วิเคราะห์ปัญหา “ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ฉบับ อย.” (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑) โดย ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ


“…ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ. …. ฉบับ อย.-กระทรวงสาธารณสุข ภายหลังการรับฟังได้ถูกนำมาเสนอในเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิตัลและเทคโนโลยีเพื่อรับฟังความคิดเห็นในระหว่างวันที่ ๑๗-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ซึ่งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพัฒนาและติดตามกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่มีผลต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม ได้มีความเห็นต่อร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ. …ฉบับ อย.- กระทรวงสาธารณสุข (วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑) สรุปความว่า (๑) อย.รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้นาหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง เลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง (๒) ไม่คุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยใช้หลักการกฎหมายที่ผิด (๓) ไม่สนใจหลักการสมดุลและตรวจสอบในการจ่ายยา และ (๔) ไม่ให้ความสาคัญกับข้อเสนอของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง

ในที่นี้ ผู้เขียนขอ วิเคราะห์ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ… ฉบับ อย. (วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑) นส่วนบทบัญญัติที่มีปัญหาสมควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาทบทวนแก้ไขกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง..”

 

เอกสาร วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ฉบับ อย 17 กค 61

ความเหลื่อมล้ำในน้ำนมแม่ และดราม่านมผง

ปี 2545 องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อแนะนำในการเลี้ยงดูทารกให้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และควรให้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น

ปี 2555 ที่ประชุมเวทีสมัชชาอนามัยโลกตั้งเป้าร่วมกันว่า ภายในปี 2568 เด็กทารกร้อยละ 50 จะต้องได้รับนมแม่ตลอดช่วง 6 เดือนแรก

ขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2559 โดยองค์การยูนิเซฟ พบว่ามีเด็กทารกเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก

ปี 2555 มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์

ปี 2548 มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์

เรียกได้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

เราต่างรู้ดีว่า ‘นมแม่ดีที่สุด’

ทว่าด้วยอิทธิพลของโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์นมผง กลับสร้างค่านิยมผิดๆ และกลายเป็นแรงโน้มน้าวให้คุณแม่มือใหม่ล้มเลิกความพยายามในการให้นมแม่

นี่จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.นมผง (Milk Code) เพื่อให้ทารกและเด็กเล็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ไม่ได้กีดกันการจำหน่ายนมผง และไม่ได้ห้ามเด็กกินนมผง แต่เพื่อยับยั้งการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณาที่อวดอ้างข้อมูลจนเกินจริง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560

แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องคุ้มครองทั้งแม่และเด็ก ด้วยการห้ามโฆษณานมผงในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเด็ดขาด แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความแคลงใจบางประการกับคำถามที่ตามมาว่า เช่นนี้แล้วจะเหลือที่อยู่ที่ยืนให้กับคุณแม่ที่จำเป็นต้องพึ่งพานมผงอย่างไร

 

ต้องนมแม่เท่านั้นหรือ?

ก่อนจะไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้คุณให้โทษอย่างไร อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันอีกครั้งว่า นมแม่นั้นดียังไง?

แพทย์หญิงชมพูนุท โตโพธิ์ไทย หรือ ‘หมอปุ๊’ นายแพทย์ชำนาญการ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ในฐานะคุณแม่วัยสาวขอยืนยันอีกครั้งว่า นมแม่นั้นดีที่สุด

“นมแม่คือสุดยอดอาหารสำหรับทารก น้ำนมแม่หยดแรกเป็นเสมือนวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันที่อาหารอื่นไม่สามารถให้ได้ และมีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ในนั้น เด็กที่กินนมแม่จะแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันโรค การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงถือเป็นรากฐานของชีวิตก็ว่าได้” หมอปุ๊กล่าว

นอกเหนือจากคุณค่าสารอาหาร หมอปุ๊บอกอีกว่า การให้ลูกกินนมแม่ยังมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการเลี้ยงลูกและการสร้างสายสัมพันธ์ เพราะระหว่างป้อนนม ‘เข้าเต้า’ เด็กจะได้รับการโอบกอด การสบตา การสัมผัส อันเป็นกระบวนการที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทั้งกายและใจของเด็ก

“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกคน ทุกประเทศ ทุกเผ่าพันธุ์ ทว่าด้วยคลื่นโลกาภิวัตน์และวิวัฒนาการทางสังคมที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่แม่ทุกคนจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสได้กินนมแม่”

โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง คุณแม่ยุคใหม่ไม่สามารถอยู่เหย้าเฝ้าเรือนเหมือนในยุคเก่าก่อนได้อีกต่อไป บทบาทของคุณแม่ต้องเปลี่ยนไปเป็นผู้หญิงทำงาน มีสิทธิลาคลอดได้เพียง 3 เดือน ซ้ำร้ายหลายคนอาจใช้สิทธิลาคลอดได้ไม่นานก็จำเป็นต้องรีบกลับเข้าสู่สายพานการทำงาน เหตุเพราะขาดรายได้

นี่จึงเป็นข้อจำกัดของแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ และยังมีอีกหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าปัญหาสุขภาพร่างกาย ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ สถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการให้นมบุตร และอีกตัวแปรคือ การรุกคืบของอุตสาหกรรมนมผง

ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่ทับซ้อนตามมาคือ ‘ความเหลื่อมล้ำในนมแม่’ ที่แม้เด็กทารกทุกคนจะเกิดมามีชีวิตเท่ากัน แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงนมแม่ได้อย่างเท่าเทียม ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนมแม่ จึงเป็นห่วงโซ่ที่ส่งผลพันผูกต่อคุณภาพชีวิตและการเติบโตของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ

 

นมแม่สูตร 1-6-2

ตามคำแนะนำของ WHO ระบุไว้ว่า เด็กทารกทุกคนควรได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมตามสูตร 1-6-2 ความหมายก็คือ

1 – ควรให้เด็กกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

6 – ควรให้นมแม่อย่างเดียวตลอดช่วง 6 เดือนแรก โดยไม่ต้องเสริมอาหารอื่น แม้กระทั่งน้ำเปล่า เพราะในนมแม่มีปริมาณน้ำที่เพียงพอแล้ว

2 – ควรให้นมแม่ควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัย ต่อเนื่องจนถึง 2 ขวบขึ้นไป หรืออาจมากกว่านั้น

“สูตร 1-6-2 อาจฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติยังคงทำได้ยาก เพราะนอกจากแม่จะต้องแบกภาระในการทำงานนอกบ้าน คุณแม่มือใหม่ยังไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดู บางคนอาจจะยังอุ้มลูกไม่เป็น จะเอาลูกเข้าเต้าก็ทำไม่เป็น ทำให้คุณแม่จำนวนหนึ่งไม่สามารถให้นมลูกได้สำเร็จ ด้วยประสบการณ์และความเชื่อมั่นที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่อง”

แพทย์หญิงชมพูนุทบอกอีกว่า คุณแม่มากกว่าครึ่งมักเข้าใจผิดว่าตัวเองนมไม่พอ เมื่อไม่พอจึงต้องหานมอื่นมาเสริม ซึ่งเป็นการเสริมนมโดยไม่จำเป็น ทั้งที่จริงยังมีโอกาสที่จะกระตุ้นน้ำนมได้ แต่โอกาสนั้นก็หลุดลอยไปเมื่อมีทางเลือกอื่นที่ง่ายกว่า

 

เทรนด์คุณแม่ยุคใหม่บนความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน

ปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ หากความเข้าใจเรื่องนมแม่ยังมีความผิดเพี้ยนในอีกบางมิติ ทุกวันนี้แม้ว่าสังคมไทยจะเริ่มเห็นความสำคัญของนมแม่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีวิธีปฏิบัติที่ผิดทิศผิดทาง

แพทย์หญิงชมพูนุทระบุว่า สายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการโอบกอด การสัมผัส และไออุ่นจากแม่ แต่บางคนอาจตีความแค่ว่าให้ลูกได้กินน้ำนมของแม่ก็เพียงพอแล้ว คุณแม่ส่วนหนึ่งจึงไม่เอาลูกเข้าเต้า แต่หันไปปั๊มน้ำนมเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง แล้วค่อยป้อนผ่านขวด

“สิ่งที่ขาดหายไปก็คือกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก แม้ลูกจะได้สารอาหารครบถ้วน แต่ไม่ได้สายสัมพันธ์ ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงอาจไม่เต็มร้อย

“ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย เราอาจเห็นคุณแม่จำนวนหนึ่งพยายามปั๊มนมเก็บสำรองไว้และคาดหวังที่จะมีนมแช่เป็นตู้ๆ แต่จริงๆ แล้ววิธีที่ถูกต้องที่สุดคือ ‘Breastfeeding’ หมายถึงการป้อนนมจากอกของแม่ เพื่อให้เด็กได้รับทั้งสารอาหารและสายสัมพันธ์” หมอปุ๊กล่าว

แนวโน้มที่น่ากังวลคือ เรื่องนี้กลับกลายเป็นเทรนด์ของคุณแม่ยุคใหม่ จริงอยู่ว่าคุณแม่จำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน จึงต้องปั๊มนมเก็บไว้ แต่หากเมื่อไหร่มีเวลาอยู่กับลูก หมอปุ๊แนะนำว่าควรให้ลูกเข้าเต้า แต่คุณแม่ยุคปัจจุบันแม้อยู่กับลูกก็ไม่เข้าเต้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน

 

จุดอ่อนนมแม่และทัศนคตินมผง

อีกประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อนมแม่คือ ปัญหาด้านทัศนคติและความเชื่อในสังคม หมอปุ๊ให้ข้อสังเกตว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อราว 50 ปีก่อน การใช้นมผงแทนนมแม่ถือเป็นเรื่องปกติในความเข้าใจของคนทั่วไป

“จริงอยู่ว่านมผงก็มีประโยชน์ทดแทนนมแม่ได้ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะยื้อเวลาให้เด็กได้กินนมแม่ต่อสัก 6 เดือน แทนที่จะเปลี่ยนใจไปใช้นมผงก่อนเวลาอันควร”

หมอปุ๊มองว่า ทัศนคติในการใช้นมผง ส่วนหนึ่งเกิดจากอิทธิพลของโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่พยายามเข้าถึงการรับรู้ของคนในสังคมทุกช่องทาง ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากยังเกิดกับแทบทุกประเทศ

“นมแม่นั้นดี แต่จุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ หลังคุณแม่คลอดแล้ว หากไม่มีการกระตุ้นน้ำนมภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง น้ำนมแม่ก็จะไม่ไหล หรือหากกระตุ้นไม่เพียงพอ น้ำนมแม่ก็จะไหลน้อย กระทั่งหยุดไหล

“เมื่อนมแม่มีจุดอ่อนเช่นนี้แล้ว กลยุทธ์การตลาดจึงอาศัยช่องว่างนี้โดยการเอานมผงมาแจกให้ฟรี เพื่อให้นำไปใช้ป้อนเด็กในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เมื่อเด็กได้รับนมผงแล้ว เด็กก็อิ่ม และไม่ยอมดูดนมแม่ นมแม่จึงไม่ถูกกระตุ้นและแห้งไปในที่สุด”

ที่ผ่านมากลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมนมผงจึงมีทั้งการลด แลก แจก แถม รวมถึงการฝากนมผงให้กับโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพในลักษณะของการบริจาค เพื่อให้คุณแม่ได้นำไปทดลองใช้

“การลงทุนแจกนมผงฟรีในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ทำให้กระบวนการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่ถูกตัดตอนไปและแห้งไปในที่สุด หลังจากนั้นคุณแม่ก็ต้องพึ่งนมผงไปตลอด นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากของบริษัทนมผง”

 

 

เมื่อเด็กไม่มีสิทธิเลือก

ปี 2524 WHO และองค์การยูนิเซฟ ได้เชิญตัวแทนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคม และบริษัทผู้ผลิตนมผงรายใหญ่ มาร่วมเจรจาหากรอบแนวทางที่เหมาะสมในการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดนมผงและอาหารเสริมสำหรับเด็ก เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสเด็กในการได้รับนมแม่

กระทั่งสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) ได้ออกหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) หรือ ‘Milk Code’ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้ยอมรับในหลักเกณฑ์นี้ และประกาศใช้ในปี 2527

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ยังมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการต่างๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ โดยมีการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่ยังไม่มีเงื่อนไขข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน ปัญหานี้จึงนำมาสู่การผลักดันเป็นกฎหมายฉบับล่าสุดคือ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘พ.ร.บ.นมผง’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการให้ข้อมูลที่โอ้อวดหรือจูงใจให้ซื้อโดยไม่จำเป็น

“เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นมผง เพื่อปกป้องสิทธิของทารกและเด็กเล็กให้ได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมต่อการเลี้ยงดู เพราะทารกคือประชากรกลุ่มเปราะบาง เขาไม่สามารถเลือกอาหารเองได้ คนที่เลือกให้เขาคือคุณแม่และครอบครัว ฉะนั้น สิ่งที่แม่และครอบครัวควรได้รับคือ ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ”

กฎเหล็กนมผง

แพทย์หญิงชมพูนุทอธิบายถึงสาระสำคัญของกฎหมายนมผงว่า จุดมุ่งหมายจะเน้นไปที่การควบคุมผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม โดยมีมาตรการที่สำคัญ 2 ส่วนหลักๆ คือ 1) ควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดต่อสาธารณะ 2) ควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดผ่านสถานบริการสาธารณสุข

รายละเอียดที่สำคัญคือ ห้ามมีการโฆษณาโดยเด็ดขาด ได้แก่ มาตรา 14 ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารทารก (วัยแรกเกิดถึง 1 ขวบ) และเด็กเล็ก (1-3 ขวบ) และมาตรา 25 ห้ามโฆษณาอาหารเสริมสำหรับทารก นอกจากนี้ยังห้ามผู้ใดก็ตาม ทั้งดารา เซเล็บ ก็ไม่สามารถเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาได้

มาตรา 18 ห้ามใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม เช่น การให้คูปองส่วนลด การจัดโปรโมชั่นจูงใจ แจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ซื้อ 3 แถม 1 หรือลดราคาได้ แต่ห้ามติดป้ายประกาศ รวมทั้งห้ามติดต่อกับหญิงมีครรภ์และคนในครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เป็นต้น

“กฎหมายไม่ได้ห้ามลดราคาแบบถาวร เรายังเชื่อว่า นมผงไม่ใช่ยาพิษ นมผงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเด็กที่ไม่สามารถกินนมแม่ได้ ฉะนั้น ในเด็กที่ยังจำเป็นต้องใช้ก็ควรหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป”

นอกจากนี้ มาตรา 22 ห้ามบริษัทนมผงสาธิตการใช้อาหารทารกและเด็กเล็กในทุกที่ เพราะการให้ข้อมูลความรู้จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 16 กฎหมายยังเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถให้ข้อมูลได้เท่าที่ปรากฏอยู่บนฉลากซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเท่านั้น

ขณะเดียวกัน มาตรา 15 ว่าด้วยเรื่องฉลากอาหารสำหรับทารก และฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็ก จะต้องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สามารถแยกแยะจากอาหารอื่นได้โดยง่าย เนื่องจากที่ผ่านมาสร้างความสับสนแก่ผู้บริโภคค่อนข้างมาก

สำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการสาธารณสุข อาทิ มาตรา 23 ห้ามบริจาคอาหารทารกและเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข ยกเว้นในกรณีจำเป็นสามารถบริจาคให้ได้สำหรับเด็กทารกที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ มาตรา 19 การให้อุปกรณ์สิ่งของแก่หน่วยบริการ จะต้องไม่มีตราสัญลักษณ์สินค้าหรือทำให้เกิดการส่งเสริมการตลาดที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ และมาตรา 20 ห้ามให้สิ่งของ สิ่งจูงใจ แก่บุคลากรสาธารณสุข ยกเว้นให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยา ในราคาไม่เกิน 3,000 บาท

มาตรา 17 และมาตรา 29 ได้กำหนดว่า การให้ข้อมูลแก่บุคลากรสาธารณสุขจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบ และมาตรา 21 เรื่องการสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการ บริษัทสามารถสนับสนุนได้เฉพาะทุนให้แก่องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับแม่และเด็ก

หลัง พ.ร.บ.นมผง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ยังมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 9 ฉบับ เพื่อเติมเต็มรายละเอียดข้อบังคับให้มีความสมบูรณ์และกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน การเอาผิดผู้ละเมิดกฎหมาย การเฝ้าระวังและกำกับติดตาม

 

ราคาที่ต้องจ่าย

นมผงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธสำหรับผู้ที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ และสิ่งที่ต้องยอมรับคือรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หมอปุ๊กล่าวถึงงานศึกษาวิจัยเปรียบเทียบเรื่องรายจ่ายจากการใช้นมผง พบว่า ภาระของคุณแม่จะตกอยู่ที่ราวๆ 4,000 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกัน มีการศึกษาเปรียบเทียบอีกว่า กรณีผู้ที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับปานกลาง จะเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน ยังไม่รวมค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมา

“จะสังเกตได้ว่า ผลิตภัณฑ์นมผงที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดถูกแบ่งเป็นหลายเกรด แต่ละสูตรจะมีการโฆษณาว่าได้เติมสารอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป และการเติมยังทำให้มีมูลค่าเพิ่ม สามารถขายแพงขึ้นได้ เพราะแม่ก็อยากจะซื้ออะไรที่คิดว่าดีกว่าหรือดีที่สุดให้ลูกตัวเองอยู่แล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า นมผงในราคาที่แพงกว่าจะดีกว่าเสมอไป เพราะสูตรการเติมสารอาหารต่างๆ เป็นความลับทางการค้า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่าใคร หรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน

“คนส่วนหนึ่งอาจเข้าใจผิดว่า พ.ร.บ.นมผง เป็นกฎหมายที่ตอกย้ำความล้มเหลวของคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจและเกิดแรงต่อต้าน ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากกฎหมายนี้ไม่ใช่คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่คือแม่ที่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผง เพราะจะได้รับการปกป้องจากข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น และช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าคุ้มค่าแค่ไหนกับราคาที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ว่าต้องจ่ายทุกเดือน เดือนละ 4,000 บาท กับนมผงที่เขาคิดว่าดีเลิศ แต่คุณสมบัติกลับไม่ต่างจากนมผงราคา 2,000 บาท”

เช่นเดียวกัน สำหรับคุณแม่ที่มีความยากลำบากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถูกชักจูงให้รู้สึกว่ามีทางเลือกอื่น ก็จะยังมีความมุ่งมั่นในการให้นมแม่ต่อไปในช่วงระยะเวลายาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

หมอปุ๊ย้ำอีกครั้งว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับว่า เด็กทุกคนห้ามกินนมผง เพราะต้องยอมรับว่าในชีวิตจริงบางคนอาจจะเลือกไม่ได้ ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เอื้อให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่จำนวนหนึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งนมผง

“นมผงไม่ใช่ยาพิษ นมผงเป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ วิธีโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่บิดเบือนจนเกินข้อเท็จจริง”

นี่คือคำแนะนำจากหมอปุ๊-คุณแม่ยังสาว ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีต่อแม่และเด็กทุกคน

ไขข้อสงสัย ‘ไขมันทรานส์’

ควันหลงจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ผลิตภัณฑ์ที่มี ‘ไขมันทรานส์’ ยังคงสร้างความสับสนคลุมเครืออยู่ไม่น้อย ทั้งข่าวลือข่าวลวงที่แพร่สะพัดอยู่ตามโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน การให้ข้อมูลความรู้แก่สังคมยังคงมีอยู่อย่างจำกัด

ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการไขข้อสงสัยเกี่ยวกับไขมันทรานส์ให้กระจ่างอีกครั้ง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาในหัวข้อ อยู่อย่างไรในยุค (เกือบ) ไร้ไขมันทรานส์’ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมี รองศาสตราจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

อาจารย์เจษฎาเปิดประเด็นว่า “ตามความเข้าใจของคนทั่วไปที่บอกว่าเรากำลังถูกทำให้อยู่ในยุคไร้ไขมันทรานส์ แต่ในความจริงเราแค่ ‘เกือบ’ เท่านั้น และในฐานะที่ทำงานด้านการสื่อสารเผยแพร่ความรู้ไปด้วย คำถามที่ผมถูกถามมาตลอดก็คือ น้ำมันพืชกับน้ำมันหมู ตกลงน้ำมันชนิดใดดีกว่า?”

เป็นคำถามที่ฟังดูง่าย แต่อธิบายค่อนข้างยาก ซึ่งคำตอบของเจษฎาก็คือ ไม่ว่าน้ำมันชนิดใดก็ตาม แต่ไขมันทรานส์อันตรายที่สุด

ก่อนหน้านี้อาจารย์เจษฎาพยายามทำคลิปวิดีโอเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่การรับรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไปยังนับว่าน้อยมาก จนกระทั่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ได้มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้คนจึงเริ่มตื่นตัว แต่เป็นการตื่นตัวชนิดที่เรียกว่า แตกตื่นผสมไปกับความกลัว มากกว่าจะเป็นการตื่นตัวเพื่อจะเรียนรู้ ว่าอาหารหรือขนมชนิดใดบ้างที่สามารถรับประทานได้ และจริงๆ แล้วไขมันทรานส์คืออะไรกันแน่

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินเนอร์กรุ๊ป เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด เจน วองอิสริยะกุล ตอบคำถามของเจษฎาที่ตั้งคำถามจากความตระหนกที่ว่านี้ว่า เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร?

“จริงๆ บริษัทของผมเองอยู่ใน 3 สถานะด้วยกันก็คือ ผู้นำเข้า จัดจำหน่าย และผลิต ไว้ใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี ส่วนตัวก็ต้องทานขนมปัง เค้ก ทดสอบอยู่ทุกวัน เพื่อว่าจะดูว่าสูตรไหนดีไม่ดี” เจนบอกเล่าถึงภารกิจที่ตนเองรับผิดชอบ รวมถึงบทบาทของบริษัทในฐานะผู้นำเข้าชอตเทนนิ่ง (Shortening) หรือ เนยขาว และมาการีน ก่อนจะอธิบายถึงลักษณะของไขมันทรานส์ว่า

“ไขมันที่ผ่านกระบวนการ PHOs (partially hydrogenated oils) หรือกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงไป มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการจับตัวแข็ง เพื่อเอาไปใช้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป อย่างเช่นครีมเทียม ชอตเทนนิ่ง ซึ่งเบเกอร์รีทั้งหมดต้องมีส่วนผสมเหล่านี้ เท่าที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่าไขมันทรานส์มีผลเสียแก่ร่างกาย อเมริกาก็ประกาศตั้งแต่ปี 2558 ให้เวลาปรับตัว 3 ปี เพิ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ ซึ่งเราเองก็มีความระมัดวังเช่นกัน จึงเร่งถามไปยังผู้ผลิตว่าโรงงานของคุณมีกระบวนการผลิตแบบ PHOs หรือเปล่า?”

คำตอบที่เจนได้รับจากโรงงานคือ ไม่มีกระบวนการผลิตแบบ PHOs แต่อย่างใด นอกจากนี้เจนกล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการสุ่มตรวจบริษัทในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารมาตลอด 2 ปี นับตั้งแต่ที่อเมริกามีการประกาศเรื่องไขมันทรานส์ ดังนั้น เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศอย่างเป็นทางการ ทางบริษัทของเขาจึงไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากแต่ผู้บริโภคต่างหากที่ตื่นตระหนก ส่งผลให้ยอดขายเบเกอร์รีตกลงไป 50 เปอร์เซ็นต์ ในวันแรกหลังมีประกาศกระทรวง

“เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราจึงต้องติดประกาศไว้ที่หน้าร้านว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเราทุกชนิดไม่ได้ผ่านกระบวนการ PHOs ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดไขมันทรานส์ เราจึงสามารถบอกกับผู้บริโภคได้อย่างสบายใจ”

ขนิษฐา ธนานุวงศ์

ธรรมชาติของไขมัน

คำถามข้อต่อมาว่า ผู้บริโภคควรระวังไขมันประเภทต่างๆ อย่างไรบ้าง รองศาสตราจารย์ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้คำตอบว่า โดยธรรมชาติของไขมันแล้วแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไขมันอิ่มตัวกับไขมันไม่อิ่มตัว

“ในการเปลี่ยนไขมันบางประเภทให้เหมาะกับการใช้งาน จริงๆ แล้วเกิดขึ้นจากประเทศในซีกโลกตะวันตก เนื่องจากพืชที่ปลูกได้ดีในประเทศเหล่านั้นจะไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเราเป็นน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับใช้ทอด แต่ถ้าเป็นอเมริกา ยุโรป พืชน้ำมันหลักๆ ของเขาจะเป็นถั่วเหลือง ซึ่งไม่ได้มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงเท่าน้ำมันปาล์ม เพราะฉะนั้นจึงมีการดัดแปลงน้ำมันถั่วเหลืองให้มีความเหมาะสมในการใช้งานได้หลากหลายขึ้น คือต้องเติมไฮโดนเจนเข้าไปในโมเลกุล ซึ่งก็คือที่มาของกระบวนการที่เรียกว่า Hydrogenation”

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยมีทั้งมะพร้าว ปาล์ม อันเป็นแหล่งพืชน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวค่อนข้างมาก การปรับปรุงคุณสมบัติด้วยการเติมไฮโดรเจนบางส่วนจึงมีน้อยกว่าในซีกโลกตะวันตก

ทางด้านเจษฎากล่าวเสริมว่า ทั้งไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวที่มีกระบวนการ Hydrogenation จะต้องระวังไขมันทรานส์ที่มาจากการเติมไฮโดรเจนเข้าไปบางส่วน เช่น เนยเทียม มาการีน และหากผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเข้าไปจนเต็มแล้ว สิ่งที่ต้องระวังต่อมาก็คืออันตรายที่เกิดจากไขมันอิ่มตัว

เจน วองอิสริยะกุล และ นุชนาถ สุขมงคล ตัวแทนผู้ประกอบการ

ในมุมมองของผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการประกอบอาหาร นุชนาถ สุขมงคล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) อธิบายเสริมต่อว่า โดยความเข้าใจทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่าน้ำมันที่ผ่านกระบวนการก็จะเกิดความเข้าใจผิดๆ เมื่อไปอ่านฉลากบนขวดผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าผ่านกรรมวิธีแล้วเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

“จริงๆ แล้วน้ำมันที่ผ่านกรรมวิธีในท้องตลาดที่เราเห็นๆ จะเรียกว่าการผ่านกระบวนการกลั่นให้บริสุทธิ์ และผ่านกระบวนการกรอง เพื่อแยกของเหลวและของแข็งออกจากกัน เพราะฉะนั้นน้ำมันปาล์มที่ผลิตอยู่ในตลาดทั่วไปจึงมีไขมันทรานส์ แต่มีในปริมาณที่น้อยมาก สามารถพูดได้ว่าตัวผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชมีทรานส์น้อยมากจนถึงไม่มีเลย”

ทว่าน้ำมันอีกประเภทที่มีการพูดถึงกันจนเป็นกระแส คือ น้ำมันที่ผ่านกระบวนการ Hydrogenation ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่กระบวนการเติมไฮโดรเจน แต่เป็นกระบวนการเผาไหม้ไขมันให้ได้จุดหลอมเหลวตามที่ต้องการ หรือการเติมโอโดรเจนเข้าไปบางส่วนเพื่อให้ได้มาการีนตามที่ต้องการ เพื่อนำไปผลิตขนมปัง ขนมเค้ก ในการขึ้นรูปตามที่ต้องการได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า ชอตเทนนิ่งหรือมาการีน จะมีไขมันทรานส์เสมอไป

นอกจากนี้ ด้วยความที่ประเทศไทยมีน้ำมันปาล์มมากอยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์จำพวกเชตเทนนิ่งและมาการีน จึงไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการ PHOs ทุกๆ ผลิตภัณฑ์

ณัฐธิดา โชติช่วง

เลือกไขมันอย่างไรให้อิ่มสุขภาพ

จากมุมมองด้านโภชนาการ ณัฐธิดา โชติช่วง อาจารย์สาขาโภชนาการอาหาร ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เราไม่ควรบริโภคอาหารที่น้อยเกินไปหรือสูงเกินไป เช่นเดียวกับปริมาณของไขมัน โดยไขมันอิ่มตัวสูงนั้นให้พลังงานมากอยู่แล้ว นอกจากไขมันอิ่มตัวจากพืช จำพวกปาล์ม มะพร้าว ยังมีไขมันจากสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเรสเตอรอลสูง ยกเว้นบางชนิด เช่น ปลาที่มีไขมันไม่อิ่มตัวและเป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

“หน้าที่ของไขมันนอกจากให้พลังงานแก่ร่างกายแล้วยังเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ ช่วยการขนส่งและดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน และยังเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย แต่การรับประทานไขมันมากเกินไปจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคความดัน แต่ถ้ารับประทานน้อยไปก็ไม่เกิดผลดีเช่นกัน

“หากเรารับประทานไขมันน้อยไปอาจจะมีผลต่อผิวหนัง รวมถึงระบบทำงานต่างๆ ของร่างกาย เนื่องจากไขมันเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศที่ใช้สารตั้งต้นจากคอเรสเตอรอล โดยปริมาณของไขมันที่ควรได้รับในแต่ละวัน อยู่ที่ร้อยละ 44 กรัมของปริมาณที่ได้รับ หรือประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ซึ่งปริมาณนี้อาจดูเหมือนเยอะ แต่ที่จริงเป็นแค่ไขมันในสารตั้งต้น ไม่ใช่ไขมันในจำนวนอาหารทั้งหมด”

นอกจากนี้ ไขมันที่ควรเลือกรับประทาน ควรจะเน้นไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันที่มีโอเมก้า 3 โอมาก้า 6 ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าการรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ในน้ำมันถั่วเหลืองจะมีสัดส่วนไขมันโอเมก้า 6 มากกว่าโอเมก้า 3 หากรับประทานมากไปก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบในร่างกายขึ้น ดังนั้น จึงควรรับประทานให้เหมาะสมระหว่างโอเมก้า 3 หนึ่งส่วน โอเมก้า 6 ไม่เกินสี่ส่วน กล่าวให้จำเพาะกว่านั้นคือ ควรรับประทานไขมันที่มีโอเมก้า 3 มากกว่า ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากข้างขวดผลิตภัณฑ์น้ำมันต่างๆ ว่ามีปริมาณโอเมก้าอยู่ที่จำนวนเท่าไร เพื่อเลือกรับประทานให้เหมาะสม ไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป

รู้จักกฎหมาย ‘นมผง’ (Milk Code)

ปี 2545 องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำในการเลี้ยงดูทารกให้กินนมแม่อย่างเดียวตลอดช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น

ปี 2555 ที่ประชุมเวทีสมัชชาอนามัยโลกตั้งเป้าร่วมกันว่า ภายในปี 2568 เด็กทารกร้อยละ 50 จะต้องได้รับนมแม่ตลอดช่วง 6 เดือนแรก

ขณะที่ผลสำรวจของประเทศไทยในปี 2559 มีเด็กทารกเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก

เราต่างรู้ดีว่า ‘นมแม่ดีที่สุด’

ทว่าด้วยอิทธิพลของโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์นมผง กลับสร้างค่านิยมผิดๆ และกลายเป็นแรงโน้มน้าวให้คุณแม่มือใหม่ล้มเลิกความพยายามในการให้นมแม่

นี่จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.นมผง (Milk Code) เพื่อให้ทารกและเด็กเล็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ไม่ได้กีดกันการจำหน่ายนมผง และไม่ได้ห้ามเด็กกินนมผง แต่เพื่อยับยั้งการส่งเสริมการตลาดและการโฆษณานมผงที่อวดอ้างข้อมูลจนเกินจริง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560

 

นวัตกรรมเภสัชอัจฉริยะ

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยึใหม่ได้เข้ามามีบทบาทต่อทุกส่วน ในส่วนที่เกี่ยวกับเภสัช คงไม่อาจเลี่ยงได้ บรรดาเภสัชอัจฉริยะเหล่านี้ บางอันอาจยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ชี้ว่ามีแนวทางที่จะเกิดขึ้นต่อไป และใช้จริง อีกไม่นาน ไอโอที เอไอ บิ๊กดาต้า โรบอต ทรีดีปริ้นติ้ง ฯ คงค่อยๆทยอยมาในงานเภสัชฯ ตัวอย่างเช่น

1) เครื่องจ่ายยาอัจฉริยะประจำบ้าน  โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

https://news.thaipbs.or.th/content/268099

2)  เตือนภัยอัจฉริยะ  โดย ระบบหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

http://www.tumdee.org/alert/

3) กล่องยาอัจฉริยะ

4) ฉลากยาอัฉริยะ โรงพยาบาลค่ายกาวิละ

ฉลากยาอัจฉริยะ (Kawila Smart Labels)

5) หุ่นยนต์จัดยาอัจฉริยะ

https://www.vejthani.com/web-thailand/Vial-Filling-Systems-EV-220.php

6) ระบบคิวอัจฉริยะ (ระบบจัดคิวพบแพทย์อัจฉริยะ )

7) เม็ดยาอัจฉริยะ

http://www.vcharkarn.com/vnews/151834

 

เภสัชกร วิทยา กุลสมบูรณ์

รวบรวม

 

‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ กับความรับผิดชอบต่อสังคม

ในห่วงโซ่ ‘ธุรกิจค้าปลีกอาหาร’ ก่อนจะเดินทางมาถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านสายพานการผลิตที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน ผู้ผลิต ผู้ค้า จนถึงห้างซูเปอร์มาร์เก็ต

เราจะมั่นใจได้อย่างว่า ระหว่างทางก่อนที่สินค้าอาหารจะส่งตรงมาถึงมือเรานั้นไม่ได้เอารัดเอาเปรียบใคร

โครงการ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ โดยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมในประเทศไทย ได้ทำการศึกษาประเมินนโยบายด้านสังคม (Supermarkets Scorecard) ของ 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น

อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อจะได้รู้ว่า เบื้องหลังของราคาสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายมานั้น มีความเหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานนี้มากน้อยแค่ไหน

บนสมมุติฐานที่ว่า อำนาจต่อรองของผู้บริโภคจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้กับผู้ประกอบการได้

แบน ‘ไขมันทรานส์’ ต้านโรคร้าย

หลังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันหรืออาหารที่มีไขมันทรานส์ ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อีก 180 วันข้างหน้า ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ไขมันทรานส์อันตรายแค่ไหน และมีโทษต่อร่างกายอย่างไร

Infographic ชิ้นนี้ชี้ให้เห็นสถิติโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทย ไม่ว่าโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน

แน่นอนว่า ไขมันทรานส์คือตัวแปรสำคัญที่เป็นปัจจัยเร่งอย่างหนึ่งต่อการเกิดโรคที่ว่านี้

กล่องแพนโดราที่ชื่อว่าร่างกาย

เรื่อง: ลีนาร์ กาซอ

 

แม้การตรวจสุขภาพจะช่วยชีวิตคนได้มากมายเพราะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายคนกลับพูดตรงกันว่า การทดสอบบางอย่างเช่น สแกนร่างกาย อาจทำให้พบอาการบางอย่างที่ทำให้วิตกกังวล ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ แถมอาจส่งผลเสียต่อร่างกายอีก

แล้วการตรวจร่างกายยังจำเป็นหรือไม่?

การตรวจสุขภาพส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อการค้นหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคที่นำขบวนมาด้วยโรคหัวใจและมะเร็ง 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตมาจากหัวใจล้มเหลว และประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์สามารถป้องกันได้ ซึ่งการตรวจร่างกายทำให้รู้วิธีดูแลตัวเองได้เร็ว

แมตต์ เคียร์นีย์ (Matt Kearney) อายุรแพทย์และผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุขแห่งชาติเพื่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด (The National Clinical Director for Cardiovascular Disease Prevention) ดีใจที่คนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกการทดสอบจะให้ผลดีอย่างเดียว

“เราควรเปิดเผยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ เช่น หมอต้องยินยอมให้ผู้รับบริการรู้ทางเลือกและรายละเอียดมากกว่านี้”

ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษแนะนำให้คนที่มีอายุ 40-74 ปี ตรวจสุขภาพทุกห้าปี เพื่อเช็คสัญญาณเสี่ยงของโรคเส้นเลือดตีบ เบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม รวมถึงโรคเกี่ยวกับไตและหัวใจ เคียร์นีย์บอกว่า มีคำอธิบายชัดเจนถึงสาเหตุสนับสนุนการตรวจเช็คสัญญาณเหล่านี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดหลักฐานบ่งชี้ที่มีประสิทธิภาพ

“การตรวจเช็คและช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มตรวจร่างกายในระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติจะอ้างอิงจากหลักฐานทั้งหมด แม้ตอนนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานถึงประโยชน์ในระยะยาว แต่เรามีจำนวนผู้ป่วยโรคที่ป้องกันได้อย่างเบาหวานเพิ่มขึ้น ตอนนี้จึงต้องทำอะไรสักอย่างบ้าง”

โรคที่ไม่มีเชื้อให้ตรวจพบอย่างความดันโลหิตสูง กำลังเกิดขึ้นในวงกว้าง มูลนิธิหัวใจของอังกฤษประเมินว่า ผู้คนราว 7 ล้านคนไม่รู้ว่าตัวเองมีความดันเลือดสูง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหรือหลอดเลือดอุดตันจึงเพิ่มขึ้น ในจำนวนผู้ใหญ่ 1.5 ล้านคนในอังกฤษที่ตรวจร่างกายกับบริการสาธารณสุขแห่งชาติ จะพบคนที่มีความดันเลือดสูง 1 คนในทุกๆ 27 คน โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน แม้การรักษาจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่เคียร์นีย์คาดว่า การดูแลและปฏิบัติตัวที่ดีขึ้นจะช่วยป้องกันคนกลุ่มนี้จากโรคหลอดเลือดตีบได้ราว 14,500 คน และโรคหัวใจได้อีก 9,710 คน ภายในสามปีข้างหน้า

แต่ด้วยโรคที่พัฒนาไปตามยุคสมัย ทำให้หลายคนกังวลกับโรคระดับรุนแรงและเป็น rare item อย่าง มะเร็งต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ทำให้การสแกนร่างกายกลายเป็นที่นิยม รวมถึงการตรวจเลือด ทดสอบปอดและหัวใจ แถมยังมีการทดสอบเฉพาะเพศ เช่น การตรวจรังไข่และเต้านมของผู้หญิง การตรวจอัณฑะและต่อมลูกหมากของผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่มักถูกชวนให้ตรวจเลือดเพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากและแถมช่วยให้เห็นสัญญาณของโรคมะเร็งได้ด้วย

แต่ ศาสตราจารย์ทิโมธี วิลท์ (Timothy Wilt) จากวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ไม่แนะนำให้ทำอย่างนั้น

“เพราะได้รับประโยชน์น้อยและมีความเสี่ยงมาก ผลจากการทดลองสองครั้งใหญ่แสดงให้เห็นว่า การสแกนร่างกายไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก”

ศาสตราจารย์กิลเบิร์ต เวลช์ (Gilbert Welch) จากสถาบันเพื่อนโยบายด้านสุขภาพและเวชปฏิบัติดาร์ทมัธ (The Dartmouth Institute for Health Policy and Clinical Practice) คิดว่าต้องมีการเฝ้าระวังกันหน่อย เพราะมีงานวิจัยพบว่า ในกลุ่มวัยกลางคนสุขภาพดีกว่า 1,000 คน การสแกนร่างกายทำให้พบความผิดปกติโดยเฉลี่ย 2.8 แห่งในแต่ละครั้ง กว่า 1 ใน 3 ของพวกเขาต้องได้รับการติดตามอาการต่อไป

การสแกนร่างกายอาจกระตุ้นอาการและจบลงด้วยการผ่าตัด ร่างกายมนุษย์เต็มไปด้วยสิ่งผิดปกติมากมายและการฉายภาพสมัยใหม่นั้นละเอียดอ่อนมาก เราไม่รู้จะตีความทุกสิ่งที่เราเห็นยังไง

ผลการศึกษาของ เวลช์ พบว่า อเมริกามีการสแกนร่างกายโดยไม่จำเป็นเสมอ และมีอัตราการผ่าตัดไตสูงด้วย เขาคิดว่ามีความเชื่อมโยงกันในระหว่างสองเหตุการณ์นี้

“การสแกนร่างกายอาจเหมือนเปิดกล่องแพนโดรา ทำให้เกิดจุดบนตับ ปอด ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ รังไข่ ตับอ่อน และไต หมอเองยังไม่แน่ใจว่าคืออะไร เราจึงตั้งใจตรวจสอบซึ่งทั่วไปแล้วก็ต้องใช้เนื้อเยื่อและทำให้คุณต้องขึ้นเตียงผ่าตัด ยากที่จะรู้ว่ามีคนได้รับการช่วยเหลือจากขั้นตอนนี้แค่ไหน แต่เห็นได้ง่ายว่าพวกเขาได้รับผลเสีย ทั้งความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น การผ่าตัดที่ไม่ต้องมีก็ได้ และแม้การเสียชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยากจากขั้นตอนนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย”

นอกจากนี้ มาร์กาเร็ต แม็คคาร์ทนีย์ (Margaret McCartney) อายุรแพทย์ผู้ทำสารคดีเกี่ยวกับการสแกนร่างกาย ชี้ให้เห็นว่า การวินิจฉัยที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ดีกว่า เช่น กรณีการสแกนร่างกายครั้งใหญ่เพื่อเช็คมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเกาหลีใต้ ซึ่งตรวจพบผู้ป่วยมากกว่าการทดสอบครั้งก่อนหน้านั้นถึง 15 เท่า แต่อัตราการเสียชีวิตยังคงเดิม

แม็คคาร์ทนีย์คิดว่า ผู้คนยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทดสอบที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ความเครียดและความกังวล

อย่างไรก็ตาม เคียร์นีย์บอกว่า ทุกคนควรได้มีสิทธิเลือกการตรวจร่างกาย และใครที่พบอาการที่อธิบายไม่ได้หรือน่ากังวล มีประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวที่น่าเป็นห่วงก็ควรได้มีโอกาสพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบ่อยๆ ไม่ว่าจะตรวจร่างกายหรือไม่ก็ตาม โดยความเห็นส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ อยากตรวจอะไรก็ได้ แต่ก็ควรระมัดระวังให้มากๆ ด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com

ถามถึง ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เธอมีหัวใจบ้างไหม?

ในโลกปัจจุบันต้องยอมรับว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการค้าปลีกค้าส่ง เข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภคอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและการกินอยู่

ที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้ คือผู้กำหนดกติกาหลักให้กับสังคมมาตลอด โดยที่ผู้บริโภคซึ่งอยู่ในระดับปลายน้ำไม่ได้เข้ามามีบทบาทในเกมนี้อย่างที่ควรจะเป็น เมื่ออำนาจต่อรองระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค ขาดสมดุล จึงเกิดร่องรอยของความไม่เป็นธรรม

“ที่ผ่านมาเราสนใจเพียงแค่ที่มาของอาหาร แต่กลับไม่สนใจคนในกระบวนการที่นำมาซึ่งอาหารเหล่านั้น เราจึงพยายามสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาแนวทางพัฒนา สร้างความเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างทั่วถึงกัน” กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก กล่าว

นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เพื่อประเมินนโยบายด้านสังคม (Supermarkets Scorecard) ของ 7 ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย โดยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย

 

ส่วนแบ่งผลประโยชน์ในห่วงโซ่ค้าปลีกอาหาร

ตลาดธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) คิดเป็นสัดส่วนราว 15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นอกจากมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อตลาดแรงงาน โดยมีอัตราจ้างงานร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา

จากการศึกษาข้อมูล กิ่งกรระบุว่า ขนาดของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ภาคเกษตร ภาคการผลิตอาหาร กลับมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยมีการเติบโตไม่ถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ทว่าในความใหญ่โตของธุรกิจค้าปลีกกลับพบว่ามีผู้เล่นเพียงไม่กี่รายที่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากเค้กก้อนนี้

“จากมูลค่าตลาดปีละ 2.2 ล้านล้าน ในจำนวนนี้เป็นห้างใหญ่ 5 แสนล้าน และมีสัดส่วนรายได้จากการค้าปลีกคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าการขายทั้งหมด ซึ่งเรายังไม่สามารถจำแนกได้ชัดว่าเป็นหมวดอาหารจำนวนเท่าไร แต่เมื่อดูจากมูลค่าการใช้จ่ายของคนไทยโดยเฉลี่ย เราพบว่าเงินในกระเป๋า 100 บาท คิดเป็นค่าอาหารประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่าย เมื่อเราซื้อของกินหรือจับจ่ายของกินจากห้างมากขึ้น มูลค่าของตลาดการค้าปลีกในหมวดอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลกซึ่งดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด กล่าวต่ออีกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความสำคัญอย่างมากในการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ขณะนี้ประเทศไทยมีเกษตรกร 20 ล้านคน มีผู้บริโภค 65 ล้านคน ตรงกลางคือผู้ประกอบการ ผู้ค้า ผู้แปรรูปอาหาร และพ่อค้าคนกลางทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้บริโภค จะเห็นว่ามีผู้เล่นในกระบวนการค้าอาหารจำนวนไม่มากนัก แต่เชื่อมโยงผู้คนมหาศาลเข้าด้วยกัน ฉะนั้น ผู้บริโภคจึงควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกระบวนการเหล่านี้ด้วย

ซูเปอร์มาร์เก็ต
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

พลังผู้บริโภคมีอยู่จริง

ข้อมูลของอ็อกแฟมประเทศไทย ได้ทำการศึกษาตัวอย่าง 64 ราย จากประมงพื้นบ้าน พบว่าอยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่มั่นคงทางอาหารค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในต่างประเทศก็พบเช่นเดียวกันว่า ผู้แปรรูปหรือแรงงานในการผลิตอาหารขนาดเล็กกำลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงทางอาหารหรืออาหารไม่เพียงพอ ซึ่งหมายความว่าภาคการผลิตกำลังประสบปัญหา เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

“เราจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไปห้างเจ้าประจำ แล้วห้างนั้นทำดีมากขึ้น เราก็จะมีความสุข จึงเป็นที่มาในการเรียกร้อง ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ของเรา ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นเจ้าประจำของเรา ถ้าสามารถปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดหา ปรับปรุงกระบวนการทำงานกับผู้ประกอบการ กระบวนการทำงานกับผู้ผลิตรายย่อยให้มีความเป็นธรรมในห่วงโซ่อาหารมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในมิติทางสังคมของเรา”

สมมุติฐานที่ว่า อำนาจต่อรองของผู้บริโภคสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้กับผู้ประกอบการได้ ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยันว่า พลังของผู้บริโภคนั้นมีอยู่จริง

“เราอาจจะคิดว่าแค่คนหนึ่งคนจะทำอะไรได้บ้าง แต่จริงๆ เราทำได้มาก เพราะสิ่งแรกที่เราปะทะอยู่เสมอคือ เงินที่เราจ่ายไปได้ของมาคุ้มค่าไหม สินค้าได้มาตรฐานบริการไหม และถ้ามองไปไกลว่านั้นจะพบว่า แม้เราจะได้สินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่เหมาะสมกับเงินที่จ่ายไปแล้ว แต่สิ่งที่เราทำได้มากกว่าคือเบื้องหลังของบริการเหล่านั้นไปเอาเปรียบใครหรือเปล่า”

ในกระบวนการประเมินความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประประกอบการ ทัศนีย์กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากแนวนโยบายของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งนอกจากจะต้องอาศัยข้อมูลเป็นตัวชี้วัด ยังต้องขึ้นอยู่กับความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูล

เราเข้าถึงข้อมูลนั้นได้โดยการที่เขาเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่กับผู้ประกอบการบางรายเราอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะเขาไม่เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ตระหนักในมิติเหล่านี้ หรือตระหนักแล้ว แต่เราไม่รู้ เราเข้าไม่ถึง ฉะนั้น สิ่งที่เราอยากเสนอสำหรับเขา ในฐานะที่เป็นผู้จัดซื้อรายใหญ่ของผู้บริโภคก็คือ เราอยากให้เขาขยายมิติในเรื่องการคุ้มครองแรงงาน เรื่องความโปร่งใสในนโยบาย เรื่องเกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรี”

ทัศนีย์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นิตยสารฉลาดซื้อพยายามนำเสนอมาโดยตลอดคือ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ทุกคนใช้ข้อมูลนั้นประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภค โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม และส่งผลให้เกิดการยกระดับสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

ซูเปอร์มาร์เก็ต
ทัศนีย์ แน่นอุดร

4 มิติของความยั่งยืน

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ ตัวแทนจากอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวถึงกรอบการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของบริษัทค้าปลีกไทยเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน มิใช่การพิจารณาเฉพาะเรื่องอาหารและความปลอดภัย แต่เกณฑ์การประเมินจะมุ่งเน้นมิติด้านความยั่งยืนเป็นหลัก โดยอาศัยกรอบการประเมินจากองค์การอ็อกแฟมในต่างประเทศ

นอกจากนี้ การประเมินดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยคำนึงถึง 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ว่ามีการออกนโยบาย การกำกับดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อาหาร 2) มิติด้านแรงงาน ประกอบไปด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงาน อาทิ แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมถึงการมีนโยบายแรงงานตามมาตรฐานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ 3) มิติด้านผู้ผลิตรายย่อย มีองค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Right Impact Assessment: HARIAs) ในกิจกรรมห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย และ 4) มิติด้านสตรี โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน

กรอบการประเมินดังกล่าวได้ถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบ จากผู้เชี่ยวชาญของอ็อกแฟมและองค์กรภาคประชาสังคมในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีการตรวจสอบให้สอดคล้องและเทียบเคียงกับการประเมินชั้นนำอื่นๆ

“กรอบในการประเมินครั้งนี้ เราดูจากนโยบายสาธารณะหรือข้อมูลสาธารณะที่เราสามารถเข้าถึงได้ หมายความว่าเป็นข้อมูลที่คนทั่วไปหรือผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจากเว็บไซต์ รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนขององค์กร รวมไปถึงข่าวสารหรือสถานการณ์ต่างๆ” ธีรวิทย์อธิบาย

“เมื่อเรามีตัวชี้วัดที่ดี มีวิธีการที่ดี อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือขั้นตอนการทำงาน เราไม่ได้ทำงานแบบเชิงรุกเพียงฝ่ายเดียว หรือการตอบแบบสอบถาม แต่เราเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับซูเปอร์มาร์เก็ต มีการส่งจดหมายแจ้งว่าเราจะทำการประเมิน เพื่อเปิดโอกาสให้ห้างเหล่านั้นได้นำเสนอผลงานหรือสื่อสารนโยบายต่อสาธารณะ”

ซูเปอร์มาร์เก็ต
ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ

เปิดผลคะแนน 7 ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่

ในการประเมินครั้งนี้ ธีรวิทย์เล่าว่า ภาคประชาสังคมไม่สามารถที่จะประเมินทุกห้างได้ทั้งหมด จึงเริ่มจากขนาดธุรกิจ มูลค่า หรือรายได้ ยิ่งสเกลใหญ่ยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จัก จึงเป็นที่มาของการประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Makro, Tesco Lotus และ Vila Market

ผลการประเมินพบว่า ในมิติด้านความโปร่งใสหรือความรับผิดชอบ มี 3 รายที่ได้แต้มนี้คือ CP Fresh Mart, Makro และ Tesco Lotus จากการที่บริษัทได้ออกมาประกาศในรายงานความยั่งยืน สนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชน บริษัทมีการระบุรายชื่อผู้บริหารที่มีความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน

มิติด้านแรงงาน ธีรวิทย์ กล่าวว่า “ผู้เล่นหน้าเดิม รายเดิมก็จะได้แต้ม ได้แก่ CP Fresh Mart, Makro และ Tesco Lotus ถามว่าในหมวดนี้คนที่ได้คะแนนทำอะไรบ้าง อย่างแรกที่เราเห็นชัดคือ บริษัทมีนโยบายด้านสิทธิแรงงานและนำมาปรับใช้กับ Supplier เพื่อเป็นหลักปฏิบัติว่าต้องไม่มีการใช้แรงงานบังคับ ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็ก มีการจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสม แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

มิติด้านการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตรายย่อย นอกจากผู้ประกอบการทั้ง 3 รายแล้ว ยังมีห้าง Big C ที่ได้คะแนนในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

“มิตินี้มีความโดดเด่นมากในซูเปอร์มาร์เก็ตไทย เราจะเห็นข้อมูลของห้างเยอะมาก มีห้างหลายห้างที่ทำงานกับภาครัฐหรือทำงานกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย มีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกร เช่น นโยบายการรับซื้อที่เป็นธรรม สนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการสนับสนุนในเรื่องความรู้และเทคโนโลยี”

สำหรับมิติด้านสิทธิสตรี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเป็นวาระสำคัญในระดับสากล แต่ในหมวดนี้มีห้างที่ได้คะแนนเพียงรายเดียวคือ Tesco Lotus

ซูเปอร์มาร์เก็ต

จากผลการประเมินทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบ (Corporate Social Responsibility) ครอบคลุมทั้งในด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรรายย่อย ด้านสตรี และด้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก

ทัศนีย์ แน่นอุดร กล่าวเสริมขึ้นว่า หลังจากการประเมินครั้งนี้แล้วผู้บริโภคยังสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการห้างค้าปลีกผ่านทางเว็บไซต์ที่ชื่อ dearssupermarkets.com โดยผู้บริโภคสามารถที่จะแสดงความคิดเห็น เสนอแนวทางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภคจะสามารถแสดงพลังได้

“ถ้าผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้านี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้เอาเปรียบใคร ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับผู้เกี่ยวข้องในระบบการผลิต เราก็สามารถเลือกได้ เปรียบเทียบได้ ฉะนั้น ขอให้ใช้พลังของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าคิดว่าเราเป็นคนเล็กคนน้อยที่ทำอะไรไม่ได้” ทัศนีย์กล่าวทิ้งท้าย

เวลาหน้าจอของเด็กๆ รุ่นใหม่…แค่ไหนถึงพอดี?

เอาล่ะ ว่ากันตามตรง อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป ไอแพด แท็บเล็ต หรือแก็ดเจ็ตมากมาย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปกติของเราไปแล้ว ภาพที่เด็กเล็กได้เห็นระหว่างเติบโตขึ้นมาคือ ภาพที่ผู้ใหญ่กด ไถ จิ้ม พิมพ์ คุยกับอุปกรณ์เหล่านี้

คำถามอมตะคือ “แล้วไอทีกับเด็กน้อยควรได้พบกันหรือไม่”

“สมาร์ทโฟนกลายเป็นชิ้นส่วนเทคโนโลยีที่จำเป็นที่สุดที่เราครอบครอง มันเชื่อมต่อเรากับเพื่อนๆ ทำให้เราอัพเดทกับทั่วโลก และทำให้เราได้เก็บช่วงเวลายิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตได้” เลียม ฮาวลีย์ (Liam Howley) กล่าว เขาเป็นหนึ่งในทีม musicMagpie เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่ควบคุมการสำรวจนี้

“ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ในการสำรวจของเราบอกว่า อายุ 11 ปีเป็นวัยที่พอรับได้สำหรับเด็กในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ เราได้เห็นว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบต่างมีโทรศัพท์มือถือในครอบครอง และเกือบครึ่งของเด็กเหล่านี้ใช้เวลามากกว่า 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กับอุปกรณ์ของพวกเขา”

อายุของเด็กๆ ที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องแรกน้อยลงเรื่อยๆ และหลายคนต่างคิดว่าไม่มีอายุจำกัดที่เหมาะสมแน่นอนกับการเป็นเจ้าของมือถือ มีพ่อแม่อีกมากที่จำกัดเวลาการใช้เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กๆ ไม่ได้อยู่แต่กับหน้าจอ รวมถึงสำรวจสิ่งที่พวกเขาดาวน์โหลด และอีกหลายขั้นตอนที่ใช้จำกัดการใช้งาน

ขณะเดียวกัน มีรายงานจาก วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน (London School of Economics) ชี้แจงว่า การใช้สื่อดิจิตอลไม่ได้ทำให้เด็กสิงอยู่แต่ในห้องนอนกับจอของเขา ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต อันที่จริงแล้ว เด็กๆ จะช่วยดึงครอบครัวให้มาอยู่ร่วมกัน เช่น ดูหนังด้วยกัน เล่นเกมด้วยกัน และใช้แอพส่งข้อความกับลูกๆ ของพวกเขา

“เราพบว่าความกังวลของผู้ปกครองเรื่องการกำหนดเวลาใช้จอนั้นไปไกลกว่าความกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาที่เด็กๆ ได้รับรู้” อลิเซีย บลูมรอสส์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว “แทนที่จะห่วงเรื่องกำหนดเวลา ฉันอยากกระตุ้นให้พ่อแม่คิดว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้หรือเปล่า แล้วมันช่วยให้เขาเชื่อมโยงกับโลกได้ไหม”

มุมมองของเธอสะท้อนถึงการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวมากขึ้น เมื่อปี 2016 สถาบันกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ได้แก้ไขคำแนะนำเรื่องเวลาหน้าจอของเด็กๆ จากเคยบอกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบควรอยู่ห่างจากหน้าจอเหล่านั้นไปเลย เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้เด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบใช้เวลากับหน้าจอได้วันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง และเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสื่อดิจิตอลรูปแบบดั้งเดิม เช่น การ์ตูนในโทรทัศน์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เมื่อเทียบกับสื่อดิจิตอลรูปแบบอื่นที่สามารถโต้ตอบและมีศักยภาพในการสร้างสรรค์มากขึ้น

เจนนี แรเดสกี (Jenny Radesky) กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานนโยบายคำแนะนำดังกล่าว ระบุว่า “พ่อแม่ควรเป็นที่ปรึกษาด้านสื่อให้กับลูกๆ ของพวกเขา นั่นหมายถึงการสอนให้เด็กๆ รู้จักใช้มันเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ เรียนรู้ และเชื่อมโยง”

สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 ปี มีการศึกษาที่แนะนำว่า พวกเขาสามารถสรุปความรู้เกี่ยวกับโลกได้ผ่านกิจกรรมบนหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วรรณกรรม ทักษะทางสังคม และพฤติกรรมที่เหมาะสม อันที่จริงแล้ว การเขียนโปรแกรมได้อยู่ในหลักสูตรระดับประถมของอเมริกันมาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อเป็นการรับรองว่า เด็กๆ ทุกวันนี้จะเติบโตขึ้นในโลกและการจ้างงานที่มีสื่อดิจิตอลเป็นผู้กำหนด

ย้อนกลับไปในปี 2013 ผลการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์วิศวกรรม มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้คาดการณ์ว่า 47 เปอร์เซ็นต์ของงานในปัจจุบันอาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายใน 20 ปี หากต้องการให้เด็กๆ โตขึ้นมาเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ ไม่ใช่ถูกพวกมันแทนที่ เราก็ต้องสอนให้พวกเขาเรียนรู้ในสื่อดิจิตอล

นอกจากนี้ รายงานชิ้นใหม่จากจากยูนิเซฟก็ได้เปิดเผยผลสำรวจประสบการณ์ออนไลน์ของเยาวชนทั่วโลก และพบว่าวัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อกันมากที่สุด 1 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกคือกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 18 ปี โดยพวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลสื่อดิจิตอลเพื่อการศึกษาและทำงาน บางครั้งวัยรุ่นก็ใช้เพื่อมีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้นด้วย

แต่เมื่อมีด้านสว่างก็ย่อมมีด้านมืด – โลกออนไลน์ยังคงมีเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ สื่ออนาจารเด็ก และการค้ามนุษย์ ซึ่งอินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้ประเด็นเหล่านี้รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่น่าเป็นห่วงเพราะพ่วงการใช้อินเทอร์เน็ตกับผลต่อปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าไปด้วย

ทีมผู้เขียนรายงานของยูนิเซฟระบุว่า กุญแจสำคัญคือ “ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป” และ“ใส่ใจกับสิ่งที่เด็กๆ ทำในโลกออนไลน์มากขึ้น ใส่ใจกับช่วงเวลาที่พวกเขาออนไลน์ให้น้อยลง”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
telegraph.co.uk