คลื่นลูกใหญ่จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โถมซัดไปทั่วทุกมุมโลก และคลื่นลูกที่สองที่อาจกระทบฝั่งตามมาในเร็วๆ นี้คือ วิกฤติขาดแคลนยา ไม่ใช่เฉพาะยารักษาโรค COVID-19 เท่านั้นที่อาจไม่เพียงพอ แต่ยังหมายรวมถึงยาประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงยาและต้องได้รับการดูแลอาการอย่างต่อเนื่อง
มีการคาดการณ์ว่า หากรัฐยังไม่มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นเหล่านี้ อีกไม่เกิน 1 เดือน จะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยาและผู้ป่วยอย่างแน่นอน
รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติขาดแคลนยาและจะกระทบผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมาก
“ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมมาตรการจัดการยา ทั้งการสั่งซื้อล่วงหน้า การกระจายยา และการสำรองยา นอกจากจะเกิดปัญหาในกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรค COVID-19 แล้ว ยาจำเป็นอื่นๆ เช่น ยาช่วยชีวิต ยารักษาโรคเรื้อรัง ก็จะเกิดปัญหาตามมา”
9 มีนาคม 2563 เมื่อเริ่มปรากฏสัญญาณการขาดแคลนยาจำเป็นในบางรายการ สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อระดมความเห็นในการเตรียมความพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์ในภาวะวิกฤติ โดยมีข้อค้นพบเบื้องต้นว่า เรื่องการบริหารจัดการยาทั้งระบบยังไม่มีเจ้าภาพหลักอย่างเป็นทางการ การเตรียมการจัดหายาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน ควรต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
25 มีนาคม 2563 สภาเภสัชกรรมจัดประชุมครั้งที่ 2 มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาภายในประเทศกำลังประสบปัญหาการจัดหาวัตถุดิบยา เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และยุโรป ได้ใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งวัตถุดิบยาและบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับเริ่มให้สถานพยาบาลบางแห่งจ่ายยาโรคเรื้อรังให้กับผู้ป่วยล่วงหน้า 6 เดือน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนยาในบางรายการแล้ว ขณะที่ในภาวะปกติอุตสาหกรรมยาจะสำรองวัตถุดิบในการผลิตยาไว้เพียง 6 เดือนเท่านั้น
ที่ประชุมสภาเภสัชกรรมเล็งเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่สุดเวลานี้คือ ประเทศไทยยังขาดฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการยา เมื่อไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนจึงยากที่จะตรวจสอบปริมาณความต้องการยา การสั่งซื้อ การสำรองยา ไปจนถึงการติดตามประเมินผลว่ามีการกระจายยาอย่างเหมาะสมหรือไม่
ในด้านการบริหารจัดการยา ขณะนี้รัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่จะให้สถานพยาบาลสำรองยาในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารการกระจายยา ซึ่งอาจทำให้มียาสำรองในบางสถานพยาบาลมากเกินจำเป็น จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนยาในตลาดยาได้
27 มีนาคม 2563 เอกสารด่วนที่สุดจากสภาเภสัชกรรมและเครือข่ายภาคี ส่งตรงถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีข้อเสนอให้รัฐเร่งวางโครงสร้างบริหารจัดการยาในภาวะวิกฤติ โดยจัดตั้ง war room หรือศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบายที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กล่าวภายหลังจากยื่นข้อเสนอดังกล่าวแล้วว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้เริ่มมีการขยับตัว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ อย. เพราะตระหนักแล้วว่า ปัญหาขาดแคลนยากำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะ
รายละเอียดในข้อเสนอยังระบุด้วยว่า แนวทางในการบริหารจัดการยาต้องคำนึงถึงยา 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการ
ยากลุ่มแรก คือกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษา COVID-19 มีทั้งยาที่ใช้รักษาโดยตรง และยาที่ใช้ตามอาการ (supportive) เช่น อาการไอ หรืออาการข้างเคียงต่างๆ
ยากลุ่มที่สอง คือกลุ่มยาช่วยชีวิต หรือยาจำเป็นโรคอื่นๆ
ยากลุ่มที่สาม คือกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ
รศ.ภญ.จิราพร อธิบายเพิ่มว่า ยาทั้งสามกลุ่มดังกล่าวต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการโดยตรง เพื่อจะได้รู้ว่ามีการกระจายยาไปที่ไหนอย่างไร ทำให้เป็นระบบที่ถูกต้องชัดเจน เวลาเราต้องการยาก็จะมียาใช้ และรู้ปริมาณความต้องการใช้
“ตอนนี้เนื่องจากโรค COVID-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศไทยแล้ว โรงพยาบาลชุมชนก็ต้องรับดูแลผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องมียาสำรองไว้ใช้อย่างเหมาะสมเพียงพอ ฉะนั้นยาเหล่านี้จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี
“เราเห็นว่ายังมีปัญหาอยู่เยอะ ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือ ฐานข้อมูล เราต้องการรู้ว่า ณ ปัจจุบันเรามียาสำรองอยู่มากน้อยแค่ไหน มีปัญหาเรื่องการขนส่งไหม สต๊อคของโรงงานเพียงพอแค่ไหน ปกติแล้วโรงงานจะมีการสำรองวัตถุดิบไว้ประมาณ 3 เดือน และสั่งใหม่ทุกๆ 3 เดือน คำถามก็คือ การสำรองยา 3 เดือน ในสถานการณ์นี้เหมาะหรือไม่เหมาะ พอระบบฐานข้อมูลของเรามีปัญหา การบริหารจัดการก็จะมีปัญหา”
อีกข้อเสนอชัดๆ ของสภาเภสัชกรรมคือ รัฐควรมีนโยบายให้โรงพยาบาลสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมจัดหาวัตถุดิบให้สอดคล้องต่อปริมาณความต้องการ
“ทางโรงงานอุตสาหกรรมยาเขาถามเราคำหนึ่งว่า การให้เอกชนสำรองวัตถุดิบไว้ 6 เดือน จะทำให้เขาขาดสภาพคล่อง ฉะนั้น ขอให้รัฐเข้ามาช่วยได้ไหม ไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขออย่างเดียวคือ ขอให้จ่ายเงินเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเป็นหนี้”
ประเด็นต่อมา เนื่องจากประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบยาที่สำคัญ อย่างจีน อินเดีย เมื่อมีการประกาศปิดประเทศแล้วอาจกระทบต่อระบบขนส่ง จึงมีข้อเสนอว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลได้มีการประสานแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อขอให้อำนวยความสะดวกในการขนส่งยาและเวชภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม รศ.ภญ.จิราพร ให้มุมมองทิ้งท้ายว่า ถ้าเรามองสถานการณ์ COVID-19 เป็นบทเรียนในการเรียนรู้เพื่อเตรียมการรองรับในอนาคต เมื่อพ้นสถานการณ์ COVID-19 แล้ว ระบบบริหารจัดการยาที่ถูกสร้างไว้ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาวิกฤติอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์
“เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเริ่มถูกพูดถึงในประเทศไทย เราคุยกันมานาน แต่ทุกวันนี้ระบบก็ยังไม่เกิด”
เสียงสะท้อนและข้อเสนอของเครือข่ายเภสัชกร กำลังรอคำตอบจากรัฐบาล