งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า การผ่าคลอดทางหน้าท้อง (Cesarean Delivery: CD) สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder: ASD) และโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) โดยข้อค้นพบเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์แบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2019 ใน JAMA Network Open
การทบทวนและวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ชิ้นหนึ่งทำการศึกษาใน 61 งานวิจัย ใน 19 ประเทศ ครอบคลุมการคลอด 20.6 ล้านครั้ง พบว่า การคลอดมีชีพด้วยการผ่าหน้าท้องสัมพันธ์กับการเกิดโรค ASD มากกว่าการคลอดมีชีพทางช่องคลอดถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ADHD อยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์
“เป็นที่รับรู้กันว่า ในเชิงอุดมการณ์นั้น การผ่าคลอดฯ จะกระทำเมื่อมีความจำเป็นในทางการแพทย์เท่านั้น” ผู้นิพนธ์หลัก เทียนหยาง จาง (Tianyang Zhang) จากศูนย์วิจัยจิตเวชศาสตร์ ในสถาบัน Karolinska สต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน บอกกับ Medscape Medical News
“สำหรับหญิงที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องได้รับการผ่าคลอดฯ การแนะนำให้ผ่าฯ ย่อมไม่เหมาะสม สูติแพทย์ควรประเมินอย่างเต็มที่ว่าทั้งแม่และทารกในครรภ์ว่าจำเป็นต้องผ่าคลอดฯ หรือไม่” จางกล่าว
ผลลัพธ์ด้านลบ
ก่อนหน้านี้ พบว่าการผ่าคลอดฯ เชื่อมโยงอยู่กับผลลัพธ์ด้านลบในเด็กหลายประการ เช่น โรคอ้วน โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และเบาหวานประเภท 1 (type 1 diabetes) “อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการผ่าคลอดฯ กับความผิดปกติด้านจิตและประสาทยังมีการศึกษาน้อย” จางระบุ
“ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จำนวนของความสัมพันธ์นี้จะแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างการผ่าคลอดฯ ที่มีการวางแผนล่วงหน้ากับการผ่าคลอดฯ ด่วนเนื่องด้วยเหตุผลทางการแพทย์ระหว่างการทำคลอด” จางกล่าว
เพื่อตอบคำถาม นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ดำเนินการวิจัยด้วยการทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานในการศึกษาต่างๆ ที่เป็นการติดตามสังเกตการณ์ “เพื่อค้นหาปริมาณความสัมพันธ์ระหว่าง CD กับผลลัพธ์ที่เกิดด้านจิตและประสาทเปรียบเทียบกับการคลอดตามปกติทางช่องคลอด”
อย่าให้ร้ายแก่ CD
จางอธิบายว่า มีหลายเหตุผลที่ CD อาจทำให้เด็กที่คลอดออกมามีความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตและประสาทมากขึ้น
“การกำเนิดของทารกเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีหลากหลายปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป” จางกล่าว
CD ประเภทฉุกเฉิน
“โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นเมื่อมีบางสิ่งผิดปกติระหว่างคลอดและการผ่าตัดกลายเป็นเรื่องจำเป็น” และ “มันเป็นไปไม่ได้ที่ทารกบาดเจ็บหรือขาดอากาศหายใจระหว่างคลอดจะมีความผิดปกติทางระบบประสาทเสมอไป”
นอกจากนี้ยังเสริมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านพัฒนาการว่า “สูติแพทย์จะแนะนำให้ผ่าคลอดฯ ถ้าแม่มีโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ บางโรคอาจมีผลต่อการพัฒนาของสมองของเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในมดลูก” จางระบุ
“ระหว่างการคลอดทางช่องคลอด แบคทีเรียจากทางเดินอาหารของแม่จะผ่านไปยังทารกและกระตุ้นให้ทารกนั้นมีภูมิคุ้มกัน กระบวนการนี้จะต่างออกไปในเด็กที่คลอดโดยการผ่าหน้าท้อง” จางกล่าว
“เราคิดว่ามันเป็นปัจจัยร่วมระหว่างปัจจัยเหล่านี้กับปัจจัยอื่นๆ เช่น แนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเกิดความผิดปกติทางจิตและประสาท ได้ร่วมกันส่งผลให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในทารก”
และเธอยังเน้นย้ำอีกว่า “ดังนั้น จึงไม่ควรให้ร้ายแก่ CD ควรจะใช้ CD ต่อไปเมื่อมีความจำเป็นทางการแพทย์”
ควรจะทบทวนข้อบ่งชี้ได้หรือยัง?
ในการวิพากษ์วิจารณ์งานการศึกษานี้ผ่านทาง Medscape Medical News เสียเหว่ย อู๋ (Xiawei Ou) รองศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาและกุมารเวช University of Arkansas for Medical Sciences and Arkansas Children’s Hospital กล่าวว่า กลไกภายในที่เชื่อมโยงกับระหว่าง CD กับความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในเด็กทารกนั้น “ยังไม่ชัดเจนและจำเป็นจะต้องทำการศึกษาต่อไป”
อย่างไรก็ตาม งานการศึกษานี้มีประเด็นสำคัญที่แพทย์ควรเอาไปขบคิดเป็นการบ้าน รองศาสตราจารย์อู๋ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการของ Brain Imaging Laboratory ที่ศูนย์โภชนาการเด็ก Arkansas กล่าว และในฐานะผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาข้างต้นยังเสริมว่า
“การจงใจผ่าคลอดฯ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ควรได้รับการพิจารณาทบทวนด้วยข้อค้นพบทางวิชาการใหม่ ทั้งจากการศึกษานี้และการศึกษาอื่นๆ และควรพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราส่วนระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดกับประโยชน์ที่จะได้รับใน CD ที่มีการวางแผนเพราะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ด้วย”
จางผู้นิพนธ์หลักเตือนว่า การศึกษานี้ “ไม่ได้บอกว่ามีข้อพิสูจน์ที่แย้งไม่ได้” ว่า CD ทำให้เกิดความผิดปกติในพัฒนาการของระบบประสาท “ความสัมพันธ์กันไม่ใช่ความเป็นเหตุเป็นผลกัน” เธอเน้นย้ำ
การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก China Scholarship Council จางและอู๋ต่างก็ได้แสดงตนว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ รายชื่อผู้นิพนธ์อื่นๆ ปรากฏในบทความนิพนธ์ต้นฉบับ
สำหรับประเทศไทย อัตราการผ่าท้องคลอดมีสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้อัตราการผ่าท้องคลอดไม่ควรเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ โดยให้คำนึงจากความจำเป็นและความฉุกเฉินในการช่วยชีวิตแม่และลูกในครรภ์