เมื่ออาดัมและอีฟกินผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี

มติไม่เป็นเอกฉันท์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากมีมติไม่แบนสารเคมีอันตราย 3 ตัว ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบมากพอ โดยให้จำกัดการใช้สารเคมีเหล่านี้ในพืชเศรษฐกิจ

แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เผยให้เห็นผลกระทบของสารเคมีเหล่านี้ เช่น สารพาราควอตที่ตกค้างในร่างกายมารดาสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้ ในงานวิจัย ‘การตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประกอบการสำรวจการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ของ ‘เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ (Thai-PAN) พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด

ผักและผลไม้ที่สำรวจพบการปนเปื้อน ล้วนแต่เป็นผักที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่ายในท้องตลอด เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า กะเพรา ชะอม เป็นต้น

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงเหล่านี้ถูกดูดซึมมาทางรากของพืชสวนครัว

ภาคประชาชนและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีพิษร้ายแรงกว่า 700 องค์กร จึงเตรียมหลักฐานยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยมีมูลเหตุว่ามติดังกล่าวอาจไม่โปร่งใส และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่คุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

นี่คือสิ่งที่ภาคประชาชนพอจะทำได้

เมื่อสารเคมีถูกอนุญาตให้ใช้ต่อไป และอาดัมและอีฟยังคงต้องกินผักและผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี แน่ล่ะว่าหากทั้งสองแต่งงานและมีบุตร ก็น่ากลัวว่า สารเคมีนั้นจะถ่ายทอดไปยังคนรุ่นลูก

กระท่อม-กัญชา​ ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

เส้นแบ่งระหว่างยาเสพติดกับยารักษาโรคของพืชในตำนานอย่างกัญชา-กระท่อม ในประเทศไทยยังคงถกเถียงกันว่า เราควรจัดให้พืชชนิดนี้อยู่ในหมวดหมู่ใดกันแน่ ขณะที่หลายประเทศได้ยกระดับสู่การศึกษาวิจัย และนำไปใช้ในทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วงสัมมนาวิชาการ​ ‘การใช้กัญชา​ กระท่อม ในการบำบัดโรค​: ปัญหาและทางออก’ ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์​ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่​ 12​ ตุลาคม​ 2561 ที่ผ่านมา​ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การชี้ให้เห็นว่า การใช้กัญชาและกระท่อมเพื่อบำบัดโรคนั้นนำไปสู่ทางเลือกเช่นไรระหว่างปัญหาหรือทางออก?

​แม้ว่าสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) จะเสนอแนวคิดในการถอดถอนพืชกระท่อมและกัญชาให้พ้นจากบัญชียาเสพติดมาเป็นยารักษาโรค แต่สำหรับประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยาก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์​ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มองว่า ปัญหาในการพิจารณาให้กัญชา​-กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท​ 5 มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เป็นแม่งานหลัก​ ทว่าโครงสร้างของ ป.ป.ส. นั้นเทอะทะ และการประชุมเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดยังคงมุ่งไปที่การปฏิบัติมากกว่าการพิจารณาเชิงนโยบาย

กระท่อม กัญชา
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

ในแง่ข้อกฎหมายก็ยังมีอุปสรรคด้วยเช่นกัน​ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ​ พ.ศ.​ 2522 ทาง สนช. จึงเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมาย​ แต่สิ่งที่ นพ.เจตน์ พบคือเป็นเรื่องยากในการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง​ 7 ฉบับ มามัดรวมเป็นเล่มเดียว ​จึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ​ พ.ศ. 2522 โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่มาตรา​ 5 ที่ระบุว่า​ “… เพิ่มเติมให้คณะกรรมการ​ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจกำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท​ 5 ​ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท​ 5 ​หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท​ 5 ​ในปริมาณที่กำหนดได้​ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบด้วย”

“ร่างแก้ไขนี้เราได้นำเสนอสภาแล้ว แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 วรรค 2 ปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยหวังว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า” นพ.เจตน์ กล่าว

ขณะที่​ ผศ.ภญ.นิยดา​ เกียรติยิ่งอังศุลี​ ผู้จัดการศูนย์​วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา​ (กพย.) ​จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ กล่าวถึงสถานการณ์​ล่าสุดว่า มติ ครม. ได้มีการอนุญาตให้องค์การเภสัชกรรมสามารถปลูกเพื่อใช้ในการรักษาได้​ ส่วนที่ประเทศแคนาดาเตรียมประกาศใช้กัญชาในการรักษาได้ทุกรูปแบบในวันที่​ 17 ตุลาคมนี้ รวมถึงประเทศอังกฤษ​ แพทย์จะสามารถสั่งยาโดยให้ใช้กัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป​ แม้ในภาพรวมของ​สหภาพยุโรป (EU) จะยังคงจำกัดการใช้กัญชาและกระท่อม​ แต่ก็ให้สิทธิ์แต่ละประเทศในการออกนโยบายเกี่ยวกับการใช้กัญชา​เพื่อการรักษาทางการแพทย์ได้

“เวลาที่เราพูดถึงประเด็นนี้ ควรมองที่สุขภาพของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งเรื่องการเข้าถึงและการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญด้วย”

ความเห็นของ​ ผศ.นพ.ปัตพงษ์​ เกษสมบูรณ์ ​จากคณะแพทยศาสต​ร์ มหาวิทยาลัย​ขอนแก่น​ มองในแง่มุมประวัติศาสตร์​ว่า ในอดีตมีการใช้กัญชามายาวนานนับพันปีแล้ว จนมาถึงยุคที่เริ่มมีการผลิตยาแผนปัจจุบันมากขึ้น ยาแผนโบราณต่างๆ​ โดยเฉพาะกัญชาจึงถูกทำให้กลายเป็นยาเสพติด​ ผู้เข้ารับการรักษาถูกทำให้กลายเป็นผู้เสพ เพื่อกีดกันยาแผนโบราณออกไป

“เราต้องรู้ก่อนว่าปัญหาของประเทศไทยเราคืออะไร และเกาให้ถูกที่คัน เราต้องกลับมามองประวัติศาสตร์ที่กัญชาเคยถูกใช้เป็นยารักษาโรคได้ เพียงแต่เราต้องระมัดระวังว่าจะเปิดกว้างแค่ไหน เพราะบริษัทยาก็จ้องจะนำกัญชามาใช้ในการทำยาสังเคราะห์ ซึ่งผมอยากเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายด้วย”

กระท่อม กัญชา
ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์

สิทธิบัตรกระท่อม

วิฑูรย์​ เลี่ยนจำรูญ​ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี​ (ไบโอไทย)​ มองในแง่สิทธิบัตรที่ไทยจะเสียผลประโยชน์​ โดยขณะนี้ญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรใบกระท่อมในสกุล​ mitragyna (พืชสกุลนี้ประกอบด้วย​ กระทุ่มใบเล็ก กระทุ่มใบเนิน และกระท่อม)​ เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT) ทั้ง​ 150 ประเทศ​ รวมถึงประเทศไทย ​แต่ยังติดข้อกฎหมายบางประการ ทำให้ญี่ปุ่นยังไม่สามารถนำไปใช้ได้​

​ประโยชน์ทางการแพทย์​ที่จะได้จากพืชกระท่อมนี้ วิฑูรย์​มองว่า หากมีการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ไม่เพียงจะนำมาสู่ผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่​ยังส่งผลไปถึงสุขภาพของประชาชนด้วย

“โดยสรุปผมเห็นด้วยในการถอดกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพราะเราใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ฉะนั้น เราจะต้องสนับสนุนให้เกิดหมอพื้นบ้าน และมีการวิจัยต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในวงกว้าง”

กระท่อม กัญชา
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

เปลี่ยนมุมมองกฎหมายยาเสพติด

เบื้องหลังแนวคิด พ.ร.บ.ยาเสพติด แต่เดิมมีไว้เพื่อลดปัญหาด้านอาชญากรรม ​เพราะเชื่อว่าการเสพกัญชา​-กระท่อม จะนำมาสู่ปัญหาด้านอาชญากรรม​

จากการศึกษาของ​ พ.ต.ท.หญิง​ ชลิดา​ อุปัญญ์ สารวัตรฝ่ายกฎหมายและวินัย​ โรงพยาบาลตำรวจ (นักศึกษา​ปริญญาเอก​คณะนิติศาสตร์​ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร​ศาสตร์)​ มองว่า​ต้องมีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมควบคู่กับหลักการอื่นๆ​ เช่น​ การไม่ตีตรา ​ไม่เลือกปฏิบัติ​ เปิดโอกาสให้คนผันตัวจากอาชญากรมาสู่ผู้บำบัด โดยมีโมเดลจากต่างประเทศที่ใช้กัญชาในการรักษาทางการแพทย์​ เช่น​ ในสหรัฐแบ่งออกเป็นในทางนิตินัยและพฤตินัย​ โดยในทางนิตินัย ระดับมลรัฐสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์และการเสพเพื่อสันทนาการได้ ขณะที่ในทางพฤตินัย หากพบว่ามีการครอบครองกัญชาจะต้องไม่นำไปสู่การลงโทษด้วยกระบวนศาล แต่ตำรวจจะต้องใช้ดุลยพินิจผ่านทางเลือกอื่นแทนการจำคุก​ รวมไปถึงการกำหนดเพดานอายุผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องมีอายุ​ 21 ปีขึ้นไป ​ปลูกกัญชาได้ไม่เกิน​ 6 ต้น​ และการขนส่งกัญชาที่ถูกกฎหมายไม่เกิน​ 1 ออนซ์ หรือ​ ​​28 กรัม

กระท่อม กัญชา
พ.ต.ท.หญิง ชลิดา อุปัญญ์

ไม่ว่ากัญชา-กระท่อมจะถูกตีตราเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นพืชยารักษาโรค สุดท้ายขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองว่าจะเปิดกว้างแค่ไหน หากมีการศึกษาวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชา เราอาจพบคำตอบที่ดีกว่า หาไม่แล้วประเทศไทยคงย่ำอยู่กับที่

 

ข้อเสนอในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงและแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ…ฉบับ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ (สลค.ส่งถามความเห็นหน่วยงาน)

ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดทำ ข้อเสนอในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงและแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ…ฉบับ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ (สลค.ส่งถามความเห็นหน่วยงาน) ใน ๑๑ ประเด็น

๑. เหตุผลของการตรากฎหมาย

โดยที่พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน …จึงสมควรยกร่างกฎหมายโดยปรับปรุงบทนิยาม การแบ่งประเภทยา อำนาจรัฐมนตรีในการออกประกาศกำหนด รูปแบบของคณะกรรมการซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการยาแห่งชาติและคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง การกำหนดยาที่ให้จ่ายในร้านขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา รวมถึงยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ในสถานที่ขายยาสาหรับสัตว์เป็นการเพิ่มเติม การขออนุญาตและการอนุญาต กระบวนการพิจารณาอนุญาตยา หน้าที่ของผู้รับอนุญาต และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ การขึ้นทะเบียนตำรับยา การทบทวนทะเบียนตำรับยา และการจดแจ้ง การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต การโฆษณา การควบคุมยา พนักงานเจ้าหน้าที่ และการอุทธรณ์ ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

            เหตุผล: ปรับปรุงให้สอดคล้องกับข้อเสนอในการรับฟังความคิดเห็น

๒. นิยามศัพท์ (มาตรา ๔)

.๑ ยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย

“ยาควบคุมพิเศษตามใบสั่งยา” หมายความว่า ยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา

“ยาอันตรายที่จ่ายโดยเภสัชกร” หมายความว่า ยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาอันตรายที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกร

            เหตุผล: การเขียนนิยามศัพท์ในลักษณะนี้ จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเนื่องจากยาทุกรายการสามารถเขียนในใบสั่งยาได้และเภสัชกรสามารถจ่ายได้  ประชาชนผู้รับยาจะเกิดความสับสนว่าเป็นยาประเภทใด มีความอันตรายมากหรือน้อยอย่างไร และปัจจุบันประชาชนคุ้นเคยกับคำว่า “ยาควบคุมพิเศษ” “ยาอันตราย” ซึ่งปรากฏในฉลากมาเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน  และข้อความประเภทยาดังกล่าว ถูกบังคับให้เขียนในฉลากยาซึ่งผู้ประกอบการต้องพิมพ์ลงในฉลาก อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในการเปลี่ยนฉลากยา จึงควรคงชื่อเดิมคือ “ยาควบคุมพิเศษ” “ยาอันตราย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

หมายเหตุ: กรณีที่คงชื่อประเภทยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ต้องไปแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้อง

.๒ ยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย

“ยาแผนปัจจุบัน” หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนปัจจุบันเวชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทันตกรรม เภสัชกรรม และกายภาพบาบัดตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ยาที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นยาแผนปัจจุบัน

“ยาแผนไทย” หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ยาที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนไทย หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นยาแผนไทย

เหตุผล: การเขียนนิยามศัพท์ในลักษณะนี้ ครอบคลุมเกินกว่าผู้ที่อำนาจสั่งใช้ยาและจ่ายยา จึงแก้ไขนิยามศัพท์ให้เหมือนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดความครอบคลุมเฉพาะวิชาชีพการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น


.๓ การขายส่ง

“ขายส่ง”หมายความว่า ขายตรงต่อผู้รับอนุญาตขายยา ผู้รับอนุญาตขายส่งยา กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม ผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือการขายจำนวนมากโดยมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการขายโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้ยา

เหตุผล: การขายส่ง ควรเป็นการขายให้เฉพาะสถานที่ที่ได้รับอนุญาต และขายตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีสถานที่ประกอบวิชาชีพเท่านั้น ไม่ควรกำหนดกว้างเกินไป เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการกระจายยาอย่างไม่เหมาะสม

๓.การยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตประกอบการ (มาตรา ๒๒ มาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๖๑)

มาตรา ๒๒ บทบัญญัติมาตรา ๒๑ ไม่ใช้บังคับกับ

……

ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้ายาที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ที่ได้รับยกเว้นตาม (๔) (๕) ให้มีหน้าที่เช่นเดียวกับผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕(๙) ๓๗(๒) (๓) และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๔๐(๖)

เหตุผล: ผู้ที่ได้รับยกเว้นตาม (๔) (๕) ตามกฎหมายนี้ คือผู้ที่ได้รับยกเว้นการขออนุญาตประกอบการ แต่หน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคยังต้องมีอยู่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงควรดำเนินการเช่นเดียวกับผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ

มาตรา ๑๖๑ ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้ายาที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๒๒ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ หรือตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

เหตุผล: การประกอบการผลิต ขาย และนำเข้าที่ได้รับการยกเว้น บางกรณีไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องเขียนบทลงโทษให้ครอบคลุมทุกข้อยกเว้น และเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เพิ่มเติม

มาตรา ๑๑๗ เมื่อมีประกาศตามมาตรา ๖ (๗) แล้ว การจ่ายยาอันตรายที่จ่ายโดยเภสัชกร ต้องกระทำโดยเภสัชกร ณ สถานที่ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการจ่ายยาในสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล

เหตุผล: มาตรา ๑๑๗ ยกเว้นการประกอบการผลิต ขาย นำเข้า เช่นเดียวกับมาตรา ๒๒ จึงควรตัดออก เพราะบทบัญญัติซ้ำซ้อนและเปิดกว้างให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ทุกสาขาที่มีคลินิคสามารถจ่ายยาอันตรายได้

๔.การยกเลิกร้านขายยาประเภทขายยาบรรจุเสร็จที่มิใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ (มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ วรรคสาม มาตรา ๒๒๘ และค่าธรรมเนียม)

มาตรา ๒๔ ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา ๒๓ (๑๑) ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เว้นแต่

(๓) การขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ หรือผู้ผ่านการอบรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็ได้

มาตรา ๒๕ ใบอนุญาตเกี่ยวกับยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย และยาแผนทางเลือก ให้แบ่งเป็นประเภท ดังต่อไปนี้

(๖) ใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา

มาตรา ๒๖ ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนทางเลือก ให้ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนทางเลือกที่ตนผลิตหรือนำเข้าด้วย

………..

ผู้รับอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบัน ให้ถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา หรือผู้รับอนุญาตขายปลีกยาแผนไทย หรือผู้รับอนุญาตขายปลีกยาแผนทางเลือกด้วย

            มาตรา ๒๒๘ ผู้ได้รับใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำสถานที่ขายยาดังกล่าว ให้ถือเป็นผู้รับใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ให้มีสิทธิขายยาได้ตามรายการยาที่รัฐมนตรีประกาศ และให้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับที่มีอยู่ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ ต่อไปอีกเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าผู้รับอนุญาตเสียชีวิต และมีหน้าที่เช่นเดียวกับผู้รับอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบัน และต้องเข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

กรณีผู้รับอนุญาตเสียชีวิต หากทายาทประสงค์จะขายยาที่เหลือของผู้รับอนุญาตดังกล่าว ต้องขายให้แก่ผู้รับอนุญาตอื่น หรือบุคคลที่ผู้อนุญาตเห็นสมควรภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับอนุญาตเสียชีวิต

ค่าธรรมเนียม

(๑๐) ใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา

ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท

เหตุผล: สืบเนื่องจากการที่พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้สถานที่รับอนุญาตขายยาบรรจุเสร็จที่มิใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ (ขย.๒) ดำรงอยู่มาเป็นเวลานานถึง ๓๑ ปี และมีขบวนการช่วยให้ปรับสถานะเป็นสถานที่รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.๑) โดยคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆรับทายาทของผู้รับอนุญาตร้าน ขย.๒ เข้าศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์โดยโควต้าพิเศษนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา และมีการจำกัดไม่ให้เปิดร้าน ขย.๒ เพิ่มจากเดิม ร้าน ขย.๒ จึงเหลือจำนวนไม่มากนัก ประกอบกับเทคโนโลยีทางยามีความก้าวหน้า ซับซ้อน และยามีอันตรายมากขึ้น จึงไม่ควรให้มีประเภท ร้าน ขย.๒ ซึ่งมีเพียงบุคคลผู้ได้รับการอบรมความรู้เรื่องยาไม่กี่วัน (“หมอตี๋”) บริการยาอีกต่อไป เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน ทั้งนี้ไม่เป็นการรอนสิทธิของผู้รับอนุญาต ขย.๒ จึงให้โอกาสในการประกอบการขายยาต่อไปอีก ๗ ปี และเปิดโอกาสให้เปลี่ยนประเภทการประกอบการเป็นร้าน ขย.๑ ได้

๕.การขึ้นทะเบียนตำรับเภสัชชีววัตถุ/ยา การทบทวนทะเบียนตำรับยา และการยกเลิกทะเบียนตำรับยา

.๑ การขึ้นทะเบียนตำรับเภสัชชีววัตถุ (มาตรา ๔๒ และมาตรา ๙๕)

มาตรา ๔๒ ผู้รับอนุญาตผู้ใดประสงค์จะขึ้นทะเบียนตำรับยาและเภสัชชีววัตถุ ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยา และเมื่อผู้อนุญาตออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้แล้วจึงจะผลิตหรือนำเข้ายานั้นได้ ทั้งนี้ ในการผลิตหรือนำเข้ายาต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๑

มาตรา ๙๕ ผู้รับอนุญาตผู้ใดประสงค์จะจดแจ้งเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสาเร็จรูป เภสัชชีววัตถุ หรือเภสัชสมุนไพร ให้ยื่นคำขอจดแจ้ง และเมื่อผู้อนุญาตออกใบรับจดแจ้งให้แล้วจึงจะผลิตหรือนำเข้าได้ ทั้งนี้ ในการผลิตหรือนำเข้าต้องดำเนินการตามมาตรา ๘๐

เหตุผล: เพิ่มการขึ้นทะเบียนตำรับเภสัชชีววัตถุ เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากเภสัชชีววัตถุมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับชีววัตถุและมีความเสี่ยงสูงกว่ายาประเภทอื่น

.๒ รายละเอียดการขึ้นทะเบียนตำรับยา (มาตรา ๔๔ และมาตรา ๕๒)

มาตรา ๔๔ การขอขึ้นทะเบียนตำรับยาตามมาตรา ๔๒ ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(๑๐) เอกสารการได้มาซึ่งสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ในกรณีเป็นยาที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร หรือข้อมูลสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในกรณีเป็นยาแผนไทยที่ได้จดทะเบียนสิทธิ….

            …..

        ความใน (๑๐) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ต้องแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบโดยไม่ชักช้า

            มาตรา ๕๒ ยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หากภายหลังปรากฏกรณีดังต่อไปนี้ ให้ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมีอานาจสั่งเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้นได้

                   (๔) ยานั้น ผู้รับอนุญาตทะเบียนตำรับยาไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ตามมาตรา ๔๔(๑๐)

เหตุผล: การกำหนดให้แจ้งข้อมูลตามมาตรา ๔๔(๑๐) นั้น เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นได้ ประชาชนจะได้เข้าถึงยา หากไม่กำหนดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลที่แจ้ง ณ เวลาขึ้นทะเบียนจะไม่มีประโยชน์

.๓ การทบทวนทะเบียนตำรับยา (มาตรา ๔๗)

           มาตรา ๔๗ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้มีอายุเจ็ดปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา เมื่อใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยามีอายุครบเจ็ดปีและเมื่อผู้รับอนุญาตร้องขอ ผู้อนุญาตอาจอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญไปอีกครั้งละไม่เกินเจ็ดปี

การอนุญาตต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้ผู้อนุญาตพิจารณาจากข้อมูล คุณภาพ  ความปลอดภัย  ประสิทธิภาพ  ข้อมูลอื่นเกี่ยวกับยาที่ผู้อนุญาตได้จากการทบทวนทะเบียนตำรับยาหรือจัดให้มีขึ้นจากระบบการเฝ้าระวังหรือวิธีการอื่น และข้อมูลที่ผู้รับอนุญาตจัดหามาให้ โดยชนิด  ประเภท และลักษณะของข้อมูลและวิธีการจัดหาข้อมูลของผู้รับอนุญาตให้เป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด

 การขอและการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

เหตุผล: การเพิ่มเติมการทบทวนทะเบียนตำรับยา ควรเป็นหน้าที่ของผู้อนุญาต (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค หากไม่กำหนดจะไม่สามารถทราบได้ว่า ทะเบียนตำรับยาที่จะต่อทะเบียนนั้นมีปัญหาหรือไม่ และการดำเนินการสั่งแก้ไขรายการทะเบียนตำรับยาจะไม่สามารถกระทำได้ รวมทั้งการให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบแผนการประเมินทบทวนทะเบียนตำรับยาตามมาตรา ๑๔(๑๗) จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

.๔ การยกเลิกทะเบียนตำรับยา (มาตรา ๑๐๙/๑)

มาตรา ๑๐๙/๑ ยาที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก

       (๑) ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว แต่ไม่ได้ต่ออายุทะเบียนตำรับยา

        (๒) ยาที่ผู้รับอนุญาตขอยกเลิกทะเบียนตำรับยา

เมื่อปรากฏว่า ยาตามวรรคหนึ่ง  เป็นยาที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา ให้ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้นได้

เหตุผล: ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก จึงร่างขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เช่น กรณียาไซบรูทามีน ที่เป็นปัญหา

๖. การประกอบการเกี่ยวกับยาสัตว์ (มาตรา ๕๘)

มาตรา ๕๘ ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในหมวดนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เว้นแต่  

  • (๓) การนำเข้ายาสำหรับสัตว์ ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

เหตุผล: ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในการนำเข้ายา ต้องมีความรู้ทางวิชาการเภสัชกรรมเกี่ยวกับตัวยาสำคัญและส่วนประกอบต่างๆ จึงไม่สามารถยกเว้นให้ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งได้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ ของยา

๗. ยกเว้นการขายยาชุด (มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๖)

มาตรา ๑๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดขายยาหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน มีเจตนาให้ผู้ซื้อใช้รวมกันเพื่อบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ

            ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สำหรับผู้ซื้อเฉพาะรายหรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมซึ่งจ่ายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สำหรับสัตว์ที่ตนบำบัดโรค ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้ยาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

            มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมีอำนาจประกาศกำหนด ดังต่อไปนี้

            (๒๖) หลักเกณฑ์และวิธีการในการขายยาหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน สาหรับผู้ซื้อเฉพาะรายที่มีข้อจากัดในการใช้ยา

            เหตุผล: ผู้ร่างไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “ยาชุด” และ “Unit Dose (ยูนิตโด๊ส)” ในทางเภสัชกรรม ผู้ร่างจึงยกเว้นการขายยาชุดให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาได้ ยาชุดจะเป็นยาหลายชนิด ใส่ในซองเดียวกัน รักษา ๑ อาการ แต่ยูนิตโด๊สเป็นยาหลายชนิด ใส่ในซองเดียวกัน รักษาหลายอาการตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซักถามอาการและเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาตามอาการเหล่านั้น จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการใช้ยา  ดังนั้นจึงไม่สมควรยกเว้นการขายยาชุดให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์

๘. กระบวนการพิจารณายา (มาตรา ๑๓๓)

มาตรา ๑๓๓  เงินค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจในอำนาจหน้าที่…โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นค่าตอบแทนบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานตามมาตรา ๑๓๑ (๓)

(๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่เป็นประโยชน์สาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา และการพัฒนาระบบยา

……..

การใช้เงินตามวรรคหนึ่ง  ให้เสนอแผนปฏิบัติการการใช้งบประมาณและวงเงินต่อรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อทราบ

เหตุผล: เงินค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นอกจากนำไปใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดแล้ว  ควรนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาระบบยา และควรมีการควบคุมการใช้เงินโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการใช้เงิน

๙. การโฆษณายา (มาตรา ๑๓๘)

มาตรา ๑๓๘ ห้ามผู้ใดโฆษณายาหรือวัตถุใดในลักษณะดังต่อไปนี้

         …..

(๑๐) กระทำโดยวิธีแถมพก ชิงรางวัล ออกสลากรางวัล หรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน

                   (๑๑) กระทำโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณา หรือส่งเสริมการขาย ตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องประกาศกำหนด

ความใน (๑๐) ไม่ใช้บังคับแก่วัตถุใด ความใน (๔) และ (๕) ไม่ใช้บังคับแก่ข้อความในฉลากหรือเอกสารกำกับยา  และความใน (๑) (๔) (๕) (๖) และ (๗) ไม่ใช้บังคับแก่การโฆษณาซึ่งกระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทยและประเภทเภสัชกรรมไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์

เหตุผล: การห้ามโฆษณาแถมพก ชิงรางวัล ออกสลากรางวัล หรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกันควรบังคับกับวัตถุด้วย เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

๑๐. การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา ๑๔๑)

มาตรา ๑๔๑ เมื่อปรากฏต่อผู้อนุญาตว่า ผู้รับอนุญาตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๓ มาตรา ๕๗ หรือมาตรา ๘๓  แล้วแต่กรณี หรือฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๔๐ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได

เหตุผล: การแก้ไขปัญหาผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการอยู่ประจำสถานที่รับอนุญาตโดยการให้ผู้รับอนุญาตควบคุมดูแลนั้น หากจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้จริง ควรกำหนดมาตรการทางปกครอง (การเพิกถอนใบอนุญาต) ร่วมด้วย

๑๑. อื่นๆ

            มาตรา ๑๒๖ เมื่อปรากฏว่ายาใดมีคุณภาพ หรือประสิทธิผลไม่ตรงตามที่ขึ้นทะเบียน หรือจดแจ้งไว้ หรือไม่ปลอดภัย หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา ให้เลขาธิการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ ….

            เหตุผล: การกำหนดข้อความ “ไม่ปลอดภัย” ในทางปฏิบัติ จะต้องมีการพิสูจน์ยา แต่การเติมข้อความ “หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา” เช่นเดียวกับในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ จึงควรเติมข้อความดังกล่าวในบทบัญญัติ

download : ข้อเสนอในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงและแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ…

หลอดพลาสติกหลอดสุดท้ายในมาเลเซีย

1 สิงหาคมที่ผ่านมาคือวันที่แมคโดนัลด์ มาเลเซีย ประกาศแคมเปญ ‘Say No to Straws’ ซึ่งก่อนจะเริ่มการหยุดใช้หลอดพลาสติกอย่างเป็นทางการ แมคโดนัลด์บางสาขาในบังซาและปีนังได้ขึ้นป้ายบอกลูกค้าล่วงหน้าแล้วว่า จะหยุดบริการหลอดพลาสติก นอกจากจะมีการร้องขอเป็นพิเศษเท่านั้น ตามนโยบายการลด/เลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งของรัฐบาล

“ปี 2017 มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกพลาสติกอันดับ 4 ของอาเซียน และอยู่ในลำดับที่ 25 ในผู้ส่งออกพลาสติกทั่วโลก”

คือส่วนหนึ่งแผนงานที่ โย บี หยิน (Yeo Bee Yin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Ministry of Energy, Science, Technology, Environment and Climate Change: MESTECC) ประกาศเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

หนึ่งวันในมาเลเซีย หลอดพลาสติก 31 ล้านอันถูกทิ้งเป็นขยะ ทำให้รัฐบาลมีแผนจะยกเลิกการใช้หลอดและถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2030 โดยโรดแมปนี้เริ่มต้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

“ทางกระทรวงไม่ได้ต้องการจะทำลายอุตสาหกรรมพลาสติก แต่กำลังบอกพวกเขาให้เตรียมตัวผลิตสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

แม้ว่าหลอดพลาสติกจะเป็นส่วนเล็กๆ ของขยะพลาสติกบนโลก แต่หลอดเพียงหนึ่งหลอดก็ใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 200 ปี ทำให้มาเลเซียเริ่มลดปริมาณขยะพลาสติกด้วยการหาวัสดุทดแทนบรรจุภัณฑ์พอลิสไทรีน (polystyrene) แบบใช้แล้วทิ้ง (expanded polystyrene: EPS) และถุงพลาสติกที่ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้

ต้นปี 2019 คือวันเริ่มต้นที่รัฐบาลประกาศแบนหลอดพลาสติกทั่วกัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และลาบวน ก่อนจะค่อยๆ บังคับใช้ทั่วประเทศ หลังจากนั้นถ้าตรวจพบว่าร้านค้าหรือภัตตาคารใดใช้หลอดพลาสติก ก็อาจโดนยึดใบอนุญาต

นอกจากหลอดพลาสติก ถุงพลาสติกก็เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทางมาเลเซียพยายามควบคุมการใช้งาน ภายในปี 2030 ถุงพลาสติกจะไม่ใช่ของฟรี เพราะทางการมาเลเซียจะออกกฎให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าถุงพลาสติก

“โรดแมปนี้จะรวมถึงนโยบายเก็บค่าถุงพลาสติกในร้านค้าหรือสถานที่ที่ไปจับจ่ายสินค้า” รัฐมนตรีโย บี หยิน กล่าว

ปี 2009 แคมเปญ ‘Say No to Plastic Bags’ เริ่มขึ้นที่ปีนัง เมื่อรัฐบาลออกมาตรการให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงิน 20 เซ็น หรือราว 1.50 บาท เป็นค่าถุงพลาสติก

สมาคมผู้บริโภคมุสลิมมาเลเซีย (Malaysian Muslim Consumers Association: PPIM) สนับสนุนการแบนหลอดดูดพลาสติก

ดาตุก นัดซิม โจฮัน (Datuk Nadzim Johan) แกนนำนักกิจกรรมสมาคมผู้บริโภคมุสลิมมาเลเซีย (Malaysian Muslim Consumers Association: PPIM) บอกว่าความพยายามของรัฐบาลคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและการให้ความรู้กับสังคม

“น่าชื่นชมรัฐบาลสำหรับความพยายามของเขา และเราเรียกร้องให้ทุกคนสนับสนุนโครงการของพวกเขา”

เช่นเดียวกับ โมฮัด ยูซอฟ อับดุล ราห์มาน (Mohd Yusof Abdul Rahman) รองประธานสหพันธ์ผู้บริโภค (Federation of Malaysian Consumers Associations: FOMCA) ที่กล่าวสนับสนุนวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

“ผู้บริโภคน่าจะตระหนักเรื่องนี้กันมากขึ้น ถ้ามีการบวกราคาหลอดเข้าไปด้วย”

นอกจากนี้ อับดุล ราห์มาน ยังบอกว่า ในมาเลเซีย วัสดุทางเลือกนั้นยังหาซื้อได้ยากและราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลอดพลาสติก “ควรจะมีวัสดุที่ย่อยสลายได้อย่างหลอดที่ทำจากไม้ไผ่ กระดาษ วางขายในท้องตลาดในราคาที่ถูก เพื่อกระตุ้นการใช้งานมากขึ้น”

 

‘ก้นบุหรี่’ คู่แข่งถุงพลาสติกในสนามขยะอมตะ

กระแสงดรับ งดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกกำลังคืบหน้าไปมาก หลายคนกลับมาพกขวดน้ำ หยิบถุงผ้ากลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการไม่รับหลอดพลาสติกอย่างพร้อมเพรียง จนหลายประเทศเริ่มแบนพลาสติกกันอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่แค่ถุง ขวด หรือหลอดพลาสติกเท่านั้นที่น่ากังวล เพราะชายหาดและมหาสมุทรทั่วโลกตอนนี้กำลังเต็มไปด้วยก้นบุหรี่สารพัดสัญชาติ

นักวิชาการด้านอุตสาหกรรมยาสูบ สมาชิกสภาผู้แทนในแคลิฟอร์เนีย และหลายหน่วยงาน กำลังถกเถียงกันถึงการยกเลิกก้นบุหรี่ จนเกิดการรณรงค์โดยหวังว่าจะได้แรงหนุนจากทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพและกลุ่มที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

“มันชัดเจนอยู่แล้วว่าก้นบุหรี่ไม่ได้มีผลดีอะไรกับสุขภาพ เป็นแค่เครื่องมือทางการตลาด และทำให้คนสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น” โธมัส โนโวทนี (Thomas Novotny) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยซานดิเอโก (San Diego State University) บอก “ส่วนประกอบหลักของมันยังเป็นพลาสติกอีกด้วย ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่เราจะอนุญาตให้ยังมีมันต่อไป”

ที่สหรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนในแคลิฟอร์เนียได้เสนอให้ยกเลิกบุหรี่ที่มีก้นกรอง แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์คร่างกฎหมายระบุถึงส่วนลดสำหรับการคืนก้นกรอง แต่แนวคิดนี้ก็ถูกดองไว้ ส่วนซานฟรานซิสโกได้บวกราคาบุหรี่ไปอีกซองละ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นเงินในการทำความสะอาดก้นกรอง

ขยะที่เรี่ยราดที่สุดในโลก

แต่ละปีมีการบริโภคบุหรี่ในอเมริกาถึงกว่า 56,000 ล้านตัว และแต่ละตัวก็มาพร้อมก้นกรองที่ทำจากเซลลูโลสอะซีเตท (cellulose acetate) หรือพลาสติกที่ผลิตจากพืชซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 10 ปี และ 2 ใน 3 ของก้นกรองเหล่านั้นถูกทิ้งเรี่ยราดในทุกๆ ปี

Ocean Conservancy องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำและทะเลที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมการทำความสะอาดชายหาดมาตั้งแต่ปี 1986 เปิดเผยว่า ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา ขยะที่ถูกพบบนชายหาดมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ด้วยจำนวนมากกว่า 60 ล้านชิ้น ถือเป็น 1 ใน 3 ของขยะที่พบทั้งหมด และยังมากกว่าพวกห่อพลาสติก ฝาขวดน้ำ ภาชนะอาหารกับน้ำดื่มรวมกันเสียอีก

แม้คนที่มักทิ้งขยะบนชายหาดจะมีเพียงกลุ่มหนึ่ง ท่อระบายน้ำ ลำธาร และแม่น้ำทั่วโลก ก็ยังเป็นเส้นทางที่คอยพัดก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งเรี่ยราดลงไปรวมอยู่ในทะเล ซึ่งสัตว์จะกินขยะที่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกได้ง่าย ทีมนักวิจัยได้พบเศษของขยะเหล่านี้ในท้องนกทะเลจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์และในเต่าทะเล 30 เปอร์เซ็นต์

“เรายังต้องการงานวิจัยอีกมากเพื่อหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องทั้งหมดนี้” นิค มัลลอส (Nick Mallos) หัวหน้าโครงการรณรงค์ทะเลปลอดขยะ (Trash Free Seas) ของ Ocean Conservancy บอก “คำถามคือ ไมโครพลาสติกเหล่านี้และขยะอื่นๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพของมนุษย์”

ก้นบุหรี่และการตลาด

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เหล่าบริษัทบุหรี่เริ่มลองใช้ก้นกรองกับบุหรี่ โดยมองว่าเป็นวิธีลดความกังวลเรื่องผลกระทบของบุหรี่ต่อสุขภาพ

ขณะที่อีกทางหนึ่งมีงานวิจัยแนะนำว่า ก้นกรองไม่สามารถควบคุมสารก่อมะเร็งจากบุหรี่ได้เพียงพอ แบรดฟอร์ด แฮร์ริส (Bradford Harris) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนไว้ในงานวิจัยของเขาเองว่า “จากนั้น ก้นกรองจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาด ที่ออกแบบมาเพื่อต้อนและทำให้นักสูบยังคงสูบต่อไป”

ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่เขี่ยบุหรี่พกพาของบริษัท R.J. Reynolds Tobacco ในปี 1991 หรือป้ายบิลบอร์ดที่พาดคำตัวเบ้อเริ่มว่า “Don’t Leave Your Butt on the Beach” ติดตั้งในเมืองชายฝั่ง 30 แห่งเมื่อปี 1992 รวมถึงบริษัท Santa Fe Natural Tobacco ที่เปิดตัวก้นกรองแบบรีไซเคิล และจัดรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องขยะในวันคุ้มครองโลก

โฆษกของ Philip Morris อีกบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ออกมาบอกคำเตือนเกี่ยวกับบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้ใช้ที่เขี่ยบุหรี่แบบพกพา และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยขยะมูลฝอย แต่นักวิชาการที่ตามเรื่องแคมเปญเหล่านี้บอกว่า นักสูบส่วนใหญ่ชอบทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นมากกว่า

นักสูบบางคนบอกว่า พวกเขาคิดว่าก้นกรองสามารถย่อยสลายได้ และอาจทำมาจากฝ้าย คนอื่นๆ บอกว่า พวกเขาต้องทิ้งลงพื้นแล้วใช้เท้าขยี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ติดไฟขึ้นมาอีก บ้างก็บอกว่าไม่ชอบกลิ่นที่เขี่ยบุหรี่ ทำให้กลุ่มบริษัทบุหรี่มองหาทางออกที่ก้าวหน้าขึ้นมาหน่อย

ในช่วง 1990 บริษัท R.J. Reynolds Tobacco ประกาศว่า ทางบริษัทจะหาวิธีใช้ไส้กรองที่กินได้ อาจเป็นลูกกวาดรสมินต์หรือแครกเกอร์ รวมถึงทางออกที่พอจะเป็นไปได้อย่าง ไส้กรองเป็นกระดาษ แต่ตัวต้นแบบทำให้รสชาติบุหรี่แย่มาก ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น ฝ้าย ก็ออกมาไม่น่าพอใจเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม เมอร์วิน วิเธอร์สปูน (Mervyn Witherspoon) นักเคมีชาวอังกฤษที่เคยทำงานกับผู้ผลิตตัวกรองในบุหรี่บอกว่า “ความสนใจในการหาตัวกรองที่ย่อยสลายได้ของอุตสาหกรรมนี้ มาแล้วก็จากไป เพราะไม่มีแรงกดดันใดๆ ให้พวกเขาพยายามทำอย่างจริงจัง”

ปัจจุบัน วิเธอร์สปูน ทำงานให้กับ Greenbutts สตาร์ทอัพที่เน้นพัฒนาก้นกรองจากวัสดุออร์แกนิกที่สามารถย่อยสลายได้รวดเร็วในดินหรือน้ำ โดยอาจทำจากเยื่อไม้ ป่าน ใยผ้าเทนเซล (tencel) และผสานกันด้วยแป้งธรรมชาติ

“เรายังคงทำงานเรื่องนี้ต่อไปและพยายามหาหลายๆ ทางออก แต่บริษัทเหล่านี้ก็หาสิ่งที่น่าสนใจกว่าและเลื่อนประเด็นนี้ออกไปอีกเรื่อยๆ”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
nbcnews.com

 

กัญชา กระท่อม จากยาเสพติดสู่ ‘พืชยา’ รักษาโรค

นี่อาจเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเด็น พ.ร.บ.กระท่อมและกัญชา ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอเป็นร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาให้กระท่อมและกัญชาย้ายจากสารเสพติดประเภท 5 มาสู่ประเภทที่ 2 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การรักษาคนไข้ เป็นที่มาของวงประชุมแลกเปลี่ยน ณ อาคารนวัตกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561

ในฐานะประชาชนธรรมดาที่ล้วนได้ยินได้ฟังต่อเรื่องราวของกระท่อมและกัญชามาไม่มากก็น้อย ทำไมพืชทั้งสองชนิดนี้ถึงสำคัญจนต้องนำไปสู่การเสนอกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเภทของสารเสพติดทั้งในกระท่อมและกัญชา?

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จึงแถลงถึงจุดประสงค์ในการจัดประชุม โดยเบื้องต้น ภญ.นิยดาบอกว่า เดิมทีเรื่องพืชกัญชาและกระท่อมมีประเด็นคาบเกี่ยวทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายวิชาการ รวมถึงผู้ป่วย ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้พอสมควร และในฐานะที่เป็นผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการ จึงเชิญสื่อมวลชนมาร่วมรับฟังการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ปัจจุบันและทำความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง

“เพื่อให้เป็นปากเสียงแทนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้พืชทั้งสองชนิดนี้ เพื่อผู้ป่วย และเพื่อความมั่นคงของประเทศด้วย”

สถานการณ์ล่าสุด

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่าในตอนนี้มีการแก้ พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยผ่าน สนช. วาระแรกตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ในวาระสองท่าทีของรัฐบาลยังไม่รับรองให้ผ่านออกมาได้อย่างง่ายนัก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 สนช. 41 คนได้ให้การรับรอง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้สามารถปลูกพืชกัญชาเพื่อทำการวิจัยได้ รวมไปถึงการใช้มาตรา 44 มาเป็นขุนค้อนสำคัญในการทุบให้กฎหมายนี้คลอดออกมา อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 กับเรื่องพืชยานี้ยังไม่มีความชัดเจน

ทว่าการรับรองที่ว่ายังคงเน้นไปที่กัญชาในฐานะที่เป็นสารสกัดในการรักษาโรคมะเร็งมากกว่ากระท่อม

กัญชา กระท่อม
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

‘พืชยา’ คำสำคัญของกัญชาและกระท่อม

กรรณิการ์กล่าวต่ออีกว่าสิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำนอกเหนือจากข้อมูลในวงประชุม คำสำคัญของกัญชาและกระท่อม อยากให้สื่อมวลชนเน้นไปที่คำว่า ‘พืชยา’ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อสาธารณชนในวงกว้าง หรืออย่างน้อยที่สุดคือในจำนวนผู้ที่ติดตามช่องทางสื่อสารต่างๆ ของสื่อแต่ละสำนักจะสามารถเกิดความเข้าใจในเรื่องกัญชาและกระท่อมมากขึ้นกว่าด้วย

“ในแวงวงวิชาการ กัญชาและกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด ยิ่งไม่ใช่ยาเสพติดประเภทที่ 5 ด้วย ถ้าจะช่วยสร้างวาทกรรมนี้ก็ฝากด้วยนะคะ”

โดยผู้ที่จะมาช่วยสะสางถึงประโยชน์ ข้อดี/ข้อเสีย/ข้อควรระวัง ของพืชยากัญชาและกระท่อม คือ ภญ.วีรยา ถาอุปชิต นักวิจัยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา

ภญ.วีรยากล่าวว่า จากข้อมูลที่มีจำนวนมากเรื่องสรรพคุณทั้งในส่วนของพืชยากระท่อมที่ปลูกกันค่อนข้างมากในภาคใต้และกัญชาแล้ว รัฐบาลควรจะฟันธงลงมาแล้วว่าพืชยากระท่อมและกัญชามีข้อดีอะไรบ้างที่สามารถขยายผลไปสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาด้านการแพทย์ได้ และมีข้อเสียอะไรบ้างที่ควรระวัง

ตำรายาจากโบราณ

“จากที่เราได้ประมวลมานะคะ อันดับหนึ่งเลยคือประมวลยาที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีการรวบรวมออกมาเป็นตำรายาพื้นบ้านอยู่ ถัดไปคือประสิทธิผลที่มีคนวิจัยรับรอง ที่เด่นๆ จะขออนุญาตยกมาเบื้องต้นก่อนนะคะ หนึ่งแก้ปวด พูดง่ายๆ คือทั้งกระท่อมและกัญชามีประสิทธิผลในการบรรเทา-แก้ปวดได้ ดีถึงขั้นบางคนบอกว่าดีกว่ามอร์ฟีนที่ใช้อยู่เดิมด้วยซ้ำ อันที่สองมีการวิจัยอยู่หลายชิ้นที่แม้หลายคนจะบอกว่ายังไม่แน่นอนนัก คือรักษามะเร็ง”

นอกจากนี้ ภญ.วีรยายังระบุไว้ในเอกสารที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชนอีกว่า กัญชายังมีหลักฐานคุณภาพที่น่าเชื่อได้ว่าสามารถใช้รักษาอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวดจากปลายประสาท (neuroleptic pain) หรือปวดจากโรคมะเร็ง (cancer pain) รวมไปถึงการรักษาภาวะกล้ามเนื้อเกร็งเนื่องจากภาวะปลอกประสาทอักเสบ (spasticity due to multiple sclerosis)

ภญ.วีรยาระบุ ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาในการรักษาในระยะสั้น เช่น ทำให้เกิดอาการมึนงง ปากแห้ง เหนื่อยเพลีย สับสน สูญเสียการทรงตัว ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ในยาทั่วไป

ในขณะที่ ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา บอกว่าพืชยากระท่อมนั้นเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน และทั้งสองชนิดเป็นพิษและทรมานน้อยกว่าเหล้า

“เหล้าเรายังเก็บภาษีได้ กระท่อมกินไม่ได้ แต่กระทิงแดงกินได้ มันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราเห็นว่ามันผิดปกติ ตั้งแต่สมัยยาทัมใจ ชาวบ้านบอกว่ากินกระท่อมก็ได้ แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้กิน ซึ่งยาเหล่านี้ทางอีสานคนติดเยอะมาก กระเพาะทะลุกันเยอะมาก”

ภญ.สำลีกล่าวว่า คนในพื้นที่ภาคใต้และอีสานจะรับประทานกระท่อมเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยต่างๆ แทนยา โจทย์ของการประชุมในวันนี้จึงเป็นเรื่องเร่งรัดให้รัฐบาลรับรองหลักการแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. … เพื่อให้นำกระท่อมออกมาจากยาเสพติดประเภท 5

“พวกเราต้องไปถามทางสภาเหมือนกัน เขาเอามาเข้าสภา ใช้มาตรา 44 เพื่อสกัดกัญชาตัวเดียว ไม่เอากระท่อม”

“องค์การเภสัชเผอิญมีบอร์ดเป็นอดีตปลัดฯ ไม่ว่าบอร์ดขององค์การเภสัชจะเป็นอะไรมาก่อนก็แล้วแต่ ก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน การขออะไรต่างๆ ต้องเสมอภาคกัน ซึ่งองค์การเภสัชเวลาขออะไรจะขอทีเดียวได้ ซึ่งถามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่าในแง่กฎหมาย”

กัญชา กระท่อม
ภญ.สำลี ใจดี

ภญ.สำลีสรุปทิ้งท้ายว่า หลักใหญ่ใจความสำคัญในการนำพืชยากัญชาและกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 มาสู่ประเภท 2 ก็เพราะในส่วนของยาเสพติดประเภท 2 นั้นเป็นยาเสพติดทั่วๆ ไป อยู่ในกลุ่มเดียวกับมอร์ฟีน ซึ่งเป็นยาเดียวที่สามารถนำมาใช้ได้

“พอไปถึงประเภทที่ 2 มันจะโยงถึงประเภทที่ 3 ด้วย ก็คือจะโยงเรื่องของตำรับยา เพราะว่าประเภทที่ 3 มันเขียนว่าเป็นยาเสพติดชนิดให้โทษที่เขียนว่าเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ผสมอยู่ กล่าวคือ ถ้าอยู่ในประเภทที่ 2 จะพ่วงประเภทที่ 3 มาด้วย ก็คือเป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมอื่นได้”

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด ว่ามีการรวบรวมการนำกัญชาไปใช้ ผลปรากฏว่ามีผู้ป่วยเข้าร่วมจำนวนมาก หากกล่าวถึงอาการข้างเคียงระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง เช่น นอนไม่หลับ อาการปวด ภาวะความเครียด อ่อนแรง คลื่นไส้ รวมถึงการไม่เจริญอาหาร พบว่าผู้เข้าร่วมมีอาการเหล่านี้ลดลง 95.9 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่าเกือบทั้งหมดมีอาการดีขึ้น

“อันที่สองที่น่าสนใจก็คือ ประมาณ 45 คนในจำนวนนี้ หรือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้สึกว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย จำนวนนี้ 0.3 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกว่ามันไม่ส่งผลดี สรุปก็คือเกือบทั้งหมดให้ผลดีอย่างยิ่งกับผู้ป่วยมะเร็ง

“ที่ผมจะพูดก็คือ เหตุที่กัญชามีผลดีกว่ากระท่อมในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะผู้เสียชีวิตอันดับที่หนึ่งในประเทศไทยก็คือผู้ป่วยมะเร็ง และปัจจุบันมีการแอบใช้กันอยู่จำนวนมากในรูปแบบของน้ำมันกัญชาที่ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพและวิธีการใช้เลย ดังนั้นถ้าไม่จับมันมาอยู่บนโต๊ะ จะมีผู้ป่วยเสียโอกาสจำนวนมาก

“ผมยืนยันว่ากัญชาที่ใช้กันอยู่มีหลายมาตรฐาน และมีปนเปื้อน รวมถึงยาฆ่าแมลง ดังนั้นเราจึงต้องรีบจับมันเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เร็วที่สุด เพื่อผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงๆ ประการที่สอง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าประเทศไทยช้า นอกจากจะเสียประโยชน์ของผู้ป่วย เราจะเสียอิสรภาพในเรื่องภูมิปัญญาของไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นการสั่งสมประสบการณ์ในการนำมาเป็นตำรับตำรานับพันปี ถึงรู้วิธีการใช้กัญชาอย่างไม่เป็นอันตราย”

ปานเทพสรุปไว้ว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาไว้เจ็ดประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง งานวิจัยเผยชัดเจนแล้วว่ากัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดรุนแรงเท่ากับแอลกอฮอล์และบุหรี่ ถ้าบุหรี่และแอลกอฮอล์ยังถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องมีวิธีการจัดการกับกัญชาให้ถูกกฎหมายเช่นกัน ประการที่สอง กัญชาออกฤทธิ์ทางยาเช่นกันกับกระท่อม ย้อนกลับไปยังอดีต ฝิ่นก็เคยเป็นยาเสพติด ปัจจุบันใช้เป็นมอร์ฟีน และผู้ผลิตรายใหญ่คือต่างชาติ สุดท้ายแล้วประเทศไทยต้องนำเข้า

“นั่นคือเราสูญเสียสมุนไพรที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสามตัวยา กลายเป็นยาเสพติดไปหมด สุดท้ายประเทศไทยซึ่งมีภูมิปัญญาการใช้กัญชา ฝิ่น กระท่อม เราต้องไปพึ่งพาต่างชาติด้วยการนำเข้าสารสำคัญทั้งหมด เพราะเราไม่เข้าใจตัวเองว่าเรามีการควบคุมไม่แพ้ต่างชาติเช่นเดียวกัน”

ประเด็นที่สาม ปานเทพมองในเรื่องของภูมิปัญญาไทยที่รู้จักวิธีการใช้กัญชาและกระท่อมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตลอดจนมาถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 2  ซึ่งมีการรวบรวมตำรับยา ปรากฏว่ามีการสืบทอดการใช้กัญชามาอีกสองตำรับ กระท่อมต่างหาก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 มีมากกว่า 10 ตำรับ และมีการเขียนตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงและแพทยศาสตร์สงเคราะห์สองคัมภีร์ที่ยืนยันการใช้กัญชาตรงกันว่า

กัญชา แก้ไข้ผอมเหลือง หากำลังมิได้ ให้ตัวสัตว์เสียงสัตว์เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนไม่หลับ

ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรู้ด้านการใช้กัญชามานานแล้ว

“ที่ผมกำลังจะยืนยันว่าภูมิปัญญาไทยน่าสนใจก็เพราะว่าเมื่อประมาณสี่ปีที่แล้วมีเว็บไซต์ของผู้จัดการได้ลงข่าวเรื่องของผู้ป่วยมะเร็งรายหนึ่งใช้กัญชาเพียงต้มแค่สองดอกต่อวัน ปรากฏว่าหายป่วยจากโรคมะเร็งตับโดยไม่มีคีโมฉายแสงเลย ดังนั้นภูมิปัญญาไทยใช้มานานแล้ว และเป็นเอกภาพมากนะครับ”

อุปสรรคจากพืชยาไปสู่ยาเสพติด

ประการที่สี่ การปรากฏอยู่ในบัญชียาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาหลักสำคัญในมุมมองของปานเทพ เพราะแก้ไขได้ยากมาก โดยปานเทพมองว่าต่อให้ย้ายมาอยู่ในบัญชีประเภทที่ 2 แล้วก็ยังจะเกิดปัญหาใหม่ในเรื่องของวิธีการใช้ต้องผ่านขั้นตอนอีกมาก

“ทั้งที่เรามีภูมิปัญญามาหลายร้อยปีก็จะใช้ไม่ได้ สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คือย้ายไปอยู่บัญชี 2 และเมื่อถึงเวลาจริง แพทย์ภูมิปัญญาใช้ไม่ได้ ใช้แต่สาระสำคัญที่ต้องสกัดมาเท่านั้น แบบมอร์ฟีน ทำให้ภูมิปัญญาไทยเดิมหายไปอีกอย่างน้อย 93 ตำรับ  ดังนั้นอาจจะต้องถอนออกจากบัญชียาเสพติดมาเป็นกฎหมายเฉพาะ ในลักษณะของพืชยาควบคุมที่ปลอดภัยกว่า และเปิดโอกาสให้ใช้ได้ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน”

ประเด็นที่ห้า ในส่วนของการเสียโอกาสล่าช้าในเรื่องสิทธิบัตรยาที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อเนื่องเรื่องความมั่นคงในประเด็นเวชภัณฑ์ยาต่างๆ เพราะจะทำให้เสียสิทธิบัตร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำเข้าสารสำคัญเพียงอย่างเดียว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องไม่เพียงไม่จดสิทธิบัตร แต่ต้องยกเลิกคำขอ เพราะถ้าไม่ยกเลิกคำขอ ประเทศไทยจะไม่มีสิทธิจดสิทธิบัตรซ้ำในตำรับยานั้นอีกเลย

ประเด็นที่หก ว่าด้วยเรื่องของข้อเปรียบเทียบว่าไทยทำได้หรือทำไม่ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอิสรภาพและภูมิปัญญา ถ้าอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียทำได้ แต่เรากลับกลายเป็นทำไม่ได้

“ประการสุดท้าย เราต้องรีบออกเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วย ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ การตรวจสอบสาระสำคัญ การตรวจสอบสารพิษในกัญชาและกระท่อม และกำหนดวิธีการใช้ภายใต้การดูแลทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย”

“ทั้งเจ็ดประการนี้เป็นจุดยืนที่ต้องรีบนำเสนอให้รัฐบาลรีบแก้ไขปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์อย่างเร็วที่สุด”

เมื่ออากาศเป็นพิษคุกคามทารกถึงในท้องแม่

ระบบความปลอดภัยในท้องป่องๆ ของแม่อาจสั่นสะเทือนเพราะงานวิจัยชิ้นใหม่เพิ่งแสดงให้เห็นว่า ต่อให้แม่ระวังตัวแจแค่ไหน มลพิษทางอากาศก็สามารถเดินทางผ่านทางปอดและคืบคลานเข้าไปหาเด็กๆ ได้ โดยผ่านรกของแม่เอง

ก่อนหน้านี้แม้จะรู้กันดีว่ามลพิษในอากาศเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ยังไม่พบวิธีการหรือช่องทางที่แน่ชัด กระทั่งผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่สำรวจบรรดาแม่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้เผยให้เห็นอนุภาคเขม่าควันที่เกาะตัวในรกของแต่ละคน โดยนักวิจัยบอกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ด้วย

“ปัญหาที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความเป็นไปได้ที่มลพิษจะปนกับลมหายใจของแม่ และเข้าไปส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์” ลิซา มิยาชิตะ (Lisa Miyashita) หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนแมรี กรุงลอนดอน บอก “ถ้าคุณสามารถเดินทางบนเส้นทางที่มีมลภาวะน้อยลงขณะตั้งท้องอยู่ได้ก็คงดี หรือต่อให้ไม่ท้อง ฉันก็เลี่ยงถนนที่พลุกพล่านตอนเดินไปสถานีรถไฟอยู่ดีนั่นแหละ”

รกเปื้อนเขม่าควัน

ก่อนหน้าผลการศึกษานี้ยังมีอีกหลายครั้งที่พร้อมใจกันชี้ให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและทำให้น้ำหนักแรกเกิดต่ำ จนสามารถทำลายสุขภาพเด็กไปได้ตลอดชีวิต หนึ่งในนั้นเป็นการรวบรวมข้อมูลการคลอดมากกว่า 500,000 ครั้งในลอนดอน และได้ยืนยันถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่มองว่า สิ่งเหล่านี้ “แสดงให้เห็นความล้มเหลวของระบบสาธารณสุข”

บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างค้นคว้าหาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต่อปัญหาสุขภาพในส่วนอื่นๆ มากกว่าปัญหาในปอด เนื่องจาก อากาศเป็นพิษมีผลต่อความฉลาดทางสติปัญญาที่ลดลง “อย่างมหาศาล” และในปี 2016 อนุภาคนาโนที่เป็นพิษจากมลภาวะทางอากาศถูกพบในสมองของมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยใหม่ที่ทดสอบรกในครรภ์ของผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ห้าคน ที่คลอดทารกสุขภาพดีทุกคน โดยแยกเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage cell) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและดักจับอนุภาคที่เป็นอันตราย เช่น แบคทีเรียและมลพิษทางอากาศ พวกเขาพบอนุภาคสีดำ 72 แห่งท่ามกลางเซลล์ 3,500 เซลล์ ก่อนจะใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนทดสอบรูปร่างของอนุภาคเหล่านี้บางส่วน พวกมันดูเหมือนอนุภาคเขม่าที่ถูกพบในเซลล์แมคโครฟาจในปอด

ขณะที่การวิเคราะห์ดังกล่าวยังต้องการการยืนยันครั้งสุดท้าย มิยาชิตะกล่าวว่า “เราไม่อาจคิดถึงอย่างอื่นได้อีกเลย มันเป็นหลักฐานที่ชัดมากว่าเป็นอนุภาคเขม่าควัน” ช่วงต้นของการทดลองยังแสดงให้เห็นว่าอนุภาคที่สัตว์กำลังตั้งครรภ์หายใจเข้าไปจะผ่านกระแสเลือดไปยังตัวอ่อนในครรภ์ได้

“เรายังไม่อาจยืนยันได้เต็มที่ว่า อนุภาคที่ค้นพบจะเคลื่อนตัวเข้าไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้หรือไม่ แต่หลักฐานชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้” นอร์ริซ ลิว (Norrice Liu) หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีกล่าว “เรายังรู้ว่า อนุภาคเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเข้าไปถึงตัวทารก เพราะแค่มีผลต่อรกในครรภ์ก็จะส่งผลโดยตรงต่อตัวอ่อนไปด้วย”

ผลการวิจัยนี้ถูกนำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติของสมาคมโรคทางเดินหายใจแห่งยุโรป  (European Respiratory Society: ERS) ที่กรุงปารีส โดยศาสตราจารย์มินา กากา (Mina Gaga) ประธานสมาคมและแพทย์จากโรงพยาบาลเอเธนส์ เชสต์ ประเทศกรีซ กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ทางเทคนิคของหนทางที่ทารกจะได้รับผลกระทบจากมลพิษ ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้ว พวกเขากำลังได้รับการปกป้องอยู่ในมดลูก

“สิ่งนี้ควรกระตุ้นให้แพทย์และสาธารณชนตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์” เธอบอก “เราต้องการนโยบายอากาศสะอาดที่เข้มงวดกว่านี้ เพื่อลดผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพคนทั่วโลก เพราะเราได้เห็นกันแล้วว่า ประชากรรุ่นใหม่ๆ ต่างมีปัญหาสุขภาพกันเป็นจำนวนมาก”

หอบหืดขโมยความสุขในการเรียน

โรคหอบหืดคือหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของมลพิษทางอากาศ ซึ่งงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในการประชุมดังกล่าวระบุว่า โรคหอบหืดทำให้เด็กๆ มีความสุขในการเรียนน้อยกว่าคนที่ไม่เป็น ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มหรือเป็นหอบหืดมานานแล้วก็ตาม

ผลการวิจัยในสวีเดนที่ทำมานานกว่า 20 ปียังบอกว่า เด็กๆ ที่เป็นหอบหืดมีโอกาสออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ปีมากกว่าเด็กที่ไม่เป็นถึงสามเท่าครึ่ง และมีโอกาสออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันถึงสองเท่า

คริสเตียน ชิลเลิร์ท (Christian Schyllert) จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแคโรลินสกา (Karolinska) กรุงสต็อกโฮล์ม กล่าวว่า “เมื่อเป็นเรื่องของการศึกษาและหน้าที่การงานในอนาคต หอบหืดทำให้โอกาสของเด็กๆ แย่ลง” เขาบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ เด็กๆ ที่เป็นหอบหืดมักขาดเรียนบ่อยๆ

นอกจากนี้ แอนโธนี เลค (Anthony Lake) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูนิเซฟ ยังบอกว่า “ไม่เพียงแต่สารพิษเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาปอดของทารก แต่มันยังทำลายการพัฒนาสมองได้อย่างถาวรอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงทำลายอนาคตของพวกเขาเลยทีเดียว”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com

 

หยุดแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร เปิดช่องทุนข้ามชาติผูกขาดยา

ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่เสนอโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่อว่าจะนำไปสู่ปัญหาบานปลายและกระทบชีวิตคนไทยทั้งประเทศ เหตุเพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงจะฉุดให้ประเทศไทยถอยหลัง ยังเอื้อให้บริษัทข้ามชาติผูกขาดสิทธิบัตรยา ส่งผลให้ยาราคาแพงจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังมีจุดอ่อนที่ทำให้ประเทศไทยประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ยากยิ่งขึ้น

25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาภายในองค์การการค้าโลก (TRIPS) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) ที่ยกร่างโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากพบว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารฯ

กรรณิการ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. ครั้งที่ 39/2558 วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงว่าด้วยความตกลง TRIPS โดยในเดือนพฤศจิกายน 2558 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอผลการศึกษาและเสนอแนะให้ระมัดระวังเรื่องมาตรการทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลง TRIPS หรือที่เรียกว่า ‘มาตรการ TRIPS ผนวก’ (TRIPS+) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข

ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นทางระบบออนไลน์มาแล้ว 2 ครั้ง แต่พบว่ายังมีการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายให้มีมาตรการที่เกินไปกว่าความตกลง TRIPS ในมาตรา 51 และ 51/1 และประเด็นนี้ยังคงอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับล่าสุดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในมาตรา 51 วรรคสุดท้าย กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอแก้ไขกฎหมายให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ได้ หากปรากฏว่าเหตุแห่งการอนุญาตได้หมดสิ้นไปและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นมาตราที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลง TRIPS เนื่องจากในความตกลง TRIPS และ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบัน อนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลในเรื่องค่าตอบตอบแทนจากการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐเท่านั้น การจะอนุญาตให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้หน่วยงานรัฐยกเลิกมาตรการเพื่อใช้คุ้มครองประชาชน แม้จะมีเงื่อนไข แต่ถือเป็นการล่วงอำนาจการบริหารของประเทศ

เช่นเดียวกับมาตรา 51 และ 51/1 กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอแก้ไขให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจประกาศใช้มาตรการใช้ซีแอลจำกัดอยู่แค่กระทรวงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความตกลง TRIPS ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยใด แต่เปิดกว้างให้แต่ละประเทศกำหนดเอง และในกฎหมายฉบับปัจจุบันก็ระบุให้กระทรวง ทบวง และกรมมีอำนาจ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายให้จำกัดเฉพาะกระทรวง จะทำให้การใช้มาตรการซีแอลเป็นไปได้ยากมากขึ้น

กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการซีแอลยังขัดแย้งกับข้อเสนอแนะของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งเรียกร้องให้ไม่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบ TRIPS+ อยู่ในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อีกทั้งเป็นอุปสรรคทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้อีกด้วย เนื่องจากมาตราดังกล่าวทำให้เกิดการผูกขาด ทำให้ยามีราคาแพงและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงการรักษา

“ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเพื่อยื่นต่อ สนช. จึงขัดต่อมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 39/2558 รวมถึงไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศในเรื่องการเข้าถึงยา เราจึงเสนอคณะกรรมาธิการสาธารณสุขพิจารณาและให้คำแนะนำต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหยุดแก้ไขมาตราดังกล่าวที่จะมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อย่างเคร่งครัด” กรรณิการ์กล่าว

อนึ่ง ประเทศไทยเคยประกาศใช้ซีแอลในปี 2549 และ 2550 เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการขาดแคลนยาจำเป็น เพราะการผูกขาดผ่านการจดสิทธิบัตรทำให้ยามีราคาแพง ซึ่งมาตรการซีแอลช่วยให้ประหยัดงบประมาณค่ายาต้านไวรัส HIV ได้มากกว่า 4,500 ล้านบาทในช่วงปี 2551-2554 อีกทั้งสามารถให้การรักษาและช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในยาเอฟฟาไวเรนส์ จากจำนวนไม่ถึง 5,000 คนก่อนประกาศใช้ซีแอล เพิ่มเป็นเกือบ 30,000 คนในต้นปี 2553 และในยาโลพินาเวียร์+ลิโทนาเวียร์ เพิ่มขึ้นจาก 0 เป็น 7,000 คนในช่วงเดียวกัน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ ยาทั้งสองชนิดเป็นยาที่ใช้เป็นสูตรพื้นฐานและสำรองให้กับผู้ติดเชื้อนับแสนคนในแต่ละปี

เช่นเดียวกับยารักษาโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทในช่วงปี 2552-2554 ช่วยให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงนับแสนคนเข้าถึงการรักษาและไม่เสียชีวิต โดยงบประมาณที่ประหยัดได้นี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำไปจัดซื้อยาและขยายสิทธิประโยชน์การรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย

ทันตแพทยสภา ยกระดับปัญหา“จัดฟันแฟชั่น”

“ทันตแพทยสภา” เป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่ร่วมกัน ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมานานนับทศวรรษ นับตั้งแต่ ทพ.ดร. ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ร่วมกับ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทางทันตกรรม ทันตแพทยสภา จัดทำโครงการสำรวจสภาพปัญหาและความรุนแรงของการจัดฟันแฟชั่น ปี 2552 จนกระทั่งได้หนังสือ “จากแฟชั่นจัดฟัน “สู่จัดฟันแฟชั่น” ได้ไม่คุ้มเสีย” ออกมาหนึ่งเล่มทำให้เรารับรู้ถึงสภาพปัญหา ผลกระทบต่อสุขภาพและทางออกของปัญหาอันเนื่องจากการจัดฟันแฟชั่น อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยชิ้นนั้น เมื่อเวลาผ่านไปการจัดฟันแฟชั่นมีรูปแบบเปลี่ยนไปมาก

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

“เปลี่ยนจากร้านค้าห้องแถวมาเป็นออนไลน์ อยู่ในโซเชียลมีเดีย เปลี่ยนจากการที่เด็กต้องเดินไปทำที่ร้านเอง เป็นการสั่งอุปกรณ์มาทำเองที่บ้าน รูปแบบมันเปลี่ยนมาก ยิ่งทำให้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคยากขึ้น เพราะต้องอาศัยกฎหมายจากหลายองค์กรในการแก้ปัญหา” ทพ. ดร.ธงชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ ทพ. ดร. ธงชัย ยังเสริมด้วยว่าทางทันตแพทยสภาได้หารือกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ในเรื่องนี้แล้ว เห็นว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและมีผลกระทบมาก เพราะมีคนที่ได้รับโลหะหนัก ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงอยากเสนอประเด็นดังกล่าวเป็นวาระเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561

 

“เราต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จากทั้งหน่วยงานรัฐคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจที่ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค และตำรวจไซเบอร์ นอกจากนี้เราต้องตามไปแก้ที่ต้นนำ กรณีการนำวัสดุจัดฟันเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยแล้วไปขายต่อ ต้องร่วมมือกัหน่วยงานต่างๆ ไปตามจับ รวมถึงทำอย่างไรให้วัยรุ่นไทย รู้เท่าทันเรื่องนี้ด้วย งานก็จะขยายออกไปหลายหน้างาน”

 

การนำประเด็นนี้เข้าสู่สมัชชาเป็นหนึ่งความหวังในการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุยในเวทีระดับชาติเพื่อร่วมกันรับรู้ปัญหาและก่อเกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

 

ที่มา: สานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2561

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  1. สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ลุย! ‘จัดฟัน-ฟันปลอมเถื่อน’ สุดอันตราย…รื้อระบบทันตกรรมเพิ่มการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย  (17 ก.ย.2561)

  2. คู่มือแนวทางการดำเนินงาน การจัดการปัญหาฟันแฟชั่นและ ฟันเทียมที่ผิดกฎหมาย
  3. จากแฟชั่นจัดฟันสู่ “จัดฟันแฟชั่น” ได้ไม่คุ้มเสีย
  4. รวบสาวเปิดคลินิกเถื่อน รับจัดฟันแฟชั่น โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ค ลูกค้าติดตรึม
  5. Consumer Channel – จัดฟันแฟชั่น ‘อันตราย’  (20 / 01 /2017)
  6. Consumer Channel – คิดดีๆ ก่อนทำ ฟัน+ปลอม+เถื่อน (23/01/2014)

ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เดิมพันชีวิตผู้ป่วยด้วยผลประโยชน์บรรษัทยา

เรื่อง: ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นับตั้งแต่มี ‘พระราชบัญญัติสิทธิบัตร’ ฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาแล้วสองครั้ง แต่ละครั้งสร้างผลสะเทือนต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศและการเข้าถึงยาของประชาชนอย่างมหาศาล แต่ละครั้งเกิดขึ้นเพราะแรงกดดันของประเทศมหาอำนาจ ที่ต้องการให้เกิดการผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตรเข้มงวดและยาวนานยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางการค้าของบรรษัทต่างชาติ ซึ่งรวมถึงบรรษัทยาข้ามชาติ

ไทยแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 สองปีก่อนหน้านั้น สหรัฐได้ใช้มาตรการทางการค้าที่มีชื่อว่า ‘รายงานพิเศษ 301’ (Special 301 Report) เพื่อกดดันประเทศไทยให้แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีดำ ‘ประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา’ ของภาคธุรกิจอเมริกัน ประเภทประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 บรรษัทยาในสหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเองตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) ที่ให้กับประเทศไทย

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ไทยยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ทำให้อายุสิทธิบัตรขยายจาก 15 ปี เป็น 20 ปี และผู้ยื่นขอสิทธิบัตรสามารถจดสิทธิบัตรได้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ทั้งสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ (product patent) และสิทธิบัตรกระบวนการ (process patent) ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศล่วงหน้าให้สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์)[1] ที่มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี พ.ศ. 2538

แม้ข้อตกลงทริปส์จะมีผลบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องออกหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็มีข้อยืดหยุ่นให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก โดยยังไม่ต้องออกหรือแก้ไขกฎหมายจนกว่าจะถึงปี พ.ศ. 2544

แต่ประเทศไทยกลับถูกบีบบังคับให้แก้ไขกฎหมายก่อนข้อตกลทริปส์จะมีผลบังคับใช้เกือบ 3 ปี และละทิ้งสิทธิจากข้อยืดหยุ่นที่ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายในช่วง 6 ปี หลังข้อตกลงทริปส์มีผลบังคับใช้

ปี พ.ศ. 2541 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีดำที่รวมรายชื่อประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอีกครั้ง โดยที่สหรัฐเรียกร้องให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่เคยแก้ไขไปแล้วในปี พ.ศ. 2535 ด้วยการขอให้ยกเลิกคณะกรรมการสิทธิบัตร ซึ่งมีอำนาจกำกับควบคุมราคายา ท้ายที่สุดไทยยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2542 โดยยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐนั้น

ผลจากการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ทั้งสองครั้ง คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2535-2545 มีผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรยาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่เกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 98.7 เป็นชาวต่างชาติ และเป็นคนไทยเพียงร้อยละ 1.3 ในขณะที่มูลค่าการผลิตยาแผนปัจจุบันภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จากร้อยละ 70 เหลือเพียงร้อยละ 32 ในปี พ.ศ. 2558 สวนทางกับมูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันในช่วงเวลาเดียวกัน[2] ปัจจุบันมูลค่าการบริโภคยาที่ผลิตภายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 33 และยานำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 67

นั่นหมายความว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ไม่ได้ช่วยให้บริษัทยาที่คนไทยวิจัยและพัฒนายาใหม่สามารถจดสิทธิบัตรได้เพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นบริษัทยาต่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากการผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตร ยาชื่อสามัญในราคาถูกไม่สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ ประเทศไทยต้องพึ่งพายานำเข้าที่มีสิทธิบัตรและราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ

แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ประโยชน์เพื่อใคร?

ในประเทศไทยมีคำขอรับสิทธิบัตรยาและสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง หรือที่เรียกว่า ‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ (Evergreening Patent) เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 84 ของคำขอรับสิทธิบัตรยา และร้อยละ 74 ของสิทธิบัตรยาที่ให้ไปในช่วงปี พ.ศ. 2534-2553 จัดว่าเป็นสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดยมีการประเมินว่าประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาไปกับสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดอายุอย่างน้อยเกือบ 8,500 ล้านบาท[3]

ในช่วงที่ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษของสหรัฐอีกครั้งในปี พ.ศ. 2550-2560 (หลังจากที่ไทยประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐในปี พ.ศ. 2549) กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร โดยให้ข้อมูลแก่สาธารณะว่าแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาโดฮา วรรค 6 ที่ไทยเพิ่งลงนามไป ซึ่งจะมีผลให้ไทยสามารถส่งออกยาให้กับประเทศอื่นที่ประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) หรือมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ได้ แต่ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์ กลับพบว่ามีการเสนอแก้ไขมากไปกว่าเรื่องการส่งออกยาภายใต้มาตรการใช้สิทธิฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนได้รับสิทธิบัตร และการอนุญาตให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าจ้างหน่วยงานหรือองค์กรอื่นเพื่อการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร เป็นเหตุให้ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นได้คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว

ต่อมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) ซึ่งจะเป็นฉบับแก้ไขครั้งที่สาม และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทางออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2560 (14 วัน) จากนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. และเปิดรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ครั้งที่สองในช่วงวันที่ 31 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2561 (29 วัน)

จากร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับแก้ไข) ที่เสนอโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่ามีเรื่องการส่งออกยาภายใต้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐที่ประกาศโดยรัฐบาลประเทศอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม แต่กรมฯ ได้เสนอแก้ไขในบางมาตราที่ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำมาบังคับใช้ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ประเทศสหรัฐหยิบยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หลังจากที่ไทยประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2549 และ 2550[4] ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงยาที่จำเป็นตามกฎหมายภายในประเทศและเป็นไปตามข้อตกลงทริปส์ แต่เป็นหอกข้างแคร่สำหรับบรรษัทยาข้ามชาติมาโดยตลอด

ยิ่งไปกว่านั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับไม่ใช้โอกาสนี้แก้ไขกฎหมายเพื่อขจัดหรือลดปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งเป็นวิกฤติที่ทำให้เกิดการผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรมและโดยไม่จำเป็น รวมถึงขัดขวางยาชื่อสามัญที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดซึ่งจะทำให้ราคายาถูกลง โดยในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ยังมีความคลุมเครือในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การให้สิทธิบัตรที่ไม่ชัดเจน ระยะเวลาการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรที่สั้นเกินไป ความล่าช้าในการตัดสินคำคัดค้าน ความโปร่งใสในการพิจารณาสิทธิบัตร ฯลฯ

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้นำข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ยื่นเป็นหนังสือในการรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนมกราคม 2559 และผ่านการรับฟังความคิดเห็นในระบบออนไลน์เมื่อกลางปี 2559 มาพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับนี้ ประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทว่าไม่มีตัวแทนของภาคประชาสังคมและนักวิชาการ การเสนอแก้ไข พ.ร.บ. ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีการแก้ไขเนื้อหาในหลายมาตราและมีความซับซ้อน แต่เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ในระยะเวลาสั้นๆ และร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร สำหรับการรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ครั้งที่สองมีเนื้อหาเข้มงวดกว่าร่างฯ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ครั้งที่หนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นที่ให้ผู้ทรงสิทธิฟ้องระงับการประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) ได้

น่าสนใจว่า เนื้อหากฎหมายที่เกินไปกว่าพันธะสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีของไทยที่มาจากการรัฐประหารไปเยือนประธานาธิบดีของสหรัฐ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560[5] และต่อมาประเทศไทยได้ถูกถอดออกจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) มาเป็นเพียงประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561[6] จนทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า นี่คือหนึ่งในประเด็นแลกเปลี่ยนหรือไม่

การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ครั้งนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่ จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสองครั้งหรือไม่

ราคา (ยา) ที่ต้องจ่าย เพราะการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่ผ่านมาสองครั้ง สูงมากเกินไปแล้ว

กรมทรัพย์สินทางปัญญาและรัฐบาลไทยจะเอาชีวิตของผู้ป่วยและการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนไปแลกอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ‘ต้องจับตามองเป็นพิเศษ’ เช่นกัน


[1] Trade-related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPs) Agreement

[2] http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/policy_file/20170801151550.pdf

[3] http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/3750?locale-attribute=th

[4] https://ustr.gov/sites/default/files/2007%20Special%20301%20Report.pdf

[5] https://www.bbc.com/thai/41479210

[6] https://ustr.gov/sites/default/files/files/Press/Reports/2018%20Special%20301.pdf