4 สงสัย 2 ส่งต่อ: ผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่น่าไว้ใจ

นาทีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพกำลังลุกลามแพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทย ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน แฝงมาในรูปของเครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว สมุนไพรครอบจักรวาล ยาลดน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานา

ภัยเงียบเหล่านี้กำลังคุกคามทำร้ายผู้บริโภค ทำร้ายคนใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อนฝูง หลายกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

การหยุดยั้งผลิตภัณฑ์ลวงโลกจึงจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือบางอย่าง เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเองและเพื่อนร่วมโลกมิให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป เริ่มต้นง่ายๆ คือ ‘สงสัย’ และ ‘ส่งต่อ’


ที่มา https://waymagazine.org/curiousandshare/

‘เมจิกสกินโมเดล’ สังคายนาระบบหยุดยั้งสินค้าหลอกลวง

ความเสียหายครั้งมโหฬารที่นำมาสู่การกวาดล้างผลิตภัณฑ์ในเครือ ‘เมจิกสกิน’ อาจนับได้ว่าเป็นทั้งบทเรียนครั้งใหญ่ และเป็นโอกาสสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้หันกลับมาสังคายนาระบบการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

การประชุมโต๊ะกลม ‘ความร่วมมือในการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา เพื่อความยั่งยืนในการคุ้มครองผู้บริโภค’ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อสุขภาพ (คคส.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์ (วจภส.)

หัวใจของการจัดประชุมครั้งนี้มีด้วยกัน 3 ข้อ

  1. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริหารงานขององค์กรรับผิดชอบระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาทุกหน่วยงาน
  2. ชี้เป้าสำคัญของปัญหา ข้อเสนอความร่วมมือ และมาตรการการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหารและเครื่องสำอาง
  3. กระตุ้นให้องค์กรผู้บริโภคและประชาชนตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง และร่วมกันเฝ้าระวังเตือนภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นนำถึงสถานการณ์ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาเกินจริง ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภทยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้ ขณะที่บางผลิตภัณฑ์ก็มีการปลอมปนยาอันตราย เช่น ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาควบคุมพิเศษอย่างสเตียรอยด์ (Steroids) ไซบูทรามีน (Sibutramine) หรือที่รู้จักในฐานะของยาลดความอ้วนที่ทั่วโลกยกเลิกทะเบียนตำรับแล้ว

“วาระการประชุมในครั้งนี้จึงนับเป็นการพลิกวิกฤติให้กลายเป็นการสร้างโอกาสร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการกำกับควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา”

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะผลักดันวาระต่างๆ เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นมหากาพย์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และตลอดเวลาที่ผ่านมา กพย. ได้พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด อีกทั้งมีการเสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการหามาตรการใหม่ๆ เพื่อควบคุมสถานีโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี เคเบิลทีวี และทีวีดิจิตอล ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมาย

หลายท่านคงทราบแล้วว่าปัญหาโฆษณาทุกวันนี้มีเยอะมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และมีตัวละครที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ฉะนั้น ทำอย่างไรที่เราจะใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาในภาพรวมได้ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อช่วยกันระดมความเห็น และนำไปสู่ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานต่างๆ โดยทุกความเห็นที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้จะมีการสะท้อนกลับไปอีกครั้งหนึ่ง ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ท่านมีความตั้งใจอย่างไรในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วและกำลังจะทำต่อไปอย่างไรบ้าง นี่คือหัวใจสำคัญที่อยากให้ทุกท่านช่วยกันระดมทั้งฝ่ายกฎหมาย ทั้งผู้เฝ้าระวัง

 

โมเดลการทำงาน 7 ระบบ

เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร

ลำดับถัดมา เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ในฐานะอุปนายกสภาเภสัชกรรม นำเสนอร่างโมเดลการทำงาน 7 ระบบ เพื่อใช้ควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ โฆษณา และฉลาก ที่แต่ละหน่วยงานสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที พร้อมมีกฎหมายรองรับ ประกอบด้วย

1.    ระบบการขึ้นทะเบียน การอนุญาต

มีข้อเสนอให้เพิ่ม QR Code บนฉลากและสื่อโฆษณา ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยสัญลักษณ์นี้สามารถนำไปใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้บริโภคสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ว่าฉลากถูกต้องตามที่ อย. ประกาศไว้หรือไม่

2.    ระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ

เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ โดยลำดับแรกหน่วยงานรัฐต้องมีการกำหนดกรอบกติกาให้ชัดเจน อาทิ การใช้ ‘คำ’ หรือ ‘ข้อความ’ อันหลอกลวงเป็นเท็จ หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน ตลอดจนการใช้ภาพในลักษณะที่สื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนและหลัง (Before-After)  นอกจากนี้ยังรวมไปถึงห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคลากรดังกล่าวมาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบ

3.    ระบบแจ้งเตือนภัย

หากระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ มีความเข้มแข็งแล้ว จะนำมาสู่ระบบแจ้งเตือนภัยซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะรับไปดำเนินการต่อ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ทันการณ์-ถึงกลุ่มเป้าหมาย-ทั่วถึง’ เช่น เมื่อตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย เลขาธิการ อย. จะเป็นผู้ประกาศผลการตรวจพิสูจน์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

4.    ระบบเก็บสินค้าไม่ปลอดภัยออกจากตลาด

เมื่อมีการตรวจพิสูจน์และประกาศเตือนภัยแล้ว เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ และร้านค้า ที่จะต้องเร่งดำเนินการเก็บคืนผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านั้นออกจากท้องตลาดโดยเร็ว

กรณีศึกษาของ ‘เมจิกสกิน’ ที่ตกเป็นข่าวในขณะนี้ อย. สามารถออกประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง และให้เรียกเก็บคืนสินค้าเพื่อทำลายเครื่องสำอางทั้ง 227 รายการ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

5.    ระบบการสั่งระงับการกระทำผิด พักใช้-เพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดี

การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด สามารถใช้กฎหมายเฉพาะเรื่อง ร่วมกับกฎหมายอื่นได้ เช่น หากกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งนับว่าโทษยังน้อยเกินไป แต่หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และมาตรา 238 จะมีอัตราโทษที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กระทำผิดเกิดความยำเกรงต่อกฎหมาย

 

6.    ระบบเยียวยาผู้เสียหาย

อาศัยกลไกจาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอด พ.ศ.2551 (Product Liability Law: PL LAW) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 รวมไปถึงการรวมตัวฟ้องร้องเจ้าของผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่มได้

 

7.    ระบบเสริมพลังประชาสังคม

ต้องมีการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาร่วมมือกัน รวมถึงผู้ประกอบการที่ดียังมีอยู่มากมาย แต่อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการสร้างความรู้ สร้างกลไกการทำงาน และสร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภค ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบจากราคาสินค้าที่สูงเกินจริง และเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงต่างๆ

ที่สำคัญคือ องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าร่วมมือกันด้วยดี จะสามารถยับยั้งการกระทำผิดได้ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพของสินค้าไทยให้เป็นที่เชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ

Regulator โมเดล

 

เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล

 

ในส่วนถัดมา วงประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนส่วนต่างๆ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันสร้างหลักประกันการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ผู้แทนเลขาธิการ อย. ให้ความเห็นไว้ว่า ที่ผ่านมารากเหง้าของปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นมานาน จึงจำเป็นต้องแก้ไขทั้งระบบ ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาของการโฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมายยังแตกต่างจากในอดีต จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน รวมไปถึงสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยงานราชการ จะออกมาพูดหรือเตือนอย่างไร ก็ยังพบว่ามีประชาชนหลงเข้าไปอยู่ในวังวนนี้ไม่ใช่น้อย พอเห็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงทางสังคมออกมาแนะนำสินค้าก็ไปซื้อตาม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เชิญผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้มาให้ปากคำ ก็พบว่าบางคนเคยใช้ผลิตภัณฑ์แค่ไม่กี่ครั้ง หรือแทบจะไม่เคยใช้เลย

ทั้งนี้ ภก.ประพนธ์ มองกลับมายังจุดอ่อนของส่วนราชการเองที่มักบอกแต่ข้อห้ามให้กับประชาชน แต่ไม่บอกทางเลือก หรือไม่ได้บอกวิธีที่ถูกต้องที่สุดในการลดน้ำหนักคืออะไร วิธีที่ปลอดภัยที่สุดจะต้องทำอย่างไร

เราอาจลืมไปว่าเยาวชนของเรา เขายอมสวยในชาตินี้นะครับ

นอกจากทัศนคติต่อประชาชนและส่วนราชการเองแล้ว ภก.ประพนธ์ ยังมองไปถึงโมเดลต้นแบบในการจัดทำ QR-Code แม้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็อาจปลอมแปลงได้

สิ่งสำคัญที่ควรต้องทำก็คือ ฐานข้อมูลการโฆษณา แต่ยังติดปัญหาเรื่องความไม่เสถียรของระบบไอที ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เลขาธิการ กสทช. และเลขาธิการ อย. ได้จับมือกันว่า เรื่องการโฆษณาทางสื่อทีวี ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวี ดาวเทียม จะให้เจ้าหน้าที่ อย. ไปร่วมตรวจสอบที่ กสทช. ด้วย ถ้าดูแล้วเห็นว่าผิดกฎหมายก็จะส่งหนังสือร้องเรียนถึง กสทช. โดยตรง

 

อัชญา บุญสุวรรณ

ขณะที่ตัวแทนหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อัชญา บุญสุวรรณ ผู้แทนเลขาธิการ สคบ. แสดงทัศนะว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไปทำหน้าที่ตรวจสอบต้นทุนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่ามีสินค้าจำนวนเท่าไร ซึ่งจะโยงไปถึงการจ่ายผลตอบแทนที่ทำให้เกิดกรณีแชร์ลูกโซ่ในธุรกิจขายตรงหรือการขายสินค้าเกินจริงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ดังนั้น หน้าที่ของ สคบ. ก็จะเข้าไปดูตรงนี้ ไปดูบัญชีรายรับ-รายจ่าย ไปดูผลตอบแทน และดูสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง นอกเหนือจากนี้ ถ้าจะมีการโฆษณา สคบ. ก็ควรดูก่อน คุณจะโฆษณาอะไร ผ่านช่องทางไหน จะใช้ข้อความอะไร ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่างๆ ไหม

ทว่าปัญหาที่อัชญามองอีกส่วนคือ การให้ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งส่วนมากแล้ว สคบ. จะไม่ได้ทำการตรวจสอบกลับไปยัง อย. เพราะเชื่อถือในเอกสารราชการว่าได้รับรองอย่างถูกต้องแล้ว และนั่นกลายเป็นช่องทางให้เกิดการปลอมแปลงเกิดขึ้น

จิราวุสฐ์ สุขได้พึ่ง


ปัญหาที่เราพบในขณะนี้คือ เรื่องการตรวจสอบสินค้าต่างๆ เมื่อประชาชนตรวจพบสินค้าไม่ปลอดภัยแล้วสามารถแจ้งเตือนเองได้ไหม” จิราวุสฐ์ สุขได้พึ่ง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ความเห็นในแง่ข้อกฎหมายที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งเตือนภัย เมื่อประชาชนตรวจสอบพบว่า สินค้าในท้องตลาดมีการโฆษณาเกินจริง ผิดจากข้อบังคับทางกฎหมาย ประชาชนจะสามารถแจ้งเตือนได้หรือไม่

“ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมว่าได้ และเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 4 ที่บอกไว้ชัดเจนว่าสิทธิของผู้บริโภคคืออะไร”

 

พลโทพีระพงษ์ มานะ


อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นการโฆษณาคือปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไข พลโทพีระพงษ์ มานะกิจในฐานะตัวแทนกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการต่างๆ ที่ยอมรับว่า หากไม่มีโฆษณาจำพวกนี้แล้ว รายได้ที่เข้ามาสู่องค์กรจะหดหายไปค่อนข้างมาก

เดิม กสทช. ได้ร่วมมือกับ อย. ในระดับหนึ่ง คือเมื่อก่อนใช้วิธีส่งเอกสารกันไปมา ถ้า กสทช. จะออกคำสั่งระงับการโฆษณาออกอากาศ ก็ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าตัวสินค้าเท็จหรือจริง ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจพิสูจน์ก็คือ อย. ฉะนั้น เมื่อ กสทช. ตรวจพบว่าเข้าข่ายน่าสงสัยก็ต้องส่งไปที่ อย. ก่อน ส่งกันไปส่งกันมา รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 7 เดือน นี่คือเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นพลโทพีระพงษ์เล่าย้อนถึงรากปัญหาการทำงานในช่วงก่อนหน้านี้

จนกระทั่งเมื่อเกิดกรณีเมจิกสกินขึ้นมา กสทช. และ อย. จึงตกลงกันว่าจะไม่ใช้วิธีการทำงานแบบเดิมที่ล่าช้าไปกว่า 7 เดือน และระหว่างนั้นผู้ผลิตสินค้าก็ยังสามารถโฆษณาต่อไปได้ ทำให้ประชาชนได้รับการผลิตซ้ำทางโฆษณาจนเกิดความหลงเชื่อ แต่หลังจากนี้ อย. จะเข้ามานั่งดูโฆษณาต่างๆ ไปพร้อมกันกับ กสทช.

ในกรณีง่ายๆ อย่างเช่นโฆษณาอาหารที่ไม่ได้เป็นการอวดอุตริ ท่านก็ชี้มาเลย แต่ถ้ามันซับซ้อนกว่านั้น ท่านก็กลับไปทำการบ้านและเซ็นกลับมาสามคน พอมีลายเซ็นทั้งสามคน ผมก็ทำงานง่ายขึ้นแล้ว ผมก็ออกคำสั่งให้ระงับการกระทำไว้ก่อน โดยให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. สั่งการไปยังสถานีโทรทัศน์ที่มีการโฆษณาสินค้าชิ้นนี้ให้ยุติไว้ก่อน เพื่อที่เราจะได้ใช้อำนาจกฎหมายในการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำ เช่น มีการจัดทำโฆษณาให้คนนั่งรถเข็น พอกินยาตัวนี้เข้าไป เขาลุกขึ้นเดินได้ แถมยังขี่จักรยานได้ ซึ่งน่าเหลือเชื่อ ถ้าใครดูโฆษณานี้แล้วคุณไม่รู้หรือไงว่านี่มันแหกตาแล้ว วิญญูชนพึงรู้ว่านี่มันหลอกลวงประชาชน

พลโทพีระพงษ์ยังกล่าวอีกว่า แม้โดยส่วนตัวแล้วจะเห็นใจผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ในแง่การหารายได้ขององค์กร แต่หากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดเกินจริง กสทช. ก็ไม่อาจปล่อยให้มีการโฆษณาต่อไปได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก

ผู้เขียน   นิธิ นิธิวีรกุล
ที่มา https://waymagazine.org/magicskin_model/
วันที่ 31 May 2018

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1. ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร เสนอระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาฯ
2.ระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาที่พึงประสงค์ของสังคมไทย

สมองต้องการพัก ผลลัพธ์เสพข่าวจนใจและกายด้านชา

ความเครียด

ขอบคุณโลกาภิวัตน์ ขอบคุณเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้เราเข้าถึงเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือใกล้กันแค่ไหน เราก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารชุดเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องดี ในทางกลับกัน สิ่งที่เราได้รับตลอดทั้งวันมักเป็นเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นไซโคลนจากอีกฟากหนึ่งของโลกกวาดล้างบ้านเมืองจนพังทลาย น้ำแข็งในแอนตาร์กติกากำลังละลายอย่างรวดเร็ว สัตว์บางชนิดที่กำลังสูญพันธุ์ สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุดในบางประเทศ ประชาธิปไตยที่หายไป ภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงไปจนถึงสุนัขกัดกัน

เมื่อสำนักข่าวทั่วโลกรันข่าวตลอด 24 ชั่วโมงแทบไม่เว้นช่วงหายใจ ผู้บริโภคอย่างเราจะจัดการกับสภาวะอารมณ์ตัวเองอย่างไร ไม่ให้หัวร้อนเกินจนกลายเป็นผลกระทบทางอารมณ์และร่างกายตามมา

เมื่อข่าวร้ายกำลังทำเราหัวหมุน

ผลสำรวจจากเอ็นจีโอสหรัฐอเมริกา Pew Research Center เมื่อปี 2015 ระบุว่า จำนวนผู้ใหญ่ที่ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 65 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เป็นการเสพข่าวผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มเป็นหลัก

ซูซาน บับเบ (Susanne Babbe) นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสภาวะบอบช้ำทางจิตใจ อธิบายถึงการตอบสนองของมนุษย์เราเมื่อรับรู้ข้อมูลดังกล่าวมากเกินไปว่า

“ทุกครั้งที่เราเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจหรือได้ยินข้อมูลเชิงลบ มนุษย์เราจะเข้าสู่สภาวะเครียดทันที อาจจะรู้สึกด้านชา (numb) หรือตอบสนองด้วยท่าทีหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ สรีรวิทยาของเราจะเร่งกระตุ้นให้ปลดปล่อยฮอร์โมนเครียดขึ้นมา เช่น คอร์ติซอล (cortisol) หรืออะดรีนาลีน (adrenaline) และเมื่อเราได้รับประสบการณ์ดังกล่าวซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ต่อมหมวกไต (adrenal glands) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญๆ หลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน ก็ทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของมันลดลง อาการทางร่างกายที่ตามมา เช่น ตื่นนอนมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้า นอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียด และอาการซึมเศร้า เป็นต้น”

หลายคนไม่รู้ตัวว่าสะสมความเครียดต่างๆ ไว้ ผ่านการเสพข่าวในโซเชียลมีเดียจนเกินไปซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่อาการป่วยไข้ทางร่างกายและจิตใจตามมา

อันตรายกว่านั้น งานวิจัยดังกล่าวยังค้นพบว่า กลุ่มที่จะตอบสนองต่อความเครียดดังกล่าวรุนแรงมากกว่าคือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มสุขภาพไม่ดี เปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กและเยาวชนและกลุ่มที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

ดูแลใจตัวเอง: หันหลังไม่สนบ้างก็ได้

น่าเศร้าที่ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขความบิดเบี้ยวของโลกใบนี้ได้ การเสพข้อมูลเชิงลบมากๆ จนกระทบต่อจิตใจและร่างกายตัวเอง จุดนี้บับเบแนะนำว่า ผู้บริโภคต้องรู้จักลิมิตในการบริโภคข้อมูลหรือข่าวสารเอง โดยการเซ็ตลิมิตว่าเราควรบริโภคข่าวสารในโซเชียลมีเดียแต่ละวันในปริมาณเท่าไรจะช่วยสร้างพื้นที่และให้เวลากับระบบประสาท (nervous system) เรากลับไปทำงานเหมือนเดิม

“หนึ่งในวิธีการจัดการไม่ให้เกิดความรู้สึกเสพข้อมูลจนโอเวอร์โหลดและกระทบกับร่างกาย คือการหาให้เจอว่าลิมิตตรงนั้นของเราอยู่ตรงไหน ซึ่งแต่ละคนก็มีลิมิตที่ต่างกัน เมื่อเรารู้สึกว่า ‘พอ’ เมื่อไร นั่นแหละคือสัญญาณให้หยุดเสพได้แล้ว เช่น การปิด notification บางแอพฯ หรือการกำหนดเวลาชัดเจนสำหรับการบริโภคหรือรับรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในโลก”

นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว บับเบยังเสนอวิธีการจัดการกับความเครียดพื้นฐาน ไมว่าจะเป็นการออกกำลังกาย พบปะเพื่อนฝูง ใช้เวลากับครอบครัว ก็เป็นกิจกรรมคลายความเครียดที่ดี

Self-care: ใจเราเข้มแข็ง ใจเธอก็เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี การดูแลใจตัวเอง (self-care) ด้วยวิธีการดังกล่าวกลับมีข้อโต้แย้งว่า เรากำลังเห็นแก่ตัวหรือสนใจแต่เรื่องของตัวเองเกินไปหรือเปล่า เทอร์รี ออสบอร์น (Terry Osborne) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติแห่งวิทยาลัยดาร์ทมัธ (Dartmouth College) ชี้แจ้งว่า ความท้าทายคือการถือความเจ็บปวดนั้นไว้ แต่อย่าให้มันมาทำร้ายคุณ

“การดูแลใจตัวเองอาจฟังดูเห็นแก่ตัวหรือหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง ปัญหาส่วนตัวของเราอาจเป็นเรื่องเล็กจิ๋วหากเทียบกับปัญหาทั่วโลกที่รายล้อมเรา แต่ในสภาวะวิกฤตินั้น การดูแลใจตัวเองเป็นวิธีการที่ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากที่สุด กล่าวคือ การฝึกตัวเองให้มีความสามารถในการสงบจิตใจลงด้วยตนเอง (self-soothing) และพัฒนาการตอบสนองต่อความเครียดของตัวเองเป็นอย่างดีจะช่วยเป็นเหมือนกันชนป้องกันผลกระทบจากความเครียดเชิงลบและช่วยให้เราช่วยคนอื่นได้ การฝึกให้ตัวเองสามารถสงบจิตใจลงได้ด้วยตนเองก็เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อ ยิ่งแข็งแรงมากเท่าไรก็ยิ่งรับมือกับสถานการณ์หรือวิกฤติต่างๆ ได้ดี”


ที่มา: edition.cnn.com

วิตามินอาหารเสริมไม่ได้เป็นทุกอย่างให้เธอขนาดนั้น

เรื่อง: เวชะรดา มะเวชะ

 

‘ผลิตภัณฑ์วิตามินอาหารเสริม’ อย่างวิตามิน D ที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย วิตามิน C ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและเสริมสร้างเส้นใยคอลลาเจน แคลเซียมช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน รวมถึง ‘วิตามินรวม’ ซึ่งอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ของวิตามินหลากหลายชนิดเม็ดเดียวจบ แทบจะกลายเป็นของติดบ้านไปสำหรับครอบครัวยุคใหม่ แถมบางตัวยังอ้างคุณสมบัติต้านโรคได้อีกต่างหาก จึงทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นล้วนต่างเผชิญกับข้อกังขาถึงคุณประโยชน์ว่า ‘ช่วยบำรุง’ ได้จริงหรือไม่

หลังถกเถียงกันมาเนิ่นนานในวงการวิทยาศาสตร์และสุขภาพเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าว ล่าสุดผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีข้อสรุปออกมาว่า วิตามินรวม, วิตามิน D, วิตามิน C และแคลเซียมไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกายเรามากเท่าที่เราคิด

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Journal of the American College of Cardiology เป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลเซนต์ไมเคิล (St. Michael’s Hospital) และมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่มกราคม 2012 – สิงหาคม 2017 ร่วมกับข้อมูลจากโครงการสำรวจโภชนาการและสุขภาพแห่งชาติ (National Health and Nutrition Examination Survey: NHANES) ระหว่างปี 1999-2012 พบว่าในสหรัฐมีการบริโภคผลิตภัณฑ์วิตามินกันมากในปี 2012 โดยวิตามินยอดนิยมได้แก่ วิตามินรวม มีการบริโภคสูงที่สุดประมาน 31 เปอร์เซ็นต์, วิตามิน D 19 เปอร์เซ็นต์, แคลเซียม 14 เปอร์เซ็นต์ และวิตามิน C 12 เปอร์เซ็นต์

“จากการสำรวจเราพบว่า เมื่อคุณกินวิตามินรวม, วิตามิน D, วิตามิน C หรือแคลเซียมนั้น มันไม่ได้เกิดผลร้ายอะไรแก่ร่างกาย แต่มันก็ไม่ได้มีประโยชน์ที่แน่ชัดเหมือนกัน” นายแพทย์เดวิด เจนกินส์ (Dr.David Jenkins) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลเมื่อปี 1998 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (The University of Leicester) พบว่า การรับวิตามิน C เกิน 500 มิลลิกรัมต่อวันนั้นเป็นอันตรายต่อยีนในร่างกาย! เพราะวิตามิน C มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กซึ่งส่งผลต่อการกดภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ หากได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิจัยยังพบว่าวิตามิน E ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและเบตาแคโรทีน (beta-carotene) ที่ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ ไม่ได้มีส่วนช่วยในการบำรุงรักษาร่างกายเท่าไรนัก เช่น ปี 1994 พบสิงห์อมควันคนหนึ่งซึ่งบริโภคเบตาแคโรทีนเป็นประจำนานกว่าแปดปี แต่นั่นก็ไม่สามารถช่วยให้เขารอดจากมะเร็งปอดไปได้

“ผลวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เราทุกคนตระหนักถึงประโยชน์และสรรพคุณของผลิตภัณฑ์วิตามินอาหารเสริมต่างๆ ที่พวกเขาจะบริโภคและต้องมั่นใจได้ว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างแท้จริง” เจนกินส์อธิบาย

แม้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์วิตามินอาหารเสริมนั้นถูกกระตุ้นจากใคร แต่ขณะเดียวกันมูลค่าในอุตสาหกรรมยาเพิ่มสูงถึง 82,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 เฉพาะสหรัฐอเมริกาเองมีมูลค่าเพิ่ม 28 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ Internal Medicine เผยแพร่บทความเรื่อง ‘พอได้แล้ว! หยุดเสียเงินให้วิตามินและอาหารเสริมสักที’ (Enough Is Enough: Stop Wasting Money on Vitamin and Mineral Supplements.) หลังจากพบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนอายุระหว่าง 24-30 ปีในสหรัฐบริโภควิตามินรวม ขณะที่กลุ่มคนอายุ 15-18 ปีมีผู้บริโภคมากถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ในระดับนานาชาติเองไม่แพ้กัน สินค้าเหล่านี้ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมยาทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2007-2012

อย่างไรก็ดีนายแพทย์เจนคินส์แนะนำว่า หากต้องการรับวิตามินให้เพียงพอในแต่ละวัน ควรรับประทานอาหารจำพวกผลไม้และผักสดมากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะในผักและผลไม้นั้นสารต้านอนุมูลอิสระรวมไปถึงวิตามินที่เพียงพอต่อชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีผลการวิจัยไหนที่แสดงให้เห็นว่าการใช้อาหารเสริมให้ผลดีกว่าอาหารปลอดสารพิษอย่างผัก ผลไม้ และถั่ว

นายแพทย์เจนกินส์ทิ้งท้าย


อ้างอิงข้อมูลจาก:
salon.com
vice.com

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร เสนอระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาฯ


เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร นำเสนอ ร่างโมเดล ระบบควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาที่พึงประสงค์ของสังคมไทย ในการประชุมโต๊ะกลม เรื่องความร่วมมือในการควบคุมกำกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา
เพื่อความยั่งยืนในการคุ้มครองผู้บริโภค วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561 เวลา ณ ห้องประชุมสารนิเทศ (ชั้น 2) หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งระบบควบคุมประกอบด้วย 7  ระบบ ได้แก่
1) ระบบการขึ้นทะเบียนอนุญาต
2) ระบบเฝ้าระวังตรวจสอบ
3) ระบบแจ้งเตือนภัย
4) ระบบจัดเก็บสินค้าไม่ปลอดภัยออกจากตลาด
5) ระบบการสั้งระงับการกระทำผิด พักใช้-เพิกถอนใบอนุญาตและดำเนินคดี
6) ระบบเยียวยาผู้เสียหาย
7) ระบบเสริมพลังประชาสังคม

คคส. วคบท. สปค.จัดฝึกอบรมหลักสูตรเภสัชกรรมปฐมภูมิ: ครอบครัวและชุมชน


คคส. ร่วมกับ สำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว (สปค.) วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการฝึกอบรมหลักสูตรเภสัชกรรมปฐมภูมิ: เภสัชกรรมครอบครัวและชุมชน(Certificate short course Training Program in Family and Community Pharmacist Practice Learning)
 เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ด้านงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ พัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ และ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนโยบายคลินิกหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุข

การอบรมครั้งนี้จัดระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องดอนเมือง โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง มีผู้รับการอบรมรมเป็นเภสัชกรที่รับผิดชอบงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ จากทั่วประเทศ เข้าร่วมอบรมจำนวน 130 คน  และได้รับเกียรติจาก ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายร่วมกับ ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการ คคส. เรื่อง “บทบาทของเภสัชกรในระบบบริการปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว” และ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว  บรรยายเรื่อง “คลินิกหมอครอบครัว:ทิศทางการขับเคลื่อนและความคาดหวังบทบาทเภสัชกร”  ”

 

ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม
นายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรอีกหลายท่านมาบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว ตลอดระยะเวลา 3 วัน

ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี และ ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ
ดร.ภญ.รุ่งทิวา หมื่นปา โรงพยาบาลลำปาง
ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร วคบท.

เอกสารการบรรยายบางส่วน

1.คลินิกหมอครอบครัว: ทิศทางการขับเคลื่อนและความคาดหวังบทบาทเภสัชกร โดย นพ.สันติ

2.แนวคิดระบบบริการปฐมภูมิฯ โดย พญ.สุดารัตน์

3.ความรู้และทักษะการตรวจร่างกายเบื้องต้นฯ โดย นพ.จตุภูมิ

4.แนวทางค้นหาปัญหายาในชุมชนฯ โดย ภก.วรวิทย์

‘สยามพาราควอต’ ประเทศอาบสารพิษ

พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) คืออะไร? เชื่อว่าหลายคนคงตอบไม่ได้ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตรกรรม แต่หารู้ไม่ว่าผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้มีมากมายมหาศาล หากไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ด้วยข้อมูลและการรับรู้ของผู้คนยังอยู่ในวงจำกัด เครือข่ายวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงจัดเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน และประชาชน เรื่อง ‘ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส’ เพื่อให้ความกระจ่างแก่สังคมไทย

หลังเสร็จสิ้นงานเสวนา WAY เก็บประเด็นที่น่าสนใจจาก รองศาสตราจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร มาให้ความรู้เพิ่มเติมว่าสารเคมีอันตรายเหล่านี้มีพิษร้ายแรงเพียงใด

มีอะไรอยู่ใน ‘พาราควอต’

พาราควอต เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ฆ่าหญ้า ซึ่งสารเคมีก็มีด้านบวกและด้านลบ พาราควอตเป็นสารเคมีที่ใช้ได้ดีในแง่ของการฆ่าหญ้า แต่ในแง่ด้านลบเองกลับมีพิษภัยที่แทรกมา แต่ไม่ได้รับการเผยแพร่ในบ้านเรา นั่นคือสิ่งที่เรากำลังเจอกับพาราควอต โดยที่เราไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้คืออะไร เพราะมองแต่ด้านบวกโดยไม่รู้ด้านลบเลย

ทำไมเราจึงต้องสนใจปัญหาพาราควอตในช่วงนี้

เนื่องจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะออกมาวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เครือข่ายวิชาการทั้งด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อมได้คุยกัน เราอยากแสดงข้อมูลทั้งหมด ข้อเท็จจริงที่อาจารย์หลายท่านได้พูด และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการวัตถุอันตรายที่ตั้งขึ้นในยุค คสช. แต่เป็นข้อมูลที่ไม่เคยเผยแพร่ให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เลยอยากให้รู้ข้อเท็จจริง และใช้ในการประกอบการพิจารณาว่า ไม่ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะแบนหรือไม่แบนพาราควอต แต่เมื่อประชาชนรับรู้ความจริงแล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร อันนี้คือประเด็นสำคัญ

อาจารย์ได้อะไรจากการศึกษาพาราควอต

เรื่องของพาราควอตเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรา โดยศึกษาบริบทของการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร นำไปสู่ผลกระทบอะไรบ้าง

เราพบว่าสารเคมีที่นำมาใช้ในหลายจังหวัด เชื่อมโยงกับหลายบริบท ไม่ใช่แค่ด้านสารเคมีโดยตรงที่มีพิษภัย แต่เริ่มตั้งแต่การนำสารเคมีเข้ามาในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่ของเกษตรกร ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเป็นอย่างไร เมื่อเราไปลงพื้นที่ เราเจอเกษตรกรสองกลุ่ม คือเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเขาอาจจะกำจัดวัชพืชเอง ฆ่าหญ้าฆ่าแมลงเอง กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ ใช้มือปืนรับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้า

ในหลายพื้นที่อย่างเช่นจังหวัดน่าน หนองบัวลำภู เราพบว่าชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่ม เขาไม่กล้าใช้น้ำจากพื้นที่ เราถามว่าแล้วรู้ไหมว่ามันมีสารเคมีอยู่ เขาบอกว่ารู้ น่าจะไหลมาตามน้ำ แล้วพอถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าไหลมาตามน้ำ เกษตรกรบอกว่า ก็ที่นี่พ่นยากันเต็มไปหมด

การแก้ที่สารเคมี เป็นการแก้ที่ปลายทาง แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาทั้งระบบได้ ทำอย่างไรให้เกษตรกร หรือมือปืนพ่นยามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เสี่ยงอยู่อย่างนี้ ในทางตรงกันข้ามเราก็เจอเหมือนกันว่า ผลกระทบไม่ได้ตกอยู่ที่เกษตรกรอย่างเดียว เพราะสารเคมีตกค้างอยู่ในพืชผัก ในน้ำ นั่นหมายความว่า พืชผักที่ขายกันตามท้องตลาด คนกินก็ต้องได้รับเหมือนกัน เพราะยาฆ่าหญ้าจะซึมเข้าจากทางราก พอสะสมมากเข้าๆ คำถามคือใครกินล่ะ?

ผลกระทบของพาราควอตต่อคนคืออะไร

ถ้าเราไปสัมผัสสารเคมีโดยตรง ผิวหนังจะไหม้ เป็นแผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ แล้วถ้าพาราควอตเข้มข้นมากๆ โอกาสที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดมีสูง มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิต หมอท่านหนึ่งบอกว่า การที่ได้รับสาร พาราควอตเข้าทางผิวหนัง และเข้าสู่กระแสเลือด ไม่ต่างอะไรกับการกินเข้าไป และไม่เคยเห็นใครรอด นอกจากนี้พาราควอตยังสามารถนำไปสู่โรคพาร์กินสันได้ ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ ไม่จำเป็นต้องสัมผัส แค่รับประทานผ่านอาหาร พืชผักต่างๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นพาร์กินสันได้เหมือนกัน

นอกจากนี้งานวิจัยของอาจารย์พรพิมล (ศาสตราจารย์พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่ตั้งโจทย์วิจัยว่า แม่ที่ได้รับสารพาราควอตจะตกค้างไปสู่ลูกหรือไม่ ผลที่ออกมาคือ แม่ที่มีสารพาราควอตอยู่ในตัวจะถ่ายทอดไปสู่รก แล้วลงไปสู่อุจจาระของเด็ก แสดงว่าในตัวเด็กก็มีพาราควอตด้วย สิ่งที่น่าตกใจคือ พาราควอตจากแม่ไปสู่ลูกไม่ได้เกิดเฉพาะเกษตรกร คนท้องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีก็มีพาราควอตในลักษณะนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะพาราควอตอยู่ในพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่ผู้บริโภคกินเข้าไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการยอมให้เข้าใจผิดไม่ได้ เราต้องการให้ประชาชนทุกคนรับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกรกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกคน สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดกัน คือเข้าใจว่ายาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเคมีอะไรก็ตามที่เกษตรกรใช้ สามารถล้างออกได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันยังอยู่ในผัก อยู่ในน้ำ ตรงนี้คือปัญหาของทุกคน ไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกร แล้วถ้าจะแก้ปัญหา ทุกคนต้องช่วยกัน

สารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้กันมีรูปแบบอย่างไรบ้าง

มีหลายรูปแบบเลย ตัวพาราควอตเองเป็นชื่อสารเคมีชนิดหนึ่ง แต่มีอยู่หลายยี่ห้อ หรือแม้กระทั่งเกษตรกรผสมเอง นั่นหมายความว่าเรากำลังเอาสารเคมีที่เรารู้ไม่ครบทุกด้านมาใช้ในประเทศเรา โดยที่มองแต่ด้านบวก

ในแง่การนำเข้ามาในประเทศ พาราควอตจะเข้ามาในสองรูปแบบคือ แบบเข้มข้น กับที่มีผสมสารเคมีอยู่แล้ว กรณีของพาราควอตที่ขายโดยทั่วไปคือผสมเข้ามาแล้ว ซึ่งเส้นทางการนำเข้ามาสู่เมืองไทย มันเข้ามาในหลายรูปร่างหน้าตา แต่หน้าตาที่เกษตรกรเอาไปใช้เยอะก็คือ สารเคมีที่ผสมมาพร้อมใช้งาน

ถ้าแบนพาราควอตจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรไหม วิธีแก้ปัญหาควรตั้งอยู่บนแนวคิดอะไร

ต้องเข้าใจว่า พาราควอตเป็นสารเคมีที่ปนมากับอาหาร คนที่ได้รับไม่เฉพาะแค่เกษตรกร แต่รวมถึงผู้บริโภคด้วย ถ้าอยากจะแก้ปัญหานี้ แบนไม่แบนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เราอยากให้แก้ปัญหาทั้งวงจร แก้ทั้งระบบมากกว่า รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ผู้คน ให้ผู้บริโภคตื่นรู้ เกษตรกรตื่นรู้ ว่าสารเคมีมันอยู่ใกล้ตัวเรามากขนาดไหน เพราะต่อให้แบนไปแล้ว ประชาชนยังถูกปิดหูปิดตาอยู่อย่างนี้ หรือไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้ เดี๋ยวก็จะมีพาราควอตตัวที่สอง ที่สาม ในชื่อการค้าอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่จบไม่สิ้น

การผลักดันเชิงนโยบายและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องมีวิธีการอย่างไร จึงจะไม่มีพาราควอตตัวที่ 2 3 4 เข้ามา

ถ้าเราย้อนกลับไปตั้งแต่แรก ปัญหาคือความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ดีกินได้ แม้กระทั่งมือปืนพ่นยา เช่น ทุกคนอยากกินผักปลอดภัยไม่มีสารเคมี ทำอย่างไรให้ผักเหล่านี้ขายได้ดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผักที่ไม่ใช้สารเคมีแพงกว่าผักที่มีสารเคมี ต้องทำอย่างไรเราถึงจะได้กินอาหารที่ปลอดภัยและไม่ต้องไปจ่ายเงินสำหรับรักษาสุขภาพ

หน่วยงานที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน ทำอย่างไรจึงจะจูงใจให้เกษตรกรไม่ใช้สารเคมี ทำอย่างไรจึงจะควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหาร ในสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นในกรณีเวียดนาม ทำไมประเทศของเขาถึงทำได้ ทำไมประเทศเราทำไม่ได้ หรือในแง่ของการตรวจสอบผักและอาหาร ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและราคาถูก

จะเห็นว่าบริบททั้งหมดต้องมองให้ครบวงจร ไม่ใช่ถามแค่ว่าจะใช้สารอะไรมาทดแทน หมายความว่าทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามา โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคนดำเนินงานหลักและอยู่ในทุกบริบทของปัญหา ต้องมองบริบททั้งหมดแล้วแก้ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

พาราควอต ผลกระทบเสมอหน้า เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา สตรีมีครรภ์ จนถึงทารก

ในเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน และประชาชน เรื่อง “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)”

เราได้คุยกับ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย นเรศวร

การศึกษาของอาจารย์รวมทั้งนักวิชาการอื่นๆ บนเวทีเห็นพ้องต้องกันว่า พาราควอตรวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องที่แก้กันเป็นส่วนๆ หรือเห็นกันเป็นเศษเสี้ยว แต่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงมือปืนพ่นยาในท้องทุ่ง

สารเคมีเหล่านั้นตกค้างจากพืชผัก ผลไม้ จากคนปลูกสู่คนกิน จากผืนดินจนถึงผืนน้ำ

หากถามว่าเราควรเดือดร้อนกับเรื่องพวกนี้หรือไม่ สิ่งที่เราได้จากการพูดคุยคือ พาราควอตมันตามมาถึงจานกับข้าวของเราทุกคนเท่านั้นเอง

ถึงเวลาสยบโฆษณาเสี่ยงสุขภาพใน Facebook

ในขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีอิทธิพลสูงยิ่งในโลกทุกวันนี้ แต่กฎหมายหรือระบบจัดการความเสี่ยงของ “ข่าวเท็จ” “ข้อมูลลวง” กลับไล่ตามไม่ทัน

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่หนักหนาและส่งผลกระทบรุนแรงจนทำให้เจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้วอย่างต่อเนื่องก็คือ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก ที่ปัจจุบันพบว่ามีปัญหาในวงกว้าง และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งการโฆษณาอวดอ้าง เกินจริง หลอกให้ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่หลงเชื่อเพราะไม่มีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพจึงตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและเกิดปัญหาตามมามากมาย

ผลพวงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจนถึงขั้นเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าใจ ส่วนหนึ่งมาจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ใช้ชื่อ อ้างสรรพคุณหรือ โฆษณาว่าลดน้ำหนัก หรือ ลดความอ้วน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์  มีการตรวจพบการลักลอบใส่ยาควบคุมพิเศษ รวมทั้งยาอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตได้ภายในเวลาสั้นๆ

โครงการจัดการความรู้ประกอบรายวิชาความชำนาญด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษา โดย ภญ.ฐิติพร  อินศร  นคบส.รุ่นที่ 4 ได้ลงมือจัดการความรู้ในหัวข้อ  “การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายในสื่อสังคมเฟซบุ๊กและข้อเสนอแนวทางบังคับใช้กฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่” โดยมี ภญ.พรพรรณ สุนทรธรรม เป็นที่ปรึกษา

จับต้นชนปลาย…สถานการณ์ร้ายแรง

งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วย การติดตามสถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักในประเด็นที่ผิดกฎหมายต่อผู้บริโภค โดยสำรวจเพจโฆษณาเฟซบุ๊กในช่วง เดือน ธันวาคม 2560-มกราคม 2561 โดยใช้คำค้น “อาหารเสริมลดน้ำหนัก” พบว่า

  • ข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ชื่อ อ้างสรรพคุณหรือโฆษณาว่าลดน้ำหนักจำนวน 204 ผลิตภัณฑ์
  • พบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลขสารบบอาหารมากถึง ร้อยละ 53.22
  • ไม่มีการขออนุญาตโฆษณา ร้อยละ 100
  • เป็นผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกดำเนินคดีหรือมีการประกาศผลวิเคราะห์ว่าเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยแต่ยังพบการโฆษณาจำหน่ายในเฟซบุ๊ก ร้อยละ 28.46
  • เมื่อพิจารณาการกระทำผิดพบว่ามีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือเกินความจริง ร้อยละ 47.42 นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาโดยสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์สามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคได้อีกด้วย

 

สกัดไม่ไหว หน่วยไหนก็เอาไม่อยู่

ประเด็นต่อมาก็คือ แนวทางดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก พบว่า

  • การออกมาให้ข้อมูลของเพจดัง เพื่อเตือนภัยยาลดความอ้วน หรือ แม้กระทั่งการที่พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจพบผลิตภัณฑ์อันตราย ได้ออกประกาศเตือนประชาชน ก็ยังถูกคุกคาม ข่มขู่ และ ฟ้องร้อง
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานที่อนุญาตการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต แต่มีข้อจำกัดคือ การขออนุญาตประเภทอินเตอร์เน็ตไม่มีการระบุแหล่งที่นำไปเผยแพร่ที่ชัดเจน เช่น เฟซบุ๊ก ส่งผลให้ยากต่อการควบคุมกำกับ การตรวจสอบและดำเนินงานตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของ อย. รวมทั้ง สสจ.ในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินคดีในประเด็นการไม่ขออนุญาตการโฆษณาซึ่งมีอายุความเพียง 1 ปี แต่การดำเนินคดีทางเฟซบุ๊กมีหลายขั้นตอนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกจึงมักจะขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งแม้บางรายที่มีการดำเนินคดี หากแต่โทษที่ได้รับนั้นจะเป็นโทษปรับสถานเดียว ไม่เกิน 5,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัว
  • การกระทำผิด ณ ปัจจุบันมีปริมาณมากและขยายวงกว้างมากขึ้น เป็นการโฆษณาที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และส่งถึงผู้บริโภคได้โดยตรง จึงเป็นการยากต่อการควบคุมกำกับด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เพียงอย่างเดียว

ข้อค้นพบจากการจัดการความรู้ครั้งนี้ ที่พบว่า ปัญหาที่ก่ออันตรายต่อผู้บริโภคเรื่องนี้มีปริมาณมากและกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการปัญหาไม่สามารถ “จับได้ไล่ทัน”  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)  และเครือข่ายอีก 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.), วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย, (วคบท.) สภาเภสัชกรรมม มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) จึงร่วมกันเสนอประเด็น “การจัดการปัญหาโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักในสื่อสังคมเฟซบุ๊ก” เป็นเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11

เพื่อระดมพลังสังคมมาร่วมกันกำราบปัญหาจากการทำธุรกิจที่ไร้จริยธรรมเช่นนี้ให้อยู่หมัด

ที่มา: วารสารสานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2561 Click

ปอกเปลือกมายา ‘ผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ หลอกลวง

ปรากฏการณ์ ‘เมจิกสกิน’ ที่มียอดผู้เสียหายเข้าแจ้งความเกือบ 1,000 ราย กับมูลค่าความเสียหายเกือบ 300 ล้านบาท และเหล่าดารานักแสดงที่มีส่วนพัวพันร่วม 60 ชีวิต นำมาสู่คำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยยุคบริโภคนิยม ความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหน

แม้ขณะนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอางในเครือเมจิกสกินยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจพิสูจน์สารประกอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่ามีสารประกอบตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ และจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพเพียงใด แต่เม็ดเงินที่สะพัดนับร้อยๆ ล้านในวงการนี้ คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงมายาภาพของกระบวนการโฆษณาที่เข้าแทรกซึมในทุกช่องทางการสื่อสาร โดยอาศัยบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้บริโภค

จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์ลวงโลก เภสัชกรภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท เอ่ยขึ้นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายกรณีเคยมีเหยื่อที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาแล้วนักต่อนัก หากไม่เสียโฉมหรือเจ็บป่วยเรื้อรังก็ถึงขั้นเสียชีวิต

“เรากำลังมาถึงยุค ‘มายาโฆษณาบันเทิง’ จะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกินจำเป็นต่อสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย มีการใช้เน็ตไอดอลและคนในวงการบันเทิงเข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์กันมากขึ้น ผ่านโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก กระบวนการเหล่านี้มีผลทำให้คนหลงเชื่อได้ง่ายขึ้น และทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป”

ความสวยแลกด้วยความสูญเสีย

ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทั้งหลาย ไม่ว่าเครื่องสำอาง ครีมหน้าขาว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนต่างๆ ที่ผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ดนับพันนับหมื่นชนิด แม้อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการ ‘ทางใจ’ ให้กับผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยอิทธิพลของกระบวนการโฆษณาที่ซึมลึกผ่านโซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ

“จะเห็นว่าคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่ตาสีตาสา ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เริ่มมีดารานักแสดง เริ่มมีเน็ตไอดอล หรือคนที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจนเป็นคนดัง เพื่อมาโปรโมทผลิตภัณฑ์ แม้จะใช้เงินลงทุนเยอะ แต่วิธีการนี้ก็ได้ผล สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของเขาได้อย่างมหาศาล”

กระบวนการเหล่านี้มีผลทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนแปลงไป เป็นการบริโภคที่เกินความจำเป็น ขณะที่หลายคนที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ก็มีฐานะดีขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่ง ภก.ภาณุโชติ มองว่า เม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในตลาดนี้ ในแง่หนึ่งคือรายจ่ายที่ผู้บริโภคต้องสูญเสียไปอย่างไม่คุ้มค่า ทั้งยังแลกมากับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“ข่าวคราวการเสียชีวิตของผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้คนในสังคมอาจจะรู้สึกชินชา กระทั่งมีกรณีการจับกุมเครือข่ายผลิตภัณฑ์เมจิกสกินที่เป็นข่าวครึกโครม มันเป็นเหมือนบาดแผลที่อักเสบขึ้นมา และเป็นรูปธรรมที่ทำให้เราเห็นถึงกระบวนการมายาโฆษณาและบันเทิงที่เข้ามาเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น”

ประธานชมรมเภสัชชนบท ตั้งข้อสังเกตว่า แม้อาชีพนักแสดงอาจไม่มีการกำหนดมาตรฐานจรรยาบรรณที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยในแง่ศีลธรรมนักแสดงเหล่านั้นจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบพื้นฐาน เพราะถือเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือ

“ถ้าคุณไม่เคยทดลองใช้สินค้าตัวนั้นด้วยตัวเองจริงๆ หรือเคยใช้แค่ครั้งเดียวแล้วมารีวิวขายของ ต้องถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค นี่คือการโกหกบุคคลที่เขาศรัทธาคุณ ฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติในผลิตภัณฑ์นั้น คุณก็ควรต้องร่วมรับผิดชอบด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีจิตสำนึกด้วยการลุกขึ้นมาเตือนคนอื่น ไม่ใช่บอกแค่ว่าตัวเองถูกหลอก แต่ต้องลุกขึ้นมาเป็นเน็ตไอดอลในการเตือนผู้บริโภคที่คุณเคยไปหลอกเขา หรืออย่างน้อยก็ออกมาขอโทษ”

 

ช่องโหว่ของระบบ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คือหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง โดยผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทจะมีความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตแตกต่างกันไป หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือเวชภัณฑ์จะมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ ก่อนให้ใบอนุญาตจะต้องมีการตรวจสอบสถานที่และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ยาแต่ละรายการ แต่หากเป็นเครื่องสำอางจะเปิดช่องให้ขึ้นทะเบียนได้ง่ายขึ้น

“สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทยาและเวชภัณฑ์ การขออนุญาตสามารถยื่นเรื่องได้ที่ส่วนกลางหรือที่ต่างจังหวัดได้ หลักการง่ายๆ คือ ถ้าผลิตที่จังหวัดไหนก็ให้ไปยื่นขอใบอนุญาตที่จังหวัดนั้น ยกเว้นว่าผลิตภัณฑ์ยาบางชนิดจะมีเงื่อนไขพิเศษว่าต้องยื่นขออนุญาตจากส่วนกลางเท่านั้น

“แต่กรณีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนลงมา เพียงแค่ให้ผู้ประกอบการมาแสดงความจำนงเพื่อขอจดแจ้งขึ้นทะเบียนสินค้า โดยสามารถไปจดแจ้งที่จังหวัดก็ได้ และไม่มีระเบียบข้อบังคับว่าจะต้องมีการตรวจสถานที่ผลิต”

ประธานชมรมเภสัชชนบท อธิบายว่า ถึงแม้จะยังไม่มีกฎหมายควบคุมสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง แต่ในแง่ปฏิบัติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดก็สามารถไปตรวจสอบสถานที่ผลิตได้ แต่ทำได้เพียงตรวจสอบเพื่อให้คำแนะนำ ซึ่งจะเป็นการช่วยคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมได้ในระดับหนึ่ง

“ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่โปร่งใส เขาย่อมไม่กลัวการตรวจสอบแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อระบบการจดแจ้งยังมีช่องว่างอยู่ ผู้ประกอบการบางรายไม่อยากให้เจ้าหน้าที่มายุ่มย่ามกับสถานที่ผลิตของเขา เขาจึงหลีกเลี่ยงด้วยการไปจดแจ้งที่ส่วนกลาง

“เมื่อผู้ประกอบการไปขอจดแจ้งที่ส่วนกลาง และส่วนกลางไม่มีการตรวจทานให้ละเอียด ใครมาขอก็ให้หมด โดยที่ไม่รู้ว่าสถานที่ผลิตอยู่ตรงไหน ไม่มีแผนที่ ไม่มีแผนผัง กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการหาทางลัดก็สามารถไปขอจดแจ้งที่ส่วนกลางได้ง่ายๆ”

จากการสำรวจของทีมสาธารณสุขจังหวัด พบว่า บางจังหวัดมีผู้มาขอจดแจ้งเพียง 30 กว่าราย แต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อจากฐานข้อมูลส่วนกลางกลับพบว่ามีผู้จดแจ้งขึ้นทะเบียนนับร้อยราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ระดับจังหวัดไม่เคยรับทราบมาก่อน

หลังจากผู้ประกอบการได้รับการอนุญาตจดแจ้งแล้ว กระบวนการติดตามตรวจสอบยังถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรจากหลายฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบ

“พอเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดจะขอเข้าไปตรวจสอบก็ทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าสถานที่ตั้งของแหล่งผลิตอยู่ตรงไหน เราไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ที่รู้จักทุกตรอกซอกซอย ฉะนั้น ปัญหาเครื่องสำอางที่ไม่มีมาตรฐานก็เพราะว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ไปจดแจ้งที่ส่วนกลาง โดยสาธารณสุขจังหวัดไม่ทราบแหล่งผลิต”

ภก.ภาณุโชติ เล่าเบื้องหลังความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอีกว่า ผู้ประกอบการบางรายพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยชื่อโรงงาน การจดแจ้งสถานที่ผลิตบางครั้งจึงไม่ตรงกับข้อมูลจริง หลายจังหวัดมีการตรวจสอบพบว่า สถานที่จดแจ้งเป็นแค่ตึกแถว ห้องเช่า หรืออาจไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง

“ปัญหาเหล่านี้สาธารณสุขจังหวัดพยายามสะท้อนไปยังหน่วยงานส่วนกลางมาโดยตลอดว่า ระบบการจดแจ้งที่หละหลวม ไม่มีการคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะทำให้การติดตามตรวจสอบทำได้ยากแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งปัญหาจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็สะท้อนถึงช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในระบบนี้ได้เป็นอย่างดี”

คืนข้อมูลให้ผู้บริโภค

เหตุผลที่ภาครัฐพยายามผ่อนปรนเงื่อนไขในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภก.ภาณุโชติ มองว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการให้อนุญาตจดแจ้งได้ง่ายแล้ว ภาครัฐควรต้องมีเครื่องมือในการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ประธานชมรมเภสัชชนบท เสนอว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการจดแจ้งที่ง่ายและรวดเร็วแล้ว ก็ควรต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดข้อผิดพลาดเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบต่องบประมาณของรัฐ รับผิดชอบต่อบทลงโทษ และรับผิดชอบในการเก็บกวาดสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด

“เมื่ออนุญาตได้ง่ายแล้วก็ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตัวเองผลิต เช่น ถ้าขอจดแจ้งได้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามที่ขอ บทลงโทษจะต้องรุนแรง และเมื่อคุณผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ท้องตลาดแล้ว คุณก็ต้องมีหน้าที่ในการเก็บกวาดให้หมด แม้กระทั่งกรณีที่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ ก็เป็นการเอางบประมาณแผ่นดินหรือภาษีประชาชนมาใช้ ฉะนั้น ถ้ามีกรณีผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย เจ้าของหรือผู้ผลิตก็ควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ด้วย”

ในสถานการณ์ที่ผลิตภัณฑ์อันตรายแพร่กระจายออกสู่ท้องตลาด สินค้าที่ไม่น่าไว้วางใจมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด งบประมาณมีจำนวนจำกัด เขาเสนอไว้ว่า ควรต้องพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคเพื่อจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้

“เครื่องมือการเฝ้าระวังที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ ‘ข้อมูล’ ผู้บริโภคเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคก็ควรมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เขาใช้ เช่น โรงงานที่ผลิตสินค้านั้นอยู่ที่ไหน มีมาตรฐานการผลิตอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะปกปิดเป็นความลับทางธุรกิจไม่ได้ เพราะผู้บริโภคคือผู้แบกรับความเสี่ยง”

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า ข้อมูลผลิตภัณฑ์ถือเป็นความลับทางการค้า แต่ในความเป็นจริงคือ เมื่อใดก็ตามที่ผลิตภัณฑ์นั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภค คุณจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” ภก.ภาณุโชติ กล่าว

 

มีเครื่องหมาย อย. ใช่ว่าปลอดภัย

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มักใช้อ้างอยู่เสมอคือ สินค้านั้นมีเลข อย. การันตี ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ แต่โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

“ผมอยากอธิบายให้เข้าใจระบบนี้ก่อน โดยทั่วไปเมื่อมีการขออนุญาตจดแจ้งและได้เลข อย. มาแล้ว หลังจากนั้นจะต้องมีกระบวนการติดตามตรวจสอบว่าทำตามมาตรฐานที่จดแจ้งไว้จริงไหม หรือโฆษณาถูกต้องหรือเปล่า ฉะนั้น การได้รับเครื่องหมาย อย. หมายความว่า ครั้งหนึ่งคุณเคยขออนุญาตถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถรับประกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์

“การที่คนขายบอกว่า เขามีเลข อย. หรือได้รับอนุญาตจดแจ้งแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อเสียทีเดียวว่าจะปลอดภัยจริง เพราะผู้ประกอบการที่คิดไม่ซื่อก็อาจจะเอาเลข อย. อย่างอื่นมาสวมแทน อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปเอาเลข อย. ของน้ำปลามาใช้ หรือบางทีขอเลข อย. สินค้าชนิดนี้แล้ว พอจะผลิตสินค้าชนิดใหม่ก็ไปเอาเลขเดิมมาใช้ เป็นต้น”

 

4 สงสัย 2 ส่งต่อ

จากการคลุกคลีอยู่กับปัญหาในพื้นที่มานาน ภก.ภาณุโชติ เสนอแนวทางการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกหลองลวง ด้วยเครื่องมือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘4 สงสัย 2 ส่งต่อ’ ได้แก่

หนึ่งสงสัย – ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่

สองสงสัย – ข้อความบนฉลากระบุชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ชัดเจนถูกต้องหรือไม่

สามสงสัย – ผลิตภัณฑ์ที่ว่านั้นโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ เช่น ใช้แล้วน้ำหนักลดภายใน 3 วัน หรือหน้าขาวทันตาเห็น

สี่สงสัย – เมื่อใช้แล้วเกิดความผิดปกติกับร่างกายหรือไม่ เช่น จากคนอ้วนกลายเป็นคนผอมอย่างผิดสังเกต จากคนผิวเข้มกลับกลายเป็นคนผิวบางใส

ภก.ภาณุโชติ เชื่อว่า หากชู 4 ประเด็นนี้ให้คนเกิดความตระหนัก ประชาชนจะสามารถคัดกรองเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมหัศจรรย์อย่างที่โฆษณาจริงหรือ แต่สุดท้ายแล้ว ‘4 สงสัย’ ก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องมี ‘2 ส่งต่อ’ ได้แก่

หนึ่งส่งต่อ – แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบ

สองส่งต่อ – ส่งต่อข้อมูลให้คนใกล้ชิดรอบข้าง ญาติสนิทมิตรสหาย หรือเครือข่ายในชุมชน เพื่อเตือนภัยผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่รวดเร็วและสามารถทำได้ทันทีก่อนที่จะมีเหยื่อรายใหม่

เครื่องมือ ‘4 สงสัย 2 ส่งต่อ’ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดกลไกการเฝ้าระวังด้วยตนเอง และสามารถตรวจสอบสินค้าเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน หน่วยงานส่วนกลางหรือหน่วยงานระดับจังหวัดจะต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบ และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

“ผมมักจะแนะนำชาวบ้านอยู่เสมอว่า ถ้าเราไม่รู้จักคนที่โฆษณาสินค้านั้นเป็นการส่วนตัวจริงๆ อย่าเพิ่งไปเชื่อเขา ผมเคยเจอบางเคสพบว่า เจ้าของเสียงโฆษณานั้นเสียชีวิตไปแล้ว 3 เดือน แต่เสียงของเขายังอยู่ ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ใช้แล้วดีจริง คนที่ออกมาโฆษณาแบบนั้นเขาต้องไม่เจ็บป่วย ต้องไม่เข้าโรงพยาบาล และถ้าผลิตภัณฑ์ดีจริงก็ต้องมีขายในโรงพยาบาล ไม่ใช่มาแอบขายกันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ แบบนี้ สรุปง่ายๆ คือ ไม่มียามหัศจรรย์ ไม่มียาครอบจักรวาล ไม่มียาฮีโร่มาร์เวลที่สามารถช่วยได้ทุกอย่าง ฉะนั้น ผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญาณ”  ภก.ภาณุโชติ กล่าว

ภายใต้โลกการค้าเสรีและการโฆษณาผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ได้อย่างอิสระ ท่ามกลางระบบการควบคุมตรวจสอบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย สิ่งหนึ่งที่จะทัดทานกระแสเหล่านี้ได้ก็คือ กลไกการเฝ้าระวังและการเตือนภัย เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและเรียนรู้ที่จะปกป้องตนเอง ก่อนที่จะกลายเป็นเหยื่อรายใหม่ของผลิตภัณฑ์อันเป็นภัยคุกคามชีวิตและสุขภาพ