ควักหัวใจ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย รับผิดชอบสังคมแค่ไหน

ทุกครั้งที่คุณเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใด เมื่อคุณต้องเลือกผักหรือผลไม้จากบนชั้น คุณอาจรู้สึกมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ปลอดสารพิษตามป้ายโฆษณาที่ปรากฏ อีกทั้งยังรู้สึกว่าได้ช่วยสนับสนุนเกษตรกรโดยตรง

ทว่าคุณมั่นใจจริงๆ ไหม หรือเชื่อมั่นเพียงใด เพราะหากมีการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร คุณอาจได้พบความจริง ณ สุดปลายทาง

เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ซึ่งรวมตัวกันในนาม ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ภายใต้การสนับสนุนโครงการโดยสหภาพยุโรปและสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน จึงจัดให้มีการประเมินผลนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ประจำปี 2562 เพื่อตั้งคำถามว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ก้าวหน้าหรือต้องปรับปรุง?


นโยบายที่ยังปิดลับของซูเปอร์มาร์เก็ต

ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้กล่าวถึงแนวโน้มทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารในประเทศไทยและต่างประเทศกับบทบาทในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนไว้ว่า แต่เดิมนั้นการที่สินค้าตัวหนึ่งจะเดินทางมาถึงผู้บริโภค จะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือหากมีการนำไปแปรรูปก็ต้องมีการส่งเข้าโรงงานเสียก่อน ฉะนั้น กว่าจะมาถึงตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตย่อมต้องผ่านกลไกเหล่านี้ แต่ปัจจุบันการค้าปลีกอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตแทบจะตัดขั้นตอนเหล่านี้ออกไป โดยจะมีการซื้อตรงกับเกษตรกร ขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันก็นิยมไปจับจ่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าเดินตลาดสด ทำให้อิทธิพลของซูเปอร์มาร์เก็ตคืบคลานเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

“เทรนด์ทั่วโลกขณะนี้ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสของภาคธุรกิจ เนื่องจากแนวคิดในการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นไม่ใช่เพียงการนำสินค้าคุณภาพออกมาขายเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบสังคมมากขึ้น”

นอกจากนี้ทัศนีย์ยังกล่าวว่า เมื่อย้อนกลับมาดูพื้นที่สื่อสารสาธารณะในประเทศไทย พบว่า มีการพูดถึงนโยบายของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารน้อยมาก ส่วนใหญ่มักเป็นการโปรโมทกิจกรรมหรือโครงการ แต่นโยบาย ข้อกำหนด ข้อสัญญาที่จะปฏิบัติต่อผู้บริโภคนั้นกลับไม่ค่อยปรากฏ แม้แต่ Tesco Lotus ที่มีสาขามากที่สุด กลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR มากกว่า เช่น การปลูกเมล่อน ซึ่งบริษัทแม่ที่อังกฤษจะมีการเปิดเผยนโยบายชัดเจน แม้แต่ Tesco Lotus สาขาอินเดียที่มีมูลค่าทางการตลาดน้อยกว่าไทย ยังมีการกำหนดนโยบายไว้ในหน้าเว็บไซต์อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้จึงนำมาซึ่งคำถามและการประเมินผล

ทัศนีย์ แน่นอุดร

ทางด้าน ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ ตัวแทนจากอ็อกแฟม ประเทศไทย ระบุผลจากการประเมินนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarkets Scorecard) ปี 2562 เอาไว้ว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต่างประเทศ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมายาวนานคือ การทำนโยบายที่ปรับใช้กับทุกองคาพยพในองค์กร และมีการเผยแพร่ข้อสัญญาต่างๆ ให้สาธารณะได้รับรู้ นอกจากนี้ยังมีการขยับขยายธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อหาช่องทางใหม่ๆ ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยบางรายแม้จะให้ความสำคัญกับนโยบาย มีรายงานด้านความยั่งยืน มีการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ แต่ยังมีอีกหลายรายที่ยังเน้นไปที่การช่วยเหลือหรือการให้ ซึ่งไม่ได้เจาะเข้าไปที่ใจกลางนโยบาย เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวนั้นไม่มีความถาวรยั่งยืน

“กรอบของการประเมินผลความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องดูจากนโยบายสาธารณะเป็นหลัก หมายถึงต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถที่จะเข้าไปดู เข้าไปหาข้อมูล เข้าไปรับรู้ได้ เช่น ถ้าบริษัทมีนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน แปลว่าบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงออกมาเป็นนโยบาย”

ธีรวิทย์กล่าวอีกว่า นโยบายด้านสังคมที่ผู้บริโภคอยากเห็น ควรประกอบไปด้วย 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เห็นเป็นอันดับแรก
  2. แรงงาน ไม่ใช่แค่พนักงานของซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น แรงงานในภาคการเกษตร แรงงานในอุตสาหกรรมการเกษตรหรืออาหารแปรรูป
  3. เกษตรกรรายย่อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  4. บทบาทสตรี ควรมีการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เข้าถึงได้

 

เปิดผลคะแนนนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2562

หากพิจารณาจากนโยบายสาธารณะเป็นหลัก จะเห็นได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับคะแนนเลยทั้งในปีที่แล้วและในปีนี้ ได้แก่ Foodland, Gourmet Market และ Villa Market
  • กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีผลคะแนนลดลงจนไม่เหลือคะแนน ได้แก่ Big C เนื่องจากผู้ประเมินไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ คาดว่าอาจมาจากการเปลี่ยนเจ้าของกิจการและการออกจากตลาดหลักทรัพย์
  • กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ผลคะแนนไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ Tops
  • กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น ได้แก่ CP Freshmart, Makro และ Tesco
ภาพ: http://dearsupermarkets.com

 

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ

“การที่ห้างค้าปลีกจะได้หรือไม่ได้คะแนนนั้น เนื่องจากเราใช้ตัวชี้วัดตามมาตรฐานสากลซึ่งอาจจะเกินกว่าที่ข้อกฎหมายกำหนด ห้างที่แม้จะไม่มีคะแนนอาจไม่ได้แปลว่าทำผิดกฎหมายหรือทำไม่ถูกต้อง แต่หากซูเปอร์มาร์เก็ตใดยิ่งมีคะแนนมากเท่าไร แปลว่าคุณยิ่งมีการใส่ใจเรื่องการพัฒนายั่งยืนทางสังคมเข้าไปสู่บริษัทของคุณมากเท่านั้น และผลคะแนนเท่าไรนั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นหรือลงต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมิน” ธีรวิทย์ให้คำอธิบาย

การที่คะแนนของ CP Freshmart เพิ่มขึ้นนั้น ธีรวิทย์มองว่าเป็นผลมาจากนโยบายของเครือ CPF มีการประกาศข้อมูลการทำงานกับผู้ค้าในประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการขององค์การบริหารระดับประเทศ ส่วนคะแนนของ Tesco ที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นผลมาจากบริษัทแม่เช่นกัน โดยประกาศว่า มีการใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างรอบด้าน (human right due diligence) ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่เอกชนคุ้นเคย โดยการตรวจสอบว่ากลุ่มสินค้าที่ซื้อไปนั้นที่มีความเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย มีจุดอ่อนอยู่ที่ไหน แรงงาน เกษตรกร ผู้หญิง หรือแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังใช้หลักการด้านสิทธิมนุษยชนกับการดำเนินธุรกิจ

“เหตุที่ Tesco Lotus ได้คะแนนสูงนั้น เกือบทั้งหมดมาจากนโยบายที่ปรากฏในบริษัทแม่ที่อังกฤษซึ่งให้ความสำคัญกับแนวทางการทำงานกับคู้ค่าและมีจุดยืนในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าเราลองมาดูเว็บไซต์ของ Tesco Lotus ในไทย จะพบว่ายังเห็นนโยบายลักษณะนั้นน้อย คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ”

ด้วยความที่การประเมินครั้งนี้ไม่ได้ประเมินเฉพาะห้างไทย แต่มีทั้งที่อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ตัวแทนจากอ็อกแฟมระบุว่า ในแต่ละปีซูเปอร์มาร์เก็ตของต่างประเทศจะมีการเพิ่มนโยบายและปรับใช้หลักการใหม่ๆ เสมอ ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยมีการขยับตัวน้อยกว่า และมีกลุ่มที่นิ่ง ไม่ขยับเลย อย่างเช่น Big C เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว ในช่วงเวลาเท่ากัน จะเห็นถึงการขยับหรือการเอาจริงเอาจังที่ไม่เท่ากัน

ธีรวิทย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่ Big C คะแนนลดลง อาจเนื่องมาจากการถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ และมีการฮุบกิจการไปเป็นของ BJC แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ รายงานประจำปีที่เคยเข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์กลับไม่มีอีกต่อไป

“จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะในภาพรวมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยอาจจะยังช้ากว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต่างประเทศ โดยรวมยังเน้นที่กิจกรรม CSR หรือ PR หรือการซื้อตรงเสียมากกว่า ซึ่งไม่ถือเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง”

 

6 ข้อเสนอถึงผู้ประกอบการห้างค้าปลีก

  1. ขอให้มีการเปิดเผยนโยบายด้านสังคม รวมถึงแนวทางการทำงานกับคู่ค้าที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน และให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางสาธารณะ
  2. ขอให้ทำการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงที่มีขอบเขตงานครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน และมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
  3. ควรมีกลไกร้องทุกข์และเยียวยาที่สอดคล้องกับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP) โดยต้องเป็นช่องทางที่เกษตรกรรายย่อย แรงงาน และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้
  4. ขอให้จัดทำและเปิดเผยนโยบายด้านสิทธิแรงงานสำหรับคู่ค้าที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงระหว่างประเทศ
  5. พิจารณาลงนามสนับสนุนหลักการส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ (UN Women’s Empowerment Principles) ซึ่งมุ่งส่งเสริมความเป็นผู้นำของสตรี และการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม
  6. พัฒนาและประกาศแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงที่เป็นธรรม (Ethical Sourcing Practices & Fair Deals) ที่จะรับประกันได้ว่าผู้ผลิตรายย่อยมีอำนาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น

 

ผู้บริโภคต้องช่วยกันส่งเสียง

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และผู้ประสานงานเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ได้ให้ข้อเสนอแนะเอาไว้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางซูเปอร์มาร์เก็ตมีการนำเสนอแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างแบบจัดซื้อตรง ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นหลักประกันความยั่งยืนหรือความเป็นธรรม เมื่อเทียบกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ที่สำคัญการจัดซื้อนั้นควรอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่เป็นธรรมและมีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะด้วย

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

“ตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นจากการลงพื้นที่สำรวจคือ กล้วยหอม พบว่าการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุ ตลอดจนการขนส่งเข้าไปในห้าง เป็นกระบวนการที่เห็นข้อมูลตลอดเส้นทาง ซึ่งในขั้นตอนการบรรจุนั้นมีการติดตราไว้ด้วยว่ากล้วยนี้มาจากแหล่งไหน ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เพราะมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับมายังต้นทางได้ ดังนั้น เกษตรกรก็ควรจะได้รับผลตอบแทนในระดับที่สมน้ำสมเนื้อ

“ตลอดเส้นทางของอุตสาหกรรมอาหาร ควรมีการสร้างหลักประกันความยั่งยืนให้กับสังคมและความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตทำการค้ากับคนฐานกว้างและขายของให้กับคนจำนวนมาก ถ้าสร้างหลักประกันให้กับทุกทางได้ก็นับเป็นบทบาทสำคัญที่เรามีความหวังว่าจะเกิดขึ้นได้”

กิ่งกรบอกอีกว่า แนวทางการประเมินนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคตข้างหน้า จะต้องมีการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสวัสดิการผู้บริโภค เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการต่อรอง สร้างความร่วมมือ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจและมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ถ้าผู้บริโภคมีความตื่นตัว มีการจับตา เรียกร้อง กระตุ้น ตั้งคำถามกับซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วหากซูเปอร์มาร์เก็ตไหนทำดี ผู้บริโภคก็จะให้ความเชื่อมั่น เพราะผู้บริโภคไม่ได้ดูแค่ของสด ของดี หรือสมราคาเท่านั้น เขายังดูไปถึงว่า ห้างนี้มีความโปร่งใสหรือมีความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งก็จะได้ใจผู้บริโภคด้วย”

สุดท้ายการยกระดับนโยบายด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดจะมุ่งไปสู่การส่งเสริมระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพียงไร อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การรณรงค์เฉพาะในฝั่งของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ความเป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องมาจากความจริงใจของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสำคัญ ในฐานะที่เป็นตลาดซึ่งใกล้ชิดกับปากท้องของเราที่สุด