแบบนี้เป็นการรักษาโรคอ้วนที่ได้ผลชะงัดทันตาเห็น และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2016 ศัลยแพทย์เฉพาะในอเมริกาได้ทำการผ่าตัดในลักษณะนี้ไปแล้ว 216,000 ครั้ง ทั้งการลดขนาดกระเพาะ (gastric bypass) รัดกระเพาะ (gastric banding) และการผ่าตัดแบบตัดต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก (sleeve gastrostomy)

ขั้นตอนการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะยังมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ทาง ASMBS ได้ชี้แจงว่า การผ่าตัดอาจนำไปสู่การขาดวิตามินและแร่ธาตุในระยะยาว นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้รับการผ่าตัดต้องกินอาหารเสริมไปตลอดชีวิต

เอลเลียต เฟเกลแมน (Elliott Fegelman) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของบริษัทเอธิคอน (Ethicon) บริษัทหนึ่งในเครือของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กล่าวว่า เขาเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างหมอและผู้ป่วยโรคอ้วน เพื่อทำให้ผู้ป่วยรับทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน รวมถึงการตัดสินใจด้วยว่า การผ่าตัดแบบใดที่เหมาะสมกับพวกเขา

“การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนและการควบคุมการเผาผลาญเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการพิจารณาและค้นหาทางเลือกของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยิ่งเห็นผลช้าเท่าไหร่ ประโยชน์จากการผ่าตัดก็อาจได้รับผลกระทบมากขึ้น” เฟเกลแมนกล่าว


อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
medicalnewstoday.com

งานวิจัยเผย ตื่นก่อนอยู่สบาย นอนตื่นสายตายเร็ว

ที่ผ่านมางานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการนอนดึกตื่นสายส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและใจ แต่ยังไม่มีงานชิ้นไหนให้หลักฐานชี้ชัดว่าผลเสียที่ว่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วารสารวิชาการทางการแพทย์ Chronobiology International เปิดเผยข้อสรุปจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) และมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ (University of Surrey) ออกมายืนยันว่า มนุษย์จำพวกนอนดึกตื่นสาย (night owl) มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากกว่า เช่น โรคหัวใจ (cardiovascular disease) โรคอ้วน (diabetes) โรคระบบทางเดินหายใจ (respiratory diseases) โรคระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal problems) หรือความเครียดที่ส่งผลกระทบมาสู่ร่างกาย (psychological distress) และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ามนุษย์นอนเร็วตื่นเช้า (morning lark)

โดยทีมวิจัยทำการติดตามและสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษอายุตั้งแต่ 38-73 ปี จำนวน 433,000 คน เป็นระยะเวลาเฉลี่ย 6.5 ปี พบว่า กลุ่มที่นอนดึกตื่นสายมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วกว่ากลุ่มที่นอนเร็วตื่นเช้าถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าทั้งสองกลุ่มจะมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น อายุ น้ำหนัก สูบบุหรี่หรือไม่สูบ ดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ แม้แต่สถานะทางสังคม – อัตราความเสี่ยงของกลุ่มนอนดึกตื่นสายก็ยังสูงกว่ากลุ่มนอนเร็วตื่นเช้าอยู่ดี

ทุกคนต่างมีนาฬิกาชีวิตเป็นของตัวเอง

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่า นาฬิกาชีวิต (body clock) ช่วยควบคุมพฤติกรรมและการทำงานภายในร่างกายแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระดับฮอร์โมน ระดับอุณหภูมิหรือการเผาผลาญอาหารในแต่ละวัน รวมถึงการนอน

แต่มนุษย์เราต่างมีเวลานอนและเวลาตื่นที่ไม่ตรงกัน

บางคนนาฬิกาชีวิตก็ทำงานสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก – นอนเร็ว ตื่นเช้า

บางคนนาฬิกาชีวิตก็ทำงานไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก – นอนดึก ตื่นสาย

เมื่อร่างกายเราทำงานไม่ประสานสอดคล้องกับอิทธิพลจากปัจจัยธรรมชาติต่างๆ เช่น แสงสว่าง ความมืด ระดับเสียง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและอาหารการกิน ผลกระทบที่ตามมาจึงออกมาในรูปแบบความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต

“มนุษย์นอนดึก-ตื่นสายพยายามฝ่าฟันใช้ชีวิตอยู่บนโลกของมนุษย์นอนเร็ว ตื่นเช้า งานที่เรียกร้องให้พวกเขาต้องตื่นเช้า แต่พวกเขาต้องการที่จะกิน จะนอนช้ากว่าคนอื่น ความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวจึงนำมาสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา” คริสเตน นุตสัน (Kristen Knutson) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นและผู้วิจัยร่วม อธิบาย

ทำไมมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายถึงมีปัญหาทางสุขภาพมากกว่า?

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยกล่าวว่าพวกเขายังคงหาข้อสรุปชี้ชัดไม่ได้ว่าเพราะอะไรมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายถึงมีปัญหาสุขภาพที่มากกว่ากลุ่มตรงข้าม ซึ่งนุตสันตั้งข้อสังเกตว่า

“อาจเป็นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายที่ทำให้พวกเขามีนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาว พฤติกรรมที่ว่าอาจเป็นความเครียด การกินผิดเวลา ออกกำลังกายไม่เพียงพอ การตื่นขึ้นมากลางดึก การใช้สารเสพติด ติดแอลกฮอลล์ ซึ่งพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อร่างกายต่างๆ เหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับกลุ่มที่นอนดึกตื่นสาย”

เปลี่ยนได้ไหม?

แล้วหากมนุษย์นอนดึกตื่นสายอยากปรับพฤติกรรมเป็นนอนเร็วตื่นเช้าล่ะทำได้ไหม นุตสันตอบว่า “อีกครึ่งหนึ่งอาจควบคุมไม่ได้ อีกครึ่งหนึ่งคุณอาจควบคุมได้” พร้อมเสนอว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางตรงข้ามควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ความพยายามจะนอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงในทันทีอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะท้ายสุดแล้วคุณจะยอมแพ้ไปเอง ถ้าอยากนอนให้เร็วขึ้น วิธีการคือคงเวลานอนไว้ให้เหมือนเดิมแต่พยายามอย่านอนดึกไปมากกว่านั้นในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด เพราะจะยิ่งทำให้คุณนอนดึกขึ้นกว่าเดิม รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้งานหน้าจอ (screen time) ไมว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์หรือทีวี ก่อนนอน

มัลคอล์ม ฟอน ชานท์ซ (Malcolm von Schantz) ศาสตราจารย์ด้านวัฏฏะชีวภาพ (chronobiology) จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ หนึ่งในผู้วิจัยให้ข้อแนะนำ

หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวได้ การปรับเวลาการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์นอนดึกตื่นสายนั้นดีขึ้นได้เช่นกัน

แต่ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาคาดหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยทำให้มนุษย์นอนดึก-ตื่นสายตระหนักถึงความอันตรายของพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่พวกเขาทำในตอนกลางคืนว่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังคงมีข้อจำกัดว่าด้วยช่วงอายุที่ห่างกันเกินไปในกลุ่มตัวอย่าง และการที่กลุ่มตัวอย่างสามารถเลือกที่จะตอบแบบสอบถามด้วยตัวเองว่า พวกเขาเป็นมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายหรือมนุษย์นอนเร็ว-ตื่นเช้า

ดังนั้น การศึกษาชิ้นถัดไปของทีมวิจัยในอนาคตจึงจะเป็นการศึกษาว่ามนุษย์นอนดึก-ตื่นสายเมื่อปรับพฤติกรรมเป็นนอนเร็วตื่นเช้าได้สำเร็จ พวกเขาจะยังคงมีความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพอยู่หรือไม่

“เรา ทีมวิจัยจำเป็นที่จะต้องหากลยุทธ์ที่ดีและช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อสุขภาพ และทำให้ (มนุษย์นอนดึก-ตื่นสาย) เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพเป็นอันดับแรก” ฟอน ชานท์ซ กล่าว

คุณเป็นมนุษย์นอนดึก-ตื่นสาย หรือมนุษย์นอนเร็ว-ตื่นเช้า? เช็คได้ที่: cet-surveys.com

ที่มา:
theconversation.com
forbes.com/

คณะผู้ประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพลงพื้นที่ต่อเนื่อง 4 ภาค 13 องค์กร

คณะผู้ประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพลงพื้นที่เพื่อประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง ต่อเนื่อง 4 ภาค รวม 13 องค์กร ระหว่างวันที่ 1-8 เมษายน 2561 ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 องค์กร ภาคตะวันออก 2 องค์กร ภาคกลาง 2 องค์กร และภาคตะวันตก 5 องค์กร

ทั้งนี้คณะผู้ประเมินได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การนำหลักเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพไปใช้ในการทำงาน และการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งกระบวนการประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรผู้บริโภคที่มารับการประเมิน เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภค และกระบวนการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพต่อไป

ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดหนองบัวลำภู

 

สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น
สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด
และ สมาคมเครือข่ายผู้บริโภคและสร้างเสริมสุขภาวะอำเภอเมืองบุรีรัมย์
สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก
และ สมาคมคนพิการจันทบูร
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดปทุมธานี
และ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดอ่างทอง
สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัสมุทรสงคราม, สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก และ สมาคมปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี
ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี
และ สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

น้ำยาทำความสะอาด ทำร้ายปอดเท่าบุหรี่หนึ่งซอง

ขณะล้างห้องน้ำ ถูพื้น ใช้สเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เรามักได้กลิ่นอะไรบางอย่างที่ชวนแสบจมูกเสมอ ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือสารเคมีที่ฟุ้งกระจายออกมาปะปนในอากาศ และเมื่อหายใจเข้าลึกๆ สารเหล่านี้ก็จะสะสมและค่อยๆ ทำลายปอดทีละเล็กทีละน้อย

เพื่อหาผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ในนอร์เวย์ ติดตามผลของตัวอย่างทดลองซึ่งมีอายุเฉลี่ย 34 ปี ในสถานที่ต่างๆ 22 แห่งทั่วโลกจำนวน 6,235 คน ที่ต้องทำงานกับสเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาดมายาวนานเกิน 20 ปี เช่น แม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด ผลของการศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่ใน American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine (AJRCCM) ของสมาคมแพทย์โรคทรวงอกสหรัฐ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การทดสอบการทำงานของปอดในงานวิจัยชิ้นนี้ทำโดยวัดปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาอย่างแรงในวินาทีที่ 1 (Forced Expiratory Volume in one second: FEV1) และปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาจนหมดหลังหายใจเข้าอย่างเต็มที่ (Forced Vital Capacity: FVC)

ผลที่ออกมาคือ ค่า FEV1 และ FVC ของผู้ใช้สารทำความสะอาดเป็นประจำลดลงมากกว่าความเสื่อมสมรรถภาพตามอายุขัยอย่างรวดเร็วราว 3.6 และ 4.3 มิลลิลิตรต่อปี โดยเฉพาะในผู้หญิงจะมี FEV1 ที่ 3.9 และ FVC 7.1 มิลลิลิตรต่อปี สูงกว่าผู้ชายในกลุ่มทดสอบ ซึ่งความเสื่อมของปอดระดับนี้เทียบเคียงได้กับการสูบบุหรี่วันละหนึ่งซองเป็นประจำ

“ขณะที่มีข้อมูลผลกระทบระยะสั้นของสารเคมีทำความสะอาดต่อโรคหอบหืดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่มีความรู้เรื่องผลระยะยาว” เซซิล สวานส์ (Cecile Svanes) ศาสตราจารย์ผู้ทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์เกนกล่าว และแนะนำว่า ควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์และน้ำธรรมดาแทนสเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาด

ออยส์ไตน์ สวานส์ (Øistein Svanes) นักศึกษาในทีมบอกว่า “เมื่อคุณหายใจรับบางส่วนของสารเคมีในน้ำยาทำความสะอาดเข้าไป คือมันทำความสะอาดพื้นจริง แต่ไม่ใช่ปอดคุณนะ ซึ่งบางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่”


อ้างอิงข้อมูลจาก:
newsweek.com
atsjournals.org
forbes.com