ความฉิ-หายอย่างน้อย 9 ข้อ หากไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP

จับตา! วันพฤหัสที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อหารืออนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก)

CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ มีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม เป็นการปรับโฉมจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไป ซึ่งทำให้โอกาสการเข้าถึงตลาดสหรัฐที่เป็นตลาดใหญ่ที่ไทยยังไม่มี FTA หดหายไปด้วย

แต่ก็มีหลายหน่วยงานกังวลถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพราะอาจจะทำให้ประเทศได้ไม่คุ้มเสีย หน่วยงานหนึ่งก็คือกระทรวงสาธารณสุข

ปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ ‘รายงานผลการประเมินผลกระทบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP’ เพื่อท้วงติงการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนฯ ของประเทศไทย

จากการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบโดยตลอดห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ พบว่า ความตกลงฯ มีผลกระทบต่อสุขภาพหลายมิติ

นอกประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีช่องโหว่ที่เอื้อให้รัฐบาลมีอำนาจทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศได้ โดยขาดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ และตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในทุกกรณี อาทิ ผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่ถูกต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และในด้านการสาธารณสุข ไทยต้องเสียงบประมาณการจัดซื้อยาแพงขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยา เป็นต้น

เราจะต้องเจออะไร หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP

 

Modern biotechnology

ข้อกำหนดด้าน Modern biotechnology ซึ่งรวมการดัดแปรพันธุกรรม (GMO) ในสินค้าเกษตรและประมง

  • เกิดผลกระทบต่อพันธุกรรม ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนทั้งด้านบวก-ลบ ดังนั้น จึงต้องใช้ระบบป้องกันไว้ก่อน (precautionary measure)
  • ไทยอาจจะสูญเสียจุดยืนในการผลักดันสินค้าเกษตรและอาหารตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะยังไม่มีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการโซนนิ่งที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
  • การใช้หลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงและอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ยังจำเป็นต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเด็นนั้นยังมีข้อถกเถียงในด้านหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการบริหารจัดการความเสี่ยง

 

ผลิตภัณฑ์สมุนไพร

  •  ไม่ได้ประโยชน์ด้านภาษีในการส่งออกยาสามัญ เพราะแหล่งวัตถุดิบไม่ใช่ประเทศสมาชิก CPTPP
  •  ไม่ได้ประโยชน์ด้านภาษีในการส่งออกเครื่องสำอางที่ใช้สมนุไพร น้ำมันสกัด หรือสารสกัดสมุนไพรเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากกว่าใช้วัตถุดิบในประเทศ
  • ยาแผนไทยที่ใช้สมุนไพรไทย ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนในประเทศปลายทางได้

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • มาตรการที่มุ่งคุ้มครองเรื่องการโฆษณาบนฉลากและข้อความคำเตือนด้านสุขภาพตามประกาศฉลากที่ประชาชนได้รับความคุ้มครองไว้แต่เดิม จะใช้ไม่ได้
  • การออกอนุบัญญัติข้อความ และรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต จะไม่สามารถบังคับใช้กับฉลากหลักได้
  • มาตรฐาน Codex CAC/GL 38-2001 เป็นมาตรฐานกำหนดฉลากอาหาร แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดไม่ใช่อาหารธรรมดาทั่วไป (no ordinary food ตามองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO)  จึงจำเป็นต้องมีข้อกำหนดการแสดงฉลากและคำเตือนให้มากกว่าฉลากอาหารทั่วไป

 

เครื่องสำอาง

  • ด้วยระบบจดแจ้งก่อนผลิต/นำเข้า จะทำให้สารต้องห้ามเข้าสู่ตลาดได้ง่ายและมากขึ้น
  • การไม่ให้ระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลาก ลดภาระผู้ประกอบการ แต่เจ้าหน้าที่และผู้บริโภคขาดเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงและอ้างอิงข้อมูลระหว่างระบบทะเบียนผลิตภัณฑ์และการนำเข้าส่งออก รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด การสืบค้นผลิตภัณฑ์จะทำได้ยาก
  • การไม่ให้ระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลาก เป็นการลดภาระผู้ประกอบการเครื่องสำอาง แต่ผู้บริโภคขาดเครื่องมือในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดว่าผ่านการจดแจ้งจาก อย. หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ อย.  และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ขาดเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยง และอ้างอิงข้อมูลระหว่างระบบการจดแจ้งผลิตภัณฑ์  และการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องและการสืบค้นผลิตภัณฑ์จะทำได้ยาก
  • มีการประเมินความปลอดภัยของรายการสารที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง หรือมีการประเมินตามแต่กรณี

 

เภสัชภัณฑ์

  • ข้อบทไม่มีนิยามของคําว่า International Standards ซึ่งอาจใช้มาตรฐานของประเทศคู่ภาคีใหญ่มาอ้างอิงได้มากขึ้น หรืออาจจะมีการใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่ไทยไม่ได้ใช้อ้างอิงในการกำหนดกฎระเบียบ และกระบวนการตรวจสอบรับรอง เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการ
  • ใช้งบประมาณและระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับทางเทคนิค หรือมาตรฐานระหว่างประเทศรวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อภาคเอกชนต่างๆ รวมทั้งอาจจะต้องแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกัน

 

เครื่องมือแพทย์

  • จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดนิยามที่ชัดเจนและครอบคลุมเพียงพอ
  • รัฐไม่สามารถให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมไทย
  • มีสินค้าใช้แล้วเข้าประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า-ส่งออก
  • ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียน และการควบคุมกำกับให้เป็นไปตาม TPP (เช่น เพิ่มบุคลากร และพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาฐานข้อมูล การอุทธรณ์) ขั้นต่ำประมาณปีละ 150 ล้านบาท

 

ทรัพย์สินทางปัญญา

ในความตกลงหุ้นส่วนฯ มาตรา 18.6 ระบุว่า สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะกำหนดข้อยกเว้นที่สำคัญที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามบทนี้ (ได้แก่ สถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ กรณีจำเป็นเร่งด่วนยิ่งยวด วิกฤตด้านสาธารณสุข) ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • ขอบเขตการใช้ CL ลดลง (ไม่มีข้อยกเว้นกรณี for public non-commercial use ซึ่งแตกต่างจาก TRIPS)
  • การใช้ CL อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้

ในความตกลงหุ้นส่วนฯ มาตรา 18.7 ระบุว่าสมาชิกต้องเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา 6 ฉบับ ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • การที่ต้องเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะการที่ต้องเข้าร่วมกับ UPOV 1991 เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งมีหลักการคุ้มครองแตกต่างมากจาก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดใดเลย เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่เหมาะสมกับระดับเทคโนโลยีของนักวิจัยไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. อย่างครบถ้วนมากกว่า
  • การเข้าร่วม UPOV 1991 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงสายพันธุ์ และสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์ของพืชสมุนไพร ก่อให้เกิดการผูกขาดทั้งพันธุ์ พืช ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากผลผลิต อาจจทำให้เกษตรกรทั่วไปที่เป็นเพียงผู้ปลูก-จำหน่ายจะต้องซื้อและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์

 

การจัดซื้อจัดจ้าง

  • มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยา และวัสดุวิทยาศาสตร์ เครื่องมือแพทย์ในประเทศ ในด้านการแข่งขัน ซึ่งภาครัฐจะไม่สามารถสงวนสิทธิประโยชน์บางประการได้ (เพราะต้องเปิดการแข่งขันให้กับยาสามัญจากผู้จัดจำหน่ายของประเทศอื่น ในขณะที่ยาที่มีสิทธิบัตรก็มีผู้จัดจำหน่ายได้เพียงรายเดียวซึ่งเกือบทั้งหมดคือยาของบริษัทต่างชาติ)

 

จำกัดพื้นที่การกำหนดนโยบายสาธารณะ

จากข้อบทความสอดคล้องของข้อบังคับ (regulatory coherence) แม้อาจพอมีประโยชน์เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนากฎระเบียบที่สมเหตุสมผล แต่ผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นนั้น

  • ทำให้เกิดความสอดคล้องของกฎหมายโดยยึดวัตถุประสงค์ทางการค้าและส่งเสริมเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่มีข้อคำนึงถึงด้านสังคม จึงไม่มีความสมดุล
  • การออกกฎ ระเบียบต่างๆ ของภาครัฐอาจถูกแทรกแซงจากองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะกฎหมายด้านสุขภาพหรือการสาธารณสุข หรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น บริษัทบุหรี่สามารถแทรกแซงการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกระทรวงสาธารณสุขได้ ซึ่งขัดต่อ FCTC มาตรา 5.3 เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนสำหรับกรณีนโยบายสาธารณะสำหรับส่วนรวมซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ที่มา: ‘รายงานผลการประเมินผลกระทบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP’ โดย กระทรวงสาธารณสุข