ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปกคลุมทั่วฟ้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 และกลับมาฟุ้งกระจายอย่างหนักอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 โดยตรวจพบว่าหลายพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองหนาแน่นเกินมาตรฐาน
นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นวิกฤตการณ์อย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนโดยถ้วนหน้า จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมกันบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์
ความจริงที่ปิดไม่มิด
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และมีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ถือเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 พบว่า ภาพรวมของคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางจนถึงระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่นละลองขนาด PM 2.5 อยู่ที่ 44-80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) อยู่ที่ 61-123 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานได้พยายามออกมาชี้แจงว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก แต่เมื่อปัญหาฝุ่นละอองเริ่มส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง หน่วยงานภาครัฐจึงเริ่มออกมาตรการบรรเทาและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการฉีดพ่นละอองน้ำ ล้างถนน การตรวจสอบรถยนต์ควันดำ แจกหน้ากากอนามัย ไปจนถึงปฏิบัติการฝนหลวง
รายจ่ายด้านสุขภาพ 3,000 ล้าน
ข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดการณ์ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากคิดเฉพาะค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ ทั้งการรักษาและการป้องกัน ในเบื้องต้นคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 1,600-3,100 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดจากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่กระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ
แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น
การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้ถือเป็นการประมาณการในเบื้องต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ขนาดของผลกระทบทั้งหมดที่แท้จริงจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้านระยะเวลาและความรุนแรงของปัญหา รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้วย
ฝุ่น PM 2.5 กับผลต่อสุขภาพ
ในฐานะบุคลากรสาธารณสุขผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพประชาชน เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ อาจารย์พิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความวิชาการเรื่อง ‘บทบาทของเภสัชกรชุมชนต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5’ เผยแพร่ในวารสารสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ปีที่ 18 ฉบับที่ 102 เดือนมกราคม 2562 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 และให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
เนื้อหาถัดจากนี้เรียบเรียงขึ้นจากบางส่วนของบทความดังกล่าว…
PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร สามารถตกค้างในปอดและถุงลมผ่านการหายใจ รวมถึงผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดโรคและความผิดปกติของร่างกายได้หลายระบบ
เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดอนุภาคเล็ก จึงฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ล่องลอยอยู่ในอากาศได้นาน สามารถก่อโรคได้หลากหลายกว่ามลพิษชนิดอื่น แต่มักไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรวดเร็วหรือมีกลิ่นชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นมลพิษที่ได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
องค์ประกอบของฝุ่น PM 2.5 มีความซับซ้อน โดยมีสัดส่วนพื้นที่ผิวต่อมวลสูง จึงมีโอกาสอย่างมากที่จะพบสารพิษหรือละอองลอยต่างๆ จับอยู่บนผิวนอกของฝุ่น PM 2.5 เช่น โลหะหมู่ทรานซิชัน (transition metals) เหล็ก ทองแดง วาเนเดียม แคลเซียม อะลูมิเนียม สังกะสี พลวง แมงกานีส แอมโมเนียมซัลเฟต ไนเตรตคลอไรด์ และ polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
นอกจาก PM 2.5 จะเข้าสู่เนื้อเยื่อถุงลมปอดแล้ว ยังสามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตและแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เมื่อ PM 2.5 เข้าสู่เซลล์เป้าหมายแล้วจะมีการปลดปล่อยสารพิษ โลหะทรานซิชัน หรือ PAHs ที่จับอยู่บนผิวนอกของฝุ่น ดังนั้น PM 2.5 จึงเปรียบเสมือนระบบนำส่งสารพิษไปยังอวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ ไม่จำกัดเฉพาะระบบหายใจเพียงเท่านั้น
ผลต่อทารกและเด็ก
บทความของ ภก.กิติยศ เผยอีกว่า การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ในครรภ์มารดามีความสัมพันธ์กับผลไม่พึงประสงค์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำกว่าปกติ และการเสียชีวิตของทารกแรกคลอด ซึ่งกลไกที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับภาวะเหล่านี้ ได้แก่ การเพิ่ม oxidative stress ในร่างกายของทารก การอักเสบในเนื้อเยื่อต่างๆ ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดและการทำงานของระบบเยื่อบุหลอดเลือดในร่างกายทารก และความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายมารดาที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 นอกจากจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์แล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องจนทารกเติบโตเป็นเด็กและวัยรุ่น โดยพบว่าเด็กและวัยรุ่นที่มารดามีประวัติสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในระดับสูงขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ต่างๆ เช่น โรคหืด โรคผิวหนังภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และมีความไว (susceptibility) ต่อการติดเชื้อในระบบหายใจมากขึ้น
บทบาทเภสัชกรชุมชน
ในแง่การทำงานของเภสัชกรชุมชน ในฐานะบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน ภก.กิติยศ เสนอว่า เภสัชกรชุมชนควรมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ และให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของผู้สัมผัสทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต โรคระบบทางเดินหายใจ และสตรีมีครรภ์
2. ให้คำปรึกษาเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถดำเนินการได้หลายประการ เช่น จำกัดหรือลดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น พื้นที่ใกล้กับสถานที่ประกอบอาหาร และพื้นที่ใกล้อุตสาหกรรมต่างๆ ในกรณีที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน ปิดประตู หน้าต่าง และช่องลมต่างๆ ให้สนิทอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร หรือเปิดประตู หน้าต่าง เฉพาะเมื่อจำเป็นต้องใช้งาน สำหรับการใช้เครื่องปรับอากาศ ควรหมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดส่วนกรองอย่างสม่ำเสมอ
3. คัดกรองอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ถึงอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 นอกจากการให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เภสัชกรชุมชนยังมีบทบาทในการคัดกรองอาการผิดปกติที่อาจแสดงถึงอันตรายจาก PM 2.5 ในผู้ป่วยและประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างทันท่วงที
ตัวอย่างอาการผิดปกติที่เภสัชกรชุมชนควรประเมินผู้ป่วยที่มารับบริการในร้านยา ได้แก่ อาการเฉพาะที่ ระคายเคืองเยื่อบุจมูกและตา แสบตา ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ น้ำตาไหล คันจมูก จาม และแสบจมูก น้ำมูกไหล อาการภูมิแพ้กำเริบ ไอ หายใจลำบาก เสมหะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยโรคหืด หอบเหนื่อย หายใจเร็ว
4. ให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความร่วมมือในการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ยา ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มของการรักษา
ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสาธารณสุขที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน และกำลังขยายขนาดของปัญหาเป็นวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะในเมืองใหญ่เพียงเท่านั้น การลดความเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5 จึงต้องการหลายมาตรการร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน