‘ก้นบุหรี่’ คู่แข่งถุงพลาสติกในสนามขยะอมตะ

กระแสงดรับ งดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกกำลังคืบหน้าไปมาก หลายคนกลับมาพกขวดน้ำ หยิบถุงผ้ากลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการไม่รับหลอดพลาสติกอย่างพร้อมเพรียง จนหลายประเทศเริ่มแบนพลาสติกกันอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่แค่ถุง ขวด หรือหลอดพลาสติกเท่านั้นที่น่ากังวล เพราะชายหาดและมหาสมุทรทั่วโลกตอนนี้กำลังเต็มไปด้วยก้นบุหรี่สารพัดสัญชาติ

นักวิชาการด้านอุตสาหกรรมยาสูบ สมาชิกสภาผู้แทนในแคลิฟอร์เนีย และหลายหน่วยงาน กำลังถกเถียงกันถึงการยกเลิกก้นบุหรี่ จนเกิดการรณรงค์โดยหวังว่าจะได้แรงหนุนจากทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพและกลุ่มที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

“มันชัดเจนอยู่แล้วว่าก้นบุหรี่ไม่ได้มีผลดีอะไรกับสุขภาพ เป็นแค่เครื่องมือทางการตลาด และทำให้คนสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น” โธมัส โนโวทนี (Thomas Novotny) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยซานดิเอโก (San Diego State University) บอก “ส่วนประกอบหลักของมันยังเป็นพลาสติกอีกด้วย ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่เราจะอนุญาตให้ยังมีมันต่อไป”

ที่สหรัฐ สมาชิกสภาผู้แทนในแคลิฟอร์เนียได้เสนอให้ยกเลิกบุหรี่ที่มีก้นกรอง แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์คร่างกฎหมายระบุถึงส่วนลดสำหรับการคืนก้นกรอง แต่แนวคิดนี้ก็ถูกดองไว้ ส่วนซานฟรานซิสโกได้บวกราคาบุหรี่ไปอีกซองละ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นเงินในการทำความสะอาดก้นกรอง

ขยะที่เรี่ยราดที่สุดในโลก

แต่ละปีมีการบริโภคบุหรี่ในอเมริกาถึงกว่า 56,000 ล้านตัว และแต่ละตัวก็มาพร้อมก้นกรองที่ทำจากเซลลูโลสอะซีเตท (cellulose acetate) หรือพลาสติกที่ผลิตจากพืชซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 10 ปี และ 2 ใน 3 ของก้นกรองเหล่านั้นถูกทิ้งเรี่ยราดในทุกๆ ปี

Ocean Conservancy องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำและทะเลที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมการทำความสะอาดชายหาดมาตั้งแต่ปี 1986 เปิดเผยว่า ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา ขยะที่ถูกพบบนชายหาดมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ด้วยจำนวนมากกว่า 60 ล้านชิ้น ถือเป็น 1 ใน 3 ของขยะที่พบทั้งหมด และยังมากกว่าพวกห่อพลาสติก ฝาขวดน้ำ ภาชนะอาหารกับน้ำดื่มรวมกันเสียอีก

แม้คนที่มักทิ้งขยะบนชายหาดจะมีเพียงกลุ่มหนึ่ง ท่อระบายน้ำ ลำธาร และแม่น้ำทั่วโลก ก็ยังเป็นเส้นทางที่คอยพัดก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งเรี่ยราดลงไปรวมอยู่ในทะเล ซึ่งสัตว์จะกินขยะที่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกได้ง่าย ทีมนักวิจัยได้พบเศษของขยะเหล่านี้ในท้องนกทะเลจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์และในเต่าทะเล 30 เปอร์เซ็นต์

“เรายังต้องการงานวิจัยอีกมากเพื่อหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องทั้งหมดนี้” นิค มัลลอส (Nick Mallos) หัวหน้าโครงการรณรงค์ทะเลปลอดขยะ (Trash Free Seas) ของ Ocean Conservancy บอก “คำถามคือ ไมโครพลาสติกเหล่านี้และขยะอื่นๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพของมนุษย์”

ก้นบุหรี่และการตลาด

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เหล่าบริษัทบุหรี่เริ่มลองใช้ก้นกรองกับบุหรี่ โดยมองว่าเป็นวิธีลดความกังวลเรื่องผลกระทบของบุหรี่ต่อสุขภาพ

ขณะที่อีกทางหนึ่งมีงานวิจัยแนะนำว่า ก้นกรองไม่สามารถควบคุมสารก่อมะเร็งจากบุหรี่ได้เพียงพอ แบรดฟอร์ด แฮร์ริส (Bradford Harris) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนไว้ในงานวิจัยของเขาเองว่า “จากนั้น ก้นกรองจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาด ที่ออกแบบมาเพื่อต้อนและทำให้นักสูบยังคงสูบต่อไป”

ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่เขี่ยบุหรี่พกพาของบริษัท R.J. Reynolds Tobacco ในปี 1991 หรือป้ายบิลบอร์ดที่พาดคำตัวเบ้อเริ่มว่า “Don’t Leave Your Butt on the Beach” ติดตั้งในเมืองชายฝั่ง 30 แห่งเมื่อปี 1992 รวมถึงบริษัท Santa Fe Natural Tobacco ที่เปิดตัวก้นกรองแบบรีไซเคิล และจัดรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องขยะในวันคุ้มครองโลก

โฆษกของ Philip Morris อีกบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ออกมาบอกคำเตือนเกี่ยวกับบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้ใช้ที่เขี่ยบุหรี่แบบพกพา และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยขยะมูลฝอย แต่นักวิชาการที่ตามเรื่องแคมเปญเหล่านี้บอกว่า นักสูบส่วนใหญ่ชอบทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นมากกว่า

นักสูบบางคนบอกว่า พวกเขาคิดว่าก้นกรองสามารถย่อยสลายได้ และอาจทำมาจากฝ้าย คนอื่นๆ บอกว่า พวกเขาต้องทิ้งลงพื้นแล้วใช้เท้าขยี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ติดไฟขึ้นมาอีก บ้างก็บอกว่าไม่ชอบกลิ่นที่เขี่ยบุหรี่ ทำให้กลุ่มบริษัทบุหรี่มองหาทางออกที่ก้าวหน้าขึ้นมาหน่อย

ในช่วง 1990 บริษัท R.J. Reynolds Tobacco ประกาศว่า ทางบริษัทจะหาวิธีใช้ไส้กรองที่กินได้ อาจเป็นลูกกวาดรสมินต์หรือแครกเกอร์ รวมถึงทางออกที่พอจะเป็นไปได้อย่าง ไส้กรองเป็นกระดาษ แต่ตัวต้นแบบทำให้รสชาติบุหรี่แย่มาก ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น ฝ้าย ก็ออกมาไม่น่าพอใจเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม เมอร์วิน วิเธอร์สปูน (Mervyn Witherspoon) นักเคมีชาวอังกฤษที่เคยทำงานกับผู้ผลิตตัวกรองในบุหรี่บอกว่า “ความสนใจในการหาตัวกรองที่ย่อยสลายได้ของอุตสาหกรรมนี้ มาแล้วก็จากไป เพราะไม่มีแรงกดดันใดๆ ให้พวกเขาพยายามทำอย่างจริงจัง”

ปัจจุบัน วิเธอร์สปูน ทำงานให้กับ Greenbutts สตาร์ทอัพที่เน้นพัฒนาก้นกรองจากวัสดุออร์แกนิกที่สามารถย่อยสลายได้รวดเร็วในดินหรือน้ำ โดยอาจทำจากเยื่อไม้ ป่าน ใยผ้าเทนเซล (tencel) และผสานกันด้วยแป้งธรรมชาติ

“เรายังคงทำงานเรื่องนี้ต่อไปและพยายามหาหลายๆ ทางออก แต่บริษัทเหล่านี้ก็หาสิ่งที่น่าสนใจกว่าและเลื่อนประเด็นนี้ออกไปอีกเรื่อยๆ”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
nbcnews.com