กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ภายใต้การสนับสนุนของ คคส. จุฬาฯ ร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด” ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องเรืองราษฎร์ โรงแรมทินิดี อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เพื่อให้เกิดเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคครอบคลุมทุกตำบลในทุกอำเภอของจังหวัดระนอง โดยเน้นสร้างทีมบุคลากรที่สำคัญ คือ ทีม อสม.นักวิทย์ฯ และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในศูนย์เฝ้าระวังฯ ที่จัดตั้งขึ้น ณ รพ.สต. จำนวน 46 แห่งผ่านแกนนำ อสม.นักวิทย์ฯ ประจำตำบลจำนวน 92 คน โดยมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทั้ง 5 อำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นจุดเชื่อมประสานของเครือข่าย
เจ้าหน้าที่ทีมพี่เลี้ยงทั้ง รพ.สต. และ สสอ. ให้ความสนใจ โดยการสมัครเข้าใช้งานหน้าต่างเตือนภัยเป็นศูนย์เฝ้าระวังฯ ครบทุกแห่ง 100 % นับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการขับเคลื่อนงาน อีกทั้ง แกนนำ อสม.นักวิทย์ฯ หน้าใหม่ไฟแรงยังตั้งใจฝึกการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นเพื่อตรวจหาสารอันตรายในยาสมุนไพรและเครื่องสำอางที่ได้เก็บตัวอย่างมาล่วงหน้าจากชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นผลว่าชุมชนมีเครื่องสำอางหรือยาที่ปนเปื้อนสารอันตราย ก็เกิดความตระหนักของการจัดตั้งศูนย์แจ้งเตือนภัย อสม.และพี่เลี้ยงจึงได้ประเมินศักยภาพของชุมชนตนเอง เพื่อวางแผนต่อยอดพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกตัวอย่าง เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองระนอง จะดำเนินงานเสริมความเข้มแข็งให้ทีม อสม.นักวิทย์ และศูนย์แจ้งเตือนภัยประจำตำบล คาดหวังทุก รพ.สต. ในเขตเทศบาล จำนวน 7 ตำบล 10 รพ.สต. พัฒนาตนเองจนได้ป้ายศูนย์เฝ้าระวัง รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเตือนภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้เป็นต้นแบบของอำเภออีกด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี จะเร่งจัดอบรมให้ครบทั้ง 4 จังหวัด ภายในเดือนพฤษภาคม 2560 เพื่อขยายทีม อสม.นักวิทย์ฯ ชุมชน และศูนย์เฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยจะจัดอบรมครั้งต่อไปในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2560
รายงานโดย เภสัชกรพงษ์ธร ทองบุญ เภสัชชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี