ค่าบริการมือถืออาจแพงขึ้น เครือข่ายผู้บริโภคห่วง กสทช. เอาไม่อยู่

มีแนวโน้มว่าผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของแต่ละค่ายอาจถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้น ทั้งค่าโทร ค่า SMS และค่าอินเทอร์เน็ต จากการที่ กสทช. กำลังเตรียมออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง ‘การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ’ เป็นเหตุให้เครือข่ายองค์กรเพื่อผู้บริโภคต้องออกมาเรียกร้องให้ กสทช. ยึดหลักการในการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือตามแนวทางที่กำหนดไว้เดิม อย่าคล้อยตามเสียงเอกชน แต่ควรเห็นแก่ประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม

นายโสภณ หนูรัตน์ เลขานุการอนุกรรมการด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ให้ความเห็นว่า ร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว ได้มีการนำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ซึ่งในร่างฉบับเดิมได้มีการกำหนดอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งาน หรือที่เรียกว่า ‘ค่าบริการนอกโปรโมชัน’ อยู่ด้วย โดยกำหนดไว้ในร่างประกาศฯ ข้อ 6 (2) และภาคผนวก ข ว่าจะกำกับอัตราค่าบริการเสียง (การโทรออก) ไม่ให้เกินกว่า 0.90 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.50 บาทต่อข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย ไม่เกิน 2.50 บาทต่อข้อความ และบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ไม่เกิน 0.50 บาทต่อเมกะไบต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับกับผู้บริโภค ทำให้ค่าบริการส่วนที่เกินจากรายการส่งเสริมการขาย หรือส่วนที่ผู้บริโภคใช้เกินจากโปรโมชัน มีราคาถูกลง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานายโสภณได้ทราบมาว่า ในร่างประกาศฉบับปัจจุบันที่ กสทช. กำลังเตรียมจะนำเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น ได้มีการตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป โดยอ้างว่าเป็นการปรับแก้หลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เนื่องจากทำให้บรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือแสดงความไม่เห็นด้วย

“กสทช. ควรฟังเสียงผู้บริโภคซึ่งเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าภาคธุรกิจ ตอนที่รับฟังความคิดเห็นก็มีเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และทางเครือข่ายก็เห็นชอบกับแนวทางของร่างประกาศที่กำหนดว่าจะกำกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทั้งในโปรโมชันและนอกโปรโมชัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงทำให้ไม่มีการคัดค้านหรือแสดงความเห็นแย้งกับร่างประกาศที่ กสทช. เสนอ เพราะเห็นว่าสิ่งที่ กสทช. ตั้งใจจะทำนั้นดีอยู่แล้ว และยังเป็นการป้องกันการเอาเปรียบและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ แต่กลายเป็นว่า เสียงสนับสนุนอย่างเงียบๆ นั้นกลับถูกละเลยไป คงเหลือแต่เสียงค้านของค่ายมือถือดังอยู่ข้างเดียว”

นายโสภณกล่าว

นายโสภณกล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังพบว่าตามร่างประกาศฉบับปรับปรุง ในภาคผนวก ก ที่กำหนดโครงสร้างอัตราค่าบริการตามสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมด หรือ ‘สิทธิตามโปรโมชัน’ พบว่ามีอัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

  • ค่าบริการเสียง (การโทรออก) จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 0.57 บาทต่อนาที เพิ่มเป็น 0.60 บาทต่อนาที
  • ค่าบริการข้อความสั้น (SMS) จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 0.88 บาทต่อข้อความ เพิ่มเป็น 0.97 บาทต่อข้อความ
  • ค่าบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ เพิ่มเป็น 0.16 บาทต่อเมกะไบต์

“ขอเรียกร้องไปยัง กสทช. ให้พิจารณาออกประกาศกำกับค่าบริการโทรศัพท์ โดยใช้ร่างประกาศฉบับเดิมที่นำมารับฟังความคิดเห็น ซึ่งโดยรวมมีสาระสำคัญที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าฉบับที่แก้ไข และในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก็ได้รับการเห็นชอบจากผู้เข้าร่วมในฝ่ายของผู้บริโภคแล้ว” นายโสภณกล่าว

นายโสภณระบุด้วยว่า จากข้อสังเกตที่พบในร่างประกาศ กสทช. ฉบับแก้ไข สะท้อนให้เห็นว่า กสทช. ไม่ได้ยืนหยัดที่จะคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม