แจกเน็ตฟรีสู้ภัย COVID-19 ความหวังดีที่เสียประโยชน์ของ กสทช.

ดูเหมือนว่ามาตรการแจกอินเทอร์เน็ตฟรีของ กสทช. จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 และยังเป็นการสนับสนุนนโยบาย ‘ทำงานที่บ้าน-เรียนที่บ้าน’ ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้วหากมองให้ลึกลงไปกลับพบว่า มาตรการนี้ได้ไม่คุ้มเสีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความหวังดีที่เปล่าประโยชน์ เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงคือบริษัทมือถือค่ายต่างๆ ที่จะได้รับเงินอุดหนุนแบบเหมาจ่ายไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มิใช่ประชาชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด

สืบเนื่องจากที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ได้อนุมัติการอุดหนุนค่าบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยจะเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชนที่จดทะเบียนซิมมือถือในนามบุคคลธรรมดา ให้สามารถใช้งานโมบายอินเตอร์เน็ตฟรี 10 GB เป็นระยะเวลา 30 วัน ส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านก็จะได้รับการปรับเพิ่มความเร็วเป็น 100 Mbps ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนขอใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 10-30 เมษายนนี้ โดยสามารถใช้งานได้ 30 วันหลังจากกดรับสิทธิ์

แม้มาตรการนี้มีเจตนาที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมและส่งเสริมการทำงานที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่าวิธีการดังกล่าวเป็นการเอื้อผลประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือไม่ ส่วนประชาชนก็อาจมีเพียงบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ในลักษณะผลพลอยได้เท่านั้น

 

คำถามคาใจ กสทช. เอื้อรายได้ให้ค่ายมือถือ?

รศ.รุจน์ โกมลบุตร กรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.)  กล่าวว่า แนวคิดของ กสทช. ที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ดี แต่มาตรการที่เลือกใช้อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากมิใช่ว่าผู้บริโภคทุกรายจะจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตปริมาณมาก มาตรการดังกล่าวจึงอาจตอบโจทย์บางกลุ่มคนที่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้บริการทั่วไปอาจไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์เทียมๆ กล่าวคือ ได้กดรับสิทธิ์ แต่ไม่มีการใช้งานหรือได้ใช้งานไม่เต็มจำนวน โดยที่ กสทช. กลับต้องอุดหนุนในลักษณะเหมาจ่ายให้กับบริษัท เท่ากับผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์แบบเต็มที่และหลายต่อ ทั้งขายบริการได้มากขึ้น และได้รับเงินเกินกว่าที่ให้บริการจริง เป็นต้น

“การเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยผู้บริโภคทั่วไปในภาวะยากลำบากนี้ หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปริมาณมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้แพ็กเกจที่ให้ปริมาณอินเทอร์เน็ตต่อเดือนเพียงพออยู่ก่อนแล้ว มาตรการของ กสทช. จึงเหมือนการช่วยผู้ประกอบการขายของ โดยเสนอของชนิดเดียวใส่มือประชาชนทุกคน พร้อมกับบอกว่ารับฟรีๆ ซึ่งตามพฤติกรรมคนทั่วไปก็ย่อมจะรับมาโดยไม่ได้คำนึงถึงว่ามีความต้องการใช้ของนั้นจริงไหม หรือรับมาแล้วจะต้องใช้เต็มที่หรือไม่

“จริงๆ แล้วของนี้ไม่ใช่ได้มาฟรี ถึงแม้ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินโดยตรง แต่ กสทช. จะเอาเงินกองทุนฯ มาอุดหนุนให้ผู้ประกอบการ ซึ่งปกติเงินกองทุนนี้มีไว้เพื่อให้บริการโทรคมนาคมแก่พื้นที่ห่างไกลหรือผู้ขาดโอกาส จึงเท่ากับว่าสังคมต้องเสียโอกาสในส่วนนั้นไป ที่สำคัญดูเหมือนว่า กสทช. ก็ต้องจ่ายตามจำนวนคนที่กดรับสิทธิ์ตามตัวเลขที่ผู้ประกอบการแจ้ง ซึ่งยากที่จะตรวจสอบความถูกต้อง ซ้ำยังไม่ใช่ส่วนของต้นทุนจริงอีกด้วย

“นอกจากนี้ การที่ กสทช. กำหนดจำกัดระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตไว้เพียง 30 วัน ก็ไม่แน่ว่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ว่าโรคระบาดนี้จะคลี่คลายภายใน 30 วันหรือไม่ และเสมือนเป็นการเร่งรัดการใช้บริการโดยไม่จำเป็น จึงมีคำถามว่า เหตุใด กสทช. จึงเลือกมาตรการที่ไม่ตรงไปตรงมาเช่นนี้”

รศ.รุจน์ ระบุด้วยว่า ในส่วนของการปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ก็เป็นมาตรการที่ชวนตั้งคำถามเช่นกัน เนื่องจากประชาชนที่ยากลำบากของประเทศไม่ใช่ผู้ที่เข้าถึงบริการดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ส่วนใหญ่ก็ใช้แพ็กเกจที่กำหนดความเร็วไว้มากกว่า 100 Mbps ในขณะที่ถ้าเป็นบริการแบบ ADSL/VDSL/Copper ต่อให้ปรับความเร็วสูงสุดก็ทำได้ไม่ถึง 100 Mbps

 

ลดค่าบริการดีกว่าแจกเน็ตฟรี

สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการที่ควรจะเป็น นายโสภณ  หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย คอบช. กล่าวว่า กสทช. มีทางเลือกในเรื่องของมาตรการที่จะตอบสนองต่อแนวความคิดที่ดีได้หลายแนวทางด้วยกัน ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้ประโยชน์กับผู้บริโภคโดยตรงและทั่วถึง เช่น การลดค่าบริการให้กับผู้บริโภคทุกราย ซึ่งอาจใช้วิธีการหักลบค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภคต่อเดือนเท่ากันทุกคน เช่น 50 บาท หรือลดเป็นสัดส่วน เช่น ร้อยละ 30 ของค่าบริการ โดย กสทช. ก็ชดเชยให้ผู้ประกอบการไปตามรายได้ที่ลดลง หรือดีกว่านั้นก็อาจชดเชยตามต้นทุนค่าบริการในส่วนรายได้ของบริษัทที่ขาดหาย หรือแม้กระทั่งอาจชดเชยเพียงครึ่งเดียว เพราะในต่างประเทศก็มีกรณีที่ผู้ให้บริการให้การช่วยเหลือผู้บริโภคโดยตรง โดยที่ภาครัฐไม่ต้องอุดหนุนชดเชยคืนให้ ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะตรงไปตรงมามากกว่า และผู้บริโภคทุกรายได้รับประโยชน์แน่นอน ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม ก็สามารถนำเงินส่วนที่ลดนี้ไปซื้อบริการเพิ่มได้

อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. ยืนยันจะเดินหน้ามาตรการเดิม คือการเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตให้ประชาชน ทาง คอบช. มีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่ไปด้วย ได้แก่

1) กสทช. ควรกำหนดให้ค่ายมือถือต่างๆ ยกสิทธิ์การใช้งานตามแพ็กเกจปกติที่เหลือในช่วงเดือนที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคให้ผู้บริโภคสามารถใช้ได้ในเดือนถัดไป เนื่องจากโดยทั่วไปผู้บริโภคมักใช้งานไม่เต็มโปรโมชั่นปกติของตนเองอยู่แล้ว และยังอาจจะกดรับสิทธิ์เพิ่มเติมด้วย ทำให้ค่ายมือถือได้เงินฟรีเพิ่มขึ้นในส่วนแพ็กเกจเดิม

2) กสทช. ควรอุดหนุนเงินให้ผู้ให้บริการตามปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ผู้บริโภคซึ่งกดรับสิทธิ์ใช้จริงเท่านั้น ไม่ใช่เพียงมีผู้บริโภคกดรับสิทธิ์แล้ว บริษัทก็ได้เงินไปฟรีๆ หรือมิเช่นนั้นก็ต้องกำหนดให้ค่ายมือถือยอมทบอินเทอร์เน็ตส่วนที่เหลือจาก 10 GB นั้นไปใช้งานต่อได้เรื่อยๆ จนกว่าจะใช้ครบเต็มจำนวน

3) เมื่อปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะเน็ตช้าหรือไม่เสถียร ดังนั้น กสทช. จะต้องกำกับดูแลคุณภาพสัญญาณและการให้บริการในพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มข้นขึ้นด้วย

นอกจากนั้นยังควรมีการกำหนดมาตรการเสริมอื่นๆ สำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น สนับสนุนผู้ให้บริการตอบสนองกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มในปริมาณมาก เช่น กลุ่มนักศึกษา-อาจารย์ ด้วยการออกแพ็กเกจเฉพาะในราคาพิเศษ ขยายวันใช้งานให้แก่ผู้ใช้บริการมือถือระบบเติมเงินออกไป จนกว่าสภาวะโรคระบาดจะยุติ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจประสบปัญหาความลำบากหรือมีอุปสรรคในการเติมเงินเข้าระบบ

“อยากขอให้ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาข้อเสนอทั้งหลายด้วย เพื่อที่ความตั้งใจดีจะได้ส่งผลดีจริงๆ ต่อผู้บริโภค” นายโสภณกล่าวทิ้งท้าย