ตาวิเศษช่วยบอกเถิด…ยาใดดีเลิศไปกว่าหาหมอจักษุ

ต้อลม ต้อหิน ต้อเนื้อ วุ้นในตาเสื่อม เบาหวานขึ้นตา

รักษาได้ด้วย ‘ดี-คอนแทค’

———–

นี่คือคำเคลมข้างกล่องของผลิตภัณฑ์ ดี-คอนแทค (D-Contact) ที่โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาอาการจากโรคตาเหล่านี้ให้ทุเลาลง

แน่นอนว่าด้วยแพ็คเกจจิ้งที่ดูเรียบหรู ราคาที่แพงชะลูด ความคาดหวังในผลลัพธ์ย่อมสูงตาม สวนทางกับคำอธิบายของ รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จักษุแพทย์ที่บอกว่า ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ไม่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการ หรือช่วยรักษาให้หายเจ็บปวดจากโรคตาได้ เพราะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค

รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

กลยุทธ์อย่างหนึ่งของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มักใช้บุคคลที่เป็นขวัญใจมหาชนอย่างดารา นักแสดง หรือกระทั่ง ‘ครูเพลงลูกทุ่ง’ ที่ลุคภายนอกดูน่าเชื่อถือและเป็นที่รักของหมู่มวลชน ขึ้นมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อทำหน้าที่โปรโมทสินค้า นั่นยิ่งทำให้แฟนคลับหรือคนทั่วไปหลงเชื่อได้อย่างง่ายดาย

เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีก็หมุนตาม กลายเป็นว่าชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมผูกติดกับหน้าจอสี่เหลี่ยมมากขึ้น ทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต และนี่คือความจริงอันหอมหวานที่ผู้ประกอบการมักนำไปใช้เป็นทางทางอวดอ้างโฆษณา ว่ารับประทานเข้าไปจะทำให้สายตาดีขึ้น มองเห็นชัดขึ้น ไม่เบลอ ไม่ปวดตา เพราะมีผู้ช่วยพักสายตาที่ดี

อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวที่ผ่านมาระบุว่า ผลิตภัณฑ์ดี-คอนแทค ที่มี ครูสลา คุณวุฒิ บุคคลมีชื่อเสียง ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดังมาขึ้นแท่นเป็นพรีเซนเตอร์ ถูกดำเนินคดีโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ในข้อหาโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง เพราะไม่พบหลักฐานทางวิชาการใดๆ ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวสามารถรักษาโรคทางตาได้

 

ภาพและข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์ดี-คอนแทค

แม้ครูสลาจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการจำหน่ายสินค้า เป็นเรื่องความผิดพลาดที่ไม่สามารถควบคุมตัวแทนจำหน่ายได้อย่างทั่วถึง ทำให้รูปภาพที่นำเสนอออกไปบิดเบือน อาจถูกนำไปแต่งเติมข้อความโฆษณาจนดูเกินจริง จนเกิดความเข้าใจผิดในการอวดอ้างสรรพคุณของสินค้า รวมถึงอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด คิดว่าเป็นคำพูดของครูสลาโดยตรง

จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณยังต้องการผู้ช่วยพักสายตาคนนี้อยู่หรือไม่

ถ้ายังต้องการอยู่ ไม่แน่ผู้ช่วยคนนี้อาจทำให้คุณพักสายตาไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้


ผลิตภัณฑ์เหล่านี้รักษาโรคตาได้จริงไหม แล้วมีความอันตรายอย่างไร

จริงๆ มีมาหลายปี 7-8 ปี แต่ตัวที่เริ่มๆ เห็นเลยคือยี่ห้อ ดี-คอนแทค ผลิตภัณณ์พวกนี้มักโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ค เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้ใช้ ต่อมาพบได้ทั่วไปจากการโฆษณาแทรกในเว็บไซต์ ลามมาถึงไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่ตัวแทนหรือผู้จำหน่ายใช้เป็นพื้นที่โฆษณาถึงตัวผู้บริโภคได้โดยตรง

โดยออกโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า ‘ต้อจะหาย ต้อจะหดลง’ โดยที่ไม่ต้องรักษา แถมยังแนบรูปถ่ายผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคตาดังกล่าวเปรียบเทียบระหว่างมีอาการกับตอนปกติ เพิ่มความน่าเชื่อถืออีกด้วย

ปัญหาคือไม่รู้ว่า รูปนั้นเชื่อถือได้จริงหรือไม่?

ยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพง บวกกับการโฆษณาว่ากินแล้วหายโดยไม่ต้องรักษา ยิ่งทำให้คนหลงเชื่อง่ายขึ้น

สมมุติผู้ป่วยคนนั้นมีอาการเป็นต้อกระจกอยู่แล้ว แต่ไม่ยอมไปรักษา กลับหลงเชื่อ เลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์พวกนี้เข้าไปแทน ไม่ยอมไปผ่าตัดรักษาตั้งแต่แรก มัวแต่ไปกินสิ่งเหล่านี้จนปล่อยให้ต้อสุก แทนที่จะได้รักษาตั้งแต่แผลเล็กๆ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ปล่อยเวลาทิ้งไว้จนต้อสุก จนมีอาการปวด ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเข้ามาอีก สุดท้ายตาบอดไปเลยก็เป็นได้ 

เช่นเดียวกัน คนที่มีภาวะต้อหิน พอไปกินผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้าง ก็คิดว่าไม่ต้องรักษาแล้ว เพราะเดี๋ยวก็หาย การที่ไม่รักษา ปล่อยเวลาให้ผ่านไป อาการของต้อหินจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น กว่าคนไข้จะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ตามืดไปแล้ว ต้อเนื้อก็เช่นกัน ถ้าปล่อยเวลาไป ไม่รักษา มันก็จะลามเข้าไปเรื่อยๆ

อีกทั้งไม่พบหลักฐานทางวิชาการใดๆ ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง ไม่มีอาหารเสริมตัวไหนในโลกที่กินแล้วโรคตาจะหาย

ผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอาหารเสริม ถ้าบริโภคปริมาณมากจะมีผลเสียอย่างไร

ด้วยความที่อาหารเสริมเหล่านี้มักอยู่ในรูปแบบกึ่งสมุนไพร ถามว่ากินไปนานๆ อะไรที่ได้รับจำนวนมากๆ ย่อมมีผลเสียอยู่แล้ว แต่โชคดีที่ผลิตภัณฑ์ ดี-คอนแทค ตัวนี้ราคาสูง เมื่อมันแพง ก็เลยยังไม่เจอใครที่ได้รับผลกระทบจากการกินต่อเนื่องโดยตรง ทำให้ยังไม่เจอใครที่กระหน่ำกินจนเป็นพิษ เพราะอาจจะเงินหมดก่อน

จริงๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ทำเลียนแบบต่างประเทศ เขาจะดูว่าตัวยาอาหารเสริมของต่างประเทศมีส่วนผสมอะไร ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของ อย. ที่บอกว่า สารอาหารทั้งหมดในนั้นมีคุณสมบัติช่วยบำรุง เป็นตัวเสริม ไม่ใช่ตัวแก้ และไม่มีความสามารถในการรักษาโรค อย่างเช่น ลูทีน (Lutein) ถ้าจะกินให้ได้ประโยชน์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคจอตาเสื่อมในระดับปานกลางจะต้องกินติดต่อกัน แต่จะมีผลแค่ยับยั้งไม่ให้อาการไปถึงระดับรุนแรงเท่านั้น

โรคประสาทตาเสื่อม จะต้องถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ว่าคนไข้คนนี้เป็นโรคประสาทตาเสื่อมในระดับปานกลางจริงหรือไม่ ดูว่ามีเซลล์ที่เสื่อมอยู่ในจอประสาทตาเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ มีอาการบวมไหม มีความผิดปกติอยู่ในระดับไหน ไม่ใช่ว่าไปกินผลิตภัณฑ์พวกนี้แล้วจะไม่ต้องรักษาเลย

ตอนนี้มีงานวิจัยออกมาบอกแล้วว่า สารจำพวกใบกิงโกะ (ใบแปะก๊วย) เป็นแค่ตัวช่วยเสริม อาจจะมีผลกับระบบไหลเวียนเลือดในตาดีขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยรักษา ดังนั้น ถ้าเราเอาไปโฆษณาเกินจริง อาจทำให้มีคนเสียหายจากการหลงเชื่อได้ คิดแค่ว่าซื้อยา 670 บาทหายเลยไม่ต้องรักษา เงินจำนวนนี้สำหรับชาวบ้านเป็นจำนวนเยอะมาก กลับไปหลอกเขาว่ากินอันนี้แล้วช่วยได้ บางทีลูกหลานเห็นโฆษณาแล้วเชื่อก็ซื้อให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายกินอีก

ถ้าลูกหลานอยากจะกตัญญูพ่อแม่ พาพ่อแม่มาหาหมอดีกว่าไหม อย่าไปมักง่ายซื้อของตามเว็บไซต์ แล้วคิดว่าจะหายโดยที่ไม่รักษา

ดังนั้น ถามว่าเราสามารถสรุปได้ไหม ว่านี่คือการโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริง แน่นอนว่าได้ อวดอ้างเกินจริงแน่นอน ซึ่งตอนนี้ทุกๆ หน่วยงานก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ในการดูแลเรื่องนี้ 

โรคตาต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเหมารวมว่ารักษาได้ ในทางการแพทย์ทำได้จริงไหม

จากโรคต่างๆ ที่เคลมว่าสามารถรักษาได้ เช่น วุ้นในตาเสื่อม ต้อลม ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา โรคเหล่านี้มีสาเหตุและวิธีการรักษาต่างกันอยู่แล้ว ต้อลม ต้อเนื้อ คือโรคในกลุ่มเดียวกัน เหตุจากเนื้อเยื่อที่อยู่นอกตาขาวเสื่อมและเกิดการอักเสบขึ้นมา ส่วนใหญ่ต้นเหตุเกิดจากแสง UV หรือสิ่งอื่นๆ ภายนอกที่มากระทบ เช่น ลม ฝุ่น เราจะเห็นต้อลมอยู่ข้างๆ ตาดำ แต่ถ้าเป็นต้อเนื้อจะคล้ายๆ กัน คือมีลักษณะเป็นก้อนอยู่ใกล้ๆ ตาดำและกินเข้าไปในเนื้อตาดำ ซึ่งการรักษาโรคนี้จะต้องป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงแสง ฝุ่น ลม ใส่แว่นกันแดด หยอดตาตามที่แพทย์สั่ง

คนที่ตาแดงเพราะเจอลม เจอฝุ่น ก็จะต้องใช้ตัวช่วยด้วยการหยอดน้ำตาเทียม หรือพอถึงเวลาหนึ่งถ้าต้อเนื้อลุกลามก็อาจจะต้องผ่าตัดลอกออก แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกินอาหารเสริมชนิดใดแล้วหาย ไม่สามารถทำให้ต้อหดกลับไป หรือฉีดสเตียรอยด์อะไรก็ตาม ก็ไม่มีทางหดกลับ

ส่วนเบาหวานขึ้นตา เกิดขึ้นได้กับคนไข้ที่มีภาวะเบาหวาน แล้วคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือเป็นเบาหวานนานๆ แต่ถ้าคนไข้สามารถคุมน้ำตาลได้ในปริมาณที่พอดีอย่างสม่ำเสมอก็จะไม่เป็นอะไร

แต่คนไข้ส่วนใหญ่มักจะคุมน้ำตาลอย่างเคร่งครัดแค่เพียงเฉพาะเวลาใกล้จะไปหาหมอ ดังนั้นอาจทำให้น้ำตาลสะสมมากเกินไป และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขึ้นตาได้ ทางออกก็คือการควบคุมน้ำตาล ออกกำลังกาย กินยา ฉีดยา ตามที่แพทย์กำหนด

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยามีความต่างกัน ยาจะถูกพิสูจน์มาแล้วว่าเหมาะกับใครบ้าง กินแล้วแพ้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องกินในปริมาณเท่าไร ทุกอย่างจะมีเอกสารกำกับ บริษัทที่ผลิตต้องชัดเจน เพื่อจะติดตามตรวจสอบต่อได้เมื่อมีปัญหา ต่างจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตามไม่ได้ ของพวกนี้มักจะย้ายโรงงานแหล่งผลิตไปเรื่อยๆ พอเวลาไปจับก็หนี บางแห่งเขียนว่าผลิตที่ต่างประเทศ แต่ความจริงปั๊มยาเม็ดกันอยู่ในห้องแถวหรือโรงงานสักที่หนึ่ง

จากเคสที่รักษามา เคยมีคนไข้เอาผลิตภัณฑ์พวกนี้มาให้ดู แล้วถามว่ากินแล้วได้ผลจริงๆ ไหม หายจริงไหม ดีจริงไหม ก็ได้แต่แนะนำไปว่า อย่าไปซื้อมากินเลย เปลืองเงินเปล่าๆ บอกลูกหลานว่าไม่ต้องซื้อมาให้กินแล้ว เชื่อว่าคุณหมอท่านอื่นอาจจะเคยเจอกับเคสแบบนี้ ยิ่งในต่างจังหวัดน่าจะเยอะ เพราะเขามักอ้างกันว่าอยู่ไกล ไม่สะดวกรักษา ก็เลยเลือกที่จะกินของพวกนี้

มีแนวโน้มไหมว่า โฆษณาที่อวดอ้างเกินจริงเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงวัย

ความจริงแล้ว ไม่ว่าใครที่อาจมีอาการตามัวนิดๆ แสบตาหน่อยๆ แทนที่จะเชื่อหมอ กลับหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์พวกนี้ ไปหาซื้อมากิน เพราะคิดว่าจะสามารถรักษาตัวเองได้ โดยที่ยังไม่ทันไปตรวจเลยว่าตัวเองเป็นโรคจริงๆ หรือเปล่า

ยกตัวอย่างโรคต้อกระจก เป็นโรคที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็ว บางคนก็เป็นตอน 60 ปี บางคน 50 ปี ก็เริ่มเป็นแล้ว เพราะต้องทำงานกลางแดด ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุมากขึ้น แน่นอนว่าตัวเลขจำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคตาย่อมเยอะขึ้น ส่วนต้อหินก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ที่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ ดังนั้นตัวเลขนับล้านคนมีอยู่แล้ว ซึ่งคนไข้บางคนหยอดยาแล้วแสบบ้าง ขี้เกียจหยอดบ้าง ก็เลยเลือกที่จะไปซื้อสิ่งเหล่านี้กิน โดยหวังว่าจะหาย ซึ่งไม่ใช่ 

ความรุนแรงของผลิตภัณฑ์เสริมในรูปแบบยาหยอด จะอันตรายมากกว่าแบบกินไหม

ถ้าผลิตภัณฑ์ถูกผลิตออกมาในรูปแบบยาหยอดจะมีอันตรายกว่าแน่ๆ เพราะเราหยอดโดนลูกตาโดยตรง แค่พูดถึงยาหยอดธรรมดาทั่วไป แม้แต่ขวดยังต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเลย ต้องดูว่าไม่มีผงพลาสติกเจือปนนะ บีบออกมาเป็นอย่างไร ไหนจะเรื่องความสะอาดอีก พวกยาหยอดตาที่ไม่ได้มาตรฐานเราไม่รู้เลยว่าเขาเอาขวดที่ไหนมาแบ่งขาย ได้รับการรับรองไหม ไหนจะน้ำยาในนั้นอีก

จากข่าวที่เคยเห็น บางครั้งมีการเอายาที่ใช้รับประทานไปบรรจุใส่ขวด เพื่อให้ไปหยอดตา ผลปรากฏว่าตาบอด หรือกรณีน้ำป้าเช็งที่เอามาทำหยอดตาขาย จนคนหลงเชื่อซื้อไปหยอดจนเกิดอาการตาอักเสบ รวมถึงกรณีที่คุณยายในจังหวัดขอนแก่น เอายากินแก้ปวดเข่ามาหยอดตา จนตาติดเชื้อ สุดท้ายตาบอด จะเห็นได้ว่ายาหยอดนี่อันตรายมากๆ

คำว่า “ผมไม่เกี่ยว” ใช้ไม่ได้สำหรับกรณีครูสลา?

จริงๆ ตามระเบียบจาก อย. ระบุอยู่แล้วว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ อาหารโฆษณาได้แค่ไหน ยาโฆษณาได้แค่ไหน ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการมักใช้วิธีหลีกเลี่ยงฉลาดๆ โดยการให้เครือข่ายหรือผู้แทนจำหน่ายเป็นผู้โฆษณาแทน พอเจ้าหน้าที่ไปจับก็มักจะอ้างว่าไม่เกี่ยว ให้ไปโทษเครือข่ายหรือผู้แทนจำหน่ายที่ไปโฆษณาเอง

ดังนั้นจึงเป็นความยากในการทำงานเพื่อสืบเสาะ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีส่วนผิดอยู่แล้ว เพราะคุณรับรายได้จากการขาย

แม้แต่ในฐานะพรีเซนเตอร์เองก็ตาม อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ดี-คอนแทคที่ใช้ครูเพลงคนหนึ่งเป็นพรีเซนเตอร์เพราะคนต่างจังหวัดชื่นชอบ ถ้าจะบอกว่าตัวพรีเซนเตอร์ไม่เกี่ยว เพราะแค่โดนจ้างให้มาทำหน้าที่โปรโมทสินค้าเฉยๆ แต่หากพบว่ามีการอวดอ้างโฆษณาเกินจริงด้วยการเติมข้อความแอบอ้างลงไปโดยที่พรีเซนเตอร์ไม่รู้ตัว ก็ต้องไปดำเนินคดีแจ้งความไว้ แต่สุดท้ายครูสลาก็โดนปรับไปตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

บทลงโทษของเรื่องนี้คืออะไร

ถ้าเป็นการทำโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริงในช่องทางดิจิทัลจะมีโทษหนักมาก อาจถึงขั้นจำคุกได้ แต่ในกระบวนการทางกฎหมายก็มีหลายขั้นตอนที่ต้องพิจารณา

ทางเราที่เป็นทีมจักษุแพทย์มักโดนคำถามจากคนไข้เยอะมาก ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่ จึงมีความต้องการให้เร่งแก้ไขเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้มานาน แต่การทำงานคนเดียวมันทำให้ไม่ค่อยคืบหน้า เหมือนการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เราจะไปงัดเขาด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ก็เลยต้องมีทีมขึ้นมาเพื่อดูแลและขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนไปหลงเชื่อกินอาหารเสริมพวกนี้อีก

ถ้าไม่จัดการ ปล่อยให้เจ้าหนึ่งอยู่ เดี๋ยวก็จะมีอีกเจ้าหนึ่งผุดขึ้นมาทำตาม ที่นี้ตายแน่ๆ คนไข้ต้องเสียเงินให้กับอะไรก็ไม่รู้ คนไข้บางคนกว่าจะมาถึงมือหมออาการก็แย่แล้ว เพราะเสียเวลาไปกับการกินอะไรก็ไม่รู้

ตอนนี้มีหลายหน่วยงานที่พยายามช่วยกันดูแลเรื่องนี้ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อย. กระทรวงดิจิทัลฯ กสทช., คณะเภสัชฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงเพจดังๆ ที่มีคนติดตามเยอะๆ อย่างเพจ Drama-addict ที่เข้ามาช่วยสื่อสาร และมีตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มีผู้แทนจากแพทยสภา และตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลายๆ หน่วยงาน

อีกปัญหาหนึ่งที่ยังทำให้เจอผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ คือข้อกฎหมายที่ไม่แรงพอ และเราไม่ได้มีงบจ้างคนมานั่งเฝ้าหรือตรวจสอบเยอะขนาดนั้น ต่างจากฝั่งผู้ประกอบการที่จ้างตัวแทนทำการโปรโมทสินค้าตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ปัญหาผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงมีเยอะมาก ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องตา มีทั้งลดความอ้วน กินแล้วสวย กินแล้วปึ๋งปั๋ง ทุกๆ เรื่องมันลอยอยู่โซเชียลหมด ก็เลยทำให้ต้องใช้เวลาในการต่อสู้เยอะ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทุกวัน เราเริ่มจัดระบบ แล้วก็พยายามจะทำหน้าที่ตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น ตั้งแต่ต้นตอการขอเลข อย. เพื่อกันไม่ให้คนทำผิดดิ้นไปไหนได้

อยากให้ช่วยเล่าการผนึกกำลังการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าดูแลเรื่องนี้อย่างไร

เครือข่ายต่างๆ ที่กล่าวมา เรามีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยที่ตอนนี้ทาง อย. กำลังเร่งวางระบบในเรื่องนี้ให้เข้มข้นอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่างานก็น่าจะเยอะ แค่เคสไล่ปรับก็มีเป็นร้อยเป็นพัน ดังนั้นในแต่ละวันเราจะต้องช่วยกัน ถ้าสมาชิกหรือประชาชนคนไหนเห็นการโฆษณาที่เกินจริงก็ให้ร้องเรียนเข้ามา จากนั้นเราจะรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ให้ทาง อย.

พอรับเรื่องมา ทาง อย. ก็จะดูต่อ และทำตามขั้นตอนของเขา เช่น ตรวจสอบ จนพบว่ามีสารอันตรายในผลิตภัณฑ์จริง ก็จะส่งเรื่องต่อให้ทีมเภสัชและจักษุยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นทำการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง ไม่สามารถรักษาโรคได้ และส่งต่อเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลดูแลต่อ อาจจะทำการปิดเว็บไซต์หรือแจ้งเตือนไปที่ผู้ประกอบการต่อไป รวมถึงขอความร่วมมือไปที่เพจต่างๆ ให้ช่วยเผยแพร่ความจริง นอกจากนั้นยังทำการประชาสัมพันธ์ โดยทำอินโฟกราฟิกช่วยให้ความกระจ่าง ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่ออีก

จะมีวิธีการอย่างไรในการควบคุมโฆษณาอวดอ้างเกินจริงในโลกโซเชียล

โซเชียลมีเดียทำหน้าที่เหมือนดาบสองคม จริงๆ แล้วแอดมินเพจดังต่างๆ ถ้าเขาช่วยแชร์ความจริง ช่วยประชาสัมพันธ์จะดีมาก เพราะเท่ากับสร้างความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่ยุคนี้มันถูกควบคุมด้วย AI สมมุติเรากำลังหาข้อมูลเรื่องตา ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับตาก็จะเด้งเข้ามาในฟีด ซึ่งตรงนี้อันตราย เพราะเราไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง

บางครั้งคนไข้ที่มีอาการทางตา เขาอยากรู้ว่าต้อหินที่เขาเป็นอยู่จะรักษาอย่างไร ถ้าผลิตภัณฑ์อวดอ้างเหล่านี้เข้าไปในหน้าฟีดของเขา นั่นหมายถึงความอันตรายมาถึงแล้ว กระทรวงดิจิทัลก็ต้องทำงานหนักเพื่อสู้กับ AI ซึ่งค่อนข้างควบคุมยาก แต่อีกแง่หนึ่ง โซเชียลมีเดียก็ช่วยขยายความเข้าใจให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงไปด้วย

ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองจากเรื่องนี้

เราพยายามออกหลายเวที ออกหลายสื่อ พยายามทำสื่อเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าวิธีนี้จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุได้มากแค่ไหน ต้องยอมรับว่ายังมีหลายคนที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในโรคต่างๆ เพราะบางทีคนไข้เชื่อเพื่อนบ้านง่ายกว่าเชื่อหมออีก โจทย์คือเราจะต้องเปลี่ยนความรู้ของคนไข้ให้เขาเข้าใจมากขึ้น

ล่าสุดจากประสบการณ์ที่เห็นจากการลงพื้นที่ไปตรวจ ยังพบว่าผู้ป่วยต้อกระจกที่ไม่ยอมไปผ่า มีจำนวนมาก ก็ต้องช่วยกันบอกว่าให้รีบไปผ่า ผ่าแล้วหาย อย่าไปเชื่อข้างบ้านมาก

นอกจากความกลัว อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนไข้ไม่มารักษากับหมอ แต่เลือกไปเชื่อผลิตภัณฑ์พวกนี้ เพราะติดขัดในการเดินทาง ไม่มีญาติพามา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลอยู่ไกลและกระจุกตัว

อยากฝากไว้ว่า เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ นอกจากกลับบ้านไปไหว้พ่อแม่แล้ว ลองเปลี่ยนเป็นพาพ่อแม่มาหาหมอ ตรวจตา ตรวจความดัน ดีกว่าไหม

เพราะโรคตาเหล่านี้ อาหารเสริมจากไหนก็ช่วยให้หายไม่ได้