ส่อง ‘เฟซบุ๊ค’ พื้นที่ขายฝันของคนอยากผอม

‘ผอมด่วนทันใจ’ … ‘สวยใสเหมือนพริตตี้’

ประโยคโดนๆ ที่มักจั่วอยู่ในคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน พบได้ทั่วไปบนหน้าฟีดเฟซบุ๊ค ทำหน้าที่เป็นถ้อยคำเชิญชวนให้ทั้งสาวเล็กสาวใหญ่ลองซื้อหามารับประทาน เผื่อจะได้หุ่นดีแบบทันใจ

คนส่วนใหญ่มักเข้าถึงโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้จากพื้นที่เฟซบุ๊คเป็นหลัก และถูกดึงดูดจากคำโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริง ทำให้รู้สึกอยากลอง อยากหุ่นดีเหมือนดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์ จนหลงเชื่อซื้อมารับประทาน กระทั่งส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะมีข่าวเศร้าสลดให้เห็นเป็นอุทาหรณ์อยู่บ่อยครั้ง แต่นานวันเข้าข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏอาจทำให้ผู้คนรู้สึกชินชา จนหลงลืมถึงผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชีวิตเช่นนี้ก็ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในแทบทุกช่องทางการสื่อสาร ยากที่จะควบคุมปราบปราม

ฐิติพร อินศร
เภสัชกรหญิงฐิติพร อินศร

จากผลการศึกษาเรื่อง ‘แนวทางจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ปลอดภัยในสื่อสังคมประเภทเฟซบุ๊ค’ ของ เภสัชกรหญิงฐิติพร อินศร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ที่นำเสนอต่อวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) พบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักมักใช้ช่องทางเฟซบุ๊ค เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและกว้างขวาง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเสี่ยง

เภสัชกรหญิงฐิติพรทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 โดยใช้คำค้นว่า ‘อาหารเสริมลดน้ำหนัก (ตามด้วยชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์ที่ถูก อย. ประกาศว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่บริสุทธิ์)’ พบว่ามีทั้งสิ้น 22 ผลิตภัณฑ์ รวม 178 เพจ โดยสินค้าที่โฆษณาลงในเฟซบุ๊คทั้งหมดล้วนผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตทำการโฆษณาก่อน สิ่งที่ผู้ประกอบการมักจะนำมาอ้างให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจ มีเพียงตัวเลขที่จดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้บ่งบอกว่าสินค้านั้นได้รับอนุญาตให้ทำการโฆษณาตามกฎหมายหรือไม่

ผลการศึกษาพบว่า ในเพจเฟซบุ๊คทั้ง 178 เพจ มีการโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เคยถูก อย. ประกาศว่าเป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 14.05 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เพจที่มีการจำหน่ายก่อนมีประกาศ อย. คิดเป็น 72.47 เปอร์เซ็นต์ และเพจที่ปิดตัวไปแล้ว 13.48 เปอร์เซ็นต์

อันตรายที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผสมของสารไซบูทรามีน (Sibutramin) ที่เคยถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนักมาก่อน แต่หลังจากตรวจพบว่ามีผลอันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้หัวใจวายได้ จึงเพิกถอนสารตัวนี้ออกไป แม้ไซบูทรามีนจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว แต่ยังคงพบการลักลอบนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ที่โฆษณาว่ารับประทานแล้วจะน้ำหนักลด หุ่นสวย

ไซบูทรามีน เป็นสารอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิตจากการหลงเชื่อว่าช่วยลดความอ้วน เมื่อได้รับสารนี้เข้าไปจะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ระบบหัวใจและสมองถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมียายอดฮิตไม่แพ้กันที่มักนำมาเป็นส่วนผสมในการขับไขมัน นั่นคือ เซนิคาล (Xenical) และ บิซาโคดิล (Bisacodyl) ซึ่งเป็นยาระบาย จึงทำให้ผู้ประกอบการนำยากลุ่มเหล่านี้มาเป็นคีย์เวิร์ดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ช่วยเร่งขับถ่าย ขับไขมัน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามท้องตลาด

“ก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ขอให้พึงสังเกตไว้เลยว่า คำโฆษณาใดก็ตามที่รู้สึกว่าฟังแล้วเกินจริง ขอให้คิดก่อนไว้เลยว่ามีสารอันตรายแน่นอน เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดที่จะทำให้ผอมได้จริงหรือสวยได้จริงในชั่วพริบตา ถ้าไม่ผสมสารอันตราย”

เภสัชกรหญิงฐิติพรบอกอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการใดที่จะควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่องทางเฟซบุ๊คได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการซื้อขายกันโดยไม่มีหน้าร้านที่ชัดเจนเป็นอุปสรรคที่ทำให้เจ้าหน้าที่ค้นหาผู้กระทำผิดได้ยาก และถึงแม้จะมีกฎหมายหลักที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ด้วยบทลงโทษที่ไม่รุนแรง มีแค่โทษปรับ ยังถือว่าเป็นโทษสถานเบาเมื่อเทียบกับอันตรายถึงแก่ชีวิต

มาตรการและแนวทางจัดการปัญหา เภสัชกรหญิงฐิติพรมีข้อเสนอแนะว่า สามารถเริ่มต้นได้จากตัวของผู้บริโภคเอง โดยการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง มีการรณรงค์ต่อเนื่อง ให้ทุกคนดูแลเอาใจใส่คนในครอบครัว หมั่นสังเกตและพูดคุยกัน ที่สำคัญต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยดูแลสอดส่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยใช้เครื่องมือสื่อสารให้เป็นประโยชน์

“สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาท ทุกคนต้องช่วยกันจับตามอง เฝ้าระวัง หากเห็นอะไรผิดสังเกตก็ต้องช่วยกันประโคมข่าว ให้หน่วยงานรัฐตื่นตัวและเร่งแก้ปัญหา เพื่อควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในเฟซบุ๊คให้หมดไป”

ไปโดนตัวไหนมา! ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2530 เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่บังคับใช้มานานกว่า 30-50 ปี ล้าสมัยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบเรื่องยา จึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย แต่ด้วยเนื้อหาในการยกร่างเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจากแวดวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอันต้องชะงักไป

ปี 2561 อย. พยายามปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดได้เปิดรับฟังความเห็นในช่วงวันที่ 17-31 กรกฎาคม 2561 ผ่านทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th พร้อมอ้างว่ามีความโปร่งใส ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

หากเป็นจริงอย่างที่ อย. กล่าวอ้าง เหตุใดจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง องค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมหลากหลายสถาบันต่างพากันตบเท้าคัดค้าน ลุกลามถึงขั้นเรียกร้องให้ต้องยกเลิการเสนอร่างกฎหมายต่อไปยัง ครม. ดังเช่นเครือข่ายเภสัชกรทั่วประประเทศที่ตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ ‘ลับ-ลวง-พราง’ ของ อย. เอื้อประโยชน์ประชาชนจริงหรือ

จุดเสี่ยง-จุดเสื่อมในร่าง พ.ร.บ.ยา

แปลกแต่จริง!

นานาประเทศทั่วโลกเขามีการจัดระบบหมวดหมู่ ‘ประเภทยา’ ที่เข้าใจง่าย ไม่คลุมเครือ มีการแบ่งหน้าที่กันชัดระหว่างผู้สั่งจ่ายยา ผู้ปรุงยา และผู้ขายยา

มีแต่ ‘ไทยแลนด์โอลี่’ ที่แบ่งประเภทยาออกเป็น 4 แบบ ดูแล้วแปลกพิลึก

ดราม่าร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ ผลดี-ผลร้าย ไม่ได้ตกอยู่ที่ใคร แต่ตกอยู่ที่ประชาชนผู้บริโภคยาอย่างเราๆ นี่เอง

โรงเรียนปลอดกาแฟในเกาหลีใต้

ปี 2013 เกาหลีใต้ห้ามขายกาแฟและเครื่องดื่มมีคาเฟอีนให้แก่นักเรียน แต่ในโรงเรียนไม่ได้มีแค่เด็ก เพราะผู้ต้องการเครื่องดื่มรสขมอีกกลุ่มหนึ่งก็คือครู ในโรงเรียนจึงมีตู้ขายกาแฟไว้บริการครู ซึ่งในทางปฏิบัติ นี่ก็เป็นช่องให้เด็กนักเรียนเข้าถึงกาแฟได้

เกาหลีใต้นับเป็นประเทศที่มีการแข่งขันด้านการศึกษาสูง เครื่องดื่มยอดฮิตในหมู่นักเรียนคือกาแฟและบรรดาเครื่องดื่มให้กำลังงานทั้งหลาย เพื่อให้รู้สึกตื่นตัว กะปรี้กะเปร่า โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบ ที่พวกเขาต้องอดหลับอดนอนอ่านหนังสือเพื่อเข้าสู่สมรภูมิในวันรุ่งขึ้น

แต่หลัง 14 กันยายนเป็นต้นไป จะไม่มีการขายกาแฟในโรงเรียนประถมและมัธยม ทั้งในร้านค้าและตู้กดเครื่องดื่ม เรียกได้ว่าโรงเรียนกลายเป็นสถานที่ปลอดกาแฟ!

กระทรวงอาหารและยา (Ministry of Food and Drug Safety) พยายามเปลี่ยนมุมมองของเด็กและวัยรุ่นให้หันมาหาทางเลือกอื่นที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยการห้ามขายกาแฟในโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดการบริโภคอาหารแคลอรีสูงและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หลังมีรายงานว่าเด็กบางคนมีอาการใจสั่น หน้ามืด ตาพร่า และนอนไม่หลับ

นโยบายนี้เกิดขึ้นตามหลังการห้ามขายเครื่องดื่มให้กำลังงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการห้ามโฆษณาฟาสต์ฟู้ดทางทีวี ขนมหวาน และเครื่องดื่มคาเฟอีนสูง ในช่วงเวลาที่เด็กๆ นั่งอยู่หน้าจอทีวี

กาแฟนับเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในหมู่ชาวเกาหลีใต้ ตั้งแต่การเข้ามาของกองทัพสหรัฐในทศวรรษ 1950 ปลายปี 2016 ในกรุงโซลมีร้านกาแฟกว่า 18,000 แห่ง  ข้อมูลจาก The Korea International Trade Association ระบุว่า เกาหลีใต้นำเข้ากาแฟมากที่สุดอันดับ 7 ของโลก ในปี 2017 มูลค่าการนำเข้านี้สูงถึง 700 ล้านดอลลาร์ และบริษัทวิจัยด้านการตลาด Euromonitor ให้ข้อมูลว่า ชาวเกาหลีใต้ดื่มกาแฟเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในเอเชีย 181 ถ้วยต่อปี เปรียบเทียบกับอังกฤษคือ 151 ถ้วย แต่ยังเป็นรองสหรัฐที่มีตัวเลขเฉลี่ยที่ 266 ถ้วยต่อคนต่อปี

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
japantimes.co.jp

สรุปของสรุป พ.ร.บ.ยา ฉบับลับลวงพราง

พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2530 เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่บังคับใช้มานานกว่า 30-50 ปี ล้าสมัยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบเรื่องยา จึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย แต่ด้วยเนื้อหาในการยกร่างเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจากแวดวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอันต้องชะงักไป

ปี 2561 อย. พยายามปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดได้เปิดรับฟังความเห็นในช่วงวันที่ 17-31 กรกฎาคม 2561 ผ่านทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th พร้อมอ้างว่ามีความโปร่งใส ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

หากเป็นจริงอย่างที่ อย. กล่าวอ้าง เหตุใดจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง องค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมหลากหลายสถาบันต่างพากันตบเท้าคัดค้าน ลุกลามถึงขั้นเรียกร้องให้ต้องยกเลิการเสนอร่างกฎหมายต่อไปยัง ครม. ดังเช่นเครือข่ายเภสัชกรทั่วประประเทศที่ตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ ‘ลับ-ลวง-พราง’ ของ อย. เอื้อประโยชน์ประชาชนจริงหรือ

หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ฉุดรั้งให้ประเทศถอยหลังแทนที่จะก้าวหน้า โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของระบบยา หลักการคุ้มครองผู้บริโภค และหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างวิชาชีพ ซึ่งสรุปปัญหาสำคัญได้ ดังนี้

รับฟัง…แต่ไม่แก้ไข

ภายหลังจากการเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา มีความเห็นที่ลงตัวแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาสาระทั้งหมด มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ลงตัว และเชื่อมั่นว่ากฎหมายนี้มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในหลายประเด็น

ขณะที่คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพัฒนาและติดตามกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่มีผลต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม ได้มีความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ยา โดยสรุปความได้ว่า แม้ อย. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่กลับไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง มีเพียงการเลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง ทั้งยังตัดหลักการที่ดีในร่างกฎหมายฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทิ้ง นั่นหมายถึง อย. ไม่ให้ความสำคัญกับหลักการของกฎหมาย และไม่ได้นำข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นไปทบทวนปรับปรุง

เมื่อขั้นตอนการรับฟังความเห็นไม่เป็นไปอย่างโปร่งใสเช่นนี้แล้ว จึงนำมาสู่การคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคมอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้

แบ่งประเภทยาผิดเพี้ยน

ร่าง พ.ร.บ.ยา มีการ ‘แบ่งประเภทยา’ ผิดไปจากหลักสากล โดยแบ่งออกเป็น

  1. ยาควบคุมพิเศษ
  2. ยาอันตราย
  3. ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ
  4. ยาสามัญประจำบ้าน

แตกต่างจากหลักการสากลที่แบ่งประเภทยาออกเป็น

  1. ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (Prescription Only Medicines)
  2. ยาที่เภสัชกรเป็นผู้จ่าย (Pharmacy Only Medicines)
  3. ยาที่ประชาชนเลือกซื้อได้เอง (General sale list)

การปล่อยให้มี ‘ยาประเภทที่ 3’ (ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ) ซึ่งมีอันตรายมากกว่ายาสามัญประจำบ้าน แต่กลับได้รับการประกาศยกเว้น และการปล่อยให้ยาอันตรายหลายรายการปรับระดับมาเป็นยาประเภทนี้ รวมทั้งเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยา

ใครๆ ก็จ่ายยาได้

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ ถือเป็นการลดมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคลงหลายประการ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ มีอำนาจในการสั่งจ่ายยาได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการธุรกิจ จะทำให้คลินิกสุขภาพสามารถอ้างเรื่องการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา และมีลักษณะการดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกับร้านยา

ข้อสังเกตเรื่องนี้คือ ผู้ที่ได้รับการยกเว้นในการจ่ายยา มีมาตรฐานการควบคุมต่ำกว่าผู้รับใบอนุญาตขายยา และเมื่อทำผิดกลับได้รับโทษเบากว่าผู้รับใบอนุญาตขายยาซึ่งมีมาตรฐานสูงกว่า กล่าวคือต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท แต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว บางกรณีมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก และระวางโทษสูงกว่า 10 เท่า

ทำเพื่อพยาบาล/รพ.สต. หรือผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพอื่น จริงหรือ?

จากเหตุผลที่ อย. หยิบยกขึ้นมาว่า การเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นมีอำนาจสั่งจ่ายยา ก็เพื่อเอื้อต่อการทำงานของพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้สามารถจ่ายยาได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายรองรับ

ภก.ปรุฬห์ อธิบายว่า ในความเป็นจริง การผลิตยา การขายยา รวมถึงการจ่ายยานั้น เป็นการกระทำโดยกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันหรือรักษาโรค จึงได้รับการยกเว้นใบอนุญาตอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 13 (1) (3) ดังนั้น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง รวมถึง รพ.สต. จึงได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ คนที่ทำงานในสถานพยาบาลเหล่านี้ก็เช่นกัน การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ จึงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายยาในส่วนนี้แต่อย่างใด

การแก้กฎหมายในส่วนนี้กลับจะทำให้คลินิก (สถานพยาบาลเอกชน) ได้รับการยกเว้นในการจ่ายยาที่เกินกว่าสมรรถนะด้านยาที่มีอยู่ และมีความเสี่ยงที่จะขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต (ทำเกินกว่าการ ‘จ่ายยาให้ผู้ป่วยเฉพาะราย’)

เปิดช่องโฆษณายาสะพัด

ในความเห็นของ ภก.ปรุฬห์ มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา มีการลดมาตรฐานการอนุญาตโฆษณา จากเดิมที่ต้องขออนุญาตทั้งหมด โดยเปิดช่องให้มีการจดแจ้งโฆษณาซึ่งลดระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบเนื้อหาก่อนการโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับโฆษณาเกินจริงนำไปสู่การซื้อยามาใช้อย่างไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยา ยังลดความเข้มงวดในการตรวจสอบเภสัชชีววัตถุซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน โดยกำหนดให้ใช้วิธีจดแจ้งแทนที่จะใช้วิธีการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า

เอื้อประโยชน์ใคร

อาจารย์คณะคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุด้วยว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.ยา จะไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพ เพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขาดธรรมาภิบาล และมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้สถานประกอบการเอกชนมากกว่าจะมีลักษณะคุ้มครองผู้บริโภคหรือสร้างความมั่นคงด้านยา รวมทั้งขาดมาตรการควบคุมการขายยาผ่านสื่อสารสนเทศต่างๆ เช่น e-commerce, telepharmacy โดยภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.ยา จึงดูเหมือนเป็นเรื่องธุรกิจ แต่แฝงว่าต้องการคุ้มครองประชาชน

อ้างอิง: เอกสารเรื่อง ‘ถาม-ตอบ ไขประเด็นดราม่า (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่’ โดย ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ วันที่ 3 กันยายน 2561

E-Submission ฉับไว…ต้องไม่ “เสี่ยง”

หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบาย “Thailand 4.0” โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้รวดเร็ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปรับปรุงระบบสารสนเทศด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็น ระบบE-Submission เพื่อเพิ่มช่องทางการยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่าน ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้รองรับการเติบโตและความต้องการของภาคธุรกิจ

ข้อดีของการนำระบบนี้มาใช้คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการพิจารณาคำขอ ลดอุปสรรคทางเศรษฐกิจและการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางระบบบริการได้รับการพัฒนาเป็นระบบที่ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ (automated service) ผู้ยื่นคำขอจะได้รับการพิจารณาอนุญาตโดยทันที หากมีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการขออนุญาตมากยิ่งขึ้น

ภก.รังสรรค์ วงษ์บุญหนัก

อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคย้ำว่า บริการที่ฉับไวนี้ต้องผนวกคุณสมบัติ “ไม่เพิ่มความเสี่ยง” แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

 ภก.รังสรรค์ วงษ์บุญหนัก เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งข้อสังเกตต่อการนำระบบ Auto E-Submission มาใช้ได้ 2 ปี มีการพบปัญหาเกิดขึ้น

“ปัญหาของระบบนี้อยู่ที่ไม่ได้เปลี่ยนจากระบบที่เป็นแมนนวลไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ แต่มีการเปลี่ยนกระบวนการจากเดิมการจดแจ้งผลิตภัณฑ์บางอย่างต้องส่งสูตรและฉลากให้เจ้าหน้าที่พิจารณาก่อน แต่ระบบนี้เครื่องจะคัดกรองโดยอัตโนมัติ เช่น ผู้ประกอบการกรอกว่าเป็นอาหารพร้อมบริโภค ตั้งชื่อ สูตรและฉลากไม่ต้องใส่กรอกเข้ามาในระบบ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ผู้ประกอบการจะได้เลขสารบบ อย. ในทันที โดยที่เจ้าหน้าที่อนุมัติไม่เห็น

เมื่อเครื่องไม่ได้เป็น AI (Artifificial Intelligence) การคัดกรองจึงมีปัญหา เช่น “ข้าวควบคุมน้ำตาล”  คำว่า “ข้าว” ไม่ผิด  “ควบคุม” ไม่ผิด  “น้ำตาล” ก็ไม่ผิด เมื่อได้รับเลขสารบบ อย. ผู้ประกอบการใช้คำว่า  “ข้าวควบคุมน้ำตาล“ ตรา… ไปใช้โฆษณาเต็มไปหมด เมื่อมีปัญหาผู้บริโภคร้องเรียน กลายเป็นว่าหาคนรับผิดชอบไม่ได้ โดยหลักการจึงควรต้องให้เจ้าหน้าที่คัดกรองก่อน”

เขาเล่าว่าหลังจากสะท้อนปัญหาไปยัง สำนักอาหาร อย. จึงได้ปรับปรุงระบบ ให้ผู้ประกอบการยื่นเรื่องผ่านอิเล็กทรอนิกส์แต่ยังไม่ได้เลขสารบบทันที เพื่อให้เวลาเจ้าหน้าที่คัดกรอง 1-2 วันทำการตามที่พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้

ส่วนของเครื่องสำอาง ภก.รังสรรค์ สะท้อนปัญหาว่าหลังเปิดระบบลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตจนได้เลขไปขอขึ้นทะเบียนตำรับเครื่องสำอางแล้ว พบว่า ร้อยละ 80 ไม่มีสถานที่ประกอบการ เฉพาะสมุทรปราการสุ่มตรวจ 50 แห่งมีสถานที่ประกอบการจริงไม่ถึง 10 แห่ง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นสรุปได้ 2 เรื่อง คือ ทะเบียนเฟ้อ และ การควบคุมติดตามทำได้ยาก… ต้องยอมรับว่าประเทศไทย Post Marketing ไม่เข้มแข็ง เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วไปกองอยู่ ในระบบ เราไม่สามารถตามดูแลได้เท่าที่ควร”

เขาฝากมุมมองทิ้งท้ายว่า ในสภาพความเป็นจริงที่คนไทยยังมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่สูงพอ ระบบ การออกเลขมาก่อนผิดถูกค่อยว่ากัน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงเป็นเงาตามกัน

“ถ้าเราคัดกรองตั้งแต่ต้นน่าจะดีกว่า เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดไม่พ้นผู้บริโภคนั่นเอง”

 

ที่มา: คอลัมภ์ ตีฆ้องร้องป่าว จดหมายข่าวสานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2561

เขย่าสังคมด้วยปัญหายา

จากการรายงานของ BBC อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงที่สุด บางปีเคยสูงถึงร้อยละ 47 ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 17-18 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อกำไรมาก วงเงินมาก อิทธิพลก็มากตามไปด้วย ถึงขั้นสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายโลก กติการะหว่างประเทศ มิพักต้องพูดถึง ‘การที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศ’

การที่ ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในขณะนี้ พยายามนำเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลักการ อย่างเช่น ในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ การอนุญาตให้มีการจ่ายยาโดยบุคลากรสุขภาพในหน่วยบริการรัฐที่ไม่แสวงกำไรในที่ห่างไกล เช่น ใน รพ.สต. ที่ไม่มีเภสัชกรนั้นให้ทำได้ เพราะมีความจำเป็น แต่มีเงื่อนไขคือ ทำในภาครัฐ ทำในขอบเขต ไม่แสวงกำไร เมื่อมีความพยายามที่จะเอาข้อนี้มาเป็นหลักการในกฎหมาย จะด้วย ‘ความปรารถนาดี’ หรือมีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง อาทิ ข่าวการสยายปีกทำธุรกิจขายยาของอภิมหาทุนของเจ้าสัวไทย ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่ากะพริบตา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงปัญหาความขัดแย้งของวิชาชีพ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การควบคุม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ไม่ง่ายนัก ด้วยอิทธิพล ด้วยความยากและซับซ้อนของเรื่องราว แม้จะใกล้ตัวทุกคนอย่างที่สุดก็ตาม แต่จะละเลยไม่กัดติดเพื่อเขย่าสังคมให้ตื่นก็เป็นไปไม่ได้

ประวัติศาสตร์สี่ทศวรรษของกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) ที่เขย่าสังคมสำเร็จอย่างกัดติดต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษา โดยเฉพาะ การศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงความรู้อย่างจริงจัง

ทำเพื่อประโยชน์สังคมอย่างที่ไม่มีข้อกังขา ไม่เพียงเท่านั้น การทำงานของ กศย. ยังไม่ใช่การทำงานวิชาการบนหอคอยงาช้าง แต่ติดดินและอยู่กับดิน บอกกล่าวเล่าเรื่องยากให้ง่ายเพื่อให้สังคมสนับสนุน จึงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ อดีตประธานกลุ่มศึกษาปัญหายาคนที่ 3 กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ เขย่าสังคมด้วยปัญหายา ว่า หนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นหนังสือที่ถูกเขียนโดยบุคลากรด้านสาธารณสุข แต่การทำงานตลอด 40 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้ง ‘กลุ่มศึกษาปัญหายา’ หรือ กศย. ล้วนเป็นการทำงานกับชาวบ้านมาตลอด ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงถูกเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และต้องการสื่อสารกับประชาชนหมู่มากเป็นหลัก

ภญ.จิราพร เล่าต่อว่า ในเบื้องต้นนั้นกลุ่มศึกษาปัญหายาเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดย ภญ.สำลี ใจดี ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อทั้งนักศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์และคณาจารย์ที่เคยทำงานร่วมกัน

อุดมการณ์ที่เกาะเกี่ยวความเป็น ‘กศย.’

“ประเด็นก็คือว่า ในช่วงนั้นคณะเภสัชฯ จุฬาฯ เป็นคณะที่อยู่ใจกลางเมือง เพราะฉะนั้นในการเรียนการสอน เราเองไม่เข้าใจปัญหาที่อยู่ห่างไกล จนกระทั่ง อาจารย์สำลี ใจดี มาชักชวนพวกเราว่า ในเมื่อเราสอนนิสิตนักศึกษาให้รู้เรื่องยา เป้าหมายสุดท้ายของเราคือชาวบ้านสามารถที่จะดูแลสุขภาพตนเอง และใช้ยาอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น”

จากการชักชวนโดย ภญ.สำลี นั้นเอง นำไปสู่การลงพื้นที่ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เห็นปัญหาของยาในยุคสมัยที่มีการขายกันอย่างผิดสูตรของยาประเภทนั้นๆ ทว่าแม้จะมีการทำหนังสือส่งต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการระงับการขายยาที่ผิดสูตร ยาเหล่านั้นก็ยังมีการขายอยู่

ผลของความพยายามที่สูญเปล่านี้ ทำให้ ภญ.จิราพร มองเห็นว่า ภายใต้เป้าหมายการให้ความรู้แก่ชาวบ้านเพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสมนั้นมีอุปสรรคใหญ่ขวางกั้น เป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากคำว่าผลประโยชน์ โดยขาดการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน ต่างจากยุคสมัยโบราณที่การผลิตตำรับยาขึ้นมานั้นมีจุดประสงค์เพื่อรักษาเพียงประการเดียว

“เพราะฉะนั้นเมื่อการผลิตยาถูกพัฒนามาเป็นธุรกิจแล้ว จึงมีองค์ประกอบมากมายเข้ามา เป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ แล้วได้เกิดกระบวนการรวมกลุ่มของการสร้างความเข้มแข็งของตัวชาวบ้านเอง เพราะเราเชื่อว่าพลังความเข้มแข็งนั้นจะช่วยขับเคลื่อนปัญหายากๆ ได้”

ภายใต้เป้าหมายของการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้ในการดูแลสุขภาพและการใช้ยาที่เหมาะสม ทำให้กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขและเภสัชกรเข้ามารวมตัวกันจากยุคเริ่มแรก กระทั่งเติบโตขึ้นมากลายเป็นกลุ่มศึกษาปัญหายาอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

เฟมินิสต์จากมรดก 14 ตุลา

ในฐานะผู้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ตนขอนำเสนอบทวิเคราะห์เพื่ออธิบายความเป็นไปเป็นมาของ กศย. ให้เกิดความเข้าใจในภาพรวม 43 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาว่า กลุ่มเฟมินิสต์เป็นกลุ่มซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เพื่อผลประโยชน์ของสตรี แต่เฟมินิสต์ในกลุ่ม กศย. เป็นเฟมินิสต์ที่แตกต่างออกไป เพราะออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ในขณะที่การเลือกวันก่อตั้งก็ยังเป็นวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล

“เขาไม่เคยเขียน ไม่เคยประกาศตัว แต่ผมมองดูอยู่ในฐานะพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันมาว่า เป็นกลุ่มเฟมินิสต์ที่ยืนหยัดต่อสู้มาตลอด นอกจากนี้ กลุ่ม กศย. ยังก่อตั้งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน กลุ่มอาจารย์สำลีก็เป็นกลุ่มหนึ่งในยุคสมัยนั้นที่นำเอาวิชาชีพมารับใช้ประชาชน แล้วตอนที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาก็เป็นกลุ่มจำนวนน้อยที่ตั้งชื่ออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน คือ ตั้งว่า ‘กลุ่มศึกษาปัญหายา’ ดูแล้วเหมือนกับว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยรู้อะไร เลยต้องศึกษา แต่ความจริงผมเชื่อว่ามีอิทธิพลจากฝ่ายซ้าย”

วรรณกรรม/วาทกรรมความเป็น ‘แม่’

นพ.วิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า นวนิยายที่คนในยุคสมัยนี้ กระทั่งร่วมสมัยด้วยกันกับตน อาจจะลืมเลือนไปแล้ว คือนวนิยายเรื่อง แม่ ของ แมกซิม กอร์กี ที่แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งบอกเล่าถึงกลุ่มนักศึกษาที่ออกไปต่อสู้เพื่อมวลชนในรัสเซีย โดยมีแม่คอยให้การสนับสนุน แม่ที่ไร้การศึกษา แต่ไปร่วมการเคลื่อนไหวกับลูกๆ จนกระทั่งเกิดการตื่นรู้ขึ้นมา โดย นพ.วิชัย มองว่าการก่อตั้งกลุ่ม กศย. ในห้วงปี 2518 จึงน่าจะมีเงาของแม่ทาบทับอยู่ไม่มากก็น้อย

“คือวรรณกรรมเป็นงานที่มีอิทธิพลสูงที่สุด ขณะที่สารคดีหรือบทความทางวิชาการทั้งหลายอาจได้เฉพาะสมองส่วนคิด แต่วรรณกรรมจะได้ทั้งสมองส่วนคิดและอารมณ์ความรู้สึกด้วย ซึ่งจะดึงอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างมีพลังและมากกว่าบทความทางวิชาการ”

นอกจากนั้น นพ.วิชัย ยังกล่าวว่า ในการตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายาเป็นการก่อตั้งที่ถูกต้องตามหลักยุทธศาสตร์ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ นพ.ประเวศ วะสี โดยหลักยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาข้อที่หนึ่ง คือยุทธศาสตร์ในเรื่องความรู้ และความรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษา โดยถ้าย้อนกลับไปในหลักพุทธศาสนาก็คือหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา

เริ่มต้นจากฐานความรู้นำไปสู่การเคลื่อนไหวด้านประชาชน และนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย

“กลุ่มศึกษาปัญหายาทำแบบนี้มาโดยตลอด สิ่งนี้ทำให้มีชีวิตรอดหลัง 6 ตุลา ปี 2519 และดำรงอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แล้วก็สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสร้างผลกระทบชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในวงกว้าง เพราะว่าระบบสังคมของเราถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจใหญ่ และเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนระบบใหญ่นั้นได้ แต่เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในระบบใหญ่นี้ได้”

สิ่งดีๆ ในมุมมองของ นพ.วิชัย เช่น การรณรงค์ยกเลิกยาสูบที่มีส่วนผสมของยาเสพติดต่างๆ จนกระทั่งยกเลิกไปได้ ซึ่งในชีวิตของ ภญ.สำลี สามารถยกเลิกการใช้ยาที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนไปได้หลายตัวแล้ว ทำให้สามารถรักษาชีวิตของประชาชนจำนวนมากนับแสนนับล้านคนได้

นพ.วิชัย ยกตัวอย่างจากเรื่องเล่าสมัยยังทำงานเป็นแพทย์ชนบทแล้วพบว่า มีชาวบ้านจำนวนมากที่มาโรงพยาบาลด้วยโรคกระเพาะทะลุจากผลของยา ซึ่งด้วยการรณรงค์ในเรื่องนี้ของ กศย. ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงไปเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงแต่การโจมตียาที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น นพ.วิชัย มองว่า กลุ่ม กศย. ยังมีสถานะของความเป็นสุนัขที่ไม่เพียงกัดไม่ปล่อย แต่ยังเป็นสุนัขที่กัดชนิดเอาให้ถึงตาย คือหากไม่ได้ตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ทางกลุ่มจะไม่ยอมเลิกภารกิจโดยเด็ดขาด

ฟื้นฟูวิชาการนวด

หากแต่การรณรงค์ให้ยกเลิกยาที่เป็นอันตรายในยุคสมัยเริ่มแรกที่วิทยาการยายังไม่ก้าวหน้าเหมือนเช่นในปัจจุบัน วิธีการหนึ่งที่ทางกลุ่ม กศย. นำมาใช้เพื่อทดแทนยาที่ถูกยกเลิกไป คือการนำวิชาแพทย์แผนโบราณกลับมา เช่น การนวด โดยส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ

“เริ่มต้นจากไม่รู้เรื่องนวด แล้วสร้างจนเป็นตำราเรื่องการนวดที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตำราการนวดไทยในสมัยแรกๆ เป็นตำราที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วถูกนำไปจารึกที่วัดโพธิ์ แต่ก็เป็นความรู้ที่กระท่อนกระแท่น และอ่านลำบากเนื่องจากเป็นภาษาไทยโบราณ กลุ่มของอาจารย์สำลีจึงนำเอาความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมาผสมกับความรู้สมัยโบราณจนเขียนเป็นตำราแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบัน อันนี้คือมรดกสำคัญของกลุ่ม กศย. ซึ่งเป็นตำราที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการดึงเอาความรู้ในตัวหมอนวดประเทศไทยมาเขียน เป็นคุณูปการอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูวิชาการนวดแผนไทย แต่ยังขยายไปสู่การขึ้นบัญชียาแผนโบราณต่างๆ ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นยาสำคัญที่อยู่ในยาสำคัญของชาติไปแล้ว”

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ปัจจุบันที่ไม่มองอดีต จึงไม่เห็นอนาคต

ในส่วนต่อมา นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวในเชิงวิจารณ์ว่า ผู้คนในยุคสมัยใหม่ต่างสนใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คือโทรศัพท์มือถือ มากกว่าจะสนใจเรื่องราวในอดีต เป็นสภาวะของกลุ่มคนสมัยใหม่ที่ไม่รู้เท่าทันสิ่งที่ทุนนิยมสร้างขึ้นมา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มที่เหมาะสำหรับหนังสือ เขย่าสังคมด้วยปัญหายา เพราะจะทำให้มองเห็นว่าปัจจุบันมีเส้นทางจากอดีตเป็นมาอย่างไร แล้วอนาคตก็จะต้องนำอดีตมาสังเคราะห์เพื่อจะนำไปสู่ข้างหน้าได้

“หนังสือเล่มนี้ถ้าอ่านไปก็เหมือนเป็นมหากาพย์ เป็นเหมือนการอ่านพงศาวดารว่าเกิดอะไรขึ้น ถามว่าทำไมเก่าขนาดนั้น เพราะว่าคนปัจจุบันสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเปลี่ยนหัวข้อไปเร็วมาก

“40 ปีจริงๆ แล้วในเชิงความเป็นจริงคือ ‘บันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัย’ แต่สำหรับผู้คนในโลกยุคดิจิตอลก็จะบอกว่านี่คือ ‘พงศาวดาร’ เพราะเขานึกไม่ออกเลยว่าปี 2518 มันเป็นอย่างไร นึกไม่ออกเลยว่าทำไมเขาต่อสู้เพื่อประชาชนขนาดนั้น แม้แต่การพูดถึงเอกสารโรเนียวในหนังสือเล่มนี้ยังต้องมีคำอธิบายว่าโรเนียวคืออะไร คำว่าโรเนียวกลายเป็นคำที่ไม่มีใครรู้จักกันไปหมดแล้ว

“ดังนั้น ถ้าพูดอย่าง กศย. แล้ว หนังสือเล่มนี้คือบันทึกของคนตัวเล็กตัวน้อย กศย. ไม่ได้เชิญนายกฯ มา กศย. ไม่ได้เชิญนายพลมา กศย. ไม่ได้เอาอธิการบดีมา แต่ทำงานโดยพลังของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งพลังนั้นเกิดขึ้นจากจิตอาสา”

มองคำว่าจิตอาสาจากมุมปัจจุบัน นพ.ประวิทย์ กล่าวว่าคนในปัจจุบันอาจมองคำคำนี้เป็นคำที่น่าหลงใหล แต่ในยุคสมัยนั้น คำว่า ‘จิตอาสา’ คือการทุ่มเทเพื่อประชาชน เป็นการทำงานโดยมีอุดมการณ์เป็นหลัก หาได้เป็นไปตามกระแสเช่นในปัจจุบัน

“และที่สำคัญ กศย. ถ้าพูดกันในวงการสาธารณสุข คือกลุ่มคนที่คิดออกนอกกรอบที่ใครเขาวางไว้ ผมยกตัวอย่างตำราที่พูดถึงยาในลักษณะของสารเคมี หรือเคมีภัณฑ์ ในลักษณะของการรักษาโรค คือเป็นเรื่องของการแพทย์ แต่เวลาเราพูดถึง กศย. เราพูดถึงยากับสังคม เราพูดถึงสาธารณสุข ฉะนั้นจึงเป็นการเอาตัววิชาการ เอาตัวความรู้ไปตอบชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ตอบโจทย์ข้อสอบว่าต้องกินยาตัวนี้กี่เวลา มีอาการป่วยข้างเคียงอย่างไร เพราะหมอทุกคนก็รู้ว่าให้ยาไป เขาก็ไม่ค่อยทำตามที่เราบอกหรอก ฉะนั้น จะให้ยาไปอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ดังนั้น สิ่งที่ กศย. ทำ จึงเป็นการทำที่อยู่นอกกรอบที่เขาสร้างเอาไว้ เป็นกรอบที่ไม่มีใครมองเห็น แล้วทุกคนก็ตกอยู่ในกรอบนั้น หลงคิดไปว่าตัวเองมีเสรีภาพ เป็นเสรีชนโน่นนี่ แต่ไม่ใช่ เราคิดในกรอบที่ทุนนิยมได้สร้างขึ้น ที่ระบบการศึกษาได้สร้างขึ้น ที่สังคมได้สร้างขึ้น ในกรอบที่ยังมีความเอารัดเอาเปรียบ ในกรอบที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ”

วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์

สิ่งที่ควรมีในภาคต่อของหนังสือ

ในฐานะของสื่อมวลชน วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ มองสิ่งที่ควรมีในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเหมือนจะยังไม่จบดีจากเรื่องราวความเป็นมาตลอดทั้ง 43 ปี คือ ในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทางสังคม จำเป็นต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ผ่านการรอคอยอย่างอดทน เพื่อจะนำเสนอในเชิงนโยบายได้อย่างมีพลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่วิเชษฐ์มองในแง่ของกลยุทธ์หรือกลวิธีในการทำงานของภาคประชาสังคม หรือแม้แต่เอ็นจีโอ ได้ประโยชน์มากทีเดียว

นอกจากนี้ วิเชษฐ์ยังมองอีกว่า การก่อตัวของกลุ่มศึกษาปัญหายาที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ นั้น ประกอบขึ้นมาจากกัลยาณมิตรและเครือข่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนงานด้านสังคมปัจจุบันที่นับวันยิ่งยากมากขึ้น

“อีกจุดหนึ่งที่ผมอ่านที่อาจารย์สำลีพูดถึง ซึ่งอันนี้ผมมองว่าสำคัญ ที่มีการพูดถึงว่าเราจะต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง คือผมมองว่าเรื่องยาเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้กับคนมากที่สุด คนไทยเราเกี่ยวข้องกับเรื่องยาในชีวิตประจำวันตลอด ซึ่งถ้าเราไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นสิ่งที่เรียกว่าอันตรายสำหรับประชาชน

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมมองเห็นจากหนังสือเล่มนี้ก็คือการขับเคลื่อนในแนวดิ่งไปสู่นโยบายอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว แนวระนาบในการสร้างความเข้มแข็ง ให้คนได้รู้เท่าทัน ซึ่งสรุปแล้วต้องทำควบคู่กันไปทั้งสองอย่างจึงจะสำเร็จ ซึ่งอันนี้เป็นบทเรียนที่ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานด้านประชาสังคมจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้เยอะเลยทีเดียว”

สุดท้าย วิเชษฐ์มองว่าสิ่งที่ควรมีต่อในหนังสือเล่มต่อไปของ ‘เขย่าสังคมด้วยปัญหายา’ คือ หนึ่ง-การทำงานด้านประชาสังคมควรมีกรณีศึกษา กรณีตัวอย่างที่มากขึ้นกว่าเดิม สอง-เมื่อสังคมพูดถึงเรื่องเหล้า บุหรี่ โดยส่วนมากจะมองในเรื่องการตลาดของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งหากมองกลับมาเปรียบเทียบในกรณีของบริษัทยาต่างๆ ตั้งแต่ยุคอดีตจนมาถึงยุคปัจจุบันเพื่อฉายให้เห็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดของบริษัทยาแล้ว ประชาชนก็จะได้ประโยชน์อย่างมาก และข้อที่สาม-การทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในบริบทของสื่อยุคใหม่ คือในเรื่องของโซเชียลมีเดียที่ กศย. จะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการทำงานให้สอดรับสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

ภญ.สำลี ใจดี

ภารกิจที่ต้องไปต่อ

ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่ กศย. ทำเป็นสิ่งที่ดีงามในสังคมไทย ภญ.สำลี ใจดี จึงมองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในการทำงานในลักษณะคนละมือคนละไม้ เป็นการทำงานที่เกิดจากกัลยาณมิตรอย่างที่ได้พูดกันไปแล้ว นอกจากนี้ ในฐานะเภสัชกรที่มีความรู้ในเรื่องยา ซึ่งตัวเภสัชกรเองรู้อยู่แล้วว่ายาแต่ละชนิดแต่ละประเภทเป็นเช่นไร จึงเปรียบเหมือนเป็นหน้าที่ที่ ภญ.สำลี มองว่า เราต้องชัดเจนในเรื่องประเด็นปัญหา

“งานชิ้นนี้ ถ้าไม่ลงไปคลุก ไม่ปั้นมากับมือ เราคงเคลื่อนไม่ได้ เพราะถ้าจะเคลื่อนอะไร เราต้องชัดเจน ในส่วนที่ผ่านมาที่เราตั้งป้อม และทำอย่างต่อเนื่องคือเรื่องสิทธิบัตร กับเรื่องทุนข้ามชาติ สารพัดที่เขาเข้ามาแทรก แล้วพวกเราใช้ชีวิต เต้นรำ ทำดนตรี ฟังเพลง ไปตามจังหวะที่เขากำหนด พวกเราบอกเราไม่เต้นจังหวะเขา เรามีจังหวะของเราเอง คนไทย สังคมไทย มีรากมีเหง้า มีเงื่อนไขที่เราควรรู้ว่า เราจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร สังคมไทยเป็นประเทศที่เรียกว่าโชคดีและน่ารักที่สุดในโลก แล้วตัวร้ายวายร้ายทั้งหลายก็ทำร้ายได้ทุกวัน อย่างในเรื่องพาราควอตนี่ก็ด้วย”

นอกจากเรื่องสิทธิบัตรและทุนข้ามชาติแล้ว ในส่วนของแพทย์แผนไทย ภญ.สำลี มองว่ายังเป็นสิ่งที่ กศย. จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องหมอนวดคนตาบอด ที่จะต้องทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดในหลักวิชาชีพของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง

“เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ และอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นหมอ” ภญ.สำลี กล่าว

สุขภาพจิตดีขึ้นแน่ แค่ขยับร่างกาย

วารสารการแพทย์ The Lancet Psychiatry ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่ระบุว่า การเคลื่อนไหวร่างกายแบบทั่วไปติดต่อกันครั้งละ 45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง สามารถลดอาการทางสุขภาพจิตได้

นักวิจัยได้วิเคราะห์รายงานระดับกิจกรรมและคะแนนสุขภาพจิตของคนอเมริกัน 1.2 ล้านคนภายในหนึ่งเดือน ระหว่างปี 2011-2015 เพื่อหาความเชื่อมโยงของการเคลื่อนไหวทางร่างกายและสุขภาพจิต โดยพบว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายจะมี ‘วันแย่ๆ’ น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเดือนละ 1.5 วัน

นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ การอุดตันในเส้นเลือด และเบาหวาน

ถึงผลจะออกมาว่า ประเภทกีฬาที่เล่นเป็นกลุ่ม การปั่นจักรยาน และเต้นแอโรบิกส่งผลด้านบวกมากที่สุด แต่ผลการศึกษาได้พบว่า กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายทุกประเภทสามารถพัฒนาสุขภาพจิตได้ในทุกเพศและวัย ไม่ว่าจะเป็นแค่การทำงานบ้านหรือเลี้ยงเด็กเล็กๆ ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยที่ได้ทดสอบผลของการออกกำลังกายต่อสุขภาพจิตและได้ผลลัพธ์ผสมผสานกัน ขณะที่บางงานวิจัยแนะนำว่า การไม่เคลื่อนไหวทางร่างกายสามารถทำให้สุขภาพจิตแย่ลงได้พอๆ กับการเกิดโรค

ผู้เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้บอกว่า พวกเขารู้สึกสุขภาพจิตแย่เฉลี่ยแล้วเดือนละ 3.4 วัน แต่ในส่วนของกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ตัวเลขลดลงเหลือเพียงเดือนละ 2 วัน

และในกลุ่มคนที่ก่อนหน้านี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า การเคลื่อนไหวร่างกายดูจะสร้างผลกระทบได้ใหญ่โตกว่า โดยผลการศึกษาออกมาว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายจะมีอาการสุขภาพจิตแย่เดือนละ 7 วัน น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกายที่มีอาการเกือบ 11 วัน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่อาจฟันธงได้เลยว่าการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นผลโดยตรงให้สุขภาพจิตดีขึ้น

หนักไปก็ไม่ดี

เมื่อพูดถึงเรื่องการออกกำลังกาย สิ่งที่เกิดตามมาคือความถี่และระยะเวลาในแต่ละครั้งที่เป็นผลดีมากพอ เพราะเช่นเดียวกับทุกอย่าง การออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากเกินไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องดี

แม้ผลการศึกษาจะระบุว่า การเคลื่อนไหวร่างกาย 30-60 ชั่วโมงในทุกๆ สองวันดูจะเป็นกิจวัตรที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ยังสรุปว่า นั่นอาจเป็นการออกกำลังกายที่มากเกินไปได้

ดร.อดัม เชคราวด์ (Adam Chekroud) ผู้เขียนผลการศึกษาและเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ ผู้คนมักเชื่อว่า ยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกับสุขภาพจิตมากขึ้นเท่านั้น แต่การศึกษาของเราแนะนำว่าไม่ใช่ในกรณีนี้”

“การออกกำลังกายมากกว่า 23 ครั้งต่อเดือน หรือครั้งละนานกว่า 90 นาทีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่แย่ลง”

เขาบอกว่าผลด้านบวกของการเล่นกีฬาเป็นทีมคือ สามารถลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ดีต่อการฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ และ ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย

ความเชื่อมโยงอันซับซ้อน

ถึงผลของการศึกษานี้จะหนุนหลังแนวทางของรัฐบาลที่แนะนำให้ประชาชนใช้เวลาออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที แต่การศึกษานี้มีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ มันอ้างอิงจากการรายงานด้วยตัวเองซึ่งไม่ถูกต้องเสมอไป และไม่มีทางวัดการเคลื่อนไหวทางร่างกายได้

ดร.ดีน เบอร์เน็ตต์ (Dean Burnett) นักประสาทวิทยาและนักวิจัยกิตติมศักดิ์ จากวิทยาลัยจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวว่า ปกติแล้วไม่ง่ายนักที่จะค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการออกกำลังกายและสุขภาพจิต แต่การศึกษาครั้งนี้ใหญ่พอที่จะบอกได้ว่า ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน

“อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะของการศึกษาหมายความว่ามันยากที่จะบอกอย่างแน่นอนได้มากกว่านั้น”

ศาสตราจารย์ สตีเฟน ลอว์รี (Stephen Lawrie) หัวหน้าแผนกจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ กล่าวว่า มันแสดงให้เห็นว่า สังคมและการออกกำลังกายตามที่ตัวเองสนใจมีผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิต – แต่ต้องไม่ทำมากเกินไป

“เราต่างรู้จักคนที่ดูเหมือนจะเสพติดการออกกำลังกาย วัดง่ายๆ คือ ถ้าการออกกำลังกายเริ่มส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ในชีวิต เช่น กิจกรรมทางสังคม การพบปะผู้คน เพราะหมกมุ่นอยู่กับการทำลายสถิติการวิ่งของตัวเอง การออกกำลังกายจะเปลี่ยนเป็นศัตรูต่อร่างกายและจิตใจของคุณได้ทันที”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com

เมื่อแบคทีเรีย Super Bug เริ่มดื้อแพ่งและแข็งแกร่งกว่าแอลกอฮอล์

น้ำยาฆ่าเชื้อ (ที่มักจะเป็น) สีฟ้าสดวางอยู่ตามห้างสรรพสินค้า โรงเรียน รวมทั้งโรงพยาบาล ที่รอให้ผู้คนเข้าไปกดก่อนถูทั่วฝ่ามือ โดยเฉพาะน้ำยาล้างมือในโรงพยาบาลที่ส่วนใหญ่ใช้ชนิดมีไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์หรือเอธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลัก แต่งานวิจัยล่าสุดในวารสาร Science Translational Medicine เปิดเผยว่า แอลกอฮอล์ในน้ำยาเหล่านั้นเริ่มจัดการแบคทีเรียได้ไม่อยู่หมัดแล้ว

แต่ช้าก่อน…ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโยนน้ำยาเหล่านั้นทิ้งทันที

แม้เชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรคอคคัส ฟีเซียม (Enterococcus faecium หรือ อี. ฟีเซียม) จะอยู่ในร่างกายของเรา แต่เชื้อตัวนี้จะกลายเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ซับซ้อนในช่องท้อง ผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ และเลือดทันทีเมื่อมันอวลอยู่ในโรงพยาบาล แบคทีเรียชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเอนเทอโรคอคซี (Enterococci) ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับที่ 4 และ 5 ของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่คุกคามชีวิตผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปตามลำดับ – นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า Super Bug แบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ

ทีมนักวิจัยระบุว่า ออสเตรเลียได้ตรวจสอบสุขลักษณะของน้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นหลักอย่างเข้มงวด และมันได้ช่วยลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่า นอกจาก Super Bug จะดื้อยาแล้ว พวกมันกำลังจะเอาชนะแอลกอฮอล์ เพราะการติดเชื้อ อี. ฟีเซียม ที่ดื้อยากลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลออสเตรเลีย

อีกรูปแบบของการดื้อยา

นักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างแบคทีเรีย 139 ชนิดที่เก็บมาจนถึงปี 2015 รวมเป็นเวลานานกว่า 19 ปีจากโรงพยาบาลสองแห่งในเมืองเมลเบิร์น พวกเขาศึกษาอัตราการมีชีวิตรอดของแต่ละตัวอย่างเมื่อสัมผัสกับไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์เจือจาง

พวกเขาค้นพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วตัวอย่างที่รวบรวมตั้งแต่หลังปี 2009 ทนต่อแอลกอฮอล์มากกว่าตัวอย่างที่ได้มาตั้งแต่ก่อนปี 2004 และเกิดการกลายพันธุ์ของตัวอย่างแบคทีเรียที่ทนต่อแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกระบวนการเผาผลาญอาหารที่บ่งชี้ว่าแบคทีเรียเหล่านี้สามารถอยู่ในลำไส้ได้ดียิ่งขึ้น

แม้ผลการทดลองจะชี้ให้เห็นว่า เชื้อเหล่านี้สามารถปรับให้เข้ากับแอลกอฮอล์และส่วนประกอบอื่นๆ ที่พบในน้ำยาฆ่าเชื้อได้ แต่นักวิจัยก็เตือนว่ายังไม่อาจสรุปได้จนกว่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติม

“มีสองอย่างที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้” ทิม สตีเนียร์ (Tim Stinear) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าว “อย่างแรกคือการทำความเข้าใจแนวทางที่ทำให้แบคทีเรียทนทานมากขึ้น และสองคือดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับที่อื่นๆ ในโลกบ้าง และเรากำลังจับมือกับทีมงานทั่วโลกเพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น”

สตีเนียร์และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยระบุว่า หนึ่งในสามของการติดเชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรคอคคัส ในโรงพยาบาลออสเตรเลียมีสาเหตุมาจากเชื้อ อี. เฟเซียม จากการทดลองพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเชื้อชนิดนี้ทนต่อแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลลิน และกว่าครึ่งทนต่อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) ยาฆ่าเชื้อในอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าหมอจะพยายามใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงกว่าเพื่อรักษาโรค แต่อาจได้ผลลัพธ์ที่หนักหนากว่าการดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรังมากขึ้น

พอล จอห์นสัน ผู้ร่วมวิจัยและศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ ออสติน เฮลธ์ (Austin Health) หน่วยบริการด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลออสติน บอกว่า “เราอาจต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการติดเชื้ออื่นๆ เช่น การใช้ยาคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) ฆ่าเชื้อที่มือก่อนการดูแลรักษาขั้นต่อไป

แม้จะใช้ได้ในโรงพยาบาล แต่วิธีการเดียวกันก็ไม่อาจนำมาใช้ได้ในวงกว้างทั่วโลก

อย่าเพิ่งโยนน้ำยาล้างมือทิ้ง!

“อย่างน้อยสิ่งสำคัญคือ นี่เป็นการทดลองที่ดีมาก” คือคำแนะนำของ ศาสตราจารย์เจมส์ สก็อตต์ จากวิทยาลัยสาธารณสุขดัลลา ลานา (Dalla Lana School of Public Health) มหาวิทยาลัยโตรอนโต

“นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เหล่านักจุลชีววิทยาคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่มีใครคิดทดลองอย่างจริงจัง” แม้สก็อตต์จะไม่ได้เข้าร่วมในการวิจัยนี้ แต่เขาบอกว่า ตอนนี้เรื่องแบคทีเรียทนแอลกอฮอล์ ‘ค่อนข้างชัดเจน’ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ

“เชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทดสอบในการทดลองนี้เป็นเชื้อที่มาจากโรงพยาบาลจริงๆ ไม่ใช่เชื้อที่คุณจะได้เจอตามชุมชนในชีวิตประจำวัน” เขาบอก เพราะในสถานที่ทั่วไป ผู้คนต่างใช้น้ำยาล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย “แต่สถานการณ์ในโรงพยาบาลนั้นแตกต่างกันมาก”

เขาอธิบายถึงสภาพแวดล้อมแบบปิดของโรงพยาบาล เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแออย่างมาก เป็นโอกาสดีในการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอย่างเชื้อโรค “อาจนำไปสู่การดื้อยาในเวลาต่อมาได้”

แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อถูกใช้ในการแพทย์มานาน เป็นยาฆ่าเชื้อในระดับทั่วไป ส่วนใหญ่ต่างก็คิดว่าแอลกอฮอล์จะทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคทั้งชนิดที่อ่อนแอและทนทาน สก็อตต์จึงมองว่า การทดลองนี้เป็นการหักล้างสมมุติฐานดังกล่าว

“นักวิทยาศาสตร์ยังรู้ดีว่า การใช้แอลกอฮอล์ไม่ใช่การฆ่าเชื้อแบบครอบจักรวาล เพราะเชื้อโรคที่สำคัญจำนวนหนึ่งมีความทนทานต่อแอลกอฮอล์สูง เช่น เชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) เป็นเชื้อที่ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบและท้องเสียรุนแรง

อีกสิ่งสำคัญที่ผู้คนต้องทำความเข้าใจคือ การศึกษานี้เกี่ยวข้องเฉพาะกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีส่วนในการติดเชื้อในโรงพยาบาล การศึกษานี้สามารถใช้ได้กับสภาพแวดล้อมเฉพาะของโรงพยาบาลเท่านั้น และผมมั่นใจว่าน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลักจะยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ทั่วไปนอกโรงพยาบาลอยู่ดี

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com

รอยสักใต้ผิวหนังและเคมีภัณฑ์อันตรายในขวดหมึก

 

หน่วยเฝ้าระวังด้านเคมีภัณฑ์ของ EU รวบรวมสารอันตรายที่อยู่ในสีที่ใช้การสักลวดลายใต้ผิวหนัง ว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง

เช่นเดียวกับที่เราเห็นท่อนแขนของนักฟุตบอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพร้อยไปด้วยลวดลายหลากหลาย กระแสการสักบูมไปทั่วโลก มีตัวเลขบอกว่า เฉพาะยุโรป 1 ใน 4 ของประชากรอายุระหว่าง 18-35 ปี มีรอยสักติดตัว

การสักคือการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพราะรอยนี้จะอยู่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต เมื่อเป็นเสมือนเครื่องประดับร่างกายถาวร สีที่ใช้ในการสักจึงต้องติดทนนานไม่ลบเลือน ทำให้บางครั้งต้องพึ่งพาคุณสมบัติทางเคมีของสารบางอย่าง – ซึ่งอาจมีอันตรายผสมอยู่ด้วย

องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency: ECHA) แสดงความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่อาจผสมอยู่ในหมึกสีที่ใช้ในการสัก เพราะสิ่งที่อยู่ในขวดประกอบด้วยสารหลากหลายผสมผสานกันหลายรอบ ก่อนจะบรรจุขวด และมาถึงมือช่างสัก แม้ว่าสีที่ใช้จะต้องมีมาตรฐาน แต่ใช่ว่าจะครอบคลุ,คุณภาพการสักได้ทั้งหมด

โทนี ริตา (Toni Rita) แกนนำสมาคมช่างสักฟินแลนด์ บอกว่า หมึกสีราคาถูกที่หลั่งไหลมาจากจีนคือปัญหาใหญ่

“พวกเขานำเข้าสีจำนวนมากเข้ามาใน EU ซึ่งคนก็ใช้มันนะ แล้วพวกเขาก็ไม่รู้หรอกว่าในหมึกสีนั้นมีอะไรผสมอยู่บ้าง มันอันตรายมากๆ”

การไม่มีมาตรฐานควบคุมส่วนผสมในหมึกสีที่ใช้สัก และไม่มีการศึกษาถึงผลระยะยาว ทำให้ ECHA เตรียมทำรายงานและสรุปผลในเดือนตุลาคมว่า อาจมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมสารเคมีที่ใช้ในการสัก ซึ่งรวมถึงการสักคิ้ว และอายไลเนอร์

“ในรายงานของ ECHA มีรายชื่อสารเคมีอันตรายผสมอยู่ประมาณ 4,000 ชนิด” มาร์ค เบลนีย์ (Mark Blainey) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก ECHA กล่าว

เขาย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสารเคมีอันตรายในรายการเหล่านี้อาจถูกควบคุมภายใต้กฎหมายอื่นว่า ‘ห้ามทา’ บนผิวหนัง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงการฉีดเข้าไปใต้ชั้นผิวหนัง

“ข้อกังวลสำคัญเลยคือการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในหมึก ซึ่งมีความเชื่อมโยงว่าสามารถเป็นต้นเหตุของมะเร็ง DNA เสียหาย หรือไม่ก็ส่งผลต่อการสืบพันธุ์” เขาเพิ่มเติม

“เราไม่ได้มองเรื่องแบนการสัก แต่เราต้องมั่นใจว่าเมื่อคนสัก หมึกนั้นต้องปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk