คุยเรื่อง ‘ทำแท้งปลอดภัย’ กับ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

ในอดีตหากผู้หญิงต้องการทำแท้งจะต้องใช้วิธีการขูดโพรงมดลูก ซึ่งมีความอันตราย เสี่ยงต่อภาวะมดลูกเน่า ตับวาย ไตวาย และอาการบาดเจ็บต่างๆ

ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีดูดตัวอ่อนผ่านหลอดสูญญากาศหรือรับประทานยาบางชนิดเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ พบว่า วิธีนี้ทำให้ผู้หญิงปลอดภัยมากขึ้น

จากสถิติความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการห้ามทำแท้งอย่างเข้มงวด พบว่าประเทศนั้นจะมีอัตราการทำแท้งสูง

ที่น่าเศร้าคือผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 70,000 คน/ปี โดย 95% มาจากประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคน รวมถึงบุคลากรในระบบสุขภาพ พร้อมจะทำความเข้าใจ ‘การทำแท้งปลอดภัย’ เพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของผู้หญิง

 

 

ทลายกำแพงเมืองป่วยสู่เมืองแห่งสุขภาวะ

กรุงเทพฯ – มหานครที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นผง PM 2.5 ปัญหารถติด ที่อยู่อาศัยแออัด ตลอดจนการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ นำมาสู่ประเด็นที่ชวนใคร่ครวญว่า เราต่างกำลังอาศัยอยู่ในเมืองที่ควรมีความหมายถึงการมีความสุขหรือเมืองที่ป่วยไข้กันแน่?

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงจัดเวที ‘สช.เจาะประเด็น สานพลังเปลี่ยนเมืองป่วย’ เพื่อสางประเด็นของปัญหาผ่านการชำแหละสภาพปัญหาเขตเมืองสู่วิกฤติสุขภาพไทย โดยมีการเรียนรู้ต้นแบบโครงการพัฒนาเมืองสำหรับทุกคนจาก ‘นครสวรรค์โมเดล’ ไปจนถึงการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิดเมืองสุขภาวะจากภาคเอกชน และถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะจากต่างประเทศ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในประเทศไทย

ภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2562 กล่าวว่า การจะตอบว่าเมืองป่วยหรือไม่นั้น ต้องมองให้เห็นเกี่ยวข้องต่อเรื่องต่างๆ ว่าทำให้เกิดภาวะที่ไม่ปกติหรือไม่ เพราะเมืองนั้นเปรียบเสมือนคน ประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่าง ทั้งเมือง ชุมชน คน สิ่งแวดล้อม กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งธรรมชาติของเมืองแต่ละเมือง ถ้ามีสิ่งที่เรียกว่าเป็นภาวะไม่ปกติ ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเมืองเริ่มมีสุขภาวะที่ไม่ดี

ภารนี สวัสดิรักษ์

ระดับของความป่วย

อาการผิดปกติหรือความป่วยของเมืองในมุมของภารนี ถ้าจะมองให้เห็นถึงระดับของความป่วย ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าปัจจัยการกำหนดสุขภาพการอยู่อาศัยที่ดีในเมือง แบ่งออกเป็นหลายเรื่องคือ ตัวบุคคล ตัวชุมชน พฤติกรรม เช่น เราบริโภคอาหารที่ปลอดภัยในเมืองหรือไม่ หรือสถานที่จำหน่ายอาหารมีการจัดการสุขภาวะที่ดีหรือเปล่า จากนั้นจึงมองให้เห็นในระดับชุมชน เช่น ที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ มีทางเดิน มีการจัดการบ้านเรือนให้มีความปลอดภัยเพียงใด อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย การก่อสร้าง การใช้วัสดุที่เป็นอันตราย การกำหนดโซนนิ่ง เช่น บ่อขยะ เหล่านี้เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพ ซึ่งแต่ละปัจจัยก็จะมีการวัดในหลายๆ แบบ

“ปัจจัยกำหนดสุขภาวะมันเกี่ยวกันหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของคน เรื่องของภารกิจร่วม และไม่ใช่เป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นคำถามว่าใครทำให้เมืองป่วย มันไม่ใช่เรื่องของการกล่าวโทษกัน แต่เป็นเรื่องที่ว่าใครควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้เมืองมีสุขภาวะแข็งแรงตามปัจจัยกำหนดสุขภาพ ถ้าเมืองป่วย คนป่วย โรค NCD (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เราจะเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องนั้นมีหลายเรื่อง เช่น โรคไม่ติดต่อที่มีสาเหตุมาจากการไม่ยอมออกกำลังกาย แต่บางทีเมืองก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นนี่เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ที่ควรจะต้องเอื้อให้เกิดการทำกิจกรรมทางกายที่ทำให้ผู้คนไม่ป่วยด้วยโรค NCD เป็นต้น”

จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ

เมืองสำหรับทุกคน

“เป็นที่ทราบกันดี นครสวรรค์เราเป็นเมืองที่น้ำท่วมตลอด สมัยก่อนๆ ห้าปีจะมีท่วมใหญ่ครั้งหนึ่ง เราก็พยายามที่จะพัฒนาเมืองเรา เรามีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ตอนนี้มีแล้วรอบเมือง รวมทั้งระบบป้องกันเรียบร้อยหมด ผมคิดว่าเราเองก็เคยเจ็บป่วย”

เพื่อฉายให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเยียวยาเมืองป่วยจนนำไปสู่เมืองที่มีสุขภาวะที่ดีได้ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ เล่าอดีตของจังหวัดนครสวรรค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ว่าได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนเมืองซึ่งเคยเจ็บป่วยด้วยการสร้างสวนสาธารณะที่เป็น Green City มีสวนสาธารณะอุทยานสวรรค์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นครสวรรค์เป็นเมืองที่สภาพอากาศดี มีการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

วิธีเยียวยา

จิตตเกษมณ์กล่าวว่า เมื่อตนได้มาเป็นนายกเทศมนตรี ก็เกิดความคิดว่าทำอย่างไรให้คนนครสวรรค์มีสุขภาวะที่ดี ประชาชนไม่ป่วย จึงเกิดความคิดในการทำลานออกกำลังกายทั่วอุทยานสวรรค์ พร้อมกับการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ประชาชนได้มาออกกำลังกาย

“เราทำเรื่องน้ำด้วย เราได้รับรางวัลอาเซียนเรื่องน้ำ คือหนึ่ง – น้ำประปาของเราดื่มได้ เราได้รับการรับรองจากกรมอนามัย สอง – เรื่องน้ำเสีย เราบำบัดน้ำเสียวันละ 36,000 คิว ก่อนที่จะปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเราก็เอาน้ำเสียมารีไซเคิลใช้ในอุทยานสวรรค์ของเรา นอกจากนี้เรายังทำเรื่องขยะด้วย เรามีบ่อบำบัด 266 ไร่ ที่ให้ อปท. ทั้งหมดมาทิ้งร่วมกับเราได้ และฝังกลบอย่างถูกต้อง เหล่านี้ก็คือสิ่งที่เราทำอยู่ในเมืองของเรา”

หากแต่การสร้างสุขภาพผ่านลานออกกำลังกายและการบำบัดน้ำเสียยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาเมืองในมุมของจิตตเกษมณ์ จึงนำไปสู่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองป่วย ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนลงไปสู่ชุมชนต่างๆ ทั้งหมด 71 ชุมชน โดยมีประมาณ 40 ชุมชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพราะไม่อยากให้อาการป่วยของเมืองกลับมาอีกครั้ง

“เรากำลังเน้นว่า หนึ่ง – เมืองน่าอยู่ที่เราอยากจะทำต้องเป็นเมือง safety สอง – ต้องเป็นพื้นที่ wealthy มีสุขภาพที่ดี สาม – ต้องมี wealthy ต้องมีเศรษฐกิจที่ดีด้วย แล้วก็เป็นเมืองที่สะอาด เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนต้องเข้ามาร่วมกัน ซึ่งต้องลงไปในชุมชนต่างๆ ให้เขาทราบว่าเราต้องการการมีส่วนร่วม”

พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

ศักยภาพเอกชนเพื่อพัฒนาเมืองสุขภาวะ

ตัวแทนจากภาคเอกชน พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่า ในมุมมองของตนนั้นไม่จำกัดแค่เมืองเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงประเทศป่วย ประชาชนทุกคนป่วย ทั้งป่วยกายและป่วยใจ โดยมีระบบราชการเป็นตัวการสำคัญของอาการป่วยไข้ที่ดื้อยา และยังไม่ยอมรับการรักษา เพราะราชการในมุมของพรนริศต้องการเพียงแค่การลงนามในฐานะเอกชนคู่สัญญามากกว่าสนใจข้อเสนอแท้จริง

“อันที่จริงแล้ว เอกชนจะอยู่เฉยๆ ก็ได้ ซื้อที่ไปเรื่อยๆ ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำไป จะมีกี่คนกันที่กล้าออกมาบอกว่า คุณทำให้อาการป่วยของเมืองกระจายตัวออกไป”

ผลของการขยายตัวของเมืองที่ป่วยไข้ออกไป ภาคเอกชนเองย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัวอย่างเช่น หากคุณภาพของเมืองไม่ดี ไม่มีสุขภาวะ ผู้อยู่อาศัยก็จะมีสุขภาพแย่ตามไปด้วย เงินที่หามาได้ต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ผู้คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เอกชนก็ขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นคุณภาพเมืองย่อมส่งผลต่อทุกๆ สมาชิกในเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง โดยปัจจุบันเรามีการตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี”

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

ถอดบทเรียนเมืองสุขภาวะจากต่างประเทศ

ในขณะที่สุขภาพของคนเมืองย่ำแย่ไปพร้อมๆ กับสภาพเศรษฐกิจ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า คงไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าเมืองมีผลต่อคนผู้อยู่อาศัยอย่างไร การดูเมืองเมืองหนึ่ง เราต้องดูว่าคนที่นั่นมีชีวิตอย่างไร ผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้รถยนต์ หรือสามารถเดินไปไหนมาไหนได้หรือไม่

“ดังนั้นเมื่อไรที่เรารู้สึกว่าเราจน เราอ้วน อย่าเพิ่งโทษตัวเองนะคะ ให้โทษโครงสร้างเมืองก่อน ดูก่อนว่ามันเป็นสาเหตุให้เราจน อ้วน หรือเปล่า ซึ่งเมืองเป็นของคู่กันกับโรคภัยอยู่แล้ว ถ้าคุณอยู่ในเมืองที่สามารถเดินออกกำลังกายได้ สัดส่วนของคนที่มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคอ้วนจะลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์

“เรื่องเศรษฐกิจสำคัญ เมืองที่คนเดินได้เดินดี โอกาสที่จะกระจายความมั่งคั่งก็จะไม่ได้หยุดอยู่แค่ผู้ประกอบการรายใหญ่ โอกาสในการจับจ่ายใช้สอย ห้างไม่ใช่คำตอบเดียว ยกตัวอย่างเช่น เมืองปารีส ที่เดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันก็ยังไม่ลดละที่จะทำให้เมืองเป็นเมืองที่เอื้อต่อการเดินและไม่ใช้รถยนต์

“ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นปัญหาใหญ่ของปารีสเช่นกัน ซึ่งการใช้จักรยานหรือการเดินนั้นใช้พื้นที่น้อย เพราะเขาทราบดีว่าเครื่องยนต์นั้นผลิตควันพิษออกมา เพราะฉะนั้นเรื่องของการลงทุนสาธารณะที่นำไปสู่การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม การเดิน และการปั่นจักรยานยังมีมากอยู่ ซึ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่เราควรจะมี ในฐานะที่เราเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองเมืองหนึ่งและเป็นผู้เสียภาษี”

ทลายกำแพงเมืองป่วย

การสะสางประเด็นให้เห็นถึงการที่เมืองเมืองหนึ่งป่วยไข้ นำไปสู่หนทางแก้ และมีตัวอย่างที่สำเร็จแล้ว ภารนีมองปัจจัยที่จะทำให้เมืองหายจากอาการป่วยไข้แล้วฟื้นกลับมาเป็นเมืองที่มีสุขภาวะได้นั้น กำแพงหนึ่งที่คนในสังคมจะต้องทลายลงให้ได้ คือกำแพงของตัวเราเอง เราจะต้องทลายกำแพงของตัวเองก่อน เช่นที่ภาคเอกชนและท้องถิ่นทำ

“คือลงมือทำเองเลย ซึ่งมันอาจจะมีกำแพงของเรื่องงบประมาณ กำลังพล ข้อกฎหมาย แต่ถ้าเราคิดว่าปัญหาอยู่ที่คนอื่น แล้วเราปล่อยให้เขาแก้ มันจะไม่เกิด เช่น ในนครนายก ที่ไม่ได้ใช้การทลายกำแพง แต่ใช้กลไกที่เรียกว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในมุมต่างๆ ของเมืองเข้ามาร่วมคิด ว่าเราจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีของเมืองได้อย่างไร”

ฝากถึงรัฐบาลใหม่

ช่วงใกล้การเลือกตั้ง ภารนีมีประเด็นที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับสุขภาวะของคนเมือง โดยกล่าวว่า แม้ในตอนนี้ประเทศจะมียุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่รัฐบาลใหม่อย่าได้แยกเรื่องของสุขภาพกับเรื่องของเมืองเป็นแค่เรื่องการก่อสร้าง

“อยากให้นำมิติสุขภาพ มิติการสร้างพลังทางสังคมเข้าไปอยู่ในเรื่องของเมืองอัจฉริยะด้วย ไม่ใช่มองแค่การก่อสร้าง ความทันสมัย หรือตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างเดียว”

ขณะที่นิรมลสะท้อนมุมมองจากต่างประเทศ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ระบบราชการแบบเดียวกับที่พรนริศมองไว้ คืออยากให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งช่วยกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นแบบเป็นรูปธรรม คือให้อำนาจไปพร้อมกับให้เงินตามไปด้วย ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“เมืองสวยๆ ที่เราเห็นอย่างปารีส ญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1975 มันเกิดการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น เขตแต่ละเขตจะเลือกตั้งนายกฯ เขต แต่ของเราเป็น ผอ.เขต ที่มาจากการแต่งตั้ง ถามว่าเรารู้จักชื่อ ผอ.เขตของเราไหมคะ ไม่มีทาง เพราะว่าเป็นการแต่งตั้งลงมาแล้วย้ายบ่อย ทั้งยังขึ้นตรงกับปลัดและผู้ว่าฯ แต่ที่ญี่ปุ่น ปี 1975 เขามีการเลือกตั้ง ผอ.เขตเล็กๆ ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ และคนญี่ปุ่นสามารถร่วมกันพัฒนาประเทศได้อย่างพลิกฟ้าพลิกดิน เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ที่เป็นหน่วยปกครองท้องถิ่นพิเศษ ซึ่งมีท่านผู้ว่าฯ คนเดียวดูแลทั้งเมือง ต่อให้เก่งขนาดไหน ภายใต้ระบบราชการแบบนี้ก็อาจจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทุกอย่างเป็นปัญหาหมด”

เช่นนี้แล้ว การจะแก้ปัญหาเมืองป่วย นอกจากจะต้องทลายกำแพงตัวเองแล้ว อีกกำแพงที่จำเป็นจะต้องทลาย คือกำแพงของการหวงแหนอำนาจรัฐไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง เลิกตั้งโจทย์ที่จะพัฒนาเมืองโดยเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง แต่ให้เมืองแต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่นได้บริหารจัดการตัวเอง ให้แต่ละเมืองได้มีโอกาสหายป่วย เพื่อฟื้นสู่เมืองที่เต็มไปด้วยสุขภาวะแท้จริง

#FreePeriods เพื่อผ้าอนามัยฟรีและสิทธิการเรียนของเด็กทุกคน

ลำพังแค่ตอนมีประจำเดือนก็ใช้ชีวิตลำบากกันอยู่แล้ว แต่ให้ลองผ่านช่วง ‘วันแดงเดือด’ โดยไม่มีผ้าอนามัยสักชิ้นใส่แล้วยังต้องไปโรงเรียนอีก – สยองเลยล่ะ ไม่เชื่อลองถามสาวๆ คนไหนก็ได้ โดยเฉพาะสาวๆ วัยรุ่นในสหราชอาณาจักร

หลังอ่านพบว่า เด็กหลายคนต้องขาดเรียนช่วงมีประจำเดือนเพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ เดือนเมษายน 2017 เอมิกา จอร์จ (Amika George) วัย 17 ปีในขณะนั้นรู้สึก ‘ไม่โอเค’ จนลุกขึ้นมาเริ่มแคมเปญ #FreePeriods ในห้องนอนของเธอ ก่อนขยายความเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ เดินหน้าต่อสู้ให้วัยรุ่นหญิงที่ขาดโอกาสมีสิทธิรับผ้าอนามัยฟรีและสามารถไปเรียนหนังสือได้

จากเป้าหมายแรกที่ต้องการแค่ 10 รายชื่อในคำร้องต่อ นายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น คำร้องของเธอมีคนลงชื่อกว่า 2,000 คน หนึ่งปีต่อมารายชื่อพุ่งไปถึง 200,000 คน

จนถึงตอนนี้ แคมเปญของเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงได้รับรางวัล Goalkeepers Award จาก บิลล์ เกตส์ และชื่อของเธอก็ติดหนึ่งใน 25 วัยรุ่นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของนิตยสาร Time

ย้อนกลับไปในห้องนอนตอนนั้น เธอคิดว่า “น่ารังเกียจมากที่ไม่มีความช่วยเหลือมาถึงพวกเธอ”

#FreePeriod
เอมิกา จอร์จ

เมื่อประจำเดือนกระทบชีวิตผู้หญิง

รายงานข่าวจาก Metro เปิดเผยว่า ครูหลายคนได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการโดดเรียนของเด็กหญิงกับช่วงเวลามีประจำเดือน ผลสำรวจจากองค์กรธนาคารอาหารดาร์ลิงตัน (Darlington Salvation Army Food Bank) ระบุว่า ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรหลายคนต้องใช้ระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าเช็ดหน้า หรือถุงเท้าเก่าแทนผ้าอนามัยราคามหาโหด

“ในฐานะเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ฉันกลัวว่าระบบทางชีววิทยาตามธรรมชาติของผู้หญิงจะกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาและการไปถึงเป้าหมายทางการเรียนอย่างเท่าเทียม ท่าทีนิ่งเฉยของรัฐบาลต่อปัญหานี้ทำให้ฉันเดินหน้าแคมเปญมอบผ้าอนามัยฟรีให้กับเด็กๆ จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำด้วย

“เด็กเหล่านี้ต้องอยู่กับความวิตกกังวลอย่างหนักตลอดการนั่งในห้องเรียน กลัวว่าประจำเดือนจะเลอะชุดนักเรียนและนำไปสู่การล้อเลียนหรือรังแก ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือไม่ไปโรงเรียนเสียเลย”

การกำหนดราคาของผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ยังคงถูกเก็บภาษีและจัดให้อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งที่ผู้หญิงจำเป็นต้องใช้ สำนักข่าว Huffington Post เคยคำนวณว่า ตลอดชีวิต ผู้หญิงจะต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยเฉลี่ย 1,383 ปอนด์ หรือประมาณ 55,700 บาท

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากเว็บไซต์ OnePoll พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เคยขาดแคลนผ้าอนามัยต่างมีปัญหาในการหางานทำด้วย สูงกว่ากลุ่มผู้หญิงที่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ตามปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์

#FreePreriod

ขบวนประท้วงสีแดง

เดือนธันวาคม 2017 จอร์จ และผู้คนกว่า 2,000 คนยืนรวมตัวอยู่นอกบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง หรือทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ทั้งหมดสวมชุดสีแดงและโบกธงที่มีถ้อยคำเกี่ยวกับประจำเดือน เรียกร้องให้รัฐบาลเคลื่อนไหวเพื่อยุติการขาดแคลนผ้าอนามัยเนื่องจากปัญหาทางการเงิน

ไม่กี่เดือนหลังจากการเดินขบวนครั้งนั้น รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า จะมอบเงินภาษีจากผ้าอนามัย 1.5 ล้านปอนด์หรือราว 60 ล้านบาทให้การกุศลเพื่อแสดงถึงการรับรู้ปัญหานี้ เธอเองก็ดีใจกับความสำเร็จครั้งนี้แม้จะเล็กน้อยก็ตาม แต่เธอยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย

“การขาดเรียนหมายถึงการหล่นไปรั้งท้ายในกระบวนการการศึกษา และเด็กเหล่านี้ต้องพบว่าตนเองอยู่ห่างจากเป้าหมายและความทะเยอทะยานก็ช่วยให้ตามทันแทบไม่ได้ แค่เพราะพวกเธอมีเลือดออกตามธรรมชาติเท่านั้น”

จนถึงตอนนี้ #FreePeriods ได้จับมือกับ Red Box Project และ Pink Protest เปิดตัวการรณรงค์ครั้งใหม่ที่พุ่งเป้าไปที่ด้านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเด็กคนไหนต้องขาดเรียนเพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยอีก เป้าหมายต่อไปของเธอจึงเป็นการระดมเงินทุนเพื่อรณรงค์ด้านกฎหมาย ผลักดันให้โรงเรียนและวิทยาลัยทุกแห่งในอังกฤษมอบทุนเพื่อจัดสรรผ้าอนามัยให้กับนักเรียนนักศึกษาทุกคนที่ต้องการ

เดือนสิงหาคม 2018 รัฐบาลสกอตแลนด์เริ่มต้นแจกผ้าอนามัยฟรีในทุกโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย โดยมีให้หยิบฟรีในห้องน้ำทุกแห่ง เช่นเดียวกับสบู่และกระดาษชำระ รวมถึงแจกให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ส่วนเวลส์ก็ยังให้สัญญาว่าจะมอบเงิน 1 ล้านปอนด์สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย

จอร์จบอกว่า อยากทำให้ปี 2019 ไปไกลกว่าเดิม โดยพยายามผลักดันให้เด็กทุกคนในสหราชอาณาจักรมีสิทธิได้รับการศึกษา โดยไม่ถูกขัดขวางจากร่างกายของตัวเอง

“ไม่มีใครควรขาดเรียนเพราะมีประจำเดือน” เธอบอก

อ้างอิงข้อมูลจาก:
standard.co.uk
theguardian.com
freeperiods.org

บทเรียนจากฝุ่น PM2.5 ภัยสุขภาพที่ต้องเรียนรู้

มหันตภัยฝุ่น PM2.5 ในช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ให้บทเรียนอะไรเราบ้าง

อย่างน้อยที่สุดประการแรกก็ทำให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกัน

ประการต่อมา ฝุ่น PM2.5 ที่จางหายไป ไม่ใช่เพราะการสวดมนต์อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมาตรการฉีดพ่นละอองน้ำบนดาดฟ้าก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรมาก

นั่นทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มว่า การช่วยเหลือตนเองคือสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และผู้มีโรคประจำตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพและปกป้องตนเองมากกว่าปกติในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

ไม่แบนพาราควอต! เครือข่ายประชาชนผิดหวังมติ คกก.วัตถุอันตราย เพิกเฉยสารพิษร้ายแรง

หลังการประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่นั้น ที่สุดมติคณะกรรมการมีมติ “ไม่แบนพาราควอต” ทั้งที่มีข้อมูลจากนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นปัญหาและความอันตรายของสารเคมีที่ส่งผลร้ายต่อประชาชน เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร จึงออกแถลงการณ์ต่อมติดังกล่าว พร้อมแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการที่เพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในแถลงการดังกล่าวระบุข้อความพร้อมเหตุผลดังนี้

แถลงการณ์
กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ไม่แบนพาราควอต

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ (1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

เครือข่ายฯ ผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 5 คน ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามาดูโลก

รัฐบาล คสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คน ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย

เครือข่ายฯ ขอขอบคุณ กรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างน้อย จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชนและปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษโดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว

เครือข่ายฯ ขอประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

ปัญหาอุปสรรคในการแบนสารพิษร้ายแรง สะท้อนให้เป็นความอัปลักษณ์ของกฎหมายวัตถุอันตรายที่ให้อำนาจการแบนสารพิษไปไว้ในมือของหน่วยงานที่ปราศจากความรู้และความตระหนักในเรื่องความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรบางกลุ่มในคณะกรรมการกับบริษัทสารพิษ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้ความรู้และพลังของประชาชนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างถึงราก

เราเห็นการเติบโตและตื่นขึ้นของพลังประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เราเห็นการลุกขึ้นขององค์กรและสภาวิชาชีพต่างๆ ที่ลุกขึ้นเปล่งเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบเกษตรกรรม อาหาร และชีวิตของพวกเราทั้งหมด พลังเหล่านี้จะเติบโตขยายตัวมากขึ้น

เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร
14 กุมภาพันธ์ 2562

แถลงการณ์สภาเภสัชกรรม ชู 3 หลักการ แบนพาราควอต

ก่อนการประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่นั้น หลายองค์กร/หน่วยงาน รวมถึงภาคประชาสังคม ต่างแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีโดยทันที เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ชัดว่าเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และทำลายความมั่นคงทางอาหาร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์ เรื่อง ‘ยกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน พ.ศ. 2562’ โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า…

จากการศึกษาข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ สภาเภสัชกรรมได้พิจารณาหลักการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต สำหรับประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาประเทศ พร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชาชน สรุปเป็น 3 ประการ ดังนี้

  1. หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle) ซึ่งเป็นหลักสากลในการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย
  2. เกษตรกรควรมีสิทธิและทางเลือกที่จะทำเกษตรกรรมที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและผู้บริโภค
  3. นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาการเกษตรกรรมของไทย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน”

จากหลักการทั้งสามข้อ สภาเภสัชกรรมจึงขอเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายที่จะกำหนดมาตรการในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดดังกล่าว โดยขอให้ยกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ด้วยเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด  มีพิษสูง เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4

เจาะลึก 3 สารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ

สภาเภสัชกรรมได้สรุปข้อมูลการศึกษาวิจัยผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ดังนี้

1. พาราควอต

  • เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ได้รับเพียงเล็กน้อย 1-2 ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิต มีงานวิจัยมากมายแสดงว่า พาราควอตเข้าสู่สมองมนุษย์ได้ และทำลายสมองโดยการสร้างสาร α -synuclein เช่นเดียวกับที่พบในสมองของผู้ที่ตายจากการได้รับพาราควอตและผู้ป่วยอัลไซเมอร์
  • จากการศึกษาหาปริมาณพาราควอตในคนไทย พบทั้งเลือดหญิงตั้งครรภ์ เลือดจากสายสะดือ และขี้เทาทารกแรกเกิด รวมถึงยังพบปริมาณสารนี้ในสิ่งแวดล้อม น้ำ พืช และอาหาร
  • นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้พาราควอตและได้ผลผลิตสูงแม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม
  • ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้พาราควอตจำนวน 53 ประเทศ รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพาราควอตแหล่งใหญ่ที่สุด

2. คลอร์ไพริฟอส

  • เป็นสารที่มีผลการวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า มีผลต่อสมองเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบคลอร์ไพริฟอสในสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาในคนไทยพบปริมาณคลอร์ไพริฟอสในเลือดหญิงตั้งครรภ์และในสายสะดือของทารก
  • นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้คลอร์ไพริฟอสและมีผลผลิตสูงได้ แม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม
  • หลายประเทศยกเลิกการใช้สารนี้แล้ว และต้นเดือนสิงหาคม 2561 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ให้ห้ามขายคลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วัน

3. ไกลโฟเสต

  • เป็นสารพิษที่ International Agency for Research on Cancer  (IARC) ได้จัดเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (Group 2A)
  • ผลการวิจัยที่ผ่านมา พบไกลโฟเสตตกค้างในซีรัมของแม่และสายสะดือของทารก ในมารดาที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการฉีดพ่นไกลโฟเสต
  • ประเทศต่างๆ หลายประเทศได้ยกเลิกการใช้สารนี้ และจากข้อมูลล่าสุด บริษัทไบเออร์มอนซานโตในเยอรมนี แพ้คดีจากการฟ้องร้องของผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากไกลโฟเสต และขณะนี้มีการฟ้องร้องถึงเกือบหมื่นกรณี

แถลงการณ์สภาเภสัชกรรมระบุด้วยว่า ข้อมูลวิชาการข้างต้น ชี้ชัดถึงพิษภัยร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ประกอบกับปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว และมีตัวอย่างมากมายของการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีดังกล่าว

สภาเภสัชกรรมจึงมีมติเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้งสามชนิดภายใน พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต

ลงนามโดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม 13 กุมภาพันธ์ 2562

3 สารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ: พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต

ทำความรู้จักกับพิษร้ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต บนข้อค้นพบทางวิชาการที่บ่งชี้ในทิศทางเดียวกันถึงความน่าสะพรึงของสารเคมีเหล่านี้ เพื่อจะเข้าใจเหตุผลที่ว่าทำไม 53 ประเทศทั่วโลกจึงประกาศเลิกใช้

แล้วทำไมประเทศไทยยังไม่เลิก?

14 กุมภาพันธ์นี้ เราจะได้รู้กันว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะใช้เหตุผลกลใดในการลงมติแบนหรือไม่แบน

แบนพาราควอตเดี๋ยวนี้

14 กุมภาพันธ์ 2562 คือวันประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาทบทวนว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมี ‘พาราควอต’ หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอให้ต้องยกเลิกพาราควอตภายใน 1 ปี การประชุมนัดนี้จึงเปรียบเหมือนการพิสูจน์หัวใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือเลือกที่จะยืนข้างผลประโยชน์กลุ่มทุน

ข้อเท็จจริงวันนี้

  • พาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูง เพียงจิบเดียวถึงตายได้ โดยไม่มียาถอนพิษ
  • ไทยนำเข้าสารเคมีอันตรายสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
  • ในปี 2560 ไทยนำเข้าพาราควอต 44,501 ตัน และนำเข้าไกลโฟเซต 59,852 ตัน
  • 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงลาว เวียดนาม กัมพูชา ยกเลิกพาราควอตแล้ว แต่ประเทศไทยยังใช้อยู่
  • จีน ประเทศผู้ผลิตสารพาราควอตมากที่สุดในโลกถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และบราซิล ประเทศที่ใช้พาราควอตมากที่สุด อยู่ระหว่างประกาศยกเลิกการใช้พาราควอต

เหตุผลที่ต้องแบน

ที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า พิษของพาราควอตมีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายหน่วยงานจึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกพาราควอต ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม 700 องค์กร

ทว่า การแบนสารเคมีอันตรายจะสำเร็จหรือไม่นั้นจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจากหน่วยงานรัฐทั้ง 19 คน ได้แก่ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาสมอ. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม เลขาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมขนส่งทางบก อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาอย. อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวในการแถลงข่าว ‘จับตา คกก.วัตถุอันตรายตัดสินชะตาไทย จะก้าวพ้นการเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ยังใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพลเมืองหรือไม่’ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า สิ่งที่น่าจับตาคือการลงมติจากหน่วยงานของรัฐในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นไปในทิศทางใด เพราะเป็นการลงมติโดยมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าต้องยกเลิกภายใน 1 ปี

“ประเทศไทยนำเข้าพาราควอตกว่า 40 ล้านกิโลกรัม ซึ่งอันตรายจากสารพาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูง และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาคการเกษตร โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการใช้สารพาราควอต ด้วยเหตุผลว่าสารพาราควอตมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ชีวิตของประชาชน และกระทบถึงสิ่งแวดล้อม”

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า คณะกรรมการชุดปัจจุบันบางรายมีข้อครหามาโดยตลอดว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความชัดเจนจึงขอให้คณะกรรมการที่มีผลประโยชน์ถอนตัวจากการลงคะแนนเสียง

“องค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ควรยืนอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน หันมาใส่ใจสุขภาพชีวิตของคนไทย โดยการยกเลิกใช้สารพาราควอต หรือยุติการใช้จนกว่าจะสามารถหาหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ได้ว่า สารตัวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อหารือเกี่ยวกับการแบนพาราควอต โดยเสนอให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงนี้ภายในไม่เกิน 3 ปี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเสนอให้มีการแบนภายใน 3 ปี เท่ากับยื้อการแบนออกไปอีก 2 ปี

ข้อเรียกร้องต่อ คกก.วัตถุอันตราย

  • การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องเปิดเผยความคิดเห็นเป็นรายบุคคล และเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ
  • หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจสารเคมี ต้องถอนตัวจากการลงมติ
  • ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมแสดงพลัง โดยโพสต์ข้อความหรือแสดงความเห็นต่างๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #แบนพาราควอตเดี๋ยวนี้ #SaveThailandBanParaquat #ไม่เอาพาราควอต_คลอร์ไพริฟอส_และไกลโฟเซต เพื่อเป็นการส่งเสียงไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ข้อเสนอจากกรรมการสิทธิฯ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อ กสม. ให้ตรวจสอบการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พาราควอต (paraquat) ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กสม. มีความเห็นว่า การใช้พาราควอตนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัยและได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงจากอันตรายของพาราควอต รวมถึงสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นด้วย เช่น ไกลโฟเสต (สารกำจัดวัชพืช) และคลอร์ไพรีฟอส (สารเคมีกำจัดแมลง) โดย กสม. มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้

  1. คณะกรรมการวัตถุอันตรายควรกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
  2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในระยะยาว โดยการจัดทำมาตรการและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการควบคุมการใช้หรือการเลิกใช้สารเคมีทุกชนิดในภาคการเกษตรที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทางเลือกด้านสารชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง
  3. คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร โดยพิจารณาประกอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. … ที่จัดทำโดยคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มมติเกษตรและอาหารปลอดภัย ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณสุขและองค์กรภาคประชาสังคม
อ้างอิง:
  • https://greennews.agency/
  • https://www.facebook.com/biothai.net/

โตในอากาศคุณภาพแย่ๆ ไม่แน่อาจเป็นโรคซึมเศร้า

งานวิจัยเผยชีวิตคลุกฝุ่นก็เสี่ยงซึมเศร้าได้ เพราะโรคซึมเศร้าที่ทุกคนรู้จักกันนั้นไม่เพียงแต่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ยังพบว่า ตัวการอีกอย่างของการเกิด ‘โรคซึมเศร้า’ มาจากมลภาวะทางอากาศที่เกินค่ากำหนดมาตรฐานนั่นเอง

อากาศขุ่นมัวมีส่วนทำให้อารมณ์มัวหมองตามกันไปนั้น เป็นผลการสรุปจากวิจัยฉบับหนึ่งของ เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) จากวิทยาลัย Kings College London ประเทศอังกฤษ เธอได้ลงไปสำรวจในกลุ่มตัวอย่างใน ‘วัยเด็ก’ และ ‘วัยรุ่น’ ภายในกรุงลอนดอน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง อากาศและอารมณ์

เด็กๆ กว่า 284 คนในลอนดอนที่เข้าร่วมการสำรวจและทำการวิจัย เนื่องจากความพิเศษของวัยเด็กและวัยรุ่นคือพัฒนาการทางด้านสมองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ไหนจะโรคซึมเศร้า ไหนจะพฤติกรรมต่อต้านสังคม เพราะปัญหาทางด้านสุขภาพจิตราว 75 เปอร์เซ็นต์มักมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก

เป็นที่ทราบกันดีว่า อนุภาคของมลภาวะทางอากาศนั้นมีขนาดเล็กมากพอที่จะสามารถหลุดลอดเข้าไปยังแนวกันระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier) และทำให้เกิดการอักเสบ (inflammation) ในสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการถูกทารุณทางกายกับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศแล้ว มลภาวะทางอากาศดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากกว่าเสียอีก แต่แน่นอนว่าการสรุปเช่นนี้ยังคงต้องการหลักฐานสนับสนุนอีกจำนวนมาก

มีการสำรวจเด็กจำนวนหนึ่งที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงสุด 25 เปอร์เซ็นต์ในลอนดอน ตั้งแต่อายุ 12 ผลที่ออกมาดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าตอนอายุ 18 มากกว่า 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่เติบโตมาในสภาพอากาศที่โปร่งใสและปลอดมลภาวะ นอกจากนี้ในเขตเมืองของลอนดอนยังพบไนโตรเจนออกไซด์ที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดไปมาก ซึ่งอากาศคุณภาพแย่ๆ นี้ยังคงส่งผลโดยตรงกับการใช้ชีวิตของพวกเด็กๆ และมีส่วนทำให้ชีวิตสั้นลงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แม้ว่าเรื่องราวจากลอนดอนจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน จนสามารถฟันธงอย่างชัดเจนถึงกรณีการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะจะส่งผลให้คนเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า มลภาวะนั้นคุกคามการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นอันตรายกับประชาชนทุกคนยังคงเป็นเรื่องจริงไม่เปลี่ยนแปลง

“มันก็ยากนะที่จะเลี่ยงพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะ สิ่งที่พวกเราควรทำจริงๆ นั่นก็คือ การส่งเรื่องราวเหล่านี้ไปให้ถึงรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมมลภาวะที่เกิดขึ้น” เฮเลน ฟิชเชอร์ จากทีมวิจัยทิ้งท้าย

ที่มา: theguardian.com

ปาฐกถาเรื่อง บทบาทและความสำคัญของผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพต่อสังคม

ปาฐกถาเรื่อง

บทบาทและความสำคัญของผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพต่อสังคม

โดย นายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน

ในพิธีมอบครุยกิตติมศักดิ์

มอบหนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

สาขาคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ

และพิธีมอบประกาศนียบัตรศูนย์เรียนรู้เภสัชกรรมปฐมภูมิ

ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันศุกร์ที่  25 มกราคม 2562

นพ.วิชัย โชควิวัฒน
(ภาพ: ชิดชนก เรือนก้อน)

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

วันนี้เป็นวันที่ 25 มกราคม ประวัติศาสตร์เคยจารึกว่าเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำ  ยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา และกองทัพไทยได้ถือเอาวันนี้เป็นวันกองทัพไทย และเป็นวันที่จอมพล ป. พิบูลสงครามใช้เป็นฤกษ์ในการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2485 แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบพบว่า ได้คำนวณปฏิทินจันทรคติเทียบกับสุริยคติผิดไป วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำศึกชนะพระมหาอุปราชาที่ถูกต้อง คือวันที่ 18 มกราคม มิใช่ 25 มกราคม วันกองทัพไทยจึงเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 18 มกราคม

หัวข้อปาฐกถาวันนี้ยาวมาก แต่คำสำคัญมี 3 คำ คือ (1) วิชาชีพเภสัชกรรม (2) การคุ้มครองผู้บริโภค   ด้านยาและสุขภาพ และ (3) สังคม

 

หลักการแห่งวิชาชีพ

วิชาชีพเภสัชกรรมมีกำเนิดมายาวนาน ทางตะวันออกของเราก็มีมาตั้งแต่ก่อนท่านชีวกโกมารภัจจ์ในสมัยพุทธกาล ในจีนก็ย้อนไปตั้งแต่สมัยเสินหนง ซึ่งเป็นบุคคลในตำนาน และทางตะวันตกก็สืบย้อนขึ้นไปถึงสมัยของฮิปโปเครติส ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการแพทย์ (Father of Medicine)

ฮิปโปเครติสได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งการแพทย์ และเป็นผู้วางรากฐานของวิชาชีพด้านการแพทย์ กล่าวคือ ได้แยกความแตกต่างระหว่าง อาชีพ (Occupation) กับ วิชาชีพ (Profession) ไว้อย่างชัดเจนว่า วิชาชีพคืออาชีพที่ต้องมี “อาชีวปฏิญาณ” คือ ต้องปฏิญาณ หรือ สาบาน (Profess) ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะต้องประกอบอาชีพบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม และความรู้ความสามารถ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ดังคำปฏิญาณของฮิปโปเครตีส (Hippocratic Oath) ซึ่งขอนำมากล่าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อทุกท่าน ดังนี้

 

ปฏิญาณของฮิปโปเครติส

ข้าขอสาบานต่อเทพอพอลโล  ในฐานะแพทย์และเทพเอสคิวลาปิอุส ศัลยแพทย์ รวมทั้งไฮเยียและพานาเซีย และขออัญเชิญเทพ และเทพีทั้งปวงมาเป็นสักขีพยาน ว่า ข้าจะยึดมั่นและรักษาคำสัตย์สาบานนี้จนถึงที่สุดแห่งพลังและดุลพินิจของข้า

ข้าจักเทิดทูนครูผู้สอนศิลปศาสตร์ให้แก่ข้า เสมอบิดามารดาของข้า ข้าจะให้สิ่งจำเป็นแก่ท่าน และจะถือบุตรของท่านเป็นภราดาแห่งข้า.  ข้าจะสอนศิลปศาสตร์แก่พวกเขาโดยไม่รับสินจ้างรางวัลหรือข้อสัญญา และข้าจะเปิดเผยทุกสิ่งที่ข้าได้ครอบครอง คำสอนและทุกสิ่งที่ข้าได้เรียนรู้ แก่บุตรแห่งครูข้า เช่น ที่ข้าให้แก่บุตรของข้าเอง และเช่นเดียวกัน แก่นักเรียนทุกคนของข้า ผู้จักผูกมัดตนเองกับคำสัตย์สาบานแห่งวิชาชีพ โดยไม่ผูกมัดกับสิ่งอื่นใดอีก

ในการเยียวยาผู้ป่วย ข้าจะปรุงและสั่งอาหารที่ดีที่สุดแก่พวกเขา ตามดุลพินิจและแนวทางของข้า และข้าจะดูแลพวกเขามิให้ทุกข์ร้อนจากความเจ็บปวดหรือเสียหาย

จักไม่มีใครวิงวอนร้องขอให้ข้าให้ยาพิษแก่ผู้ใดได้ รวมทั้งข้าจักไม่ขอให้ผู้ใดกระทำเช่นนั้น.  ยิ่งกว่านั้น ข้าจักไม่ให้ยาใดๆ แก่หญิงตั้งครรภ์เพื่อทำลายทารกในครรภ์

นอกจากนั้น ข้าจักปฏิบัติตนและใช้ความรู้ของข้าตามครรลองคลองธรรม

ข้าจักไม่ทำผ่าตัดนิ่ว แต่จะให้ทั้งหมดนั้นเป็นงานของศัลยแพทย์

เคหสถานใดที่ข้าเข้าไปสู่ ข้าจักไปเยี่ยมเยือนเพื่อความสะดวกสบายและประโยชน์ของคนไข้ และข้าจะละเว้นจากการทำอันตรายและความผิดทั้งปวง จากความผิดพลาด และ(โดยเฉพาะ) จากการกระทำเชิงชู้สาวกับผู้ใดก็ตามที่ข้ามีหน้าที่ต้องดูแลรักษา ไม่ว่ากับนายหรือบ่าว เป็นทาสหรือเป็นไท

สิ่งใดก็ตามที่ข้าเห็นหรือได้ยิน จากการประกอบวิชาชีพ (แม้ในกรณีที่มิได้รับการเชื้อเชิญ) สิ่งใดก็ตามที่ข้าได้รับรู้ หากไม่สมควรจะกล่าวซ้ำ ข้าจะรักษาไว้ประดุจสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นความลับ ไว้กับตัวข้าเองเท่านั้น

หากข้าปฏิบัติตามคำสัตย์สาบานโดยซื่อสัตย์สุจริต ขอให้ข้าประสบความเจริญและความมั่งคั่งในโชคชะตาและวิชาชีพของข้า และสืบทอดไปจนถึงทายาท หากข้าผิดคำสาบาน ขอให้ข้าประสบชะตากรรมในทางตรงข้าม

 

สำหรับวิชาชีพเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย พัฒนามาพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ เพราะการแพทย์แผนไทยมีรากฐานมาจากการแพทย์ในพุทธอาราม ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล

กำเนิดการศึกษาเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเภสัชกรรมแผนปัจจุบัน ในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 จากพระดำริของจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทำให้เกิด “ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457” ลงนามโดยเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดี ณ   วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และพัฒนามาโดยลำดับ จนเกิดสภาเภสัชกรรม เมื่อ พ.ศ. 2537

 

การคุ้มครองผู้บริโภค

ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยาในประเทศไทย เริ่มปรากฏในกฎหมายอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2452 มีบทลงโทษเรื่องการปลอมปนอาหารและยา ก่อนเริ่มระบบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์  เมื่อ 4 ปี ต่อมา ดังกล่าวแล้ว

องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยาที่มีบทบาทสำคัญของโลก คือ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 จากกรณีที่เด็กจำนวนมากไตวายเสียชีวิตจากการกินยาซัลฟาน้ำ ซึ่งใช้ Diethylene glycol ซึ่งเป็นพิษร้ายแรงต่อไตเป็นตัวทำละลาย ก่อนหน้านั้นมีความพยายามเป็นเวลายาวนานในการผลักดันให้มีหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนยาก่อนจำหน่ายแก่ประชาชน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะสหรัฐก่อตั้งประเทศขึ้นตามคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งเชิดชูหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ สิทธิใน “ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข” หลักการดังกล่าวถือว่า ผู้ประกอบการมีเสรีภาพในการผลิตยาออกจำหน่ายแก่ประชาชน และประชาชนก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซง แต่กรณียาซัลฟาน้ำแสดงหลักฐานชัดเจนว่า เรื่องยานั้นเป็นเทคโนโลยีที่ยุ่งยากซับซ้อน ประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการที่จะคุ้มครองตนเอง จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรของรัฐเข้าไปตรวจสอบ รัฐสภาจึงยอมให้มีรัฐบัญญัติจัดตั้งสำนักงานอาหารและยาขึ้น ซึ่งแต่แรกเน้นการดูแลเรื่องความปลอดภัย (Safety) ของยาเป็นหลัก ต่อมาได้ขยายให้มีการพิสูจน์เรื่องประสิทธิผล (Efficacy) เสียก่อนด้วย และขยายการควบคุม หรือ กำกับดูแล ออกไปยังผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ซึ่งถือกำเนิดตามการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็จัดตั้งขึ้นตามหลักการ และแนวคิดเดียวกันกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ แต่มีข้อแตกต่างสำคัญคือแยกงานด้านการตรวจวิเคราะห์ออกต่างหาก อยู่ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย คือ วิชาชีพเภสัชศาสตร์

สมาชิกกิตติมศักดิ์ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) และคณะผู้บริหาร

 

บทบาทต่อสังคม

ในการแสดงบทบาทต่อสังคม พื้นฐานสำคัญ คือ จะต้องรู้จักสังคมให้เพียงพอ

การที่ประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศของเอเชียที่รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เพราะพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองประเทศในเวลานั้นมีสายพระเนตรกว้างขวาง ยาวไกล และทรงปกครองประเทศด้วยทศพิธราชธรรม

พระมหากษัตริย์ที่ทรงริเริ่มสร้างความทันสมัย (Modernization) ให้แก่ประเทศ  พระองค์แรก คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โชคดีของประเทศไทยที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ในสมณเพศยาวนานถึง     27 พรรษา ก่อนจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีเวลาศึกษาหาความรู้ และทรงคบหากับสังฆราชบาทหลวง    และมิชชันนารีตะวันตก ทำให้ทรงทราบเหตุการณ์ของโลก และภัยคุกคามของเจ้าอาณานิคมต่างๆ อย่างดี

ภัยคุกคามของตะวันตกนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แล้ว เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้รับสั่งให้หาท่านพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็กเข้าไปเฝ้า เมื่อวันอังคารที่     11 กุมภาพันธ์ 2393 รับสั่งว่า

การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เอ็งที่จะ  รับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป  การศึกสงครามข้างญวณข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว  จะมีก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขา ที่ดี  ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว

 

เมื่อ ร.4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงติตตามเหตุการณ์ของโลกในเวลานั้น ซึ่งพม่า ญวณ และจีน

ต่างเสียทีแก่ชาติตะวันตกแล้ว จึงทรงเป็นฝ่ายริเริ่มมีพระราชหัตถเลขาไปเชิญเซอร์จอห์น เบาวริง ซึ่งเวลานั้นเป็นทูตอังกฤษอยู่ ณ เมืองมาเก๊า ให้เขามาเจรจาการค้ากับไทย จนในที่สุดเกิดสนธิสัญญาเบาวริง เมื่อ พ.ศ. 2398

 

แต่ก่อน มักสอนกันในโรงเรียนว่า สนธิสัญญาเบาวริงเกิดจากเราถูกบังคับให้ทำสัญญา เพราะทำให้เราเก็บภาษีได้เพียงร้อยชักสาม และเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งเป็นคำสอนที่ผิด เพราะแท้จริงแล้วเป็นความริเริ่มของฝ่ายไทย โดย ร.4 ทรงมีจดหมายขึ้นต้นว่า “My Dear Friend” เชิญทูตอังกฤษมาเจรจาทำสัญญาการค้า การเก็บภาษีร้อยชักสามก็มีผลเป็นการทำลายการผูกขาด และทำให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรรม จากการปลูกข้าวเพื่อกิน เป็นเพื่อค้าขายด้วย ทำให้เรือที่เข้ามาค้าขายเพิ่มจากปีละ 3 – 4 ลำ เป็นนับร้อยลำ เป็นการเริ่มต้นยุค    ประเทศไทย 1.0 การที่เราต้องเสียเอกราชทางศาลก็เพราะระบบกฎหมาย และการตุลาการของเราเวลานั้นยัง    ล้าหลังมาก

ทั้งนี้ นอกจากทรงคบหากับสังฆราชบาทหลวงมิชชันนารี และอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแล้ว ระหว่างทรงสมณเพศ ยังเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เสด็จไปเมืองเก่าสุโขทัย และทรงพบพระแท่นมนังคศิลาบาท และศิลาจารึก ต่อมาเมื่อ ร. 5 ครั้งบรรพชาเป็นสามเณร ก็ทรงพาเสด็จไปตามหัวเมือง เช่น ไปไหว้พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก เป็นต้น

สมเด็จฯ พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ผู้เป็นที่เคารพบูชาของชาวสาธารณสุข เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ก็ “ทรงสนพระทัยอยากทราบความเป็นไปของบ้านเมือง โดยปลอมพระองค์เป็นสามัญชนตามบิณฑบาตสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธในขณะที่เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธทรงผนวชอยู่”  (ชุมนุมพระนิพนธ์ และบทความเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์, 2508, น. 120)

นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จเข้าไปเยี่ยมนักโทษถึงในเรือนจำด้วย

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงแสดงปาฐกถา เรื่องลักษณะการปกครองของสยามแต่โบราณ ที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อ พ.ศ. 2470 สรุปลักษณะเด่นของคนไทยที่ทำให้ชนชาติไทยสามารถดำรงรักษาเอกราชของชาติมาได้ว่า มี 3 ประการ คือ (1) รักอิสระเสรี (2) ไม่ชอบความรุนแรง และ (3) เก่งในการประสานประโยชน์

คนไทยปัจจุบันโดยมากเป็นชาวพุทธ แต่คนจำนวนไม่น้อยมักตำหนิว่าชาวพุทธไทยส่วนมากเป็นพุทธตามสำมะโนครัว ไม่มีมีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งแท้จริงแล้วคนไทยโดยมากมีความเป็นพุทธโดยรากฐาน เพราะมีความเชื่อในหลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา 3 เรื่อง คือ (1) เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม (2) เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และ (3) เชื่อในพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง  และ อนัตตา

ความรู้ ความเข้าใจในคนไทยและสังคมไทย เป็นรากฐานสำคัญของบุคลากรในวิชาชีพในการทำงานกับ  คนไทยและสังคมไทย จำเป็นที่ทุกวิชาชีพรวมทั้งวิชาชีพเภสัชศาสตร์จะต้องให้ความเอาใจใส่เรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ในคนไทยและสังคมไทย จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

 

อุดมการณ์ และแนวทาง

เบื้องแรก บุคลากรในวิชาชีพเภสัชศาสตร์ เป็นผู้มีความรู้ จะต้องยึดถือตามคติพจน์ของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่ทรงบันทึกไว้ที่แผ่นแรกของสมุดบันทึกปฏิบัติการวิชา Bacteriology ของพระองค์ท่าน ที่ว่า

“ความสำเร็จที่แท้จริง มิใช่เพียงแค่เรียนรู้ แต่อยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ”

“True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mandkind.”

 

หลักการข้อต่อไปในการทำงาน จะต้องมุ่ง เพื่อ “ประโยชน์สุขของประชาชน” โดยต้องยึดถือตามพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนาถบพิตร ที่ว่า

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

และพระราชหัตถเลขาของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่ว่า

                             ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง

                             ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

                             ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง

                             ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

 

สุดท้าย เครื่องมือในการทำงานจะต้องประกอบด้วย (1) ความรู้  (2) ความสุจริต (3) ปัญญา และ (4) สติ ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชนิพนธ์อย่างปฏิภาณกวีพระราชทานในสมุดของกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระอนุชาของพระองค์ท่าน

                                  ความรู้ คู่เปรียบด้วย       กำลัง กายเฮย

                                  สุจริต คือเกราะบัง           ศาสตร์พร้อง

                                  ปัญญา ประดุจดัง             อาวุธ

                                  กุมสติ ต่างโล่ป้อง            อาจแกล้วกลางสนาม

 

เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้

ผู้ที่รับหนังสืออนุมัติฯ และคณาจารย์ วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย