‘ชานมไข่มุก’ สักแก้วไหม แถมน้ำตาล-สารกันบูด เพียบ!

ชานมไข่มุกที่ใครๆ ก็ชื่นชอบ ทั้งหวาน มัน นุ่มลิ้น กินแล้วชื่นใจ แต่หารู้ไม่ว่าภายใต้เม็ดไข่มุกแวววาวดูน่ากินนั้น มีสารกันบูดทั้งประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ปะปนอยู่

หนักกว่านั้นคือ ความหวานที่มากเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคไม่เกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน โดยชานมบางยี่ห้อมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 18.5 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณ 3 เท่าตัวที่ร่างกายควรได้รับต่อวันเลยทีเดียว

นี่คือข้อมูลที่ชวนขนลุกจากศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ราคาตั้งแต่แก้วละ 23-140 บาท เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนัก

“เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นเครื่องดื่มที่ควรงด เพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล หากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่สูงในคราวเดียว จะรบกวนระบบการ Metabolite ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้” ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ให้คำแนะนำ

ยี่ห้อน้ำตาล (ช้อนชา)        ราคา
KOI Thé470
TEA 65°5.580
Brown Café & Eatery7.2565
Fire Tiger by Seoulcial Club7.75140
ATM865
Mister Donut8.2535
Nobicha8.2524
BRIX Desert Bar8.2585
Mr.Shake955
The ALLEY9110
Chamuku9.2529
Nuu tea9.524
Monkey Shake9.7535
Nomi Mono10.7575
Crown Bubble10.7550
JIN1135
KAMU1160
Tea Story11.560
DAKASI tea11.565
Fuku MATCHA11.7550
Ochaya12.535
Cha…Ma14.7523
Formosa16.2540
MOMA’S Bubble Tea Bar1724
CoCo Fresh Tea & Juice18.570

 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย รองรับสังคมสูงวัย 4 มิติ

อีก 2 ปี ข้างหน้า 1 ใน 5 ของประชากรไทย จะกลายเป็นผู้สูงอายุ

ปัญหาของผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มีผลกระทบถึงเราทุกคนใน ‘สังคมสูงวัย’

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของโลกที่คนเกิดน้อยลงและอายุยืนยาวมากขึ้น องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินสถานการณ์ว่า ช่วงปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ใน 10 ของประชากรมาตั้งแต่ปี 2548 และจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 โดยจะมีประชากรสูงวัยจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และภายในปี 2578 ประมาณการว่าประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยส่งผลกระทบในหลายด้าน จากข้อมูลวิชาการพบว่า ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประวันได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และผู้สูงอายุวัยปลายจะมีอัตราการมีโรคประจำตัวสูงขึ้น

ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 34 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่มีประชากรวัยทำงานเพียง 15 ล้านคน จาก 40 ล้านคน อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ ส่วนปัญหาด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สถานการณ์สังคมสูงวัยจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐต้องหามาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงจัดให้มีการประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัยที่ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสุขภาพ มิติสภาพแวดล้อม และมิติสังคม โดยจะเสนอต่อหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สังคมสูงวัย

ผลักดันนโยบายรับมือสังคมสูงวัยให้เป็นจริง

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ประธานกรรมการดำเนินการประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย อธิบายความเป็นมาของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ แต่มักแยกส่วนกันทำงานและทำเฉพาะประเด็นของตนเอง สช. จึงทำการศึกษาและรวบรวมข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ มาทำให้เกิดการบูรณาการในการวางแผน รวมถึงจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนมติสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งประกอบด้วยภาคีที่หลากหลาย คอยติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ที่ประชุมสมัชชาฯ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 มิติ ได้แก่

  1. ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเรื่องการออมหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่กำลังเริ่มเป็นที่สนใจคือ การออมด้วยการปลูกไม้ยืนต้น โดยสมัชชาฯ เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับรองสิทธิของผู้ปลูกในการตัด แปรรูป และจำหน่ายไม้ยืนต้นในพื้นที่กรรมสิทธิ์ตนเองได้ และให้กระทรวงการคลังร่วมกับส่วนอื่นๆ จัดตั้งองค์กรส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อการออม โดยรับรองให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมต่างๆ ได้ เช่น การประกันตัว การกู้ยืม การลงทะเบียนเรียน เป็นต้น
  2. ด้านสังคม เน้นการเสริมสร้างศักยภาพและชมรมผู้สูงอายุ เพราะการรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะ ข้อเสนอของสมัชชาฯ คือ การมีพื้นที่กลางที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมภายใต้การบริหารงานของผู้สูงอายุเอง โดยหน่วยงานต่างๆ สามารถให้การสนับสนุนผ่านพื้นที่กลางดังกล่าวได้
  3. ด้านสภาพแวดล้อม ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ร้อยละ 5 ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังร้อยละ 11 ผู้สูงอายุอยู่กับคู่สมรสร้อยละ 21 แต่การเดินทางของผู้สูงอายุไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จำเป็นต้องอยู่แต่กับบ้าน จึงเสนอว่าให้ขยายโครงการ 1 ตำบล 1 ศูนย์อยู่ดี ออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
  4. ด้านสุขภาพ เนื่องจากมีผู้สูงอายุที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา หน่วยบริการสุขภาพ เข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชน สร้างสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมถึงการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครื่องมืออย่างสมัชชาสุขภาพพื้นที่ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นต้น

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมรับรองมติทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง

สังคมสูงวัย

อนาคตประเทศไทยกับสังคมสูงวัย

ศ.กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และที่ปรึกษากรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยกับสังคมสูงวัย’ ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่น่ากังวลและควรอภิปรายกันให้มากคือ นโยบายรองรับสังคมสูงวัยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ทุกองคาพยพของสังคมต้องร่วมมือกัน จึงควรขยายการศึกษาและดำเนินการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น มิติด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องการออม แต่ต้องดูการบริโภค และการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เพราะปัจจุบันเริ่มใช้จ่ายกับผู้สูงวัยมากกว่าเด็ก

ศ.กิตติคุณ เทียนฉาย กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงประชากรว่า จุดสำคัญคืออัตราการตาย นับตั้งแต่การเริ่มทำสำมะโนประชากรในปี 2490 ทำให้วิเคราะห์อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยได้ ในเวลานั้นอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 45-47 ปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนอายุยืนยาวมากขึ้น ดังนั้น ปัญหาไม่ใช่เฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลง แต่สิ่งที่ส่งผลให้เปลี่ยนโครงสร้างประชากรมากคือ การตาย นักประชากรศาสตร์ต้องอธิบายให้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมสูงวัยเข้าใจ ปัจจุบันไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 90 ปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในครอบครัวหนึ่งจึงไม่ได้มีผู้สูงวัยแค่ 1 รุ่น แต่อาจมีถึง 2 รุ่น ปัญหานี้น่าห่วงอย่างยิ่ง การพิจารณาสถานการณ์สังคมสูงวัยจึงต้องมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

สังคมสูงวัย

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมและชุมชนฯ สปช. กล่าวว่า สังคมสูงวัยเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้ โดยอีก 4 เรื่องที่เหลือคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน อาหารและน้ำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

นพ.อำพล กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องสังคมสูงวัยนั้น ถึงแม้จะมีการขยายการศึกษาและนำเสนอเป็น 4 มิติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอภายใต้แบบแผนของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสังคมมีระบบ โครงสร้างวิธีคิดที่สูงวัยและยากต่อการเท่าทันโลก สิ่งที่อยากให้มุ่งเน้นคือ ชุมชนยังคงเป็นฐานพระเจดีย์ที่สำคัญ ปัจจุบันมีหลายชุมชนที่เป็นต้นแบบการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น

“การจัดการเรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสังคมเข้มแข็ง ควรเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วม ยึดภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ใช้ชุมชนเป็นฐาน ไม่ยึดติดตำรา ชุมชนท้องถิ่นเป็นความหวัง เราต้องลงไปทำข้างล่างให้เข้มแข็ง แล้วให้ทุกอย่างบูรณาการร่วมกัน”

สังคมสูงวัย

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวข้อหนึ่งที่ถือว่าสำคัญมากในยุทธศาสตร์ชาติ คือ สังคมสูงวัย มีการพูดถึงการดูแลผู้สูงวัยในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมขับเคลื่อน เนื่องจากสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของทุกคน

เอ็นนู กล่าวอีกว่า ประเด็นท้าทายมีหลายประการ เช่น การออมเงินเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่ามีน้อยมากเพียง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีการเตรียมความพร้อม ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องทำให้ประชากรวัย 40 ปีขึ้นไปตระหนัก รอบรู้ และเตรียมการทุกด้านก่อนเข้าสู่วัยชรา ส่วนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วนั้น ต้องได้รับการส่งเสริมให้ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นหลัง รวมถึงการสร้างโอกาส สร้างงานให้ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ การสร้างฐานชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งอาจเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญการแก้ไขสถานการณ์นี้ไม่ใช่ภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากต้องอาศัยกระบวนการมีร่วมส่วนของทุกฝ่าย

 

สนับสนุนโดย

[smls id=”45778″]

‘ขยะอาเซียน’ ใครทิ้ง ใครรับ

จากรายงานเรื่อง ‘ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเทศสมาชิกอาเซียน’ จัดทำโดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยสถิติการส่งออกและนำเข้าขยะพลาสติกจากนานาประเทศมายังภูมิภาคอาเซียน พบข้อมูลที่น่ากังวลว่า ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศที่มีการนำเข้าขยะสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกขยะสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมนี และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศไทยก็เป็นผู้ส่งออกขยะไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในปริมาณที่ไม่น้อยเช่นกัน

ผลพวงจากวิกฤติขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะทะเล ไม่เพียงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนในระยะยาว สถานการณ์ขยะจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข จนนำมาสู่การลงปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 วันที่ 20-23 มิถุนายน 2562

 

อาเซียนและไทยไม่ใช่ ‘ถังขยะ’ ของใครทั้งนั้น

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ จบลงไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าขยะเกือบครึ่งล้านตันจะยังคงอยู่กับเราต่อไป แม้จะมีการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกร้องให้บรรดาผู้นำ 10 ประเทศอาเซียน ยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากนานาประเทศโดยไม่มีข้อแม้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำการสำรวจปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกในประเทศอาเซียน พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ มีปริมาณนำเข้าขยะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีให้หลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียน ปี 2561

  • อันดับ 1 มาเลเซีย 872,797 ตัน
  • อันดับ 2 เวียดนาม 492,839 ตัน
  • อันดับ 3 ไทย 481,381 ตัน
  • อันดับ 4 อินโดนีเซีย 320,452 ตัน
  • อันดับ 5 เมียนมาร์ 71,050 ตัน

ประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกสู่อาเซียน ปี 2561

  • อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 439,129 ตัน
  • อันดับ 2 ญี่ปุ่น 430,064 ตัน
  • อันดับ 3 ฮ่องกง 149,516 ตัน
  • อันดับ 4 เยอรมนี 136,034 ตัน
  • อันดับ 5 สหราชอาณาจักร 112,046 ตัน

ไทย

  • ส่งออก 74,906 ตัน
  • นำเข้า 481,381 ตัน

 

สถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลนี้ ส่งผลให้หลายภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นแหล่งรองรับขยะโดยตรง ทำให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ได้มีการพูดคุยในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและผลักดันวาระต่างๆ โดยในท้ายที่สุดนำมาสู่การลงปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

แม้ผู้นำอาเซียนจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาขยะก็จริง แต่ภาคประชาสังคมได้ตั้งข้อสังเกตบางประการ เนื่องจากการวางหลักการและการดำเนินงานของปฏิญญาฉบับดังกล่าวเต็มไปด้วยช่องโหว่ และไม่สามารถระบุแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมหรือกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการจะลดขยะทางทะเล แต่อาเซียนกลับไม่ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายและไม่กลายเป็นขยะทะเล เป็นต้น

นอกจากขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะทะเล อีกปัญหาที่สำคัญคือ พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนและบ่อขยะอีกจำนวนมากได้กลายเป็นพื้นที่รองรับขยะนำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คำถามสำคัญคือ อาเซียนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในการจัดการขยะ และจะยุติหรือลดการนำเข้าขยะพลาสติกได้จริงหรือไม่

ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ชุมชนตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งนักกิจกรรมอาสาสมัครจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและกลุ่มกรีนพีซ ได้เดินทางไปยังอาคารกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 เพื่อยื่นหนังสือและชูข้อความ ‘อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก’ และนำบ่อขยะเทียมไปมอบให้ผู้นำอาเซียน เพื่อเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนให้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อสภาวการณ์บ่อขยะโลกของอาเซียน

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็นด้านขยะที่ประเทศอาเซียนไม่สามารถรับมือได้ ภาคประชาสังคมยังได้เสนอให้มีมาตรการและการป้องกันขยะและมลพิษจากขยะ โดยมีใจความหลักๆ ดังนี้

  • ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 เนื่องจากเอื้อให้เกิดโรงงานรีไซเคิลขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และเปิดช่องว่างให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
  • ขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการกำหนดอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
  • การขออนุญาตจัดตั้งและขยายโรงงานต้องผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นของสังคมเสียก่อน
  • ออกมาตรการทางกฎหมายให้โรงงานทุกแห่งรายงานข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
  • เพิ่มระบบการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยการตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่ประกอบด้วยประชาชนและนักวิชาการอิสระ

เช่นเดียวกับข้อเสนอจากฝั่งกรีนพีซต่อประเทศสมาชิกอาเซียน ก็ชัดเจนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฝั่งภาคประชาสังคม

  • ห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก รวมถึงการนำเข้าเพื่อรีไซเคิล
  • สร้างนโยบายระดับภูมิภาคที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ
  • ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ (zero waste)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นประเทศผู้นำในการดำเนินงานด้านการจัดการมลภาวะทางทะเลรวมถึงขยะทะเล และสมัครเป็นประธานคณะทำงานฯ ในปี 2563 โดย จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงว่า ภาครัฐไม่ได้เพิกเฉย และจะมีการดำเนินการให้สอดรับด้านต่างๆ โดยเฉพาะขยะทะเลซึ่งถูกยกเป็นประเด็นระดับโลก และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อ้างอิง: Greenpeace Southeast Asia, Thailand

 

ออสเตรีย EU ชาติแรกที่แบน ‘ไกลโฟเสต’

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาล่างของออสเตรียออกมติห้ามใช้สารกำจัดวัชพืช ‘ไกลโฟเสต’ (Glyphosate) หลังจากที่สารดังกล่าวกำลังถูกโจมตีในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

“ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่าไกลโฟเสตมีผลทำให้เกิดมะเร็งได้ มันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะแบนสิ่งนี้ออกจากสภาพแวดล้อมของเรา” พาเมลา แรนดี-วาร์กเนอร์ (Pamela Rendi-Wagner) สมาชิกระดับสูงของสภาแห่งชาติกล่าว

สารเคมีไกลโฟเสตเป็นสารเคมีที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทใหญ่สัญชาติอเมริกา Monsanto ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในสังกัด Bayer ของเยอรมนีที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเคมีและยา สารกำจัดวัชพืชดังกล่าวออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 1974 ปัจจุบันสิทธิบัตรหมดอายุไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งผลิตสารฆ่าวัชพืชมีไกลโฟเสตได้โดยไม่ติดปัญหาสิทธิบัตรใดๆ

ในปี 2015 หน่วยงานวิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า สารไกลโฟเสตมีสถานะ “อาจเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง” และในปี 2019 ผลการวิจัยของ ScienceDirect รายงานว่า ไกลโฟเสตมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาสารก่อมะเร็งในเซลล์เม็ดเลือด

ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันกว่า 13,000 คน อ้างว่าได้รับผลกระทบจากไกลโฟเสตและกำลังอยู่ในขั้นตอนฟ้องร้องบริษัท Bayer ในกรณีหนึ่ง ศาลแคลิฟอร์เนียสั่งให้ Bayer จ่ายค่าปรับสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ แก่สามีภรรยาที่อ้างว่าพวกตนได้รับสารไกลโฟเสตจนเป็นมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านบริษัท Bayer ยืนยันว่าสารไกลโฟเสตไม่ได้เป็นอันตรายจนก่อให้เกิดมะเร็ง

“การตัดสินของสภาแห่งชาติออสเตรียไม่ตรงกับผลการวิจัยไกลโฟเสต” Bayer กล่าวถึงงานวิจัยอีกชิ้นของไกลโฟเสตในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร

ในอนาคต หากมติของสภาล่างได้รับการอนุมัติโดยสภาสูง กฎหมายดังกล่าวจะได้รับการรับรองโดย อเล็กซานเดอร์ ฟาน เดอร์ เบลเลน (Alexander Van der Bellen) ประธานาธิบดีออสเตรีย จะทำให้ออสเตรียเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ดำเนินการอย่างจริงจังในการต่อต้านสารกำจัดวัชพืช

การตัดสินใจของออสเตรียจะขัดต่อข้อบังคับของ EU ในปี 2017 ที่อนุญาตให้มีการใช้สารดังกล่าวต่อไปได้อีก 5 ปี ข้อบังคับของทาง EU นั้นอิงมาจากข้อมูลของหน่วยงานวิจัยและการประเมินความเสี่ยงของอาหารในยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) และหน่วยงานบริหารจัดการด้านเคมีของยุโรป (European  Chemicals Agency: ECHA) ที่ไม่ได้จัดให้สารไกลโฟเสตอยู่ในหมวดหมู่สารก่อมะเร็ง

สำหรับประเทศไทย ข่าวเมื่อต้นเดือนมิถุนายนระบุว่า กรรมการวัตถุอันตรายมีการสรุปการตรวจสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดนี้คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่องค์กรเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ พบว่ามีสารไกลโฟเสตปะปนอยู่ตามอ่างเก็บน้ำหรือน้ำประปาในหมู่บ้านในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้บางประเทศแบนสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
dw.com
thairath.co.th

สำรวจผักผลไม้ไทย ปนเปื้อนสารพิษมากแค่ไหน

ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่มักบอกให้เรากินผักผลไม้เยอะๆ จะได้แข็งแรง

พอโตขึ้นจึงพบว่า ผักผลไม้ที่วางเรียงรายสวยงามน่ารับประทานนั้นชักไม่น่าไว้ใจ และอาจไม่ได้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเสมอไป

ล่าสุดเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ ประจำปี 2562 ประกอบด้วย ผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิด จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 286 ตัวอย่าง โดยสุ่มตรวจจากสองแหล่งใหญ่คือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่ Big C, Makro, Tops Supermarket, The Mall Group, Tesco Lotus และตลาดสดทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา

ภาพรวมพบว่ามีสารเคมีตกค้างมากถึง 41 เปอร์เซ็นต์

ส่วนผักและผลไม้ชนิดใดจะมีสารปนเปื้อนมากที่สุด ลองมาติดตามดูกัน…

 

สารเคมีในผักผลไม้ไทย อันตรายที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคและภาคีต่างๆ เปิดเผยรายงานผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2562 พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 41 เปอร์เซ็นต์ โดยมีข้อสังเกตด้วยว่าผักในห้างค้าปลีกมีการปนเปื้อนมากกว่าผักในตลาดสด และยังพบสารเคมีที่ห้ามใช้ในประเทศไทยตกค้างถึง 12 ชนิด บางชนิดมีอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้บริโภคหรือพัฒนาการสมองของเด็ก

ผลตรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภัยสุขภาพที่ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับจากกระบวนการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ว่า ทุกๆ ปีเครือข่ายจะทำการเก็บตัวอย่างผักผลไม้จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปีนี้สุ่มตรวจ 24 ชนิด ประกอบด้วย ผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 286 ตัวอย่าง จากสองแหล่งใหญ่คือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่ Big C, Makro, Tops Supermarket, The Mall Group, Tesco Lotus และตลาดสดทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา

หลังจากเก็บตัวอย่างแล้วได้นำไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในประเทศสหราชอาณาจักร จากนั้นจึงนำผลตรวจมาเทียบกับค่ามาตรฐานของประเทศไทยหรือค่า MRL (Maximum Residue Limit) ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานของปริมาณสารพิษตกค้างในอาหารตามประกาศของสำนักงานอาหารและยา (อย.)

“ผลการตรวจพบว่า ผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 41 เปอร์เซ็นต์ โดยผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ผักกวางตุ้ง คะน้า กะเพรา พริก กะหล่ำดอก ผักชี โดยพบจำนวน 10, 9, 8, 7, 7, 7 จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง ตามลำดับ ส่วนผลไม้ที่พบการตกค้างมากที่สุด ได้แก่ ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น โดยพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเป็นจำนวน 12, 11, 7, 7 จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง ตามลำดับ”

 

ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลไม้ที่ปลูกในประเทศกับผลไม้นำเข้า พบว่า ผลไม้นำเข้ามีสารตกค้าง 33.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลไม้ในประเทศมีสารตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 48.7 เปอร์เซ็นต์

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ ทุกๆ ปีจะพบว่าผักผลไม้ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าตลาดสด โดยพบมากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ (52 ตัวอย่าง จาก 118 ตัวอย่าง) ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าซื้ออาหารแพงหรือซื้ออาหารในห้างจะสะอาดกว่าซื้อตามตลาดสด โดยห้างที่พบการตกค้างมากที่สุดคือ Big C ที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานในทุกๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ตามมาด้วย Tesco Lotus, Makro, The Mall Group, และ Tops Supermarket ในขณะที่ในตลาดสดพบสารตกค้างอยู่ที่ 39 เปอร์เซ็นต์ (66 ตัวอย่าง จาก 168 ตัวอย่าง)

ข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือ ถ้าเทียบผลตรวจปีล่าสุดกับผลตรวจเมื่อปี 2560 จะพบว่าภาพรวมของสารพิษตกค้างที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน MRL นั้นน้อยลงจากปี 2560 ซึ่งมีค่า MRL อยู่ที่ 46 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปีล่าสุดอยู่ที่ 41.3 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปรกชลย้ำว่า ตัวเลขดังกล่าวก็ยังอยู่ในระดับที่แย่มากอยู่ดี เพราะในต่างประเทศจะตรวจพบสารตกค้างเพียงประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลผ่านฉลากรับรองมาตรฐานประเภทต่างๆ จะพบว่าผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองคุณภาพ GAP (การรับรองกระบวนการปลูก) GMP (การรับรองโรงตัดแต่งและคัดบรรจุ) และ Organic Thailand (การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) ยังมีสารตกค้างถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศไม่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานเลย

เมื่อจัดข้อมูลตามชนิดของสารพิษ Thai-PAN พบด้วยว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุดคือ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกามาเกือบ 30 ปีแล้ว เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบสารตกค้างในผักและผลไม้ไทยถึง 57 ตัวอย่าง เช่น มะเขือเทศ แตงขวา และผักชี รองลงมาคือ ไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็ก

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการพบสารชนิดที่ทางการออกกฎหมายห้ามใช้ไปแล้ว อย่างเช่น Methamidophos หรือสารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เช่น Methomyl ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถจำหน่ายได้ และสารที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด เช่น Boscalid, Ethirimol, Fenhexamid, Fluxapyroxad ซึ่งสารทั้ง 3 กลุ่มนี้ล้วนผิดกฎหมายและเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย. ที่ปล่อยให้มีข้อผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้น และยังพบได้ทั้งในตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่ตลาดริมทางรถไฟหาดใหญ่ สงขลา จนไปถึงสยามพารากอน กรุงเทพฯ

“วันนี้ถ้าเราถาม อย. ว่า ผักผลไม้ที่ปนเปื้อนเมโทมิลกับคาร์ไบฟูรานถือว่าผิดกฎหมายไหม เขาก็ยังตอบว่าไม่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนก็ตาม เพราะว่าตัวกฎหมายจะยึดตามวัตถุตารางที่ยกเลิกการใช้ แต่ยังให้เกิดการตกค้างได้ในปริมาณที่ไม่เกินกำหนด ซึ่งเป็นความลักลั่นระหว่างการควบคุมไม่ให้ใช้ กับการอนุญาตให้ตกค้าง” ปรกชลกล่าวถึงช่องว่างทางกฎหมาย

หากถามว่า มีวิธีการใดที่ผู้บริโภคทั่วไปจะตรวจสอบสารตกค้างในอาหารได้ด้วยตัวเอง กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ตอบว่า ปัจจุบันแม้จะมีชุดทดสอบอาหาร (test kit) แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยละเอียด แม้กระทั่งห้องแล็บในประเทศไทยก็ยังไม่สามารถตรวจสอบให้ครอบคลุมสารเคมีที่มีอยู่นับร้อยชนิดได้

หลังจากนั้นกรรณิการ์พูดถึงปัญหาของการตรวจสารตกค้างโดยหน่วยราชการหรือผู้ประกอบการห้างค้าปลีกว่า “เขาก็บอกว่าเขาตรวจ แต่เขาก็มักจะไม่เปิดเผยผลตรวจ คือเก็บไว้รู้คนเดียว เก็บไว้รายงานเป็นตัวเลขกลมๆ ทำให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงข้อมูลที่แท้จริง”

ทางด้านปรกชลกล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา Thai-PAN ได้พยายามติดต่อหารือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและได้ทำข้อตกลงร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อลดการใช้สารเคมี ซึ่งขณะนี้ Thai-PAN กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับห้างเหล่านั้นหรือไม่ นอกจากนี้จะเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางยุติการใช้สารพิษอันตรายโดยเร็วที่สุด

แก้วตา ธัมอิน เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก แนะนำถึงทางเลือกที่ประชาชนเลือกได้ท่ามกลางผักและพลไม้ที่ปนเปื้อนสารตกค้าง เธอชี้ว่า “สถานการณ์เรื่องอาหารหรือความตื่นตัวของผู้บริโภค ทำให้เกิดตลาดเขียวหรือผู้ผลิตอาหารปลอดสารเคมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่สามารถสั่งซื้อได้โดยตรง

“สำหรับผู้บริโภคที่ยังจำเป็นต้องพึ่งตลาดสดและห้างค้าปลีก เราจะต้องช่วยกันส่งเสียง ต้องช่วยกันบอกผู้ค้าปลีก บอกเจ้าของตลาด บอกแม่ค้าที่แผง เขาจะได้รู้ว่าเราใส่ใจ และรู้ว่าเรากำลังมองเขาอยู่ การเปลี่ยนแปลงจะต้องเปลี่ยนแปลงกันทุกฝ่าย ไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐหรือรอผู้ผลิต ทุกฝ่ายต้องทำไปพร้อมๆ กัน”

ตาวิเศษช่วยบอกเถิด…ยาใดดีเลิศไปกว่าหาหมอจักษุ

ต้อลม ต้อหิน ต้อเนื้อ วุ้นในตาเสื่อม เบาหวานขึ้นตา

รักษาได้ด้วย ‘ดี-คอนแทค’

———–

นี่คือคำเคลมข้างกล่องของผลิตภัณฑ์ ดี-คอนแทค (D-Contact) ที่โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาอาการจากโรคตาเหล่านี้ให้ทุเลาลง

แน่นอนว่าด้วยแพ็คเกจจิ้งที่ดูเรียบหรู ราคาที่แพงชะลูด ความคาดหวังในผลลัพธ์ย่อมสูงตาม สวนทางกับคำอธิบายของ รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จักษุแพทย์ที่บอกว่า ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ไม่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการ หรือช่วยรักษาให้หายเจ็บปวดจากโรคตาได้ เพราะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค

รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

กลยุทธ์อย่างหนึ่งของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มักใช้บุคคลที่เป็นขวัญใจมหาชนอย่างดารา นักแสดง หรือกระทั่ง ‘ครูเพลงลูกทุ่ง’ ที่ลุคภายนอกดูน่าเชื่อถือและเป็นที่รักของหมู่มวลชน ขึ้นมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อทำหน้าที่โปรโมทสินค้า นั่นยิ่งทำให้แฟนคลับหรือคนทั่วไปหลงเชื่อได้อย่างง่ายดาย

เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีก็หมุนตาม กลายเป็นว่าชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมผูกติดกับหน้าจอสี่เหลี่ยมมากขึ้น ทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต และนี่คือความจริงอันหอมหวานที่ผู้ประกอบการมักนำไปใช้เป็นทางทางอวดอ้างโฆษณา ว่ารับประทานเข้าไปจะทำให้สายตาดีขึ้น มองเห็นชัดขึ้น ไม่เบลอ ไม่ปวดตา เพราะมีผู้ช่วยพักสายตาที่ดี

อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวที่ผ่านมาระบุว่า ผลิตภัณฑ์ดี-คอนแทค ที่มี ครูสลา คุณวุฒิ บุคคลมีชื่อเสียง ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดังมาขึ้นแท่นเป็นพรีเซนเตอร์ ถูกดำเนินคดีโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ในข้อหาโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง เพราะไม่พบหลักฐานทางวิชาการใดๆ ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวสามารถรักษาโรคทางตาได้

 

ภาพและข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์ดี-คอนแทค

แม้ครูสลาจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการจำหน่ายสินค้า เป็นเรื่องความผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมตัวแทนจำหน่ายได้อย่างทั่วถึง ทำให้รูปภาพที่นำเสนอออกไปบิดเบือน อาจถูกนำไปแต่งเติมข้อความโฆษณาจนดูเกินจริง จนเกิดความเข้าใจผิดในการอวดอ้างสรรพคุณของสินค้า รวมถึงอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด คิดว่าเป็นคำพูดของครูสลาโดยตรง

จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณยังต้องการผู้ช่วยพักสายตาคนนี้อยู่หรือไม่

ถ้ายังต้องการอยู่ ไม่แน่ผู้ช่วยคนนี้อาจทำให้คุณพักสายตาไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้


ผลิตภัณฑ์เหล่านี้รักษาโรคตาได้จริงไหม แล้วมีความอันตรายอย่างไร

จริงๆ มีมาหลายปี 7-8 ปี แต่ตัวที่เริ่มๆ เห็นเลยคือยี่ห้อ ดี-คอนแทค ผลิตภัณณ์พวกนี้มักโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ค เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้ใช้ ต่อมาพบได้ทั่วไปจากการโฆษณาแทรกในเว็บไซต์ ลามมาถึงไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่ตัวแทนหรือผู้จำหน่ายใช้เป็นพื้นที่โฆษณาถึงตัวผู้บริโภคได้โดยตรง

โดยออกโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า ‘ต้อจะหาย ต้อจะหดลง’ โดยที่ไม่ต้องรักษา แถมยังแนบรูปถ่ายผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคตาดังกล่าวเปรียบเทียบระหว่างมีอาการกับตอนปกติ เพิ่มความน่าเชื่อถืออีกด้วย

ปัญหาคือไม่รู้ว่า รูปนั้นเชื่อถือได้จริงหรือไม่?

ยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพง บวกกับการโฆษณาว่ากินแล้วหายโดยไม่ต้องรักษา ยิ่งทำให้คนหลงเชื่อง่ายขึ้น

สมมุติผู้ป่วยคนนั้นมีอาการเป็นต้อกระจกอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมไปรักษา กลับหลงเชื่อ เลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์พวกนี้เข้าไปแทน ไม่ยอมไปผ่าตัดรักษาตั้งแต่แรก มัวแต่ไปกินสิ่งเหล่านี้จนปล่อยให้ต้อสุก แทนที่จะได้รักษาตั้งแต่แผลเล็กๆ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ปล่อยเวลาทิ้งไว้จนต้อสุก จนมีอาการปวด ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเข้ามาอีก สุดท้ายตาบอดไปเลยก็เป็นได้ 

เช่นเดียวกัน คนที่มีภาวะต้อหิน พอไปกินผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้าง ก็คิดว่าไม่ต้องรักษาแล้ว เพราะเดี๋ยวก็หาย การที่ไม่รักษา ปล่อยเวลาให้ผ่านไป อาการของต้อหินจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น กว่าคนไข้จะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ตามืดไปแล้ว ต้อเนื้อก็เช่นกัน ถ้าปล่อยเวลาไป ไม่รักษา มันก็จะลามเข้าไปเรื่อยๆ

อีกทั้งไม่พบหลักฐานทางวิชาการใดๆ ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง ไม่มีอาหารเสริมตัวไหนในโลกที่กินแล้วโรคตาจะหาย

ผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอาหารเสริม ถ้าบริโภคปริมาณมากจะมีผลเสียอย่างไร

ด้วยความที่อาหารเสริมเหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบกึ่งสมุนไพร ถามว่ากินไปนานๆ อะไรที่ได้รับจำนวนมากๆ ย่อมมีผลเสียอยู่แล้ว แต่โชคดีที่ผลิตภัณฑ์ ดี-คอนแทค ตัวนี้ราคาสูง เมื่อมันแพง ก็เลยยังไม่เจอใครที่ได้รับผลกระทบจากการกินต่อเนื่องโดยตรง ทำให้ยังไม่เจอใครที่กระหน่ำกินจนเป็นพิษ เพราะอาจจะเงินหมดก่อน

จริงๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ทำเลียนแบบต่างประเทศ เขาจะดูว่าตัวยาอาหารเสริมของต่างประเทศมีส่วนผสมอะไร ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของ อย. ที่บอกว่า สารอาหารทั้งหมดในนั้นมีคุณสมบัติช่วยบำรุง เป็นตัวเสริม ไม่ใช่ตัวแก้ และไม่มีความสามารถในการรักษาโรค อย่างเช่น ลูทีน (Lutein) ถ้าจะกินให้ได้ประโยชน์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคจอตาเสื่อมในระดับปานกลางจะต้องกินติดต่อกัน แต่จะมีผลแค่ยับยั้งไม่ให้อาการไปถึงระดับรุนแรงเท่านั้น

โรคประสาทตาเสื่อม จะต้องถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ว่าคนไข้คนนี้เป็นโรคประสาทตาเสื่อมในระดับปานกลางจริงหรือไม่ ดูว่ามีเซลล์ที่เสื่อมอยู่ในจอประสาทตาเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ มีอาการบวมไหม มีความผิดปกติอยู่ในระดับไหน ไม่ใช่ว่าไปกินผลิตภัณฑ์พวกนี้แล้วจะไม่ต้องรักษาเลย

ตอนนี้มีงานวิจัยออกมาบอกแล้วว่า สารจำพวกใบกิงโกะ (ใบแปะก๊วย) เป็นแค่ตัวช่วยเสริม อาจจะมีผลกับระบบไหลเวียนเลือดในตาดีขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยรักษา ดังนั้น ถ้าเราเอาไปโฆษณาเกินจริง อาจทำให้มีคนเสียหายจากการหลงเชื่อได้ คิดแค่ว่าซื้อยา 670 บาทหายเลยไม่ต้องรักษา เงินจำนวนนี้สำหรับชาวบ้านเป็นจำนวนเยอะมาก กลับไปหลอกเขาว่ากินอันนี้แล้วช่วยได้ บางทีลูกหลานเห็นโฆษณาแล้วเชื่อก็ซื้อให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายกินอีก

ถ้าลูกหลานอยากจะกตัญญูพ่อแม่ พาพ่อแม่มาหาหมอดีกว่าไหม อย่าไปมักง่ายซื้อของตามเว็บไซต์ แล้วคิดว่าจะหายโดยที่ไม่รักษา

ดังนั้น ถามว่าเราสามารถสรุปได้ไหม ว่านี่คือการโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริง แน่นอนว่าได้ อวดอ้างเกินจริงแน่นอน ซึ่งตอนนี้ทุกๆ หน่วยงานก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ในการดูแลเรื่องนี้ 

โรคตาต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเหมารวมว่ารักษาได้ ในทางการแพทย์ทำได้จริงไหม

จากโรคต่างๆ ที่เคลมว่าสามารถรักษาได้ เช่น วุ้นในตาเสื่อม ต้อลม ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา โรคเหล่านี้มีสาเหตุและวิธีการรักษาต่างกันอยู่แล้ว ต้อลม ต้อเนื้อ คือโรคในกลุ่มเดียวกัน เหตุจากเนื้อเยื่อที่อยู่นอกตาขาวเสื่อมและเกิดการอักเสบขึ้นมา ส่วนใหญ่ต้นเหตุเกิดจากแสง UV หรือสิ่งอื่นๆ ภายนอกที่มากระทบ เช่น ลม ฝุ่น เราจะเห็นต้อลมอยู่ข้างๆ ตาดำ แต่ถ้าเป็นต้อเนื้อจะคล้ายๆ กัน คือมีลักษณะเป็นก้อนอยู่ใกล้ๆ ตาดำและกินเข้าไปในเนื้อตาดำ ซึ่งการรักษาโรคนี้จะต้องป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงแสง ฝุ่น ลม ใส่แว่นกันแดด หยอดตาตามที่แพทย์สั่ง

คนที่ตาแดงเพราะเจอลม เจอฝุ่น ก็จะต้องใช้ตัวช่วยด้วยการหยอดน้ำตาเทียม หรือพอถึงเวลาหนึ่งถ้าต้อเนื้อลุกลามก็อาจจะต้องผ่าตัดลอกออก แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกินอาหารเสริมชนิดใดแล้วหาย ไม่สามารถทำให้ต้อหดกลับไป หรือฉีดสเตียรอยด์อะไรก็ตาม ก็ไม่มีทางหดกลับ

ส่วนเบาหวานขึ้นตา เกิดขึ้นได้กับคนไข้ที่มีภาวะเบาหวาน แล้วคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือเป็นเบาหวานนานๆ แต่ถ้าคนไข้สามารถคุมน้ำตาลได้ในปริมาณที่พอดีอย่างสม่ำเสมอก็จะไม่เป็นอะไร

แต่คนไข้ส่วนใหญ่มักจะคุมน้ำตาลอย่างเคร่งครัดแค่เพียงเฉพาะเวลาใกล้จะไปหาหมอ ดังนั้นอาจทำให้น้ำตาลสะสมมากเกินไป และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขึ้นตาได้ ทางออกก็คือการควบคุมน้ำตาล ออกกำลังกาย กินยา ฉีดยา ตามที่แพทย์กำหนด

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยามีความต่างกัน ยาจะถูกพิสูจน์มาแล้วว่าเหมาะกับใครบ้าง กินแล้วแพ้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องกินในปริมาณเท่าไร ทุกอย่างจะมีเอกสารกำกับ บริษัทที่ผลิตต้องชัดเจน เพื่อจะติดตามตรวจสอบต่อได้เมื่อมีปัญหา ต่างจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตามไม่ได้ ของพวกนี้มักจะย้ายโรงงานแหล่งผลิตไปเรื่อยๆ พอเวลาไปจับก็หนี บางแห่งเขียนว่าผลิตที่ต่างประเทศ แต่ความจริงปั๊มยาเม็ดกันอยู่ในห้องแถวหรือโรงงานสักที่หนึ่ง

จากเคสที่รักษามา เคยมีคนไข้เอาผลิตภัณฑ์พวกนี้มาให้ดู แล้วถามว่ากินแล้วได้ผลจริงๆ ไหม หายจริงไหม ดีจริงไหม ก็ได้แต่แนะนำไปว่า อย่าไปซื้อมากินเลย เปลืองเงินเปล่าๆ บอกลูกหลานว่าไม่ต้องซื้อมาให้กินแล้ว เชื่อว่าคุณหมอท่านอื่นอาจจะเคยเจอกับเคสแบบนี้ ยิ่งในต่างจังหวัดน่าจะเยอะ เพราะเขามักอ้างกันว่าอยู่ไกล ไม่สะดวกรักษา ก็เลยเลือกที่จะกินของพวกนี้

มีแนวโน้มไหมว่า โฆษณาที่อวดอ้างเกินจริงเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงวัย

ความจริงแล้ว ไม่ว่าใครที่อาจมีอาการตามัวนิดๆ แสบตาหน่อยๆ แทนที่จะเชื่อหมอ กลับหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์พวกนี้ ไปหาซื้อมากิน เพราะคิดว่าจะสามารถรักษาตัวเองได้ โดยที่ยังไม่ทันไปตรวจเลยว่าตัวเองเป็นโรคจริงๆ หรือเปล่า

ยกตัวอย่างโรคต้อกระจก เป็นโรคที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็ว บางคนก็เป็นตอน 60 ปี บางคน 50 ปี ก็เริ่มเป็นแล้ว เพราะต้องทำงานกลางแดด ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุมากขึ้น แน่นอนว่าตัวเลขจำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคตาย่อมเยอะขึ้น ส่วนต้อหินก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ที่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ ดังนั้นตัวเลขนับล้านคนมีอยู่แล้ว ซึ่งคนไข้บางคนหยอดยาแล้วแสบบ้าง ขี้เกียจหยอดบ้าง ก็เลยเลือกที่จะไปซื้อสิ่งเหล่านี้กิน โดยหวังว่าจะหาย ซึ่งไม่ใช่ 

ความรุนแรงของผลิตภัณฑ์เสริมในรูปแบบยาหยอด จะอันตรายมากกว่าแบบกินไหม

ถ้าผลิตภัณฑ์ถูกผลิตออกมาในรูปแบบยาหยอดจะมีอันตรายกว่าแน่ๆ เพราะเราหยอดโดนลูกตาโดยตรง แค่พูดถึงยาหยอดธรรมดาทั่วไป แม้แต่ขวดยังต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเลย ต้องดูว่าไม่มีผงพลาสติกเจือปนนะ บีบออกมาเป็นอย่างไร ไหนจะเรื่องความสะอาดอีก พวกยาหยอดตาที่ไม่ได้มาตรฐานเราไม่รู้เลยว่าเขาเอาขวดที่ไหนมาแบ่งขาย ได้รับการรับรองไหม ไหนจะน้ำยาในนั้นอีก

จากข่าวที่เคยเห็น บางครั้งมีการเอายาที่ใช้รับประทานไปบรรจุใส่ขวด เพื่อให้ไปหยอดตา ผลปรากฏว่าตาบอด หรือกรณีน้ำป้าเช็งที่เอามาทำหยอดตาขาย จนคนหลงเชื่อซื้อไปหยอดจนเกิดอาการตาอักเสบ รวมถึงกรณีที่คุณยายในจังหวัดขอนแก่น เอายากินแก้ปวดเข่ามาหยอดตา จนตาติดเชื้อ สุดท้ายตาบอด จะเห็นได้ว่ายาหยอดนี่อันตรายมากๆ

คำว่า “ผมไม่เกี่ยว” ใช้ไม่ได้สำหรับกรณีครูสลา?

จริงๆ ตามระเบียบจาก อย. ระบุอยู่แล้วว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ อาหารโฆษณาได้แค่ไหน ยาโฆษณาได้แค่ไหน ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการมักใช้วิธีหลีกเลี่ยงฉลาดๆ โดยการให้เครือข่ายหรือผู้แทนจำหน่ายเป็นผู้โฆษณาแทน พอเจ้าหน้าที่ไปจับก็มักจะอ้างว่าไม่เกี่ยว ให้ไปโทษเครือข่ายหรือผู้แทนจำหน่ายที่ไปโฆษณาเอง

ดังนั้นจึงเป็นความยากในการทำงานเพื่อสืบเสาะ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีส่วนผิดอยู่แล้ว เพราะคุณรับรายได้จากการขาย

แม้แต่ในฐานะพรีเซนเตอร์เองก็ตาม อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ดี-คอนแทคที่ใช้ครูเพลงคนหนึ่งเป็นพรีเซนเตอร์เพราะคนต่างจังหวัดชื่นชอบ ถ้าจะบอกว่าตัวพรีเซนเตอร์ไม่เกี่ยว เพราะแค่โดนจ้างให้มาทำหน้าที่โปรโมทสินค้าเฉยๆ แต่หากพบว่ามีการอวดอ้างโฆษณาเกินจริงด้วยการเติมข้อความแอบอ้างลงไปโดยที่พรีเซนเตอร์ไม่รู้ตัว ก็ต้องไปดำเนินคดีแจ้งความไว้ แต่สุดท้ายครูสลาก็โดนปรับไปตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

บทลงโทษของเรื่องนี้คืออะไร

ถ้าเป็นการทำโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริงในช่องทางดิจิทัลจะมีโทษหนักมาก อาจถึงขั้นจำคุกได้ แต่ในกระบวนการทางกฎหมายก็มีหลายขั้นตอนที่ต้องพิจารณา

ทางเราที่เป็นทีมจักษุแพทย์มักโดนคำถามจากคนไข้เยอะมาก ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่ จึงมีความต้องการให้เร่งแก้ไขเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้มานาน แต่การทำงานคนเดียวมันทำให้ไม่ค่อยคืบหน้า เหมือนการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เราจะไปงัดเขาด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ก็เลยต้องมีทีมขึ้นมาเพื่อดูแลและขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนไปหลงเชื่อกินอาหารเสริมพวกนี้อีก

ถ้าไม่จัดการ ปล่อยให้เจ้าหนึ่งอยู่ เดี๋ยวก็จะมีอีกเจ้าหนึ่งผุดขึ้นมาทำตาม ที่นี้ตายแน่ๆ คนไข้ต้องเสียเงินให้กับอะไรก็ไม่รู้ คนไข้บางคนกว่าจะมาถึงมือหมออาการก็แย่แล้ว เพราะเสียเวลาไปกับการกินอะไรก็ไม่รู้

ตอนนี้มีหลายหน่วยงานที่พยายามช่วยกันดูแลเรื่องนี้ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อย. กระทรวงดิจิทัลฯ กสทช., คณะเภสัชฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงเพจดังๆ ที่มีคนติดตามเยอะๆ อย่างเพจ Drama-addict ที่เข้ามาช่วยสื่อสาร และมีตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มีผู้แทนจากแพทยสภา และตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลายๆ หน่วยงาน

อีกปัญหาหนึ่งที่ยังทำให้เจอผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ คือข้อกฎหมายที่ไม่แรงพอ และเราไม่ได้มีงบจ้างคนมานั่งเฝ้าหรือตรวจสอบเยอะขนาดนั้น ต่างจากฝั่งผู้ประกอบการที่จ้างตัวแทนทำการโปรโมทสินค้าตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ปัญหาผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงมีเยอะมาก ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องตา มีทั้งลดความอ้วน กินแล้วสวย กินแล้วปึ๋งปั๋ง ทุกๆ เรื่องมันลอยอยู่โซเชียลหมด ก็เลยทำให้ต้องใช้เวลาในการต่อสู้เยอะ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทุกวัน เราเริ่มจัดระบบ แล้วก็พยายามจะทำหน้าที่ตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น ตั้งแต่ต้นตอการขอเลข อย. เพื่อกันไม่ให้คนทำผิดดิ้นไปไหนได้

อยากให้ช่วยเล่าการผนึกกำลังการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าดูแลเรื่องนี้อย่างไร

เครือข่ายต่างๆ ที่กล่าวมา เรามีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยที่ตอนนี้ทาง อย. กำลังเร่งวางระบบในเรื่องนี้ให้เข้มข้นอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่างานก็น่าจะเยอะ แค่เคสไล่ปรับก็มีเป็นร้อยเป็นพัน ดังนั้นในแต่ละวันเราจะต้องช่วยกัน ถ้าสมาชิกหรือประชาชนคนไหนเห็นการโฆษณาที่เกินจริงก็ให้ร้องเรียนเข้ามา จากนั้นเราจะรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ให้ทาง อย.

พอรับเรื่องมา ทาง อย. ก็จะดูต่อ และทำตามขั้นตอนของเขา เช่น ตรวจสอบ จนพบว่ามีสารอันตรายในผลิตภัณฑ์จริง ก็จะส่งเรื่องต่อให้ทีมเภสัชและจักษุยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นทำการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง ไม่สามารถรักษาโรคได้ และส่งต่อเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลดูแลต่อ อาจจะทำการปิดเว็บไซต์หรือแจ้งเตือนไปที่ผู้ประกอบการต่อไป รวมถึงขอความร่วมมือไปที่เพจต่างๆ ให้ช่วยเผยแพร่ความจริง นอกจากนั้นยังทำการประชาสัมพันธ์ โดยทำอินโฟกราฟิกช่วยให้ความกระจ่าง ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่ออีก

จะมีวิธีการอย่างไรในการควบคุมโฆษณาอวดอ้างเกินจริงในโลกโซเชียล

โซเชียลมีเดียทำหน้าที่เหมือนดาบสองคม จริงๆ แล้วแอดมินเพจดังต่างๆ ถ้าเขาช่วยแชร์ความจริง ช่วยประชาสัมพันธ์จะดีมาก เพราะเท่ากับสร้างความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่ยุคนี้มันถูกควบคุมด้วย AI สมมุติเรากำลังหาข้อมูลเรื่องตา ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับตาก็จะเด้งเข้ามาในฟีด ซึ่งตรงนี้อันตราย เพราะเราไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง

บางครั้งคนไข้ที่มีอาการทางตา เขาอยากรู้ว่าต้อหินที่เขาเป็นอยู่จะรักษาอย่างไร ถ้าผลิตภัณฑ์อวดอ้างเหล่านี้เข้าไปในหน้าฟีดของเขา นั่นหมายถึงความอันตรายมาถึงแล้ว กระทรวงดิจิทัลก็ต้องทำงานหนักเพื่อสู้กับ AI ซึ่งค่อนข้างควบคุมยาก แต่อีกแง่หนึ่ง โซเชียลมีเดียก็ช่วยขยายความเข้าใจให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงไปด้วย

ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองจากเรื่องนี้

เราพยายามออกหลายเวที ออกหลายสื่อ พยายามทำสื่อเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าวิธีนี้จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุได้มากแค่ไหน ต้องยอมรับว่ายังมีหลายคนที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในโรคต่างๆ เพราะบางทีคนไข้เชื่อเพื่อนบ้านง่ายกว่าเชื่อหมออีก โจทย์คือเราจะต้องเปลี่ยนความรู้ของคนไข้ให้เขาเข้าใจมากขึ้น

ล่าสุดจากประสบการณ์ที่เห็นจากการลงพื้นที่ไปตรวจ ยังพบว่าผู้ป่วยต้อกระจกที่ไม่ยอมไปผ่า มีจำนวนมาก ก็ต้องช่วยกันบอกว่าให้รีบไปผ่า ผ่าแล้วหาย อย่าไปเชื่อข้างบ้านมาก

นอกจากความกลัว อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนไข้ไม่มารักษากับหมอ แต่เลือกไปเชื่อผลิตภัณฑ์พวกนี้ เพราะติดขัดในการเดินทาง ไม่มีญาติพามา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลอยู่ไกลและกระจุกตัว

อยากฝากไว้ว่า เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ นอกจากกลับบ้านไปไหว้พ่อแม่แล้ว ลองเปลี่ยนเป็นพาพ่อแม่มาหาหมอ ตรวจตา ตรวจความดัน ดีกว่าไหม

เพราะโรคตาเหล่านี้ อาหารเสริมจากไหนก็ช่วยให้หายไม่ได้

7 เบาะแส ผลิตภัณฑ์สุขภาพหลอกลวง

โลกทุกวันนี้อยู่ยาก ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย ไร้มาตรฐาน กำลังแพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทย ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้แฝงอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค และอยู่ในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา ไม่ว่าจะมาในรูปของอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง

ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในที่นี้ ได้แก่

  1. อาหาร นม กาแฟ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารเสริม ฯลฯ
  2. ยา ยารักษาโรคชนิดต่างๆ ทั้งยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา ยาฉีด ฯลฯ
  3. เครื่องสำอาง ครีม โลชั่น แป้งทาหน้า ลิปสติก น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ย้อมผม เจลแต่งผม ฯลฯ
  4. เครื่องมือแพทย์ ถุงยางอนามัย เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต คอนแทคเลนส์ เครื่องนวด ที่นอนแม่เหล็ก ฯลฯ
  5. วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน อาทิ ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ฯลฯ
  6. วัตถุเสพติด มอร์ฟีน ฝิ่น ยานอนหลับ ยาลดความอ้วนบางชนิด ทินเนอร์ แลกเกอร์ ฯลฯ

จะเห็นว่าสถานการณ์ภัยสุขภาพกำลังลุกลามผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งโซเชียลมีเดีย สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เกินกว่ากำลังเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจสอบได้ทั่วถึง ที่ผ่านมาแม้จะมีผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกเป็นเหยื่อโฆษณาอวดอ้างเกินจริง บ้างสูญเสียทรัพย์สิน บ้างได้รับผลกระทบจากความเจ็บป่วย บ้างถึงขั้นเสียชีวิต

การส่งเสริมให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตนเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยับยั้งวงจรการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์หลอกลวงเหล่านี้ได้

Infographic ชิ้นนี้เรียบเรียงข้อมูลจากส่วนหนึ่งของ คู่มือประชาชน ฉบับผู้บริโภคที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัยและรู้จักการปกป้องสิทธิ์ของตนเอง รวมถึงชี้ช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเมื่อพบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย

สิทธิการตาย…วาระสุดท้ายที่เลือกได้

ปรากฎการณ์ ‘การุณยฆาต’ ของคนคนหนึ่งที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองโดยไม่รอพึ่งพาการรักษา เป็นหนึ่งในหัวข้อถกเถียงที่ท้าทายความคิดของสังคมไทยว่า คนเรามีสิทธิเลือกที่จะตายได้ไหม อะไรคือขอบเขตของการตัดสินใจ ที่สำคัญผู้คนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจกระบวนการนี้แค่ไหนอย่างไร

เวทีเสวนาหัวข้อ ‘เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด?’ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีจุดประสงค์เพื่อหาคำตอบของกระบวนการสู่ความตายอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ขัดต่อศีลธรรม ด้วยการใช้สิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ก่อนจะหาข้อสรุปในเรื่องนี้ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันในเบื้องต้นว่า ความหมายของการุณยฆาตแท้จริงแล้วก็คือกระบวนการ ‘เร่งตาย’ ตามความประสงค์ของบุคคลนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เลือกตัดสินใจยุติการรักษา เพื่อเผชิญความตายอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการถูกยื้อชีวิต

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจในเฟซบุ๊คแฟนเพจ Drama-addict มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นกว่า 50,000 ราย พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยที่จะให้มีการการุณยฆาตได้ แต่ผลสำรวจนี้ก็สะท้อนถึงภาวะของความรู้ความเข้าใจที่ยังไม่รอบด้านเสียทีเดียว

นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-addict ให้ข้อสังเกตต่อผลสำรวจครั้งนี้ว่า ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเรื่องการุณยฆาตส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการให้ข้อมูลแก่คนไทยอย่างทั่วถึงมากกว่านี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น และอาจไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นการุณยฆาตก็ได้

“ไม่ว่าจะเป็นการุณยฆาต หรือ Palliative care เป้าหมายทั้งคู่ก็คือ การตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การุณยฆาตจะเป็นการเร่งกระบวนการตาย ส่วน Palliative care เป็นการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าสู่วาระสุดท้ายอย่างเป็นไปตามธรรมชาติและราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย .แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพ สช. มองเรื่องนี้ว่า สิทธิการตายที่กฎหมายรับรองในระดับสากลได้แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ หนึ่ง-ตายแบบธรรมชาติ สอง-ตายแบบเร่งรัด หรือขอตายก่อนเวลาอันควร เช่น กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดต่อไปได้จึงร้องขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต ซึ่งปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายรับรองให้สามารถกระทำได้

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ให้การรับรองการตายตามธรรมชาติ โดยผู้ป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ กรณีนี้ถือเป็นการใช้สิทธิ ‘เลือกตาย’ อย่างสงบโดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต่างจากการเร่งตายแบบการุณยฆาต

“แพทย์ที่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยจะไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ ส่วนการ ‘เร่งตาย’ ขณะนี้กฎหมายไทยยังไม่รองรับ การทำให้ตายเร็วขึ้นไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ที่ดีหรือไม่ก็ตาม ในแง่กฎหมายถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าทั้งสิ้น”

จากประสบการณ์ตรงที่เคยสัมผัสในสหรัฐอเมริกา ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ป่วยในสหรัฐที่ขอการุณยฆาตมักจะเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนทนไม่ได้ รักษาไม่หาย ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และมีความเครียดสูง

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร

“ในสหรัฐหากผู้ป่วยตัดสินใจขอการุณยฆาตจะถือว่าผู้ป่วยได้เลือกแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องผ่านการประเมินทั้งจากทีมแพทย์ ทีมจิตแพทย์ ทีมจริยธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าการร้องขอไม่ได้เป็นไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และอาการป่วยก็ไม่มีแนวทางการรักษาอื่นแล้วจริงๆ” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว

สำหรับการใช้สิทธิการตายตามธรรมชาตินั้น ในมุมมองของ ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า หากแพทย์ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย ย่อมไม่ขัดแย้งต่อจรรยาบรรณแพทย์แน่นอน เพราะการใช้สิทธิตามมาตรา 12 จะเข้าข่ายการดูแลรักษาแบบประคับประคองที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รักษาไม่หายจริงๆ

 

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายดูแลแบบประคับประคองการรักษาเพื่อยื้อชีวิต
สถานที่บ้านโรงพยาบาล
ความเป็นอยู่ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว และรับยาระงับอาการปวดใช้เครื่องมือแพทย์และสายระโยงระยาง
ค่าใช้จ่ายต่ำสูง
ผู้กำหนดวาระสุดท้ายตัวผู้ป่วยญาติและคนใกล้ชิด

 

อีกหนึ่งมุมมองจากนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ‘ดีเจพี่อ้อย’ นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล ให้ความหมายของการ ‘ตายดี’ คือ การเลือกเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ในขณะที่ครอบครัวและญาติไม่รู้สึกผิดหวัง จึงเห็นด้วยกับแนวคิดในการดูแลแบบประคับประคอง เพราะเป็นทางเลือกที่ให้สิทธิผู้ป่วยตัดสินใจได้เอง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่ไม่ทำร้ายจิตใจของทุกฝ่าย

“พี่อ้อยคิดว่าแนวทางนี้คือการไม่ยื้อและไม่รั้งชีวิต หากแต่เป็นการดูแลรักษาและร่วมกันประคับประคองผู้ป่วยโดยที่ต่างฝ่ายต่างมองเห็นหัวใจของกันและกัน” ดีเจพี่อ้อยกล่าว

นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล

ดีเจพี่อ้อยเล่าจากประสบการณ์ด้วยว่า ในช่วงเวลาสำคัญที่ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวผู้ป่วยมักจะมองว่าตัวเองไม่ต้องการความเจ็บปวดและเป็นภาระใคร ขณะที่ญาติมักต้องการรั้งชีวิตออกไปให้นานที่สุดเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกผิด แต่หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้คือ การเปิดใจรับฟังกัน สื่อสารต่อกันด้วยความรัก และเคารพการตัดสินใจของกันและกัน

“เคยมีคนโทรเข้ามาและเล่าว่าแม่ตัวเองประสบอุบัติเหตุ คำปลอบใจที่ว่า สู้ๆ นะ หรือบอกให้เขาเข้มแข็ง คงไม่สามารถจะทำให้เขาหายเจ็บปวด ในเวลานั้นเราก็ต้องให้เขาระบายออกมา ให้เขาได้ร้องไห้ ใช้เวลาเพื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้ ทุกข์ก็ต้องยอมรับให้ได้ เพราะเราคงแก้ไขให้เขาฟื้นมาไม่ได้แล้ว” ดีเจพี่อ้อยกล่าว

ความตายคือเรื่องใกล้ตัวและเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่การุณยฆาตก็ไม่ใช่ทางออกสุดท้ายเสมอไป ทางเลือกที่สังคมไทยมีอยู่ ณ ขณะนี้คือ สิทธิการตายตามมาตรา 12 และการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดมองเห็นหนทางสู่การตายดีอย่างมีคุณภาพที่แท้จริง

ภาพ: กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)