ทันตแพทยสภา ยกระดับปัญหา“จัดฟันแฟชั่น”

“ทันตแพทยสภา” เป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่ร่วมกัน ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมานานนับทศวรรษ นับตั้งแต่ ทพ.ดร. ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ร่วมกับ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทางทันตกรรม ทันตแพทยสภา จัดทำโครงการสำรวจสภาพปัญหาและความรุนแรงของการจัดฟันแฟชั่น ปี 2552 จนกระทั่งได้หนังสือ “จากแฟชั่นจัดฟัน “สู่จัดฟันแฟชั่น” ได้ไม่คุ้มเสีย” ออกมาหนึ่งเล่มทำให้เรารับรู้ถึงสภาพปัญหา ผลกระทบต่อสุขภาพและทางออกของปัญหาอันเนื่องจากการจัดฟันแฟชั่น อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยชิ้นนั้น เมื่อเวลาผ่านไปการจัดฟันแฟชั่นมีรูปแบบเปลี่ยนไปมาก

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

“เปลี่ยนจากร้านค้าห้องแถวมาเป็นออนไลน์ อยู่ในโซเชียลมีเดีย เปลี่ยนจากการที่เด็กต้องเดินไปทำที่ร้านเอง เป็นการสั่งอุปกรณ์มาทำเองที่บ้าน รูปแบบมันเปลี่ยนมาก ยิ่งทำให้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคยากขึ้น เพราะต้องอาศัยกฎหมายจากหลายองค์กรในการแก้ปัญหา” ทพ. ดร.ธงชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ ทพ. ดร. ธงชัย ยังเสริมด้วยว่าทางทันตแพทยสภาได้หารือกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ในเรื่องนี้แล้ว เห็นว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและมีผลกระทบมาก เพราะมีคนที่ได้รับโลหะหนัก ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงอยากเสนอประเด็นดังกล่าวเป็นวาระเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561

 

“เราต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จากทั้งหน่วยงานรัฐคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจที่ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค และตำรวจไซเบอร์ นอกจากนี้เราต้องตามไปแก้ที่ต้นนำ กรณีการนำวัสดุจัดฟันเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยแล้วไปขายต่อ ต้องร่วมมือกัหน่วยงานต่างๆ ไปตามจับ รวมถึงทำอย่างไรให้วัยรุ่นไทย รู้เท่าทันเรื่องนี้ด้วย งานก็จะขยายออกไปหลายหน้างาน”

 

การนำประเด็นนี้เข้าสู่สมัชชาเป็นหนึ่งความหวังในการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุยในเวทีระดับชาติเพื่อร่วมกันรับรู้ปัญหาและก่อเกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

 

ที่มา: สานพลัง ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2561

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  1. สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ลุย! ‘จัดฟัน-ฟันปลอมเถื่อน’ สุดอันตราย…รื้อระบบทันตกรรมเพิ่มการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย  (17 ก.ย.2561)

  2. คู่มือแนวทางการดำเนินงาน การจัดการปัญหาฟันแฟชั่นและ ฟันเทียมที่ผิดกฎหมาย
  3. จากแฟชั่นจัดฟันสู่ “จัดฟันแฟชั่น” ได้ไม่คุ้มเสีย
  4. รวบสาวเปิดคลินิกเถื่อน รับจัดฟันแฟชั่น โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ค ลูกค้าติดตรึม
  5. Consumer Channel – จัดฟันแฟชั่น ‘อันตราย’  (20 / 01 /2017)
  6. Consumer Channel – คิดดีๆ ก่อนทำ ฟัน+ปลอม+เถื่อน (23/01/2014)