อะโวคาโด เซเลบริตีระดับ A List ในโลกอาหาร

รู้หรือไม่ว่าโลกของอาหารก็มีเซเลบริตีเหมือนกัน ผักและผลไม้บางชนิดกลายเป็นซุป’ตาร์ระดับ A list ผักผลไม้บางชนิดเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนและอาหารการกินของพวกเขา พวกมันเข้าไปควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนมากมาย และรวมถึงมีอิทธิพลในฐานะพืชเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

เราคงจะเคยได้ยินชื่อของ ‘อะโวคาโด’ ทำไมผลอะโวคาโดถึงได้ก้าวมายืนในระดับแนวหน้าของโลกอาหาร ขณะที่แครอทหรือผักกาดกลับไม่สามารถเฉิดฉายบนพรมแดงแถมยังเป็นผักผลไม้ปลายแถวในสายตาของคนทั่วไป คำตอบของเรื่องนี้ซับซ้อนและไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้นได้

นี่คือเรื่องเล่าของอะโวคาโดพิชิตโลก

อะโวคาโดพิชิตโลกได้อย่างไร? หลายคนคงอยากจะรู้คำตอบ ว่าทำไมอะโวคาโดกลายเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่มนุษย์มิลเลนเนียล มันมีคำตอบจากมิติของคุณค่าในตัวเองของอะโวคาโด และการถูกเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

เราจะพบอะโวคาโดได้ทั่วไปในร้าน bistro หรือร้านข้าวแกงแบบฝรั่ง ที่เน้นความรวดเร็วในการรับประทาน เป็นที่นิยมในหมู่มนุษย์มิลเลนเนียล ภายในร้านเน้นขายเมนูที่ง่ายไม่ซับซ้อน มีบรรยากาศและพิธีรีตองน้อยกว่าร้านอาหารภัตตาคาร เมนูที่มีอะโวคาโดเป็นส่วนประกอบได้รับความนิยมและมีราคาสูงลิ่ว

แต่ผลอะโวคาโดกลับมีพลังในการจัดการกับความหิวของมนุษย์มิลเลนเนียลได้เป็นอย่างดี การยอมรับให้มีอะโวคาโดอยู่ในจานของแต่ละมื้อ กลายเป็นว่าอะโวคาโดคืออาหารที่มนุษย์มิลเลเนียลต้องพบเจอในทุกวัน และไม่ใช่แค่เป็นอาหาร ผลอะโวคาโดยังมีอิทธิพลในวงการต่างๆ ในฐานะผลไม้ทำเงินให้หลายร้านและหลายบริษัทอีกด้วย

CEO ขององค์กรอะโวคาโดในวอชิงตัน ดีซี. ได้พูดถึงอะโวคาโดไว้ว่า ผลอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่ขายได้ง่าย อร่อย และเต็มไปด้วยสารอาหาร อะโวคาโด สามารถใช้แทนเนื้อสัตว์ และเป็นที่นิยมในหมู่ของ ‘ชาววีแกน’ (vegan) นี่เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทำให้อะโวคาโดฮิตในคนทุกกลุ่ม

ผลอะโวคาโดประกอบด้วยวิตามินทั้งหมด 20 ชนิดและแร่ธาตุอย่าง โพแทสเซียมที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันความดันโลหิต ลูทีนที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตา และโฟเลตที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

นอกจากนี้อะโวคาโดยังเป็นแหล่งกำเนิดวิตามินบี ที่ช่วยให้เราต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้วิตามินซีและอี ร่วมถึงสารเคมีจากธรรมชาติบางตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง อะโวคาโดมีระดับน้ำตาลต่ำ แถมยังเต็มไปด้วยไฟเบอร์ที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มอย่างยาวนาน คนจึงนิยมรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก นี่คือมิติด้านคุณค่าในตัวเองของอะโวคาโด ที่ทำให้มันโดดเด่นเหนือใคร กลายเป็นขวัญใจของคนรักสุขภาพ

แต่ถ้าเป็นมิติของการถูกเพิ่มคุณค่าแล้วล่ะก็ น่าสนใจทีเดียว อะโวคาโดไม่ได้โด่งดังหรือมีซีนแค่ในร้านอาหารเท่านั้น เพราะในฐานะพืชเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลในชีวิตประจำวันและการใช้ชีวิตของคนทั่วไป บริษัทเดินรถไฟชื่อดังจากสหราชอาณาจักร อย่างบริษัท Virgin Train ได้อาศัยความนิยมของอะโวคาโดเพื่อเพิ่มยอดขายของบริษัท โดยมีการออกโปรโมชั่นที่เรียกกันว่า #Avocard หากผู้โดยสารที่มีอายุอยู่ระหว่าง 26-30 ปี นำผลอะโวคาโดมาแสดงที่สถานี จะได้รับส่วนลดในการซื้อตั๋วรถไฟทันที

แม้ว่ามนุษย์ได้นำผลอะโวคาโดมาทำอาหารเป็นระยะเวลานานหลายพันปีแล้ว แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ที่มนุษย์มิลเลนเนียลเป็นผู้บริโภคผลอะโวคาโดเป็นจำนวนมากกว่าคนกลุ่มอื่นเป็นความจริงและเป็นเรื่องใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ผู้คนที่มีอายุอยู่ระหว่าง 20-30 ปี มีความต้องการดื่มกินผลอะโวคาโดในจำนวนพุ่งขึ้นสูงมากที่สุด ตามรายงานจาก International Trade Centre องค์กรการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ทั่วโลกมีมูลค่าของการนำเข้าผลอะโวคาโดสูงถึง 4,820 ล้านดอลลาร์ ในปี 2016

ความโด่งดังของอะโวคาโดไล่ลุกลามไปถึงวงการการแพทย์ ศัลยกรรมพลาสติกในลอนดอน ปี 2017 มีการรักษาคนไข้ที่บาดเจ็บจากการหั่นผักผลไม้จำนวนมาก ทำให้สต๊าฟของโรงพยาบาลเรียกอาการบาดเจ็บเช่นนี้ว่าเป็น ‘การบาดเจ็บแบบ avocado hand’ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าคนถูกมีดบาดจากอะโวคาโดเป็นจำนวนมาก จนนำมาตั้งชื่ออาการที่ถูกมีดบาดว่า avocado hand

เราจะเห็นว่า มีหลายเหตุการณ์ หลายสถานที่ และหลายที่มา ที่ทำให้อะโวคาโดกลายเป็นผลไม้ที่อยู่ในกระแสและถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่ความนิยมของผลอะโวคาโดพุ่งสูงมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภค และเหตุผลที่สำคัญนั้นคือ

“เมื่อราชาอะโวคาโดได้เสด็จมาถึงจานอาหารของพวกท่านแล้ว ท่านจะไม่ให้เกียรติพระองค์ด้วยการถ่ายรูปพระองค์ลงอินสตาแกรมเลยหรือ?… ”

ใช่แล้ว โซเชียลมีเดียและอินสตาแกรมนี่เอง ที่ทำให้อะโวคาโดกลายเป็นผลไม้ระดับซุป’ตาร์ที่เฉิดฉายไปทั่วโลก เมื่ออะโวคาโดปรากฏบนเฟรมรูปภาพอาหารของเหล่าเซเลบริตีชื่อดังทั้งหลาย ใครๆ ก็อยากจะกินอาหารอย่างเซเลบเขากินกัน ใครๆ ก็อยากจะถ่ายรูปอาหารสวยๆ ลงแอคเคาท์ส่วนตัวของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้มูลค่าของอะโวคาโดเพิ่มสูงขึ้น สูงขึ้น และสูงขึ้น จนทำให้ผลอะโวโดกลายเป็นอาหารเศรษฐกิจในที่สุด

อะโวคาโดได้เดินทางไปสร้างความนิยมไปทั่วโลก ในตลาดอะโวคาโดปรากฏตัวพร้อมกับอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคที่สูงมากทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย รวมถึงประเทศจีน ชาวจีนให้ความสนใจกับผลไม้ชนิดนี้อย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการโพสอินสตาแกรมของเซเลบริตี เช่น คิม คาร์เดเชียน (Kim Kardashian) และลายสักรูปอะโวคาโดของไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus) ที่แขนของเธอ

นอกจากอะโวคาโดแล้ว ผักผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่เดินทางบนถนนสายซุป’ตาร์แบบเดียวกันกับอะโวคาโด ไม่ว่าจะเป็นอาหารตระกูลซูเปอร์ฟู้ด อย่าง อาซาอิเบอร์รี (acai berry) เมล็ดเซีย (chia seed) หรือแม้แต่เคล (kale) ผักใบเขียวที่ดูธรรมดาๆ ก็โด่งดังขึ้นมาด้วยสองปัจจัย จากคุณค่าในตัวเองและการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด

ขณะที่อะโวคาโดคือราชันย์แห่งผลไม้ เคลก็เป็นราชันย์แห่งผัก เคลกลายมาเป็นที่ต้องการในหมู่คนทั่วไปอย่างมาก ครั้งหนึ่งอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ ได้สาธิตวิธีการปั่นเคลสมูธตี แค่นั้นก็ทำให้เคลเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

เราจะเห็นได้ว่า อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย การตลาด หรือแม้แต่การบริโภคของเหล่าเซเลบริตี ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลและส่งผลต่อความคิดของผู้คน และเข้าไปกำกับและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน เพราะโลกมันซับซ้อนขึ้น การดื่มสมูธตีอะโวคาโดเป็นอาหาร หรือมีชิ้นส่วนของอะโวคาโดสไลซ์วางอยู่ข้างจานอาหารเช้า อาจจะไม่ใช่เหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะเราอยากกิน แต่มันอาจจะมาจากหลายเหตุผลที่ต้องกินมันอย่างที่เล่าไปข้างต้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
fruitnet.com
webmd.com

 

แม่น้ำปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ต้นเหตุวิกฤติดื้อยาแพร่กระจาย

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ค (University of York) ในอังกฤษ ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำใน 72 ประเทศ และพบว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่เก็บมานั้นปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา เช่น บังคลาเทศ ปากีสถาน เคนยา กานา และไนจีเรีย ที่มีการปนเปื้อนอยู่เกินระดับปลอดภัย

ระดับปลอดภัยที่ว่านี้คือ 20,000-32,000 นาโนกรัมต่อลิตร ขึ้นอยู่กับชนิดของยา กรณีที่แย่ที่สุดคือบังคลาเทศ ที่พบยา Metronidazole ซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียบนผิวหนัง ทางเดินหายใจ และช่องคลอด เกินระดับปลอดภัยถึง 300 เท่า

ทีมวิจัยตั้งต้นมองหายาปฏิชีวนะที่ใช้กันทั่วไป 14 ชนิด ที่พบบ่อยมากถึง 43 เปอร์เซ็นต์คือ Trimethoprim ซึ่งใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และยังพบอีกว่า Ciprofloxacin ยารักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง กระดูก และข้อต่อ และระบบทางเดินหายใจ อยู่เกินระดับปลอดภัยถึง 51 แห่ง

ข้อมูลที่ถูกเก็บจาก 711 จุดจากพื้นที่ในแม่น้ำสายสำคัญของโลก ทั้งเจ้าพระยา ดานูบ แม่น้ำโขง แซน เธมส์ ไทเบอร์ และไทกริส พบว่า จุดอันตรายมักอยู่ใกล้โรงบำบัดน้ำเสียหรือบริเวณกองขยะ รวมถึงอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง จนไม่มีใครเข้าไปจัดการ

การค้นพบที่จะนำเสนอในการประชุมประจำปีของ Society of Environmental Toxicology and Chemistry ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ แสดงให้เห็นว่า ปัญหายาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำเกินกว่าระดับปลอดภัย มักพบในประเทศกำลังพัฒนา ข้อมูลจากยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ แสดงให้เห็นว่าการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในแม่น้ำเป็นปัญหาระดับโลก

จอห์น วิลกินสัน (John Wilkinson) จากภาควิชาสิ่งแวดล้อมและภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์ค กล่าวว่า “ส่วนสำคัญของงานชิ้นนี้คือการเริ่มต้นตอบคำถามว่า ‘แล้วไงเหรอ’ หรือมากว่านั้นคือ ‘การปนเปื้อนที่ว่านี้มันเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า’ ”

 

วิกฤติระดับโลก

เดือนที่ผ่านมา สหประชาชาติเรียกการดื้อยาปฏิชีวนะว่าเป็น ‘วิกฤติระดับโลก’ ภาวะดื้อยานี้เป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิตทั่วโลกราว 700,000 รายต่อปี ซึ่งรวมถึง 230,000 รายที่เสียชีวิตจากวัณโรคดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant tuberculosis: MDRTB) อ้างอิงจากรายงานการดื้อยาต้านจุลชีพของ Interagency Coordination Group (IACG) ขององค์การสหประชาชาติ และหากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ทีมผู้จัดทำรายงานประมาณคร่าวๆ ว่า ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะดื้อยาถึงปีละ 10 ล้านคน

อลิสแตร์ บอกซอลล์ (Alistair Boxall) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยยอร์ค เรียกการค้นพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำครั้งนี้ว่าทำให้ “ตาสว่างและน่าหนักใจ” เพราะมันกำลังบอกว่าการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในแม่น้ำอาจเป็น “ผู้สนับสนุนที่สำคัญ” ที่จะนำไปสู่ภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ

เพื่อเป็นการสู้กับภาวะดังกล่าว บอกซอลล์กล่าวว่า มันจำเป็นมากที่จะต้องลงทุนกับระบบสาธารณูปโภคด้านการกำจัดขยะและระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเคลียร์พื้นที่ที่มีการปนเปื้อน

“การแก้ปัญหานี้กำลังเป็นการท้าทายระดับงานช้างทีเดียว”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
cnn.com

 

มือปราบหมอฟันเถื่อน

รับแจ้งเบาะแส ประสานงาน ตรวจสอบข้อมูล ก่อนเป็นกระบอกเสียง ส่งต่อเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คือ ภารกิจหลักของเพจเฟซบุ๊คชื่อดุดัน ‘มือปราบหมอฟันเถื่อน’

คุยกับ ทันตแพทย์ประพัฒน์ ศานติวงษ์การ หรือ หมอหมี หนึ่งในผู้ดูแลเพจที่วันนี้เขาไม่ได้มาปราบผี แต่มาปราบหมอฟันเถื่อน..

การออกกำลังกายทำให้เรามีความสุขมากกว่ามีเงิน

  • นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ มีข้อพิสูจน์ว่าการออกกำลังกายนั้นสำคัญและมีผลต่อสุขภาพจิตมากกว่าสถานะทางเศรษฐกิจ
  • นักวิทยาศาสตร์พบว่า ขณะที่เรากำลังออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มจะ ‘รู้สึกแย่’ ราวๆ ปีละเพียง 18 วัน ขณะที่คนไม่ได้ออกกำลังกายจะรู้สึกแย่อย่างน้อย 35 วันใน 1 ปี
  • ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า ชนิดกีฬาที่มีการแข่งเป็นทีม (involve socialize) เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ

 

ไม่ต้องอธิบายกันแล้วว่าการออกกำลังกายมีผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ แต่ถ้าเราสามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้จริงๆ ว่า การออกกำลังกายสำคัญต่อสุขภาพใจ ยิ่งกว่าสถานะทางเศรษฐกิจ ก็น่าจะดีและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายว่า กระบวนการการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมของการมีกิจกรรมทางร่างกาย และสภาพจิตของชาวอเมริกันกว่า 1.2 ล้านคน

โดยแต่ละคนต้องตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ เช่น ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านคุณรู้สึกไม่ดีบ่อยแค่ไหน มีความเครียด ซึมเศร้า หรือปัญหาทางอารมณ์อื่นๆ อย่างไร

รวมถึงคำถามเรื่องรายได้ การออกกิจกรรมทางร่างกาย โดยมีกิจกรรมทางกายให้เลือกถึง 75 ชนิด ตั้งแต่ ตัดหญ้า เลี้ยงเด็ก ทำงานบ้าน ไปจนถึงยกน้ำหนัก ปั่นจักรยาน และวิ่ง

 

คนที่มีกิจกรรมทางกายบ่อยๆ มีแนวโน้มมีความสุข

นักวิทยาศาสตร์พบว่า กลุ่มคนที่มีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มจะรู้สึกแย่ราวๆ ปีละเพียง 18 วัน ขณะที่คนไม่ได้ออกกำลังกายจะรู้สึกแย่อย่างน้อย 35 วันใน 1 ปี

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะมี ‘ความรู้สึกดี’ มากพอๆ กับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่หาเงินได้อย่างต่ำปีละ 25,000 ดอลลาร์

นั่นหมายความว่า สำหรับคนไม่ได้ออกกำลังกาย คุณต้องหาเงินให้ได้มากกว่าเดิม เพื่อสร้างความสุขให้เท่ากับที่กีฬาหรือการออกกำลังกายมอบให้คุณ

 

การออกกำลังกายที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต

แน่นอน การออกกำลังกายเป็นสิ่งดี แต่มากแค่ไหนถึงเรียกว่ามากเกินไป

“ความสัมพันธ์กันระหว่างช่วงเวลาการออกกำลังกายและแบกรับความกดดันทางจิตใจ มีลักษณะเป็นรูปตัว U” อดัม เชคราวด์ (Adam Chekroud) จากมหาวิทยาลัยเยล ให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมัน Die Welt

ถ้าดูจากค่าเฉลี่ยจากกราฟตัว U ของ All exercises หมายความว่า คนที่ออกกำลังกายเฉลี่ยเดือนละ 30 วันมีขีดความสามารถในการแบกรับความกดดันทางใจได้เท่าๆ กับ คนที่ออกกำลังกายเฉลี่ยเดือนละ 2-4 วัน

ฉะนั้นเดินทางสายกลาง ออกกำลังกายพอประมาณ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

งานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายครั้งละ 30-60 นาที จำนวน 3-5 วัน/ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเรื่องในอุดมคติของทุกคน หรือแปลง่ายๆ ว่า เอาเข้าจริงมันทำได้ยากมาก

อย่างไรก็ตาม มันก็มีผลข้างเคียง สุขภาพจิตของนักออกกำลังกายแต่ละคนที่ออกกำลังกายมากกว่า3-5 ชั่วโมง/วัน จะแย่มากกว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ทีมวิจัยฯ ยังพบด้วยว่า กีฬาที่รวมทีมและเล่นกับคนอื่น ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าการเล่นกีฬาเดี่ยวๆ ชนิดอื่น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
weforum.org

 

420 HIGHLAND : กัญชา ≠ อาชญากรรม

กัญชา = ยาเสพติด คือมายาคติที่ฝังหัวคนไทยมาเกือบชั่วอายุคน
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มนุษย์มีความรู้มากขึ้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ค้นพบว่า
กัญชาไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหาเสมอไป เพียงแต่เหรียญอีกด้านของมันยังไม่เคยถูกพลิกขึ้นมา
พิจารณาด้วยใจที่ปราศจากอคติต่างหาก

เสียงเพรียกของหนุ่มสาวชาว ‘กัญชาชน’ พยายามบอกสิ่งนี้กับสังคมไทย ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่ง
มายาคติในโลกเก่าที่ตัดสินทุกอย่างเป็นแค่สีขาวกับสีดำ จะต้องถูกทลายลง

เลือกดื่มน้ำผลไม้ ก็เสี่ยงตายเพราะความหวาน

ไม่ว่าจะเลือกน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมดับกระหาย ก็มีโอกาสผลักร่างกายให้เสียชีวิตไวขึ้นได้พอๆ กัน โดยผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Network Open ระบุว่า การดื่มน้ำผลไม้มากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ตั้งแต่ 9-42 เปอร์เซ็นต์

แม้แต่น้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งน้ำส้มที่อ้างว่าเป็นน้ำส้มธรรมชาติ ก็มีน้ำตาลพอๆ กับน้ำอัดลมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลชนิดอื่นๆ

“ควรมีการจำกัดเครื่องดื่มรสหวานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้” จีน เอ. เวลช์ (Jean A. Welsh) บอก เธอเป็นผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) รัฐแอตแลนตา

ตอนนี้ 7 เมืองในอเมริกา รวมถึงนิวยอร์ค และล่าสุดฟิลาเดลเฟีย ได้เริ่มเรียกเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานจากน้ำตาล โดยตั้งเป้าเพื่อลดการบริโภคความหวาน กฎหมายเหล่านี้กำลังเน้นย้ำข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานต่างๆ ล้วนมีส่วนต่อโรคอ้วนในเด็กและโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

น้ำผลไม้เสี่ยงเท่าน้ำอัดลม

ผลการศึกษาใหม่ได้ให้นิยาม ‘เครื่องดื่มรสหวาน’ ว่าเป็นทั้งเครื่องดื่มดับกระหายที่เติมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสผลไม้ เช่นเดียวกับน้ำผลไม้ธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เติมน้ำตาล

แล้วน้ำผลไม้ถูกจัดรวมอยู่กับน้ำอัดลมได้อย่างไร

“การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำตาลสูงจากน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ เชื่อมโยงกับหลายปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด” เวลช์อธิบาย โดยโรคอ้วน เบาหวาน และไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มขึ้นล้วนอยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงที่โยงกับการกินน้ำตาลมากไป “ด้วยการศึกษาเพียงไม่กี่ครั้งก็เห็นแล้วว่าการกินแบบนี้นำไปสู่การเสียชีวิตได้”

เพื่อหาทางออกให้ปัญหา เธอและทีมงานได้ดึงข้อมูลมาจากผลการศึกษาด้านสาเหตุของความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และเชื้อชาติในโรคหลอดเลือดสมอง โดยทำความเข้าใจสาเหตุที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากกว่าเชื้อชาติอื่น และสาเหตุที่ชาวตะวันออกเฉียงใต้มีอาการเส้นเลือดอุดตันมากกว่าในพื้นที่อื่นของอเมริกา

จากการศึกษาผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เวลช์และทีมงานได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป 13,440 คน ผลคือเกือบ 71 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยเป็นผู้ชายไปเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์

การศึกษายังเปิดเผยว่า คนที่บริโภคแคลอรีจากน้ำหวานวันละ 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากสาเหตุต่างๆ 14 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าคนที่รับแคลอรีจากเครื่องดื่มรสหวานน้อยกว่าวันละ 5 เปอร์เซ็นต์

การดื่มน้ำผลไม้วันละ 12 ออนซ์ (354 มล.) ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ สูงกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ และการดื่มน้ำหวานในปริมาณเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยง 11 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ตรงกันระหว่างเครื่องดื่มรสหวานและการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

“สำหรับผลต่อน้ำรสหวานและน้ำผลไม้แต่ละชนิด เราจำเป็นต้องชัดเจนว่า ความเสี่ยงที่นำเสนอออกไปนั้นสัมพันธ์กับการบริโภคขั้นต่ำสุดของแต่ละคนในปัจจุบันจริงๆ” เวลช์อธิบาย

เธอไม่แปลกใจกับการค้นพบนี้ โดยบอกว่า “จำนวนกลไกทางชีววิทยาชี้ให้เห็นว่าน้ำหวานยิ่งทำให้ร่างกายต่อต้านอินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่การบริโภคน้ำตาลฟรุคโตสอาจกระตุ้นฮอร์โมนที่เร่งให้รอบเอวขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน”

ดื่มน้ำผลไม้แค่ไหนดี

“การศึกษานี้เป็นหนึ่งในครั้งแรกๆ ที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มรสหวานต่างๆ รวมถึงน้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” มาร์ทา กวาช-เฟอร์เร (Marta Guasch-Ferré) นักวิจัยจากภาควิชาโภชนวิทยา วิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ทีเอช ชาน (Harvard T.H. Chan School of Public Health) และ แฟรงค์ บี. ฮู (Frank B. Hu) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด ก็ได้ตีพิมพ์บทความใหม่คู่ไปกับผลการศึกษาดังกล่าว

กวาช-เฟอร์เรและฮู ซึ่งไม่เกี่ยวกับการวิจัยนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผลที่ได้ยังมีข้อจำกัด เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยมาก การวิเคราะห์ดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่แข็งแรงพอ ต้องอาศัยเวลาและผู้เข้าร่วมจำนวนมากจึงจะทำให้สัญญาณความเสี่ยงเหล่านั้นแข็งแรงขึ้น แถมผู้เข้าร่วมแต่ละคนบันทึกการดื่มน้ำหวานแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอ้างอิงจากการรายงานด้วยตนเองซึ่งไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ

“แม้ว่าน้ำผลไม้อาจไม่อันตรายเท่าเครื่องดื่มรสหวาน แต่การบริโภคเครื่องดื่มจำพวกนี้ควรผ่านการกลั่นกรองในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนที่อยากคุมน้ำหนัก” ทั้งสองเขียนไว้

สถาบันกุมารเวชศาสตร์และแนวทางการบริโภคของชาวอเมริกัน (American Academy of Pediatrics and the Dietary Guidelines for Americans) แนะนำไว้ว่า เด็กอายุระหว่าง 1-6 ปีต้องมีการจำกัดการดื่มน้ำผลไม้ไว้แค่วันละ 6 ออนซ์ ขณะที่เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป วัยรุ่น และผู้ใหญ่ควรจำกัดไว้ที่วันละ 8 ออนซ์

“คงต้องทำวิจัยเพิ่มเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงที่ชัดเจนขึ้น” กวาช-เฟอร์เรและฮู บอก

เมื่อคิดถึงปริมาณน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน คงต้องพิจารณาทั้งน้ำผลไม้และน้ำหวานต่างๆ โดยระหว่างเครื่องดื่มสองชนิด เวลช์ให้น้ำหนักไปทางน้ำผลไม้มากกว่าเล็กน้อย

“จากข้อความที่ระบุว่ามีวิตามินและแร่ธาตุที่พบบ่อยบนฉลาก น้ำผลไม้อาจสร้างผลกระทบในแบบที่ไม่เห็นในน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานประเภทอื่น”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com

 

รู้ไหมว่าข้างเบเกิล ชา และกาแฟของคุณมียาฆ่าแมลง

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ของร้านกาแฟยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก เมื่อผู้บริโภคพบสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงในอาหารจาก Starbucks ส่งผลให้ Starbucks ถูกศาลสั่งฟ้องถึง 2 คดีด้วยกัน คำฟ้องร้องของศาลออกมาในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม ลูกค้า Starbucks กว่า 10 ราย อ้างว่า พวกเขาพบสารกำจัดแมลงที่ใช้ในทางการเกษตรหลังจากซื้อเครื่องดื่มและสินค้าของ Starbucks ในหลายๆ เมือง ซึ่งเหตุนี้เกิดขึ้นนานมากกว่า 3 ปี

คดีแรก ว่าด้วยความปลอดภัยในการประกอบอาหาร ลูกค้า Starbucks จำนวนหนึ่งในนครนิวยอร์ค พบกับสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารของพวกเขา สาเหตุเกิดจากแผ่นกันแมลงยี่ห้อ Hot Shot No-Pest Strips แม้ประโยชน์ใช้สอยของมันมีมหาศาล แต่กลับเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างคาดไม่ถึง

สารพิษที่เป็นอันตรายถึงชีวิตชื่อ ไดคลอร์วอส (Dichlorvos) ซึ่งใช้ในทางการเกษตรในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (organophosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของแผ่นดักแมลง Hot Shot ผลิตโดยบริษัท Spectrum Brands เป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไปและใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั้งในบ้านและในสวน แต่ใครจะรู้ว่าเจ้าแผ่นดักแมลงตัวเก่งได้แพร่กระจายสารพิษในอาหารและเครื่องดื่มในร้าน Starbucks เป็นระยะเวลานานหลายปี จนกระทั่งมีผู้ร้องเรียนปรากฎตัวขึ้นมา

ในสำนวนของศาล สารไดคลอร์วอสเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการสูญเสียการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจติดขัด มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และกล้ามเนื้อบางส่วนเป็นอัมพาต

แล้วไม่มีใครเอะใจหรือสนใจเลยหรือ?

มีอดีตพนักงาน Starbucks เคยแจ้งเรื่องความอันตรายของการใช้อุปกรณ์กำจัดแมลงชนิดนนี้ในร้านต่อทางสาขา แต่ก็ไม่เกิดการปรับเปลี่ยนเจ้าอุปกรณ์ดักและกำจัดแมลงชนิดนี้เลย ไม่เพียงแต่อดีตลูกจ้างของ Starbucks แม้แต่บริษัทกำจัดปลวกที่คอยดูแลร้านก็ได้เตือนให้ Starbucks ระวังถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แต่บทสรุปกลับจบลงที่ความเงียบ Starbucks เองก็ปกปิดเรื่องในเอาไว้และไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบและยังคงใช้เจ้าแผ่นดักแมลงนี้ต่อมา

ขณะที่ข้อกล่าวหาที่ 2 ที่ทาง Starbucks ได้รับมาจากศาลในแมนฮัตตัน เพราะนอกจากการปล่อยให้มีสารพิษปนเปื้อนในอาหารแล้ว Starbucks ยังไล่พนักงานที่เตือนเรื่องความอันตรายของแผ่นดักแมลงออกจากงานทันที ไล่พนักงานออกก็ยังไม่จบความอลวน Starbucks ยังไปยกเลิกสัญญากับบริษัทกำจัดแมลงที่เตือน Starbucks ในเรื่องนี้อีกด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
nbcnews.com

 

แม้จะอ้วน แต่เดินเร็วกว่า ก็อายุยืนยาวได้

การเคลื่อนไหวให้ผลบวกต่อร่างกายมากกว่านั่งอยู่เฉยๆ แน่นอนว่าการเผาผลาญพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สุขภาพดี ตอนนี้มีงานวิจัยสำรวจลงลึกกว่านั้น โดยพบว่า แค่ ‘การเดิน’ ช้าหรือเร็ว ก็อาจส่งผลให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวต่างกัน

งานที่เผยแพร่ใน Mayo Clinic Proceedings สรุปว่า ผู้ที่เดินอย่างกระฉับกระเฉงมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy – อายุโดยเฉลี่ยของประชากรที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่) ยืนยาวกว่า และอายุคาดเฉลี่ยนี้ยังมีอัตราคงที่ แม้จะเป็นคนอ้วน ไขมันสูง น้ำหนักเกิน และค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) มากกว่ามาตรฐาน จนอาจตั้งสมมุติฐานต่อไปได้ว่า ความฟิตทางร่างกายเป็นตัวชี้วัดการมีสุขภาพที่ดีได้ดีกว่า BMI

งานศึกษาชิ้นนี้นำโดย National Institute for Health Research (NIHR) จากศูนย์วิจัยทางชีวเวชศาสตร์เลสเตอร์ (Leicester Biomedical Research Centre) เป็นงานชิ้นแรกที่จับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของการเดินอย่างกระฉับกระเฉงว่าส่งผลต่ออายุคาดเฉลี่ยโดยไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์น้ำหนักตัว

ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลพันธุกรรมจาก UK Biobank ของประชากร 474,919 คน ใช้เวลาเก็บข้อมูลตั้งแต่ 13 มีนาคม 2006 – 31 มกราคม 2016 โดยอายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมทำการวิจัยคือ 58.2 ปี ทุกคนมีค่า BMI เฉลี่ย 26.7 เปอร์เซ็นต์ ไขมันสูง อยู่ในข่ายน้ำหนักเกินมาตรฐาน – หรือจัดว่าเป็นคนอ้วน

ผลออกมาพบว่า ผู้เข้าร่วมทำการวิจัยที่ยืนยันว่าตัวเองเดินด้วยความเร็วกระฉับกระเฉงมีอายุคาดเฉลี่ยสูงในทุกระดับ BMI ผู้ชายอยู่ที่ 85.2-86.8 ปี และ 86.7-87.8 ปี สำหรับผู้หญิง ขณะที่คนเดินช้า มี BMI น้อยกว่า 20 และน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีอายุคาดเฉลี่ยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ คือ 72.4 ในผู้หญิง และ 64.8 ในผู้ชาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วนับว่าเป็นตัวเลขที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ทอม เยตส์ (Tom Yates) ศาสตราจารย์ด้านการเคลื่อนไหว จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) กล่าวว่า “การค้นพบของเราช่วยให้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างความฟิตของร่างกายและน้ำหนักตัวที่จะส่งผลต่ออายุคาดเฉลี่ยในแต่ละบุคคล หรือพูดอีกอย่างคือ การค้นพบนี้แนะนำว่า บางทีความแข็งแรงทางร่างกายอาจจะเป็นตัวชี้วัดอายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ที่ดีกว่า BMI ก็ได้ และนั่นจะกระตุ้นให้ทุกคนหันมาเดินและเคลื่อนไหวร่างกายกันอย่างกระฉับกระเฉงว่องไวเพื่อยืดอายุขัยของตัวเองออกไป

“การศึกษาจากหลายประเทศแสดงให้เห็นความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนว่ามีอัตราเสียชีวิตน้อยถ้าร่างกายฟิตมากพอ” และ “งานศึกษาส่วนใหญ่รายงานถึงข้อดีของความฟิตที่สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงการเสียชีวิต เช่น ร่างกายที่แข็งแรงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์”

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังต้องทำงานต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปว่า ความเสี่ยงของกลุ่มคนที่มีค่า BMI ต่ำกว่ามาตรฐานและเดินช้า ยังสามารถยืดอายุคาดเฉลี่ยของพวกเขาได้โดยเพิ่มความฟิตทางกายของตนเองได้หรือไม่

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
newsweek.com

สารเคมีในครีมกันแดด ทาเพียงครั้งเดียวก็ซึมเข้ากระแสเลือดได้

องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า สารเคมีที่ใช้ทั่วไปในครีมกันแดดหลายชนิดสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดของคนได้จนเกินระดับที่ปลอดภัย แม้ว่าจะใช้เพียงแค่วันเดียว

สอดคล้องกับบทความในวารสารการแพทย์ JAMA (The Journal of the American Medical Association) ที่ระบุว่า ความเข้มข้นของสารเคมีบางอย่างในเลือดจะเพิ่มขึ้น หากใช้ครีมกันแดดติดต่อกันประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง และจะตกค้างอยู่ภายในร่างกายเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

สารเคมีดังกล่าวคือ อโวเบนโซน (Avobenzone) ออกซิเบนโซน (Oxybenzone) อีคัมซูล (Ecamsule) และ ออคโตคริลีน (Octocrylene) ซึ่งสารทั้ง 4 เหล่านี้ล้วนอยู่ในบัญชีรายชื่อของ FDA ที่ยังไม่ถูกพิจารณาว่าเป็น ‘สารที่ปลอดภัย’

โดย FDA ทำการทดลองจากอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 24 คน แต่ละคนจะได้รับการสุ่มใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของอโวเบนโซน, ออกซิเบนโซน หรือออคโตคริลีน แตกต่างกันไป โดยอาสาสมัครจะต้องทาครีมกันแดดลงทั่วผิวหนัง คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย 4 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นภายใน 7 วัน ทางทีมวิจัยจึงทำการทดสอบโดยการตรวจเลือด

ผลพบว่า อาสาสมัคร 5 ใน 6 คน ที่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของอีคัมซูล มีระดับของสารอีคัมซูลในเลือดสูงหลังจากทาครีมกันแดดวันแรก ส่วนอาสาสมัครคนที่เหลือที่ทดลองโดยใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารอื่น ทุกคนมีระดับออกซิเบนโซนอยู่ในกระแสเลือดสูงหลังจากการใช้วันแรก

สำหรับทางออก ในสหภาพยุโรปได้กำหนดให้ใช้สารกันแดดชนิดใหม่แทนการใช้สารออกซิเบนโซน แต่ผลิตภัณฑ์นั้นยังไม่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัย จึงยังไม่ถูกอนุมัติโดย FDA ดังนั้นจึงพบว่า ยังมีการใช้ออกซิเบนโซนอยู่มากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ผิวหนังมนุษย์จะดูดซึมสารต่างๆ เข้าไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้ผลิตควรตระหนักคือการตรวจสอบว่าสารเคมีเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ โดยเฉพาะในครีมกันแดด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวหนังของเราจากรังสีต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://amp.cnn.com/cnn/2019/05/06/health/sunscreen-bloodstream-fda-study/index.html

 

ตรวจพันธุกรรมเสี่ยงโรคอ้วน จำเป็นหรือสูญเปล่า

เมื่อผลการทดสอบพันธุกรรมเพื่อดูแนวโน้มโรคอ้วนจาก เซการ์ คาธีเรซาน (Sekar Kathiresan) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและนักพันธุศาสตร์จากสถาบันบรอด (Broad Institute) กับทีมงาน ได้เผยแพร่ผ่านวารสาร Cell กระแสโต้กลับของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็เกิดขึ้นทันที

คำถามหลักไม่ได้อยู่ที่การ ‘ใช้ได้จริง’ แต่อยู่ที่ว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเจาะเข้าไปในคลังข้อมูลพันธุกรรม ในเมื่อไม่มีวิธีที่ชัดเจนสำหรับการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้

ปัจจุบัน ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 40 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคอ้วนและมีน้ำหนักเกินมากขึ้น ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของมนุษย์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเอื้อให้นำไปสู่สภาพที่โรคอ้วนขยายตัวแพร่หลาย

แม้โรคบางโรคมีสาเหตุมาจากความผิดเพี้ยนของยีนตัวใดตัวหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุของโรคทั่วไป รวมถึงโรคอ้วน ขณะเดียวกันยีนอีกหลายพันตัวกลับมีบทบาทเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนแทน

คาธีเรซานและทีมงานได้ทดลองหาความแตกต่างทางพันธุกรรมและดูผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ที่การระบุรูปแบบทางพันธุกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่อโรคอ้วนให้ผู้คนมากที่สุด

“ข้อมูลด้านพันธุกรรมนี้จะสามารถอธิบายถึงเหตุผลที่บางคนตัวใหญ่โตมาก และสาเหตุที่พวกเขาต้องเจอปัญหากับการลดน้ำหนัก” เขาบอก

 

งานวิจัยเก็บคะแนนความเสี่ยงโรคอ้วน

ทีมของเขาระบุ DNA ที่เข้าข่ายได้มากกว่า 2 ล้านชนิด แม้จะพบว่าตัวแปรส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ลึกๆ เขาคิดว่าความสัมพันธ์ต้องซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง ในการเปลี่ยนแปลงหลายพันครั้งมีส่วนเล็กน้อยต่อความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคอ้วน

แม้จะไม่มียีนตัวใดตัวหนึ่งที่สร้างความเสี่ยงได้มากนัก แต่เขาบอกว่าผลโดยรวมจากคะแนนความเสี่ยงของยีนหลายตัวที่เรียกว่า Polygenic Risk Score ยังคงมีประโยชน์อยู่ โดยกลุ่มคนที่มีคะแนนสูงสุดมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนขั้นรุนแรงได้มากกว่า (มีดัชนีมวลกายหรือ BMI มากกว่า 40) ทั้งนี้ ในกลุ่มคนที่มีคะแนนพันธุกรรมสูงสุดมีคนเป็นโรคอ้วน 43 เปอร์เซ็นต์

แต่คะแนนกับผลที่ได้ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบพอ เช่น 17 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีคะแนนสูงสุดก็ยังคงมีน้ำหนักตัวปกติ

“ผลกระทบทางพันธุศาสตร์เริ่มต้นขึ้นเร็วมาก ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 3 ขวบ นั่นทำให้เราเองก็ประหลาดใจเช่นกัน” คาธีเรซานบอกว่า ยิ่งป้องกันตั้งแต่เด็กก็ยิ่งสำเร็จได้เร็วขึ้น

มีการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่ซับซ้อนจำนวนมากอยู่เบื้องหลังการศึกษานี้ โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300,000 คน แต่ข้อสรุปกว้างๆ ที่ออกมากลับไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนักวิทยาศาสตร์ต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญต่อโรคอ้วน และการศึกษาอื่นๆ ก็แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงที่จะโตมาอ้วนในวัยผู้ใหญ่ด้วย

เซซิล แจนส์เซนส์ (Cecile Janssens) นักระบาดวิทยาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University) ไม่ได้ใส่ใจถึงกลยุทธ์การเพิ่มความเสี่ยงเล็กๆ จากตัวแปรทางพันธุกรรมหลายล้านตัวเพื่อสร้างคะแนนความเสี่ยงสะสม

“พูดตรงๆ เราไม่รู้เลยว่าตัวแปรเหล่านี้สำคัญหรือเปล่า” เธอตอบคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของการศึกษาในทำนองนี้ “มันก็ไม่ค่อยจะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องจากมุมมองทางชีววิทยาเท่าไหร่ รวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องจากมุมมองทางด้านการรักษาด้วย”

การวิเคราะห์ประเภทนี้ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลของยีนตัวที่มีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วน จึงไม่อาจนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจความสำคัญทางชีววิทยาได้ หากโรคอ้วนเป็นโรคหายาก การทดสอบแบบนี้อาจมีประโยชน์ต่อกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่เมื่อมันกำลังกระทบชาวอเมริกัน 40 เปอร์เซ็นต์ ความพยายามในการป้องกันโรคจึงควรรวมทุกคนเข้าไปด้วย

แจนเซนส์เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ค้านวิธีใช้ยีนเป็นศูนย์กลางของโรคต่างๆ พวกเขาผิดหวังที่เห็นเม็ดเงินจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในงานพันธุศาสตร์แนวนี้ มากกว่าจะพยายามเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมที่นำไปสู่โรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน

โรคอ้วน

ยีนหรือชะตากรรม?

อีวาน เบอร์นีย์ (Ewan Birney) หัวหน้าสถาบันชีวสารสนเทศศาสตร์ยุโรป (European Bioinformatics Institute) ได้เฝ้าดูประเด็นนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาเห็นด้วยว่าโรคอ้วนไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีสำหรับการวิเคราะห์ประเภทนี้

“งานวิจัยต้องทำให้ได้มากกว่าแค่แสดงความสัมพันธ์ทางสถิติที่แข็งแกร่ง แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถใช้มัน ต้องแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถใช้สิ่งนั้นเพื่อแทรกแซงโรคนั้นๆ ได้”

เบอร์นีย์ยังคิดว่าการทำฐานข้อมูลครั้งนี้มีมากเกินไป การศึกษานี้ยึดข้อมูลจากธนาคารชีวภาพของสหราชอาณาจักรและตัวอย่างของอเมริกา ซึ่งเป็นแค่คนกลุ่มน้อย อาจใช้เป็นตัวแทนทางเชื้อชาติไม่ได้

อาลี ทอร์คามานี (Ali Torkamani) หัวหน้าฝ่ายข้อมูลพันธุกรรมที่สถาบันวิจัยสคริปส์ (The Scripps Research Institute) บอกว่า หากมีการสำรวจยีนอย่างรอบคอบ แทนที่จะใช้เป็นแค่คะแนนความเสี่ยงเชิงนามธรรม อาจทำให้ระบุตัวแปรทางพันธุกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้จริงๆ

ขณะที่ยีนมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน แต่การแพร่ระบาดของโรคไปไกลกว่าแค่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

“ก็แค่ความน่าจะเป็น เหมือนเวลาคุณโยนเหรียญขึ้นไป มันก็ตกลงมาได้ผลทั้งหัวและก้อย” เขาบอก “เพราะคะแนนความเสี่ยงสูงไม่ใช่ชะตากรรมที่บอกว่าคุณ ‘ต้อง’ เป็นโรคอ้วน”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
npr.org