สกัดบทเรียน “กัญชา” ก้าวไปด้วยปัญญา

ในยุคที่ กัญชา กำลังมาแรง มาสำรวจกันดูว่า 4 ประเทศที่ก้าวไปก่อนเรา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เยอรมัน และ อิสราเอล เขามีมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร และสอดคล้องกับของไทยเราหรือไม่

  • ปัจจุบัน แคนาดา, เยอรมัน อิสราเอล และอีกกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐในสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้กัญชาเป็นพืชสมุนไพร (raw herbal cannabis)
  • ทุกประเทศอนุญาตให้ใช้สารสกัดแคนนาบินอยด์ได้เป็นบางชนิด และมีการจำกัดข้อบ่งใช้ในบางประเทศ
  • ระบบการสั่งจ่ายยากัญชาทางการแพทย์ ทั้งไทยและ 4 ประเทศ คล้ายคลึงกัน คือ จ่ายยาผ่านแพทย์แผนปัจจุบัน มีการลงทะเบียนผู้ป่วยกับ “Cannabis agency” ซึ่งหน่วยงานกลางของรัฐที่ดูแลกัญชาโดยเฉพาะ

ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย

  1. รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานกลางเรื่องกัญชาทางการแพทย์ โดยครอบคลุมทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  2. กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการรักษาเรื่องกัญชาทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบสมุนไพร และรูปแบบสารสกัด โดยมีระบบการสั่งจ่ายยาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย
  3. ผู้ป่วยมีสิทธิสามารถมีสิทธิในการรักษาโรคเพื่อการเข้าถึงกัญชา

ที่มา รายงานวิจัย “นโยบายกัญชา:การวิเคราะห์เปรียบเทียบไทย, สหรัฐฯ, แคนาดา, เยอรมัน และอิสราเอล” โดย ภญ.วีรญา ถาอุปชิต โครงการจัดการความรู้ด้านคุ้มครองผู้บริโภค นคบส.รุ่นที่ 5 เผยแพร่เมื่อ มกราคม 2562

ดาวน์โหลดเอกสารที่ สานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2561

ชีวิตติดแอร์ การนั่งในห้องเย็นฉ่ำทั้งวันดีจริงหรือ

เราใช้แอร์กันทุกวัน ข้อมูลจากสหรัฐระบุว่าทั้งในออฟฟิศและที่พักอาศัย 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศมีเครื่องปรับอากาศเปิดเย็นฉ่ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้เองที่กินไฟฟ้าราว 10 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคไฟฟ้าทั้งโลก

แน่นอนว่าเป็นไปได้ยากสำหรับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา ที่อากาศทั้งอบอ้าวและสำนักงานอยู่ในอาคารสูง แต่จากการศึกษาใน International Journal of Epidemiology บอกว่า ผู้ที่ทำงานอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานานๆ มักจะป่วยไข้หรือมีปัญหาสุขภาพมากกว่าคนที่ทำงานในห้องโล่งโปร่งรับลมธรรมชาติ

“รายงานชิ้นนี้พบว่าการอยู่ในออฟฟิศกับเครื่องปรับอากาศมีแนวโน้มเกิดอาการ sick building syndrome (SBS) มากกว่าอยู่ในออฟฟิศที่มีอากาศถ่ายเทตามธรรมชาติ” คือคำพูดของ วิลเลียม ฟิสค์ (William Fisk) หัวหน้าทีมสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร จาก Lawrence Berkeley National Laboratory “อาการ SBS นี้จะแสดงออกทางตา จมูก หรือการระคายคอ และอาการเกี่ยวกับระบบหายใจอื่นๆ เช่น ไอ”

ฟิสค์บอกว่า อาการนี้ “อาจจะขึ้นอยู่กับความชื้นของเครื่องปรับอากาศ ที่ทำให้ผู้คนสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้น โรคภูมิแพ้ และอาการระคายเคือง”

“ระบบเครื่องปรับอากาศไวต่อการสะสมเชื้อโรคและภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น” วาซิม ลาบากี (Wasim Labaki) ศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์และโรคปอด จากวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์มิชิแกน (Michigan Medicine University of Michigan) บอก

“อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาระบบเหล่านี้ให้เหมาะสม รวมถึงการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ ก็จำเป็นสำหรับการป้องกันการหมุนเวียนของอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพ”

ข้อดีกับร่างกายของเครื่องปรับอากาศและห้องที่เป็นระบบปิดก็มีเหมือนกัน งานศึกษาของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) แอร์ช่วยลดความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเนื่องจากโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ

“แอร์ถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของ heat stroke และความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากคลื่นความร้อน ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” ฟิสค์กล่าว

และสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ การเปิดแอร์แทนที่จะเปิดหน้าต่างรับอากาศภายนอก จะป้องกันอนุภาคต่างๆ ลดอาการแพ้ลงได้ “แอร์ยังทำให้หน้าต่างถูกปิด และแอร์มีระบบกรองอากาศที่สามารถกรองอนุภาคเล็กๆ ออกจากอากาศที่ไหลผ่าน มลภาวะจากภายนอก เช่น อนุภาค และเชื้อภูมิแพ้ต่างๆ จะถูกทำให้ลดลง”

มาร์ค อาโรนิกา (Mark Aronica) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันและโรคภูมิแพ้ จาก Cleveland Clinic สนับสนุนว่า “สำหรับคนไข้ภูมิแพ้หรือมีอาการแฝงของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือ ถุงลมโป่งพอง การอยู่ในตัวอาคาร เปิดเครื่องปรับอากาศและปิดหน้าต่าง จะช่วยลดการสัมผัสละอองและมลภาวะต่างๆ ได้”

นอกจากทางกาย อุณหภูมิในห้องแอร์ยังมีผลด้านจิตวิทยา ประสิทธิภาพการทำงานจะอยู่ในระดับสูงนานขึ้นเมื่ออยู่ในห้องที่มีในอุณหภูมิสบายๆ ไม่ใช่ร้อนเหงื่อแตกหรือหนาวจนขนลุก

“ส่วนสำคัญของงานวิจัยชี้ว่าประสิทธิภาพของการทำงานในออฟฟิศจะสูงที่สุดเมื่ออุณหภูมิถูกรักษาไว้ที่ประมาณ 21.6 องศาเซลเซียส หรือบวกลบไม่เกิน 1 หรือ 2 องศา”

อีกด้านหนึ่ง มองในมุมประหยัดพลังงาน หากคิดว่าแอร์ช่วยทำให้บิลค่าไฟมีตัวเลขน่าปวดหัว วิธีทำให้ห้องเย็นโดยไม่ต้องเลือกแอร์เป็นชอยส์แรกก็มีไม่น้อย เช่น การใช้วัสดุกันความร้อนบนหลังคา ผนัง ป้องกั้นแสงแดด มีช่องเปิดที่เหมาะสม แม้แต่การเปิดพัดลมแทน ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
huffpost.com

 

เสพติดซีรีส์ ระวัง! Computer Vision Syndrome

อาการเสพติดซีรีส์เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยในยุคดิจิตอล และสิ่งที่ตามมาคือโรค Computer Vision Syndrome จากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานเกินควร

ไม่เฉพาะแฟนคลับซีรีส์เท่านั้นที่เสี่ยงต่อโรคตา กับคนวัยทำงานที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน หรือเด็กวัยเรียนที่ใช้สมาร์ทโฟนมากจนเกินพอดี ก็เสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาเสื่อมได้ง่ายๆ
จะดีกว่าไหม หากรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงอย่างพอเหมาะพอควร เพื่อถนอมดวงตาให้อยู่กับเราไปนานๆ

ฟังคำแนะนำจาก รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ว่าเราควรอยู่อย่างไรในยุคดิจิตอล

เมื่อ ‘ที่ว่าง’ บนเครื่องบินมีราคา ที่นั่งของเราก็แคบลง…แคบลง

การหั่นราคาอย่างดุเดือดระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost airline) ทำให้ผู้คนเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน สายการบินทั่วโลกเปลี่ยนมาลดค่าธรรมเนียมตั๋ว แล้วหันมาคิดเงินเพิ่มจากสินค้าและบริการเล็กๆ น้อยๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยให้บริการฟรี

หนึ่งในสินค้าที่สายการบินเหล่านี้เสนอขายก็คือ ‘ที่ว่าง’

ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติมาเลเซียอย่าง Air Asia แก้ปัญหาคนล้นเครื่องด้วยการซื้อเครื่องบินใหม่ที่ลำใหญ่ขึ้น สายการบินอื่น เช่น Cathay Pacific ที่เคยขึ้นชื่อด้านอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ก็ตัดสินใจเพิ่มที่นั่งบนเครื่องบิน ด้วยการขยับที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัดให้เลื่อนเข้ามาชิดกันประมาณ 1 นิ้ว

การลดพื้นที่วางขา (legroom) กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อกวาดผู้โดยสารต่อเที่ยวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

แม้เสียงตอบรับจากผู้โดยสารและนักวิจารณ์จะไม่น่าปลื้มนัก แต่การเพิ่มยอดผู้โดยสารด้วยวิธีนี้ก็ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐได้ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีกลุ่มผู้โดยสารหลักเป็นชนชั้นกลาง ให้ความสำคัญกับราคาตั๋วมากกว่าความสะดวกสบายระหว่างบิน ตรงกับที่ ไมค์ ซุกส์ (Mike Szucs) ที่ปรึกษาผู้บริหารสูงสุดของ Cebu Pacific ประกาศในอีเมลว่า “เราคำนึงถึงความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ลูกค้ามักคำนึงถึงคือราคาค่าโดยสาร”

ราคาตั๋วเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ้ไปมะนิลาของ Cebu Pacific ราคาเพียง 100 ดอลลาร์ หรือราวๆ 3,000 บาท แต่ยังไม่รวมราคาที่มองไม่เห็น เช่น การนั่งเบียดบนที่นั่งขนาดกว้าง 16 นิ้วครึ่ง หรือเล็กกว่าความกว้างของฝ่ามือมนุษย์สองข้างเมื่อกางเต็มที่ และสูง 18 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ผู้ผลิตอย่าง Airbus แอร์บัส อ้างว่า “นั่งได้สบายๆ”

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Cebu Pacific ยังออกมาประกาศอีกว่าได้ซื้อเครื่องบิน Airbus A330neo ลำใหม่ ที่ห้องครัวและห้องน้ำจะถูกปรับตำแหน่งเพื่อเพิ่มยอดที่นั่งผู้โดยสารให้แตะ 460 ที่นั่ง แม้ว่าเครื่องบินลำนี้ปกติจุเพียง 260-300 ที่นั่ง และจุได้สูงสุดชนิดแน่นเอี้ยดเพียง 440 ที่นั่งเท่านั้น โดย Cebu Pacific วางแผนจะจัดที่นั่งตามนี้ทันทีที่ผังการแบ่งระหว่างเคบินชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัดผ่านการพิจารณา

ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อผู้โดยสารเครื่องบิน Flyers Rights ระบุว่า ในสมัยต้นยุคปี 2000 ระยะห่างระหว่างที่นั่ง (pitch) ของผู้โดยสารชั้นประหยัดมักกว้าง 34-35 นิ้ว และปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 30-31 นิ้วในปัจจุบัน หรือ 28 นิ้วสำหรับเที่ยวบินระยะสั้น เบาะนั่งเองก็ปรับขนาดเล็กลงจากเดิม 18 นิ้ว อยู่ที่เฉลี่ย 17 นิ้วต่อที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม เจเน็ต เบดนาเร็ก (Janet Bednarek) นักประวัติศาสตร์การบินจากมหาวิทยาลัยเดย์ตัน (University of Dayton) รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า การลดขนาดเบาะนั่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของชาวเอเชียที่ ‘รูปร่างเล็ก’ กว่าชาวยุโรปสหรัฐ

“คนจำนวนมากเต็มใจสละความสบายแลกกับราคาที่ถูกลง” เบดนาเร็กกล่าว

ที่นั่งกึ่งยืน SkyRider 3.0
ที่นั่งกึ่งยืน SkyRider 3.0

แนวคิดการลดพื้นที่พักขาและขนาดเบาะแลกกับค่าโดยสารที่ถูกลงยังคงมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อเดือนเมษายน งานจัดแสดงผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในเครื่องบินที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี ได้เปิดตัว ‘ที่นั่งกึ่งยืน’ รุ่น SkyRider 3.0 ออกแบบโดย Aviointeriors บริษัทสัญชาติอิตาเลียน ซึ่งผู้โดยสารจะต้องนั่งลงบนเก้าอี้ที่ค่อนข้างชันในท่าคล้ายกำลังขี่ม้า ระยะห่างระหว่างที่นั่งแต่ละแถวถูกลดเหลือเพียง 23 นิ้ว ซึ่งจะช่วยให้สายการบินสามารถเพิ่มผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในระดับการบริการที่ผู้โดยสารแต่ละคนยังสามารถ ‘นั่งได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร’

และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครเอาด้วยกับไอเดีย ‘ที่นั่งกึ่งยืน’ ก็ยังน่าติดตามอยู่ดีว่าสุดท้ายการต่อรองระหว่างราคากับความสะดวกสบายของผู้โดยสารในตลาดการบิน จะปิดดีลที่ ‘ที่ว่าง’ ขนาดกี่นิ้ว

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bloomberg.com
airbus.com
independent.co.uk
airasia.com
content.nokair.com
lionairthai.com
seatguru.com

 

ขาดผักขาดผลไม้ ร่างกายเหมือนใจจะขาด

ผักและผลไม้คือสิ่งจำเป็น สารอาหารในผักและผลไม้อยู่ในรายการอาหารหลักห้าหมู่ ไม่ว่ายุคสมัยไหน ก็ยังมีคนไม่น้อยไม่ชอบกินผลไม้ ผักเขียวยิ่งแล้วใหญ่ เด็กบางคนถึงขั้นเบือนหน้าหนีน้ำตาซึม

นิสัยไม่ชอบกินผักและผลไม้อาจติดมาจนโตเป็นผู้ใหญ่ และหากคนเราบริโภคผักและผลไม้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นจะเกิดอะไรขึ้น

ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่การไม่กินผักผลไม้เป็นประจำทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง แต่งานวิจัยล่าสุดที่จะนำเสนอในการประชุม Nutrition 2019 ประจำปีของ American Society for Nutrition ระบุลงไปชัดกว่านั้นว่า คนจำนวน 2.8 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งหมดนี้มีข้อมูลเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมการกินที่ไม่สมดุล – ใช่ กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ

ย้อนดูข้อมูลในปี 2010 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 1.8 ล้านคนเพราะกินผลไม้น้อยเกินไป ขณะที่อีก 1 ล้านคนเสียชีวิตจากสาเหตุเดียวกันเพราะกินผักไม่เพียงพอ

“ผลไม้และผักเป็นส่วนประกอบของมื้ออาหารที่ส่งผลป้องกันการเสียชีวิตในคนทั่วโลก” วิคตอเรีย มิลเลอร์ (Victoria Miller) หัวหน้าทีมวิจัยด้านโภชนาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์โภชนาการฟรีดแมน (Friedman School of Nutrition Science and Policy) มหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) กล่าว

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากปี 2010 เป็นพื้นฐานในการทำงาน ผลที่ออกมาคือ

  • คนไม่ชอบกินผลไม้ 1.3 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และ 520,000 จากโรคหัวใจ
  • คนไม่ชอบกินผัก 200,000 คนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และ 800,000 คนจากโรคหัวใจ

สำหรับงานวิจัย ทีมใช้คู่มือแนวทางโภชนาการและงานศึกษาความเสี่ยงต่อโรคหัวใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริโภค พบว่า

  • ปริมาณที่เหมาะสมของการบริโภคผลไม้คือ 300 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณแอปเปิลลูกเล็ก 2 ผล
  • ปริมาณที่เหมาะสมของการบริโภคผักและพืชตระกูลถั่วคือ 400 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับแครอทประมาณ 3 ถ้วย

ตัวเลขอ้างอิงนี้มาจาก 113 ประเทศ หรือ 82 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก โดยประเทศแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และซับซาฮารา มีอัตราการบริโภคผลไม้ต่ำ มักป่วยด้วยโรคเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดสมอง ประเทศในเอเชียกลางและโอเชียเนียบริโภคผักน้อย ทำให้มีอัตราการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า

แผนที่ด้านล่างแสดงให้เห็นเปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด cardiovascular deaths (CVD) อ้างอิงจากภาวะการบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แผนที่แสดงการบริโภคผลไม้ไม่เพียงพอในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
แผนที่แสดงการบริโภคผักไม่เพียงพอในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

“การให้ความสำคัญกับสารอาหารทั่วโลกทุกวันนี้โดยปกติแล้วจะดูที่แคลอรี อาหารเสริมวิตามิน และการลดวัตถุปรุงแต่งเช่นน้ำตาลและเกลือ” แดเรียช โมซาฟฟาเรียน (Dariush Mozaffarian) คณบดีของสถาบันวิทยาศาสตร์โภชนาการฟรีดแมน หนึ่งในผู้ทำงานวิจัยกล่าว

“การค้นพบครั้งนี้ทำให้เห็นว่าความต้องการที่ต้องไปโฟกัสเรื่องการเพิ่มจำนวนให้เข้าถึงได้และการบริโภคการเข้าถึงอาหารป้องกันเช่นผลไม้ ผัก และพืชตะกูลถั่ว เรื่องนี้มาพร้อมกับความเป็นไปได้ที่จะทำให้สุขภาพโลก (global health) ดีขึ้น”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
treehugger.com

 

จับผิดภาพและคำในโฆษณาอาหาร

“กาแฟลดความอ้วน เห็นผลทันตาใน 1 สัปดาห์”

“ผิวขาวใส ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ”

“หมดกังวลกับไขมันและน้ำหนักส่วนเกิน”

“เครื่องดื่มสมุนไพรจีน เพิ่มความมั่นใจให้ท่านชาย”

ฯลฯ

หากสังเกตให้ดี โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่แพร่หลายอยู่รอบตัวเราทุกวันนี้ ปัญหาที่พบมากคือโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง การบรรยายสรรพคุณที่เหลือเชื่อ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ บ้างอวดอ้างว่าสามารถบำบัดรักษาโรคได้ จนเลยเส้นของคำว่า ‘อาหาร’ ไปสู่พรมแดนของ ‘ยา’

คำว่า ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’ ตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความหมายครอบคลุมถึงอาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท ผลิตภัณฑ์นม อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก กาแฟ เครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารเสริม (ตามกฎหมายคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ฯลฯ

เมื่อพลิกดูกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร”

ถ้อยคำที่ใช้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารมีหลักเกณฑ์สำคัญว่า ต้องไม่ทำให้เข้าใจผิด ไม่เป็นเท็จ หรือเกินจริง อย่างเช่น

  • สามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค
  • ลดความอ้วน กำจัดไขมันส่วนเกิน ช่วยให้รูปร่างดี
  • บำรุงสมอง ทำให้ฉลาด ความจำดี
  • บำรุงผิว ทำให้ผิวดี ขาว เนียน กระชับ เปล่งปลั่ง
  • บำรุงหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ

และในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2550 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ฉบับที่ 2) ระบุด้วยว่า การโฆษณาอาหารต้องแสดงข้อความที่ชัดเจนว่า “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค”

นอกจากนี้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การโฆษณาอาหาร ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ระบุชัดว่า “ห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคลากรดังกล่าวมาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบ”

ดูซีรีส์ยันเช้า แถมฟรีโรค Computer Vision Syndrome

อาการติดซีรีส์ อินจนไม่หลับไม่นอน ดูตั้งแต่ค่ำยันเช้า นอนเมื่อไหร่ก็ได้แต่ซีรีส์ต้องจบ เป็นส่วนหนึ่งในพฤติกรรมของคนจำนวนมากในยุคนี้

“ก็แหม…พอดูจบหนึ่งตอน มันก็อดไม่ได้ที่ต้องลุ้นตอนต่อไปนี่หน่า”

ไม่ว่าซีรีส์สัญชาติใดก็ตาม ไทย จีน เกาหลี ฝรั่ง รวมถึงละคร ภาพยนตร์ หรือรายการเกมโชว์ ทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงคลิกเดียว ผ่านอวัยวะชิ้นที่ 33 อย่างมือถือ แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความบันเทิงได้อย่างยอดเยี่ยม หากคุณใช้งานมันอย่างพอเหมาะพอควร

เพราะดวงตาไม่ได้เป็นแค่หน้าต่างของหัวใจ

ความอึดอัดเริ่มต้นทำงานขึ้นทันที เพียงแค่ลองหลับตาจินตนาการว่ากำลังอยู่ในโลกมืดๆ มองไม่เห็นสิ่งใด การดำเนินชีวิตในแต่ละวันคงเป็นเรื่องแสนลำบาก

ทุกคนย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า ‘ดวงตา’ เป็นอวัยวะที่สำคัญมากแค่ไหน แต่ทำไมหลายคนถึงยอมแพ้ ปล่อยให้เทคโนโลยีเข้าครอบงำ

หลักฐานสำคัญที่ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนและดูแลดวงตา คือ สัดส่วนโรคเกี่ยวกับดวงตาที่มาจากการใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอมากเกินไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงจากจำนวนผู้ป่วยโรคตาจากความผิดปกติของสายตาและการเพ่งมอง ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เฉพาะในปี 2560 มีมากถึง 3,844 ราย

ถึงแม้โรคนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตาอย่างเฉียบพลัน แต่ถ้ายังปล่อยปละละเลย สะสมเป็นเวลานานเข้า อาจทำให้เกิดความไม่สบายตาและส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาตามมาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้นในเด็ก หรือผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดหลัง และเมื่อยคอ

รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ จักษุแพทย์และประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงลักษณะกายภาพในการใช้ดวงตาของมนุษย์ตั้งแต่อดีต กิจกรรมที่ต้องใช้งานดวงตาหนักๆ นานๆ พบว่ามีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ‘การอ่านหนังสือ’

โดยธรรมชาติการอ่านหนังสือจะใช้สายตาในลักษณะของการไล่อ่านจากซ้ายไปขวาอย่างเป็นระบบและเนิบช้า เพราะไม่มีอะไรเคลื่อนไหวและคอยพุ่งขึ้นพุ่งลง นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ไม่เรียกร้องให้ต้องใช้สายตาหนักเกินไป ต่างจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่เรามักรูดขึ้นรูดลงอยู่ตลอด แถมยังมีลำแสงทิ่มเข้ามาที่ดวงตาตรงๆ

อาจสรุปได้ว่า กิจกรรมการอ่านหนังสือจะใช้สายตาน้อยกว่าและเบากว่า ไม่เข้มข้นและรุนแรงเหมือนกับการเพ่งสายตาดูจอสี่เหลี่ยม อีกทั้งสัดส่วนของการขยับกล้ามเนื้อตาขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา หรือการซูมเข้า-ซูมออก ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้อุปกรณ์ไฮเทค

ยิ่งไปกว่านั้นหากใครที่ชอบนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือหรือใช้คอมพิวเตอร์ทำงานในห้องแอร์เย็นๆ หรือสถานที่ที่มีลมเป่าเข้าหน้าแรงๆ จะยิ่งส่งผลให้ตาแห้ง และอาการที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความรู้สึกปวดตา แสบตา คันตา

ยิ่งถ้าบางคนที่ชอบเล่นมือถือในระยะใกล้ ชอบนั่งชิดติดขอบจอคอมพิวเตอร์ พฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้งานดวงตาที่หนักหน่วงขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อเวลามนุษย์มองวัตถุในระยะใกล้ กล้ามเนื้อตาจะต้องทำงานหนัก ยิ่งวัตถุอยู่ใกล้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องเพ่งสายตาเยอะขึ้นเท่านั้น ตามกฎธรรมชาติของร่างกายที่มีคำอธิบายทางการแพทย์ว่า หากเรามองวัตถุในระยะใกล้ กล้ามเนื้อตาจะกดเข้าหากัน ขณะเดียวกันรูม่านตาก็จะหดตัว กล้ามเนื้อภายในจะบีบให้เลนส์เปราะ ส่งผลให้ดวงตาต้องเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา

คล้ายกับคนยกถังน้ำหนักๆ สักครึ่งชั่วโมง ถามว่าเราเมื่อยแขนไหม? – ก็เมื่อยสิ

ดวงตาก็เช่นกัน เพราะข้างในดวงตาประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อหลัก 3 มัด ที่ช่วยในการมองเห็น กล้ามเนื้อแต่ละมัดมีลักษณะเล็กๆ บางๆ ถ้าคุณใช้งานดวงตานานเกินไป เพ่งจอคอมฯ จ้องจอมือถือทั้งวัน ก็ไม่ต่างอะไรกับคนยืนแบกถังน้ำจนเมื่อยแขน แขนสั่น แขนล้า

เพียงแต่อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว สามารถทุเลาลงได้หากใช้ครีมแก้ปวดต่างๆ ทาเพื่อลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการปวด แต่กลับกันเราไม่สามารถควักดวงตาของเราออกมาทาครีมแก้ปวดได้ ทางเดียวที่เราจะทำได้ คือ การพักสายตา ปล่อยให้ดวงตารีแลกซ์ ผ่อนคลาย เหมือนกับการเหยียดแขนขา เพื่อไล่อาการปวดเมื่อยให้ออกไปนั่นเอง

‘Computer Vision Syndrome’ โรคจากจอสี่เหลี่ยม

หลายคนสงสัยว่า หลังจากใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำอย่างไรจึงจะบรรเทาอาการปวดตา วิธีง่ายๆ ก็คือ

  • ถ้ารู้สึกปวดตา ให้ประคบร้อน เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • ถ้ารู้สึกคันตา ให้ประคบเย็น เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว
  • หยุดพัก หากิจกรรมอย่างอื่นทำ เพื่อเป็นการพักสายตา

ถ้าวันไหนมีงานด่วนขึ้นมาจริงๆ เช่น ต้องส่งต้นฉบับให้ทันตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ต้องใช้สายตาอย่างหนักโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้บ่อยครั้ง อาจสะสมให้เกิดโรคสายตาของคนทำงานยุคใหม่ หรือในวงการแพทย์เรียกว่า ‘Computer Vision Syndrome’ ได้

ผลกระทบของโรคนี้ แม้ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเป็นต้อลม ต้อหิน หรือต้อกระจก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการตาเกร็ง ตาล้า แสบตา ตาแห้ง บางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้ายทอย ปวดไมเกรน เนื่องจากเส้นประสาทจำนวนมากบริเวณรอบดวงตาจะเชื่อมต่อถึงกันและกันทั่วทั้งศีรษะ

หรือในบางรายหากใช้สายตาหนักมากเกินไป อาจพบว่า ตามีอาการเป็นตะคริว เพราะกล้ามเนื้อดวงตาหดเกร็งเป็นเวลานานๆ ไม่สามารถคลี่คลายได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการตาพร่า ตามัว มองภาพไม่ชัด และส่งผลให้มองในระยะไกลไม่เห็นในที่สุด

 

แล้วทางออกของเรื่องนี้คืออะไร

แม้ไม่ได้มีหลักฐานงานวิจัยบอกอย่างจริงจังว่า คนเราไม่ควรเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานเท่าไร หรือไม่ควรเล่นคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกันนานแค่ไหน

แต่ถ้ายึดตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ควรใช้สายตานานติดต่อกันไม่เกิน 30-40 นาที จากนั้นต้องพักสายตาโดยการหลับตา มองไปที่ไกลๆ ลุกขึ้นเดินไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้มีเวลาคลายตัวลงบ้าง

บางคนอาจเลือกใช้วิธีแก้แบบทางลัด โดยไปซื้อแว่นตาที่ช่วยตัดแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์มาใส่ แต่นั่นก็อาจเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ทางที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน คือ ควบคุมเวลาการใช้สายตาของตัวเองให้ได้ รวมถึงปรับลดแสงจ้าที่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้หรี่ลง เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยบรรเทาและถนอมสายตาได้ในระดับหนึ่งแล้ว

ข้อแนะนำสุดท้าย สำหรับผู้ที่รักการอ่านหนังสือและเล่นมือถือ ควรใช้งานดวงตาในสภาพแวดล้อมที่มีแสงพอเหมาะ อย่าให้มืดเกินไปหรือสว่างเกินไป เพราะขณะที่บรรยากาศโดยรอบมืด ม่านตาจะขยาย และถ้าเราอ่านหรือจ้องมือถือในระยะใกล้ๆ ม่านตาจะหดตัว ดังนั้น การที่ม่านตาเดี๋ยวก็หด เดี๋ยวก็ขยาย กล้ามเนื้อตาจะต้องทำงานอย่างหนัก

ยิ่งบางคนที่ชอบนอนตะแคงดูซีรีส์หรือไถหน้าจอเฟซบุ๊คด้วยมือเดียว ซึ่งเป็นท่าที่ไม่เหมาะสมในการใช้ดวงตา จะยิ่งส่งผลให้ดวงตาทำงานหนักเพียงข้างเดียว เมื่อลุกขึ้นยืน หรือขยับตัวเร็วๆ อาจทำให้เกิดอาการตามืดชั่วคราวได้ เพราะจอตาสองข้างปรับแสงไม่เท่ากัน

ดวงตาอาจไม่ได้เป็นเพียงหน้าต่างของหัวใจอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ดวงตายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยมนุษย์ขับเคลื่อนและดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ควรหมั่นถนอมดวงตาของเราไว้ เพื่อจะได้สนุกกับการดูซีรีส์ไปนานๆ

ข้อมูล:

โรคตาติดจอ 

ฟันเหล็กเด็กแนว เติมช่องว่างความมั่นใจ

สมัยก่อนโน้น ใครที่ถูกพ่อแม่บังคับให้ไปจัดฟันหรือดัดฟัน มักถูกเพื่อนล้อ ‘ฟันเหล็ก’ ให้อับอายไปทั่วโรงเรียน

สมัยนี้ การใส่เหล็กดัดฟันสีสันสดใส กลับกลายเป็นเทรนด์น่ารักเก๋ไก๋ในสายตาของวัยรุ่น

ทุกวันนี้การจัดฟันจึงข้ามเส้นไปยังพรมแดนของแฟชั่น ความสวยความงาม และช่วยเติมเต็มความมั่นใจ มิใช่แค่จัดฟันเพื่อสุขภาพช่องปากเพียงอย่างเดียว

ปัญหาอยู่ที่ว่า การเข้าถึงบริการทันกรรมที่ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ใครจะเข้าถึงได้ ด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยจึงหันไปพึ่งพาหมอฟันเถื่อนและอุปกรณ์จัดฟันแบบเถื่อนๆ ที่ซื้อหาได้ง่ายในโลกอินเทอร์เน็ต

 

นิยามใหม่กัญชา-กระท่อม “พืชยา” ไม่ใช่ยาเสพติด

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จะครบกำหนดกรอบเวลา 90 วันในการแจ้งลงทะเบียนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชารักษาโรคและผู้ที่มีกัญชาในครอบครอง พ้นจากนี้แล้วถือเป็นอันสิ้นสุดระยะเวลาของการนิรโทษ

พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับนี้ จึงเป็นเพียงการ ‘คลายล็อค’ มิใช่การ ‘ปลดล็อค’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ อีกทั้งยังติดเงื่อนปมทางกฎหมายที่จัดให้กัญชาอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 และยังมีบทลงโทษที่รุนแรง

ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 เรื่อง ‘กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?’ นักวิชาการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม (ฉบับประชาชน) เป้าหมายในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อจะแยกกัญชาและกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด และ พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

หากสามารถกำหนดนิยามใหม่ของคำว่า ‘พืชยา’ ขึ้นมาได้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้จริง

 

ดารา-เน็ตไอดอล มายาภาพในสินค้าลวงโลก

กระบวนการทางกฎหมายในการเอาผิดเหล่าดารา-เน็ตไอดอล ฐานโฆษณาชวนเชื่อผลิตภัณฑ์ในเครือ ‘เมจิกสกิน’ กินเวลายืดเยื้อยาวนานข้ามปี

ความคืบหน้าล่าสุด ตำรวจออกหมายเรียกบรรดานักแสดง 13 ราย ภายในวันที่ 11-13 มิถุนายนนี้ เพื่อแจ้งข้อหาจากการรีวิวผลิตภัณฑ์เถื่อน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาบางส่วนฟ้องศาลไปแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ และยังเหลือดาราที่คาดว่าจะเข้าข่ายความผิดอีก 24 คน

หากไม่นับคดีเมจิกสกินที่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเกือบ 1,000 ราย กับมูลค่าความเสียหายเกือบ 300 ล้านบาท และมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวข้องอีกนับร้อยชีวิต ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามอีกสารพัดชนิดที่เป็นภัยต่อผู้บริโภคก็ยังคงมีให้เห็นเกลื่อนกลาดทั้งในสังคมออนไลน์และออฟไลน์ โดยที่กระบวนการทางกฎหมายยังเข้าไม่ถึง

WAY ชวนฟัง เภสัชกรภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กับข้อสังเกตเกี่ยวกับขบวนการ ‘มายาโฆษณาบันเทิง’ ที่พัวพันอยู่ในวงการธุรกิจหลอกลวง ท่ามกลางระบบตรวจสอบควบคุมที่ยังมีรูรั่ว