ขนตาแอลอีดี กับ Hills Criteria


การนิยามคำว่า “สินค้าไม่ปลอดภัย” สำหรับราชการมักจะมีความจำกัด เนื่องด้วยหน่วยงานราชการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมิได้ใช้องค์ความรู้ด้าน “ความสัมพันธ์ของอันตรายเชิงสาเหตุ”  (Causal Relationship) ความรู้ดังกล่าวเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่มีในวิชาระบาดวิทยา (Epidemiology) ซึ่งหลักการนี้นำเสนอโดย Austin Bradford Hill ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคจำนวนมาก เช่น มะเร็งปอด ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า Hills criteria of causation

หลักสำคัญประการแรก ที่ใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาว่า ปัจจัยใดสัมพันธ์และอาจเป็นเหตุแห่งอาการ หรือความเจ็บป่วย หรือโรค หรือความไม่ปลอดภัย หรืออันตราย ประกอบด้วย ความเป็นไปได้ทางชีววิทยา (Biological plausibility) หรือความสามารถที่จะอธิบายได้ทางหลักวิทยาศาสตร์ในระดับหนึ่ง เช่น มีเหตุผลที่จะอธิบายได้ว่า แสงแอลอีดี มีผลต่อดวงตา เพราะแสงที่มีความสว่างมาใกล้ชิดดวงตา มีการเปิดและปิด กระพริบ และติดอยู่ขอบตาที่ใกล้บริเวณดวงตา ซึ่งปกติวิสัยแล้วคนทั่วไปไม่ทำกัน

หลักประการที่สอง คือ Time Consequence หรือ Temporal Relationship ข้อนี้อธิบายว่า ผลที่เกิดขึ้นต้องเกิดหลังเหตุ หากผู้ที่ได้รับอันตรายใดๆ มีเหตุมาก่อนหน้า เช่น เป็นโรค หรืออาการมาก่อนแล้ว และมารับปัจจัยภายหลัง ย่อมไม่มาจากเหตุหรือปัจจัยที่มาสัมผัส หากคนใช้ ขนตาแอลอีดี มีโรคตาบางอย่างที่ผิดปกติมาก่อน ย่อมไม่เกิดจากขนตาแอลอีดี เป็นต้น

หลักประการที่สาม คือ Consistency หมายความว่าถ้าเกิดความผิดปกติกับคนใดคนหนึ่ง ย่อมจะเกิดได้กับคนอื่นๆเช่นกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นกับคนเพียงคนเดียว หรือคนจำนวนน้อยมาก ก็อาจจะทำให้ข้อสนับสนุนที่จะตีกลับว่าความผิดปกติเกิดจากปัจจัยดังกล่าวลดลง แต่กรณีนี้ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก่ออันตรายโดยไม่เกิดกับทุกคน จึงมีการพิจารณาเรื่องจำนวนบุคคลที่เกิดอันตรายต่อจำนวนประชากรที่รับสัมผัส หรือที่เรียกว่า “ความชุก” (prevalence) ของการเกิดโรคในกลุ่มรับสัมผัส (Population of Risk) เป็นต้น

หลักประการที่สี คือ Strength of Association หรือ ความแข็งแรงของความสัมพันธ์ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประการที่มักจะเกียวข้องกัน รูปแบบวิธีการศึกษา เช่น ออกแบบการศึกษาวิจัยเป็นแบบใด ศึกษาจากเหตุไปหาผลที่เกิด หรือ ศึกษาจากผลย้อนกลับไปหาเหตุ หรือ ศึกษาแบบคู่ขนาน แบบตัดขวาง หรือแบบทดลอง เป็นต้น การวิเคราะห์ผลความสัมพันธ์เชิงสถิติ การจัดการที่เกี่ยวกับการลดอคติ การศึกษาความเป็นไปได้ทางสถิติที่เกิดอาการผิดปกติ หรืออันตราย เป็นต้น รวมไปถึงขนาดของปัจจัยเสี่ยง เช่น ความแรงของแสงที่จะมีผล และระยะเวลาที่ให้สัมผัส ก็สามารถนับรวมอยู่ในข้อนี้ได้ หลักเกณฑ์ข้อนี้มักจะใช้กับสาเหตุและผลที่อาจเป็นข้อกังขา จึงจำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อตอบคำถาม และให้ได้ข้อสรุป เช่น ยาพีพีเอมีผลต่อเส้นเลือดแตกในสมองจริงหรือไม่ คลื่นโทรศัพท์มือถือมีผลต่อ ความผิดปกติของสมองเด็กหรือไม่ เป็นต้น

หลักเกณฑ์ข้อสุดท้าย เป็นหลักเกณฑ์ที่ง่ายที่สุดคือ Specificity ที่ว่าง่ายคือพิสูจน์ได้ เมื่อให้เหตุปัจจัยไปสัมผัสแล้วเกิดอันตราย (Challenge) หรือเอาเหตุปัจจัยออกอันตรายก็ลดลง (De-challenge) หรือเมื่อให้เหตุปัจจัยไปอีกก็เกิดขึ้นอีก (Re-challenge) หลักเกณฑ์ข้อนี้เห็นชัดเจน คนธรรมดาก็รู้ได้ แต่ในหลายกรณีทำไม่ได้ เช่น ให้เหตุปัจจัยแล้วทำให้ตาย ให้เหตุปัจจัยแล้วทำให้พิการ หรือเกิดอาการที่ไม่สามารถจะกลับคืนสภาพเดิมได้อีก บรรดาการทดลองที่กระทำโดยรับรู้ว่าปัจจัยนำเข้ามีอันตรายก็ไม่สามารถกระทำได้ ถือว่าละเมิดหลักจริยธรรม

ในบรรดา 5 หลักเกณฑ์ หากจะนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับการพิจารณาว่า แอลอีดี ที่มาติดอยู่บนขนตา และทำเป็นสินค้าขายให้แก่ประชาชนทั่วไป มีโอกาสเกิดอันตรายและจัดเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยได้หรือไม่ อาจพิจารณาได้จาก 5 องค์ประกอบไปพร้อมกันตามความเหมาะสม

(1) มีความเป็นได้ว่าแสงจากแอลอีดีเมื่อกระทบต่อตา ย่อมจะเกิดผลกระทบได้ไม่มากก็น้อย เพราะไม่ใช่ภาวะปกติ หรือภาวะที่พึงควรสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่จะใช้ขนตาชนิดดังกล่าว

(2) หากจะพิสูจน์ว่าเกิดผิดปกติหลังจากใช้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ถ้าพิจารณาจากความผิดปกติ เช่น การมองเห็นชั่วคราว ความรู้สึกระคายเคือง อาจจะทราบได้ทันที แต่หากพิจารณา เรื่อง ตาต้อ และอื่นๆที่ต้องการเวลาระยะยาว ก็จะลำบาก และอาจต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ 4 ซึ่งยากที่จะมีใครศึกษาหรือรับผิดชอบ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

(3) กรณีความสม่ำเสมอก็อาจจะติดตามดูได้หากมีใช้กับหลายคน แต่จากหลักเกณฑ์ข้อ 1 ก็น่าจะคาดเดาถึงผลที่จะเกิดได้ว่าคงไม่แตกต่างกัน เพราะตาของมนุษย์มีลักษณะแบบเดียวกัน

ข้อที่ (4) และ ข้อที่ (5) ควรจะพิจารณาไปพร้อมกันว่าจำเป็นที่จะต้องมีการทดลองสินค้านี้กับคนที่จะใช้หรือไม่ว่าปลอดภัยหรือไม่ ละเมิดหลักจริยธรรมหรือไม่ การที่จะยืนยันว่าสินค้านี้ไม่อันตรายในระยะยาว ทำได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่หาคนจ่ายไม่ได้ ขณะเดียวกันการที่จะระบุว่าจะใช้สินค้านี้ใช้ได้ในขนาดแสงเท่าใด ระยะเวลาเท่าใด หากจำเป็นต้องทำการศึกษา เราไม่สามารถทำได้เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีผลเสียต่อดวงตา จะไม่มีใครยอมเป็นผู้ถูกทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการศึกษาตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 5

มีเหตุผลสนับสนุนที่อาจมีการยกมาอ้างว่าคล้าย “บุหรี่ไฟฟ้า” กล่าวคือ เมื่อประกาศเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยก็จะยังแอบขายได้โดยขายทางออนไลน์ และจะทำให้ตามไล่จับได้ยากขึ้น ข้อโต้แย้งนี้คงพิจารณาได้ไม่ยากว่าเหมาะสมที่จะให้เป็นสินค้าไม่ปลอดภัยหรือไม่ เพราะการยอมให้เกิดจุดกระจายสินค้าโดยให้เป็นสินค้าทั่วไปก็ดี เป็นสินค้าที่ติดคำเตือนก็ดี ย่อมถือได้ว่า รัฐ หรือ หน่วยราชการได้รับรอง ความปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว สุดแท้แต่ว่าผู้บริโภคจะมีสติหรือใช้ความรู้ปกป้องตนเองได้หรือไม่ กล่าวคือ เป็นความผิดของผู้บริโภคเองหากใช้ไม่ถูกต้อง

          สามัญชนโดยทั่วไปเมื่อได้อ่านสาระที่นำเสนอมาจนถึงตอนนี้แล้ว ท่านคงพิจารณาได้ไม่ยากว่า สังคมไทย ควรจะเพิ่มสินค้าไม่ปลอดภัยอีกรายการหนึ่ง โดยการ ยอมรับของหน่วยงานรัฐ อย่างเปิดเผย ตามหลักการค้าเสรี ใครใค่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย เป็นตายไม่เป็นไร หรือ ควรที่จะพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะวัยรุ่น นักเรียน ที่ยังแบบมือขอเงินพ่อแม่มาซื้อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และไม่ได้รับประโยชน์จากสินค้าเหล่านี้

 

บทความโดย ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพประกอบจาก http://soomipark.com/main/?portfolio=led-eyelash