เปิดปมร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสิบก้าว

ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) ที่เสนอโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเปิดรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ ครั้งที่ 2 แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการพิจารณาให้สิทธิบัตรที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหา ‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ (Evergreening Patent) ได้จริง ทำให้ยังคงเกิดการผูกขาดโดยไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา

เมื่อเปรียบเทียบกระบวนการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบันและฉบับแก้ไข มองผิวเผินอาจดูเหมือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีการระบุระยะเวลาในบางขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น และย่นระยะเวลาในการตรวจสอบขั้นการประดิษฐ์ลงได้ระดับหนึ่ง แต่ในบางขั้นตอน เช่น การประกาศโฆษณา ครั้งที่ 2 และการพิจารณาคำคัดค้าน ยังไม่มีการระบุระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งโดยรวมแล้วไม่อาจช่วยให้การพิจารณาคำขอสิทธิบัตรทั้งกระบวนการใช้ระยะเวลาที่สั้นลงได้ และช่องทางการยื่นคัดค้านยังไม่สามารถใช้ป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กล่าวโดยสรุป ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) ยังไม่มีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้หรือไม่ให้สิทธิบัตรที่ชัดเจน และไม่สามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสาธารณชนได้อย่างแท้จริง ปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดจึงยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร กับราคา (ยา) ที่ต้องจ่าย

ความมั่นคงของระบบยาในประเทศไทยถูกสั่นคลอนอีกครั้ง เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) เพื่อตอบโจทย์รัฐบาล คสช. ที่ต้องการเร่งแก้ปัญหาความล่าช้าในการออกสิทธิบัตรที่คั่งค้างอยู่ในระบบกว่า 12,000 รายการ

‘สิทธิบัตร’ ไม่เพียงหมายถึงแค่ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ นานา แต่ยังเกี่ยวข้องกับ ‘อุตสาหกรรมยา’ ที่ทุกๆ ชีวิตมีความจำเป็นต้องพึ่งพายารักษาโรคในยามป่วยไข้และในราคาที่เอื้อมถึงได้

หากร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับนี้ถูกปล่อยผ่านไปโดยไม่มีการทัดทาน นั่นหมายความว่า ชะตากรรมของผู้ป่วยในประเทศไทยย่อมจะถูกแขวนไว้บนเส้นด้าย ระหว่างความเป็นและความตาย

Infographic ชุดนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเบื้องต้นว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร จะนำไปสู่การผูกขาดและการกำหนดกลไกราคายาของบรรษัทข้ามชาติอย่างไร และท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบโยงใยมาถึงประชาชนโดยถ้วนหน้าอย่างไร

‘สิทธิบัตร’ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภททรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้นและการออกแบบผลิตภัณฑ์

เงื่อนไขการได้รับสิทธิบัตร

  1. ต้องมีความใหม่
  2. มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
  3. ประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้

*สิ่งประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรนี้ รวมถึงยาด้วย

‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ (Evergreening Patent)

คือ สิทธิบัตรที่ให้แก่สิ่งประดิษฐ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจากสิ่งประดิษฐ์เดิม แล้วมาขอรับสิทธิบัตร ทั้งที่สิ่งประดิษฐ์ที่อ้างว่า ‘ใหม่’ นั้น ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากของเดิม ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น และมักยื่นขอรับสิทธิบัตรเพิ่มหลายๆ ฉบับไว้ให้แก่สิ่งประดิษฐ์เดิม โดยมุ่งหมายที่จะขยายอายุสิทธิบัตรตัวเดิมออกไปเรื่อยๆ

ในกรณีของยา ยาชนิดเดียวอาจมีสิทธิบัตรได้หลายฉบับและมีอายุสิทธิบัตรรวมกันมากกว่า 20 ปี ซึ่งตามกฎหมาย สิทธิบัตรแต่ละฉบับจะมีอายุการคุ้มครอง 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอสิทธิบัตร

ผลกระทบจาก ‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ ต่อการเข้าถึงยา

สาธารณชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิทธิบัตรไม่มีวันสิ้นสุดอายุนี้ ตรงกันข้าม สิทธิบัตรประเภทนี้จะขัดขวางไม่ให้มียาชื่อสามัญแข่งขันในตลาด โดยจะจดสิทธิบัตรในรูปแบบต่างๆ ในยาตัวเดียว เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำการวิจัยและพัฒนาหรือผลิตยาชนิดเดียวกันออกมาแข่งขันได้

เมื่อไม่มีผู้แข่งขัน การกำหนดราคายาตามอำเภอใจโดยบริษัทยารายเดียวย่อมทำได้ง่าย ดังนั้น ยาที่มีสิทธิบัตรเช่นนี้จึงมีราคาแพงเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี

ในสหรัฐฯ พบว่า บริษัทยาขอจดสิทธิบัตรให้แก่ยารักษามะเร็งชนิดหนึ่ง (ชื่อการค้า ‘เรฟลิมิด’) ไว้มากถึง 105 ฉบับ และจะมีอายุสิทธิบัตรผูกขาดได้นานถึง 40 ปี  ยารักษามะเร็งนี้มีราคาสูงถึง 4,000,000 บาทต่อปี

ในประเทศไทย บริษัทยาข้ามชาติรายเดียวขอจดสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี (ชื่อสามัญทางยา ‘โซฟอสบูเวียร์’) ไว้มากถึง 14 ฉบับ และจะมีอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรรวมกันนานถึง 30 ปี ถ้าได้รับสิทธิบัตร

สุดท้ายแล้ว ประชาชนจะเข้าถึงยาเหล่านี้ไม่ได้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะแบกรับค่ายาที่แพงไม่ไหว และไม่สามารถจ่ายยาให้ได้ ประชาชนจะต้องควักเงินซื้อยาเอง หรืออาจไม่ได้รับการรักษา

หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ศึกษาได้ที่ link นี้https://www.youtube.com/watch?v=FkxaxlX6zqM

มูลค่า ‘ยานำเข้า’ เกือบทั้งหมดเกิดจากยาที่มีสิทธิบัตรหรือได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรแล้วโดยบริษัทยาข้ามชาติ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นของบริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันและยูโรเปียน

นอกจากนี้ยังพบว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของยาที่มีสิทธิบัตร เป็นสิทธิบัตรยาที่ไม่มีวันสิ้นสุด มีผลทำให้เกิดการผูกขาดในไทยยาวนานกว่า 20 ปี ในช่วงปี 2539-2571 ไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณไปกับยาที่มีสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 8,500 ล้านบาท โดยคำนวณมูลค่าเฉพาะยาจำเป็น 59 รายการเท่านั้น

ผ้าอ้อมใช้ซ้ำ วิธีช่วยโลกสไตล์พ่อแม่ Millennials

ถ้าแนวคิดของผ้าอ้อมใช้ซ้ำจะทำให้นึกถึงภาพของผ้าขนหนูสี่เหลี่ยมที่ห่อไว้หลวมๆ กลัดด้วยเข็มกลัดตัวใหญ่ลายสารพัดสัตว์ – คิดใหม่ เพราะผ้าอ้อมใช้ซ้ำเวอร์ชั่นโมเดิร์นเพิ่งคลอดมาในรูปแบบสีสันสดใสและทำจากวัสดุหลากหลายแบบ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าใยไผ่ ผ้าไมโครไฟเบอร์ และผ้าใยกัญชง

นอกจากความกังวลเรื่องพลาสติกที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้บริโภค ความต้องการประหยัดเงินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมผ้าอ้อมแบบใช้ซ้ำค่อยๆ เติบโต

“เริ่มต้นจากแก้วกาแฟมาถึงทิชชู่เปียก จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อประเด็นจะกระโดดมาเป็นเรื่องผ้าอ้อม เพราะผู้คนเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบของผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง ในฐานะที่มันเป็นหนึ่งในพลาสติกที่ใช้ได้แค่ครั้งเดียว” เวนดี ริชาร์ดส์ (Wendy Richards) ผู้อำนวยการกลุ่ม The Nappy Lady ที่จัดสรรผ้าอ้อมใช้ซ้ำแบบออนไลน์ในอังกฤษ กล่าว

เธอยังเล่าว่า ตัวเลขของผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจของเธอมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2018 หรือก็เพิ่งไม่นานมานี้เอง

ธุรกิจผ้าอ้อมใช้ซ้ำ

พลาสติกเป็นส่วนประกอบราว 25 เปอร์เซ็นต์ของผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง และผ้าอ้อมที่ไปจบลงในหลุมฝังกลบขยะมีถึงปีละ 3,000 ล้านชิ้น ตอนนี้หน่วยงานบางแห่งในอังกฤษได้มอบบัตรกำนัลให้กับคู่ที่เพิ่งเป็นพ่อแม่หมาดๆ สูงสุด 55 ปอนด์เพื่อช่วยจ่ายค่าผ้าอ้อมใช้ซ้ำหนึ่งเซ็ต

อลิซ วอล์คเกอร์ (Alice Walker) จากองค์กร Real Nappies for London ที่รณรงค์ลดการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กล่าวว่า “เราไม่เคยคุยกันถึงเรื่องขยะพลาสติกมาก่อน พ่อแม่ในปัจจุบันต่างรับรู้ถึงตัวเลือกของพวกเขามากขึ้น และการพูดปากต่อปากก็ช่วยกระจายข่าวสารได้เป็นอย่างดี”

Bambino Mio แบรนด์ผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมใช้ซ้ำที่จำหน่ายทั้งทางออนไลน์และตามซูเปอร์มาร์เก็ต ระบุว่า สินค้ามียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา และตอนนี้มีพ่อแม่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์กำลังทดลองใช้ชีวิตแบบปลอดพลาสติก

“ผลกระทบของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงกันทั่วโลก” วิคตอเรีย วิลเลียมส์ (Victoria Williams) โฆษกของแบรนด์กล่าว

ไม่มีผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งใดที่จะแย่ไปกว่าผ้าอ้อมใช้ครั้งเดียวทิ้ง – ขวดพลาสติกและถุงพลาสติกสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ผ้าอ้อมใช้ได้แค่ครั้งเดียวจริงๆ

ผ้าอ้อมกับบิลรายจ่าย

อีกคำอธิบายหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในประเด็นผ้าอ้อมคือมิติทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจากโครงการผ้าอ้อมของสภาเมืองนอตติงแฮมเชียร์ พบว่า การใช้ผ้าอ้อมจริงๆ และซักหลังใช้จะช่วยประหยัดเงินได้ปีละ 200 ปอนด์ เมื่อเปรียบเทียบกับแบบใช้แล้วทิ้ง

“นี่อาจช่วยให้พ่อแม่ชาวอังกฤษประหยัดเงินได้มากถึงปีละ 360 ปอนด์ ขณะเดียวกันก็ทำให้เราก้าวเข้าสู่สังคมปลอดขยะได้จริงๆ” เอมิเลีย โวแม็ค (Amelia Womack) รองหัวหน้าพรรคกรีน กล่าว

จากมุมมองของกระทรวงการคลัง รายการบัตรกำนัลทั่วประเทศเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการหารือเรื่องขยะพลาสติก แต่โวแม็คกล่าวว่า รัฐบาลและสภาท้องถิ่นต้องทำอะไรให้มากกว่านี้

สื่อสังคมออนไลน์ในแพล็ตฟอร์มต่างๆ ก็ช่วยกันการกระจายข่าวนี้ด้วย เช่น คาเซีย เรสเซล (Kasia Reszel) แม่ของ จูเลียน ลูกชายวัย 2 เดือน เธอเล่าว่า “คุณสามารถซื้อผ้าอ้อมมือสองได้ในเฟซบุ๊ค ซึ่งถูกกว่า และมีเครือข่ายขนาดมหึมาที่จะโชว์ให้คุณเห็นว่าต้องทำอย่างไร เราซักวันละครั้ง และมันง่ายมาก”

ความเห็นจากคนอื่นๆ ก็เป็นไปในทางบวกเช่นกัน “ฉันเพิ่งเจอผ้าขนหนูสีขาวที่พี่เลี้ยงเคยพูดถึง และผ้าพวกนี้กลายเป็นของมีสไตล์ไปแล้ว” อันเดรีย สนุค (Andrea Snook) แม่ของลูกชายวัย 1 ขวบบอก “แต่ดีไซน์ของผ้าอ้อมใช้ซ้ำในตอนนี้ทั้งผิวสัมผัสนุ่มกว่าและทนทานมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ราคาของผ้าอ้อมใช้ซ้ำอาจเป็นอุปสรรคสำหรับพ่อแม่จำนวนหนึ่ง ด้วยอุปกรณ์เริ่มต้นสำหรับผ้าอ้อมใช้ซ้ำเต็มรูปแบบมีราคาอยู่ระหว่าง 100-350 ปอนด์ พ่อแม่รายได้น้อยส่วนหนึ่งจึงระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

จอร์จีนา เดเวิร์สต์ (Georgina Dewhirst) และ ลุค สามี พ่อแม่ของลูกวัย 5 สัปดาห์ กำลังพิจารณาว่าจะใช้ผ้าอ้อมทำจากผ้า เพราะถังขยะของพวกเขาเต็มไปด้วยผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง และถังขยะจะว่างเปล่าเพียงเดือนละสองครั้ง

นอกจากค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น พวกเขากังวลเกี่ยวกับค่าน้ำค่าไฟจากการทำความสะอาดผ้าอ้อมเหล่านี้ด้วย “เราจะพยายาม แต่ช่วงเวลานี้ รายจ่ายกำลังทำให้เราท้อ”

ชาร์ล็อตต์ แฟร์โคลธ (Charlotte Faircloth) อาจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยกรุงลอนดอน บอกว่า มักจะเป็นพ่อแม่ชนชั้นกลางที่คอยกังวลเรื่องสไตล์การเลี้ยงดูแบบธรรมชาติ “ในขณะที่คนอื่นๆ กำลังกังวลกับบิลค่าใช้จ่ายมากกว่า”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com

ทำไมหยุดยาผิดกฎหมายไม่อยู่

จับได้แต่ไล่ไม่ทัน จับอย่างไรก็ดูเหมือนการขายยาผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายก็ดูจะไม่ลดลง เรายังเห็นการโฆษณาขายอย่างโจ่งแจ้งบนสื่อออนไลน์ คนขายร่ำรวย คนใช้กลับเอาชีวิตและสุขภาพไปเสี่ยง

ต้องแก้ตรงไหน ทำไมเราจึงหยุดยาผิดกฎหมายไม่อยู่

คำถามเหล่านี้ เภสัชกรอดุลย์ ลาภะแนน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้ให้คำตอบไว้ในงานศึกษา เรื่อง ‘การวิเคราะห์การใช้ประมวลกฎหมายอาญาในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ ภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ของวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เพื่อจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า การบูรณาการกฎหมาย อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะทำให้การลงโทษตามกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อุดช่องโหว่ พ.ร.บ.ยา ด้วย ‘กฎหมายอาญา’ ปราบสินค้าลวงโลก

แม้หน่วยงานภาครัฐและบุคลากรด้านสาธารณสุขจะระดมกำลังปราบปรามอย่างหนัก แต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยก็ยังคงแพร่ระบาดไม่หยุด ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสริมความงาม ลดน้ำหนัก ยิ่งช่องทางสื่อสารในโลกออนไลน์เปิดกว้างเท่าไร สินค้าเหล่านี้ก็ยิ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายดายขึ้น

หนักกว่านั้น เมื่อเห็นช่องทางทำเงิน ผู้บริโภคบางรายยังผันตัวไปเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย สร้างสินค้ายี่ห้อใหม่เป็นของตัวเอง บ้างรับช่วงต่อเป็นทอดๆ จนกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจลูกโซ่ เน้นยอดขายให้ได้ปริมาณมากๆ และการโหมโฆษณาทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงว่าข้อความโฆษณานั้นจะเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ เพราะเห็นว่าใครๆ ก็ทำกัน

นั่นหมายความว่า กฎหมายใช้ไม่ได้ผลเช่นนั้นหรือ หรือการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มข้น หรือบทลงโทษยังไม่แรงพอที่จะกำราบได้ ต้องใช้กฎหมายอะไรและบทบัญญัติข้อใดจึงจะเอาอยู่?

คำถามเหล่านี้ เภสัชกรอดุลย์ ลาภะแนน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้ให้คำตอบไว้ในงานศึกษา เรื่อง ‘การวิเคราะห์การใช้ประมวลกฎหมายอาญาในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ ภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ของวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เพื่อจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า การใช้ ‘ประมวลกฎหมายอาญา’ อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะทำให้การลงโทษตามกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พ.ร.บ.ยา
เภสัชกรอดุลย์ ลาภะแนน

ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายเฉพาะอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะตอบโต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสังคมในวงกว้าง บางสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ทว่ากฎหมายที่มีอยู่กลับไม่สามารถทุเลาปัญหาให้ลดน้อยลงได้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.เครื่องสำอาง โดยเฉพาะบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น คือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุก 1-2 ปี อีกทั้งรอลงอาญาหากจำเลยรับสารภาพ

“หากมีการบังคับใช้กฎหมายในรูปแบบบูรณาการหลายกฎหมายอย่างเข้มข้น จะเป็นการเสริมให้มาตรการการลงโทษทางอาญาเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้” ภก.อดุลย์ กล่าว

เห็นได้ชัดว่ากฎหมายไม่สามารถที่จะบังคับยับยั้งผู้กระทำผิดได้จริง หรืออาจกล่าวได้ว่าบทลงโทษเบาเกินไปจนไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้และไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงอาจจำเป็นต้องใช้ ‘ยาแรง’ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการออกนอกลู่นอกทาง

ภก.อดุลย์เสนอว่า แนวทางที่จะทำให้เกิดการกำกับควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรต้องหามาตรการเสริมเพื่อให้ผลการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น ซึ่งมาตรการเสริมมีทั้งทางเพ่ง ปกครอง และอาญา โดยมาตรการทางอาญาน่าจะเป็นมาตรการอันดับต้นๆ ที่ควรนำมาพิจารณา

ภก.อดุลย์ อธิบายว่า ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ แบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่คือ

  1. ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ถือเป็นความผิดที่ส่งผลต่อชีวิตและร่างกาย
  2. ความผิดที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน เช่น การปลอมปนอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้บุคคลเสพหรือใช้

นอกจากนี้ กลุ่มความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน จะเห็นได้จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท magic skin ซึ่งพบว่าความผิดที่เกิดขึ้นสามารถนำประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ได้ ดังนั้น ในขั้นตอนการพิจารณาหากพบว่าพฤติการณ์และข้อเท็จจริงมีความคาบเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ก็สามารถเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญาได้

บูรณาการกฎหมายแพ่ง-อาญา-ปกครอง

ปัจจุบันทั้งกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายปกครอง มีอยู่แล้ว หากแต่ว่าทุกวันนี้ยังไม่มีการนำมาบังคับใช้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมากนัก สาเหตุหนึ่งเนื่องจากเจ้าหน้าที่ อย. อาจยังไม่มั่นใจที่จะใช้กฎหมาย อย่างเช่นการนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์เป็นเท็จ การโฆษณาผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนหรือเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ อย. ขาดความชำนาญและความมั่นใจที่จะใช้กฎหมายนี้ ก็ควรประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา คือเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญมากกว่า

ในงานศึกษาของ ภก.อดุลย์ พยายามที่จะหาแนวทางกระตุ้นหรือให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้กฎหมาย โดยสนับสนุนทางวิชาการว่า ‘กฎหมายนี้ใช้ได้’ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 77 จังหวัด มีเพียงการบังคับใช้แค่กฎหมายเฉพาะ เปรียบเทียบปรับ หรือกล่าวโทษร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา แต่น้อยนักที่จะมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาควบคู่ไปด้วย

“ยกตัวอย่างกรณีเด็ก ม.1 เสียชีวิต ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนว่าเกิดจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจริงหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถใช้มาตรา 288 ตามประมวลกฎหมายอาญาคือ ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนกรณีที่มีการปลอมปนอาหาร ตามมาตรา 236 คือผู้ใดปลอมปนอาหารสำหรับให้ประชาชนเสพ หรือบริโภค ก็มีความผิดอาญาเช่นกัน โดยกฎหมายมาตรานี้ยังรวมถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด”

ในกระบวนการปราบปรามผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ภก.อดุลย์ เสนอว่าประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ หากพบการกระทำความผิดหรือเข้าข่ายกระทำความผิดอย่างที่ว่ามาทั้งหมด สามารถแจ้งเบาะแสเพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับส่วนราชการเพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์ หากพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายก็สามารถแจ้งเบาะแสแก่ทางราชการได้ เพื่อเป็นการช่วยสกัดกั้นภัยร้ายแก่สังคม

บุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นนักขาย แบบนี้ก็ได้เหรอ?

หากคุณเลื่อนหน้าฟีด Facebook ดูคลิปใน Youtube เห็นภาพจาก IG ค้นข้อมูลไปเจอในเว็บไซต์ แล้วพบข้อความเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ยา หรือสิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์แนะนำให้ใช้

“หมอใช้แล้วดี”
“เภสัชกรรับรอง”
“เรื่องนี้แพทย์แนะนำ”

สิ่งที่ควรจะทำ 3 อย่างคือ #ประการแรก สงสัยในผลิตภัณฑ์ ขณะที่ #ประการที่สอง คือ สงสัยว่านายแพทย์ คุณหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นเที่ยวโฆษณาสินค้าแบบนี้ได้ด้วยหรือ?

เภสัชกรหญิงกาญจนา ไชยประดิษฐ์ และ เภสัชกรหญิงกนกพร ธัญมณีสิน กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามและขอนแก่น ได้ศึกษาเรื่อง ‘มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้ประกอบวิชาชีพทางสื่อออนไลน์’

ข้อมูลที่พบคือ บุคลากรทางการแพทย์กำลังใช้ช่องทางออนไลน์มาขายของ ซึ่งนอกจากสร้างความสงสัยในคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพด้วย

และเรื่องนี้นำมาซึ่ง #ประการที่สาม นั่นคือเราทุกคนควรร้องเรียนสภาวิชาชีพให้รับทราบ สอบสวน และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะโดยจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ต้องคุ้มครองดูแลผู้คน มิใช่ใช้ข้ออ้างในความสามารถตนไปเอื้อประโยชน์ต่อการค้า

เมื่อคน ‘ชุดกาวน์’ กลายเป็นนักขายชวนเชื่อ: ความท้าทายในจรรยาบรรณวิชาชีพ

เป็นที่ทราบกันดีกว่า บุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้ง 7 สายงาน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักวิชาการสาธารณสุข ล้วนมีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน โดยใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยรักษาผู้ป่วยให้หลุดพ้นจากอาการเจ็บป่วยต่างๆ

แน่นอนว่าบุคลากรวิชาชีพเหล่านี้ย่อมถูกคาดหวังว่าจะต้องมีความรู้และความแม่นยำในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นอย่างดี และไม่แปลกถ้าประชาชนจะเลือกเชื่อคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่มีแพทย์ออกมายืนยัน เพราะอย่างไรเสีย เชื่อหมอย่อมดีกว่าเสมอ

ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษา เรื่อง ‘มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้ประกอบวิชาชีพทางสื่อออนไลน์’ โดย เภสัชกรหญิงกาญจนา ไชยประดิษฐ์ และ เภสัชกรหญิงกนกพร ธัญมณีสิน กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามและขอนแก่น นำเสนอต่อวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)

เภสัชกรหญิงกาญจนา ไชยประดิษฐ์

ทุกวันนี้การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชนิด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา เครื่องสำอาง ล้วนขยายปริมณฑลไปสู่ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ยิ่งยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเช่นนี้ สื่อออนไลน์จึงกลายเป็นอีกช่องทางที่ได้รับความนิยมสูง หันซ้ายหันขวาก็เจอกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ไม่ยาก รวมถึงยังใช้กลยุทธ์ต่างๆ นานาเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดความน่าเชื่อถือ โดยอาศัยภาพลักษณ์ของบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยส่งเสริมการตลาด ทั้งช่วยโปรโมท เป็นพรีเซนเตอร์ ให้การรับรอง หรือเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นเสียเอง

แนวทางการศึกษาของกาญจนาและกนกพร มุ่งเน้นไปที่การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ร่วมโฆษณาในสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูบ และเว็บเพจต่างๆ โดยเจาะจงไปที่ 4 กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล รวมถึงศึกษากระบวนการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพมีการโฆษณาผ่านช่องทางเฟซบุ๊คมากที่สุด คิดเป็น 36.49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณามากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร คิดเป็น 80.56 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้พบว่า ผู้ประกอบวิชาชีพมักใช้วิธีโฆษณาโดยการถ่ายรูปตัวเองคู่กับสินค้าถึง 61.84 เปอร์เซ็นต์

เดิมทีการกำกับดูแลประเด็นนี้ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติของแต่ละวิชาชีพอยู่แล้ว อาทิ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 31 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ตามข้อบังคับที่แพทยสภากำหนดไว้ ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 14 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี มิให้การประกอบวิชาชีพของตนแพร่ออกไปในสื่อมวลชนเป็นทำนองโฆษณาความรู้ความสามารถ

นอกจากนี้ ข้อบังคับของแพทยสภา ข้อ 21 ระบุด้วยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่หลอกลวงผู้ป่วยให้หลงเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตน เป็นต้น

จากการศึกษากระบวนการทางกฎหมายด้านจรรยาบรรณของสภาวิชาชีพ พบว่า ด้านโครงสร้างของคณะกรรมการทุกสภาวิชาชีพมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการสอบสวน เพื่อทำหน้าที่ในการสืบค้น สอบสวนหาข้อเท็จจริง รายงานและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดและพิจารณาลงโทษ

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีการระบุใน พ.ร.บ.วิชาชีพของทุกสภา ว่า หลังการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจง แสดงหลักฐาน เพื่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทบทวนรายงานก่อนเสนอต่อสภาวิชาชีพให้วินิจฉัยชี้ขาด

จากการศึกษากรณีตัวอย่างการพิจารณาคดีจรรยาบรรณ พบว่า มีผู้ประกอบวิชาชีพกระทำความผิดจากการโฆษณาสุขภาพทางสื่อออนไลน์ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต ต่ำสุด 3 เดือน สูงสุด 1 ปี จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต โดยพิจารณาตามความหนักเบาจากเจตนาและความเสียหายที่เกิดขึ้น

บทสรุปของการศึกษาชิ้นนี้ คาดหวังเพียงให้สภาวิชาชีพหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มองเห็นช่องโหว่และช่วยกันแก้ไข ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีสัญญาณแนวโน้มที่ดี หลังจากกรณีการจับกุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังที่ใช้ดารานักแสดงนักร้องทำการโฆษณาเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพมีจำนวนลดลง บวกกับการตื่นตัวของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการควบคุมมากขึ้น

เภสัชกรหญิงกาญจนา เชื่อว่าถ้าหมอ หมอฟัน เภสัชกร หรือวิชาชีพอื่นๆ เลือกที่จะไม่รับงานโฆษณาให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เสี่ยงผิดกฎมายและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ย่อมส่งผลให้ประชาชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นลงไปด้วย

หากคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขควรทบทวนบทบาทและตระหนักในหน้าที่ของตัวเองเสมอว่า การโฆษณาเช่นนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าที่จะส่งเสริมสุขภาพของประชาชนหรือไม่

มูลนิธิเภสัชชนบทชี้ เภสัชนานาชาติในเอเชีย มุ่งแยกการสั่งใช้ยาโดยแพทย์กับการจ่ายยาโดยเภสัชกร

มูลนิธิเภสัชชนบท ชี้ เภสัชนานาชาติในเอเชีย มุ่งแยกการสั่งใช้ยาโดยแพทย์กับการจ่ายยาโดยเภสัชกร (Separation of Dispensing and Prescribing Practices, SDP) เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

แถลงการณ์จากการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น “ความท้าทายต่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยของประเทศในภาคพื้นเอเชีย : การแยกใบสั่งยาและการจ่ายยา” ซึ่งจัดโดย สมาพันธ์สมาคมเภสัชกรรมแห่งเอเชียร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมแห่งมาเลเซีย เมื่อ 12-13 พค 2560

การแพทย์แผนปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงวิธีในการรักษาโรค การติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา เป็นขั้นตอนที่ได้บูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งการมาตรฐานการปฏิบัติทางคลินิก เพื่อที่จะทำให้เกิดคุณภาพที่ดีต่อการให้บริบาลทางการแพทย์ และการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา  ทั้งยังช่วยในการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการใช้ยาอีกด้วย

การอนุมัติทะเบียนตำรับยาดำเนินการพิจารณาบนข้อมูลที่ได้มาในการศึกษาวิจัยยา และเมื่ออนุมัติทะเบียนตำรับยาไปแล้ว ยาดังกล่าวจะสามารถวางขายได้ในท้องตลาดซึ่งมีบริบทและสภาวะแวดล้อมในการใช้ยาแตกต่างจากสภาวะแวดล้อมตอนที่ทำการศึกษาวิจัยยา (ตอนที่ทำการศึกษาวิจัยยาจะมีการควบคุมคุณสมบัติของอาสาสมัคร สภาวะโรค และปัจจัยแวะล้อมอื่น ๆ อย่างเข้มงวด) ในจุดนี้เองเป็นจุดสำคัญที่จำเป็นต้องมีการติดตามความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาที่วางขายในท้องตลาดด้วยเช่นกัน

เภสัชกรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่รับผิดชอบต่อการติดตามความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย และหน้าที่นี้เองทำให้เภสัชกรต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพเพื่อให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย โดยมีการบริหารจัดการยาที่ใช้ในการรักษาอย่างเหมาะสม

โดยทั่วไปแล้ว บทบาทของเภสัชกรได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์จากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยได้ปรับเปลี่ยนจากการทำหน้าที่เป็น เพียงผู้ส่งมอบยา ไปเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ทำหน้าที่เพื่อให้การบริบาลผู้ป่วยโดยตรง

การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นี้เองทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริบาลและการรักษาที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเภสัชกรรมนี้ได้มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ดังจะเห็นได้ว่า ทำให้เกิดบทบาทของ เภสัชกรชุมชนขึ้นมา

นอกจากนี้การบริบาลทางเภสัชกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ยังทำให้เห็นว่าการให้คำปรึกษาด้านยาโดยเภสัชกรได้มีการพัฒนาจากการให้คำแนะนำสั้น ๆ ในขั้นตอนการจ่ายหรือซื้อยา ไปสู่การให้คำปรึกษาในเชิงลึกและพิจารณาประโยชน์และความจำเป็นจากการใช้ยาของผู้ใช้รายบุคคล ซึ่งการให้คำปรึกษาด้านยาของเภสัชกรชุมชนในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในประเทศบนภาคพื้นเอเชียส่วนใหญ่ พบว่าลักษณะการจ่ายยาในระดับชุมชนยังคงมีลักษณะการทำงานแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม คือ ผู้สั่งใช้ยาจะทำหน้าที่เบ็ดเสร็จทั้งการสั่งใช้ยาและดำเนินการจ่ายยาแทนเภสัชกร

ดังนั้นประเด็นในการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา จึงเป็นประเด็นที่สำคัญมากในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เพื่อการรักษาสิทธิให้แก่เภสัชกร  แต่เป็นไปเพื่อการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการใช้ยาอย่างมีคุณภาพอีกด้วย

เพื่อให้การพิจารณาในประเด็นการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ให้มีความครอบคลุมและมีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน สมาพันธ์สมาคมเภสัชกรรมแห่งเอเชีย และ สมาคมเภสัชกรรมแห่งมาเลเซีย จึงได้จัดประชุมเภสัชกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเซีย ขึ้น โดยมีผู้เข้าประชุมจำนวน 35 คน จาก 14 ประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

 

 

การประชุมดังกล่าว ได้ผลสรุปที่สำคัญดังนี้

ที่ประชุม เห็นว่า :

ความปลอดภัยจากการใช้ยาเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในปัจจุบัน แม้ว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยจากใช้ยาดังกล่าว  แต่การแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาในระดับชุมชน

เมื่อศึกษาในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียพบว่าไม่ได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา แพทย์ในคลินิกสามารถสั่งและจ่ายยาให้แก่คนไข้ของตนเองได้  การออกใบสั่งยาไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย และกิจกรรมการจ่ายยามักจะดำเนินการโดยลูกจ้างหรือพนักงานที่ไม่ได้ผ่านการอบรมอย่างเพียงพอ การดำเนินการในลักษณะนี้ พบหลักฐานจากประเทศมาเลเซียว่า ผู้ป่วยที่ใช้บริการคลินิก มีการได้รับยาเกินจำเป็น มากกว่าที่ผู้ป่วยไปรับบริการกับเภสัชกรชุมชน

การไม่แบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ทำให้เภสัชกรผู้ซึ่งผ่านการอบรมด้านนยามาอย่างมากมาย ไม่สามารถช่วยกลั่นกรอง ทบทวน สอบทานการใช้ยาของคนไข้ได้

การไม่แบ่งแยกหน้าที่นี้ เป็นการจำกัดโอกาสในการป้องกันปัญหาการสั่งใช้ยาที่ผิดพลาด ซึ่งโดยทั่วไปปัญหาการสั่งใช้ยาที่ผิดพลาดจะตรวจพบได้โดยเภสัชกรในขั้นตอนการจ่ายยาและได้รับการแก้ไขเพื่อให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ดังนั้นการสร้างกลไกเพื่อการตรวจสอบซึ่งกันและกันโดยเภสัชกรนี้จะช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการสั่งใช้ยาได้

นอกจากนี้ การจ่ายยาโดยเภสัชกรยังเป็นขั้นตอนที่ผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลและมีการใช้ยาอย่างปลอดภัยและเพียงพอ  หากไม่มีการตรวจรักษาและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์แล้ว

ผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับทราบสิทธิและแผนการรักษา ตลอดจนไม่ทราบว่าควรเลือกใช้ยาใดในปริมาณเท่าใดแต่หากแพทย์ดำเนินการจ่ายยาเองแล้ว ก็จะไม่มีขั้นตอนการตรวจสอบการสั่งใช้ยาด้วยเช่นกัน

ความปลอดภัยจากการใช้ยาของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เภสัชกรเป็นบุคคลหลักที่มีบทบาทที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้ยาอย่างปลอดภัย

 

ที่ประชุม ยอมรับว่า :

ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา นานาชาติ และภูมิภาคต่าง ๆมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำให้เกิดการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีมีการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าวมากว่า 15 ปี หรือในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็ได้แบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนานแล้ว แต่หลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ไม่ได้มีการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าว และคงยังอีกนานกว่าจะมีการแบ่งแยกหน้าที่ได้

การสร้าง The ‘Drug Profile Book’ ของประเทศญี่ปุ่นเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการริเริ่มเพื่อให้เกิดนโยบายดังกล่าวผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลง

การแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา เป็นประโยชน์สาธารณะ ประสบการณ์ของไต้หวันและเกาหลีพบว่าภายหลังการดำเนินนโยบายการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา ประชาชนมีการใช้ยาได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

 

ที่ประชุม ให้คำแนะนำดังนี้ :

♦ ควรจัดให้มีการรณรงค์ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานด้านนโยบายระดับประเทศให้เห็นประโยชน์จากการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยาจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และ ไต้หวัน

♦ ดำเนินนโยบายในทันทีที่ทำได้เพื่อพัฒนาโปรแกรมการแบ่งแยกหน้าที่ในการสั่งใช้ยาและการจ่ายยา เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยจากาการใช้ยาของประชาชนในประเทศ และฝึกอบรมเภสัชกรให้มีความพร้อมรองรับนโยบายดังกล่าว เช่น การประเมินอาการไม่พึงประสงค์ (ADR) การให้คำปรึกษาเป็นต้น

♦ สร้างความร่วมมือระหว่างเภสัชกรชุมชนและสถาบันการแพทย์ เพื่อให้สถาบันการแพทย์เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการหรือร่วมดำเนินการอื่น ๆ ที่ เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างปลอดภัย เช่น การส่งต่อ การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือการร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยา เป็นต้น

 

 

ที่มา:  แถลงการณ์จากการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น “ความท้าทายต่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยของประเทศในภาคพื้นเอเชีย : การแยกใบสั่งยาและการจ่ายยา”

แปลโดย  ภก.กฤษดา ลิมปนานนท์  มูลนิธิเภสัชชนบท โทร 0946479111

ผู้ป่วยสุขภาพจิต กลุ่มเสี่ยงสารพัดโรคเรื้อรัง

โรคหัวใจ ความดันสูง ข้อต่ออักเสบ ปวดหลัง เบาหวาน หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็ง – ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ก็ว่าหนักแล้ว แต่ที่หนักกว่าคือกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ได้รวมไปถึงคนที่มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าด้วย

รายงานชิ้นใหม่ของหน่วยงานด้านนโยบายสุขภาพของออสเตรเลีย (Australian Health Policy Collaboration: AHPC) พบว่า การป่วยทางใจกลายเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มความเสี่ยงต่อทุกอาการป่วยเรื้อรังหลักๆ และชาวออสเตรเลียราว 4 ล้านคนกำลังอยู่ในความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แถมมากกว่า 2.4 ล้านคนกำลังมีปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและจิตไปพร้อมกัน

รายงานฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกของออสเตรเลียที่แสดงให้เห็นขอบเขตของปัญหา ตัวอย่างเช่น โรคระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งคนมีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเป็นมากกว่า ไม่ว่าจะโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดอุดตัน โดยผู้ชายมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นถึง 52 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นในผู้หญิงถึง 41 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน มีชาวออสเตรเลียมากกว่าล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบบไหลเวียนโลหิตและอาการป่วยทางสุขภาพจิตไปพร้อมกัน โรคเหล่านี้กำลังเป็นเพชฌฆาตคร่าชีวิตประชากรในประเทศนี้

เพศและโอกาสป่วย

รายงานยังระบุว่า โอกาสของการป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างทางเพศด้วย โดยรวมแล้ว ผู้หญิงในออสเตรเลียมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงมีโอกาสมีโรคทางกายคู่ไปกับโรคทางใจมากกว่าผู้ชาย 23 เปอร์เซ็นต์

สำหรับโรคต่างๆ เช่น โรคหืด พบว่าผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีโอกาสเป็นหืดมากกว่าผู้หญิงทั่วไปราว 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 49 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแต่ละโรค ผู้ชายที่ป่วยทางใจกลับมีโอกาสป่วยทางกายได้มากกว่า เช่น อาการเจ็บปวดที่ลดความสามารถทางร่างกายลงอย่าง ข้อต่ออักเสบและอาการปวดหลัง

ผู้ชายที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเป็นข้อต่ออักเสบถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงมีโอกาส 46 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาการปวดหลังมีโอกาสเกิดกับผู้ชายถึง 74 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงมีโอกาส 68 เปอร์เซ็นต์

แต่ความแตกต่างระหว่างเพศที่ใหญ่สุดอยู่ที่โรคมะเร็ง รายงานพบว่า ผู้ชายที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสมากกว่าเพียง 20 เปอร์เซ็นต์

รายงานยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ปัญหาสุขภาพจิตที่มาพร้อมอาการป่วยเรื้อรังจะส่งผลแย่ต่อคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ความต้องการการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น และแน่นอน – ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกลับมีโอกาสยากจนกว่า รวมถึงโอกาสในการทำงาน การได้รับการตรวจสุขภาพน้อยกว่า และที่น่าเศร้าคือ มีแนวโน้มได้รับการดูแลโรคทางกายภาพต่ำกว่ามาตรฐานด้วย

โดยเฉลี่ยแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปอย่าง อาการวิตกกังวลและซึมเศร้ามีส่วนทำให้เกิดโรคเรื้อรัง นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เพิ่มมากขึ้น

ดูแลกายใจไปพร้อมกัน

สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า สามารถอนุมานโรคทางกายภาพได้เมื่อพิจารณาจากสุขภาพที่ย่ำแย่และปัจจัยเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิต เช่น รู้สึกไม่พอใจกับชีวิต รู้สึกไม่สงบ มีปัญหาการนอนหลับที่ส่งผลต่อการทำงาน มีความกังวลด้านการเงิน สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจตกต่ำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพฤติกรรมสูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน การเลือกปฏิบัติและการเมินเฉยในกระบวนการทางการแพทย์ ระบบการดูแลสุขภาพกายและใจที่ไม่ต่อเนื่องกันทำให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ในออสเตรเลียมักไม่ยอมรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิต ไม่รับการทดสอบ และมีโอกาสน้อยที่จะเข้ารับการรักษา

ปัจจุบัน เกิดแรงกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต องค์กรมากมายร่วมลงชื่อกับองค์กร Equally Well ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยจัดสรรการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ มีโครงการดีๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การลดน้ำหนัก หรือการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ รายงานยังได้แนะนำว่า ควรประเมินสุขภาพกายของผู้ที่ใช้บริการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งปัญหาที่พบโดยเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะกายและใจควรได้รับการดูแลไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theconversation.com

อยากผอมทักด่วน อยากสวยทักเลย

เรื่องเศร้าเล่าซ้ำผ่านข่าวที่ปรากฎอยู่เนืองๆ ก็คือ ความเจ็บป่วย สูญเสียชีวิต อันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณว่า #ลดความอ้วน ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ไม่ได้ซุกซ่อนอยู่ที่ไหนไกล เพียงแค่เลื่อนเฟซบุ๊คเพียงครู่คราวเราก็จะพบว่าสินค้าเหล่านั้นโชว์หรา ดึงดูดคนอยากผอมให้ลองคลิก ลองซื้อ และลองใช้ได้ไม่ยาก

ในฐานะคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เภสัชกรหญิงฐิติพร อินศร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ นำความสงสัยไปตั้งเป็นหัวข้อการศึกษา ‘แนวทางจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ปลอดภัยในสื่อสังคมประเภทเฟซบุ๊ค’

บนหน้าฟีดเหล่านั้นเขาขายอะไร ขายอย่างไร ใช้ถ้อยคำแบบไหน และสินค้าเหล่านั้นเจือปนด้วยสารใดจึงสามารถขายฝันให้คนอยากผอมง่ายดายเพียงนั้น

ผลการศึกษาด้วยระยะเวลา 6 เดือน จาก 178 เพจ 204 ผลิตภัณฑ์ และกว่า 13,000 ข้อความ อาจทำให้เราๆ ท่านๆ ต้องอึ้งกันถ้วนหน้า