ยาแก้แพ้ ‘ลอราทาดีน’ อาจยิ่งทำให้แพ้

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปลี่ยนประเภทยา ‘ลอราทาดีน’ (Loratadine) ซึ่งเป็นยาลดอาการแพ้ จากเดิมที่เป็นยาอันตราย จ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร เป็นยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งมีผลให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ทำให้นักวิชาการและองค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมมีข้อกังวลว่า การเปลี่ยนสถานะของยาประเภทนี้อาจเป็นอันตรายต่อการใช้ยาของประชาชน

รศ.ภญ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ อย. ได้จัดรับฟังความคิดเห็น และทางสภาเภสัชกรรมได้ทำข้อคิดเห็นคัดค้านการเปลี่ยนประเภทยาดังกล่าว และเห็นว่าควรจัดให้อยู่ในกลุ่มยาอันตรายเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นยาที่มีข้อควรระวังในการใช้ และการวินิจฉัยอาการก่อนใช้ยามีความซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะวินิจฉัยเองได้

“ข้อควรระวังในการใช้ยาลอราทาดีน ไม่ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับ ไต หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร และควรระวังกรณีใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพบางชนิด ยาต้านเชื้อรา ยาโรคหัวใจ เนื่องจากเกิด drug interaction หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘ยาตีกัน’ กล่าวคือถ้าใช้ร่วมกับยาตัวอื่นอาจส่งผลให้ยาตัวอื่นหรือตัวมันเองออกฤทธิ์ได้มากขึ้นหรือน้อยลง”

รศ.ภญ.ดร.นุศราพร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการวินิจฉัยว่าผู้ซื้อยาที่เป็นผู้ป่วยอยู่ในภาวะมีน้ำมูกเนื่องจากการแพ้หรือไม่ และควรใช้ยาลอราทาดีนหรือไม่นั้น การวินิจฉัยค่อนข้างมีความซับซ้อน เช่น ดูว่าจามหรือไม่ น้ำมูกใสหรือไม่ มีอาการคัน คัดจมูกหรือไม่ มีอาการมากขึ้นในช่วงกลางคืนหรือไม่ กลางคืนต้องหายใจทางปากหรือไม่ เหนื่อยง่ายหรือไม่ ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชาชนทั่วไปยากจะวินิจฉัยด้วยตนเองได้

รศ.ภญ.ดร.นุศราพร กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มการเปลี่ยนประเภทยาเพื่อให้ประชาชนใช้ยาด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่ามาตรการนี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงยา ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงด้านยากับประชาชนด้วย อีกทั้งการเปลี่ยนสถานะของยายังเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทยาเจ้าของผลิตภัณฑ์ เพราะสามารถขายได้ในร้านขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ หรือ ขย.2 และสามารถขออนุญาตโฆษณาทางสื่อต่างๆ ได้

“ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าประเทศไทยจะมีมาตรการในการออกแบบกลไกการพิจารณาประเภทยา เพื่อที่จะคุ้มครองประชาชนให้ใช้ยาอย่างปลอดภัยได้อย่างไร” อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์กล่าว

เอกสารอธิบายการใช้เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย

เอกสารอธิบายการใช้เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย
โดย คคส.

1. คู่มือการใช้เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย


2. สไลด์: การใช้เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย

 

‘ผ่อนปรน’ หรือ ‘ควบคุม’ อนาคตกัญชา ยารักษาโรค

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จัดอภิปรายภายใต้ประเด็น ‘การผ่อนปรนและแนวทางการควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์’ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 โดยเชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้องมาสะสางให้เกิดความกระจ่างต่อประเด็นสำคัญสองประการ คือ ‘ผ่อนปรน’ และ ‘ควบคุม’ การใช้กัญชาทางการแพทย์ อย่างไรกันแน่ที่จะเป็นอนาคตต่อไปของ ‘กัญชา’

วิชัย ไชยมงคล

วิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ความเป็นมาของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (ศอ.ปส.สธ.) ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้มีการผ่อนปรนการนำยาเสพติดที่เป็นประโยชน์มาใช้

จากนั้นในปี 2559 ทาง UN ก็ได้ดำเนินการประชุมและแนะนำกับภาคีว่า กำหนดให้มีบทลงโทษที่เหมาะสม ทำให้มีการร่างแก้ไขประมวลกฎหมายฯ จากเดิมคือประหารชีวิต หากมีการนำเข้ายาเสพติดมาในราชอาณาจักร ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงมีการปรับร่างประมวลกฎหมายใหม่ และมีการนำร่างกฎหมายยาเสพติดที่กระจัดกระจายมาประมวลยกร่างขึ้นใหม่

“ขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นที่สองของการพิจารณา ซึ่งมีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการเสพเพื่อการรักษาโรคสามารถทำได้ และมีการผ่อนปรนการใช้ยาเสพติดประเภท 5 ในมาตรา 57 แต่ก็ยังเน้นเรื่องการใช้เพื่อรักษาโรค นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลูกเพื่อการทดลอง และตามปริมาณที่กำหนดเพื่อการรักษา”

นอกจากนี้ ป.ป.ส. ยังผ่อนปรนให้มีการเสพพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน โดยกำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น ในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม กระท่อมยังถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 อยู่ ซึ่งวิชัยทิ้งท้ายว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลคิดไว้ตั้งแต่สองปีก่อนการประกาศของ UN ทว่าเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกหนึ่งใน UN ประเทศไทยจึงจำต้องปฏิบัติตามกรอบที่ทาง UN กำหนดไว้

นพ.โสภณ เมฆธน

ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า

“เรารู้ว่ากัญชามีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ แต่ถามว่ามีโทษไหม แน่นอนว่ามี ถ้ามีการใช้ในวัยรุ่นก็อาจส่งผลให้เกิดอาการทางจิต ประกอบกับนานาชาติยังกำหนดว่ากัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ ดังนั้น อะไรที่มีทั้งประโยชน์และโทษ เราต้องปรับเพื่อให้เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งถ้าเราแบ่งเป็นสามกลุ่มก็จะชัดเจนว่า หนึ่ง-กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรค อีกกลุ่มหนึ่งคือเราต้องเริ่มในสัตว์ทดลองเพื่อดูว่าต้องใช้ในปริมาณเท่าไร เช่น ใช้สำหรับรักษามะเร็งอย่างเดียว แต่แน่นอนว่ามีผลข้างเคียง เพราะฉะนั้นต้องระวังวิธีการดูแล เพราะในสังคมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่คัดค้าน ซึ่งเราต้องหาทางที่เดินไปด้วยกัน

“ดังนั้นการนำไปใช้เราจึงไม่ควรเรียกว่าเป็นการปลดล็อค แต่เป็นเพียงการคลายล็อค ควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการคลายล็อคทางด้านกฎหมาย แล้วจึงคลายล็อคทางด้านการแพทย์ เมื่อกฎหมายอนุญาต ก็ต้องพิจารณาต่อว่าทางการแพทย์จะนำไปใช้อย่างไร”

ทั้งนี้ นพ.โสภณ ยังกล่าวเสริมในประเด็นข้อกังวลที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปล่อยให้ 11 บริษัท ยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชานั้น ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาเพิ่มเติมอยู่ เพราะสารสกัดจากพืชนั้นไม่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้

ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน

‘ปลด’ หรือ ‘ถอดถอน’

ขณะที่ ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายโดยยกตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีการผ่อนปรนในแนวทางการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ไว้ว่า ประเด็นข้อถกเถียงในวงอภิปรายไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุป เนื่องเพราะแต่ละคนไม่ได้มีแนวคิดในภาพรวม อนันต์ชัยมองว่าการใช้เพียงข้อมูลที่มีอยู่ไม่ทำให้เห็นทุกแง่มุม อีกทั้งยังไม่ได้ตั้งคำถามให้ชัดเจนระหว่างทาง

“เราไม่ได้ต้องการปลดล็อคกัญชาและกระท่อม เราต้องการถอดกัญชาและยาเสพติดโดยไม่มีเงื่อนไข คำถามคือเราต้องการอะไรกันแน่ เราต้องการทางออกของสังคมกับความคาดหวัง ทางออกคือ เราต้องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ใช่ไหม เราไม่ใช้ในการสันทนาการใช่ไหม ถ้าเราต้องการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เรากำลังจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชา แล้วมันมาจากไหน ปลูกเองหลังบ้านหรือเปล่า ซึ่งเราต้องตัดสินใจก่อนว่าเราอยากรักษาตัวเองแบบกระท่อมเลยหรือได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”

นอกจากนี้ ภก.อนันต์ชัย ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรจะคุยกันคือ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือ medical purpose ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการควบคุมแผนการทดลองในที่สุด ซึ่งประเด็นการตั้งเป้าหมายการนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ สำหรับในต่างประเทศได้ขึ้นตำรับเป็นยาที่สามารถนำไปผสมในอาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการ อย. กล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันที่ใช้กันอยู่มีมาตรการในการห้ามผลิตและจำหน่ายยาเสพติดประเภท 4 และ 5 เว้นแต่รัฐมนตรีจะเห็นชอบเป็นรายๆ ขั้นตอนจริงๆ โดยรวมคือ สามารถผลิตได้ แต่เสพไม่ได้ แต่ตอนนี้มาถึงขั้นตอนที่สามารถทดลองแปรรูปในสัตว์ทดลองได้ ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งในการผลิตก็ต้องมีผู้อนุญาต

“แนวคิดที่เราเห็นตรงกันคือ จะนำมาใช้ในทางการแพทย์และการวิจัย เราค่อนข้างคาดหวังว่าร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดของ สนช. จะต่อเนื่องไปถึงการวิจัยในคลินิก ประเด็นเพิ่มเติมก็คือว่า การที่จะใช้เสพเพื่อรักษาโรค ได้มีการแก้ไขในจุดอ่อนในเรื่องของการใช้ในแพทย์แผนไทย”

ประเด็นสำคัญต่อมาคือ เรื่องของกรอบเวลา เลขาธิการ อย. ประมาณการไว้ว่า ในเดือนธันวาคม ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด จะแล้วเสร็จ ซึ่ง อย.ได้เตรียมดำเนินการด้วยการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า พ.ร.บ.นี้จะตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม ร่างที่เสนอ ครม. นั้น ทาง อย.เสนอให้มีคณะอนุกรรมการมาดูแลเรื่องของแพทย์แผนไทยเฉพาะเรื่องนโยบาย และเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ส่วนของกรมการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นปลายทางของการนำกัญชาไปใช้เพื่อเป็นยารักษา ไม่ใช่ยาเสพติด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงไว้ว่า การนำไปใช้ต้องมีข้อบ่งใช้ด้วยวิธีมาตรฐาน แพทย์ผู้สั่งต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ต้องขึ้นทะเบียน ไม่ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยจะสามารถทำได้ เพราะจะมีการติดตาม มีบันทึกการสั่งใช้ ต้องบอกข้อดีและข้อเสียกับคนไข้ รวมถึงต้องมีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใช้เพื่อการวิจัย

“เรารู้ว่ากัญชามีสายพันธุ์และส่วนผสมของสารเคมีที่แตกต่างกัน ต้องทราบปริมาณและอัตราส่วน ผู้วิจัยหลักต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในโรคนั้น มีความพร้อมในการดูแลอาสาสมัคร ถามว่าถ้าสนใจอยากจะใช้ ตอนนี้เรากำลังเขียนให้เป็นโครงร่างวิจัยต้นแบบแล้วมาร่วมกันทำ”

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมการแพทย์จะเน้นเพียงแค่สองอย่าง นั่นคือ หนึ่ง-ประโยชน์ต้องได้กับคนไข้ ไม่ใช่คนสกัด สอง-คนไข้ต้องปลอดภัย ถ้ายึดสองข้อนี้เป็นหลัก ปลายทางเรื่องการนำกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์จึงจะสามารถคุยกันต่อได้

“อยากปรับ อยากแก้ อยากเสนออะไร ผมยินดี และอีกครั้งครับ เรายินดีที่จะรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อให้คนได้ประโยชน์สูงสุด”

ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล

การวิจัยและผลิตสารสกัดกัญชา

หากมีการนำไปใช้ทางการแพทย์เป็นผล การนำน้ำมันกัญชาไปใช้เพื่อผลิตออกมาเป็นตัวยา จึงนำมาสู่การนำเสนอของ ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ในฐานะตัวแทนขององค์การเภสัชกรรม ได้กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการทำโครงการนำร่องเพื่อผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขึ้นมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนจากพืชสมุนไพรยาเสพติด สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาไทยที่สมบูรณ์แข็งแรง มีปริมาณสารสำคัญที่สามารถใช้เป็นยาได้ และผลิตกัญชาเป็นยารักษาโรคที่ยาแผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ผล

“ในขณะนี้ ต้นกัญชาที่เป็นวัตถุดิบเราไม่สามารถปลูกได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัย เราต้องไปรับของกลางมาจำนวนหนึ่ง ในส่วนขององค์การเอง เรามีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาสารสกัด และมีงานวิจัยและทีมงามเพียงพอที่จะดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาให้ผู้ป่วยและให้คุณหมอในการทดลองทางอื่น  ซึ่งในกระบวนการสกัด เรามีสถานที่เพื่อให้ได้เป็นโรงงานสารสกัดซึ่งกำลังเจรจากับ อย. และการเพาะปลูกเราจะใช้พื้นที่บริเวณดาดฟ้าอาคารดังกล่าว เพื่อให้เกิดการคัดเลือดสายพันธ์ุให้ได้สารสำคัญสูงสุด ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป”

ภญ.นันทกาญจน์ทิ้งท้ายไว้ว่า องค์การเภสัชกรรมมีความตั้งใจที่จะมองหาพื้นที่ที่จะขยายออกไปเพื่อปลูกและทำโรงงานสารสกัดเพื่อให้สามารถรองรับกับผู้ป่วยได้เพียงพอ

ปลดล็อคกฎหมายกัญชา ซื้อ-ขาย-ใช้ได้ แต่ (ยัง) ไม่เสรี

พฤษภาคม 2561

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการศึกษากับมนุษย์ ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

7 ตุลาคม 2561

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า ได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไว้ในวาระการประชุมของ สนช. แล้ว โดย นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. กล่าวว่า “ทาง สนช. อยากจะทำให้เสร็จ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่คนไทย เพราะว่าก่อนหน้าก็ได้ประสานกับญาติผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ก็เห็นว่ากฎหมายนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์”

2 พฤศจิกายน

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมจะปรับปรุงอาคารขององค์การเภสัชกรรมเป็นสถานที่ปลูกและวิจัยในระบบปิด มีการวางแผนผลิตน้ำมันกัญชา 4,000 ขวด ในเดือนมกราคม 2562 เพิ่มการผลิตเป็นเดือนละ 6,000 ขวด ตั้งแต่กุมภาพันธ์-เมษายน 2562 และหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะผลิตให้ได้เดือนละ 60,000 ขวด และวางแผนผลิตเป็นอุตสาหกรรมที่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท แต่ยังไม่สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกเอง

6 พฤศจิกายน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงว่า 13 พฤศจิกายน ครม. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ก่อนส่งให้ สนช. พิจารณา โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เข้าสู่ สนช. ไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ สนช. ได้พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการแพทย์เป็นการเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … อาจจะใช้เวลานานเกินไป

13 พฤศจิกายน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลที่ประชุม ครม. ว่า ครม. เห็นชอบในหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ตราเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ให้สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 ได้ในกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
  2. เพื่อกรณียกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลหรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
  3. เพิ่มเติมให้ใช้ยาเสพติดประเภท 5 ได้ หากกระทำเพื่อการรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย
  4. เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอํานาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท 5 หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบ
  5. ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกำหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อครอบครอง จำหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกำหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องประกาศกฎกระทรวงเพื่อมาควบคุมการใช้กัญชาอีก 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงทดลอง จากนั้นมีการทบทวนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนต่อไปอย่างไร

14 พฤศจิกายน

เมื่อกัญชากำลังจะถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการเปิดเผยว่า บริษัทต่างชาติหลายรายได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ โดยมีบริษัท Thai Otsuka เป็นขาใหญ่ยื่นจดอย่างน้อย 8 ใบ ทำให้ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาละเลยกฎหมายหลายประการ เพราะหากบริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตร เท่ากับว่าไทยจะไม่มีสิทธิในการทดลอง พัฒนา หรือนำไปใช้งานทางการแพทย์ได้เหมือนที่คิดไว้

โดยสรุปคือ ขณะนี้กัญชาอยู่ในสถานะถูกปลดกุญแจมือ แต่ยังติดตรวน ไม่ใช่เสรีกัญชาเหมือนที่บางคนเข้าใจ เพราะยังจำกัดการใช้เฉพาะทางการแพทย์ เฉพาะหมอและผู้ป่วย ส่วนการปลูกนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ และการผลิตก็ต้องมีมาตรการควบคุมอย่างใกล้ชิด

นายพุทธิพงษ์เพิ่มเติมว่า “ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
bbc.com
khaosod.co.th
mgronline.com

ต่างชาติจดสิทธิบัตรกัญชาไทย จะเกิดอะไรขึ้น

กำลังเป็นประเด็นร้อนกรุ่นควัน กับ ‘กัญชา’ ที่กำลังจะถูกปลดล็อคให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะรู้กันมานานแล้วว่า ในฐานะสมุนไพร กัญชาคือพืชยาชนิดหนึ่ง ที่มีคุณประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่สำหรับประเทศไทย ปราการสำคัญที่ทำให้กัญชาไทยยังไม่ไปต่อคือกฎหมายยาเสพติด ที่ยังมีชื่อของกัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 แม้จะมีการทดลองสารสกัดได้ แต่ตามกฎหมาย เรายังไม่สามารถนำมาทดลองกับมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง เป็นที่มาของการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายยาเสพติด

แต่เมื่อคนไทยเห็นประโยชน์ของกัญชา ต่างชาติก็เห็น และมีหลายบริษัทที่เตรียมเข้าถือสิทธิบัตรในการใช้ประโยชน์จากกัญชา โดยเฉพาะการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ในการผลิตยา และจากข้อมูล มีรายชื่อของบริษัทต่างชาติ 11 ราย ที่ผ่านขั้นตอนการยื่นคำขอแล้ว และนี่คือภาพรวมว่า ถ้าต่างชาติถือสิทธิบัตรกัญชาไทย อะไรจะเกิดขึ้น

 

เกิดอะไรขึ้น ถ้าบริษัทต่างชาติยื่นคำขอสิทธิบัตร

แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะยืนยันว่า บริษัทที่เข้ามายื่นคำขอนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการจดสิทธิบัตร แต่ในทางปฏิบัติ หากท้ายที่สุดแล้ว บริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตรในการประดิษฐ์นั้นไป เท่ากับว่าสิทธิในการผลิต ใช้ ขาย เสนอขาย และนำเข้า เป็นเวลา 20 ปีนั้นจะย้อนไปถึงวันที่ยื่นขอ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บรรดาบริษัทที่ยื่นคำขอและผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นและได้มีการประกาศโฆษณามีสิทธิตามมาตรา 35 ทวิ ที่จะ ‘บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร’ กับองค์กรหรือกลุ่มนักวิจัยของไทยได้ว่า พวกเขาอยู่ในระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตรในงานชิ้นนี้อยู่ เป็นเหตุให้ทั้งองค์การเภสัชกรรมและทีมนักวิจัยไม่สามารถทำการวิจัยหรือทดลองสารสกัดจากกัญชาที่ตรงกับการประดิษฐ์นั้นได้ เพราะหากบริษัทต่างชาติได้สิทธิในการผลิตไป เท่ากับว่าองค์กรของไทยเป็นผู้ฝ่าฝืน และต้องชำระค่าเสียหายย้อนไปถึงวันที่ยื่นคำขอ

สิทธิบัตรกัญชา

คำขอจดสิทธิบัตรไปถึงขั้นตอนไหน

ข้อมูลจากไบโอไทยระบุว่า มีการยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรของบริษัทต่างชาติจากอังกฤษและญี่ปุ่นทั้งหมด 11 คำขอ ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งผ่านขั้นตอนการยื่นคำขอ ชำระค่าธรรมเนียม อยู่ในขั้นตอนการประกาศโฆษณาและการตรวจสอบการประดิษฐ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ไม่มายื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 1 คำขอ (ละทิ้งคำขอรับสิทธิบัตร)

กลุ่มที่ 2 ยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 7 คำขอ (รอภายใน 5 ปี)

กลุ่มที่ 3  เป็นการยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 3 คำขอ

 

กรมทรัพย์สินทางปัญญามีสิทธิยกคำขอได้

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ทำไมกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงรับคำขอของบริษัทต่างชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เหตุผลว่า การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์จะพึงดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร ไม่สามารถยกเลิกคำขอได้

แต่ตามกฎหมายของประเทศไทย มีวิธียกคำขอสิทธิบัตรได้ คือ

กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 5 ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประกาศขอรับสิทธิบัตรต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ได้ทางอุตสาหกรรม

กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ระบุว่า จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ หรือไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น สารสกัดกัญชา ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช จึงไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ตั้งแต่แรก

ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งได้ยื่นขอสิทธิบัตรจนมาถึงขั้นตอนการประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 นั้น ขัดต่อกฎหมายมาตรา 9 (1) อย่างชัดเจน เพราะเป็น ‘สารสกัดต้นแคนนาบิส’ (cannabis plant extract)

กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (4) การวินิจฉัย บำบัด รักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร

กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 28 (1) ถ้าอธิบดีเห็นว่าการประดิษฐ์นั้นไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอนั้น

กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 30 เมื่อมีการประกาศโฆษณาแล้ว ปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตร

กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ข้อ 6 การประดิษฐ์ที่ยื่นคำขอนั้นไม่ได้ตามมาตรา 9 ให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่เสนอรายงานอธิบดีเพื่อสั่งยกคำขอสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรได้

ดังนั้น เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ ในสายตาของภาคประชาสังคมถือว่าเป็นการละเลย

บริษัทต่างชาติผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา

  1. หมายเลขคำขอ 0201004306 สารสกัด CBD+THC รักษากล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร เจ้าของ แอสตราเซเนกา เอบี / สถานะ ละทิ้งคำขอหลังประกาศโฆษณา
  2. หมายเลขคำขอ 0501005232 สารสกัด THC องค์ประกอบทางเภสัชกรรม เจ้าของ ยูโร-เซลตีเกอ เอส.เอ. / สถานะ ยื่นคำขอให้ตรวจสอบ ยื่นแก้ไขใหม่
  3. หมายเลขคำขอ 0601002456 สารสกัด THC ส่วนผสมทางเภสัชกรรม เจ้าของ ยูโร-เซลตีเกอ เอส.เอ. / สถานะ ยื่นคำขอให้ตรวจสอบ
  4. หมายเลขคำขอ 0801006631 เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา
  5. หมายเลขคำขอ 0901002471 สารสกัด CBD+THC รักษาเนื้องอกและมะเร็ง เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ยื่นคำขอให้ตรวจสอบ
  6. หมายเลขคำขอ 0901002472 สารสกัด CBD+THC องค์ประกอบเภสัชรักษาโรคมะเร็ง เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา
  7. หมายเลขคำขอ 1101003758 (PCT) สารสกัด CBD+THC โรคลมบ้าหมู อาการชัก เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา
  8. หมายเลขคำขอ 1201004672 (PCT) สารสกัด CBD+THC รักษามะเร็ง เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา
  9. หมายเลขคำขอ 120100511 (PCT) สารสกัด derivation ของ CBD รักษาโรคลมบ้าหมู เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา ยื่นแก้ไขคำขอ
  10. หมายเลขคำขอ 1301003751 สารสกัด CBD+ ยากลุ่ม SAEDs รักษาโรคลมชัก เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา
  11. หมายเลขคำขอ 1401001619 (PCT) สารสกัด CBD+CBDV องค์ประกอบทางเภสัชกรรม เจ้าของ Otsuka Pharmaceutical และ GW Pharma / สถานะ ประกาศโฆษณา

 

CBD: Cannabidiol
THC: Tetrahydrocannabinol
CBDV: Cannabidivarin
PCT: Patent Cooperation Treaty

อาหารเสริมอันตรายในเทศกาลช็อปกระจาย 11.11

จากการเฝ้าระวังการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ในเทศกาล 11.11 นั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พบอาหารเสริมผสมสารอันตรายเพียบ ร้านค้าได้โอกาสเทล้างสต๊อก ขอให้ผู้ซื้อตั้งสติ ฉุกคิด อย่าตกหลุมพรางทางการตลาดบนโลกออนไลน์

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยข้อมูลการเฝ้าระวังการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในห้างออนไลน์สามราย คือ Lazada Shopee และ JD Central พบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นทางกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจพบสารยา ไซบูทรามีน (sibutramine) ซิลเดนาฟิล (sildenafil) และ ไบซาโคดิล (bisacodyl) ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยออกประกาศเตือนภัยผู้บริโภคแล้ว แต่ผู้ประกอบการห้างออนไลน์ยังคงเพิกเฉย ไม่มีการตรวจสอบสินค้าผิดกฎหมาย ปล่อยให้มีการขายสินค้าอันตรายต่อชีวิตผู้บริโภค

นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลุมพรางการตลาดบนโลกออนไลน์ในเทศกาลต่างๆ ล้วนแต่เป็นกลยุทธ์การฉวยโอกาสเพิ่มยอดขายให้สินค้า โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ห้างออนไลน์ที่มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ซื้อ ทางห้างฯ จะมากล่าวอ้างไม่ได้ว่า ห้างฯ เป็นเพียงพื้นที่ส่วนกลางที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ขายมาขายเท่านั้น

นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อันตรายในประเภทที่ 1 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 ความว่า

“ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท – 2 ล้านบาท ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท – 2 ล้านบาท และผู้ครอบครอง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท – 1 00,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ส่วนเรื่องโฆษณานั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดบทลงโทษไว้ว่า ผู้ใดโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และถ้าการกระทำนั้นๆ เป็นการกระทำของเจ้าของสื่อโฆษณาหรือผู้ประกอบกิจการโฆษณาต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้โฆษณา

“เราขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้กฎหมายโดยทันที โดยใช้บทลงโทษขั้นสูงสุดเพื่อแสดงความจริงใจในการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ดีที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ประกอบการจะต้องมีระบบตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกเพิกถอนเลขอนุญาต ดังนั้นจะมากล่าวอ้างไม่ได้ว่า ไม่ทราบข้อมูล”

 

ประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ และพิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ

ประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เรื่อง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ: ทิศทาง บทบาท และการสนับสนุน

และพิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ

วันที่ 29-30 ตุลาคม 2561 ณ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น


สืบเนื่องจาก ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้รับมอบภารกิจจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรององค์กรคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558  โดยในปี 2561 มีองค์กรผู้บริโภคที่สมัครลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมในกระบวนการรับรองคุณภาพ และ คคส.ดำเนินการประเมินตามหลักเกณฑ์ ซึ่งผลการดำเนินการรับรององค์กรคุณภาพ มีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการประเมินเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูงจำนวน  19 องค์กร[i] และมีองค์กรผู้บริโภคผ่านการประเมินเป็นองค์กรผู้บริโภคขั้นพื้นฐานจำนวน 222 องค์กร[ii]  ส่วนองค์กรผู้บริโภคที่ยังไม่ผ่านการรับรองคณะผู้ประเมินได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อไป

นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส. และวิทยากร

แผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช)  ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทขององค์กรผู้บริโภคต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย และมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือในการพัฒนาระบบการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ จึงจัดประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เรื่อง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ: ทิศทาง บทบาท และการสนับสนุน และพิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2561  ณ ห้องเมจิก 2โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์กรและเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง และองค์กรผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน ผู้เข้าสัมมนาวิชาการ ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคขั้นพื้นฐานและขั้นสูง กรรมการจัดงานและเจ้าหน้าที่ผู้จัดประชุม รวม ผู้เข้าสัมมนาทั้งสิ้น 240 คน  และได้รับเกียรติจาก นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม

 

♦ ความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ….

จากนั้นเป็นเวทีเสวนาความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ….  วิทยากรประกอบด้วย นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน, นางสาวทรงศิริ จุมพล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์  สำนักงานปฏิรูปกฎหมาย, นางสาวริยา เด็ดขาด  คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และ นายไพศาล  ลิ้มสถิตย์   ศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

และในช่วงบ่ายเป็นการประชุมวิชาการโดยมี 4 ห้องคือ 1) การพัฒนาโครงการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัยโดยองค์กรผู้บริโภคและการสนับสนุน โดย คคส. 2) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาภาคประชาชน โดย กพย. 3) การขับเคลื่อนกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ โดย มพบ. และ 4) การพัฒนาศักยภาพการประเมินและติดตามภายในของกลไกภาค

การพัฒนาโครงการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัยโดยองค์กรผู้บริโภค
การพัฒนาโครงการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัยโดยองค์กรผู้บริโภค
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาภาคประชาชน
การขับเคลื่อนกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ

 

♦ บทเรียนการพัฒนาองค์กรคุณภาพในภาคส่วนต่างๆ

ในวันที่ 30 ตุลาคม 2561  ช่วงเช้าเป็นเวทีเสวนา เรื่อง บทเรียนการพัฒนาองค์กรคุณภาพในภาคส่วนต่างๆ วิทยากรประกอบด้วย ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ, นางวรรณา ธรรมร่มดี บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด, นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากุล มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา และ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ดำเนินรายการและวิทยากรโดย รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ที่ปรึกษาแผนงาน คคส. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาองค์กรคุณภาพในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้าน โครงสร้าง กระบวนการ ผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นในมิติผลงาน มิติการจัดการ มิติบุคลากร และ มิติธรรมาภิบาล

 

♦ ความคาดหวัง ความร่วมมือ และการสนับสนุน ต่อองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ

จากนั้นเป็นเวทีเสวนาเรื่อง ความคาดหวัง ความร่วมมือ และการสนับสนุน ต่อองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ วิทยากรประกอบด้วย ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ทพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ดร.ชุติเดช บุญโกสุมภ์ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. และ นางสาวเบญญาภา เมธาวราพร นักวิชการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินรายการ ผศ.ดร.ยุพดี สิริสินสุข รองผู้จัดการแผนงาน กพย. เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นความคาดหวัง ความร่วมมือ และการสนับสนุน ต่อองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ของแต่ละหน่วยงาน

 

♦ ทิศทางและบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

นพ.มงคล ณ สงขลา

ในช่วงบ่าย นพ.มงคล ณ สงขลา กรรมการประสานยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบยา สสส. และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางและบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

นพ.มงคล กล่าวว่า การมอบใบประกาศรับรองให้กับองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในวันนี้  ทุกองค์กรได้ผ่านเกณฑ์ประเมินที่ร่วมออกแบบโดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และตัวแทนองค์กรผู้บริโภค  โดยมีเกณฑ์ทั้งด้านโครงสร้างองค์กร กระบวนการดำเนินงาน และผลลัพธ์การคุ้มครองผู้บริโภค โดยแบ่งระดับความเข้มแข็งขององค์กรคุณภาพเป็น 3 ระดับ คือ ขั้นพื้นฐาน ขั้นมีสิทธิ์ และขั้นสูง  ซึ่งในวันนี้ มีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพขั้นสูง จำนวน 19 องค์กร ซึ่งจะเป็นตัวอย่างและเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรขั้นพื้นฐานและขั้นมีสิทธิ์ ในการพัฒนาองค์กรของตนเองให้มีระบบบริหารภายในที่เข้มแข็ง ตามหลักการบริหารสมัยใหม่ ควบคู่กับการมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร (Good governance) ทั้งนี้ ในปี 2561 มีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพ 222 องค์กร จากที่สมัครเข้าร่วมการประเมิน 300 กว่าองค์กร นับเป็นการยกระดับความก้าวหน้าของระบบคุ้มครองผู้บริโภคไทยที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง นับแต่เริ่มมี พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคใน ปี 2522 เป็นต้นมา

“องค์กรผู้บริโภคที่มีความเข้มแข็ง ถือเป็นหลักประกันสำคัญของประชาชนในด้านสิทธิผู้บริโภค ซึ่งความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมอบรางวัลในครั้งนี้ แต่กระบวนการประเมินจากหลักฐานผลงานขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีคุณภาพทั้งในระดับพื้นที่และระดับที่สูงกว่า เช่น จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ รวมไปถึงระดับสากล อย่างเช่นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ซึ่งเป็นตัวอย่างองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง ที่มีความร่วมมือกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับความสามารถขององค์กรผู้บริโภคภายในประเทศให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก สะท้อนความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคไทยให้เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างดี” นพ.มงคล กล่าว

♦พิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภค

จากนั้นเป็นพิธีมอบใบประกาศองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน ร่วมด้วย นางรัศมีวิศทเวท รองประธานคณะกรรมการประสานยุทธศาสตร์ฯ นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผศ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ และ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มอบใบประกาศฯ ให้องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ

องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง 19 องค์กร
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ภาคเหนือ
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ภาคใต้
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ภาคตะวันออก และ กลาง
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ภาคตะวันตก
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กรุงเทพมหานคร

© ภาพพิธีมอบใบประกาศรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ 2561

♦ ข่าวที่เกี่ยวข้อง


[i] องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูง 19 องค์กร ได้แก่

  1. สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
  2. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
  3. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จังหวัดลำปาง
  4. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จังหวัดลำพูน
  5. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดหนองบัวลำภู
  6. สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น
  7. สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด
  8. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก
  9. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดอ่างทอง
  10. สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม
  11. สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก
  12. ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค จังหวัดราชบุรี
  13. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  14. สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี
  15. เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่
  16. สมาคมประชาสังคมชุมพร
  17. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
  18. สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี
  19. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล (ปัจจุบัน เปลี่ยนสถานะเป็น “สมาคมผู้บริโภคสตูล”)

[ii] องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นพื้นฐาน 222 องค์กร ได้แก่

  1. เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่
  2. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอปลายพระยา
  3. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภออ่าวลึก
  4. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตคลองสาน
  5. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตจอมทอง
  6. ศูนย์สิทธิผู้บรโภคเขตทุ่งครุ
  7. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตธนบุรี
  8. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางขุนเทียน
  9. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางแค
  10. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตราษฎร์บูรณะ
  11. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตคลองสามวา
  12. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตประเวศ
  13. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตสะพานสูง
  14. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตมีนบุรี
  15. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตดุสิต
  16. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางเขน
  17. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตหลักสี่
  18. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตสายไหม
  19. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตจตุจักร
  20. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตดอนเมือง
  21. ศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางบอน
  22. ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เขตตลิ่งชัน
  23. สมาคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
  24. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคแรงงานนอกระบบภาค กรุงเทพมหานครฯ
  25. ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย
  26. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางซื่อ
  27. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตพญาไท
  28. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตพระนคร
  29. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตหนองแขม
  30. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางกอกน้อย
  31. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตคันนายาว
  32. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตลาดกระบัง
  33. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตหนองจอก
  34. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบึงกุ่ม
  35. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางพลัด
  36. ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางรัก
  37. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี
  38. ชมรม อสม.เทศบาลเมื่องกาญจนบุรี
  39. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี
  40. เครือข่ายพลังสังคมจังหวัดกาญจนบุรี
  41. สมาคมคนพิการอำเภอไทรโยค
  42. สมาคมคนพิการจังหวัดกาญจนบุรี
  43. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดกาญจนบุรี
  44. ศูนย์คุ้มครองสิทธิตำบลปากแพรก
  45. กลุ่มคนรักสุขภาพบ้านเขาใหญ่
  46. ศูนย์ประสานงานสิทธิชุมชน
  47. เครือข่ายประชาชนคุ้มครองสิทธิ์ตำบลท่าเสา
  48. สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น
  49. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น
  50. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น
  51. ชมรมอาสาสมัครเพื่อผู้บริโภคอำเภอชุมแพ
  52. สมาคมคนพิการจันทบูร
  53. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดจันทบุรี
  54. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดจันทบุรี(ประเด็นเกษตร)
  55. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา (ประเด็นเกษตร)
  56. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา
  57. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา(ประเด็นคนพิการ)
  58. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดชลบุรี (ประเด็นเด็กและเยาวชน)
  59. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดชลบุรี
  60. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
  61. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอปะทิว2 จังหวัดชุมพร
  62. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอปะทิว1 จังหวัดชุมพร
  63. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
  64. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอพะโต๊ะ
  65. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอละแม จังหวัดชุมพร
  66. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนอำเภอสวี จังหวัดชุมพร
  67. สมาคมประชาสังคมชุมพร
  68. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบตำบลแม่อ้อ
  69. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดด์จังหวัดเชียงราย
  70. ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย
  71. สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
  72. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ตำบลแม่ไร่
  73. เครือข่ายแรงงานนอกระบบตำบลดอยงาม
  74. ศูนย์ประสานงานบริการชุมชนแม่สรวย
  75. กลุ่มมะขามป้อม อำเภอเวียงชัย
  76. ศูนย์ประสานงานและบริการชุมชน ตำบลสันติสุข
  77. เครือข่ายรักษ์สุขภาพตำบลทรายขาว
  78. เครือข่ายแรงงานนอกระบบตำบลต้า
  79. เครือข่ายแรงงานนอกระบบตำบลสันมะเค็ด
  80. กลุ่มสู่ขวัญดอยหลวง
  81. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อำเภอดอยหล่อ
  82. มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์
  83. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพและศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่
  84. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดเชียงใหม่
  85. ชมรมใจเขาใจเรา
  86. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ จังหวัดเชียงใหม่
  87. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดตราด (ประเด็นผู้ติดเชื้อ HIV)
  88. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดนครปฐม
  89. สถาบันการเงินชุมชนตำบลสวนป่าน
  90. ศูนย์ท่าจีนศึกษา จังหวัดนครปฐม
  91. สหภาคีความร่วมมือภาคประชาชน จังหวัดนครปฐม
  92. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดนนทบุรี
  93. “สมาคมเครือข่ายผู้บริโภคและสร้างเสริมสุขภาวะอำเภอเมืองบุรีรัมย์
  94. เครือข่ายตลาดนัดสีเขียวจังหวัดบุรีรัมย์
  95. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนตำบลโคกสะอาด
  96. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอกุยบุรี
  97. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอทับสะแก
  98. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอบางสะพาน
  99. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอบางสะพานน้อย
  100. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอปราณบุรี
  101. เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  102. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
  103. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  104. หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนลำดับที่ 28 ประจวบคีรีขันธ์
  105. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอสามร้อยยอด
  106. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอหัวหิน
  107. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  108. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอโคกโพธิ์
  109. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอปะนาเระ
  110. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองปัตตานี
  111. สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี
  112. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอยะรัง
  113. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอหนองจิก
  114. กลุ่มสู่ชีวิตใหม่ อ.จุน
  115. มูลนิธิ YMCA จังหวัดพะเยา
  116. กลุ่มสายธารน้ำใจตำบลหนองหล่ม
  117. กลุ่มน้ำกว๊านหลากสี
  118. กลุ่มบานบุรี อำเภอปง
  119. กลุ่มสายธารสู่น้ำใจ อำเภอภูกามยาว
  120. กลุ่มฮักภูซาง
  121. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์จังหวัดพะเยา
  122. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดพะเยา
  123. ศูนย์องค์รวมอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  124. ประชาคมเอดส์ตำบลบ้านต๊ำ
  125. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
  126. กลุ่มเกษตรเพื่อการผลิตตำบลแม่สุก
  127. กลุ่มสร้างสรรค์พลังใจ 42 ตำบลแม่สุก
  128. กลุ่มหมอพื้นบ้านตำบลแม่สุก
  129. คณะกรรมการเอดส์ตำบลแม่สุก
  130. อสม.หมู่ 4 ต.ท่าคอย จังหวัดเพชรบุรี
  131. กลุ่มออมทรัพย์ไร่โคก
  132. ธนาคารขยะ หมู่ 6 บ้านนากระแสน
  133. กลุ่มนันทนาการไรเพนียด
  134. สภาองค์กรชุมชนตำบลไร่ส้ม
  135. กองทุนสวัสดิการตำบลไร่ส้ม
  136. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านไร่กล้วย
  137. ชมรมจิตอาสาสร้างเสริมสุขภาพชุมชนคนบ้านหม้อ
  138. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบุรี
  139. ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคตำบลเทอดไทย อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด
  140. สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด
  141. ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคบ้านขวาว
  142. ศูนย์ประสานงานหลัประกันสุขภาพประชาชนตำบลธงธานี
  143. ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ตำบลเชียงใหม่
  144. สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออก
  145. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดระยอง(ประเด็นผู้สูงอายุ)
  146. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดระยอง
  147. ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี มูลนิธิประชาคมราชบุรี
  148. กองทุนพัฒบทบาทสตรีตำบลบ้านคา
  149. กลุ่มศูนย์เรียนรู้สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นกะเหรี่ยง
  150. ธนาคารขยะรีไซเคิล จังหวัดราชบุรี
  151. กองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัยทุ่งหลวง
  152. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลนาแส่ง
  153. สมาคมเครือข่ายคนรักสิ่งแวดล้อมลำปาง
  154. กลุ่มเขลางค์เพื่อการพัฒนา
  155. กลุ่มลำปางหนา
  156. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ จังหวัดลำปาง
  157. ชมรมเพื่อนแก้ว
  158. กลุ่มชาววัง (วังเหนือ)
  159. กลุ่มรวมน้ำใจ
  160. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลแม่กัวะ
  161. กลุ่มแสงตะวัน
  162. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลหนองหล่ม
  163. ชมรมพลังใหม่2001
  164. ชมรมคนพิการตำบลแม่กวัะ
  165. กลุ่มทานตะวัน
  166. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตำบลเสริมซ้าย
  167. ชมรมใจประสานใจ
  168. ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคตำบลต้นธงชัย
  169. กลุ่มฮ่วมใจ๋หล่ายดอย
  170. ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านตำบลป่าไผ่
  171. สมาคมสวัสดิการเพื่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสอำเภอลี้
  172. กลุ่มเอ็มลี้รักสุขภาพ
  173. กลุ่มพึ่งพาตนเองบ้านแม่ป๊อก
  174. กลุ่มอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาชุมชนและการคุ้มครองสิทธิ (VCAP)
  175. เครือข่ายกะเหรียงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน
  176. กลุ่มช่วยเพื่อนชาวลี้
  177. กลุ่มเยาวชนตำบลทากาศ
  178. กลุ่มฟ้าหลังฝน
  179. กลุ่มทอผ้าบ้านแม่ขนาด
  180. เครื่ข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ลำพูน
  181. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
  182. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอกระแสสินธุ์
  183. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอคลองหอยโข่ง
  184. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอจะนะ
  185. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอนาหม่อม
  186. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสงขลา
  187. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอรัตภูมิ
  188. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอสทิงพระ
  189. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอสะเดา
  190. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอสิงหนคร
  191. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอหาดใหญ่
  192. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอท่าแพ
  193. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอทุ่งหว้า
  194. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอมะนัง
  195. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล (ปัจจุบัน เปลี่ยนสถานะเป็น “สมาคมผู้บริโภคสตูล”)
  196. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอควนกาหลง
  197. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอควนโดน
  198. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอเมืองสตูล
  199. เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอละงู
  200. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรปราการ (ประเด็นเกษตร)
  201. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรปราการ(ประเด็นผู้สูงอายุ)
  202. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอบางคนที
  203. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสมุทรสงคราม
  204. สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม
  205. สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก
  206. เครือข่ายผู้บริโภคอำเภออัมพวา
  207. ชมรมผู้สูงอายุตำบลบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร
  208. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสาคร
  209. สถานีวิทยุชุมชนปฐมสาคร
  210. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระแก้ว
  211. ศูนย์เพื่อผู้บริโภคจังหวัดสุพรรณบุรี
  212. สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี
  213. ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคอำเภอคีรีรัฐนิคม
  214. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอท่าชนะ
  215. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
  216. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอท่าฉาง
  217. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอพุนพิน
  218. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอไชยา
  219. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดหนองบัวลำภู
  220. สมาคมคนพิการจังหวัดหนองบัวลำภู
  221. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดอ่างทอง
  222. เครือข่ายPHAจังหวัดแพร่

แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้

หมอปอดหวั่น 7 ปี ยังแบน “แร่ใยหิน” ไม่สำเร็จ ถามต้องสังเวยอีกกี่ชีวิตแบบญี่ปุ่น ถึงจะแบนสำเร็จ ชี้ 60 กว่าประเทศแบนก่อนไม่รอแล้ว ใช้เวลากว่า 20 ปี อุบัติการณ์ป่วยถึงลด ห่วงไทยวินิจฉัยโรคได้น้อย เหตุรอยโรคคล้ายโรคอื่น ระยะฟักตัวนานมากกว่า 10 ปี พบคนไทยป่วยชัดๆ แล้ว 28 ราย ทั้งมะเร็งเยื่อหุ้มปอด พังผืดในปอด และเยื่อหุ้มปอดหนา 

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต

 

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยาย เรื่อง แร่ใยหิน: ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคต้องรู้ ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยไม่มีแร่ใยหิน จึงต้องนำเข้า ซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้แร่ใยหิน คือ กระเบื้องมุงหลังคา เบรกและคลัตช์รถยนต์ จากข้อมูลระดับโลก พบว่า มีคนประมาณ 125 ล้านคนทั่วโลก สัมผัสแร่ใยหินจากที่ทำงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินราว 1 แสนคนต่อปี โดยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ได้แก่ ภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด เช่น มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื้อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื้อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป เกิดพังผืดในปอดจากแร่ใยหิน รวมไปถึงโรคอันตราย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม (เมโสเธลิโอมา) ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง และมะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ รวมไปถึงมะเร็งกล่องเสีย และมะเร็งรังไข่

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ

ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย

“ขณะนี้กว่า 60 ประเทศทั่วโลกก็แบนแร่ใยหินแล้ว แม้แต่ประเทศส่งออกอย่างแคนาดาและบราซิลก็ประกาศยกเลิก ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนามก็ประกาศจะยกเลิกในปี 2020 และ 2023 ซึ่งเมื่อต่างประเทศมีการแบนแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่ไทยจะไม่แบนแร่ใยหิน อย่ารอให้ต้องเจอปัญหาอย่างประเทศญี่ปุ่นที่พยายามแบนมานาน แต่ไม่สำเร็จ แต่กลับสำเร็จด้วยการที่โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยแร่ฟุ้งกระจายรอบเมืองในปี 2005 จนทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อมถึง 90 ราย และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่คนที่ทำงาน แต่ยังรวมไปถึงคนในครอบครัวคนงาน และคนที่อาศัยใกล้ๆ ด้วย และมาแบนสำเร็จในปี 2006 เราต้องการให้มีคนป่วยตายเช่นนี้ก่อนหรือ” ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าว

เมื่อถามว่าประเทศไทยยังแบนไม่สำเร็จทั้งแร่ใยหินและสารเคมี ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ กล่าวว่า จริงๆ แล้วทั้งแร่ใยหินและสารเคมีมีความน่ากลัวไม่ต่างกัน เพราะทำลายสุขภาพของคนสัมผัส อย่างแร่ใยหินมีมติ ครม.ให้แบนตั้งแต่ปี 2554 แต่จนทุกวันนี้ก็ยังแบนไม่สำเร็จ ถือว่าน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม จุดที่แตกต่างคือ แร่ใยหินมีสารทดแทนแล้ว ซึ่งอดีตอาจบอกว่ามีราคาแพง แต่ทุกวันนี้มีการพัฒนาจนราคาถูกกว่าแร่ใยหินอีก ก็ควรจะมีการแบนได้แล้ว ส่วนสารเคมีอาจยังมีสารทดแทนที่ไม่ดีพอหรือไม่ หรือบางตัวก็ยังไม่มีสารทดแทนหรือไม่ จึงทำให้ยังเป็นปัญหา แต่ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหินหรือสารเคมี เมื่อต่างประเทศมีการแบนแล้ว ประเทศไทยก็ควรแบนเช่นกัน เพราะอย่างแร่ใยหินเมื่อแบนแล้วกว่าโรคจะลดลงก็ใช้เวลา 20-30 ปี เช่น กลุ่มสแกนดิเนเวียแบนตั้งแต่ราวปี 1980 กว่าๆ โรคจากแร่ใยหินเพิ่งจะลดลงเมื่อปี 2010 ส่วนอังกฤษโรคน่าจะลดลงช่วงปี 2020 ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มแบนแร่ใยหินตั้งแต่วันนี้ ก็จะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

ที่มา: 7 ปียังแบน “แร่ใยหิน” ไม่สำเร็จ ต้องสังเวยอีกกี่ชีวิต ชี้ 20 ปีหลังแบน อุบัติการณ์ป่วยถึงลดเผยแพร่: 31 ต.ค. 2561, ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/qol/detail/9610000108678?fbclid=IwAR2UzNK5u0Hlu9z7qWIEbFkqRhKtI4cr5xdR117K3SK1PsvGo5ZHglD2USE

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
1. เอกสารบรรยาย เรื่อง แร่ใยหิน: ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคต้องรู้

2. ถอดบทเรียน: องค์กรปกครองท้องถิ่น ต้นแบบร่วมตระหนักแร่ใยหิน

3.โปสเตอร์ เรื่อง รื้อถอน-ซ่อมอาคาร ระวังมะเร็งจากแร่ใยหิน

4. โปสเตอร์ เรื่อง 9 วิธี หนีภัยมะเร็งจากแร่ใยหิน

5. คู่มือแร่ใยหิน 101 (ฉบับเรียนลัด)

 

คน ปลา ไมโครพลาสติก มหาสมุทร และดวงดาว

สหประชาชาติเคยแถลงอย่างโรแมนติกว่า ‘หากนับเฉพาะขยะจำพวกไมโครพลาสติกในมหาสมุทร ปริมาณของมันมากกว่าจำนวนดวงดาวในกาแล็กซีเสียอีก’

เป็นถ้อยแถลงที่โรแมนติก แต่ก็เป็น ดาร์กโรแมนติก

นี่คือ fun facts เกี่ยวกับความเข้าใจผิดของสัตว์ทะเลที่นึกว่าพลาสติกคืออาหารของมัน

มีพลาสติกมากกว่าเหยื่อที่ผิวน้ำของแพขยะแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) หมายถึงสัตว์แถบนั้นจะมีอาหารที่ปนเปื้อนพลาสติก เช่น เต่าทะเลที่อยู่รอบๆ แพขยะอาจต้องกินอาหารเป็นพลาสติกถึง 74 เปอร์เซ็นต์

ปลาที่เป็นอาหารของมนุษย์เคยกินเม็ดพลาสติกเป็นอาหารอย่างน้อยๆ หนึ่งครั้งในช่วงชีวิตของมัน

ขยะจำพวกไมโครพลาสติกในมหาสมุทรมีปริมาณมากกว่าจำนวนดวงดาวในกาแล็กซี

มนุษย์ – สิ่งมีชีวิตจำนวนเพียงน้อยนิดในกาแล็กซี กลับสร้างผลสะเทือนได้ตั้งแต่ในมหาสมุทรถึงดวงดาว

แต่ในฐานะผู้บริโภค มนุษย์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

การเดินทางของไมโครพลาสติก: จากห้องน้ำสู่มหาสมุทร, จากมหาสมุทรถึงอุจจาระของมนุษย์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) และสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย (Environment Agency Austria) พบไมโครพลาสติก 20 อนุภาค ในอุจจาระทุกๆ 10 กรัมของผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 6 คน

ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้ง 6 ต่างมีไลฟ์สไตล์ข้องแวะกับพลาสติก เช่น บริโภคอาหารที่ห่อด้วยพลาสติก ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก บริโภคปลาทะเล

ไมโครพลาสติกอยู่ใกล้ตัวเราอย่างแนบชิด ‘ไมโครบีดส์’ (Microbeads) หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เม็ดบีดส์’ ที่มักเป็นส่วนผสมสำคัญของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลร่างกายกว่า 10 ประเภท อาทิ ยาสีฟัน ครีม/โฟมล้างหน้า โลชั่น ครีมอาบน้ำ ฯลฯ

ด้วยขนาดที่เล็กเทียบเท่าเม็ดทรายของไมโครบีดส์ ทำให้มันเป็นปัญหา เพราะสามารถเล็ดลอดผ่านตัวกรองทุกชนิดของโรงงานบำบัดน้ำเสีย รวมถึงท่อน้ำทิ้งภายในบ้านเรือนของเราลงสู่แหล่งน้ำได้

ทำให้ทะเลและมหาสมุทรกลายเป็นแหล่งสะสมสารพิษปริมาณมหาศาล เมื่อสัตว์น้ำในทะเล เช่น ปลา หอย และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กินไมโครพลาสติกเข้าไป ก่อนที่จะกินกันเป็นทอดๆ อันตรายของเม็ดไมโครพลาสติกจึงสามารถกระจายตัวไปตามลำดับของห่วงโซ่อาหาร และในที่สุดก็จะย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย

ล่าสุด สภายุโรปมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับร่างกฎหมายห้ามการใช้พลาสติกประเภท ‘ใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ อย่างเช่น หลอด ช้อนส้อมพลาสติก คอตตอนบัต ก้านลูกโป่ง ฯลฯ โดยมีเป้าหมายบังคับใช้ภายในปี 2021

ขณะที่ประเทศแคนาดาประกาศห้ามใช้ไมโครพลาสติกประเภทไมโครบีดส์เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายมาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามใช้ไมโครบีดส์แล้ว

ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมเม็ดพลาสติกจิ๋วจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ในวันที่พวกมันกำลังเดินทางออกจากท่อน้ำทิ้งในบ้านของเราลงสู่มหาสมุทร ก่อนที่จะย้อนกลับมาหาเราอีกครั้ง

และนักวิจัยพบพวกมันในอุจจาระของมนุษย์