โลกไม่ลับกับภัยออนไลน์ที่เด็กต้องเจอ

โลกของข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ ไม่ว่าภาพ เสียง หรือตัวอักษร ล้วนมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งผลกระทบในแง่บวกจากการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ในเชิงสร้างสรรค์ และผลกระทบในแง่ลบที่เกิดขึ้นกับสังคม ครอบครัว พฤติกรรม และสุขภาพของเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่เหมาะสม

ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เผยผลสำรวจเรื่อง ‘สถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2561’ โดยทำการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562 พบข้อมูลที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น และเกี่ยวข้องกับการกำหนดยุทธศาสตร์การปกป้องและคุ้มครองเด็กให้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย นำเสนอรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลสำรวจครั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า เด็กส่วนใหญ่ 88.7 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มากกว่าโทษ ขณะเดียวกัน เด็ก 94.6 เปอร์เซ็นต์ ก็เชื่อว่ามีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต และเด็กประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 54.3 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเมื่อเผชิญภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง

เด็กไทยใช้เน็ตทำอะไร

เด็กส่วนใหญ่เข้าถึงผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากที่สุด 83 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ที่บ้านและที่โรงเรียน โดยเด็กจำนวนกว่าครึ่งหรือ 54.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เด็ก 15.9 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และเด็ก 32.2 เปอร์เซ็นต์ ใช้อินเทอร์เน็ต 3-5 ชั่วโมงต่อวัน

วัตถุประสงค์หลักๆ ในการใช้อินเทอร์เน็ต 3 อันดับแรกคือ

  1. เพื่อพักผ่อนและความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม (66.8 เปอร์เซ็นต์)
  2. ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงหรือญาติมิตร (14.5 เปอร์เซ็นต์)
  3. เพื่อการเรียนหรือการทำงาน (11.7 เปอร์เซ็นต์)

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเท่ากับชั่วโมงในการเล่นเกมออนไลน์ โดยผลสำรวจพบว่า เด็ก 29.3 เปอร์เซ็นต์ เล่นเกมออนไลน์มากกว่าวันละ 6-10 ชั่วโมง และอีก 37.5 เปอร์เซ็นต์ ที่เล่นมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่ามีความเสี่ยงที่เด็กจะ ‘ติดเกม’

Cyber Bullying

เมื่อถามว่า เด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying) หรือไม่ ปรากฏว่าเด็ก  31.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 เคยถูกกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นเพศทางเลือกเคยถูกกลั่นแกล้งมากถึง 48.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กอีก 3 เปอร์เซ็นต์ ถูกกลั่นแกล้งรังแกทุกวันหรือเกือบทุกวัน

เมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกแล้ว เด็ก 40.4 เปอร์เซ็นต์ มักไม่ได้บอกเรื่องนี้กับใคร โดยสิ่งที่เด็กเลือกที่จะทำคือ

  • บล็อก (block) บุคคลที่กระทำการกลั่นแกล้ง (43.7 เปอร์เซ็นต์)
  • ลบข้อความหรือภาพที่ทำให้อับอาย กังวล รู้สึกไม่ดี (38.1 เปอร์เซ็นต์)
  • เปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว/การติดต่อกับคนให้จำกัดวงเล็กลงให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (31.2 เปอร์เซ็นต์)
  • รายงาน/แจ้งปัญหาโดยการคลิกปุ่มแจ้ง (report abuse) บนเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊คหรือติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (29.4 เปอร์เซ็นต์)
  • ไม่ได้ทำอะไรเลย (21.7 เปอร์เซ็นต์)
  • หยุดใช้อินเทอร์เน็ตชั่วคราว (12.6 เปอร์เซ็นต์)
  • แกล้งกลับ (1-2 เปอร์เซ็นต์)

สื่อลามกอนาจารและพฤติกรรมเสี่ยง

เมื่อถามว่า เด็กและเยาวชนเคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์หรือไม่ 73.8 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าเคยเห็น ทั้งโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือเป็นความบังเอิญ และเด็กในกลุ่มเพศทางเลือก 85.8 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยเห็น รวมถึงเคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีเด็กจำนวน 5-6 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าเคยครอบครอง ส่งต่อ หรือแชร์สื่อลามกอนาจารให้กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ทางออนไลน์ และเด็ก 1.8 เปอร์เซ็นต์ เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งต่อให้คนอื่นๆ

ผลสำรวจประเด็นต่อมาที่น่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ได้แก่

  • 51.7 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์
  • 33.6 เปอร์เซ็นต์ เคยให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ภาพถ่ายของตัวเองหรือครอบครัวผ่านทางสื่อออนไลน์
  • 25.5 เปอร์เซ็นต์ เคยเปิดอ่านอีเมลที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จักหรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก
  • 35.3 เปอร์เซ็นต์ เคยถ่ายทอดสดหรือ live ผ่านสื่อออนไลน์
  • 69.4 เปอร์เซ็นต์ เคยแชร์ตำแหน่ง (location) หรือเช็คอิน (check in) สถานที่ต่างๆ ที่ไป

ผลสำรวจยังพบอีกว่า เด็ก 25.4 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเคยนัดพบกับเพื่อนที่รู้จักทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และเด็ก 6.4 เปอร์เซ็นต์ เคยนัดพบเพื่อนออนไลน์มากกว่า 10 ครั้ง โดยเด็ก 48.8 เปอร์เซ็นต์ บอกเรื่องนี้ให้เพื่อนทราบ เด็ก 37.7 เปอร์เซ็นต์ บอกพ่อแม่ผู้ปกครอง ขณะที่เด็กอีก 5.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้บอกใครเลย

เมื่อนัดพบกับเพื่อนออนไลน์แล้ว เด็กยอมรับว่าถูกกระทำอย่างน้อย 1 อย่าง ต่อไปนี้

  • 5.1 เปอร์เซ็นต์ ถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ
  • 2.1 เปอร์เซ็นต์ ถูกหลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์
  • 1.9 เปอร์เซ็นต์ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • 1.7 เปอร์เซ็นต์ ถูกทุบตี ทำร้ายร่างกาย
  • 1.3 เปอร์เซ็นต์ ถูกถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจานหรือข่มขู่เรียกเงิน

ภาพรวมของการสำรวจในครั้งนี้เป็นการสำรวจทัศนคติของเด็กและเยาวชนต่อการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน โดยมีข้อคำถามที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและความเสี่ยงจากสื่อออนไลน์ ข้อสรุปที่ได้ทำให้พบว่า พฤติกรรมบางอย่างอาจนำภัยอันตรายมาถึงตัวเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกติดตามคุกคาม ถูกล่อลวงทางเพศ รวมถึงความเสี่ยงจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนต่อไป