หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบาย “Thailand 4.0” โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้รวดเร็ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปรับปรุงระบบสารสนเทศด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็น ระบบE-Submission เพื่อเพิ่มช่องทางการยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผ่าน ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้รองรับการเติบโตและความต้องการของภาคธุรกิจ
ข้อดีของการนำระบบนี้มาใช้คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการพิจารณาคำขอ ลดอุปสรรคทางเศรษฐกิจและการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางระบบบริการได้รับการพัฒนาเป็นระบบที่ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอ (automated service) ผู้ยื่นคำขอจะได้รับการพิจารณาอนุญาตโดยทันที หากมีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการขออนุญาตมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคย้ำว่า บริการที่ฉับไวนี้ต้องผนวกคุณสมบัติ “ไม่เพิ่มความเสี่ยง” แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
ภก.รังสรรค์ วงษ์บุญหนัก เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งข้อสังเกตต่อการนำระบบ Auto E-Submission มาใช้ได้ 2 ปี มีการพบปัญหาเกิดขึ้น
“ปัญหาของระบบนี้อยู่ที่ไม่ได้เปลี่ยนจากระบบที่เป็นแมนนวลไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ แต่มีการเปลี่ยนกระบวนการจากเดิมการจดแจ้งผลิตภัณฑ์บางอย่างต้องส่งสูตรและฉลากให้เจ้าหน้าที่พิจารณาก่อน แต่ระบบนี้เครื่องจะคัดกรองโดยอัตโนมัติ เช่น ผู้ประกอบการกรอกว่าเป็นอาหารพร้อมบริโภค ตั้งชื่อ สูตรและฉลากไม่ต้องใส่กรอกเข้ามาในระบบ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ผู้ประกอบการจะได้เลขสารบบ อย. ในทันที โดยที่เจ้าหน้าที่อนุมัติไม่เห็น
เมื่อเครื่องไม่ได้เป็น AI (Artifificial Intelligence) การคัดกรองจึงมีปัญหา เช่น “ข้าวควบคุมน้ำตาล” คำว่า “ข้าว” ไม่ผิด “ควบคุม” ไม่ผิด “น้ำตาล” ก็ไม่ผิด เมื่อได้รับเลขสารบบ อย. ผู้ประกอบการใช้คำว่า “ข้าวควบคุมน้ำตาล“ ตรา… ไปใช้โฆษณาเต็มไปหมด เมื่อมีปัญหาผู้บริโภคร้องเรียน กลายเป็นว่าหาคนรับผิดชอบไม่ได้ โดยหลักการจึงควรต้องให้เจ้าหน้าที่คัดกรองก่อน”
เขาเล่าว่าหลังจากสะท้อนปัญหาไปยัง สำนักอาหาร อย. จึงได้ปรับปรุงระบบ ให้ผู้ประกอบการยื่นเรื่องผ่านอิเล็กทรอนิกส์แต่ยังไม่ได้เลขสารบบทันที เพื่อให้เวลาเจ้าหน้าที่คัดกรอง 1-2 วันทำการตามที่พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้
ส่วนของเครื่องสำอาง ภก.รังสรรค์ สะท้อนปัญหาว่าหลังเปิดระบบลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตจนได้เลขไปขอขึ้นทะเบียนตำรับเครื่องสำอางแล้ว พบว่า ร้อยละ 80 ไม่มีสถานที่ประกอบการ เฉพาะสมุทรปราการสุ่มตรวจ 50 แห่งมีสถานที่ประกอบการจริงไม่ถึง 10 แห่ง
“ปัญหาที่เกิดขึ้นสรุปได้ 2 เรื่อง คือ ทะเบียนเฟ้อ และ การควบคุมติดตามทำได้ยาก… ต้องยอมรับว่าประเทศไทย Post Marketing ไม่เข้มแข็ง เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วไปกองอยู่ ในระบบ เราไม่สามารถตามดูแลได้เท่าที่ควร”
เขาฝากมุมมองทิ้งท้ายว่า ในสภาพความเป็นจริงที่คนไทยยังมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่สูงพอ ระบบ การออกเลขมาก่อนผิดถูกค่อยว่ากัน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงเป็นเงาตามกัน
“ถ้าเราคัดกรองตั้งแต่ต้นน่าจะดีกว่า เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดไม่พ้นผู้บริโภคนั่นเอง”
ที่มา: คอลัมภ์ ตีฆ้องร้องป่าว จดหมายข่าวสานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2561