สถานการณ์ผู้บริโภค 2562 ร้องเรียนปัญหาโฆษณาเกินจริงมากสุด

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยรายงาน ‘สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2562’ พบปัญหา 3 ด้านที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด หนึ่งในนั้นคือการโฆษณาเกินจริง ทั้งในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2562 โดยในปีที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั้งหมด จำนวน 4,182 ราย มีการแบ่งปัญหาของผู้บริโภคออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข

 

3 อันดับเรื่องร้องเรียน

  1. อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ การโฆษณาอันเป็นเท็จ หลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อได้ เช่น ใช้แล้วผิวขาวกระจ่างใสภายใน 5 นาที หรือภายใน 3-7 วัน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีฉลาก หรือไม่มีฉลากภาษาไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ หรือยารักษาโรคที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ 108 โรค

บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากโฆษณาดังกล่าวมักโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ขณะเดียวกันวิธีการโฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมผ่านรถเร่ขายของในชุมชนก็เป็นปัญหาหนึ่งที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ฉลากได้ถูกสั่งยกเลิกไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีขายในรถเร่นั้นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนและศูนย์ร้องเรียนที่เฝ้าระวัง ได้แจ้งเรื่องถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งใช้ระยะเวลายาวนาน อีกทั้งผลิตภัณฑ์บางชนิดที่พบปัญหาก็ไม่ได้ถูกนำออกจากตลาดร้านค้าแต่อย่างใด

 

  1. บริการสาธารณะ

ปัญหาด้านบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 ปัญหาที่พบมากสุดคือ รถรับส่งนักเรียน โดยพบว่าเจ้าของรถรับส่งนักเรียนใช้รถผิดประเภท เช่น ใช้รถสองแถวที่ไม่มีป้ายระบุว่าเป็นรถรับส่งนักเรียน รถไม่ได้มาตรฐาน หรือเบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน รองลงมาเป็นกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตู้โดยสาร หรือรถทัวร์โดยสาร พบว่า พนักงานขับรถมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ พูดจาไม่สุภาพ ใช้โทรศัพท์โดยไม่ใช้หูฟังสมอลทอล์ค หรือขับรถเร็ว

นอกจากปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ยังพบปัญหาเรื่องสายการบินล่าช้าอยู่บ่อยครั้งจนทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมายังมีประเด็นเรื่องการขึ้นราคาค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง-โทลล์เวย์)’ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมาก โดย มพบ. ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุดให้หยุดขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภค รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างประเด็นการต่ออายุสัญญาสัมปทานให้ BEM ไปอีก 15 ปี 8 เดือน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

 

  1. บริการสุขภาพและสาธารณสุข

อันดับสุดท้ายคือ หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข มีผู้ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้คำปรึกษาด้านสิทธิการรักษาพยาบาล การย้ายสิทธิ หรือการสอบถามสิทธิประโยชน์ ซึ่งผู้บริโภคในต่างจังหวัดมักจะมีการขอคำปรึกษามากสุด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่อาจไม่สามารถรับข่าวสารได้เพียงพอ หรือเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงเท่าที่ควร จึงอาจทำให้การรับข่าวสารจากหน่วยงานได้ไม่ครบหรือไม่ได้รับเลย ดังนั้น การลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิกับผู้บริโภคในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

จากปัญหาที่กล่าวมานี้ เครือข่ายผู้บริโภคในภาคต่างๆ ได้ลงพื้นที่ จัดเวทีให้ความรู้ อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพิทักษ์สิทธิอันพึงมีพึงได้เพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ข้อมูลเบื้องต้นและแนะนำการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ เช่น สายด่วน สปสช. หมายเลข 1330 และประกันสังคม หมายเลข 1506 เพื่อให้ผู้บริโภคทราบสิทธิและสามารถดำเนินการด้วยตนเอง หรือเตรียมเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ได้ถูกต้อง