การเคลื่อนไหวให้ผลบวกต่อร่างกายมากกว่านั่งอยู่เฉยๆ แน่นอนว่าการเผาผลาญพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สุขภาพดี ตอนนี้มีงานวิจัยสำรวจลงลึกกว่านั้น โดยพบว่า แค่ ‘การเดิน’ ช้าหรือเร็ว ก็อาจส่งผลให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวต่างกัน
งานที่เผยแพร่ใน Mayo Clinic Proceedings สรุปว่า ผู้ที่เดินอย่างกระฉับกระเฉงมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy – อายุโดยเฉลี่ยของประชากรที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่) ยืนยาวกว่า และอายุคาดเฉลี่ยนี้ยังมีอัตราคงที่ แม้จะเป็นคนอ้วน ไขมันสูง น้ำหนักเกิน และค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) มากกว่ามาตรฐาน จนอาจตั้งสมมุติฐานต่อไปได้ว่า ความฟิตทางร่างกายเป็นตัวชี้วัดการมีสุขภาพที่ดีได้ดีกว่า BMI
งานศึกษาชิ้นนี้นำโดย National Institute for Health Research (NIHR) จากศูนย์วิจัยทางชีวเวชศาสตร์เลสเตอร์ (Leicester Biomedical Research Centre) เป็นงานชิ้นแรกที่จับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของการเดินอย่างกระฉับกระเฉงว่าส่งผลต่ออายุคาดเฉลี่ยโดยไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์น้ำหนักตัว
ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลพันธุกรรมจาก UK Biobank ของประชากร 474,919 คน ใช้เวลาเก็บข้อมูลตั้งแต่ 13 มีนาคม 2006 – 31 มกราคม 2016 โดยอายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมทำการวิจัยคือ 58.2 ปี ทุกคนมีค่า BMI เฉลี่ย 26.7 เปอร์เซ็นต์ ไขมันสูง อยู่ในข่ายน้ำหนักเกินมาตรฐาน – หรือจัดว่าเป็นคนอ้วน
ผลออกมาพบว่า ผู้เข้าร่วมทำการวิจัยที่ยืนยันว่าตัวเองเดินด้วยความเร็วกระฉับกระเฉงมีอายุคาดเฉลี่ยสูงในทุกระดับ BMI ผู้ชายอยู่ที่ 85.2-86.8 ปี และ 86.7-87.8 ปี สำหรับผู้หญิง ขณะที่คนเดินช้า มี BMI น้อยกว่า 20 และน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ จะมีอายุคาดเฉลี่ยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ คือ 72.4 ในผู้หญิง และ 64.8 ในผู้ชาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วนับว่าเป็นตัวเลขที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ทอม เยตส์ (Tom Yates) ศาสตราจารย์ด้านการเคลื่อนไหว จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) กล่าวว่า “การค้นพบของเราช่วยให้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างความฟิตของร่างกายและน้ำหนักตัวที่จะส่งผลต่ออายุคาดเฉลี่ยในแต่ละบุคคล หรือพูดอีกอย่างคือ การค้นพบนี้แนะนำว่า บางทีความแข็งแรงทางร่างกายอาจจะเป็นตัวชี้วัดอายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ที่ดีกว่า BMI ก็ได้ และนั่นจะกระตุ้นให้ทุกคนหันมาเดินและเคลื่อนไหวร่างกายกันอย่างกระฉับกระเฉงว่องไวเพื่อยืดอายุขัยของตัวเองออกไป
“การศึกษาจากหลายประเทศแสดงให้เห็นความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนว่ามีอัตราเสียชีวิตน้อยถ้าร่างกายฟิตมากพอ” และ “งานศึกษาส่วนใหญ่รายงานถึงข้อดีของความฟิตที่สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงการเสียชีวิต เช่น ร่างกายที่แข็งแรงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์”
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังต้องทำงานต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปว่า ความเสี่ยงของกลุ่มคนที่มีค่า BMI ต่ำกว่ามาตรฐานและเดินช้า ยังสามารถยืดอายุคาดเฉลี่ยของพวกเขาได้โดยเพิ่มความฟิตทางกายของตนเองได้หรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก: newsweek.com |