สารปนเปื้อนในสาหร่ายทะเลอบกรอบ

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจสารปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบจำนวน 13 ตัวอย่าง (12 ยี่ห้อ) ตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

ผลปรากฏว่า มีการปนเปื้อนตะกั่ว 11 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

ขณะเดียวกัน พบว่าปนเปื้อนแคดเมียมทั้งหมด โดยมี 1 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์

อยู่อย่างไรให้รอดจาก PM 2.5 เมื่อการพัฒนาสวนทางกับความยั่งยืน

ความจริงที่ว่า เราใช้เวลานานมากกว่าเราจะยอมรับและเรียกปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า ‘มลพิษทางอากาศ’ และกว่าที่เราจะยอมรับถึงสภาพปัญหาที่หลายคนเคยเรียกว่า หมอกจางๆ หรือควัน เจ้าฝุ่นจิ๋ว และอีกหลายชื่อเรียกน่ารักๆ มากมาย ปัญหานี้ก็ได้คืบคลานมาใกล้ตัวจนเราต้องหาซื้อหน้ากากกันฝุ่นกันจ้าละหวั่น

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของคนกรุงเทพฯ วันนี้ เรากำลังเผชิญกับมลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน และการเดินทางเข้าออกรอบปริมณฑลไปมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน จึงเกิดความแออัดของผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแหล่งมลพิษมากมาย ปัญหากรุงเทพฯ ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยเฉพาะช่องว่างทางนโยบายที่ต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

หรือก็คือ เราจะอยู่อย่างไรให้รอดในวันนี้ โดยไม่ทำให้ให้เกิดผลกระทบไปสู่คนรุ่นต่อไป

pm 2.5
รศ.จำนง สรพิพัฒน์

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน

ในงานเสวนาเรื่อง ‘PM 2.5 ผลร้ายการพัฒนา สวนทางความยั่งยืน’ ที่จัดขึ้นที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) รศ.จำนง สรพิพัฒน์ กรรมการบริหารสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย กล่าวที่มาที่ไปของฝุ่น PM 2.5 ว่าเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ พูดง่ายๆ ก็คือ เขม่า ซึ่งหลักๆ เกิดจากไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล สองคือ เกิดจากการเผาในที่โล่งเเจ้ง การเผาเศษวัชพืช ขยะเปิด แต่ในความเป็นจริง กรณีการเผาขยะจะก่อมลพิษเพียงขนาด PM 10 ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่ามาก

ส่วนที่สามก็คือ เกิดจากอุตสาหกรรม ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษคือ 60 เปอร์เซ็นต์ของ PM 2.5 เกิดจากการสันดาบที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล อีกประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผาวัสดุชีวมวล ซึ่งเป็นขยะหรือไร่ก็ได้ อีกส่วนคือจากโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

“นับเฉพาะกรุงเทพฯ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลตัวเลขจะสูงกว่านี้ สอดคล้องกับข้อมูลทั่วโลกที่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ไม่ได้เกิดจากการจุดธูปไหว้เจ้าอยางที่ใครว่านะครับ เมื่อต้นตอของปัญหามาจากจุดนี้ก็ต้องเน้นประเด็นไปที่จุดนี้”

เราจะอยู่อย่างไรให้รอดกับปัญหาในวันนี้

โดยหลักการพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ การจัดการมลพิษในเขตเมืองหลักๆ มีอยู่สามวิธีการ คือ

  1. ลดความเข้มข้นของมลพิษจากไอเสียรถยนต์ที่ออกมาจากท่อไอเสียให้ต่ำลง
  2. ลดสภาพการจราจรติดขัดในเมืองให้เหลือน้อยที่สุด

“ทำไมข้อสองถึงต้องทำ ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เรามักมองข้ามไป เพราะว่าโดยปกติ การสันดาปของเครื่องยนต์เขาจะออกแบบให้มีจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่ค่าเดียว เวลารถที่วิ่งช้ามาก โดยเฉพาะจังหวะที่เข้าเกียร์ว่าง ซึ่งเป็นช่วงที่ความเร็วรอบต่ำมาก ช่วงนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพการเผาไหม้แย่ที่สุด ดังนั้นพลังงานจึงถูกเปลี่ยนเป็นความร้อนแล้วก็ถูกปลดปล่อยเป็นควันพิษ ยิ่งรถติดนานเท่าไร ความเข้มข้นของไอเสียที่เป็นสารมลพิษจะยิ่งเยอะเท่านั้น

“เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาการติดขัดของการจราจรถือเป็นกลไกที่สำคัญอันหนึ่ง และภาครัฐยังไม่ได้เชื่อมโยงปัญหา PM 2.5 กับปัญหารถติด ซึ่งจริงๆ มันเชื่อมโยงกันโดยตรง”

  1. ลดปริมาณรถบนท้องถนน

“ผมว่าภาครัฐมาถูกทางแล้ว แต่สามารถทำให้ดีกว่านั้นได้อีก ซึ่งมาตรการระยะสั้นอันดับแรกคือการตรวจและปรับสภาพรถให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และต้องทำงานแบบเชิงรุกมุ่งไปที่ต้นตอของปัญหาโดยตรง อย่างที่มุ่งไปที่รถเมล์ ขสมก. ซึ่งสามารถแก้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ใน กทม. ประมาณ 2.5 ล้านคันต่อวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องไปทำงานเชิงรุกโดยการตรวจสภาพรถต่างๆ ในจุดที่เป็นสถานที่ประกอบการหรือจุดที่มีการรวมรถเยอะๆ เช่น ท่าเรือ โดยเฉพาะท่าเรือกรุงเทพฯ ที่ในหนึ่งปี มีรถเข้าออกกว่า 1.8 ล้านเที่ยวต่อปี

“บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่จะมีระบบรถขนส่งเยอะแยะไปหมด บริษัทเหล่านี้หัวใจของเขาคือระบบโลจิสติกส์และยังมีจุดจอดรับถ่ายสินค้าจากชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ เราจึงควรมุ่งเป้าส่งหน่วยเข้าไปตรวจสอบสภาพและขอความร่วมมือไม่ใช่แค่ที่ ขสมก. เรายังสามารถดำเนินงานในเชิงบวก อย่างเช่นจัดหน่วยอาสาสมัครเครื่องยนต์ อาศัยโรงเรียนอาชีวศึกษา ศูนย์รถยนต์ต่างๆ ไปตรวจสอบและปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ได้มาตรฐาน”

นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญหนึ่งเกิดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ฝุ่นจากการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นเพียง PM 10 ซึ่งขนาดจะใหญ่กว่า PM 2.5 การที่รัฐบาลฉีดน้ำตามจุดต่างๆ หรือล้างถนน จะช่วยดัก PM 10 เท่านั้น แต่ปัญหาที่พ่วงตามกันมาคือ การก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินส่งผลให้การจราจรติดขัดมากกว่าเดิมหลายเท่า

“สมัยก่อนที่เราสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก เราทำเหมือนกับที่มาตรฐานทั่วโลกเขาทำ นั่นคือสร้างกลางคืน แต่กลางวันปิด เพื่อให้พื้นที่กับการจราจร แต่ในปัจจุบันขณะนี้ผมแปลกใจมากว่า วิธีการเหล่านั้นไม่มี หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยในชั่วโมงเร่งด่วน ก็ควรคืนพื้นที่การจราจรกลับไปให้รถยนต์ ให้วิกฤตินี้ผ่านช่วงสองเดือนนี้ไปให้ได้ ก็จะช่วยได้มาก”

รศ.จำนงยังกล่าวต่อว่า มาตรการระยะยาว ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นที่ยอมรับและใช้ต้นทุนถูกที่สุด คือการใช้นโยบายจราจรและผังเมือง สร้างเมืองที่ยั่งยืน

“แนวคิดของการจราจรและเมืองที่ยั่งยืนคือการให้ความสำคัญของขนส่งสาธารณะ สิทธิของคนต้องอยู่เหนือสิทธิของรถยนต์ นั่นหมายความว่า รถเมล์ต้องมีสิทธิก่อนรถเก๋ง แต่ทุกวันนี้เราให้สิทธิของรถยนต์อยู่เหนือสิทธิของคน และควรทำร่วมกับการเดินทางโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ การขี่จักรยาน การเดิน การใช้รถไฟฟ้า”

pm 2.5
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อยู่อย่างไรในวันนี้ ไม่ให้ปัญหาตกทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืนว่า

“มันไม่ได้หมายความว่า เฉพาะช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสามปีแล้วปัญหามลพิษจะจบ ต่อให้สร้างรถไฟฟ้าเสร็จรถก็ยังวิ่ง ยังติดเหมือนเดิม สุขุมวิทไม่ได้มีรถหนาแน่นน้อยลง ในตอนนี้ทุกคนพยายามคนละนิดคนละหน่อย แจกหน้ากาก ยิงน้ำขึ้นฟ้า ฉีดน้ำแก้ฝุ่นพิษใกล้เครื่องวัด ซึ่งปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้เลย

“เราใช้เวลานานมากนะในช่วง 1-2 ปีกว่าเราจะยอมรับและเรียกมันว่ามลพิษทางอากาศ ตอนแรกเราเรียกมันน่ารักๆ หมอกจางๆ หรือควัน ฝุ่นจิ๋ว ยังไม่ยอมรับสักทีว่ามันเป็นมลพิษ”

ปัญหามลพิษทางอากาศมีความไม่เท่าเทียมกัน คนยากคนจนในเมือง คนขายของริมถนน คนนั่งสองแถว คนเดินถนน จะได้รับฝุ่นควันมากกว่า

“มอเตอร์ไซค์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง มอเตอร์ไซค์ 3.5 ล้านคันในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง ใช่ครับ ปล่อยมลพิษ และอีกส่วนหนึ่งเขาปะทะกับมลพิษโดยตรงด้วย เวลาเราบอกจะพิทักษ์เมือง เราต้องดูว่าเมืองของใครด้วย คนจนจำนวนมากที่อยู่ในเมือง คนซึ่งต้องเดินทางเข้ามาหากินในเมือง เขาประสบปัญหาเหล่านี้มากกว่าบางคนซึ่งอยู่ในห้องแอร์แล้วแชร์ข่าวตลอดเวลา เราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้”

ในหลายประเทศ ข้อคำนึงในการก่อสร้างอาคารคือ ส่งผลกระทบชุมชนอย่างไร หากกระทบเรื่องควัน กระทบเรื่องฝุ่น ต้องดูสภาพของผู้คนบริเวณนั้น บางส่วนไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ยังเป็นบ้านเปิด ดูว่าคนเหล่านี้เผชิญสภาพปัญหาอย่างไร

“ทุกข์อันนี้ถ้ามันเป็นทุกข์ของทุกคนในเมือง เราจะมีกลไกอะไรช่วยปกป้องพวกเรา เราจะร่วมมือกันอย่างไรในชุมชนแต่ละชุมชนเมื่อมีการก่อสร้างใหญ่ เราได้มีส่วนเห็นแผนในการป้องกันฝุ่นมากน้อยแค่ไหน เราได้เห็นการคำนวณเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ความยั่งยืนที่ว่าคือ เราจะอยู่อย่างไรในวันนี้ โดยไม่ทำให้ให้เกิดผลกระทบสู่คนรุ่นต่อไป”

สาหร่ายกรุบกรอบ ความอร่อยพ่วงตะกั่ว-แคดเมียม

จากกลุ่มพืชชั้นต่ำในทะเลสู่ ‘สาหร่ายทะเลทอดกรอบ’ อาหารว่างยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ทั้งแบบทอดกรอบ อบกรอบ หลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อเลือกรับประทาน แต่ผู้บริโภคคงไม่อาจตามใจปากได้อีกต่อไป เพราะในความอร่อยและคุณประโยชน์สารพัดของสาหร่าย ยังมีโซเดียมและโลหะหนักแฝงอยู่ในนั้น

ผลตรวจโลหะหนักในสาหร่าย 12 ยี่ห้อดัง

เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อ ภายใต้การทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการทดสอบสารปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบจำนวน 13 ตัวอย่าง (12 ยี่ห้อ) โดยนำมาเทียบวัดกับค่ามาตรฐานของประเทศ จำนวน 2 มาตรฐานคือ มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กำหนดให้ตรวจพบการปนเปื้อนของตะกั่วได้สูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนข้อกำหนดปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียมตามประกาศของ อย. กำหนดให้ได้สูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ประกาศวันที่ 1 สิงหาคม 2561) ขณะที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำหนดค่าปริมาณการปนเปื้อนแคดเมียม ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม

ผลการทดสอบสารปนเปื้อนโลหะหนักในสาหร่ายทะเลทอดกรอบ พบว่า มีการปนเปื้อนของตะกั่วในผลิตภัณฑ์ 11 ตัวอย่าง และอีก 2 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของตะกั่ว แต่ทั้ง 13 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ ถือว่าผ่านมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

สำหรับผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม พบว่ามีการปนเปื้อนทั้งหมด 13 ตัวอย่าง โดยมี 1 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านทั้งเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ ผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลปรุงรส อากิโนริ ชนิดแผ่น ตรากินจัง ซึ่งปริมาณแคดเมียมที่พบคือ 2.34 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า หลังตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีแคดเมียมสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทางคณะทำงานจึงได้ทำจดหมายแจ้งไปยัง อย. เพื่อให้ดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อไป

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ทำการทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยพบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว แคดเมียม และอะฟลาท็อกซิน ในผลิตภัณฑ์สาหร่ายจำนวน 21 ตัวอย่าง จาก 18 ยี่ห้อ และในครั้งนี้ที่ได้ทำการทดสอบอีกครั้งหลังจากผ่านมา 9 ปี เพื่อกลับไปทบทวนและเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงทำให้เกิดการยกระดับสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

อร่อยเพราะโซเดียมสูง

ในสาหร่ายทะเลทอดกรอบนอกจะมีตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนแล้ว ยังพบว่ามีโซเดียมในปริมาณมาก ซึ่งในผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่นำมาทดสอบพบว่า ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ สาหร่ายทะเลปรุงรสเผ็ด ตราหมีแพนด้า ที่มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 9,230 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำปริมาณการบริโภคโซเดียมสูงสุดต่อ 1 วัน ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา ขณะที่ข้อมูลบนฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์สาหร่าย ส่วนใหญ่ระบุข้อมูลปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ 2,400 มิลลิกรัม หากรับประทานในปริมาณที่มากโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากโซเดียมก็มีมากเช่นกัน

ต้องเข้าใจด้วยว่า โซเดียมมิได้มีแค่ความเค็มเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ในรูปของผงปรุงรส ทำให้รสชาติของอาหารหรือขนมชนิดนั้นมีความอร่อยยิ่งขึ้น กลมกล่อมยิ่งขึ้น

การบริโภคสาหร่ายทะเลทอดกรอบจึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะพอควร เพื่อควบคุมไม่ให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมต่อวันมากเกินไป อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของโลหะหนัก ซึ่งสามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เด็กๆ ต้องระวัง

ร่างกายของเราสามารถรับเอาโลหะหนักเข้าร่างกายได้ทุกขณะ ผ่านอาหาร น้ำ หรือแม้แต่สารเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆ หากสะสมในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘ภาวะพิษจากโลหะหนัก’ (Heavy Metal Poisoning) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก

หากได้รับโลหะหนักในปริมาณที่มากในครั้งเดียว จะก่อให้เกิดอาการมึนงง ตัวชา อาเจียน หมดสติถึงขั้นโคม่า ส่วนกรณีที่ได้รับโลหะหนักในปริมาณน้อย แต่สะสมเป็นระยะเวลานาน จะค่อยๆ เกิดอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และท้องผูก

มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำว่า หากบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียมและตะกั่วเข้าไป จะทำให้มีอาการปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน ซึม ไม่รู้สึกตัว ชัก มือและเท้าเป็นอัมพาต ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้

“สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดก็คือ การบริโภคของเด็ก เนื่องจากลำไส้ของเด็กจะสามารถดูดซึมตะกั่วได้มากกว่า และสิ่งที่จะแนะนำในการบริโภคคือ ให้บริโภคแต่น้อย ไม่ควรบริโภคทุกวัน ควรหันไปบริโภคพวกผักและผลไม้จะดีกว่า”

หนึ่งประเทศ หลายมาตรฐาน

ภายหลังการทดสอบสาหร่ายทะเลทอดกรอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่ง คือการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนที่มีความแตกต่างลักลั่นกัน ระหว่างมาตรฐาน อย. กับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

“เราอยากเห็น อย. เป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงมาตรฐานภายในประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่เดิมเราคิดว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจะย่อหย่อนกว่า กลายเป็นว่ามาตรฐานชุมชนสูงกว่ามาตรฐาน อย. ฉะนั้น เราอยากให้มีการปรับปรุงตรงจุดนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค” สารีกล่าว

อย. แจงสาหร่ายปนเปื้อนตามธรรมชาติ

ทางด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. ชี้แจงถึงผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่มีการปนเปื้อนแคดเมียมเกินมาตรฐาน 1 ยี่ห้อ ว่า สาหร่ายถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ จึงมีโอกาสพบการปนเปื้อนของโลหะหนักจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจและหลีกเลี่ยงได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ อย. จึงออกประกาศกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียมในผลิตภัณฑ์สาหร่ายพร้อมบริโภคได้สูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม จากเดิมให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลขององค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (codex) และหากตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีโลหะหนักเกินมาตรฐาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากตรวจพบในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องฉลากโภชนาการ โดยปรับลดปริมาณโซเดียมจากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นต้นไป

ประโยชน์มากมาย สารพิษมากมี

‘สาหร่ายทะเล’ เป็นพืชทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มพืชชั้นต่ำ ไม่มีท่อลำเลียงอาหาร ใช้วิธีการดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์ต่างๆ โดยตรง ในประเทศไทยมีสาหร่ายทะเลอยู่ประมาณ 350 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 100 ชนิด สาหร่ายสีแดง 180 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 70 ชนิด ซึ่งผลิตภัณฑ์สาหร่ายทะเลทอดกรอบในปัจจุบันมีทั้งที่ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

ในสาหร่ายทะเลอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมายต่อร่างกาย เช่น ไอโอดีน มีส่วนช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคคอหอยพอก ป้องกันท้องผูก และมีแมกนีเซียมที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมที่ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์และความสมดุลของน้ำในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ไม่เสมอไปที่สาหร่ายจะมีแต่คุณประโยชน์มากมายสารพัด ผู้บริโภคต้องตระหนักและพึงระวังสารปนเปื้อนในสาหร่าย เนื่องจากเป็นพืชที่มาจากทะเล หากน้ำทะเลบริเวณนั้นไม่สะอาด เช่น อาจอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม ก็มีโอกาสที่สาหร่ายทะเลนั้นจะปนเปื้อนโลหะหนัก อย่างแคดเมียมหรือตะกั่ว ท้ายที่สุดสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากบริโภคในปริมาณที่เกินพอดี

ข้อมูลอ้างอิง:
honestdocs.co
kjcinterfood.co.th

 

ภัยสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5

ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปกคลุมทั่วฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 และกลับมาฟุ้งกระจายอย่างหนักอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 โดยตรวจพบว่าหลายพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองหนาแน่นเกินมาตรฐาน

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนโดยถ้วนหน้า จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมกันบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์

ความจริงที่ปิดไม่มิด

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และมีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ถือเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562  พบว่า ภาพรวมของคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางจนถึงระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่นละลองขนาด PM 2.5 อยู่ที่ 44-80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) อยู่ที่ 61-123 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานได้พยายามออกมาชี้แจงว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก แต่เมื่อปัญหาฝุ่นละอองเริ่มส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง หน่วยงานภาครัฐจึงเริ่มออกมาตรการบรรเทาและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการฉีดพ่นละอองน้ำ ล้างถนน การตรวจสอบรถยนต์ควันดำ แจกหน้ากากอนามัย ไปจนถึงปฏิบัติการฝนหลวง

รายจ่ายด้านสุขภาพ 3,000 ล้าน

ข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดการณ์ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากคิดเฉพาะค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ ทั้งการรักษาและการป้องกัน ในเบื้องต้นคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 1,600-3,100 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดจากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่กระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ

แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น

การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้ถือเป็นการประมาณการในเบื้องต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ขนาดของผลกระทบทั้งหมดที่แท้จริงจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้านระยะเวลาและความรุนแรงของปัญหา รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้วย

ฝุ่น PM 2.5 กับผลต่อสุขภาพ

ในฐานะบุคลากรสาธารณสุขผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ อาจารย์พิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความวิชาการเรื่อง ‘บทบาทของเภสัชกรชุมชนต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5’ เผยแพร่ในวารสารสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ปีที่ 18 ฉบับที่ 102 เดือนมกราคม 2562 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 และให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

เนื้อหาถัดจากนี้เรียบเรียงขึ้นจากบางส่วนของบทความดังกล่าว…

PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร สามารถตกค้างในปอดและถุงลมผ่านการหายใจ รวมถึงผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดโรคและความผิดปกติของร่างกายได้หลายระบบ

เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดอนุภาคเล็ก จึงฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ล่องลอยอยู่ในอากาศได้นาน สามารถก่อโรคได้หลากหลายกว่ามลพิษชนิดอื่น แต่มักไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรวดเร็วหรือมีกลิ่นชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นมลพิษที่ได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

องค์ประกอบของฝุ่น PM 2.5 มีความซับซ้อน โดยมีสัดส่วนพื้นที่ผิวต่อมวลสูง จึงมีโอกาสอย่างมากที่จะพบสารพิษหรือละอองลอยต่างๆ จับอยู่บนผิวนอกของฝุ่น PM 2.5 เช่น โลหะหมู่ทรานซิชัน (transition metals) เหล็ก ทองแดง วาเนเดียม แคลเซียม อะลูมิเนียม สังกะสี พลวง แมงกานีส แอมโมเนียมซัลเฟต ไนเตรตคลอไรด์ และ polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

นอกจาก PM 2.5 จะเข้าสู่เนื้อเยื่อถุงลมปอดแล้ว ยังสามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตและแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เมื่อ PM 2.5 เข้าสู่เซลล์เป้าหมายแล้วจะมีการปลดปล่อยสารพิษ โลหะทรานซิชัน หรือ PAHs ที่จับอยู่บนผิวนอกของฝุ่น ดังนั้น PM 2.5 จึงเปรียบเสมือนระบบนำส่งสารพิษไปยังอวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ ไม่จำกัดเฉพาะระบบหายใจเพียงเท่านั้น

ผลต่อทารกและเด็ก

บทความของ ภก.กิติยศ เผยอีกว่า การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ในครรภ์มารดามีความสัมพันธ์กับผลไม่พึงประสงค์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำกว่าปกติ และการเสียชีวิตของทารกแรกคลอด ซึ่งกลไกที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับภาวะเหล่านี้ ได้แก่ การเพิ่ม oxidative stress ในร่างกายของทารก การอักเสบในเนื้อเยื่อต่างๆ ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดและการทำงานของระบบเยื่อบุหลอดเลือดในร่างกายทารก และความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายมารดาที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์

การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 นอกจากจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์แล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องจนทารกเติบโตเป็นเด็กและวัยรุ่น โดยพบว่าเด็กและวัยรุ่นที่มารดามีประวัติสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในระดับสูงขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ต่างๆ เช่น โรคหืด โรคผิวหนังภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และมีความไว (susceptibility) ต่อการติดเชื้อในระบบหายใจมากขึ้น

บทบาทเภสัชกรชุมชน

ในแง่การทำงานของเภสัชกรชุมชน ในฐานะบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน ภก.กิติยศ เสนอว่า เภสัชกรชุมชนควรมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ และให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของผู้สัมผัสทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต โรคระบบทางเดินหายใจ และสตรีมีครรภ์

2. ให้คำปรึกษาเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถดำเนินการได้หลายประการ เช่น จำกัดหรือลดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น พื้นที่ใกล้กับสถานที่ประกอบอาหาร และพื้นที่ใกล้อุตสาหกรรมต่างๆ ในกรณีที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน ปิดประตู หน้าต่าง และช่องลมต่างๆ ให้สนิทอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร หรือเปิดประตู หน้าต่าง เฉพาะเมื่อจำเป็นต้องใช้งาน สำหรับการใช้เครื่องปรับอากาศ ควรหมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดส่วนกรองอย่างสม่ำเสมอ

3. คัดกรองอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ถึงอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 นอกจากการให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เภสัชกรชุมชนยังมีบทบาทในการคัดกรองอาการผิดปกติที่อาจแสดงถึงอันตรายจาก PM 2.5 ในผู้ป่วยและประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างทันท่วงที

ตัวอย่างอาการผิดปกติที่เภสัชกรชุมชนควรประเมินผู้ป่วยที่มารับบริการในร้านยา ได้แก่ อาการเฉพาะที่ ระคายเคืองเยื่อบุจมูกและตา แสบตา ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ น้ำตาไหล คันจมูก จาม และแสบจมูก น้ำมูกไหล อาการภูมิแพ้กำเริบ ไอ หายใจลำบาก เสมหะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยโรคหืด หอบเหนื่อย หายใจเร็ว

4. ให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความร่วมมือในการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ยา ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มของการรักษา

ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสาธารณสุขที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน และกำลังขยายขนาดของปัญหาเป็นวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะในเมืองใหญ่เพียงเท่านั้น การลดความเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5 จึงต้องการหลายมาตรการร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน

สคบ. สสส. มวคบ. และเภสัชฯ จุฬาฯ ร่วมหนุน “เสริมองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ”

การรับรอง “องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ” นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการยกระดับระบบและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศที่จะนำไปสู่การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง. รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ภาพจาก สคบ.)

สานพลังฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณพิฆเนศ  ต๊ะปวง. รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถึงความสำคัญของการรับรององค์กรผู้บริโภค ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) และ สคบ. ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์กระบวนการต่างๆ ในการรับรองคุณภาพสำหรับองค์กรผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 2558  และเพิ่งร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาระบบรับรององค์กรผู้บริโภคและการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค” กันไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2561

แนวทางการดำเนินงานและความคาดหวังต่อองค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามได้นับจากนี้

◊ เหตุใด สคบ.จึงให้ความสำคัญกับการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ?

 สคบ.ได้ประโยชน์อย่างมากในการร่วมลงนามในครั้งนี้ เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นภารกิจโดยตรงของ สคบ. แต่ด้วยข้อจำกัดของภาครัฐ ทั้งในแง่ของบุคลากรที่มีเพียง 200 กว่าคน กับการดูแลคุ้มครองปกป้องผู้บริโภคกว่า 65 ล้านคนนั้น ไม่ง่าย โดยเฉพาะหลังจากที่เปิด AEC ทำให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น ปัญหาก็เพิ่มขึ้น

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เราจึงเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดคือการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถปกป้องตัวเองได้ นั่นคือ เราเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ปกป้อง” เป็น “ผู้หนุนเสริม” หรือสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภคแทน ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ภาครัฐสามารถสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาดูแลผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ดังนั้นเราจึงให้ความสนใจวิธีการที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ จนกระทั่ง สสส.พัฒนาหลักเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้นมา

◊ สคบ.มีแนวทางหนุนเสริมเรื่องนี้อย่างไร?

เมื่อเป็นองค์กรที่ผ่านการประเมิน ซึ่งจะแบ่งเป็น ขั้นพื้นฐาน ขั้นมีสิทธิ และขั้นสูง ในส่วนของขั้นพื้นฐาน เราจะให้การรับรองว่าเป็นเครือข่ายของ สคบ. และช่วยเรื่องการถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เราผลิต รวมถึงเมื่อ สคบ.มีการเปิดหลักสูตรการอบรม เราจะเชิญองค์กรที่ได้รับการรับรองนี้เข้ามาเป็นแกนนำหรือเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรที่เรารับรองด้วย

นอกจากนี้ เมื่อคนก็เข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาก็เท่ากับช่วยแบ่งเบาภาระงานให้ สคบ.ได้ สอดรับกับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ของ สคบ. ซึ่งมีคำสั่งตั้งแต่ปี 2553 ตามแผนการกระจายอำนาจ ฉบับที่ 2 ดังนั้น ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในพื้นที่เข้าไปอยู่ในคณะอนุกรรมการ สคบ.จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นซึ่งสอดรับกับนโยบายประชารัฐด้วย

◊ กำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

ใน 5 ปีจากนี้ เราอยากเห็นคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำท้องถิ่น ประจำเทศบาล ประจำตำบล เป็นฟันเฟืองที่จะช่วยกันทำงานในพื้นที่ ขณะที่ส่วนภูมิภาคมีอนุคณะกรรมการระดับจังหวัด ถ้าระดับท้องถิ่นแก้ปัญหาไม่จบ จะส่งเรื่องมาที่อนุกรรมการระดับจังหวัด ช่วยกลั่นกรอง ถ้าไม่เป็นผล จึงจะส่งเรื่องมาที่ส่วนกลางคือสคบ. แต่ใจผมอยากให้เรื่องจบได้ในระดับจังหวัด กรณีมีข้อพิพาทให้ฟ้องศาลจังหวัดคดีผู้บริโภค

ท้ายที่สุดองค์กรเหล่านี้จะสอดรับกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 46 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้สิทธิประชาชนในการรวมตัว เพื่อให้เกิดพลังปกป้องพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากสคบ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ     ตรงนี้ตรงกับสิ่งที่สคบ.ได้บอกไว้แต่ต้นว่าทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งดีกว่าต้องคอยปกป้องตลอด24 ชม.

องค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเหมือนตาสับปะรดที่อยู่ทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้นขณะที่ผู้บริโภคก็รู้สิทธิตัวเองมากขึ้น

ผศ.ภญ.ดร. รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“คณะเภสัชฯ เราเป็นคณะที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ “ยา” ซึ่งแน่นอนว่า ยา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึง “ความปลอดภัยของผู้บริโภค” เป็นสำคัญ เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ฝังรากในคณะของเราอยู่แล้ว

“การรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานองค์กรผู้บริโภคขึ้นมา โดยมีศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เป็นองค์กรหลักด้านวิชาการ ในการออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำการตรวจประเมินองค์กรต่าง ๆ  กว่า 200 องค์กรที่สมัครเข้ามา ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้เตรียมมอบใบประกาศให้กับองค์กรที่ผ่านเกณฑ์ทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูง

“หลังจากที่องค์กรต่าง ๆ ผ่านการประเมินแล้ว ในส่วนของภาควิชาการจะช่วยหนุนเสริมในเรื่องของการเสริมศักยภาพ องค์กรผู้บริโภคเหล่านี้เป็นเหมือนเครือข่ายเรา เราสามารถสื่อสารสนับสนุนข้อมูลวิชาการต่าง ๆ ได้เรื่อย ๆ  แต่จริง ๆ แล้วองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้  เพราะหลายครั้ง Best Practice มาจากผู้ปฏิบัติ  ในส่วนของภาควิชาการ เราช่วยหนุนเสริมในเรื่องของการจัดเวที เปิดโอกาส สร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับเขาได้ คือร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน  อย่างเช่นบางองค์กรหรือบางหน่วยงานอาจมีระบบที่ดี หรือมีจุดเล็ก ๆ ที่ดี นำสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน อนาคตสิ่งเหล่านี้อาจกลายมาเป็นมาตรฐานที่ทำร่วมกันได้

“เรามององค์กรเหล่านี้ว่า ควรเป็นองค์กรเครือข่ายที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเราช่วยสนับสนุนให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยสนับสนุนในเรื่องการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ และนำความรู้ที่ได้นั้นมาช่วยเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพให้องค์กรต่าง ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรผู้บริโภคที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคได้ในอนาคต แบบนี้ยั่งยืนกว่า

“นี่คือสิ่งที่หวังอยากให้เกิดขึ้นกับกระบวนการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพในส่วนของภาควิชาการ”

ที่มา สานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2561

อุบัติเหตุซ้ำซาก ทางออกอยู่ตรงไหน

ใกล้ถึงเทศกาลวันหยุดยาวทีไร ประเทศไทยต้องมานั่งนับศพคนเจ็บคนตายกันทุกที ล่าสุดในรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยสถิติว่า แต่ละปีมีคนไทยสังเวยชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก หรือเฉลี่ย 20,000 คนต่อปี

ความสูญเสียนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ที่เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง และลูกหลาน ที่ต้องแบกรับชะตากรรมที่เหลืออยู่ หากโชคดีแค่พิกลพิการ ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่นั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่อเนื่องอีกมหาศาล

เมื่อหันมามองในภาพใหญ่ นี่คือความสูญเสียระดับประเทศ ทั้งงบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรในการบริหารจัดการ คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านต่อปี

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น จำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขสถานการณ์ คำถามที่ประชาชนอยากรู้คือ พรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาเป็นรัฐบาลมีแนวนโยบายในการจัดการปัญหานี้บ้างหรือไม่ และเอาจริงเอาจังแค่ไหน

 

‘แร่ใยหิน’ มัจจุราชในฝุ่นผง บนหลังคาบ้านเรา

ปี 2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เสนอมาตรการ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิด โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับหน้าที่จัดทำแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ

แต่จนถึงปัจจุบันมาตรการทั้งหลายยังไม่บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งสถานการณ์ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้น เมื่อพบว่าไทยยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินในปริมาณสูง ล่าสุดวงการแพทย์ได้ยืนยันตัวเลขที่แท้จริงของผู้ป่วยจากโรคเหตุแร่ใยหิน และคาดว่าในอนาคตอาจมีแนวโน้มตรวจพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

เช่นนี้แล้วคณะทำงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งหามาตรการเพื่อเดินหน้าผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินอย่างแท้จริงต่อไป

เปิดผลวิจัยผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 2 ปี 28 ราย

หนึ่งในคณะทำงานวิจัย ‘โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน’ ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้ดำเนินการศึกษาทบทวนฐานข้อมูลสุขภาพ (Health data center: HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2558-2559  ตามที่มีรายงานผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินทั้งสิ้น 385 ราย เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริง

สิ่งที่คณะวิจัยทำคือ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล นับตั้งแต่การวินิจฉัย การลงรหัสโรค ไปจนถึงเวชระเบียน กระทั่งเมื่อพิจารณาโดยละเอียดจึงพบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินจริงจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อม (Mesothelioma) 26 ราย (ได้แก่ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย มะเร็งที่เยื่อหุ้มอัณฑะ 1 ราย) พังผืดในปอดจากใยหิน (Pleural plaque) 1 ราย และโรคปอดแอสเบสโตสิส (Asbestosis) 1 ราย

ในจำนวนผู้ป่วยทั้ง 28 ราย ยังพบด้วยว่า ส่วนหนึ่งมีประวัติสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ ทั้งงานก่อสร้างและผลิตกระเบื้องมุงหลังคา บางรายมีประวัติสัมผัสแร่ใยหินจากสิ่งแวดล้อม โดยเกิดจากการคุมงานก่อสร้างบ้านของตนเอง

“โครงการวิจัยของเรานับเป็นการรวบรวมเคสผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินและชำระความถูกต้องครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อสร้างโอกาสที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามโรคเหตุแร่ใยหิน โดยเฉพาะส่วนราชการที่ดูแลด้านสาธารณสุขที่ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.พรชัย กล่าว

การเฝ้าระวังในความหมายของ ศ.นพ.พรชัย มีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชิงรุกคือ ค้นหากลุ่มคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังในระยะยาว โดยประสานกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ในการเฝ้าระวังคนงานกลุ่มเสี่ยง ซึ่งพบว่ามีการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหินยังไม่ครบถ้วน ทั้งการตรวจสมรรถภาพปอด การตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก

ขณะเดียวกัน การเฝ้าระวังเชิงรับคือ การตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยให้มีความชัดเจนเชื่อถือได้ ซึ่งผลการวิจัยสะท้อนว่า ขั้นตอนการลงรหัสโรคยังมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ จึงควรมีการปรับปรุงให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น แพทย์ควรซักประวัติการสัมผัสแร่ใยหินให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัย

“สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ จากตัวเลขผู้ป่วยทั้ง 28 รายที่เรายืนยันนี้ ที่จริงแล้วยังมีข้อมูลที่ตกหล่นอยู่อีกมาก เราเชื่อว่ายังมีการรายงานจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาจนถึงที่สุด เช่น ในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดก็มีผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินรวมอยู่ในนั้นด้วย และอาจเสียชีวิตไปโดยไม่ได้รับการตรวจชิ้นเนื้อโดยละเอียด หรือไม่ได้รับการซักถามประวัติอย่างละเอียดว่าเคยทำงานเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินหรือไม่”

ศ.นพ.พรชัย อธิบายว่า ฐานข้อมูล HDC เป็นฐานข้อมูลเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลสังกัดเอกชนต่างๆ ที่อาจไม่ได้รายงานเข้ามายังฐานข้อมูล HDC อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นการศึกษารวบรวมเฉพาะปี 2558-2559 ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุมตัวเลขผู้ป่วยทั้งหมด

“ในช่วงเวลา 2 ปี เราพบผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 28 ราย แต่นั่นยังถือว่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลที่ไกลกว่านี้ เคสผู้ป่วยก็อาจเพิ่มมากกว่านี้ก็เป็นได้ เนื่องจากประเทศไทยเรานำเข้าแร่ใยหินมานานกว่า 70 ปี”

ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย นำเข้าแร่ใยหินสูงสุด

ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินมาเป็นเวลากว่า 70 ปี โดยบริษัทเอกชนนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่พบมากคือ กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน กระเบื้องยาง รวมถึงผ้าเบรก คลัทช์ ปริมาณการนำเข้าอาจขึ้นอยู่กับสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังเช่นปี 2540 ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู มีการนำเข้าแร่ใยหินสูงถึงเกือบ 180,000 ตัน

ต่อมาสถิติการนำเข้าเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก และลดลงอีกครั้งหลังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเริ่มรณรงค์แบนแร่ใยหิน ทว่าการนำเข้าแร่ใยหินของไทยก็ยังคงมีปริมาณสูง ติดอันดับ 1-5 ของเอเชีย สวนทางกับอีก 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่ประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว

“นับจากมีการรณรงค์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2553 ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าแร่ใยหินลดลง จนกระทั่งเมื่อปี 2560 เราพบว่าเริ่มมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 21.13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ คืออยู่ที่กว่า 41,000 ตัน และจนถึงสิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีการนำเข้าสูงถึงกว่า 40,000 ตัน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์สุขภาพของคนไทยยังคงมีความเสี่ยง ตราบใดที่แร่ใยหินยังไม่ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง” ศ.นพ.พรชัย

ปริมาณการนำเข้าแร่ใยหินในประเทศไทย ปี 2553-2561

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ส่วนแบ่งการตลาด ศ.นพ.พรชัย ระบุว่า แร่ใยหินที่นำเข้าส่วนใหญ่เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำมาใช้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคา แต่กระเบื้องมุงหลังคาทั้งหมดในท้องตลาด เป็นกระเบื้องที่มีแร่ใยหินอยู่เพียงไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ อาจเรียกได้ว่ามาร์เก็ตแชร์ของบริษัทที่ใช้แร่ใยหินลดลงไปมาก โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่มีการรณรงค์แบนแร่ใยหิน

“ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัยกว่าและมีคุณสมบัติทนทานไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก คงเหลืออยู่เพียงบริษัทเดียวที่ยังนำเข้าและผลิตอยู่ เนื่องจากอาจมีการกักตุนวัตถุดิบไว้มาก หรืออาจมีหุ้นอยู่ในเหมืองแร่ใยหินในต่างประเทศก็เป็นได้”

ส่องสถานการณ์แร่ใยหินทั่วโลก

  • ปี 2560-2561 แคนาดา บราซิล ยกเลิกการใช้และการส่งออกแร่ใยหินไครโซไทล์ โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ที่ส่งออกแร่ใยหินรายใหญ่ของโลก และเคยคัดค้านการยกเลิกแร่ใยหิน
  • หลายประเทศในอาเซียนประกาศยกเลิกแร่ใยหินแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน ขณะที่ลาวประกาศยกเลิกในปี 2563 และเวียดนามประกาศยกเลิกในปี 2566
  • ปัจจุบันเกิดเครือข่ายเรียกร้องการยกเลิกแร่ใยหินในอาเซียน (SEA-BAN) โดยความร่วมมือระหว่าง 8 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย
  • ประเทศที่คัดค้านการยกเลิกแร่ใยหินในขณะนี้คือ รัสเซีย โดยใช้นโยบายกดดันทางการค้าหากประเทศคู่ค้ายกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน ส่วนประเทศที่ยังคงให้การสนับสนุนคือ คาซัคสถาน อินเดีย และจีน

เพิ่มมาตรการแบนทุกช่องทาง

หากยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินจะบรรลุเป้าหมายได้ นอกเหนือจากการเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับ อาจต้องใช้หลายแนวทางควบคู่กัน โดยหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะวิจัย ซึ่งเป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุดและค่อยเป็นค่อยไปที่สุด เช่น  การปรับปรุงกลไกราคา เพื่อสนับสนุนสินค้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน

“ถ้ารัฐบาลพร้อมที่จะแบนแร่ใยหินจริงๆ แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การปรับปรุงกลไกราคา โดยทำให้กระเบื้องที่ไม่มีใยหินราคาถูกลงกว่ากระเบื้องที่มีใยหิน คล้ายกับเมื่อหลายปีก่อนที่มีการรณรงค์เลิกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสารตะกั่ว โดยรัฐทำให้กลไกราคาของน้ำมันไร้สารตะกั่วถูกกว่าน้ำมันที่มีสารตะกั่ว คนจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วในที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็พยายามปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ตอบสนองน้ำมันไร้สารตะกั่วได้ สุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมน้ำมันที่มีสารตะกั่วก็ถูกเลิกใช้ในที่สุด” ศ.นพ.พรชัย กล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐเองยังสามารถเริ่มต้นเป็นแบบอย่างด้วยการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในการก่อสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซมอาคาร และเลือกใช้วัสดุที่ปลอดจากแร่ใยหิน ขณะเดียวกัน ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขั้นตอนปฏิบัติในการรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังมิให้ฝุ่นแร่ใยหินฟุ้งกระจาย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  1. ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน เพิ่มมาตรการฟ้องร้องผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสินค้าที่มีแร่ใยหิน โดยใช้ PL Law (Product Liability Law)
  2. ส่งเสริมสนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยกำหนดให้ส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ริเริ่มเป็นแบบอย่างในการก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมอาคาร
  3. สนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และประชาชนให้สาธารณชนทราบ โดยผ่านช่องทางสื่อในกำกับของรัฐให้มากขึ้น
  4. พัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงให้มีความเข้มข้น โดยให้ภาควิชาการเข้ามามีส่วนสนับสนุนมากขึ้น
  5. เพิ่มยุทธศาสตร์การกำหนดราคาสินค้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน ให้มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ใช้แร่ใยหิน
  6. เพิ่มยุทธศาสตร์การร่วมวงในกลุ่มประเทศอาเซียน ตามแนวคิด One ban, All ban.
  7. เพิ่มยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้พิจารณาว่าแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยด้วยโรคเหตุแร่ใยหินนั้น เป็นผลส่วนหนึ่งจากความเหลื่อมล้ำในสังคม

ภารกิจยังไม่สิ้นสุด

อันตรายจากพิษภัยของแร่ใยหินคือ ไม่สามารถมองเห็นอาการเจ็บป่วยได้ใน 1-2 วัน หรือ 1-2 เดือน ต่างจากอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทั่วไปที่สามารถมองเห็นได้ไม่ยาก เพราะผลกระทบจากแร่ใยหินอาจต้องใช้เวลากว่า 15-30 ปี จึงจะปรากฏอาการในลักษณะของโรคมะเร็งต่างๆ

ศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า ระยะเวลาในการเกิดโรคมะเร็งจากแร่ใยหินอาจใช้เวลาฟักตัวนานถึง 15-30 ปี นั่นคือความยากของการวินิจฉัยให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับแร่ใยหิน แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ องค์การอนามัยโลกและองค์การนานาชาติที่วิจัยเรื่องโรคมะเร็งได้สรุปไว้ชัดเจนว่า แร่ใยหินเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งจริง และเป็นข้อมูลที่พบได้จากทั่วโลก

“ในอนาคตเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า เราจะยังพบผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลสำคัญเนื่องจากเรายังไม่สามารถแบนแร่ใยหินได้ และยังมีผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินออกมาอย่างเนื่อง กลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดก็คือคนงานในโรงงานผลิต กับกลุ่มคนที่นำมาใช้คือ ช่างก่อสร้าง ช่างตัดกระเบื้อง เจียกระเบื้อง และอีกกลุ่มคือ คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีการต่อเติมซ่อมแซมและใช้วัสดุจากแร่ใยหิน”

ข้อกังวลอีกประการของ ศ.นพ.พรชัย ก็คือ ท้ายที่สุดแม้ว่าไทยจะสามารถแบนแร่ใยหินได้แล้วก็ตาม แต่ในอาคารเก่ายังคงมีกระเบื้องใยหินปะปนอยู่จำนวนมหาศาล และอาจตกค้างต่อไปอีกหลายสิบปี เมื่อหมดสภาพการใช้งาน เศษวัสดุเหล่านี้อาจกลายเป็นขยะอันตรายที่ย้อนกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมและแพร่กระจายต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักเพื่อให้ประชาชนรับมือกับแร่ใยหินอย่างถูกวิธี โดยคณะทำงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงเกาะติดสถานการณ์ต่อไปจนกว่าสังคมจะไร้แร่ใยหินอย่างแท้จริง

สังคมไทยยังเปื้อน ‘แร่ใยหิน’

ปี 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการยกเลิกการใช้ ‘แร่ใยหิน’ ทุกชนิด ตามที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอให้พิจารณา เพื่อผลักดันให้ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้อย่างเบ็ดเสร็จ การต่อสู้ยังคงยืดเยื้อต่อไปบนข้อเรียกร้องที่ว่า ต้องยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่าย จนกว่าประเทศไทยจะปลอดจากแร่ใยหินอย่างแท้จริง

กระทั่งล่าสุด คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ชำระฐานข้อมูลสุขภาพ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยืนยันความถูกต้องในการตรวจวินิจฉัย พร้อมระบุตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคเหตุใยหินทั้งสิ้น 28 ราย

เมื่อหันมาตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหินในประเทศไทย กลับพบว่าช่วงปี 2560-2561 มีการนำเข้าในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างน่าจับตา แน่นอนว่า หากไม่สามารถหยุดยั้งการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายเสียตั้งแต่วันนี้ มหันตภัยจากแร่ใยหินก็จะยังคงอยู่ใกล้ตัวเราไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ครบรอบ 12 ปีการประกาศ CL : การบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตและนำเข้ายา

ทำความเข้าใจ การบังคับใช้สิทธิเพื่อการผลิตและนำเข้ายาของประเทศไทย

ผ่านหนังสือ ประเด็น CL

เพื่อทำความเข้าใจอดีต และ ร่วมมองไปข้างหน้า

 

หนังสือ ประเด็น CL :

  1. การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร:นวัตกรรมและการเข้าถึงยาถ้วนหน้า (ไทย)
  2. ความเห็นและข้อเสนอแนะการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยา
  3. สิทธิ (ชีวิต) เหนือสิทธิบัตรยา : ซีแอลของคนไทย
  4. ใครว่าไทยละเมิดสิทธิบัตรยา ที่จริงเรายังไม่ได้ทำอีกหลายอย่าง (Thai)
  5. หยุด! คอมบิด ชัยชนะในการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร
  6. คำอภิปรายนอกสภา เรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Thai)
  7. เสียงเพื่อผู้บริโภคการใช้สิทธิกับยาที่มีสิทธิบัตรเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น
  8. เกมการเมืองโลกเพื่อครองอำนาจผูกขาดตลาดยา
  9. คู่มือการชมละคร นางฟ้านิรนาม

โรคเหตุใยหิน: มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง

มีข่าวดีและข่าวร้ายจะเล่าสู่กันฟัง

ข่าวดี
ตุลาคมที่ผ่านมา คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ศึกษาข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพ (Health data center: HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างปี 2558-2559 โดยพบว่าสามารถยืนยันผู้ป่วยจากโรคเหตุใยหินได้แล้วถึง 28 ราย

แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง mesothelioma 26 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ 5 ราย แบ่งเป็นทำงานก่อสร้าง 4 ราย และผลิตกระเบื้องมุงหลังคา 1 ราย และมีผู้ป่วยด้วยโรคปอด asbestosis 1 ราย และ โรคปอดหนา pleural plaque 1 ราย โดยทั้งคู่มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินผ่านการประกอบอาชีพทั้งสิ้น

ยืนยันว่า แร่ใยหิน เป็นปัจจัยก่อโรคมะเร็งจริง!

นี่คือการชำระความถูกต้องของข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘แร่ใยหิน’ ครั้งใหญ่ที่สุด

ข่าวร้าย
ในปัจจุบันเนื่องจากอันตรายจากเส้นใยแอสเบสตอสมีผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์ หลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ประกาศห้ามนำเข้า รวมถึงได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว โดยมีการใช้วัสดุทดแทน แต่สำหรับประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์และอะไมไซท์ เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอยู่บ้าง แต่ก็ยังจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 คือ ห้ามทั้งผลิตและส่งออก หากต้องการมีไว้ในครอบครองจะต้องแจ้งขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนนำมาใช้

ศ.นพ.ดร.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนึ่งในคณะทำงานได้ยืนยันถึงแนวทางการเคลื่อนไหวว่า ยังคงสนับสนุนให้มีการแบนแร่ใยหินต่อไป สังคมไทยต้องปลอดแร่ใยหินเท่านั้น แต่เรื่องน่าเศร้ามีอยู่ว่า

“เมื่อแบนแร่ใยหินได้เมื่อไหร่ ก็จะเหลือภาระการจัดการแร่ใยหินที่เหลือค้างในประเทศไทย ทั้งในรูปวัตถุดิบที่ยังอยู่ในโรงงาน และที่ผลิตเป็นกระเบื้องอยู่ตามบ้านเรือนแล้ว อีก 20-30 ปี เมื่อมีการรื้อตึกเหล่านี้คนไทยก็เสี่ยงต่อการสัมผัสแร่ใยหินอยู่”

ในปัจจุบันไทยยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน และแร่ใยหินจะยังอยู่ในสังคมเราไปอย่างน้อยๆ ก็ 30 ปี