ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ราว 3 ปีที่แล้ว มีผลการสำรวจข้อมูลของตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญทั้วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยศูนย์สิทธิผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 95 หรือ 1,600 กว่าตัวอย่าง เป็นตู้น้ำดื่มที่ไม่มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้อง หรืออาจเรียกได้ว่า ‘ตู้น้ำดื่มเถื่อน’
มาวันนี้ 4 กันยายน 2562 ศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับนักวิชาการอิสระ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ประกอบการตู้กดน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญทั่วกรุงเทพฯ เข้าจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตให้ถูกกฎหมาย และย้ำด้วยว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ต้องเร่งกวดขัน เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มีน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขอนามัย
สำลี ศรีระพุก อาสาสมัครศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภค เขตยานนาวา กล่าวว่า จากการสำรวจร่วมกับนักวิชาการอิสระ มูลนิธิผู้บริโภค เมื่อปี 2559 พบว่า ตู้กดน้ำดื่มประมาณร้อยละ 95 ทั่วกรุงเทพฯ ‘ไม่ผ่านมาตรฐาน’ และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนจากผู้ประกอบการตู้กดน้ำดื่มว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแพงเกินไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กทม. ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ กทม. ให้บรรจุเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ภายหลังผู้ว่าฯ กทม. จึงมีคำสั่งด่วนให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการสำรวจข้อมูลตู้น้ำดื่มในพื้นที่ พร้อมทั้งเชิญผู้ประกอบการเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง รวมทั้งดำเนินการสำรวจคุณภาพน้ำเบื้องต้นอีกด้วย
กระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 มีประกาศข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อลดอุปสรรคในการขออนุญาต โดยลดค่าธรรมเนียมจากเดิม 2,000 บาทต่อปี ให้เหลือเพียง 500 บาทต่อปี ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการประเมินแล้วว่าจ่ายได้ ส่วนค่าธรรมเนียมตู้ถัดไปจะจัดเก็บเพิ่มตู้ละ 20 บาท แต่รวมแล้วต้องจ่ายไม่เกิน 15,000 บาท
ปราณี อุ่นแอบ ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตคลองสามวา กล่าวว่า อยากสอบถามไปยัง กทม. ว่าที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการรายเก่าทราบหรือไม่ และจะมีมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ขอใบอนุญาตหรือไม่ควบคุมคุณภาพน้ำดื่มอย่างไร จะมีการจัดการตู้น้ำชำรุด ทั้งตู้ที่ยังใช้งานอยู่และเลิกใช้แล้วอย่างไร รวมทั้งขอเรียกร้องให้ กทม. เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนอนุญาตอย่างถูกต้องในแต่ละเขต นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ผู้ประกอบการตู้กดน้ำดื่มเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพน้ำและวันที่เปลี่ยนไส้กรองด้วย
“อยากถามผู้ประกอบการว่ามีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ มีการเปลี่ยนไส้กรองหรือไม่ อย่างไร มีการเปิดเผยข้อมูลวันที่เปลี่ยนไส้กรองบ้างหรือไม่ เพราะเราในนามศูนย์สิทธิผู้บริโภคมีความห่วงใยว่าเมื่อ กทม. ลดค่าธรรมเนียมให้แล้ว ผู้ประกอบการจะยังรับผิดชอบคุณภาพของน้ำดื่มอย่างต่อเนื่องไหม โดยศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภคยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน” ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ตัวแทนศูนย์สิทธิเพื่อผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย กล่าวเสริม
ข้อมูลอ้างอิง: