ปอกเปลือกมายา ‘ผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ หลอกลวง

ปรากฏการณ์ ‘เมจิกสกิน’ ที่มียอดผู้เสียหายเข้าแจ้งความเกือบ 1,000 ราย กับมูลค่าความเสียหายเกือบ 300 ล้านบาท และเหล่าดารานักแสดงที่มีส่วนพัวพันร่วม 60 ชีวิต นำมาสู่คำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยยุคบริโภคนิยม ความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหน

แม้ขณะนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอางในเครือเมจิกสกินยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจพิสูจน์สารประกอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่ามีสารประกอบตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ และจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพเพียงใด แต่เม็ดเงินที่สะพัดนับร้อยๆ ล้านในวงการนี้ คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงมายาภาพของกระบวนการโฆษณาที่เข้าแทรกซึมในทุกช่องทางการสื่อสาร โดยอาศัยบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้บริโภค

จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์ลวงโลก เภสัชกรภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท เอ่ยขึ้นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายกรณีเคยมีเหยื่อที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาแล้วนักต่อนัก หากไม่เสียโฉมหรือเจ็บป่วยเรื้อรังก็ถึงขั้นเสียชีวิต

“เรากำลังมาถึงยุค ‘มายาโฆษณาบันเทิง’ จะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกินจำเป็นต่อสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย มีการใช้เน็ตไอดอลและคนในวงการบันเทิงเข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์กันมากขึ้น ผ่านโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก กระบวนการเหล่านี้มีผลทำให้คนหลงเชื่อได้ง่ายขึ้น และทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป”

ความสวยแลกด้วยความสูญเสีย

ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทั้งหลาย ไม่ว่าเครื่องสำอาง ครีมหน้าขาว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนต่างๆ ที่ผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ดนับพันนับหมื่นชนิด แม้อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการ ‘ทางใจ’ ให้กับผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยอิทธิพลของกระบวนการโฆษณาที่ซึมลึกผ่านโซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ

“จะเห็นว่าคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่ตาสีตาสา ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เริ่มมีดารานักแสดง เริ่มมีเน็ตไอดอล หรือคนที่ถูกสถาปนาขึ้นมาจนเป็นคนดัง เพื่อมาโปรโมทผลิตภัณฑ์ แม้จะใช้เงินลงทุนเยอะ แต่วิธีการนี้ก็ได้ผล สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของเขาได้อย่างมหาศาล”

กระบวนการเหล่านี้มีผลทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนแปลงไป เป็นการบริโภคที่เกินความจำเป็น ขณะที่หลายคนที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ก็มีฐานะดีขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่ง ภก.ภาณุโชติ มองว่า เม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในตลาดนี้ ในแง่หนึ่งคือรายจ่ายที่ผู้บริโภคต้องสูญเสียไปอย่างไม่คุ้มค่า ทั้งยังแลกมากับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“ข่าวคราวการเสียชีวิตของผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้คนในสังคมอาจจะรู้สึกชินชา กระทั่งมีกรณีการจับกุมเครือข่ายผลิตภัณฑ์เมจิกสกินที่เป็นข่าวครึกโครม มันเป็นเหมือนบาดแผลที่อักเสบขึ้นมา และเป็นรูปธรรมที่ทำให้เราเห็นถึงกระบวนการมายาโฆษณาและบันเทิงที่เข้ามาเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น”

ประธานชมรมเภสัชชนบท ตั้งข้อสังเกตว่า แม้อาชีพนักแสดงอาจไม่มีการกำหนดมาตรฐานจรรยาบรรณที่ชัดเจน แต่อย่างน้อยในแง่ศีลธรรมนักแสดงเหล่านั้นจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบพื้นฐาน เพราะถือเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือ

“ถ้าคุณไม่เคยทดลองใช้สินค้าตัวนั้นด้วยตัวเองจริงๆ หรือเคยใช้แค่ครั้งเดียวแล้วมารีวิวขายของ ต้องถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค นี่คือการโกหกบุคคลที่เขาศรัทธาคุณ ฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติในผลิตภัณฑ์นั้น คุณก็ควรต้องร่วมรับผิดชอบด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีจิตสำนึกด้วยการลุกขึ้นมาเตือนคนอื่น ไม่ใช่บอกแค่ว่าตัวเองถูกหลอก แต่ต้องลุกขึ้นมาเป็นเน็ตไอดอลในการเตือนผู้บริโภคที่คุณเคยไปหลอกเขา หรืออย่างน้อยก็ออกมาขอโทษ”

 

ช่องโหว่ของระบบ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คือหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง โดยผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทจะมีความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตแตกต่างกันไป หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือเวชภัณฑ์จะมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ ก่อนให้ใบอนุญาตจะต้องมีการตรวจสอบสถานที่และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ยาแต่ละรายการ แต่หากเป็นเครื่องสำอางจะเปิดช่องให้ขึ้นทะเบียนได้ง่ายขึ้น

“สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทยาและเวชภัณฑ์ การขออนุญาตสามารถยื่นเรื่องได้ที่ส่วนกลางหรือที่ต่างจังหวัดได้ หลักการง่ายๆ คือ ถ้าผลิตที่จังหวัดไหนก็ให้ไปยื่นขอใบอนุญาตที่จังหวัดนั้น ยกเว้นว่าผลิตภัณฑ์ยาบางชนิดจะมีเงื่อนไขพิเศษว่าต้องยื่นขออนุญาตจากส่วนกลางเท่านั้น

“แต่กรณีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนลงมา เพียงแค่ให้ผู้ประกอบการมาแสดงความจำนงเพื่อขอจดแจ้งขึ้นทะเบียนสินค้า โดยสามารถไปจดแจ้งที่จังหวัดก็ได้ และไม่มีระเบียบข้อบังคับว่าจะต้องมีการตรวจสถานที่ผลิต”

ประธานชมรมเภสัชชนบท อธิบายว่า ถึงแม้จะยังไม่มีกฎหมายควบคุมสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง แต่ในแง่ปฏิบัติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดก็สามารถไปตรวจสอบสถานที่ผลิตได้ แต่ทำได้เพียงตรวจสอบเพื่อให้คำแนะนำ ซึ่งจะเป็นการช่วยคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมได้ในระดับหนึ่ง

“ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่โปร่งใส เขาย่อมไม่กลัวการตรวจสอบแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อระบบการจดแจ้งยังมีช่องว่างอยู่ ผู้ประกอบการบางรายไม่อยากให้เจ้าหน้าที่มายุ่มย่ามกับสถานที่ผลิตของเขา เขาจึงหลีกเลี่ยงด้วยการไปจดแจ้งที่ส่วนกลาง

“เมื่อผู้ประกอบการไปขอจดแจ้งที่ส่วนกลาง และส่วนกลางไม่มีการตรวจทานให้ละเอียด ใครมาขอก็ให้หมด โดยที่ไม่รู้ว่าสถานที่ผลิตอยู่ตรงไหน ไม่มีแผนที่ ไม่มีแผนผัง กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการหาทางลัดก็สามารถไปขอจดแจ้งที่ส่วนกลางได้ง่ายๆ”

จากการสำรวจของทีมสาธารณสุขจังหวัด พบว่า บางจังหวัดมีผู้มาขอจดแจ้งเพียง 30 กว่าราย แต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อจากฐานข้อมูลส่วนกลางกลับพบว่ามีผู้จดแจ้งขึ้นทะเบียนนับร้อยราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ระดับจังหวัดไม่เคยรับทราบมาก่อน

หลังจากผู้ประกอบการได้รับการอนุญาตจดแจ้งแล้ว กระบวนการติดตามตรวจสอบยังถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรจากหลายฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบ

“พอเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดจะขอเข้าไปตรวจสอบก็ทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าสถานที่ตั้งของแหล่งผลิตอยู่ตรงไหน เราไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ที่รู้จักทุกตรอกซอกซอย ฉะนั้น ปัญหาเครื่องสำอางที่ไม่มีมาตรฐานก็เพราะว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ไปจดแจ้งที่ส่วนกลาง โดยสาธารณสุขจังหวัดไม่ทราบแหล่งผลิต”

ภก.ภาณุโชติ เล่าเบื้องหลังความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอีกว่า ผู้ประกอบการบางรายพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยชื่อโรงงาน การจดแจ้งสถานที่ผลิตบางครั้งจึงไม่ตรงกับข้อมูลจริง หลายจังหวัดมีการตรวจสอบพบว่า สถานที่จดแจ้งเป็นแค่ตึกแถว ห้องเช่า หรืออาจไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง

“ปัญหาเหล่านี้สาธารณสุขจังหวัดพยายามสะท้อนไปยังหน่วยงานส่วนกลางมาโดยตลอดว่า ระบบการจดแจ้งที่หละหลวม ไม่มีการคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะทำให้การติดตามตรวจสอบทำได้ยากแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเกิดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งปัญหาจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็สะท้อนถึงช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในระบบนี้ได้เป็นอย่างดี”

คืนข้อมูลให้ผู้บริโภค

เหตุผลที่ภาครัฐพยายามผ่อนปรนเงื่อนไขในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภก.ภาณุโชติ มองว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการให้อนุญาตจดแจ้งได้ง่ายแล้ว ภาครัฐควรต้องมีเครื่องมือในการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ประธานชมรมเภสัชชนบท เสนอว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการจดแจ้งที่ง่ายและรวดเร็วแล้ว ก็ควรต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดข้อผิดพลาดเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบต่องบประมาณของรัฐ รับผิดชอบต่อบทลงโทษ และรับผิดชอบในการเก็บกวาดสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด

“เมื่ออนุญาตได้ง่ายแล้วก็ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตัวเองผลิต เช่น ถ้าขอจดแจ้งได้แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามที่ขอ บทลงโทษจะต้องรุนแรง และเมื่อคุณผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ท้องตลาดแล้ว คุณก็ต้องมีหน้าที่ในการเก็บกวาดให้หมด แม้กระทั่งกรณีที่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ ก็เป็นการเอางบประมาณแผ่นดินหรือภาษีประชาชนมาใช้ ฉะนั้น ถ้ามีกรณีผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย เจ้าของหรือผู้ผลิตก็ควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ด้วย”

ในสถานการณ์ที่ผลิตภัณฑ์อันตรายแพร่กระจายออกสู่ท้องตลาด สินค้าที่ไม่น่าไว้วางใจมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด งบประมาณมีจำนวนจำกัด เขาเสนอไว้ว่า ควรต้องพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคเพื่อจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้

“เครื่องมือการเฝ้าระวังที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ ‘ข้อมูล’ ผู้บริโภคเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคก็ควรมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เขาใช้ เช่น โรงงานที่ผลิตสินค้านั้นอยู่ที่ไหน มีมาตรฐานการผลิตอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะปกปิดเป็นความลับทางธุรกิจไม่ได้ เพราะผู้บริโภคคือผู้แบกรับความเสี่ยง”

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า ข้อมูลผลิตภัณฑ์ถือเป็นความลับทางการค้า แต่ในความเป็นจริงคือ เมื่อใดก็ตามที่ผลิตภัณฑ์นั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภค คุณจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” ภก.ภาณุโชติ กล่าว

 

มีเครื่องหมาย อย. ใช่ว่าปลอดภัย

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มักใช้อ้างอยู่เสมอคือ สินค้านั้นมีเลข อย. การันตี ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ แต่โดยข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

“ผมอยากอธิบายให้เข้าใจระบบนี้ก่อน โดยทั่วไปเมื่อมีการขออนุญาตจดแจ้งและได้เลข อย. มาแล้ว หลังจากนั้นจะต้องมีกระบวนการติดตามตรวจสอบว่าทำตามมาตรฐานที่จดแจ้งไว้จริงไหม หรือโฆษณาถูกต้องหรือเปล่า ฉะนั้น การได้รับเครื่องหมาย อย. หมายความว่า ครั้งหนึ่งคุณเคยขออนุญาตถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถรับประกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์

“การที่คนขายบอกว่า เขามีเลข อย. หรือได้รับอนุญาตจดแจ้งแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อเสียทีเดียวว่าจะปลอดภัยจริง เพราะผู้ประกอบการที่คิดไม่ซื่อก็อาจจะเอาเลข อย. อย่างอื่นมาสวมแทน อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปเอาเลข อย. ของน้ำปลามาใช้ หรือบางทีขอเลข อย. สินค้าชนิดนี้แล้ว พอจะผลิตสินค้าชนิดใหม่ก็ไปเอาเลขเดิมมาใช้ เป็นต้น”

 

4 สงสัย 2 ส่งต่อ

จากการคลุกคลีอยู่กับปัญหาในพื้นที่มานาน ภก.ภาณุโชติ เสนอแนวทางการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกหลองลวง ด้วยเครื่องมือที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘4 สงสัย 2 ส่งต่อ’ ได้แก่

หนึ่งสงสัย – ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่

สองสงสัย – ข้อความบนฉลากระบุชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ชัดเจนถูกต้องหรือไม่

สามสงสัย – ผลิตภัณฑ์ที่ว่านั้นโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ เช่น ใช้แล้วน้ำหนักลดภายใน 3 วัน หรือหน้าขาวทันตาเห็น

สี่สงสัย – เมื่อใช้แล้วเกิดความผิดปกติกับร่างกายหรือไม่ เช่น จากคนอ้วนกลายเป็นคนผอมอย่างผิดสังเกต จากคนผิวเข้มกลับกลายเป็นคนผิวบางใส

ภก.ภาณุโชติ เชื่อว่า หากชู 4 ประเด็นนี้ให้คนเกิดความตระหนัก ประชาชนจะสามารถคัดกรองเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมหัศจรรย์อย่างที่โฆษณาจริงหรือ แต่สุดท้ายแล้ว ‘4 สงสัย’ ก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องมี ‘2 ส่งต่อ’ ได้แก่

หนึ่งส่งต่อ – แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบ

สองส่งต่อ – ส่งต่อข้อมูลให้คนใกล้ชิดรอบข้าง ญาติสนิทมิตรสหาย หรือเครือข่ายในชุมชน เพื่อเตือนภัยผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่รวดเร็วและสามารถทำได้ทันทีก่อนที่จะมีเหยื่อรายใหม่

เครื่องมือ ‘4 สงสัย 2 ส่งต่อ’ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดกลไกการเฝ้าระวังด้วยตนเอง และสามารถตรวจสอบสินค้าเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน หน่วยงานส่วนกลางหรือหน่วยงานระดับจังหวัดจะต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบ และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

“ผมมักจะแนะนำชาวบ้านอยู่เสมอว่า ถ้าเราไม่รู้จักคนที่โฆษณาสินค้านั้นเป็นการส่วนตัวจริงๆ อย่าเพิ่งไปเชื่อเขา ผมเคยเจอบางเคสพบว่า เจ้าของเสียงโฆษณานั้นเสียชีวิตไปแล้ว 3 เดือน แต่เสียงของเขายังอยู่ ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ใช้แล้วดีจริง คนที่ออกมาโฆษณาแบบนั้นเขาต้องไม่เจ็บป่วย ต้องไม่เข้าโรงพยาบาล และถ้าผลิตภัณฑ์ดีจริงก็ต้องมีขายในโรงพยาบาล ไม่ใช่มาแอบขายกันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ แบบนี้ สรุปง่ายๆ คือ ไม่มียามหัศจรรย์ ไม่มียาครอบจักรวาล ไม่มียาฮีโร่มาร์เวลที่สามารถช่วยได้ทุกอย่าง ฉะนั้น ผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญาณ”  ภก.ภาณุโชติ กล่าว

ภายใต้โลกการค้าเสรีและการโฆษณาผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ได้อย่างอิสระ ท่ามกลางระบบการควบคุมตรวจสอบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย สิ่งหนึ่งที่จะทัดทานกระแสเหล่านี้ได้ก็คือ กลไกการเฝ้าระวังและการเตือนภัย เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและเรียนรู้ที่จะปกป้องตนเอง ก่อนที่จะกลายเป็นเหยื่อรายใหม่ของผลิตภัณฑ์อันเป็นภัยคุกคามชีวิตและสุขภาพ