หยาดฝนโปรยลงจากฟ้า ตกลงมาเป็นเม็ดพลาสติก

ที่เทือกเขาร็อกกี เกรกอรี เวเธอร์บี (Gregory Weatherbee) นักเคมีผู้ศึกษาเรื่องมลพิษไนโตรเจนในอากาศ ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำฝนที่ตกลงมา สิ่งที่พบนั้นน่าประหลาดใจ “ผมคาดว่าจะเจอพวกดินหรืออนุภาคของแร่สักอย่าง” นักวิจัย US Geologic Survey กล่าวหลังพบเม็ดไมโครพลาสติก (microplastics) หลากสีสันในตัวอย่างน้ำที่เก็บมาจาก Front Range รัฐโคโลราโด หนึ่งในเครือข่ายเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในฝน

การค้นพบของเวเธอร์บีเผยแพร่ออกมาเป็นรายงานที่เรียกว่า It is Raining Plastic 

“ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถแชร์กับสาธารณชนคนอเมริกันได้คือ มันมีพลาสติกมากกว่าที่เราจะมองเห็นด้วยตาเปล่า” เวเธอร์บีบอกและตั้งคำถามถึงจำนวนของไมโครพลาสติกที่อยู่ในอากาศ น้ำ และดิน ทุกหนแห่งบนโลก “มันคือในน้ำฝน ในหิมะ มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเราตอนนี้”

สถานีตรวจสอบน้ำฝน เมือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org
สถานีตรวจสอบน้ำฝน เทือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org

การเดินทางกว่าร้อยกิโลเมตรของไมโครพลาสติก

ในหุบเขา Pyrenees Mountains ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ตรวจสอบน้ำฝนที่ตกลงมาเช่นกัน และพบว่า ในนั้นมีอนุภาคพลาสติกราว 365 ชิ้นต่อตารางเมตร

“เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ มันจะมีไมโครพลาสติกทับถมอยู่มากขนาดไหนกัน” คือคำกล่าวของ ดีโอนี อัลเลน (Deonie Allen) นักวิจัยจาก EcoLab จากวิทยาลัยเกษตรกรรมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (School of Agricultural and Life Sciences) เมืองตูลูส โดยหัวหน้าทีมศึกษาเผยแพร่งานใน Nature Geoscience ย้ำอีกว่า “ไมโครพลาสติกคือมลภาวะในชั้นบรรยากาศชนิดใหม่”

ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร ในระยะเวลานานกว่า 5 เดือน อัลเลนและทีมพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของไมโครพลาสติกที่พบมีขนาดเล็กกว่า 25 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่า 40 ไมครอน (ขนาดที่มนุษย์สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า)

ที่น่าสนใจคือ ในระยะ 100 กิโลเมตร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดถึงแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกในระยะ 100 กิโลเมตร

ทีมในฝรั่งเศสพยายามศึกษารูปแบบการพัดและทิศทางของลมเพื่อหาต้นทางของไมโครพลาสติก แต่ในระยะ 100 กิโลเมตรไม่มีชุมชน ไม่มีพื้นที่อุตสาหกรรม ย่านการค้า หรือแม้แต่แปลงเกษตรขนาดใหญ่ ผู้ร่วมงานอีกคน สตีฟ อัลเลน (Steve Allen) บอกว่า ฝุ่นทรายในซาฮาราที่มีขนาดประมาณ 400 ไมครอน สามารถปลิวได้เป็นพันไมล์ “แต่ไม่มีใครรู้ว่าไมโครพลาสติกสามารถเดินทางได้ไกลแค่ไหน”

ไมโครพลาสติกที่พบในเทือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org
ไมโครพลาสติกที่พบในเทือกเขาร็อกกี / credit: Greg Wetherbee / capeandislands.org

ฝน แม่น้ำ มหาสมุทร ในดาวเคราะห์พลาสติก

เป็นที่รู้กันว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากขยะพลาสติกอย่างใหญ่หลวง นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า โลกกำลังกลายเป็นดาวเคราะห์พลาสติก ในปี 2015 พลาสติกถูกผลิตขึ้น 420 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตันในปี 1950

งานศึกษาในปี 2017 ระบุว่า ในช่วง 65 ปีนี้พลาสติกราว 6,000 ล้านตันถูกฝังกลบและอยู่ในธรรมชาติ และเคยมีรายงานว่า มีไมโครพลาสติกลอยอยู่บนผิวน้ำมหาสมุทรมากถึง 15-51 ล้านล้านชิ้น

แหล่งที่มาสำคัญของเม็ดพลาสติกคือกองขยะ เชอร์รี เมสัน (Sherri Mason) นักวิจัยไมโครพลาสติกและผู้ประสานงานด้านความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยเพนสเตทเบห์เรนด์ (Penn State Behrend) บอกว่า ขยะพลาสติกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ถูกรีไซเคิล และมันค่อยๆ แตกตัวอย่างช้าๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย “เส้นใยพลาสติกหลุดออกมาจากเสื้อผ้าทุกครั้งที่คุณซักมัน”

มันเป็นไปได้เลยที่จะหาต้นทางของไมโครพลาสติกเหล่านี้ แต่อะไรก็ตามที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบสามารถปล่อยอนุภาคพลาสติกสู่ชั้นบรรยากาศได้ “และอนุภาคเหล่านั้นก็จะรวมกับละอองฝนตอนมันตกลงมา” เมสันเสริม จากนั้นน้ำที่หยดมาจากฟ้าก็จะไหลลงแม่น้ำ ทะเลสาบ ชายหาด มหาสมุทร และผ่านชั้นดินไปจนถึงแหล่งน้ำบาดาล

นานกว่าทศวรรษแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาว่าในมหาสมุทรเต็มไปด้วยพลาสติก แต่พวกเขาสามารถบอกได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และความรู้เกี่ยวกับจำนวนพลาสติกในน้ำหรืออากาศยังมีน้อยมาก สเตฟาน เคราส์ (Stefan Krause) จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) บอกว่า “เรายังไม่ได้เริ่มดูปริมาณของมันอย่างจริงจัง”

อีกหนึ่งความไม่รู้คือ อาจมีความเป็นไปได้ทางทฤษฎีที่จะกำจัดพลาสติกออกไปจากธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าใช้เวลานานแค่ไหน “ถึงเราจะมีคทาวิเศษหรือสามารถหยุดการใช้พลาสติกได้ทันที มันก็ยังไม่ชัดอยู่ดีว่าพลาสติกจะหมุนเวียนอยู่ในระบบน้ำของเราต่อไปหรือเปล่า” เคราส์ยังบอกอีกว่า “บนพื้นฐานจากสิ่งที่เรารู้ว่าพลาสติกถูกพบที่ชั้นน้ำใต้ดิน และสะสมอยู่ในแม่น้ำ ผมเดาว่าเป็นศตวรรษเลยแหละ”

คนและสัตว์บริโภคไมโครพลาสติกผ่านน้ำและอาหาร และหากมันอยู่ในอากาศจริง ก็ดูเหมือนว่าเราจะหายใจเอาอนุภาคเล็กๆ ของมันเข้าไปด้วย นักวิทยาศาสตร์เข้าใจผลกระทบต่อสุขภาพอยู่แล้ว ว่าไมโครพลาสติกสามารถรวมตัวกับโลหะหนักเช่นปรอทและสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่นเดียวกับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากอะไรที่ใกล้ตัวมากๆ “อนุภาคพลาสติกจากเฟอร์นิเจอร์และพรมมีส่วนประกอบของวัสดุทนไฟซึ่งเป็นพิษต่อมนุษย์” เคราส์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพราะเราต้องสัมผัสกับสารเคมีสังเคราะห์นับร้อยชนิดตั้งแต่ลืมตาดูโลก จึงเป็นเรื่องยากที่จะพูดว่า หากไม่เคยสัมผัสพวกมันเลย เราจะมีชีวิตอยู่นานแค่ไหน ซึ่งเมสันบอกว่า “เราอาจไม่มีทางเข้าใจความเชื่อมโยงทั้งหมดระหว่างพลาสติกกับสุขภาพเลยก็ได้

“แต่เรารู้มากพอที่จะพูดได้ว่า การหายใจเอาพลาสติกเข้าไปนั้นดูจะไม่ใช่เรื่องดี และเราควรเริ่มต้นคิดที่จะลดการพึ่งพาพลาสติกกันอย่างจริงๆ จังๆ”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
ecowatch.com
nationalgeographic.com