การรับรอง “องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ” นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการยกระดับระบบและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศที่จะนำไปสู่การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย
สานพลังฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณพิฆเนศ ต๊ะปวง. รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถึงความสำคัญของการรับรององค์กรผู้บริโภค ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) และ สคบ. ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์กระบวนการต่างๆ ในการรับรองคุณภาพสำหรับองค์กรผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 2558 และเพิ่งร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาระบบรับรององค์กรผู้บริโภคและการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค” กันไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2561
แนวทางการดำเนินงานและความคาดหวังต่อองค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามได้นับจากนี้
◊ เหตุใด สคบ.จึงให้ความสำคัญกับการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ?
สคบ.ได้ประโยชน์อย่างมากในการร่วมลงนามในครั้งนี้ เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นภารกิจโดยตรงของ สคบ. แต่ด้วยข้อจำกัดของภาครัฐ ทั้งในแง่ของบุคลากรที่มีเพียง 200 กว่าคน กับการดูแลคุ้มครองปกป้องผู้บริโภคกว่า 65 ล้านคนนั้น ไม่ง่าย โดยเฉพาะหลังจากที่เปิด AEC ทำให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น ปัญหาก็เพิ่มขึ้น
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เราจึงเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดคือการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถปกป้องตัวเองได้ นั่นคือ เราเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ปกป้อง” เป็น “ผู้หนุนเสริม” หรือสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภคแทน ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ภาครัฐสามารถสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาดูแลผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ดังนั้นเราจึงให้ความสนใจวิธีการที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ จนกระทั่ง สสส.พัฒนาหลักเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้นมา
◊ สคบ.มีแนวทางหนุนเสริมเรื่องนี้อย่างไร?
เมื่อเป็นองค์กรที่ผ่านการประเมิน ซึ่งจะแบ่งเป็น ขั้นพื้นฐาน ขั้นมีสิทธิ และขั้นสูง ในส่วนของขั้นพื้นฐาน เราจะให้การรับรองว่าเป็นเครือข่ายของ สคบ. และช่วยเรื่องการถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เราผลิต รวมถึงเมื่อ สคบ.มีการเปิดหลักสูตรการอบรม เราจะเชิญองค์กรที่ได้รับการรับรองนี้เข้ามาเป็นแกนนำหรือเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรที่เรารับรองด้วย
นอกจากนี้ เมื่อคนก็เข้ามาขอคำแนะนำปรึกษาก็เท่ากับช่วยแบ่งเบาภาระงานให้ สคบ.ได้ สอดรับกับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ของ สคบ. ซึ่งมีคำสั่งตั้งแต่ปี 2553 ตามแผนการกระจายอำนาจ ฉบับที่ 2 ดังนั้น ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในพื้นที่เข้าไปอยู่ในคณะอนุกรรมการ สคบ.จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นซึ่งสอดรับกับนโยบายประชารัฐด้วย
◊ กำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้ไว้อย่างไร?
ใน 5 ปีจากนี้ เราอยากเห็นคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำท้องถิ่น ประจำเทศบาล ประจำตำบล เป็นฟันเฟืองที่จะช่วยกันทำงานในพื้นที่ ขณะที่ส่วนภูมิภาคมีอนุคณะกรรมการระดับจังหวัด ถ้าระดับท้องถิ่นแก้ปัญหาไม่จบ จะส่งเรื่องมาที่อนุกรรมการระดับจังหวัด ช่วยกลั่นกรอง ถ้าไม่เป็นผล จึงจะส่งเรื่องมาที่ส่วนกลางคือสคบ. แต่ใจผมอยากให้เรื่องจบได้ในระดับจังหวัด กรณีมีข้อพิพาทให้ฟ้องศาลจังหวัดคดีผู้บริโภค
ท้ายที่สุดองค์กรเหล่านี้จะสอดรับกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 46 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้สิทธิประชาชนในการรวมตัว เพื่อให้เกิดพลังปกป้องพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากสคบ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ตรงนี้ตรงกับสิ่งที่สคบ.ได้บอกไว้แต่ต้นว่าทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งดีกว่าต้องคอยปกป้องตลอด24 ชม.
องค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเหมือนตาสับปะรดที่อยู่ทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้นขณะที่ผู้บริโภคก็รู้สิทธิตัวเองมากขึ้น
“คณะเภสัชฯ เราเป็นคณะที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ “ยา” ซึ่งแน่นอนว่า ยา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึง “ความปลอดภัยของผู้บริโภค” เป็นสำคัญ เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ฝังรากในคณะของเราอยู่แล้ว
“การรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานองค์กรผู้บริโภคขึ้นมา โดยมีศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เป็นองค์กรหลักด้านวิชาการ ในการออกแบบ พัฒนาเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำการตรวจประเมินองค์กรต่าง ๆ กว่า 200 องค์กรที่สมัครเข้ามา ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้เตรียมมอบใบประกาศให้กับองค์กรที่ผ่านเกณฑ์ทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูง
“หลังจากที่องค์กรต่าง ๆ ผ่านการประเมินแล้ว ในส่วนของภาควิชาการจะช่วยหนุนเสริมในเรื่องของการเสริมศักยภาพ องค์กรผู้บริโภคเหล่านี้เป็นเหมือนเครือข่ายเรา เราสามารถสื่อสารสนับสนุนข้อมูลวิชาการต่าง ๆ ได้เรื่อย ๆ แต่จริง ๆ แล้วองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ เพราะหลายครั้ง Best Practice มาจากผู้ปฏิบัติ ในส่วนของภาควิชาการ เราช่วยหนุนเสริมในเรื่องของการจัดเวที เปิดโอกาส สร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับเขาได้ คือร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน อย่างเช่นบางองค์กรหรือบางหน่วยงานอาจมีระบบที่ดี หรือมีจุดเล็ก ๆ ที่ดี นำสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน อนาคตสิ่งเหล่านี้อาจกลายมาเป็นมาตรฐานที่ทำร่วมกันได้
“เรามององค์กรเหล่านี้ว่า ควรเป็นองค์กรเครือข่ายที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเราช่วยสนับสนุนให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยสนับสนุนในเรื่องการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ และนำความรู้ที่ได้นั้นมาช่วยเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพให้องค์กรต่าง ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรผู้บริโภคที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคได้ในอนาคต แบบนี้ยั่งยืนกว่า
“นี่คือสิ่งที่หวังอยากให้เกิดขึ้นกับกระบวนการรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพในส่วนของภาควิชาการ”