สรุปของสรุป พ.ร.บ.ยา ฉบับลับลวงพราง

พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2530 เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่บังคับใช้มานานกว่า 30-50 ปี ล้าสมัยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบเรื่องยา จึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย แต่ด้วยเนื้อหาในการยกร่างเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจากแวดวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอันต้องชะงักไป

ปี 2561 อย. พยายามปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดได้เปิดรับฟังความเห็นในช่วงวันที่ 17-31 กรกฎาคม 2561 ผ่านทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th พร้อมอ้างว่ามีความโปร่งใส ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

หากเป็นจริงอย่างที่ อย. กล่าวอ้าง เหตุใดจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง องค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมหลากหลายสถาบันต่างพากันตบเท้าคัดค้าน ลุกลามถึงขั้นเรียกร้องให้ต้องยกเลิการเสนอร่างกฎหมายต่อไปยัง ครม. ดังเช่นเครือข่ายเภสัชกรทั่วประประเทศที่ตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ ‘ลับ-ลวง-พราง’ ของ อย. เอื้อประโยชน์ประชาชนจริงหรือ

หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ฉุดรั้งให้ประเทศถอยหลังแทนที่จะก้าวหน้า โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของระบบยา หลักการคุ้มครองผู้บริโภค และหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างวิชาชีพ ซึ่งสรุปปัญหาสำคัญได้ ดังนี้

รับฟัง…แต่ไม่แก้ไข

ภายหลังจากการเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา มีความเห็นที่ลงตัวแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาสาระทั้งหมด มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ลงตัว และเชื่อมั่นว่ากฎหมายนี้มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในหลายประเด็น

ขณะที่คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพัฒนาและติดตามกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่มีผลต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม ได้มีความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ยา โดยสรุปความได้ว่า แม้ อย. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่กลับไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง มีเพียงการเลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง ทั้งยังตัดหลักการที่ดีในร่างกฎหมายฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทิ้ง นั่นหมายถึง อย. ไม่ให้ความสำคัญกับหลักการของกฎหมาย และไม่ได้นำข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นไปทบทวนปรับปรุง

เมื่อขั้นตอนการรับฟังความเห็นไม่เป็นไปอย่างโปร่งใสเช่นนี้แล้ว จึงนำมาสู่การคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคมอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้

แบ่งประเภทยาผิดเพี้ยน

ร่าง พ.ร.บ.ยา มีการ ‘แบ่งประเภทยา’ ผิดไปจากหลักสากล โดยแบ่งออกเป็น

  1. ยาควบคุมพิเศษ
  2. ยาอันตราย
  3. ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ
  4. ยาสามัญประจำบ้าน

แตกต่างจากหลักการสากลที่แบ่งประเภทยาออกเป็น

  1. ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (Prescription Only Medicines)
  2. ยาที่เภสัชกรเป็นผู้จ่าย (Pharmacy Only Medicines)
  3. ยาที่ประชาชนเลือกซื้อได้เอง (General sale list)

การปล่อยให้มี ‘ยาประเภทที่ 3’ (ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ) ซึ่งมีอันตรายมากกว่ายาสามัญประจำบ้าน แต่กลับได้รับการประกาศยกเว้น และการปล่อยให้ยาอันตรายหลายรายการปรับระดับมาเป็นยาประเภทนี้ รวมทั้งเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยา

ใครๆ ก็จ่ายยาได้

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ ถือเป็นการลดมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคลงหลายประการ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ มีอำนาจในการสั่งจ่ายยาได้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการธุรกิจ จะทำให้คลินิกสุขภาพสามารถอ้างเรื่องการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา และมีลักษณะการดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกับร้านยา

ข้อสังเกตเรื่องนี้คือ ผู้ที่ได้รับการยกเว้นในการจ่ายยา มีมาตรฐานการควบคุมต่ำกว่าผู้รับใบอนุญาตขายยา และเมื่อทำผิดกลับได้รับโทษเบากว่าผู้รับใบอนุญาตขายยาซึ่งมีมาตรฐานสูงกว่า กล่าวคือต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท แต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว บางกรณีมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก และระวางโทษสูงกว่า 10 เท่า

ทำเพื่อพยาบาล/รพ.สต. หรือผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพอื่น จริงหรือ?

จากเหตุผลที่ อย. หยิบยกขึ้นมาว่า การเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นมีอำนาจสั่งจ่ายยา ก็เพื่อเอื้อต่อการทำงานของพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้สามารถจ่ายยาได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายรองรับ

ภก.ปรุฬห์ อธิบายว่า ในความเป็นจริง การผลิตยา การขายยา รวมถึงการจ่ายยานั้น เป็นการกระทำโดยกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันหรือรักษาโรค จึงได้รับการยกเว้นใบอนุญาตอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 13 (1) (3) ดังนั้น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง รวมถึง รพ.สต. จึงได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ คนที่ทำงานในสถานพยาบาลเหล่านี้ก็เช่นกัน การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ จึงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายยาในส่วนนี้แต่อย่างใด

การแก้กฎหมายในส่วนนี้กลับจะทำให้คลินิก (สถานพยาบาลเอกชน) ได้รับการยกเว้นในการจ่ายยาที่เกินกว่าสมรรถนะด้านยาที่มีอยู่ และมีความเสี่ยงที่จะขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต (ทำเกินกว่าการ ‘จ่ายยาให้ผู้ป่วยเฉพาะราย’)

เปิดช่องโฆษณายาสะพัด

ในความเห็นของ ภก.ปรุฬห์ มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา มีการลดมาตรฐานการอนุญาตโฆษณา จากเดิมที่ต้องขออนุญาตทั้งหมด โดยเปิดช่องให้มีการจดแจ้งโฆษณาซึ่งลดระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบเนื้อหาก่อนการโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับโฆษณาเกินจริงนำไปสู่การซื้อยามาใช้อย่างไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยา ยังลดความเข้มงวดในการตรวจสอบเภสัชชีววัตถุซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน โดยกำหนดให้ใช้วิธีจดแจ้งแทนที่จะใช้วิธีการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า

เอื้อประโยชน์ใคร

อาจารย์คณะคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุด้วยว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.ยา จะไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพ เพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขาดธรรมาภิบาล และมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้สถานประกอบการเอกชนมากกว่าจะมีลักษณะคุ้มครองผู้บริโภคหรือสร้างความมั่นคงด้านยา รวมทั้งขาดมาตรการควบคุมการขายยาผ่านสื่อสารสนเทศต่างๆ เช่น e-commerce, telepharmacy โดยภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.ยา จึงดูเหมือนเป็นเรื่องธุรกิจ แต่แฝงว่าต้องการคุ้มครองประชาชน

อ้างอิง: เอกสารเรื่อง ‘ถาม-ตอบ ไขประเด็นดราม่า (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่’ โดย ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ วันที่ 3 กันยายน 2561