งานวิจัยเผย ตื่นก่อนอยู่สบาย นอนตื่นสายตายเร็ว

ที่ผ่านมางานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการนอนดึกตื่นสายส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและใจ แต่ยังไม่มีงานชิ้นไหนให้หลักฐานชี้ชัดว่าผลเสียที่ว่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วารสารวิชาการทางการแพทย์ Chronobiology International เปิดเผยข้อสรุปจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) และมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ (University of Surrey) ออกมายืนยันว่า มนุษย์จำพวกนอนดึกตื่นสาย (night owl) มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากกว่า เช่น โรคหัวใจ (cardiovascular disease) โรคอ้วน (diabetes) โรคระบบทางเดินหายใจ (respiratory diseases) โรคระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal problems) หรือความเครียดที่ส่งผลกระทบมาสู่ร่างกาย (psychological distress) และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ามนุษย์นอนเร็วตื่นเช้า (morning lark)

โดยทีมวิจัยทำการติดตามและสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษอายุตั้งแต่ 38-73 ปี จำนวน 433,000 คน เป็นระยะเวลาเฉลี่ย 6.5 ปี พบว่า กลุ่มที่นอนดึกตื่นสายมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วกว่ากลุ่มที่นอนเร็วตื่นเช้าถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าทั้งสองกลุ่มจะมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น อายุ น้ำหนัก สูบบุหรี่หรือไม่สูบ ดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ แม้แต่สถานะทางสังคม – อัตราความเสี่ยงของกลุ่มนอนดึกตื่นสายก็ยังสูงกว่ากลุ่มนอนเร็วตื่นเช้าอยู่ดี

ทุกคนต่างมีนาฬิกาชีวิตเป็นของตัวเอง

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่า นาฬิกาชีวิต (body clock) ช่วยควบคุมพฤติกรรมและการทำงานภายในร่างกายแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระดับฮอร์โมน ระดับอุณหภูมิหรือการเผาผลาญอาหารในแต่ละวัน รวมถึงการนอน

แต่มนุษย์เราต่างมีเวลานอนและเวลาตื่นที่ไม่ตรงกัน

บางคนนาฬิกาชีวิตก็ทำงานสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก – นอนเร็ว ตื่นเช้า

บางคนนาฬิกาชีวิตก็ทำงานไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก – นอนดึก ตื่นสาย

เมื่อร่างกายเราทำงานไม่ประสานสอดคล้องกับอิทธิพลจากปัจจัยธรรมชาติต่างๆ เช่น แสงสว่าง ความมืด ระดับเสียง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและอาหารการกิน ผลกระทบที่ตามมาจึงออกมาในรูปแบบความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต

“มนุษย์นอนดึก-ตื่นสายพยายามฝ่าฟันใช้ชีวิตอยู่บนโลกของมนุษย์นอนเร็ว ตื่นเช้า งานที่เรียกร้องให้พวกเขาต้องตื่นเช้า แต่พวกเขาต้องการที่จะกิน จะนอนช้ากว่าคนอื่น ความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวจึงนำมาสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมา” คริสเตน นุตสัน (Kristen Knutson) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นและผู้วิจัยร่วม อธิบาย

ทำไมมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายถึงมีปัญหาทางสุขภาพมากกว่า?

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยกล่าวว่าพวกเขายังคงหาข้อสรุปชี้ชัดไม่ได้ว่าเพราะอะไรมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายถึงมีปัญหาสุขภาพที่มากกว่ากลุ่มตรงข้าม ซึ่งนุตสันตั้งข้อสังเกตว่า

“อาจเป็นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายที่ทำให้พวกเขามีนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาว พฤติกรรมที่ว่าอาจเป็นความเครียด การกินผิดเวลา ออกกำลังกายไม่เพียงพอ การตื่นขึ้นมากลางดึก การใช้สารเสพติด ติดแอลกฮอลล์ ซึ่งพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อร่างกายต่างๆ เหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับกลุ่มที่นอนดึกตื่นสาย”

เปลี่ยนได้ไหม?

แล้วหากมนุษย์นอนดึกตื่นสายอยากปรับพฤติกรรมเป็นนอนเร็วตื่นเช้าล่ะทำได้ไหม นุตสันตอบว่า “อีกครึ่งหนึ่งอาจควบคุมไม่ได้ อีกครึ่งหนึ่งคุณอาจควบคุมได้” พร้อมเสนอว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางตรงข้ามควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ความพยายามจะนอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงในทันทีอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะท้ายสุดแล้วคุณจะยอมแพ้ไปเอง ถ้าอยากนอนให้เร็วขึ้น วิธีการคือคงเวลานอนไว้ให้เหมือนเดิมแต่พยายามอย่านอนดึกไปมากกว่านั้นในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด เพราะจะยิ่งทำให้คุณนอนดึกขึ้นกว่าเดิม รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้งานหน้าจอ (screen time) ไมว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์หรือทีวี ก่อนนอน

มัลคอล์ม ฟอน ชานท์ซ (Malcolm von Schantz) ศาสตราจารย์ด้านวัฏฏะชีวภาพ (chronobiology) จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ หนึ่งในผู้วิจัยให้ข้อแนะนำ

หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวได้ การปรับเวลาการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์นอนดึกตื่นสายนั้นดีขึ้นได้เช่นกัน

แต่ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาคาดหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยทำให้มนุษย์นอนดึก-ตื่นสายตระหนักถึงความอันตรายของพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่พวกเขาทำในตอนกลางคืนว่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังคงมีข้อจำกัดว่าด้วยช่วงอายุที่ห่างกันเกินไปในกลุ่มตัวอย่าง และการที่กลุ่มตัวอย่างสามารถเลือกที่จะตอบแบบสอบถามด้วยตัวเองว่า พวกเขาเป็นมนุษย์นอนดึก-ตื่นสายหรือมนุษย์นอนเร็ว-ตื่นเช้า

ดังนั้น การศึกษาชิ้นถัดไปของทีมวิจัยในอนาคตจึงจะเป็นการศึกษาว่ามนุษย์นอนดึก-ตื่นสายเมื่อปรับพฤติกรรมเป็นนอนเร็วตื่นเช้าได้สำเร็จ พวกเขาจะยังคงมีความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพอยู่หรือไม่

“เรา ทีมวิจัยจำเป็นที่จะต้องหากลยุทธ์ที่ดีและช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อสุขภาพ และทำให้ (มนุษย์นอนดึก-ตื่นสาย) เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพเป็นอันดับแรก” ฟอน ชานท์ซ กล่าว

คุณเป็นมนุษย์นอนดึก-ตื่นสาย หรือมนุษย์นอนเร็ว-ตื่นเช้า? เช็คได้ที่: cet-surveys.com

ที่มา:
theconversation.com
forbes.com/